บ้านนบี بيت النبي ﷺ

บ้านนบี  بَيْتُ النَّبِي ﷺ   หมายถึง บ้านอันเป็นที่พำนักของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และครอบครัวของท่านหรือหมายถึงตัวท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ พร้อมด้วยภริยาและบุตรธิดาของท่าน ซึ่งในแง่นี้จะมุ่งหมายถึงตัวบุคคลที่อาศัยอยู่ภายในบ้านหลังนั้น มิได้จำกัดความเอาเฉพาะตัวบ้านหรือสถานที่อันเป็นสิ่งปลูกสร้างสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น

บ้านนบี เริ่มต้นด้วยการออกเรือนและการครองเรือนของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ กับภริยาของท่าน ต่อมาบุตรธิดาของท่านก็ถือกำเนิดและใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านหลังนั้น บ้านนบีมีอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกเป็นบ้านของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ บินตุ คุวัยลิด (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ภริยาท่านแรกของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ซึ่งตั้งอยู่ที่นครมักกะฮฺ ส่วนบ้านนบีแห่งที่สองตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของมัสยิดนะบะวียฺ ณ นครมะดีนะฮฺ

บ้านนบีหลังแรก ณ นครมักกะฮฺ

เมื่อท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ มีอายุได้ 25 ปีท่านได้สมรสกับท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ บินตุ คุวัยลิด (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งมีอายุได้ 40 ปี นั่นหมายความว่า ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) มีอายุมากกว่าท่านนบี ﷺ สิบห้าปี และท่านหญิงเคยมีสามีมาก่อนหน้าการสมรสกับท่านนบี ﷺ สองคน คือ อะตีก อิบนุ อาอิซ อัล-มัคซูมียฺ ท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ให้กำเนิด “ฮินด์” บุตรีแก่ อะตีก อิบนุ อาอิซ อัล-มัคซูมียฺ และบุตรที่ชื่อ อับดุลลอฮฺ หรือ อับดุมะนาฟ

ส่วนสามีคนที่สองของท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) นั้นคือ อบูฮาละฮฺ อัน-นับบ็าช อิบนุ ซุรอเซาะฮฺ อัต-ตะมีมียฺ มีบุตรกับท่านหญิง (เราฎิยัลลอฮุอันฮา) 2 คนคือ ฮินด์ เป็นบุตรชายและฮาละฮฺ เป็นบุตรี และฮินด์ บุตรของอบูฮาละฮฺได้กลายเป็นลูกเลี้ยง (เราะบีบ) ของท่านนบี ﷺ ในเวลาต่อมา (1)

ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ครองเรือนกับท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ บินตุ คุวัยลิด (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เป็นเวลา 24 ปี 5 เดือนกับอีก 8 วัน โดย 15 ปีแรกแห่งการครองเรือนเป็นช่วงก่อนการได้รับแต่งตั้งให้เป็นนบี และช่วงเวลาที่เหลือเป็นช่วงเวลาหลังการได้รับแต่งตั้งให้เป็นนบี จนถึงการเสียชีวิตของท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ขณะมีอายุได้ 65 ปี นักประวัติศาสตร์เห็นตรงกันว่า ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ บินตุ คุวัยลิด (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เป็นภริยาท่านแรกของท่านนบี ﷺ และท่านนบี ﷺ ไม่เคยสมรสกับสตรีใดมาก่อนหน้าท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) และไม่ได้สมรสกับสตรีคนใดขณะที่ครองเรือนอยู่กับท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) (2)

บ้านนบี หลังแรกในนครมักกะฮฺเป็นบ้านของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับประตูอัลมัรวะฮฺ (3) บริเวณทางสะแอที่ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของมัสยิดหะรอมไปแล้ว ในสมัยท่านนบี ﷺ บ้านของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ตั้งอยู่ในเขตชุมชนของตระกูลอะสัด อิบนุ อับดิลอุซซา ซึ่งอยู่ติดกับมัสยิดหะรอม

บริเวณนั้นมีบ้านของท่านอัซ-ซุบัยรฺ อิบนุ อัล-เอาว็าม (ร.ฎ.) และท่านหะกีม อิบนุ หิซาม (ร.ฎ.) รวมถึงบ้านของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งท่านนบี ﷺ ได้สมรสกับท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) และใช้ชีวิตอยู่กับท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ภายในบ้านหลังนั้น(4)

บ้านนบี หลังแรกในนครมักกะฮฺเป็นสถานที่กำเนิดบุตรธิดาทุกคนของท่านนบี ﷺ กับท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ยกเว้นท่านอิบรอฮีม (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ) ซึ่งเกิดแต่ท่านหญิงมารียะฮฺ อัล-กิบฏียะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ที่นครมะดีนะฮฺ

ทัศนะของปวงปราชญ์ที่ถูกต้องที่สุด ระบุว่า บุตรชายของท่านนบี ﷺ ที่ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้ให้กำเนิดมี 2 ท่าน คือ อัล-กอสิมและอับดุลลอฮฺ เหตุนั้นท่านนบี ﷺ จึงถูกเรียกขานว่า อบู อัล-กอสิม เพราะอัล-กอสิม เป็นบุตรคนหัวปีของท่านนบี ﷺ ส่วนอับดุลลอฮฺนั้นมีฉายาว่า อัฏ-ฏอยยิบหรืออัฏ-ฏอฮิรฺ ท่านอับดุลลอฮฺ ถือกำเนิดหลังการได้รับแต่งตั้งเป็นนบีของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ แต่อิบนุ อิสหากระบุว่า บุตรชายของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ทุกท่าน –ยกเว้นท่านอิบรอฮีม-  ถือกำเนิดก่อนการประกาศศาสนาอิสลามและทั้งหมดเสียชีวิตก่อนการประกาศศาสนาอิสลาม –ยกเว้นท่านอิบรอฮีม- ในขณะที่ยังอยู่ในวัยดื่มนม (5)

ส่วนบุตรีของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ซึ่งทั้งหมดถือกำเนิดแต่ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) นั้นมีจำนวน 4 ท่านได้แก่ ท่านหญิงซัยหนับ , ท่านหญิงรุกอยยะฮฺ , ท่านหญิงอุมมุกุลฮูม และท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (ริฎวานุลลอฮิอะลัยฮินน่า) บรรดาบุตรีของท่านนบี ﷺ ทั้ง 4 ท่านมีชีวิตอยู่จนถึงการประกาศศาสนาของท่านนบี ﷺ และได้ร่วมอพยพสู่นครมะดีนะฮฺในเวลาต่อมา (6)

นักปราชญ์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า อัล-กอสิมเป็นบุตรชายคนหัวปีและซัยหนับเป็นบุตรีคนโต ส่วนฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺนั้นเป็นบุตรีคนสุดท้องของท่านนบี ﷺ และบรรดาลูกหลานผู้เป็นสมาชิกของบ้านนบีสืบเชื้อสายผ่านฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) (7)

สมาชิกในบ้านนบีหลังแรก ณ นครมักกะฮฺ

บ้านนบีหลังแรก ณ นครมักกะฮฺมีสมาชิกประกอบด้วย

ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ผู้ได้รับฉายาว่า อัล-อะมีน (ผู้ซื่อสัตย์) และเป็นนายของบ้านหลังนี้เมื่อสมรสกับท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ขณะมีอายุได้ 25 ปี ท่านใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านหลังนี้กับท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เป็นเวลาเกือบ 25 ปี โดยมีสถานะเป็นสามีของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) และบิดาของบุตรธิดา 6 คน (ไม่นับรวมท่านอิบรอฮีม)

ในช่วง 15 ปีแรก ผู้คนรู้จักท่านในนามมุฮัมมัด อัล-อะมีน บุตรของอับดุลลอฮฺ บุตรอับดิลมุฏเฏาะลิบ บุตรฮาชิม บุตร อับดิมะนาฟ บุตรกุศอยย์ บุตรกิล็าบ บุตรมุรฺเราะฮฺ บุตรกะอฺบ์ บุตรลุอัยย์ บุตรฆอลิบ บุตรฟิฮฺริน บุตรมาลิก บุตรอัน-นัฎร์ บุตรกินานะฮฺ บุตรคุซัยมะฮฺ บุตรมุดริกะฮฺ บุตรอิลยาส บุตรมุฎ็อรฺ บุตรนิซ็ารฺ บุตรมะอัด บุตรอัดนาน และเชื้อสายของอัดนานสืบถึงท่านนบีอิสมาอีล (อะลัยฮิสสลาม) (8)

และท่านนบี ﷺ ได้ใช้ชีวิตภายในบ้านของท่านพร้อมกับสมาชิกในบ้านทุกคน (ยกเว้นท่านอบุลกอสิม บุตรชายคนหัวปีซึ่งนักปราชญ์ส่วนใหญ่ระบุว่าเสียชีวิตก่อนหน้าการประกาศศาสนาอิสลาม)  จนกระทั่งท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)

ท่านหญิงผู้เป็นมารดาแห่งศรัทธาชน เคาะดีญะฮฺ อุมมุลกอสิม บุตรีคุวัยลิด บุตรอะสัด บุตรอิบดิลอุซซา บุตรกุศ็อยย์ ผู้ได้รับฉายาว่าอัฏ-ฏอฮิเราะฮฺ (สตรีผู้บริสุทธิ์) ในสมัยก่อนการประกาศศาสนาอิสลาม (9) และเป็นเศรษฐีนีหม้าย ท่านหญิงได้สมรสกับท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ขณะมีอายุได้ 40 ปีและการสมรสนั้นเกิดขึ้นหลังจากท่านนบี ﷺ กลับจากแคว้นชามเพื่อทำการค้าให้แก่ท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เป็นเวลา 75 วัน (10)

ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) มีอายุมากกว่าท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ 15 ปี เพราะขณะทำการสมรสท่านหญิงมีอายุได้ 40 ปี แล้วในขณะที่ท่านนบี ﷺ มีอายุได้ 25 ปีเท่านั้น ซึ่งตามปกติผู้ชายวัยเบญจเพศมักต้องการสมรสกับสตรีที่มีอายุน้อยกว่า แต่เนื่องจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานความรักให้เกิดขึ้นระหว่างท่านนบี ﷺ กับท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ดังที่ท่านนบี ﷺ เคยกล่าวกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราฎิยัลลอฮุอันฮา) ว่า : 

” إِنّيْ قَدْرُزِقْتُ حُبَّهَا “

“แท้จริง แน่นอนฉันได้ถูกประทานความรักที่มีต่อเคาะดีญะฮฺ”
(เศาะฮีหฺ มุสลิม : 4/1888 หะดีษเลขที่ 2436)

ฝ่ายท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เองก็มีความชื่นชมต่อความซื่อสัตย์ของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ผู้ได้รับการขนานนามว่า อัล-อะมีน ในหมู่ชนชาวอาหรับในนครมักกะฮฺและความสำเร็จในการนำกองคาราวานสินค้าไปยังแคว้นชามของท่านนบี ﷺ ซึ่งท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้มอบทุนทรัพย์ให้ จนกระทั่งเมื่อท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้รับรายงานจากบ่าวที่ชื่อ มัยสะเราะฮฺ ซึ่งติดตามไปค้าขายที่แคว้นชามพร้อมกับท่านนบี ﷺ ท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) จึงส่งคนไปทาบทามท่านนบี ﷺ การสู่ขอและการสมรสระหว่างท่านทั้งสองจึงเกิดขึ้นตามมาโดยมีญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ดำเนินการ

ท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เป็นสตรีผู้สูงศักดิ์ทั้งในด้านเชื้อสายและความประเสริฐในตระกูลกุร็อยช์และเป็นเศรษฐินีที่ชาวอาหรับที่สูงศักดิ์ต่างก็หมายปอง แต่ท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เลือกท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ เป็นคู่ครองเพราะชื่นชมในความซื่อสัตย์ มารยาทอันงดงามและการรักษาในวาจาสัตย์ของท่านนบี (11) ﷺ  การครองคู่ของบุรุษผู้มีความซื่อสัตย์ (อัล-อะมีน) กับสตรีผู้บริสุทธิ์ (อัฏ-ฏอฮิเราะฮฺ) จึงเป็นความงดงามและเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

ความรักและความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาระหว่างมุฮัมมัด อัล-อะมีน กับ เคาะดีญะฮฺ อัฏ-ฏอฮิเราะฮฺได้ผลิดอกออกผลเป็นบุตรธิดาจำนวน 6 คนคืออัล-กอสิม , อับดุลลอฮฺ , ซัยหนับ , รุกอยยะฮฺ อุมมุกุลษูม และฟาฏิมะฮฺ (ริฎวานุลลอฮิอะลัยฮิม) ทั้ง 6 คนคือ สมาชิกในบ้านนบีหลังแรก ณ นครมักกะฮฺ

ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) คือสตรีคนแรกที่ศรัทธาในศาสนาอิสลาม (12) เป็นภรรยาสุดที่รักซึ่งคอยให้การช่วยเหลือและปลอบประโลมใจท่านนบี ﷺ อยู่เสมอทั้งในช่วงก่อนและหลังการได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตของท่านนบี ﷺ ครั้งหนึ่งท่านนบี ﷺ ได้ตอบกับท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งมีอาการหึงหวงท่านนบี ﷺ ที่มักจะกล่าวถึงคุณงามความดีของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) อยู่เนือง ๆ ว่า :

” لَاوَالله مَارَزَقَنِى خَيْرًامِنْهَا ، آمنَتْ بِيْ حِيْنَ كَفَرَبِى الناسُ ، وَصَدَّقَتْنِيْ حِيْنَ كَذَّبَنِيْ النَاسُ ، وأَعْطَتْنِيْ مَالَهَاحِيْنَ حَرَّمَنِى الناسُ “

“ไม่หรอก! ขอสาบานต่อพระองค์อัลลอฮฺว่าพระองค์มิได้ประทานสตรีคนใดที่ดีกว่านางให้แก่ฉัน นางศรัทธาต่อฉันในขณะที่ผู้คนปฏิเสธศรัทธาต่อการประกาศศาสนาของฉัน นางเชื่อว่าฉันกล่าวความจริงในขณะที่ผู้คนกล่าวหาว่าฉันมุสา และนางได้มอบทรัพย์สินของนางให้แก่ฉันในขณะที่ผู้คนหักห้ามทรัพย์สินนั้นกับฉัน” (13)

หะดีษบทนี้ เป็นหลักฐานของนักปราชญ์ฝ่ายที่มีทัศนะว่าท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เป็นสตรีที่ประเสริฐที่สุดในหมู่มารดาของเหล่าศรัทธาชนผู้เป็นภริยาของท่านนบี (14) ﷺ และส่วนหนึ่งจากความประเสริฐของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) คือการเป็นนายหญิงภายในบ้านนบีและเป็นภรรยาคนแรกและคนเดียวของท่านนบี ﷺ ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 25 ปี และเป็นมารดาของบุตรธิดาทั้งหมดของท่านนบี ﷺ –ยกเว้นท่านอิบรอฮีม-

และท่านหญิงเป็นผู้ที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และท่านญิบรออีล (อะลัยฮิสสลาม) ได้ฝากสลามถึงท่านหญิงผ่านท่านนบี ﷺ ตลอดจนได้รับข่าวดีว่าพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงเตรียมปราสาทที่ทำจากไข่มุกกลวงในสรวงสวรรค์แก่ท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งปราสาทแห่งนั้นไม่มีการส่งเสียงดังอึกทึกและไม่มีความลำบากใด ๆ(15) และมีหะดีษระบุว่า : “สตรีแห่งสวนสวรรค์ที่ประเสริฐสุดคือ ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ บินตุ คุวัยลิด , ฟาฏิมะฮฺ บินตุ มุฮัมมัด , มัรยัม บินตุ อิมรอนและอาสิยะฮฺ ภรรยาของฟิรเอาวฺน์” (16)

ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เสียชีวิตก่อนการอพยพของท่านนบี ﷺ สู่นครมะดีนะฮฺเป็นเวลา 3 ปี ขณะมีอายุได้ 65 ปี ศพของท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ถูกฝังที่อัล-หะญูน ณ สุสานอัล-มะอฺลาฮฺ ตรงบริเวณที่เรียกกันว่า ชะอฺบุลมักบะเราะฮฺ(17)  

อัล-กอสิม อิบนุ มุฮัมมัด อิบนิ อับดิลลาฮฺ อิบนิ อับดิลมุฏเฏาะลิบบุตรชายคนหัวปีของท่านนบี ﷺ ซึ่งเกิดแต่ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ บินตุ คุวัยลิด (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ถือกำเนิดที่นครมักกะฮฺ ณ บ้านนบีก่อนการแต่งตั้งท่านนบี ﷺ เป็นผู้ประกาศศาสนาอิสลาม เหตุนั้นท่านนบี     จึงถูกเรียกขานด้วยกุนยะฮฺว่า  อบูอัล-กอสิม   (บิดาของอบู-อัลกอสิม) ท่านอัล-กอสิมมีอายุได้เพียง 2 ปีก็เสียชีวิต

ท่านมุญาฮิดกล่าวว่า : อัล-กอสิมเสียชีวิตขณะมีอายุได้เพียง 7 วัน ท่านอัซ-ซุฮฺรีย์ กล่าวว่า อัล-กอสิมเสียชีวิตขณะมีอายุได้ 2 ปี และท่านเกาะตาดะฮฺ กล่าวว่า : อัล-กอสิมมีชีวิตจนเริ่มเดินได้ และนักปราชญ์เห็นตรงกันว่า อัล-กอสิมเป็นบุตรชายคนแรกของท่านนบี ﷺ ที่เสียชีวิตในขณะเยาว์วัย ศพของท่านถูกฝังที่อัล-หะญูน ณ สุสานอัล-มะอฺลาฮฺเคียงข้างหลุมศพท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ผู้เป็นมารดา (18)

อับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮัมมัด อิบนิ อับดิลลาฮฺ อิบนิ อับดิลมุฏเฏาะลิบ ผู้ได้รับฉายาว่า อัฏ-ฏอยยิบและอัฏ-ฏอฮิรฺ ถือกำเนิด ณ นครมักกะฮฺภายในบ้านนบี  ก่อนการได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตของท่านนบี ﷺ บ้างก็ว่าหลังจากนั้น และเสียชีวิตที่นครมักกะฮฺขณะมีอายุไม่ถึง 1 ปี  การเสียชีวิตของท่านอับดุลลอฮฺ อัฏ-ฏอยยิบ อัฏ-ฏอฮิรฺ เป็นเหตุแห่งการประทานสูเราะฮฺอัล-เกาษัรฺแก่ท่านนบี (19) ﷺ  บ้างก็ว่าสูเราะฮฺนี้ประทานลงมาแก่ท่านนบี ﷺ หลังการเสียชีวิตของท่านอัล-กอสิมโดยอัล-อาศ อิบนุ วาอิลได้กล่าวว่า มุฮัมมัดนั้นไร้บุตรสืบสกุลซึ่งชาวอาหรับเรียกว่า อับตัรฺ (20)

ซัยหนับ บินตุ มุฮัมมัด ﷺ ถือกำเนิด ณ นครมักกะฮฺในบ้านนบีก่อนหน้าการประกาศศาสนาของท่านนบี ﷺ 10 ปี ท่านหญิงซัยหนับ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เป็นบุตรีคนโตของท่านนบี ﷺ และได้รับการอบรมเลี้ยงดูภายในบ้านนบี ท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เป็นบุตรีสุดที่รักของท่านนบี ﷺ และท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ผู้เป็นมารดา เมื่อท่านนบี ﷺ ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสนทูต

ท่านหญิงซัยหนับ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้เข้ารับอิสลามและก่อนหน้าการประกาศศาสนาของท่านนบี ﷺ และท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ยังมีชีวิต ท่านหญิงซัยหนับ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้สมรสกับอบุลอ็าศ อิบนุ อัรฺ-เราะบีอฺ อิบนิ อับดิลอุซซา อิบนิ อับดิชัมส์ อิบนิ อับดิมะนาฟ ซึ่งมารดาของอบุลอ็าศ คือ ฮาละฮฺ บินตุ คุวัยลิด น้าสาวของท่านหญิงซัยหนับ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งให้กำเนิดอุมามะฮฺและอะลีแก่อบุลอ็าศ  อะลี อิบนุ อบิลอ็าศเสียชีวิตขณะเยาว์วัย ส่วนอุมามะฮฺนั้นมีชีวิตต่อมาและได้สมรสกับท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ตามคำสั่งเสียของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรอฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ผู้เป็นน้าสาวของอุมามะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) (21)

ท่านหญิงซัยหนับ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้เข้ารับอิสลามและอพยพสู่นครมะดีนะฮฺก่อนการเข้ารับอิสลามของอบุลอ็าศ เป็นเวลา 6 ปี(22) และการเป็นสามีภรรยาของบุคคลทั้งสองยังคงดำเนินอยู่ต่อมาจนกระทั่งอบุลอ็าศถูกจับเป็นเชลยศึกในสมรภูมิบัดร์ ปีฮ.ศ.ที่ 2 ท่านหญิงซัยหนับ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) จึงได้ส่งสังวาลย์ของท่านหญิงซึ่งเป็นของขวัญที่พระนางเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลอฮุอันฮา) มอบให้ในวันที่สมรสกับอบุลอ็าศเพื่อเป็นค่าไถ่ตัวอบุลอ็าศโดยมีเงื่อนไขว่าอบุลอ็าศต้องยอมให้ท่านหญิงซัยหนับ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) อพยพไปยังนครมะดีนะฮฺ (23)  บุคคลทั้งสองจึงพรากจากกันจนกระทั่งถึงปีฮ.ศ.ที่ 6

อบุลอ็าศซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้เข้ารับอิสลามได้ร่วมกองคาราวานสินค้าของพวกกุรอยช์ไปยังแคว้นชาม อบุลอ็าศได้นำทรัพย์สินของตนและทรัพย์สินของชาวมักกะฮฺที่ฝากเอาไว้เป็นทุนสำหรับการค้าขายที่แคว้นชาม เมื่อทราบข่าวว่ามีกองคาราวานสินค้าของกุรอยช์ผ่านมา ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ จึงส่งกองทหารที่มีซัยด์ อิบนุ หาริษะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นแม่กองเข้ายึดทรัพย์ในกองคาราวานสินค้าและจับผู้อยู่ในกองคาราวานเป็นเชลยศึก ฝ่ายอบุลอ็าศสามารถหลบหนีและเข้าสู่นครมะดีนะฮฺในเวลากลางคืนแล้วขอความคุ้มครองกับท่านหญิงซัยหนับ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) 

ต่อมาอบุลอ็าศได้กลับสู่นครมักกะฮฺเพื่อมอบทรัพย์สินคืนแก่เจ้าของและเข้ารับอิสลาม พอถึงปีฮ.ศ.ที่ 7 ก็กลับมายังนครมะดีนะฮฺและใช้ชีวิตอยู่กับท่านหญิงซัยหนับ (เราฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้ 1 ปี ท่านหญิงก็สิ้นชีวิตในตอนต้นปีที่ 8 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช (24)

รุกอยยะฮฺ บินตุ มุฮัมมัด ﷺ ถูกเรียกขานด้วยกุนยะฮฺว่า อุมมุอับดิลลาฮฺ ถือกำเนิดที่นครมักกะฮฺก่อนการประกาศศาสนาของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ 7 ปี และเข้ารับอิสลามพร้อมกับท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ผู้เป็นมารดาตลอดจนเข้าร่วมสัตยาบันของเหล่าสตรีที่ให้สัตยาบันกับท่านนบี (25) ﷺ

ท่านหญิงรุกอยยะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เคยสมรสกับอุตบะฮฺ อิบนุ อบีละฮับก่อนการอพยพ  ทว่าเมื่อสูเราะฮฺอัล-มะสัดได้ประทานลงมา อบูละฮับผู้เป็นบิดาของอุตบะฮฺได้ยื่นคำขาดให้อุตบะฮฺหย่าท่านหญิงรุกอยยะฮฺ (เราฎิยัลลอฮุอันฮา) และพวกกุรอยช์ได้มาหาอุตบะฮฺเพื่อยื่นข้อเสนอเดียวกันนี้ อุตบะฮฺจึงกล่าวว่า หากพวกท่านสมรสบุตรีของอะบาน อิบนุ สะอีด อิบนิ อัล-อาศแก่ฉัน ฉันก็จะหย่ารุกอยยะฮฺ พวกกุรอยช์ก็ตกลง อุตบะฮฺจึงหย่าท่านหญิงรุกอยยะฮฺก่อนที่จะเข้าเรือนหอ (26)

ต่อมาท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้สมรสกับท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) และอพยพไปยังดินแดนอัล-หะบะชะฮฺ (อบิสซิเนีย) พร้อมกับท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ทั้งสองครั้ง ท่านหญิงรุกอยยะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้ให้กำเนิดบุตรชายชื่ออับดุลลอฮฺแก่ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เหตุนั้นท่านจึงถูกเรียกขานว่า “อบู อับดิลลาฮฺ” ต่อมาอับดุลลอฮฺได้เสียชีวิตขณะมีอายุได้ 6 ปี เนื่องจากถูกไก่จิกที่ใบหน้าและเกิดอาการอักเสบแผลติดเชื้อ ท่านหญิงรุกอยยะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้อพยพสู่นครมะดีนะฮฺหลังจากท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และล้มป่วยก่อนหน้าสมรภูมิบัดร์เพียงเล็กน้อย ท่านนบี ﷺ จึงอนุญาตให้ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ไม่ต้องออกศึกและให้พยาบาลท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) จนกระทั่งเสียชีวิตในขณะที่บรรดามุสลิมอยู่ที่ตำบลบัดร์ (27)

อุมมุกุลษูม บินตุ มุฮัมมัด ﷺ ถือกำเนิดก่อนการประกาศศาสนาของท่านนบี ﷺ 6 ปี ณ นครมักกะฮฺ และเข้ารับอิสลามพร้อมกับสมาชิกในบ้านนบี ท่านหญิงอุมมุกุลษูม (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เคยสมรสกับอุตัยบะฮฺ อิบนุ อบีละฮับน้องชายของอุตบะฮฺ อิบนุ อบีละฮับที่เคยสมรสกับท่านหญิงรุกอยเยาะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) แต่ยังไม่ทันเข้าร่วมห้องหอก็หย่าท่านหญิงอุมมุกุลษูม (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เสียก่อนหลังการประทานสูเราะฮฺอัล-มะสัด ลงมาเป็นเหตุให้อบูละฮับบังคับบุตรชายของตนทั้งอุตบะฮฺและอุตัยบะฮฺให้หย่าบุตรีทั้งสองของท่านนบี ﷺ

ในกรณีของอุตัยบะฮฺนี้ท่านนบี ﷺ ได้ขอดุอาอฺจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ว่า : “สุนัขตนหนึ่งจากบรรดาสุนัขของพระองค์อัลลอฮฺได้สวาปามเจ้าแล้ว” คำว่าสุนัข (กัลบ์) ณ ที่นี้หมายถึงสิงโต ผลจากดุอาอฺนี้ อบูละฮับและอุตัยบะฮฺจึงมีความหวาดกลัวเพราะรู้อยู่แก่ใจว่าเมื่อท่านนบี ﷺ ขอดุอาอฺแล้วพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ย่อมทรงตอบรับและเรื่องนั้นต้องเกิดขึ้นจริง อุตัยบะฮฺจะออกจากบ้านโดยมีองครักษ์ 2 คนคอยคุ้มกัน ซ้ายขวาอยู่เสมอ แล้ววันหนึ่งอุตัยบะฮฺออกไปทำการค้าขาย ระหว่างทางอุตัยบะฮฺจะนอนหลับตรงกลางโดยมีองครักษ์นอนขนาบอยู่ซ้ายขวา แล้วสิงโตตนหนึ่งก็ออกมาตะปบและลากตัวอุตัยบะฮฺไปทั้ง ๆ ที่อุตัยบะฮฺหลับอยู่ สิงโตตนนั้นก็สวาปามอุตัยบะฮฺเป็นอาหารของตน สิ่งที่ท่านนบี ﷺ ขอดุอาอฺไว้จึงเป็นจริงตามนั้น (28)

ต่อมาท่านหญิงอุมมุกุลษูม (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้อพยพสู่นครมะดีนะฮฺและอยู่ร่วมกับท่านหญิงรุกอยยะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ในตอนที่ท่านหญิงรุกอยยะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ล้มป่วยและเสียชีวิต หลังการเสียชีวิตของท่านหญิงรุกอยยะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ในช่วงเกิดสมรภูมิบัดร์ ปี ฮ.ศ.ที่ 2 ท่านนบี ﷺ ได้มาหาท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) ณ ประตูมัสยิดนะบะวียฺแล้วกล่าวว่า : “โอ้ อุษมาน นี่คือญิบรีล แน่แท้ญิบรีลได้ใช้ให้ฉันสมรสอุมมุกุลษูมให้แก่ท่านด้วยมะฮัรเฉกเช่นมะฮัรฺของรุกอยยะฮฺและบนการครองเรือนเฉกเช่นการครองเรือนกับรุกอยยะฮฺ” (29)

การสมรสของท่านหญิงอุมมุกุลษูม (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) กับท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) เกิดขึ้นในเดือนเราะบีอุลเอาวัล ปี ฮ.ศ.ที่ 3 ท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ไม่มีบุตรธิดาให้แก่ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) (30) และเสียชีวิตในเดือนชะอฺบาน ปี ฮ.ศ.ที่ 9 (31)  ท่านนบี ﷺ ได้กล่าวว่า : 

“لَوْكُنَّ عَشْرًالزَوَّجْتُهُنَّ عُثْمَانَ”

“หากว่าฉันมีบุตรี 10 คน แน่นอนฉันย่อมสมรสพวกนางแก่อุษมาน”(32)

ท่านหญิงอุมมุกุลษูม (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้อภิบาลอับดุลลอฮฺบุตรชายของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ซึ่งเกิดแต่ท่านหญิงรุกอยยะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) และใช้ชีวิตคู่กับท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เป็นเวลา 6 ปี เมื่อท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เสียชีวิต ท่านนบี ﷺ ได้ละหมาดญะนาซะฮฺให้และหลุมฝังศพท่านหญิงในสุสานอัล-บะกีอฺเคียงข้างหลุมศพท่านหญิงรุกอยยะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) โดยมีท่านหญิงเศาะฟียะฮฺ บินตุ อับดิลมุฏเฏาะลิบ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ป้าของท่านนบี ﷺ และอัสมาอฺ บินตุ อุมัยส์ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ภรรยาของท่านญะอฺฟัรฺ อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) เป็นผู้อาบน้ำศพท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) และมีท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ท่านอัล-ฟัฎล์ อิบนุ อัล-อับบาส (ร.ฎ.) และท่านอุสามะฮฺ อิบนุ ซัยด์ (ร.ฎ.) เป็นผู้ขุดหลุมศพ (33)

ฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ บินตุ มุฮัมมัด ﷺ ถือกำเนิด ณ นครมักกะฮฺ ในวันที่ 20 ญุมาดา อัล-อาคิเราะฮฺก่อนการประกาศศาสนาของท่านนบี ﷺ 5 ปี และขณะนั้นท่านนบี ﷺ มีอายุได้ 35 ปีซึ่งเป็นช่วงหลังการบูรณะอาคารอัล-กะอฺบะฮฺและการวางหินดำในที่ประดิษฐานโดยท่านนบี ﷺ   ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ  (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ถูกเรียกขานด้วยกุนยะฮฺ (คำนำหน้า) ว่า อุมมุ อบีฮา  , อุมมุลหะสะนัยนฺ , อุมมุลอะอิมมะฮฺ และอุมมุอัร-รอยฺหานะตัยนฺ และมีฉายาว่า อัซ-ซะฮฺรออฺ (สตรีผู้มีใบหน้าเจิดจำรัสมีผิวพรรณขาวนวล) อัล-บะตูล (สตรีผู้ตัดขาดจากโลก) อัฏ-ฏอฮิเราะฮฺ (สตรีผู้บริสุทธิ์) อัศ-ศิดดีเกาะฮฺ (สตรีผู้มีวาจาสัตย์) อัล-มุบาเราะกะฮฺ (สตรีผู้มีสิริมงคล) และอัร-รอฎิยะฮฺ อัล-มัรฎิยะฮฺ (สตรีผู้มีความยินดีต่อการประทานความโปรดปรานของอัลลอฮฺและทำให้พระองค์ทรงพึงพอพระทัย) (34)

ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ถือกำเนิดและเจริญวัยภายในบ้านนบีพร้อมกับพี่สาวทั้ง 3 คนคือ ซัยหนับ รุกอยยะฮฺ และอุมมุกุลษูม (ริฎวานุลลอฮิอะลัยฮินน่า) ท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากท่านนบี ﷺ และพระนางเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เป็นอย่างดี ในช่วงเยาว์วัยท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้อยู่ร่วมช่วงสมัยแรกแห่งการประกาศศาสนาของท่านนบี ﷺ ณ นครมักกะฮฺ ได้และเห็นความทุ่มเทและการมีความขันติธรรมตลอดจนเจตจำนงค์อันแรงกล้าของท่านนบี ﷺ ผู้เป็นบิดาในการเผยแผ่ศาสนาและเผชิญหน้ากับการประทุษร้ายของพวกกุรอยช์ แน่นอนคุณลักษณะดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดสู่ท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอุนฮา) อย่างไม่ต้องสงสัย (35)

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเจริญวัยของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้แก่

1. การเริ่มต้นขึ้นสู่ยอดเขาอัน-นู็ร เพื่อปลีกวิเวกในถ้ำหิรออฺ ของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และการได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตเพื่อประกาศสาส์นอิสลามในยุคสุดท้ายของท่านนบี ﷺ

2. การเริ่มต้นเชิญชวนผู้คนในนครมักกะฮฺสู่การยอมรับในศาสนาอิสลามทั้งในช่วง 3 ปีแรกที่การเผยแผ่เป็นไปอย่างลับ ๆ และการประกาศศาสนาอย่างเปิดเผยหลังจากนั้น

3. การขัดขวางการประกาศศาสนาของเหล่าผู้ปฏิเสธและการประทุษร้ายต่อบรรดาผู้ศรัทธารุ่นแรกในนครมักกะฮฺ

4. การปิดล้อมตระกูลฮาชิมและตระกูลอัล-มุฏเฏาะลิบของพวกกุรอยช์เอาไว้ในช่องเขาของนครมักกะฮฺตลอดระยะเวลา 3 ปี จนกระทั่งคนในตระกูลทั้งสองทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิมได้รับความอดอยากอย่างแสนสาหัส การปิดล้อมทางเศรษฐกิจและการตัดสัมพันธ์ที่พวกกุรอยช์ได้กระทำกับท่านนบี ﷺ และคนใน 2 ตระกูลซึ่งเป็นญาติสนิทของท่านนบี ﷺ เริ่มต้นขึ้นในปีที่ 7 นับจากการเริ่มประกาศศาสนา  และสิ้นสุดลงในปีที่ 10 ในรายงานของมูซา อิบนุ อุกบะฮฺ บ่งชี้ว่าเหตุการณ์การปิดล้อมนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าการอพยพของสาวกรุ่นแรกสู่ดินแดนอัล-หะบะชะฮฺ (เอธิโอเปีย) หรือเกิดขึ้นในระหว่างนั้น ส่วนรายงานของอิบนุ อิสหาก บ่งชี้ว่าเกิดขึ้นหลังการอพยพของสาวกรุ่นแรกสู่ดินแดน อัล-หะบะชะฮฺและหลังการเข้ารับอิสลามของท่านอุมัรฺ อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) (36)

5. การสมรสของท่านหญิงซัยหนับ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) และท่านหญิงรุกอยยะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) พี่สาวทั้ง 2 คนของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา)

6. การอพยพครั้งแรกในอิสลามของเหล่าสาวกรุ่นแรกสู่ดินแดนอัล-หะบะชะฮฺ (เอธิโอเปีย) จำนวน 80 คนเศษโดยมีท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) และท่านหญิงรุกอยยะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ร่วมอยู่ด้วย (37)

7. การเดินทางสู่นครมักกะฮฺของกลุ่มบุคคล 30 คนเศษซึ่งเป็นชาวนะศอรอจากดินแดน อัล-หะบะชะฮฺพร้อมกับท่านญะอฺฟัร อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) เพื่อพบท่านนบี ﷺ และกลุ่มบุคคลทั้งหมดนี้ได้เข้ารับอิสลาม ณ ห้องรับรองแขกในบ้านนบี ณ นครมักกะฮฺ(38)และพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ประทานอายะฮฺที่ 52-55 สูเราะฮฺอัล-เกาะศ็อศลงมาในเรื่องของกลุ่มบุคคลดังกล่าว (39)

8. ปีแห่งความโศกเศร้า (อามุลหุซน์) อันเป็นปีที่ 10 นับแต่การประกาศศาสนาของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา)  ภริยาของท่านนบี ﷺ และอบูฏอลิบ ลุงของท่านนบี ﷺ ได้เสียชีวิตห่างกันราว 1 เดือนกับ 5 วัน (40) และขณะนั้นท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) มีอายุได้ 15 ปี (41)

การผ่านเหตุการณ์สำคัญ ๆ ดังกล่าวได้ส่งผลต่อบุคลิกภาพและสภาพจิตใจของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งเจริญวัยอยู่ภายในบ้านนบี ทั้งในด้านแรงศรัทธา ความขันติ และความกล้าหาญ โดยเฉพาะเมื่อท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ผู้เป็นมารดา  และอบูฏอลิบซึ่งคอยปกป้องท่านนบี ﷺ ได้เสียชีวิตในปีแห่งความโศกเศร้า พวกกุรอยช์ได้กระทำการประทุษร้ายต่อท่านนบี ﷺ หลายต่อหลายครั้ง

และผู้ที่ปัดป้องการประทุษร้ายนั้นให้พ้นไปจากท่านนบี ﷺ ก็คือท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) และเมื่อพวกกุรอยช์ประทุษร้ายและกระทำทารุณกรรมหนักข้อมากขึ้นกับบรรดาผู้ศรัทธาในนครมักกะฮฺ ท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) จึงได้อพยพสู่นครมะดีนะฮฺในช่วงเวลาที่ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้สมรสกับท่านหญิงเสาดะฮฺ บินตุ ซัมอะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) หลังการสิ้นชีวิตของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) (42) 

หลังการอพยพสู่นครมะดีนะฮฺและภายหลังสมรภูมิบัดร์ในปีฮ.ศ.ที่ 2 เดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้สมรสกับท่านอิมามอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) (43)

และท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) ได้ร่วมห้องหอกับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) หลังสมรภูมิอุหุด และให้กำเนิด อัล-หะสัน , อัล-หุสัยนฺ , มุหฺสิน , อุมมุกุลษูม และซัยหนับ (ริฎวานุลลอฮิอะลัยฮิม) แก่ท่านอิมามอะลี (ร.ฎ.) (44)

และท่านนบี ﷺ ได้แสดงความไม่พอใจเมื่อท่านทราบว่า อบุลหะสัน อะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ได้ตั้งใจจะสู่ขอบุตรีของอบูญะฮฺล์ โดยกล่าวว่า : “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ บุตรีของผู้เป็นนบีของอัลลอฮฺจะไม่ร่วมกันกับบุตรีของศัตรูอัลลอฮฺ และอันที่จริงฟาฏิมะฮฺนั้นคือเนื้อก้อนหนึ่งจากฉัน สิ่งที่ทำให้นางแคลงใจก็ทำให้ฉันแคลงใจ และสิ่งที่ประทุษร้ายนางก็ย่อมประทุษร้ายต่อฉันด้วย” (45) ท่านอะลี (ร.ฎ.) จึงล้มเลิกการสู่ขอบุตรีของอบูญะฮฺล์เพื่อรักษาความรู้สึกของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) และท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็มิได้สมรสกับสตรีคนใดหรือมีบาทบริจาริกาคนใดในช่วงครองคู่กับท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) (46)

เชื้อสายของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้ขาดตอนลงยกเว้นจากทางด้านท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เพราะท่านหญิงอุมามะฮฺ บุตรีของอบุลอ็าศ อิบนุ อัรฺเราะบีอฺกับท่านหญิงซัยหนับ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) พี่สาวคนโตของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งท่านนบี ﷺ เคยอุ้มท่านหญิงอุมามะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ในขณะที่ท่านทำการละหมาด(47) ได้เจริญวัยจนกระทั่งได้สมรสกับท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.)

แล้วต่อมาเมื่อท่านอะลี (ร.ฎ.) ได้เสียชีวิต ท่านหญิงอุมามะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้สมรสกับอัล-มุฆีเราะฮฺ อิบนุ เนาว์ฟัล อัล-ฮาชิมียฺ ซึ่งเคยเห็นท่านนบี ﷺ ท่านหญิงอุมามะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้ให้กำเนิดบุตรหลายคนแก่ท่าน อัล-มุฆีเราะฮฺ (ร.ฎ.) แต่ต่อมาการสืบเชื้อสายจากท่านหญิงอุมามะฮฺบุตรีท่านหญิงซัยหนับ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ก็ขาดตนลงตามที่อัซ-ซุบัยรฺ อิบนุ บุก็ารฺ ได้กล่าวไว้(48) คงเหลือแต่ลูกหลานของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) แต่ฝ่ายเดียวที่ยังคงสืบเชื้อสายของท่านนบี ﷺ ต่อมา

ท่านนบี ﷺ รักและให้เกียรติท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เป็นอันมาก ความประเสริฐของท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) มีมากมาย อาทิ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้กล่าวว่า : “ฟาฏิมะฮฺได้เดินมาหาท่านนบี ﷺ ท่วงท่าการเดินของนางไม่ได้ผิดเพี้ยนจากการเดินของท่านนบี ﷺ แล้วท่านนบี ﷺ ก็ลุกขึ้นยืนไปหานางและกล่าวว่า : ยินดีต้อนรับ บุตรีของฉัน” (49) และมีรายงานจากท่านหุซัยฟะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านนบี ﷺ กล่าวว่า : “มีมะลักทานหนึ่งลงมาแล้วบอกข่าวดีแก่ฉันว่า แท้จริงฟาฏิมะฮฺนั้นเป็นนายหญิง เหล่าสตรีของชาวสวรรค์” (50)

บุตรีของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) คือ อุมมุกุลษูม (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) นั้นเป็นภรรยาของท่านอุมัรฺ อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) และซัยหนับ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เป็นภรรยาของอับดุลลอฮฺ อิบนุ ญะอฺฟัร อิบนิ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) (51) ส่วนบุตรชายที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ให้กำเนิดแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) คือ อัล-หะสัน อิบนุ อะลี , อัล-หุสัยนฺ อิบนุ อะลี และมุหฺสิน อิบนุ อะลี (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม) ซึ่งมุหฺสิน อิบนุ อะลีเสียชีวิตขณะเยาว์วัย คงเหลือพี่ชายทั้งสองคืออัล-หะสันและอัล-หุสัยน์ที่สืบเชื้อสายต่อมา

ในปีฮ.ศ.ที่ 8 ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้ร่วมไปพร้อมกับท่านนบี ﷺ เพื่อพิชิตนครมักกะฮฺ ท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ได้ไปเยี่ยมหลุมฝังศพท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ในครั้งนั้น (52) ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) มีชีวิตอยู่ 24 หรือ 28 ปี และเสียชีวิตหลังจากท่านนบี ﷺ ได้เสียชีวิต 6 เดือน บ้างก็ว่าน้อยกว่านั้น (53) ศพของท่านหญิง (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ถูกฝังในเวลากลางคืน ณ สุสานอัล-บะกีอฺ นครมะดีนะฮฺ   

อะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ถือกำเนิดก่อนการประกาศศาสนาของท่านนบี ﷺ 8 ปี บ้างก็ว่า 10 ปี ณ นครมักกะฮฺ (54) ในตอนแรกเกิดมารดาของท่านอะลี (ร.ฎ.) คือท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ บินตุ อะสัด อิบนิ ฮาชิม อิบนิ อับดิมะน็าฟ ได้ตั้งชื่อท่านอะลี (ร.ฎ.) ว่า “อะสัด” ตามชื่อบิดาของท่านหญิงคืออะสัด อิบนุ ฮาชิม แต่ท่านอบูฏอลิบได้เปลี่ยนชื่อนั้นเสียใหม่ว่า “อะลี” ท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นบุตรลุงของท่านนบี ﷺ คือ อบูฏอลิบ จึงมีศักดิ์เป็นลูกผู้พี่ของท่านนบี ﷺ

ในตอนแรกท่านอะลี (ร.ฎ.) ได้รับการเลี้ยงดูอยู่กับอบูฏอลิบพร้อมกับพี่น้องของท่านคือญะอฺฟัรและอะกีล แต่อบูฏอลิบมีฐานะยากจน ท่านนบี ﷺ เมื่อออกเรือนกับท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) แล้วจึงรับท่านอะลี (ร.ฎ.) มาอุปการะภายในบ้านนบี ท่านอะลี (ร.ฎ.) จึงเป็นสมาชิกคนหนึ่งในบ้านนบี ส่วนญะอฺฟัร (ร.ฎ.) นั้นท่านหัมซะฮฺ (ร.ฎ.) ลุงของท่านนบี ﷺ ได้รับไปอุปการะ ยังคงมีแต่อะกีลและพี่น้องผู้หญิงเท่านั้นที่อยู่กับอบูฏอลิบ (56)

เมื่อท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) มีอายุได้ 10 ปีท่านได้เข้ารับอิสลามในวันถัดมาเมื่อนับจากการได้รับวะหิยฺของท่านนบี ﷺ ท่านจึงเป็นเด็กคนแรกที่เข้ารับอิสลามและเคยถ่ายทอดคำสอนของท่านนบี ﷺ แก่เหล่าสาวกรุ่นแรกในบ้านของอิบนุ อัล-อัรฺก็อม (ร.ฎ.) ทั้ง ๆ ที่มีอายุน้อย (57) ความประเสริฐของท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) มีมากมาย อาทิ 

ท่านเป็นญาติสนิทกับท่านนบี ﷺ เพราะเป็นบุตรชายของลุงของท่านนบี ﷺ คือ อบูฏอลิบซึ่งอุปการะเลี้ยงดูท่านนบี ﷺ มาแต่เยาว์วัยและปกป้องท่านนบี ﷺ จากการคุกคามและประทุษร้ายของพวกกุรอยช์ ท่านนบี ﷺ จึงรับท่านอะลี (ร.ฎ.) มาอุปการะเป็นสมาชิกในบ้านนบีเพื่อตอบแทนลุงของท่าน

ท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นเด็กชายคนแรกในอิสลามที่ศรัทธาต่อท่านนบี ﷺ ยืนละหมาดทางขวาของท่านนบี ﷺ นับตั้งแต่แรกเริ่มการประกาศศาสนาอิสลามในนครมักกะฮฺ

ท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นบุตรเขยของท่านนบี ﷺ ซึ่งสมรสกับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) และเป็นบิดาของหลานสุดที่รักของท่านนบี ﷺ ทั้งสองท่านคือ อัล-หะสัน (ร.ฎ.) และอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.)

ท่านอะลี (ร.ฎ.) คือผู้ที่นอนในที่นอนของท่านนบี ﷺ คืนในเหตุการณ์การอพยพของท่านนบี ﷺ และทำหน้าที่ส่งมอบของฝากที่พวกกุรอยช์ฝากไว้กับท่านนบี ﷺ ต่อมาได้อพยพตามท่านนบี ﷺ ไปในภายหลังยังนครมะดีนะฮฺพร้อมกับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ บินตุ อะสัด (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) มารดาของท่านและฟาฏิมะฮฺ บินตุ อัซ-ซุบัยรฺตลอดจนผู้ศรัทธาอีกจำนวนหนึ่ง (58) เป็นต้น

จึงสรุปได้ว่า ภายในบ้านนบีหลังแรก ณ นครมักกะฮฺมีสมาชิกทั้งหมด 9 ท่านรวมท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) ด้วย

บ้านนบีแห่งที่สอง ณ นครมะดีนะฮฺ

เมื่อท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้อพยพสู่นครมะดีนะฮฺหลังการประกาศศาสนา ณ นครมักกะฮฺราว 13 ปี ท่านได้สร้างมัสยิดกุบาอฺและมัสยิดนะบะวียฺที่ตัวเมืองมะดีนะฮฺเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม การประกอบศาสนกิจและการสั่งสอนผู้คน ที่บริเวณด้านข้างมัสยิดนะบะวียฺนี่เอง บ้านหลังที่สองของท่านนบี ﷺ ได้ถูกสร้างขึ้น

สถานที่สร้างมัสยิดนะบะวียฺเป็นสถานที่ว่างเปล่า มีต้นอินทผลัมและหลุมศพโบราณ พวกคนในตระกูลอัน-นัจญารฺได้ตากอินทผลัมที่นั่น อูฐของท่านนบี ﷺ ได้ลงพัก ณ บริเวณนั้น ท่านนบี ﷺ ประสงค์จะสร้างมัสยิดในที่ดินแปลงนั้น ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของเด็กกำพร้า 2 คนที่ท่านมุอาซ อิบนุ อัฟรออฺ อัล-คอซเราะญียฺ เป็นผู้ปกครอง ท่านมุอาซได้บริจาคที่ดินแปลงนั้น แต่ท่านนบี ﷺ ยืนกรานที่จะขอซื้อจากเด็กกำพร้า 2 พี่น้องซึ่งก็เป็นไปตามนั้น (59)

ท่านนบี ﷺ ได้ใช้ให้ปรับสภาพที่ดินผืนนั้นทำความสะอาดและตัดต้นอินทผลัมพร้อมกับขุดสุสานโบราณแล้วย้ายกระดูกที่เหลือไปยังสถานที่อื่น เมื่อเกลี่ยดินเสมอแล้ว ท่านนบี ﷺ ได้กำหนดเขตแนวที่จะสร้างตัวมัสยิดและท่านได้ร่วมกับเหล่าสาวกในการสร้างมัสยิดอย่างเรียบง่ายโดยสร้างจากก้อนหิน ดิน และทางอินทผลัม ตรงกลางมัสยิดมีเสาหลายต้นที่ทำจากต้นอินทผลัมที่ถูกตัด ท่านนบี ﷺ ได้กำหนดทิศกิบละฮฺซึ่งหันไปทางบัยตุลมักดิสและนำบรรดาสาวกละหมาดก่อนที่จะมุงหลังคาของมัสยิดด้วยทางอินทผลัม (60)

เมื่อสร้างมัสยิดนะบะวียฺเสร็จแล้ว จึงได้มีการสร้างห้องพักของท่านนบี ﷺ ติดกับผนังมัสยิดด้านทิศตะวันออกโดยในช่วงแรกมีเพียงห้องเพียง 2 ห้องคือ ห้องพักของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) และห้องพักของท่านหญิงเสาดะฮฺ บินตุ ซัมอะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งอยู่ติดกันทางด้านมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมัสยิด

ต่อมาในภายหลังได้มีการสร้างห้องพักของท่านหญิงหัฟเศาะฮฺ บินตุ อุมัรฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งอยู่ติดกับห้องท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ถัดมาทางด้านทิศตะวันออกมีห้องพักของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งมีตรอก (คูเคาะฮฺ) ของท่านอะลี (ร.ฎ.) คั่นระหว่างห้องท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) กับห้องของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) และติดกับห้องท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) มีห้องของท่านหญิงอุมมุสละมะห์ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งติดกับห้องของท่านหญิงซัยหนับ บินตุ ญะหฺช์ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งติดกับห้องของท่านหญิงซัยหนับ บินตุ คุซัยมะฮฺ อุมมุลมะสากีน (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ตรงปลายตรอก (คูเคาะฮฺ) ของท่านอะลี (ร.ฎ.)

และบริเวณท้ายมัสยิดตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเพิงที่พักของเหล่าสาวกผู้อพยพ (มุฮาญิรูน) ที่เรียกว่า อะฮฺลุศศุฟฟะฮฺ ถัดมาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นห้องพักของท่านหญิงญุวัยรียะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ถัดมาคือห้องพักของท่านหญิงรอมละฮฺ บินตุ อบีสุฟยาน (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) และห้องพักของท่านหญิงเศาะฟียะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ตรงมุมมัสยิดด้านที่อยู่ใกล้กับประตูอัรฺ-เราะหฺมะฮฺ (61) 

บ้านนบีแห่งที่สองในนครมะดีนะฮฺจึงหมายถึงกลุ่มของห้องพักบรรดาภริยาของท่านนบี ﷺ และท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) กับท่านอะลี (ร.ฎ.) ซึ่งอยู่รายล้อมอาคารมัสยิดนะบะวียฺ นับตั้งแต่มุมมัสยิดด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้และจากทางด้านทิศตะวันออก ตลอดจนจากทิศเหนือจนถึงมุมมัสยิดทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ณ ประตูอัรฺ-เราะหฺมะฮฺ ท่านนบี ﷺ จะพักอยู่ในห้องของภรรยาของท่านตามเวรที่ถูกจัดสรรเอาไว้และบรรดาสมาชิกภายในบ้านนบีแห่งที่สอง ณ นครมะดีนะฮฺนี้คือท่านนบี ﷺ และบรรดาภริยาของท่านที่สมรสกับท่านหลังการเสียชีวิตของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) รวมถึงท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ท่านอะลี (ร.ฎ.) และบุตร-ธิดาของท่านทั้งสอง เช่น ท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) และอัลหุสัยนฺ (ร.ฎ.) เป็นต้น

ตลอดระยะเวลา 10 ปีหลังการอพยพสู่นครมะดีนะฮฺ  มัสยิดนะบะวียฺและบ้านนบีคือศูนย์กลางของรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺ ความสัมพันธ์ระหว่างมัสยิดนะบะวียฺกับบ้านนบีเคียงคู่กันอย่างเด่นชัด ในยามที่ท่านนบี ﷺ มิได้ออกศึกหรือเดินทางไกลภาระกิจของท่านจะวนเวียนอยู่ระหว่างบ้านและมัสยิดของท่านทั้งสองแห่งเป็นพื้นที่เดียวกันในการแสดงบทบาทและการวางแบบอย่างในทุกมิติ ทั้งความเป็นศาสนทูต ประมุขของรัฐ ผู้ตัดสินชำระคดีความ ผู้สั่งสอนและผู้ให้การศึกษา ผู้นำครอบครัวในฐานะสามี บิดา และตาของหลาน รวมถึงความเป็นเครือญาติและมิตรสหาย ทั้งหมดเกิดขึ้นและดำเนินไปในพื้นที่นี้ตราบจนกระทั่งบ้านนบีได้กลายเป็นหลุมฝังศพของท่านในเวลาต่อมาเมื่อท่านได้สิ้นชีวิต

สมาชิกบ้านนบี (อาลุลบัยตินนะบะวียฺ) คือผู้ใด?

นักปราชญ์มีความเห็นต่างในการกำหนดว่า สมาชิกบ้านนบี (อาลุลบัยต์) หมายถึงผู้ใด? เป็น 4 ทัศนะ ดังนี้

สมาชิกบ้านนบี (อาลุลบัยต์) คือบรรดาบุคคลที่ทานบริจาค (เศาะดะเกาะฮฺ) เป็นที่ต้องห้ามสำหรับพวกเขา เป็นทัศนะของอิมามอบูหะนีฟะฮฺ , อัช-ชาฟิอียฺ , อะหฺมัดและนักวิชาการในมัซฮับอัล-มาลิกียฺบางส่วน (62)

สมาชิกบ้านนบี (อาลุลบัยต์) หมายถึง ลูกหลานผู้สืบเชื้อสาย และบรรดาภรรยาของท่านนบี ﷺ โดยเฉพาะอิบนุ อับดิลบัรฺ ได้เล่าไว้ในอัต-ตัมฮีด เป็นทัศนะของอิมามอิบนุ อัล-อะเราะบียฺ อัล-มาลิกียฺและเป็นริวายะฮฺของอิมามอะหฺมัด ตลอดจนชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺได้เลือกทัศนะนี้ (63)

หมายถึงบรรดาผู้ปฏิบัติตามท่านนบี ﷺ จนกระทั่งถึงวันสิ้นโลก อัล-บัยฮะกียฺเล่าจากท่านญาบิรฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ (ร.ฎ.) และจากอิมามสุฟยาน อัษ-เษารียฺ เป็นทัศนะของนักปราชญ์บางส่วนในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และอัล-อัซฮะรียฺได้เลือกทัศนะนี้ รวมถึงอัส-สะฟารินียฺระบุไว้ในละวามิอุล อันว็ารฺ และอิมามอันนะวาวียฺได้ให้น้ำหนักไว้ในชัรหุ เศาะฮีหฺ มุสลิม (64)

หมายถึง บรรดาผู้มีความยำเกรงจากประชาคมของท่านนบี ﷺ อัล-กอฎียฺ หุสัยนฺและอัร-รอฆิบและปราชญ์ท่านอื่น ๆ ได้เล่าไว้ แต่หลักฐานของทัศนะนี้อ่อนถึงอ่อนมาก (65)

และทัศนะที่มีน้ำหนักคือ สมาชิกบ้านนบี (อาลุลบัยต์) หมายถึง บรรดาญาติสนิทของท่านนบี ﷺ ซึ่งการทำทานบริจาคแก่พวกเขาเป็นที่ต้องห้าม เช่น ครอบครัวของท่านอะลี , อะกีล , ญะอฺฟัรและอับบาส เป็นต้น รวมถึงบรรดาภรรยาและลูกหลานผู้สืบเชื้อสายของท่านนบี (66) ﷺ

ความเชื่อ ทัศนคติ และท่าทีของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ต่อสถานภาพของสมาชิกบ้านนบี

อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ จะมีความรักต่อสมาชิกบ้านนบี (อาลุลบัยต์) ให้เกียรติและยกย่องตามสถานะอันควรซึ่งอัล-กุรอานและสุนนะฮฺระบุไว้โดยไม่มีการยกย่องจนเลยเถิดหรือจาบจ้วง บริภาษหรือชิงชัง แต่อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺจะยอมรับถึงความประเสริฐ คุณงามความดีและสถานภาพอันเป็นพิเศษของเหล่าสมาชิกในบ้านนบีทุกท่าน

ความรักที่มีต่อสมาชิกในบ้านนบีเป็นผลมาจากความรักที่มีต่อท่านนบี ﷺ และความรักที่มีต่อท่านนบี ﷺ เป็นผลมาจากความรักที่มีต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เพราะพระองค์ทรงรักท่านนบี ﷺ และท่านนบี ﷺ เป็นที่รักของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เราจึงรักท่านนบี ﷺ และท่านนบี ﷺ รักบรรดาสมาชิกในบ้านของท่านและบรรดาสมาชิกในบ้านของท่านรักอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และรักท่านนบี ﷺ และเป็นกลุ่มบุคคลอันเป็นที่รักของท่านนบี ﷺ เราจึงรักบรรดาบุคคลที่เป็นสมาชิกในบ้านนบีเนื่องด้วยความรักในพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และความรักต่อสมาชิกในบ้านนบี เป็นเครื่องหมายของความศรัทธาเป็นสิ่งจำแนกระหว่างผู้ศรัทธากับกลุ่มชนผู้กลับกลอก

เมื่อบรรดาภรรยาของท่านนบี ﷺ เป็นเหล่ามารดาของปวงศรัทธาชน เป็นผู้ที่เลือกพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และท่านนบี ﷺ เมื่อถูกเสนอให้เลือกเอาระหว่างความสุขในดุนยากับความบรมสุขในอาคิเราะฮฺที่ตั้งอยู่บนการเลือกพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และท่านนบี ﷺ บรรดาภรรยาของท่านนบี ﷺ ก็เลือกความบรมสุขและความประเสริฐในอาคิเราะฮฺ บรรดาภรรยาของท่านนบี ﷺ ย่อมได้รับการชื่นชมและยกย่องในฐานะภรรยาของท่านนบี ﷺ ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺและเป็นมารดาของเหล่าศรัทธาชนที่จำต้องได้รับเกียรติ การยกย่องในฐานะผู้เป็นมารดา เมื่อท่านนบี ﷺ เป็นผู้ประเสริฐ บรรดาภรรยาทั้งหมดของท่านนบี ﷺ ก็ย่อมเป็นผู้ประเสริฐที่คู่ควรกับท่านนบี ﷺ และมีศักดิ์และสิทธิที่เป็นพิเศษต่างจากบรรดาสตรีอื่น ๆ

และเมื่อท่านนบี ﷺ เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากวงศ์ตระกูลที่ดีที่สุดของกุรอยช์ บรรดาบุตรีและบุตรชายตลอดจนบรรดาลูกหลานของท่านนบี ﷺ ก็ย่อมเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขและสืบสายตระกูลบ้านนบี ความประเสริฐของสมาชิกในบ้านนบีจึงเป็นสิ่งที่อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺถือเป็นความเชื่อและวิถีในความประเสริฐนั้น แต่อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺไม่มีความเชื่ออย่างชนกลุ่มอื่นที่ว่า การมีความรักต่อสมาชิกบ้านนบีเพียงอย่างเดียวคือสิ่งที่ทำให้รอดพ้นจากการลงทัณฑ์หรือทำให้พ้นภาระหน้าที่ในการประกอบศาสนกิจหรือการทำบาปไม่ส่งผลร้ายต่อผู้ที่มีความรักในบุคคลเหล่านั้น

และอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺไม่มีความเชื่อว่าบรรดาสมาชิกในบ้านนบีโดยเฉพาะท่านอะลี (ร.ฎ.) อัล-หะสัน (ร.ฎ.) และอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) ตลอดจนลูกหลานของท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ไร้ความผิด (มะอฺศูม) เพราะอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺเชื่อว่า ไม่มีผู้ใดเป็นผู้บริสุทธิ์ไร้ความผิด (มะอฺศูม) นอกจากท่านนบี ﷺ และบรรดานบีทั้งหลาย หลังจากท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ แล้วย่อมไม่มีผู้ใดที่มีสถานภาพเป็นมะอฺศูมหรือเป็นผู้วางบัญญัติศาสนาอีกแล้ว

อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺมีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า บรรดาสาวกของท่านนบี ﷺ ต่างก็รักและยกย่องให้เกียรติบรรดาสมาชิกในบ้านนบีทุกคน  ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) และท่านอุมัร (ร.ฎ.) ต่างก็มีสายสัมพันธ์อันดีกับสมาชิกในบ้านนบีทุกคน และท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ซึ่งอาจจะขุ่นเคืองต่อท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ในเรื่องมรดกของท่านนบี ﷺ ในตอนแรก แต่ท้ายที่สุดแล้วบุคคลทั้งสองก็ยินดีต่อกัน และท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็คือที่ปรึกษาคนสำคัญของเคาะลีฟะฮฺอบูบักร (ร.ฎ.) และอุมัรฺ (ร.ฎ.) อีกทั้งยินดีและเต็มใจในการให้สัตยาบันแก่บุคคลทั้งสอง  รวมถึงท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ก่อนที่ท่านอะลี (ร.ฎ.) จะได้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ

อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺไม่เชื่อว่ามีการอธรรมใด ๆ หรือการคุกคามใด ๆ เกิดขึ้นระหว่างบุคคลทั้ง 4 ท่านและระหว่างทั้ง 3 ท่านกับลูกหลานของท่านอะลี (ร.ฎ.)    ดังนั้นความเชื่อที่ว่าบรรดาสาวกของท่านนบี ﷺ ได้ตกศาสนาและกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาหลังการสิ้นชีวิตของท่านนบี ﷺ การประทุษร้ายและกดขี่สมาชิกในบ้านนบี การอธรรมต่อท่านอะลี (ร.ฎ.) ด้วยการให้สัตยาบันแก่เคาะลีฟะฮฺทั้งสามก่อนหน้าท่าน

การทำร้ายท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) ที่บ้านของท่านหญิงทั้งหมดเป็นความมุสาเป็นเรื่องเท็จที่ศัตรูของอิสลามได้กุขึ้น ความเชื่อใด ๆ ที่อ้างว่า  บรรดาสาวกของท่านนบี ﷺ คือผู้ที่สังหารท่านอะลี (ร.ฎ.) และท่านอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) เป็นความเชื่อที่อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺปฏิเสธและถือเป็นความผิดพลาดโดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เพราะความประเสริฐของเหล่าสมาชิกในบ้านนบีถูกรายงานและถ่ายทอดโดยบรรดาสาวกของท่านนบี ﷺ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่บรรดาสาวกจะกระทำการประทุษร้าย ละเมิดและอธรรมต่อกลุ่มบุคคลที่เหล่าสาวกได้รายงานและถ่ายทอดถึงความประเสริฐของบุคคลเหล่านั้น

ความเชื่อใด ๆ ที่อ้างว่า ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เป็นศัตรูกับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) และอาฆาตพยาบาทต่อท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นสิ่งที่อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺปฏิเสธโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นไปไม่ได้ว่า ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (เราะฏิยัลลอฮุอันฮา) จะมีพฤติกรรมเช่นนั้นแล้วก็รายงานถ่ายทอดความประเสริฐของบุคคลทั้งสองจากท่านนบี ﷺ ให้ผู้ศรัทธาได้รับรู้และยอมรับถึงความประเสริฐของบุคคลทั้งสอง

อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ มีทัศนคติที่ดีต่อบรรดาภรรยาของท่านนบี ﷺ และมองว่าพระนางเหล่านั้นคือปุถุชนมิใช่ผู้บริสุทธิ์ไร้บาป (มะอฺศูม) ความเป็นสตรีที่ร่วมสามีคนเดียวกัน การรวมกลุ่มเข้าพวกระหว่างท่านหญิงอาอิชะฮฺ , หัฟเศาะฮฺ , เศาะฟียะฮฺ และเสาดะฮฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุนน่า) ฝ่ายหนึ่ง กับท่านหญิงอุมมุสละมะฮฺพร้อมด้วยภรรยาของท่านนบี ﷺ ที่เหลืออีกฝ่ายหนึ่ง การเรียกร้องสิทธิเพิ่มเติม การมีวิวาทะระหว่างกัน เป็นเรื่องปกติของสตรีที่ร่วมสามีเดียวกัน เมื่อมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็จะได้รับการขัดเกลา อบรม สั่งสอนจากท่านนบี ﷺ อยู่เสมอ ตามวาระโอกาสและเหตุการณ์ เพราะเหล่าพระนางยังคงเป็นมนุษย์ปุถุชนซึ่งย่อมมีความผิดพลาดและบกพร่องเป็นธรรมดา

เหล่าพระนางมิใช่ผ้าที่ถูกพับไว้ในตู้และมิใช่สตรีผู้เลอเลิศ สมบูรณ์ดั่งนางในวรรณคดีหรือเป็นมะลัก แต่ด้วยการปกครองอันยุติธรรมของท่านนบี ﷺ ในฐานะสามีผู้เป็นศาสนทูตและการอบรมสั่งสอนและชี้แนะศีลธรรมจรรยาอันงดงามแก่พระนางเหล่านั้นตลอดการครองเรือนของท่าน ได้หล่อหลอมและปั้นพระนางเหล่านั้นให้กลายเป็นสตรีผู้สมบูรณ์และงดงาม กลายเป็นแบบที่สามารถปฏิบัติตามเอาอย่างได้จริงสำหรับบรรดาสตรีผู้ศรัทธา

และความอดทนอดกลั้นของท่านนบี ﷺ ในการเผชิญกับปัญหาของเหล่าภรรยาในบ้านของท่านและความสามารถอย่างเอกอุในการรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกและการปฏิบัติตนของภรรยาแต่ละคนของท่านนบี ﷺ ซึ่งมีความแตกต่างในด้านลักษณะนิสัย วุฒิภาวะและและอายุ ทั้งหมดเป็นเรื่องของสภาวะแห่งความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในทุกครอบครัว เป็นธรรมชาติของสตรีที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงใส่ไว้ในความเป็นสตรีแต่ละคน

เมื่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของสภาวะแห่งความเป็นจริงก็ย่อมสามารถสัมผัสจับต้องและเทียบเคียงเอามาเป็นแบบอย่างได้ การมีอารมณ์หึงหวง เป็นต้น เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตการครองเรือนของเหล่าสตรีผู้เป็นภรรยาของท่านนบี ﷺ และมีการปฏิบัติของท่านนบี ﷺ ในการรับมือกับพฤติกรรมดังกล่าวเป็นแบบอย่าง คำสอนของท่านนบี ﷺ ที่ชี้แนะตักเตือน ว่ากล่าวและอบรมภรรยาของท่านในเรื่องนี้ก็กลายเป็นหลักการครองเรือนตามสภาวะความเป็นจริงสำหรับผู้ศรัทธาที่เป็นผู้ครองเรือน เป็นแบบอย่างที่สามารถนำมาใช้ได้จริงเพราะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น

และความสมบูรณ์แบบของเหล่าภรรยาของท่านนบี ﷺ ก็เกิดขึ้นผ่านการอบรมสั่งสอนของท่านนบี ﷺ จากข้อบกพร่องสู่การเติมเต็ม จากความไม่มีเหตุผลและการเอาแต่ใจสู่ความตรึกตรองและยอมรับในเหตุผล จากปุถุชนสามัญสู่ความเป็นสตรีผู้อุดมด้วยศรัทธาและปัญญา และจากความเป็นภรรยาของท่านนบี ﷺ และความเป็นมารดาแห่งเหล่าศรัทธาชนในโลกนี้สู่ความเป็นชาวสวรรค์อันสูงส่งในอาคิเราะฮฺ

วัลลอฮุอะอฺลัม


เชิงอรรถ

(1) อัส-สัมฏุ อัษ-ษะมีน ฟี มะนากิบ อุมมะฮาต อัล-มุอฺมินีน หน้า 30

(2) มุฮัมมัด มุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ เซาญาตุนนบี ว่า อาลุลบัยต์ ; หน้า 128

(3) ฮิชาม อัล-กามิล หามิด มูซา : อาลุลบัยต์ อัล-มุซัมมา บัดรุตตะมาม ฟี อาลิ บัยตินนะบียฺ อัล-กิรอม ; หน้า 273)

(4) มุฮัมมัด ซะกียฺ อับดุลหะลีม อัล-คูลียฺ : มิสกุลกะลาม ฟี อัคบารฺ อัล-บะลัด อัล-หะรอม หน้า 392

(5) มุฮัมมัด มุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ หน้า 268

(6) อ้างแล้ว หน้า 267

(7) อ้างแล้ว หน้า 268 , 300

(8) ฮิชาม อัล-กามิล หามิด มูซา หน้า 22

(9) มุฮัมมัด มุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ หน้า 121

(10) ฮิชาม อัล-กามิล หามิด มูซา หน้า 272

(11) อิบนุ กะษีรฺ : อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ ; เล่มที่ 1 ภาคที่ 2 หน้า 251

(12) อัล-มะวาฮิบ อัล-ละดุนนียะฮฺ 1/403

(13) บันทึกโดยอะหฺมัด ในมุสนัด (6/188) และอัล-ฮัยษะมียฺระบุในมัจญ์มะอฺ อัซ-ซะวาอิด (9/277) ว่าเป็นสายรายงานที่ดี (หะสัน)

(14) มุฮัมมัด มุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ หน้า 131

(15) บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ (3820) มุสลิม (2432/71)

(16) บันทึกโดย อะหฺมัด ในอัล-มุสนัด (1/293,316)

(17) มุฮัมมัด ซะกียฺ อับดุลหะลีม อัล-คูลียฺ หน้า 425

(18) ฮิชาม อัล-กามิล หามิด มูซา หน้า 42

(19) อ้างแล้ว หน้า 43

(20) ดูมุฮัมมัด มุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ หน้า 270..

(21) ฮิชาม อัล-กามิล หามิด มูซา หน้า 259-260

(22) มุฮัมมัด มุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ หน้า 277

(23) ฮิชาม อัล-กามิล หน้า 259

(24) อ้างแล้ว หน้า 260

(25) อ้างแล้ว หน้า 262

(26) สัมฏุนนุญูม อัล-อะวาลียฺ 1/420 , 421 

(27) มุฮัมมัด มุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ หน้า 286-287

(28) ฮิชาม อัล-กามิล หน้า 266

(29) สัมฏุนนุญูม อัล-อะวาลียฺ 1/423 บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ

(30) อิบนุสะอฺด์ ในอัฏ-เฏาะบะกอต อัล-กุบรอ : 8/38 , อัล-หากิม ในอัล-มุสตัดร็อก : 4/53 , อัล-ฮัยษะมียฺ ในมัจญ์มะอฺ อัซ-ซะวาอิด : 9/217 ระบุว่าสายรายงานเชื่อถือได้

(31) อิบนุ สะอฺด์ อ้างแล้ว 8/38

(32) อิบนุ สะอฺด์ อ้างแล้ว

(33) ฮิชาม อัล-กามิล หน้า 267

(34) ฮิชาม อัล-กามิล หน้า 248 , 249

(35) อ้างแล้ว หน้า 249

(36) ดร.มุฮัมมัด สะอีด เราะมะฎอน อัล-บูฏียฺ ฟิกฮุสสิเราะฮฺ อัน-นะบะวียะฮฺ สำนักพิมพ์ดารุสสลาม (กรุงไคโร) หน้า 86

(37) อ้างแล้ว หน้า 91

(38) อ้างแล้ว หน้า 95

(39) อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน 

(40) อ้างแล้ว หน้า 97 , อิบนุ ฮิชาม อัส-สีเราะฮฺ อัน-นะบะวียะฮฺ 2/263-264

(41) ฮิชาม อัล-กามิล หน้า 250

(42) อ้างแล้ว หน้า 251

(43) มุฮัมมัด มุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ หน้า 297

(44) อัล-อิศอบะฮฺ 8/55 , บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ (2375) และมุสลิม 1/975

(45) บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ (3714) มุสลิม (2449/93,96) อบูดาวูด (2069,2071) อัต-ติรมิซียฺ (3866) 

(46) มุฮัมมัด นุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ หน้า 297 

(47) บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ (516) มุสลิม (543/41) 

(48) อัซ-ซะฮฺบียฺ : สิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอฺ 3/427)

(49) บันทึกโดยมุสลิม (2450/98)

(50) บันทึกโดยอัล-หากิมในมะอฺริฟะฮฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ (4721) , (4722/3) อัซ-ซะฮฺบียฺระบุในอัต-ตัลคีศ ว่า เศาะฮีหฺ

(51) สิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอฺ : 3/429

(52) ฮิชาม อัล-กามิล หน้า 255 

(53) ฮิชาม อัล-กามิล หน้า 46

(54) มุฮัมมัด มุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ หน้า 307

(55) ฮิชาม อัล-กามิล หน้า 45

(56) อ้างแล้ว หน้า 46

(57) อ้างแล้ว หน้า 47

(58) อ้างแล้ว หน้า 50

(59) ดร.อับดุลบาสิฎ บัดร์ อัต-ตารีค อัช-ชามิล ลิลมะดีนะฮฺ อัล-มุเนาวะเราะฮฺ ; 1/141-142

(60) อ้างแล้ว หน้า 142

(61) อุด-ดุรฺษะมีน ฟี มะอาลิม ดารฺ อัร-เราะสูล อัล-อะมีน ฆอลียฺ : มุฮัมมัด อัล-อะมีน อัช-ชังกีฏียฺ หน้า 28,30

(62) มุฮัมมัด มุตะวัลลียฺ อัช-ชะอฺรอวียฺ หน้า 31

(63) อ้างแล้ว หน้า 32

(64) อ้างแล้ว หน้า 34-35

(65) อ้างแล้ว หน้า 35

(66) อ้างแล้ว หน้า 36