การทำน้ำซอฟัรและอิบาดะห์ในวันพุธสุดท้ายของเดือนซอฟัร  (อ่าน 16917 ครั้ง)

คนทำงาน

  • บุคคลทั่วไป
ที่มัสยิดผมจะมีการทำน้ำซอฟัรอ่ะครับ อยากทราบว่ามีหลักฐานอย่างไรบ้างครับ และฮุก่มว่าอย่างไร เห็นมีอาจารย์ท่านนึงบอกวิธีทำไว้ด้วยโดยเขียนแผนภูมิ (ตารางสีเหลี่ยมเก้าช่อง) ไว้ในจาน หรือ ถ้วยสีขาว และเขียนรอบๆแผนภูมิดังกล่าว ด้วยดุอาอฺ ( การขอพร ) และบรรดาโองการต่างๆจากอัลกุรอ่าน ที่เริ่มต้นด้วยคำว่า \"สลาม\" ซึ่งแปลว่า \"สันติสุข\" หรือ \"ความปลอดภัย\" หลังจากนั้น นำไปล้างน้ำแล้วนำน้ำนั้นมาดื่ม เขาจะได้รับความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้ปลอดภัย มีความสุข พ้นบะลา ตลอดวันนั้น อีกทั้งจะไม่มีบาลาใดๆมากร่ำกรายตลอดทั้งปี
ผมเห็นจากรูปแล้วคล้ายๆยันยังไงไม่รู้ ไม่ค่อยสบายใจ  อาจารย์ช่วยไขข้อข้องใจหน่อยนะครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

พวกเขา (คนที่ทำ) เชื่อกันว่า บรรดาบะลาอฺนั้นอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะทรงส่งลงมาในทุกๆ ปี จำนวน 12,000 บะลาอฺ (บ้างก็ว่า 320,000 บะลาอฺ) โดยเคลื่อนย้ายจาก เลาหิล-มะหฺฟูซ สู่ฟ้าเบื้องล่างในค่ำคืนวันพุธสุดท้ายของเดือนเศาะฟัร เพื่อให้รอดพ้นจากภัยบะลาอฺดังกล่าวจึงต้องเขียนดุอาอฺด้วย 7 อายะฮฺแล้วละลายลงในน้ำเพื่อนำมาอาบ

ดุอาอฺที่ว่านี้คือ

سلامٌ قولًا من رب رحيم
سلام على نوح فى العا لمين
سلام على ابراهيم
سلام على موس وهارون
سلام على إلياسين
سلام عليكم طبتم فادخلوهاخالدين
سلام هى حتى مطلع الفجر

แล้วตามด้วยดุอาอฺที่เริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า

اللهم ياشديدالقوي ياشديدالمحال الخ


ทั้งนี้เขียนเป็นตาราง อะซีมัต (عزيمة) เป็นรูปดังนี้
[img size=250-250]http://www.alisuasaming.org/images/qa/safar.jpg[/img]

ดุอาอฺจากอายะฮฺทั้ง 7 เป็นส่วนหนึ่งจากอัล-กุรอาน และประโยคดุอาอฺส่วนใหญ่เป็นประโยคที่มีความหมายดีและคัดมาจากดุอาอฺของนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)


ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้อ่านถ้อยคำความดังกล่าวกระทำผิดต่อหลักศาสนบัญญัติ สิ่งที่ถูกตำหนิก็คือ ความเชื่อในที่มาของเรื่องนี้ไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องมารับรอง เพราะเป็นคำกล่าวอ้างของ ชัยคฺ ซัรฟุดดีน ในตำราตะอฺลีเกาะฮฺ มิใช่เป็นหะดีษของนบี (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)


ชัยคฺ มุฮัมมัด อับดุสสลาม เคาะฎิร อัช-ชุกอยรียฺ (ร.ฮ.) กล่าวถึงเดือนเศาะฟัร และการอัปมงคลในเดือนนี้ว่า : แท้จริงบรรดาผู้โง่เขลาได้ถือเป็นประเพณีในการที่พวกเขาจะเขียนบรรดาอายะฮฺเกี่ยวกับความศานติ  (آيات اسَّلَامِ)  เช่น (سلام على نوح فى العالمين) ฯลฯ ในวันพุธสุดท้ายของเดือนเศาะฟัร


ต่อมาพวกเขาจะใส่สิ่งที่ถูกเขียนลงไปในภาชนะโดยพวกเขาจะดื่มมันและเอาศิริมงคลกับมันตลอดจนมอบมันให้แก่กันเนื่องจากความเชื่อของพวกเขาที่มีต่อสิ่งนี้ว่าจะทำให้ความชั่วร้ายทั้งหลายหมดไป


และนี่เป็นความเชื่อที่เสียหาย และเป็นการถือโชคลางที่ถูกตำหนิ เป็นการอุตริกรรมที่น่ารังเกียจ จำเป็นที่ทุกคนที่รู้เห็นจะต้องปฏิเสธต่อผู้กระทำ และชัยคฺ อัช-ชุกอยรียฺ (ร.ฮ.) อธิบายความหมายของอัล-หะดีษที่ว่า (ولاصفر) ว่าหมายถึงเดือนเศาะฟัรก็เหมือนกับเดือนอื่นๆ ไม่ได้เป็นสิ่งพิเศษเฉพาะต่อการเกิดความชั่วร้ายในเดือนนี้อย่างที่บรรดาผู้โง่เขลาอ้าง (อัส-สุนัน วัล-มุบตะดะอาต ดารุลกุตุบอัล-อิลมียะฮฺ เบรุต หน้า 137-138)


ชัยคฺ อะฏียะฮฺ ศอกร์ อธิบายคำว่า  (الصفر) ในอัลหะดีษว่า : หมายถึง งู ซึ่งอยู่ในท้องของคนเมื่อมันหิวมันจะทำร้ายบุคคลผู้นั้นตามที่ชาวอาหรับกล่าวอ้าง บ้างก็ว่า หมายถึงเดือนเศาะฟัรซึ่งชาวอาหรับกำหนดเวลาของเดือนนี้ให้ล่าออกไปด้วยการทำให้ความเป็นเดือนต้องห้ามของมุหัรรอมเลยไปถึงเดือนเศาะฟัร (อะหฺสะนุลกะลาม ฟิล ฟะตาวา วัล-อะหฺกาม ภาคที่ 6 หน้า 70)


ชัยคฺ มุฮัมมัด ญะมาลุดดีน อัล-กอสิมียฺ กล่าวว่า “ฉันไม่รู้ว่าประเพณีนี้มาจากไหนนอกจากบรรดาชัยคฺ (โต๊ะแซะฮฺ) ที่ชอบทำเครื่องรางของขลัง” (อิศลาหุลมะซาญิด มินัล บิดะอฺ วัล-อะวาอิด หน้า 116)


ส่วนหะดีษที่ระบุว่า “วันพุธคือวันอัปมงคลโดยตลอด” นั้นอัศ-เศาะฆอนียฺ กล่าวว่าเป็นหะดีษเมาวฺฎุอฺ และอิบนุ อัล-เญาวฺซียฺก็กล่าวเช่นนี้ , อัส-สะคอวียฺกล่าวว่า ในเรื่องความประเสริฐของวันพุธและการให้หลีกห่างจากการกระทำสิ่งใดในวันพุธมีบรรดาหะดีษที่ทั้งหมดเหลวไหล (อ่อนมาก) (อ้างแล้ว หน้า116)


ดังนั้นเมื่อปรากฏว่า การกระทำน้ำเศาะฟัรเป็นการกระทำที่เกิดจากความเชื่อที่ไม่มีหลักฐานรับรองตลอดจนการเชื่อในสิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่ค้านกับตัวบททางศาสนาการทำน้ำเศาะฟัรเพื่อดื่มหรืออาบโดยเชื่อว่าจะป้องกันภัยบะลาอฺได้ จึงเป็นสิ่งที่มุสลิมจำต้องหลีกห่าง


สิ่งที่มุสลิมจำเป็นต้องเชื่อโดยเด็ดขาดคือทุกสิ่งไม่ว่าดีหรือร้าย หวานหรือขม ต่างก็เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงลิขิตเอาไว้แล้ว สิ่งใดที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้เกิด สิ่งนั้นย่อมเกิดไม่มีทางเป็นอื่น สิ่งใดที่อัลลอฮฺไม่ประสงค์ให้เกิด สิ่งนั้นย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นไปได้ สิ่งใดที่อัลลอฮฺกำหนดให้บ่าวได้ประสบ สิ่งนั้นย่อมไม่พลาด สิ่งใดที่อัลลอฮฺทรงไม่ให้บ่าวได้ประสบ สิ่งนั้นย่อมไม่มีทางมาประสบกับบ่าว


และการขอดุอาอฺต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) พร้อมด้วยศรัทธามั่นและการประพฤติคุณงามความดีคือสิ่งที่จะป้องกันภัยพิบัติทั้งปวงหรือผ่อนหนักให้เป็นเบา เชื่ออย่างนี้และทำอย่างนี้ก็ย่อมเป็นที่เพียงพอแล้วโดยไม่ต้องไปข้องแวะกับสิ่งที่ถามมาข้างต้นเลยแม้แต่น้อย!

والله اعلم بالصواب
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 31, 2017, 03:57:06 pm โดย admin »