การรับซะกาต ของมัสยิดที่มีหนี้สิน  (อ่าน 5820 ครั้ง)

umud

  • บุคคลทั่วไป
การรับซะกาต ของมัสยิดที่มีหนี้สิน
« เมื่อ: สิงหาคม 21, 2011, 11:29:09 pm »
มัสยิดมีหนี้จากการก่อสร้างอาคาร โดยผู้ที่ไม่อยู่ในจำพวก 8 รับเป็นหนี้นิติบุคคลให้
จะรับซะกาตฟิตเราะ และซะกาตรอบปีได้หรือไม่ และและที่ดีควรจัดการอย่างไร

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : การรับซะกาต ของมัสยิดที่มีหนี้สิน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 16, 2011, 08:22:36 pm »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ผู้มีหนี้สิน (الغارمون) เป็นหนึ่งใน 8 จำพวกที่มีสิทธิรับซะกาต ซึ่งในทัศนะของอิหม่ามมาลิก (ร.ฮ.) , อิหม่ามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และอิหม่ามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ผู้มีหนี้สินแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

1)   ผู้มีหนี้สินเนื่องด้วยสิทธิประโยขน์ของตนเอง  غَارِمٌ لِمَصْلَحَةِ نَفْسِه

2)   ผู้มีหนี้สินเนื่องด้วยสิทธิประโยชน์ของสังคมส่วนรวม غارِمٌ لِمَصْلَحَةِ المُجْتَمَعِ  หรือเนื่องด้วยสิทธิประโยชน์ของผู้อื่น غارم لمصلحة الغَيْرِ  เช่นบรรดาผู้ที่มีเกียรติและมีฐานะทางสังคมซึ่งพวกเขารับภาระหนี้สินเพื่อประนีประนอมระหว่างกลุ่มชน ... ที่มีกรณีพิพาทระหว่างกัน บรรดานักวิชาการระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าบุคคลผู้มีหนี้สินเนื่องจากกรณีดังกล่าวมีสิทธิในการรับซะกาตเพื่อชดใช้หนี้สินที่เขารับเป็นภาระเอาไว้แก่เขาได้ (อัร-เราวฺฎุลมุร็อบบะอฺ 1/2.43 , มะฏอลิบ อูลินนุฮา 2/143)


และเหมือนกับบรรดาบุคคลเหล่านี้ที่ประนีประนอมระหว่างผู้คนคือบุคคลทุกคนๆ ที่มีจิตสาธารณะในกิจกรรมทางสังคมที่ถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ เช่น องค์กรเพื่อเด็กกำพร้า โรงพยาบาลที่ให้การบริการแก่ผู้ยากไร้ มัสญิดที่ใช้ในการประกอบศาสนกิจละหมาด , โรงเรียนที่ให้การศึกษาแก่มุสลิม หรือที่มีลักษณะคล้ายกันนั้นจากกิจกรรมทางการกุศลและการบริการสังคม เพราะบุคคลที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวได้ให้บริการสาธารณกุศลโดยส่วนรวม จึงมีสิทธิในการที่เขาจะได้รับการช่วยเหลือจากทรัพย์สินส่วนรวมของหมู่คณะ


ดังนั้นกลุ่มคณะบุคคลหรือรายบุคคลที่เป็นหนี้เพื่อการดังกล่าวเช่นรับเป็นหนี้แทนมัสญิดที่มีหนี้สินเนื่องจากการก่อสร้างมัสญิดให้แล้วเสร็จจึงมีสิทธิรับซะกาตในสัดส่วนของการชำระหนี้ของเขาในส่วนนี้ ถึงแม้ว่าผู้นั้นหรือกลุ่มคณะบุคคลนั้นจะเป็นผู้ร่ำรวยก็ตาม (ฟิกฮุซะกาต ; ยุสุฟ อัล-กอรฎอวียฺ เล่มที่ 2 หน้า 674 , 742) ทั้งนี้ถือตามทัศนะของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺที่ระบุเอาไว้ โดยเฉพาะในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีความร่ำรวยด้วยกรรมสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นหรือไม่ก็ตาม (อัร-เราวฺเฎาะซะฮฺ ; อัน-นะวาวียฺ 2/319 , นิฮายะตุลมุหฺต๊าจฺญ์ ; อัร-รอมลียฺ 6/155)


และการมีสิทธิรับซะกาตของบุคคลดังกล่าวนั้น ที่ชัดเจนที่สุดคือ ในส่วนของซะกาตทรัพย์สินรายปี (ซากาตุล-มาล) ส่วนซะกาตฟิฏร์นั้นตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺก็สามารถรับได้เช่นกัน เพราะถือว่าเขาเป็นบุคคล 1 ใน 8 จำพวกที่มีสิทธิรับซะกาต คือเป็นผู้มีหนี้สินเนื่องจากการรับชำระหนี้ในด้านการกุศลที่เกี่ยวกับการสร้างมัสญิด แต่ที่ดีแล้วควรรับเฉพาะในส่วนของทรัพย์ซะกาตรายปี (ซากาตุล-มาล) เพียงอย่างเดียวเพื่อหลีกจากข้อขัดแย้งของนักวิชาการ

والله اعلم بالصواب