ซะกาต // วะกัฟ // ทรัพย์สินและลูกหลาน  (อ่าน 10617 ครั้ง)

binti umar @ ks/kr

  • บุคคลทั่วไป
ซะกาต // วะกัฟ // ทรัพย์สินและลูกหลาน
« เมื่อ: กันยายน 14, 2012, 09:27:40 pm »
อัสลามุอะลัยกุม

อาจารย์ค่ะ

มีเรื่องข้องใจ อยู่ 2+1 เรื่อง คือ เรื่องซะกาต กับ เรื่องวะกัฟ

เรื่องที่ 1 : ซะกาต

นาย ก เอาซะกาตฟิตเราะฮฺ (ข้าวถุงสำเร็จรูป) ไปจ่ายให้กับโต๊ะ ส ซึ่งเป็นคนจน (ผู้รับซะกาตท่านนี้ มีอายุมากแล้ว)
ซึ่งตัวโต๊ะ ส ไม่ได้อยู่ ณ ที่นั้น
นาย ก จึงยื่นถุงข้าวซะกาตให้ไว้กับนาย ง ซึ่งเป็นญาติของโต๊ะ ส (โต๊ะ ส อยู่บ้านเดียวกับนาย ง)
และกล่าวว่า ซะกาตฟิตเราะฮฺของเขาและน้องชาย เอามาให้โต๊ะ ส
แล้ว นาย ก ก็กำลังเดินจากไป
นาย ง เรียกนาย ก ให้ย้อนกลับมาใหม่ และบอกกับนาย ก ว่า ทำแบบนี้ใช้ไม่ได้
แต่จะใช้ได้ ก็ต่อเมื่อ นาย ก เปิดถุง (เปิดผนึก คือ ฉีกถุงข้าวสารฟิตเราะฮฺนั้น) แล้วเอามือแตะลงไปในในถุงข้าวสารคือสัมผัสกับข้าวสารนั้น พร้อมกล่าวว่า นี่คือซะกาตฟิตเราะฮฺของข้าพเจ้า

1. อยากทราบว่า จำเป็นต้องเปิดผนึกถุง และปฏิบัติ ดังที่นาย ง แนะนำ หรือไม่
หาก นาย ก เนียตมาแล้วว่า ข้าวสารในถุงนี้นะ เป็นซะกาตของเขา โดยไม่ต้องเปิดผนึกถุง ใช้ได้หรือไม่ จำเป็นต้องกล่าวออกมาเป็นคำพูดดังๆ ให้ผู้รับซะกาต หรือ ผู้รับฝาก (เช่น นาย ง) ได้ยินหรือไม่

2. แล้วผู้รับซะกาต (ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร เงิน ฯ) จำเป็นต้องรับซะกาตโดยเปล่งวาจาออกมา ว่า ข้าพเจ้ารับซะกาตของนาย....หรือไม่อย่างไร

3. ถ้าผู้บริจาคซะกาต เนียตจ่ายซะกาต โดยไม่ได้แจ้งหรือบอกกล่าว กับผู้รับซะกาต จะใช้ได้ไหม

รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำ ชี้แจง อธิบายเพิ่มเติมด้วยค่ะ


เรื่องที่ 2: วะกัฟ

นาง เอ เป็นผู้ที่ชอบสะสมของใช้ เช่น ถ้วย ชาม หม้อ ถาด ฯ โดยให้เหตุผลว่า เวลาที่ทำบุญ จะได้ไม่ต้องไปยืมสุเหร่า เพราะถ้าไปยืมสุเหร่า ต้องรีบเคลียร์ รีบส่งคืน เหนื่อย!!! แต่ถ้าเป็นของตนเอง ค่อยๆ ทยอยเก็บเข้าตู้ได้

เนื่องจากสภาพการณ์ของสังคมปัจจุบัน แตกต่างไปจากเมื่อก่อน
เมื่อก่อน เวลาบ้านไหนทำบุญ ก็จะมีเพื่อนบ้านไปช่วยกัน ตั้งแต่เริ่มจัดเตรียมทำอาหาร จนกระทั่ง เก็บล้างถ้วยชาม
แต่ปัจจุบัน ลูกหลานมักจะไปทำงานนอกบ้าน ดังนั้น การทำบุญจัดเลี้ยงอาหารจึงจะทำในช่วงเวลาสะดวก คือ ช่วงที่ลูกหลานมีวันหยุดยาวๆ ติดต่อกัน และนานๆ จะทำสักครั้งหนึ่ง เพราะไม่ได้มีวันหยุดยาว หรือว่างพร้อมกันบ่อยมากนัก

ปัญหามีอยู่ว่า ตอนนี้ นาง เอ ก็ยังซื้อสะสมอยู่เรื่อยๆ จนจะเต็มบ้าน ไม่มีที่จะเก็บแล้ว
แต่นานๆ จะนำเอาออกมาใช้ทำบุญสักครั้งหนึ่ง ทำทีไรก็เหนื่อยไปหลายวัน (เหนื่อยคนทำ ซึ่งมีน้อยคน ส่วนใหญ่ใช้ปากกับนิ้วชี้สั่งงาน)

บรรดาลูก ๆ ของนาง เอ ก็ไม่อยากให้นาง เอ ซื้อมาสะสมเพิ่มอีก เพราะเต็มไปหมดแล้ว แต่ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์มากนัก

อีกทั้ง ๆ ลูก ๆ เห็นว่า การทำบุญ ทำความดี มีหลายวิธี เนื่องจากสภาพการณ์ปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย เหมือนเช่นอดีต จึงคิดว่า ถ้าจะทำบุญ เราไม่จำเป็นต้องมาทำแบบนั่งจัดเตรียมทุกอย่างเอง (มีการเชิญละแบมาอ่านดูออด้วย??) เหมือนในอดีต เพราะเวลา และกำลังคน ไม่อำนวย จึงบอกว่า หากจะทำบุญ ก็ให้ไปซื้ออาหาร หรือว่าจ้างแม่ค้ามุสลิมที่รู้จัก ให้เขาทำอาหารให้ แล้วเราก็เอาไปทำบุญกับคนจน เด็กกำพร้า ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเชิญละบงละแบมาดุอออะไรมากมาย จะได้ไม่ต้องมานั่งเก็บล้างถ้วยจานชาม ให้เหนื่อย ก็ได้ผลบุญเหมือนกัน อยู่ที่เนียตของเราต่างหาก ?

ดังนั้น ข้าวของเครื่องใช้ ( ถ้วย ชาม หม้อ ฯ)ดังกล่าว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อเข้าบ้านให้รกพื้นที่ของบ้าน (ใช้พื้นที่ในเก็บ) มากไปกว่านี้อีก

ลูกหลานแนะนำว่าให้ทำบุญ แบบอื่น คือ ไม่จำเป็นต้องจัดเตรียมทำอาหารเอง หรืออาจทำบุญในรูปแบบอื่น ก็ไม่ฟัง

และลูก ๆ บอกกับนาง เอ ว่าไม่อยากให้ซื่อมาสะสมเพิ่มอีก เพราะไม่มีที่จะเก็บแล้ว

บรรดาลูก ๆ เปรยขึ้นมาอีกว่า ถ้าหากว่า นาง เอ ไม่อยู่ (เสียชีวิต) ไปแล้ว
ลูก ๆ จะนำเอาข้าวของเครื่องใช้ดังกล่าวนี้ (ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องใช้แล้ว ดังที่อธิบายเหตุผลไปแล้วข้างต้น) ไปวะกัฟให้แก่มัสยิดในละแวกบ้าน

นาง เอ หันมาตวาด  แล้วบอกว่า ถึงแม้ว่า นางจะตายไปก่อน นางก็ไม่ยอมให้นำข้าวของเครื่องใช้ดังกล่าวไปวะกัฟให้มัสยิด นางบอกว่า ถ้าลูกคนใดนำข้าวของเครื่องใช้ดังกล่าวที่นางสะสมไว้ไปวะกัฟ นางจะสาปแช่ง

คำถามคือ อยากทราบว่า ในกรณีเช่นนี้ หากนาง เอ เสียชีวิต ไปแล้ว ทรัพย์สินเหล่านั้น ถือเป็นมรดกของทายาทไปโดยปริยาย แล้วทายาทคือ ลูกของนาง จะนำข้าวของเครื่องใช้ดังกล่าวไปวะกัฟให้มัสยิดตามเจตนาเดิมที่เคยเหนียตไว้ได้หรือไม่ ??? ที่ถามเช่นนี้ เนื่องจาก

๑) นางเคยกล่าวว่า นางจะสาปแช่ง หากนำข้าวของเครื่องใช้ของนางไปวะกัฟ แม้ว่านางจะตายไปก่อนก็ตาม

๒) ข้าวของเครื่องใช้ดังกล่าว เมื่อเป็นมรดกของลูก (ทายาท) แล้ว ผู้เป็นทายาทก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะจัดการอย่างไรกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ในกรณี นางบอกว่าจะสาปแช่งไว้ก่อนแล้ว

๓) ถ้าทำให้บิดามารดาไม่พอใจ อัลลอฮฺก็จะทรงไม่พอพระทัย โกรธกริ้วไปด้วย ?? แล้วถ้าเป็นกรณีนี้ล่ะ

ลูก ๆ ของนางควรจะทำฉันใดดีค่ะ


เรื่องที่ 3: ทรัพย์สินและลูกหลาน

ในหลายๆ อายะฮฺของอัลกุรอาน เมื่อกล่าวถึงบททดสอบเกี่ยวกับทรัพย์สินและลูกหลาน มักจะกล่าวถึงทรัพย์สินขึ้นนำหน้าลูกหลานหรือครอบครัว เช่น กุรอาน 8:28, 34:35-37, 57:20, 63:9, 68:14, 71:21, 64:14-15, 26:88 เป็นต้น ในส่วนนี้ เป็นฮิกมะฮฺจากองค์พระผู้อภิบาล หรือมีความหมายอื่นใดแฝงอยู่หรือไม่ ทรัพย์สิน สำคัญกว่าลูกหลาน ครอบครัวหรือเปล่า???

รบกวนอาจารย์ช่วยชี้แจงแถลงไขด้วยค่ะ

ขอมาอัฟที่ถามหลายคำถาม แถมแต่ละคำถามยาวมาก ๆ ด้วย

ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนความดีงามแก่อาจารย์และครอบครัวของอาจารย์ ตลอดจนทีมงานผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน
วัสลาม

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : ซะกาตฟิตรฺ // วะกัฟ // ทรัพย์สินและลูกหลาน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ตุลาคม 07, 2012, 11:10:55 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

การกระทำของนาย (ก) ซึ่งเอาซะกาตฟิฏร์ไปจ่ายให้แก่โต๊ะ (ส) โดยมอบให้แก่ นาย (ง) เพราะโต๊ะ (ส) ไม่อยู่และกล่าวว่า “นี่คือซะกาตฟิฏร์ของเขาและน้องชายเอามาให้โต๊ะ (ส)” ถือว่าใช้ได้แล้ว เพราะขณะมอบให้ นาย (ก) มีเจตนาในการออกซะกาต และเปล่งวาจาเจาะจงว่าเป็นซะกาตและกำหนดผู้รับ (โต๊ะ ส) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ต้องเปิดถุงข้าวสารและแตะมือลงไปในถุงข้าวนั้นแต่อย่างใด


ทั้งนี้ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺถือว่าการตั้งเจตนา (นียะฮฺ) ของผู้ออก ซะกาตเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อมีเจตนาแล้วในขณะที่ออกซะกาตก็ย่อมถือว่าใช้ได้ จะมีการเปล่งวาจาหรือไม่ก็ตาม (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 6 หน้า 157-158)


ยิ่งไปกว่านั้นหากผู้จ่าย ซะกาตให้แก่ผู้มีสิทธิรับโดยขณะที่จ่าย เขามิได้พูดว่าสิ่งนั้นเป็นซะกาตหรือไม่พูดอะไรเลย ก็ถือว่าใช้ได้และเป็นซะกาตที่ลุล่วงแล้ว ตามทัศนะที่ปวงปราชญ์ในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺชี้ขาดเอาไว้ (อ้างแล้ว 6/227)


ส่วนกรณีของผู้รับซะกาตนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเปล่งวาจาในการรับซะกาตแต่อย่างใด ส่วนข้อที่ 3 นั้นตอบชัดเจนแล้วว่าใช้ได้ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺที่ถูกต้อง (อัล-มัซฮับ อัศ-เศาะฮีหฺ วัล มัชฮู๊ร)


กรณีของการวะกัฟข้าวของที่นางเอสะสมไว้นั้น เมื่อนางเอเสียชีวิตแล้ว ทรัพย์สินที่นางสะสมไว้ก็ย่อมตกเป็นทรัพย์มรดกของทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของนาง จึงเป็นสิทธิอันชอบตามหลักการของศาสนาหากทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเห็นพ้องตรงกันในการวะกัฟสิ่งที่นางสะสมไว้นั้นได้ คำสาปแช่งของนางไม่มีผลแต่อย่างใด


เพราะเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการของศาสนาจึงไม่มีผลในการห้ามวะกัฟของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแก่มัสญิด และหากจะถือเอาคำพูดของนางว่าเป็นคำวะศียะฮฺก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำวะศียะฮฺดังกล่าวแต่อย่างใด และการไปฏิบัติตามในเรื่องนี้ก็ไม่เข้าข่ายอยู่ภายใต้นัยของอัลหะดีษที่ระบุถึงเรื่องความโกรธกริ้วของอัลลอฮฺอยู่ในความโกรธของพ่อแม่ เพราะมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นไปตามหลักการของศาสนานั่นเอง


ส่วนอายะฮฺอัล-กุรอานที่ระบุว่า ทรัพย์สินและลูกหลานเป็นฟิตนะฮฺนั้น มีหิกมะฮฺซ่อนเร้นอยู่แน่นอน กล่าวคือ ทรัพย์สินเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ประทานให้ ลูกหลานก็เป็นสิ่งที่ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ประทานให้ เมื่อทั้งสองสิ่งเป็นความโปรดปรานของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ทรงประทานให้แก่บ่าว บ่าวก็ย่อมถูกทดสอบแล้วว่าจะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์หรือว่าจะเนรคุณต่อพระองค์ บ่าวต้องรับผิดชอบและถูกไต่สวนว่าทรัพย์สินนั้นได้มาอย่างไรและถูกใช้ไปอย่างไร


และบ่าวก็ต้องรับผิดชอบและถูกไต่สวนถึงลูกหลานที่ตนรับผิดชอบดูแลว่าอบรมสั่งสอนและให้ศาสนาและศีลธรรมแก่พวกเขาหรือไม่ ทรัพย์สินถูกกล่าวก่อนก็จริงแต่ทรัพย์สินก็ไม่ได้สำคัญไปกว่าลูกหลานเสมอไป เพราะมนุษย์โดยส่วนใหญ่แสวงหาและสะสมทรัพย์สินเพื่อลูกหลานจนหลงลืมหน้าที่ของความเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) หลงลืมไปว่าตนมิใช่ผู้ให้ปัจจัยยังชีพ ถึงจะได้บ้าสะสมทรัพย์สินเผื่อลูกหลานประหนึ่งดังเป็นหลักประกันปัจจัยยังชีพให้แก่พวกเขา แต่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงเป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพให้แก่สรรพสิ่งทั้งปวง การที่พระองค์ทรงระบุทรัพย์สินกับลูกหลานไว้คู่กันและทรงบอกว่าเป็นฟิตนะฮฺก็เพราะทรัพย์สินคือความวุ่นวาย คือความกลัดกลุ้ม ต้องหากันร่ำไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ครั้นเมื่อมีลูกก็เริ่มตระหนี่ บางคนฆ่าลูกเพราะกลัวความยากจน กลัวลูกจะมาแย่งกิน


บางคนประเคนทรัพย์สินปรนเปรอลูกจนเสียคน ครั้นเมื่อตายลงทรัพย์สินที่เป็นมรดกก็กลายเป็นความวุ่นวายในระหว่างลูกหลานที่แย่งสมบัติกัน จนหลงลืมความสัมพันธ์ทางสายเลือดและความเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน ก็เพราะทุกคนมีลูกมีครอบครัวนั่นเอง ทรัพย์สินเป็นของมีคุณถ้ารู้จักใช้ ถ้ารู้จักพอ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็จะกลายเป็นโทษต่อไปในเบื้องหน้า ลูกหลานก็เช่นกันเป็นผลของการทุ่มเทและขวนขวาย ถ้ารู้จักอบรมเลี้ยงดูให้ดีก็เป็นคุณ แต่ถ้าปล่อยปละละเลยก็จะเป็นความวุ่นวายไม่รู้จักจบสิ้นนำแต่ความเดือดร้อนมาให้


เหตุนั้นและอายะฮฺอัล-กุรอานจึงกล่าวทรัพย์สินและลูกหลานคู่กันเพราะเป็นเหตุสำคัญของความวุ่นวายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และเป็นบททดสอบที่ทุกคนต้องได้พานพบไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม เหตุนี้เกือบทุกอายะฮฺจะลงท้ายถึงการมุ่งหวังในผลานิสงค์และความโปรดปรานของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในโลกหน้าเป็นที่ตั้งให้ทุกคนที่มีทรัพย์สินและลูกหลานยึดเอาสิ่งที่พระองค์สัญญาไว้เป็นที่ยึดมั่นเพื่อที่จะได้ผ่านบททดสอบดังกล่าวในบั้นปลาย

والله أعلم بالصواب