เราสามารถจะให้อภัยตัวเองได้รึป่าวครับ  (อ่าน 5854 ครั้ง)

antactica

  • บุคคลทั่วไป
หรือว่าต้องอัลลอฮ์เท่านั้น แบบว่าเราทำอะไรผิดแล้วจมอยู่กับความผิดนั้น อย่างจะเริ่มอะไรใหม่ๆเราจะอภัยกับตัวเองได้ไม๊ครับ ถ้าขอให้อัลลอฮ์อภัยเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระองทรงอภัยให้แล้ว

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
ตอบ : เราสามารถจะให้อภัยตัวเองได้รึป่าวครับ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 10, 2012, 09:36:31 pm »
ภัย หมายถึงสิ่งน่ากลัว หรืออันตราย หรือความกลัว ส่วนคำว่า อภัย หมายถึงความไม่มีภัย ความไม่ต้องกลัว คำว่า ขออภัย หมายความว่า ขอให้ยกโทษให้ , ขออย่าได้ถือโทษ และ ให้อภัย ก็หมายความว่า ยกโทษให้


ดังนั้น การให้อภัยแก่ตัวเอง ก็ย่อมหมายความว่า ยกโทษให้แก่ตัวเอง หากการยกโทษให้ตัวเองหมายถึงการยอมรับในความผิดที่ตนก่อเอาไว้ว่าจะเป็นภัยหรือสิ่งน่ากลัวที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวในภายหน้าหากตนยังไม่สำนึกหรือรู้จักผิดชอบชั่วดี และจมปลักอยู่กับความผิดนั้น จึงได้สำนึกและกลับตัวเพื่อให้มีสภาวะความไม่ต้องกลัวเกิดขึ้น อย่างนี้ย่อมเรียกว่าให้อภัยตัวเอง คือไม่สร้างภัยแก่ตัวเองอีกต่อไป


หากอธิบายคำว่า ให้อภัยแก่ตัวเองในทำนองนี้ก็ถือว่าได้ คือไม่สร้างภัยให้เกิดขึ้นแก่ตัว ด้วยการไม่ทำบาปและมุ่งทำแต่ความดี เพราะความชั่วหรือบาปเป็นภัย และความดีหรือบุญที่สั่งสมก็คือ อภัยนั่นเอง


หากอธิบายคำว่าให้อภัยแก่ตัวเองในทำนองที่ว่า ไม่จมปลักอยู่กับความผิดในอดีตที่กระทำมา ไม่จมอยู่กับความทุกข์ใจ แต่จะตั้งต้นใหม่ในการมุ่งกระทำความดีเพื่อลบล้างความผิดที่พลั้งพลาดไป การมีความสำนึกเช่นนี้เป็นการไม่สร้างภัยแก่ตัวเอง ก็เรียกได้ว่าเป็นการอภัยให้แก่ตัวเอง อธิบายในทำนองนี้ก็ย่อมได้เช่นกัน


แต่ถ้าคำว่า ให้อภัยตัวเองหมายถึง ยกโทษหรือลบล้างบาปที่เป็นความผิดของตัวเองด้วยตัวเองและให้แก่ตัวเอง กรณีนี้ทำไม่ได้เพราะ บาป บุญ คุณ โทษ ดี ชั่ว ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองเป็นผู้กำหนด อะไรทำแล้วเกิดบาป อะไรทำแล้วได้บุญ อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ เมื่อตัวเองมิได้กำหนดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาและตอบแทนผลของมันด้วยตัวเองแล้วจะยกเลิกผลของมันที่เรียกว่า ยกโทษ ได้อย่างไร


เมื่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดสิ่งเหล่านั้นเอาไว้และทรงเป็นผู้ตอบแทนผลของสิ่งเหล่านั้น พระองค์เท่านั้นจึงเป็นผู้ทรงสิทธิในการยกโทษ หรือไม่ถือโทษ หรือให้อภัยเพียงพระองค์เดียว เมื่อพระองค์ทรงเป็นผู้กำหนดว่า ความดีย่อมได้รับสิ่งตอบแทนที่ดี ความชั่วย่อมได้รับสิ่งตอบแทนตามโทษานุโทษ คนดีไปสวรรค์ คนชั่วไปนรก พระองค์ก็ย่อมทรงสิทธิในการยกโทษและตอบแทนเพียงพระองค์เดียว


มนุษย์มิใช่ผู้กำหนดบาป บุญ คุณ โทษ ชั่ว ดี ถึงแม้ว่ามนุษย์จะอ้างว่าตนสามารถกำหนดสิ่งเหล่านั้นได้ แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถตอบแทนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นได้ด้วยสวรรค์หรือนรก เพราะมนุษย์มิได้สร้างสวรรค์และนรก เหตุนั้นแลเมื่อมนุษย์กระทำความดีพระองค์ก็ทรงตอบแทนผลบุญให้ เพราะบุญเป็นสิ่งที่พระองค์กำหนด


เมื่อมนุษย์กระทำความชั่วพระองค์ก็ทรงสิทธิอย่างชอบธรรมในการเอาโทษ เพราะโทษหรือบาปเป็นสิ่งที่พระองค์กำหนด เมื่อพระองค์เป็นผู้ทรงกำหนด พระองค์ก็ย่อมทรงสิทธิโดยชอบธรรมในการยกโทษหรืออภัยโทษให้แก่ผู้ที่กระทำความผิดเพียงพระองค์เดียว ผู้อื่นที่มิได้กำหนดก็ย่อมไม่มีสิทธิในการยกเลิกสิ่งที่ถูกกำหนดนั้น และมนุษย์ย่อมมิอาจก้าวล่วงในสิ่งที่พระองค์กำหนดได้เลย


หากถือตามหลักความเชื่อที่ว่านี้ มนุษย์ก็ให้อภัยหรือยกโทษให้แก่ตัวเองมิได้ แต่มนุษย์จำต้องขอให้อภัยโทษหรือขอลุแก่โทษต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ในทำนองเดียวกับกรณีที่ตัวเองทำความผิดต่อกฏหมายบ้านเมืองในขั้นร้ายแรง เช่น ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ผู้เป็นฆาตกรก็ย่อมมิอาจยกโทษให้แก่ตัวเองได้ การจะพ้นผิดก็ย่อมต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ถูกกำหนดไว้ตามประมวลกฏหมายอาญา ซึ่งฆาตกรมิได้กำหนดแต่เป็นกฏหมายบ้านเมือง ศาลก็จะพิพากษาไปตามอรรถคดีและตัดสินพิพากษาตามตัวบทกฏหมายที่กำหนดหรือตราเอาไว้


ซึ่งอาจจะเป็นการตัดสินตามโทษานุโทษด้วยการประหารชีวิต หรือลดหย่อนผ่อนโทษหรือยกฟ้องก็แล้วแต่ ผลของการตัดสินอยู่ที่ดุลยพินิจของศาลมิได้อยู่ที่การยกโทษให้แก่ตัวเองของจำเลยผู้กระทำผิด การให้อภัยแก่ตนเองของจำเลยย่อมไม่มีผลในเรื่องที่เกิดขึ้นของคดีความ ศาลคือผู้มีอำนาจทางตุลาการในการให้อภัยหรือยกโทษตามผลของการพิจารณาโดยอิสระ เรื่องของการอภัยบาปหรือยกโทษก็เทียบเคียงกับเรื่องที่กล่าวมานี้แล


ส่วนที่ถามว่า ถ้าขอให้อัลลอฮฺอภัยบาปและยกโทษให้แก่ตัวเราที่กระทำความผิดและละเมิดต่อสิ่งที่พระองค์บัญญัติเอาไว้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระองค์ทรงอภัยให้แล้ว ก็ตอบได้ว่า รู้ได้ด้วยเครื่องหมาย เช่น หัวใจเกิดความสงบ ไม่ฟุ้งซ่านภายหลังขออภัยโทษจากพระองค์และพฤติกรรมมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การรู้หรือไม่รู้ในเรื่องนี้ก็ไม่ได้


สำคัญไปกว่าความเชื่อมั่นและความศรัทธาในคำสัญญาของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงสัญญาว่าจะทรงตอบรับคำขออภัยโทษของบ่าวที่มีความจริงใจและสำนึกผิดต่อพระองค์แล้ว บ่าวผู้นั้นเชื่อและศรัทธาในความสัจจริงแห่งคำสัญญานั้นหรือไม่ ถ้าเชื่อและศรัทธาแล้วจะรู้หรือไม่รู้ก็คงไม่สำคัญ หน้าที่ของบ่าวก็คือรู้ว่าเมื่อตนกระทำความผิดแล้ว ก็จำต้องขออภัยโทษจากพระองค์เท่านั้น เพราะไม่มีผู้ใดอภัยโทษและลบล้างบาปได้นอกจากพระองค์เท่านั้น


เมื่อบ่าวรู้ในข้อนี้แล้วก็ถือว่ารู้ในสิ่งที่ควรรู้แล้ว ส่วนการอภัยโทษนั้นเป็นกิจและสิทธิอันชอบธรรมของพระองค์ หากพระองค์ทรงมีพระประสงค์ในการอภัยโทษแก่บ่าวนั่นก็เป็นความโปรดปรานและพระเมตตาของพระองค์ แต่ถ้าหากพระองค์ไม่ทรงมีพระประสงค์ในการอภัยโทษให้แก่บ่าวผู้นั้น นั่นก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของพระองค์อีกเช่นกัน

والله ولي التو فيق