เรื่องละหมาด (เวลาของละหมาดตะฮัจยุต, ลืมซุหยูด, รู่ก่นละหมาด)  (อ่าน 40883 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
อัสลามุอลัยกุมครับ
อาจารย์ครับผมมีเรื่องอยากจะถามอาจารย์ดังนี้ครับผม
1.ละหมาดตะฮัจยุต มีกี่ร่อก่าอัตครับ แล้ววิธีการละหมาดที่ตามหลักท่านนบีแล้วทำอย่างไรครับ แล้วจำเป็นไหมว่าต้องละหมาดวิเตรด้วย
2.เวลาที่เหมาะสมหรือดีที่สุดคือเวลาใดครับ
3.นบีคิเดรนั้นเป็นนบีหรือไม่ครับ มีคนบอกว่าไม่ใช่นบี
4.กรณีที่เราลืมซุหยูดเมือเราละหมาดเสร็จนึกขึ้นได้ต้องทำอย่างไรครับ แล้วถ้าเราลืมอ่านฟาติฮะห์ต้องทำอย่างไรครับ
5.อยาก รบกวนอาจารย์ช่วยบอกหน่อยครับว่า รุก่น กับว่ายิบ ในละหมาดนั้นมีอะไรบ้าง แล้วถ้าเราลืม รุก่นหรือว่ายิบในการละหมาดไป สิ่งใหนที่เราต้องละหมาดใหม่ สิ่งใหนที่เราต้องซุหญุดซะห์วี

ถามยาวไปหน่อย ต้องขออภัยด้วยนะครับ ผมอยากได้ความรู้เพิ่มเติม
ขอขอบคุณอาจารย์ไว้ล่วงหน้านะครับ

ถามโดย - วัยรุ่น « เมื่อ: เมษายน 27, 2009, 08:56:25 pm »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

คุณวัยรุ่นเป็นคนช่างถาม  ถามทีนึงเอาคุ้มเลยเลยนะครับ  ก็ขอตอบตามที่ถามมาดังนี้ครับ

1. การละหมาดตะฮัจญุดไม่มีจำนวนแน่นอน  บ้างก็ระบุว่า  มีจำนวน  12  ร็อกอะฮฺ  (อิอานะตุตตอลิบีน  ;  เล่ม  1  หน้า  309)  เป็นการละหมาดซุนนะฮฺในยามค่ำคืนหลังจากการนอน  เพราะคำว่าตะฮัจญุด  มีความหมายว่า  ตื่นนอนด้วยความลำบาก  (อ้างแล้ว  1/308)  หรือหมายถึงละทิ้งการนอนเพื่อลุกขึ้นละหมาด  (อัลฟิกฮุ้ลมันฮะญี่ย์  เล่มที่  1  หน้า  219)  บางทีเรียกการละหมาดตะฮัจญุดว่า  กิยามุลลัยล์  (قِيَامُ الَّيلِ)  ซึ่งมีความหมายกว้างครอบคลุมการละหมาดซุนนะฮฺทั้งหมดที่เกิดขึ้นหลังการละหมาดอิชาอฺ  เช่น  ละหมาดตะรอวีฮฺก็เรียกว่า  กิยามุ้ลลัยล์  การละหมาดวิตร์เพียง  1  รอกอะฮฺหลังละหมาดอิชาอฺก็เรียกว่า  กิยามุลลัยล์  เป็นต้น  (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ  ;  อัซซัยยิด  ซาบิก  เล่มที่  1  หน้า  223)  

แต่ถ้าทำละหมาดซุนนะฮฺหลังจากการนอนหลับในยามค่ำคืนแล้วก็เรียกว่า  ละหมาดตะฮัจญุดนั่นเอง  นักวิชาการบางท่านที่ระบุจำนวนของละหมาดกิยามุลลัยล์อาศัยหลักฐานที่รายงานโดยอิบนุ  อับบาส  (ร.ฎ.)  และท่านหญิงอาอิชะฮฺ  (ร.ฮ.)  ว่าท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ละหมาดกิยามุลลัยล์  11  รอกอะฮฺ  หรือ  13  รอกอะฮฺ  โดยอธิบายว่าท่านละหมาด  10  รอกอะฮฺและวิตรฺ  1  รอกอะฮฺ  และรวมละหมาดซุนนะฮฺอัลฟัจร์เข้าไปอีก  2  รอกอะฮฺ  รวมเป็น  13  รอกอะฮฺ  (ดูรายละเอียดในซาดุ้ลมะอาด ; อิบนุ  อัลก็อยฺยิม  เล่มที่  1  หน้า  216)  แต่สำหรับนักวิชาการที่ระบุว่าการละหมาดตะฮัจญุดไม่มีจำนวนแน่นอนก็ถือว่าการละหมาดจำนวน  11  รอกอะฮฺนั้นคือ  จำนวนสูงสุดของการละหมาดวิตรฺ  (อัลฟิกฮุ้ลมันฮะญี่ย์  เล่มที่  1  หน้า  216)

ส่วนวิธีการในการละหมาดตะฮัจญุดนั้น  หลังจากตื่นนอนก็ให้ลูบหน้า  แปรงฟัน  และมองท้องฟ้าพร้อมกับกล่าวซิกรุลลอฮฺ  อาบน้ำละหมาดแล้วเริ่มละหมาด  2  รอกอะฮฺเบา ๆ ต่อมาก็ลุกขึ้นละหมาดทีละ  2  รอกอะฮฺแล้วปิดท้ายด้วยละหมาดวิตร์  หรือจะละหมาดรวดเดียวจำนวน  8  รอกอะฮฺ  หรือ  10  รอกอะฮฺ  แล้วก็ตามด้วยละหมาดวิตร์ก็ได้  หรือจะละหมาดรวดเดียวแล้วนั่งตะชะฮฺฮุดในครั้งสุดท้ายแล้วให้สลามก็ได้  เรียกว่า  ทำได้ตามสะดวกเพราะท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ทำไว้หลายรูปแบบนั่นเอง  

ส่วนที่ถามว่าจำเป็นต้องละหมาดวิตฺร์ด้วยหรือไม่  ก็ตอบว่าไม่จำเป็น  แต่ที่ดีที่สุดให้เอาละหมาดวิตฺร์ไว้ปิดท้ายการละหมาดกิยามุลลัยล์  ยกเว้นในกรณีที่ละหมาดวิตฺร์ไปก่อนแล้วในคืนนั้น  เช่น  ละหมาดวิตฺร์หลังละหมาดอิชาอฺไปเมื่อตอนก่อนนอนแล้วก็ไม่มีซุนนะฮฺให้ทำละหมาดวิตฺร์อีก
 
2. เวลาที่ดีที่สุดสำหรับการละหมาดตะฮัจญุด คือ  ให้ล่าช้าจนเข้าสู่ส่วนที่  3  สุดท้ายของเวลากลางคืน  กล่าวคือ  ถ้าแบ่งเวลากลางคืน  ซึ่งมีอยู่ประมาณ  12  ช.ม.  แต่ละช่วงก็จะมี  4  ช.ม.  หากแบ่งเป็น  3  ช่วง,  ช่วงสุดท้ายก็อยู่ประมาณราวตี  2  จนถึงก่อนเวลาศุบฮินั่นเอง  นี่คือเวลาที่ดีที่สุด  (อัลอัฟฎ้อล)  แต่เวลาที่อนุญาตนั้นก็คือ  หลังละหมาดอิชาอฺแล้ว  ท่านอัลฮาฟิซฺ  อิบนุ  ฮะญัร  (ร.ฮ.)  กล่าวว่า  :  ไม่ปรากฏว่าสำหรับการละหมาดตะฮัจญุดของท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  มีเวลาที่แน่นอนแต่เป็นไปตามความสะดวกในการลุกขึ้นละหมาดของท่าน  (ฟิกฮุซซุนนะฮฺ  เล่ม 1  หน้า  222)  บางทีท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ก็ลุกขึ้นละหมาดเมื่อได้เวลาเที่ยงคืน  หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อยหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย,  บางทีท่านก็ลุกขึ้นเมื่อได้ยินเสียงไก่ขัน  เป็นต้น  (ซาดุ้ลมาอาดฺ  เล่มที่  1  หน้า  139)

3. กรณีของนบีคิเดร  หรือ  ค่อฎีรฺ  (อ.ล.)
อัลค่อฎิร  (الخَضِرُ)  คือบ่าวที่ซอและฮฺซึ่งนบีมูซา  (อ.ล.)  ได้เดินทางไปพบเพื่อแสวงหาความรู้จากเขาผู้นี้  พระองค์อัลลอฮฺทรงเล่าถึงเรื่องราวของทั้งสองเอาไว้ในซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟี่สำนวนในเรื่องเล่าบ่งบอกถึงการเป็นนบีของอัลค่อฎิร  (نُبُوَّةٌ)  อยู่หลายประเด็น  ดังนี้

         1. พระดำรัสในอายะฮฺที่  65  ซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟี่  บ่งชี้อย่างชัดเจน  คำว่า  (رَحْمَةً مِنْ عِنْدِنَا)  หมายถึง  رحمة النبوة  คือพระเมตตาในการเป็นนบี  และคำว่า  (وعلَّمْناه مِنْ لَدُنَّاعِلْمًا)  หมายถึงความรู้ที่ถูกวะฮีย์มายังอัลค่อฎิร  (อ.ล.)

         2. คำสนทนาโต้ตอบระหว่างนบีมูซา  (อ.ล.)  และอัลค่อฎิร  (อ.ล.)  ในพระดำรัสที่  66-70  จากซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟี่  บ่งชี้ว่าถ้าหากอัลค่อฎิรมิใช่นบี  อัลค่อฎิรก็ย่อมมิใช่มะอฺซูม  และนบีมูซา  (อ.ล.)  ซึ่งเป็นนบีผู้ยิ่งใหญ่  เป็นร่อซู้ลผู้ทรงเกียรติ  เป็นมะอฺซูมก็คงไม่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการแสวงหาความรู้จากผู้ที่เป็นเพียงวะลีย์ซึ่งมิใช่มะอฺซูม  และคงไม่มุ่งมั่นเดินทางไปหาและสืบเสาะถึงแม้จะใช้เวลานานถึง  80  ปีก็ตาม  และเมื่อได้พบกับอัลค่อฎิร  นบีมูซา  (อ.ล.)  ก็แสดงความนอบน้อมถ่อมตน  และให้ความสำคัญในการกระทำตามคำชี้แนะของอัลค่อฎิร  นั่นย่อมแสดงว่าอัลค่อฎิรเป็นนบีและมีวะฮีย์มายังเขาเช่นกัน

         3. อัลค่อฎิร  (อ.ล.)  หาญกล้าในการสังหารชีวิตของเด็กน้อย  ซึ่งนั่นย่อมบ่งชี้ว่ามีวะฮีย์มายังเขาและเขาเป็นมะอฺซูมอย่างแน่นอน  เพราะผู้เป็นวะลีย์นั้นไม่อนุญาตให้ลงมือสังหารชีวิตเพียงเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงความคิด  ซึ่งอาจผิดพลาดได้โดยมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์

         4. เมื่ออัลค่อฎิร  (อ.ล.)  ได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงในการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่มูซา  (อ.ล.)  อัลค่อฎิร  (อ.ล.)  ก็กล่าวว่า  (رحمة مِنْ ربكَ ومافعلتُه عَنْ أَمْرِىْ)  -อัลกะฮฺฟี่  /  82-  “อันเป็นพระเมตตาจากพระผู้อภิบาลของท่าน  และฉันมิได้กระทำมันตามอำเภอใจ”  หมายความว่า  ที่ฉันได้กระทำลงไปทั้งหมดนั้นเป็นการทำตามวะฮีย์ที่ถูกประทานลงมาให้ฉันกระทำนั่นเอง  (จากหนังสืออัรรุซุ้ล  วัรฺริซาลาตฺ ; ดร.อุมัร สุลัยมาน อัลอัชฺก๊อรฺ ; ดารุนนะฟาอิส  หน้า  22-24  โดยสรุป)

4. กรณีลืมสุหญูด แล้วมานึกขึ้นได้เมื่อให้สล่ามแล้วก็ให้สุหญูดรุ่ก่นที่ขาดไป  เมื่อสุหญูดแล้วก็ให้อ่านตะชะฮฺฮุด  ถึงแม้ว่าจะอ่านไปแล้วก็ตาม  แล้วก็สุหญูดซะฮฺวีย์สองครั้งแล้วให้สล่าม  ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าต้องไม่แยกจากกันนานเกินไประหว่างการให้สล่ามเมื่อตอนลืมกับการนึกขึ้นได้  แต่ถ้าหากแยกจากกันนานเกินไปก็จำเป็นต้องเริ่มต้นละหมาดใหม่  (อัลมัจญ์มูอฺ  เล่มที่  4  หน้า  43,48-49)  โดยหลักในการพิจารณาว่าแยกกันนานหรือไม่ให้ถือตามจารีต  (อัลอุรฟุ้)  หรือขนาดเท่ากับละหมาดยาว  1  รอกอะฮฺ  ซึ่งในเรื่องการละทิ้งการสุหญูดรุ่ก่นนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก  คุณวัยรุ่นมิได้ระบุมาว่าเป็นอย่างไร  จึงตอบไว้กว้าง ๆ

ส่วนถ้าหากสุหญูดที่ถามมาเป็นสุหญูดซะฮฺวีย์  คือลืมสุหญูดซะฮฺวีย์ก่อนให้สล่าม  แล้วก็ให้สล่ามมานึกขึ้นได้ว่าลืมสุหญูดซะฮฺวีย์อีกก็ให้พิจารณาว่าแยกจากกันนานหรือไม่ระหว่างการให้สล่ามกับการนึกขึ้นได้  ถ้าหากแยกจากกันนานตามเกาลุน  ญะดีดฺที่ปรากฏชัดคือไม่ต้องสุหญูดอีก  แต่ในเกาลุนก่อดีมให้สุหญูด  และถือว่าละหมาดที่ผ่านมาใช้ได้ทั้ง  2  กรณี  ในกรณีที่สุหญูดนั้นก็ให้สล่ามตามปกติอีกครั้งเมื่อสุหญูดซะฮฺวีย์แล้วตามประเด็นหนึ่งในมัซฮับ  ส่วนตามมัซฮับนั้นก็ให้สุหญูดโดยไม่ต้องให้สล่ามอีก  (อัลมัจญ์มูอฺ  เล่มที่  4  หน้า  70-71)

ในกรณีที่ละทิ้งการอ่านอัลฟาติฮะฮฺโดยหลงลืมจนกระทั่งให้สล่ามหรือลงก้มรุ่กัวอฺ  ก็มี  2  คำกล่าว  (เกาว์ลานฺ)  ที่มัชฮู๊ร  คำกล่าวที่ถูกต้องที่สุดโดยมติเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัชชาฟิอีย์  เป็นเกาว์ลุนญะดีด  คือ  การอ่านฟาติฮะฮฺนั้นไม่ตกไป  โดยหากนึกขึ้นได้ในขณะก้มรุ่กัวอฺหรือหลังการรุ่กัวอฺก่อนลุกขึ้นยืนยังรอกอะฮฺที่  2  ก็ให้ย้อนกลับไปยืนและอ่านซูเราะฮฺอัลฟาติฮะฮฺ  และถ้าหากนึกขึ้นได้หลังจากลุกขึ้นยืนไปยังรอกอะฮฺที่  2  แล้ว  ก็ยกเลิกรอกอะฮฺที่  1  (คือไม่นับว่าเป็นรอกอะฮฺ)  แล้วรอกอะฮฺที่  2  ก็กลายเป็นรอกอะฮฺที่  1  

และถ้าหากนึกขึ้นได้หลังจากให้สล่ามแล้ว  และแยกจากกันไม่นาน  ก็จำเป็นต้องย้อนกลับไปละหมาดและทำต่อในอากัปกริยาที่เป็นอยู่  (เช่นนั่ง)  แล้วก็ทำอีก  1  รอกอะฮฺ  แล้วให้สุหญูดซะฮฺวีย์  แต่ถ้าหากแยกจากกันนานเกินไป  ก็จำเป็นต้องเริ่มต้นละหมาดใหม่  ส่วนในเกาว์ลุนก่อดีมนั้นถือว่าการอ่านฟาติฮะฮฺตกไปด้วยเหตุการลืม  ดังนั้นตามคำกล่าวนี้  หากนึกขึ้นได้หลังการให้สล่าม  ก็ไม่มีอะไร  (คือแล้วกันไป)  แต่ถ้านึกขึ้นได้ในขณะรุ่กัวอฺหรือหลังจากรุ่กัวอฺก่อนให้สล่าม  ก็มี  2  ประเด็น  
         1. จำเป็นต้องกลับไปอ่าน  
         2. ไม่มีอะไร  (คือแล้วกันไป)  และถือว่ารอกอะฮฺที่ลืมนั้นใช้ได้  
         (กิตาบอัลมัจญ์มูอฺ  ชัรฮุ้ลมุฮัซซับฺ  เล่มที่  3  หน้า  287-288)

5. รุ่ก่นคือสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติและเป็นส่วนหนึ่งจากเนื้อแท้หรือสาระของการปฏิบัตินั้น  รุ่ก่นของการละหมาดมี  13  ประการ  คือ  
        1. เหนียต
        2. ยืนตรง
        3. ตักบีร่อตุ้ลอิฮฺรอม
        4. อ่านอัลฟาติฮะฮฺ
        5. รุ่กัวอฺ  
        6. เอียะอฺติด๊าล
        7. สุหญูด  2  ครั้งในแต่ละรอกอะฮฺ
        8. นั่งระหว่าง  2  สุหญูด
        9. นั่งครั้งสุดท้ายก่อนให้สล่าม
        10. อ่านตะชะฮฺฮุดในการนั่งครั้งสุดท้าย
        11. กล่าวซอละหวาตแก่ท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  หลังการอ่านตะชะฮฺฮุดครั้งสุดท้าย
        12. ให้สล่ามครั้งที่  1  
        13. เรียงตามลำดับรุ่ก่นทั้งหมด

ทั้ง  13  ประการที่กล่าวมาเรียกว่า  บรรดารุ่ก่นของการละหมาด  เป็นสิ่งจำเป็นในการละหมาดที่ขาดไม่ได้เรียกอีกอย่างว่าเป็นฟัรฎูหรือวาญิบก็ได้  และฟัรฎูกับวาญิบเหมือนกันในมัซฮับอัชชาฟิอีย์  จะแยกกันก็เฉพาะในเรื่องการประกอบพิธีฮัจญ์เท่านั้น  ส่วนการปฏิบัติที่เมื่อเกิดความบกพร่องแล้วให้ทำการสุหญูดซะฮฺวีย์ก็คือ  ซุนนะฮฺอับอาฎ  เช่นการนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งแรก  หรือการอ่านดุอาอฺกุหนูตในละหมาดซุบฮิ  เป็นต้น  เอาแค่นี้ก็แล้วกันนะครับ!

والله أعلم بالصواب