การวากอฟ(อุทิศถาวรวัตถุ)  (อ่าน 6259 ครั้ง)

อิดริส

  • บุคคลทั่วไป
การวากอฟ(อุทิศถาวรวัตถุ)
« เมื่อ: มีนาคม 21, 2013, 12:23:55 pm »
salam ท่านครู ผมมีปัญหา ขออนุญาติถามว่า
๑ รูกนของการวากอฟมีอะไรบ้าง
๒ ถ้าหากว่า เราใช้ตัวเงินบริจาคให้กับมัสยิดเพื่อใช้ในการบริหารจัดการมัสยิด ดังนั้นการบริจาคด้วยตัวเงินถือว่าเป็นการวากอฟหรือไม่ บางท่านผู้รู้บอกว่า ไม่เป็น เนื่องจากว่าตัวเงินไม่ใช่เป็นถาวรวัตถุ
๓ ถ้าหากว่าทางคณะกรรมการมัสยิด จะดำเนินการสร้างต่อเติมมัสยิด(ใช้เงินของมัสยิดไปก่อน) และได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้สัปปบุรุษได้รับทราบก่อนว่า เมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางมัสยิดจะดำเนินการแบ่งเป็นตารางเมตร เพื่อให้สัปปบุรุษได้บริจาคเงินเพื่อการวากอฟ อย่างนี้ ถือว่า เป็นการวากอฟหรือไม่
๔ ที่ชัดเจนที่สุดในการวากอฟ ทำได้อย่างไร
ขอมาอัฟ หากคำถามไม่ชัดจน ขอให้ท่านครู มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีพลังที่จะเป็นที่พึ่งทางด้านวิชาการต่อไป ยาซากัลลอฮ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: การวากอฟ(อุทิศถาวรวัตถุ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 28, 2013, 12:34:13 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

1. การอุทิศ (อัล-วักฟฺ) มีองค์ประกอบหลัก (อัรกาน) 4 ประการ คือ

1. ผู้อุทิศ (อัล-วากิฟ)

2. สิ่งที่ถูกอุทิศ (อัล-เมาวฺกูฟ)

3. สิ่งที่ถูกอุทิศให้ (อัล-เมาวฺกูฟ อะลัยฮฺ)

และ 4. สำนวนในการอุทิศ (อัศ-ศีเฆาะฮฺ)


ในแต่ละองค์ประกอบหลักมีเงื่อนไขที่ถูกกำหนดเอาไว้ตามศาสนบัญญัติ ดูรายละเอียดได้จากคอลัมน์งานเขียนเรื่อง นิติศาสตร์อิสลาม เรื่องการอุทิศในเวบไซด์


2. การบริจาค (ตะบัรฺรุอฺ) การทำทาน (เศาะดะเกาะฮฺ) การยกให้โดยสิเน่หา (ฮิบะฮฺ) และการอุทิศ (อัล-วักฟ์) มีลักษณะที่เหมือนกันและแตกต่างกันในประเด็นเฉพาะแต่ละเรื่อง จึงต้องใช้เจตนา (นียะฮฺ) เป็นตัวกำหนดตามที่อัล-หะดีษระบุ (إنماالأعمال بالنيات) “อันที่จริงบรรดาการกิจทางศาสนาขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นที่ตั้ง” และถือตามกฏเกณฑ์ทางนิติศาสตร์ที่ว่า (ألاُمُوْرُبِمَقَاصِدِهَا) “การกิจทั้งหลายเป็นไปตามเป้าประสงค์ของการกิจนั้นๆ” หากผู้บริจาคเงินให้แก่มัสญิดมีเจตนาว่าเป็นการบริจาค (ตะบัรฺรุอฺ) หรือทำทาน (เศาะดะเกาะฮฺ) ในหนทางแห่งความดีและการกุศล (فِيْ سَبِيْلِ الخَيْرِ) นั่นก็เป็นเพียงการบริจาคและเป็นการทำทาน ยังไม่ถือเป็นการอุทิศ (อัล-วักฟ์)


ทั้งนี้เนื่องจากการอุทิศ (อัล-วักฟ์) มีเงื่อนไขและองค์ประกอบเป็นกรณีเฉพาะ ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะคล้ายกับการบริจาค (ตะบัรฺรุอฺ) และการทำทาน (เศาะดะเกาะฮฺ ในบางประการก็ตาม ส่วนที่บอกว่าการบริจาคเป็นตัวเงินไม่ใช่การอุทิศ (วักฟ์) เพราะมิใช่ถาวรวัตถุหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นกรณีนี้อาจคลาดเคลื่อน เพราะการอุทิศ (วักฟ์) ด้วยทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ (อัล-อัมวาล อัล-มังกูละฮฺ) เป็นสิ่งที่ใช้ได้ (เศาะห์) ในการอุทิศ (วักฟ์) เช่นกัน (อัล-ฟิกฮุล มันฮะญียฺ เล่มที่ 5 หน้า 18)


3. หากคณะกรรมการมัสญิดดำเนินการตามที่ระบุมาและสัปปุรุษได้บริจาคเพื่อการอุทิศ (อัล-วักฟ์) เป็นเงินเพื่อชำระหนี้สินผูกพันในการก่อสร้าง โดยมีเจตนาเป็นการอุทิศ (อัล-วักฟ์) ก็ถือว่าเงินที่สัปปุรุษบริจาคนั้นเป็นการอุทิศ (อัล-วักฟ์) แล้ว


4. ที่ชัดเจนที่สุดก็คือการอุทิศอสังหาริมทรัพย์ จำพวกที่ดิน บ้าน ร้านค้า บ่อน้ำที่สามารถเอาประโยชน์โดยสาธารณกุศล และบรรดาเศาะหาบะฮฺในหมู่ชาวอันศอรจำนวน 80 ท่านได้บริจาคในการอุทิศ (อัล-วักฟ์) เป็นอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องนี้ว่าเป็นการอุทิศ (อัล-วักฟ์) ที่ชัดเจนและถูกต้องที่สุด

والله اعلم بالصواب