สอบถามอ. อาลี เกี่ยวกับฮาดิษครับ (หะดีษปรองดองกับผู้ทำบิดอะฮฺ)  (อ่าน 7842 ครั้ง)

อับดุลรอซัก

  • บุคคลทั่วไป
สอบถามอ. อาลี เกี่ยวกับฮาดิษครับ

เนื่องจากในหลายๆ เวปมีการโพสกระทู้ว่า

ท่านรสูล(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ทำบิดอะฮฺหรือปรองดองกับผู้ที่ทำบิดอะฮฺ คำสาปแช่งจากอัลลอฮฺ, บรรดามลาอิกะฮฺของพระองค์ และมนุษชาติทั้งปวง จะตกอยู่ที่เขา” บันทึกโดยบุคอรีย์(12/41)และมุสลิม(9/140)

และพวกเขานำฮาดิษนี้มาใช้ในการห้ามไปปรองดองกับพวกทำบิดอะ คือให้แตกออกมา ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ญาติ หรือใครก็ได้ นั่งร่วมก็ไม่ได้ อะไรทำนองนี้ (ที่มาจากอาจารย์บางท่านและศิษย์ในกลุ่มที่อยู่ฝ่ายต่อต้านผู้ทำบิดอะ)
--------------------
แต่ผมเคยอ่านเจอในเวป Sunnastudent โดยมีการอ้างถึง อ. ท่านนึงที่มีความรู้เป็นผู้ตอบ (โดยปรกติผมก็ไม่ได้ติดตามเวปนี้เท่าใหร่นักและมีหลายคนสงสัยเหมือนกันในประเด็นนี้แม้กระทั่งผู้ที่กำลังศึกษาศาสนาในกลุ่มที่อยู่ฝ่ายต่อต้านผู้ทำบิดอะเอง)

ใจความมีว่า
พวกเขาแปลว่าฮะดิษว่า
“ใครก็ตามที่ทำบิดอะฮฺหรือปรองดองกับผู้ที่ทำบิดอะฮฺ คำสาปแช่งจากอัลลอฮฺ, บรรดามลาอิกะฮฺของพระองค์ และมนุษชาติทั้งปวง จะตกอยู่ที่เขา” (มุตตะฟากุลอะลัยฮฺ)
วิจารณ์
มีการแปลบิดเบือนและผิดเป้าหมายเดิมของฮะดิษ  ซึ่งฮะดิษมีเนื้อหาเต็ม ๆ ดังนี้
قَالَ النَّبِيُّ  صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ  الْمَدِينَةُ  حَرَمٌ مَا بَيْنَ  عَيْرٍ  إِلَى  ثَوْرٍ   فَمَنْ   أَحْدَثَ   فِيهَا   حَدَثًا   أَوْ   آوَى   مُحْدِثًا   فَعَلَيْهِ لَعْنَةُ اللَّهِ وَالْمَلَائِكَةِ وَالنَّاسِ أَجْمَعِينَ
"ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้กล่าวว่า  อัลมะดีนะฮ์  คือเขตต้องห้ามระหว่างภูเขาอัยร์ไปยังภูเขาษูร  ดังนั้นผู้ใดที่ก่อการอธรรม(บาปใหญ่)หนึ่งในมะดีนะฮ์หรือให้การอาศัยพักพิงผู้ที่ก่อการอธรรม(บาปใหญ่ในมะดีนะฮ์) แน่นอน  คำสาปแช่งจากอัลลอฮฺ, บรรดามลาอิกะฮฺของพระองค์ และมนุษชาติทั้งปวง จะตกอยู่ที่เขา"  รายงานโดยบุคอรี (2434) และมุสลิม (2433)
นี่คือการแปลตัวบทฮะดิษจากการอธิบายความหมายโดยท่านอัลฮาฟิซอิบนุฮะญัรและอิมามอันนะวาวีย์  ซึ่งฮะดิษนี้ผมเคยท้วงติงอาจารย์ท่านนั้นไปแล้ว

ที่สงสัยคือฮาดิษที่ทั้ง 2 กลุ่มยกมานั้นเป็นฮาดิษเดียวกันหรือไม่ แล้วฮาดิษที่นำเสนอโดยฝ่ายใดมีความถูกต้อง ความหมายที่แท้จริงของฮาดิษคืออะไร และการสมาคมที่ดีกับผู้ทำบิดอะต้องทำอย่างไร (จากเลขฮาดิษที่เห็นมีการอ้างอิงเลขฮาดิษไม่ตรงกันครับ)

สอบถามอ. อาลี เท่านี้ครับ
ญาซากัลลอฮุคอยรอล
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 07, 2013, 05:24:27 pm โดย อ.อาลี เสือสมิง »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد


ตัวบทอัล-หะดีษที่ถูกต้องคือ หะดีษ อัล-มะดีนะฮฺ คือเขตหวงห้าม....จนจบ บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ (ฟัตหุลบารียฺ 13/7306) และมุสลิม 2/994 จากท่านอะนัส (ร.ฎ.) และ 2/999 จากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.)



ส่วนสำนวนของหะดีษแรกนั้นเป็นการสรุปความเข้าใจเอาเองและสอดไส้ประโยคที่ว่า “ใครก็ตามที่ทำบิดอะฮฺหรือปรองดองกับผู้ที่ทำบิดอะฮฺ” เข้าไปในตอนต้น



หะดีษที่ทั้งสองกลุ่มยกมาเป็นการยกหะดีษที่น่าจะเป็นต้นเดียวกันแต่ฝ่ายหนึ่งผูกเรื่องแบบสอดไส้สรุปเอาเอง อีกฝ่ายหนึ่งจึงยกตัวบทที่ถูกต้องมาหักล้าง



ส่วนความหมายของอัล-หะดีษตามตัวบทที่ถูกต้อง คือการบอกถึงขอบเขตการเป็นแผ่นดินต้องห้ามของนครมะดีนะฮฺและการกระทำความผิดในเขตแผ่นดินต้องห้ามของบุคคลตลอดจนการให้ที่พักพิงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นว่าเป็นสิ่งต้องห้ามที่ถือเป็นบาปใหญ่ (กะบีเราะฮฺ) เพราะในตัวบทระบุโทษอันรุนแรงเอาไว้คือการสาปแช่ง (ละอฺนะฮฺ)



และในตำราอัล-เอาวฺสัฏและอัล-กะบีรฺของอัฏ-เฏาะบะรอนียฺตลอดจนในตำรามัจญ์มะอฺ อัซ-ซะวาอิด ของอิมาม อิบนุ หะญัร อัล-ฮัยษะมียฺ 3/306 มีอัล-หะดีษมาขยายความการกระทำความผิดนั้นว่าหมายถึงการอธรรม (ซุลฺม์) ต่อพลเมืองมะดีนะฮฺและทำให้พวกเขาเกิดความหวาดกลัว การกระทำดังกล่าวย่อมได้รับการสาปแช่ง (ละอฺนะฮฺ) และผู้กระทำความผิดนั้น พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะไม่ทรงตอบรับการกระทำความดีของเขาไม่ว่าสิ่งที่เป็นฟัรฎูหรือสุนนะฮฺหรือการเตาบะฮฺหรือการเสียค่าปรับ (ฟิดยะฮฺ) จากผู้นั้นแต่อย่างใด



ทั้งนี้เมื่ออธิบายความหมายของคำว่า หะดัษ (حَدَثًا) ว่าหมายถึงการกระทำความผิด เช่น การอธรรม เป็นต้น แต่ถ้าอธิบายตามความหมายที่รู้กันคำว่า “หะดัษ” ในตัวบทก็คือ การกระทำอุตริกรรมที่เป็นของใหม่ซึ่งไม่มีหลักการของศาสนามารับรอง หากอธิบายตามนัยที่สองนี้ก็ย่อมแสดงว่าการกระทำอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ในเขตแผ่นดินต้องห้าม (หะร็อม) ของนครมะดีนะฮฺเป็นเรื่องที่รุนแรงยิ่งกว่าการกระทำอุตริกรรมในสถานที่อื่น เพราะการกระทำอุตริกรรมในเขตแผ่นดินต้องห้ามเป็นการกระทำผิดที่มีกรณีการละเมิดต่อศักดิ์และสิทธิ์ (อัล-หุรฺมะฮฺ) ของแผ่นดินต้องห้ามทบเข้าไปอีกหนึ่งกระทงและกลายเป็นบาปใหญ่ (กะบีเราะฮฺ) (ดู อัซ-ซะวาญีรฺ อัน อิกติร็อฟ อัล-กะบาอิรฺ ; อิบนุ หะญัร อัล-ฮัยษะมียฺ เล่มที่ 1 หน้า 399-400)



ดังนั้นการนำเอาอัล-หะดีษบทนี้มาอ้างสนับสนุนว่าการให้ที่พักพิงแก่พวกกระทำอุตริกรรมตลอดจนเรื่องอื่นๆ เป็นสิ่งต้องห้ามนั้นเป็นสิ่งที่สามารถนำมาอ้างได้ กอปรกับชาวสะลัฟศอลิหฺจะมีความเกลียดชังต่อพวกที่กระทำอุตริกรรม (อะฮฺลุล บิดอะฮฺ) ไม่แสดงความรัก ไม่คบค้าสมาคม ไม่ฟังคำพูดของพวกนั้น และไม่นั่งร่วมวงสนทนาตลอดจนจะไม่โต้เถียงอภิปรายในเรื่องศาสนากับคนพวกนั้น (ดู อะกีดะตุสะลัฟ ว่า อัศหาบ อัล-หะดีษ ; อิมามอบู อุษมาน อิสมาอีล อัศ-ศอบูนียฺ หน้า 298)



ประเด็นอยู่ที่ว่า นั่นเป็นการปฏิบัติของสะลัฟศอลิหฺกับบรรดากลุ่มอุตริกรรมที่หลงผิด (อะฮฺลุลบิดอะฮฺ วัฎ-เฎาะลาละฮฺ) จริงๆ เช่น พวกอัล-เกาะดะรียะฮฺ เป็นต้น แต่สำหรับพี่น้องมุสลิมในบ้านเราที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกอุตริกรรมนั้น พวกเขาใช่กลุ่มอุตริกรรม (อะฮฺลุลบิดอะฮฺ) จริงหรือไม่ตามคำกล่าวหาของผู้ที่เรียกตนเองว่า “ชาวสุนนะฮฺ”



เพราะเมื่อคนกลุ่มนี้เรียกกลุ่มตัวเองว่า “ชาวสุนนะฮฺ” โดยสงวนสิทธิ์เอาไว้เฉพาะกลุ่มของตนว่าตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ ก็ย่อมแสดงว่าคนที่ปฏิบัติไม่เหมือนพวกเขาหรือเชื่อไม่เหมือนพวกเขาเป็น “ชาวบิดอะฮฺ” ตามความเข้าใจในมุมกลับ (มัฟฮูม มุคอละฟะฮฺ)



ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่ากลุ่มคนซึ่งเป็นส่วนใหญ่นั้นเป็น “ชาวบิดอะฮฺ” จริงหรือถึงได้นำเอาอัล-หะดีษข้างต้นตลอดจนการแสดงท่าทีของชนในยุคสะลัฟ ศอลิหฺมาใช้กับกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ชาวบิดอะฮฺ” นั้น ทำราวกับว่าคนส่วนใหญ่ (ที่ถูกเรียกตามภาษาที่เข้าใจง่ายๆ ว่าคณะเก่า) นั้นได้ถูกกันออกจากความเป็นอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ต่างอะไรกับพวกเกาะดะรียะฮฺ ญับรียะฮฺ มัวะตะซิละฮฺ รอฟิเฎาะฮฺ ฯลฯ ไปเรียบร้อยโรงเรียนแขกแล้ว



การกล่าวหา (อิตติฮาม) ผู้อื่นว่าเป็นพวกอุตริกรรม (อะฮฺลุลบิดอะฮฺ) และการกล่าวอ้าง (อิดดิอาอฺ) ว่ากลุ่มของตนคือผู้ปฏิบัติตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺนั้นอาจจะเป็นจริงก็ได้หรือเป็นเท็จก็ได้พอๆ กัน เพราะการกล่าวหาผู้อื่นเพียงแต่ฝ่ายเดียวยังมิอาจถือเป็นคำตัดสินที่เด็ดขาดได้เลยในขั้นตอนของการชำระคดีความของศาล ในทำนองเดียวกันการกล่าวอ้างสิทธิในความชอบธรรมแต่ฝ่ายเดียวก็ยังมิอาจถือเป็นคำตัดสินที่เด็ดขาดได้เช่นกันว่าฝ่ายที่กล่าวอ้างนั้นมีความชอบธรรมในการอ้างสิทธินั้นจริง



การกล่าวหาและการกล่าวอ้างจึงมีสถานะพอๆ กันระหว่างความจริงกับความเท็จตราบใดที่ยังไม่มีคำตัดสินชี้ขาดเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง การด่วนสรุปและตัดสินคดีความเพียงแต่ฝ่ายเดียวจึงไม่ต่างอะไรกับการสถาปนาฝ่ายของตนเองขึ้นเป็นศาลในการชำระคดีความแบบเบ็ดเสร็จโดยอาศัยการวิเคราะห์ตัวบทและตีความเข้าข้างฝ่ายตน



มิหนำซ้ำยังกำหนดระหว่างโทษมาบังคับใช้กับอีกฝ่ายตามอำเภอใจทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ข้อยุติใดๆ เลยว่าอีกฝ่ายกระทำความผิดเข้าลักษณะนั้นจริงหรือไม่ ถึงแม้ว่าฝ่ายที่กล่าวหาและตัดสินชำระความซึ่งสถาปนาอำนาจตุลาการให้แก่ฝ่ายตนจะกล่าวอ้างว่าคดีนั้นเป็นข้อยุติและเด็ดขาดแล้วก็ตาม เพราะไม่แน่ว่าข้อกล่าวหานั้นอาจจะเป็นเท็จหรือคลาดเคลื่อนจากความจริงก็เป็นได้ ผู้ที่กล่าวหาผู้อื่นว่ากระทำผิดและตัดสินชำระคดีความนั้นแต่ฝ่ายเดียวย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากการทำตัวเป็น “ศาลเตี้ย” เท่านั้น



สังคมมุสลิมทุกวันนี้ที่มีการกล่าวหาในระหว่างพี่น้องมุสลิมด้วยกันโดยยัดเยียดข้อหาและตัดสินฝ่ายที่ถูกกล่าวหาพร้อมกับออกมาตรการต่างๆ เพื่อมานำมาใช้กับผู้ที่ถูกตัดสินว่าเป็น พวกอุตริกรรม พวกหลงผิด พวกไม่เอากิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ เลยเถิดไปถึงขั้นชี้ขาดว่าตกศาสนา (มุรตัด-ตักฟิรฺ) ทั้งหมดล้วนเป็นพฤติการณ์ที่เข้าลักษณะ “ตั้งศาลเตี้ย” ทั้งสิ้น



ขอย้ำว่า บิดอะฮฺ (อุตริกรรม) ทางศาสนานั้นมีอยู่จริง ผลเสียจากการกระทำบิดอะฮฺนั้นก็มีอยู่จริง การหลีกห่างจากการกระทำบิดอะฮฺและต้องระวังรักษาสุนนะฮฺก็เป็นเรื่องจริงที่มีตัวบททางศาสนาระบุไว้ให้มุสลิมทุกคนจำต้องกระทำ ความจริงนี้ปฏิเสธไม่ได้เพราะเป็นเรื่องจริง และความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันก็คือ ความเข้าใจหรือการมีความเชื่อว่าสิ่งหนึ่งเป็นสุนนะฮฺทั้งๆ ที่เป็นบิดอะฮฺก็มีอยู่จริง



ในทำนองเดียวกันความเข้าใจหรือการมีความเชื่อว่าสิ่งหนึ่งเป็นบิดอะฮฺ ทั้งๆ ที่มิใช่บิดอะฮฺแต่เป็นเรื่องอนุญาตหรือเป็นสุนนะฮฺตามตัวบทหลักฐานก็มีอยู่จริง สำคัญที่สุดซึ่งเป็นเรื่องจริงที่จริงแท้แน่นอนมากกว่าความจริงบางข้อเสียอีก ก็คือ คนที่แยกความจริงออกจากความไม่จริงได้อย่างเด็ดขาดนั้นมีไม่มากคน แต่คนส่วนมากแยกความจริงไม่ออกไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง คนอย่างนี้แหล่ะมีมากในความเป็นจริง

วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก