การปล่อยมือโดยไม่กอดมือหลังจากตักบีรร่อตุลเอียะหรอม  (อ่าน 7983 ครั้ง)

อบู

  • บุคคลทั่วไป
 salam
1 อยากทราบว่าการปล่อยมือโดยไม่กอดมือหลังจากตักบีรร่อตุลเอียะหรอม มีหลักฐานรองรับไมครับ หรือเป็นเพียงแค่ทัศนะครับ
2 อยากถามอาจารย์ว่าการกอดมือและวางมือแบบไหนถูกต้องที่สุด ระหว่าง วางมือบนอก ใต้สะดือ หรือระหว่างทั้งสอง ดังคลิปล่างนี้

http://www.youtube.com/watch?v=Kh8vo7Jm7oA&feature=share

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
...الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد
      
หลังการยกมือทั้งสองเพื่อตักบีเราะตุลอิหฺรอม มีสุนนะฮฺให้เอามือขวาวางบนมือซ้าย เนื่องจากมีอัล-หะดีษระบุว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะวางมือข้างขวาของท่านบนมือข้างซ้าย (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ และอัน-นะสาอียฺ)


และอัล-หะดีษที่ว่า “แท้จริงพวกเราเหล่าบรรดานบี พวกถูกใช้ให้รีบละศีลอด ให้ล่าช้าการทานอาหารสะหู๊ร และการที่พวกเราจะวางมือขวาของเราเหนือมือซ้ายของเราในการละหมาด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺและอบูดาวูด)


และมีอัล-หะดีษระบุว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะวางมือขวาลงบนหลังฝ่ามือข้างซ้าย ข้อมือและท่อนแขน (อบูดาวูด , อัน-นะสาอียฺ และอิบนุคุซัยมะฮฺ ด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺตามที่อิบนุหิบบานระบุไว้)


นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺกล่าวว่า “สุนนะฮฺให้ลดมือทั้งสองลงหลังการตักบีรฺ และวางมือขวาบนมือซ้าย และจับ (หรือกำมือ) ข้อมือข้างซ้าย บางส่วนของข้อมือและท่อนแขนด้วยฝ่ามือข้างขวา”


และอัล-ก็อฟฟ้าลฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า “ให้เลือกเอาระหว่างการแผ่ (หรือกาง) บรรดานิ้วมือข้างขวาในด้านขวางของข้อต่อและระหว่างการกาง (หรือแผ่) นิ้วมือในด้านที่ตรงกับท่อนแขน และให้มือทั้งสองข้างอยู่ใต้อกและอยู่เหนือสะดือ ตามนี้ท่านสะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ และดาวูดกล่าวเอาไว้ว่า


ส่วนอิมามอบูหะนีฟะฮฺ , อัษ-เษารียฺ และอิสหากกล่าวว่าให้วางมือทั้งสองใต้สะดือ (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุล มุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 267 , 268 , 269)


การวางมือขวาลงบนมือซ้ายหรือการกอดอก (ที่บริเวณอก – ใต้อก – ใต้สะดือ) เป็นคำกล่าวของท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ , อบูฮุรอยเราะฮฺ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ และเหล่าเศาะหาบะฮฺท่านอื่นๆ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม) ตลอดจนเป็นคำกล่าวของท่านสะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ , อัน-นะเคาะอียฺ และตาบิอีนท่านอื่นๆ


รวมถึงเป็นคำกล่าวของสุฟยาน อัษ-เษารียฺ , อบูหะนีฟะฮฺ และสานุศิษย์ของท่าน , อิมามอะหฺมัด , อิสหาก , อบูเษาริน , ดาวูด และปวงปราชญ์ และอิบนุ อัน-มุนซิรฺเล่าจากอับดุลลอฮฺ อิบนุอัซ-ซุบัยรฺ , อัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ และอัน-นะเคาะอียฺ ว่า ให้ปล่อยมือทั้งสองโดยไม่ต้องวางมือข้างใดลงบนอีกข้างหนึ่ง และอัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบ เล่าทัศนะนี้จากท่านอิบนุ สิรีน และอัล-ลัยษฺ อิบนุ สะอฺด์ ก็กล่าวว่าให้ปล่อยมือทั้งสองข้าง แต่ถ้าปล่อยไว้นานก็ให้เอามือขวาวางบนมือซ้ายเพื่อพัก


อัล-เอาวฺซีอียฺกล่าวว่า “ให้เลือกเอาระหว่างการกอดอกกับการปล่อยมือ และอิบนุ อับดิลหะกัมรายงานจากอิมามมาลิก (ร.ฮ.) ว่าให้กอดอก ส่วนอิบนุอัล-กอสิมรายงานจากอิมามมาลิก (ร.ฮ.) ว่า ให้ปล่อยมือทั้งสองข้างซึ่งเป็นการรายงานที่รู้กันมากที่สุด ซึ่งชาวมัฆริบ (หมายถึงชาวแอฟริกัน) ที่สังกัดมัซฮับมาลิกียฺปฏิบัติกัน


หลักฐานที่นักวิชาการที่มีทัศนะว่าให้ปล่อยมือก็คือ อัล-หะดีษของชายที่ละหมาดเสียแล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็สอนวิธีการละหมาดที่ถูกต้องให้แก่ชายผู้นั้น ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้ระบุเรื่องการวางมือขวาลงบนมือซ้ายในอัล-หะดีษบทนี้


ส่วนหลักฐานของนักวิชาการที่ระบุว่าให้กอดอกหรือวางมือขวาลงบนมือซ้ายนั้นกล่าวมาแล้วข้างต้น และอธิบายอัล-หะดีษของชายที่ละหมายเสียนั้นว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) สอนสิ่งที่เป็นวาญิบในการละหมาดเท่านั้น (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ 3/268 , 269)



      สรุปได้ว่า การกอดอกหรือปล่อยมือหลังการตักบีเราะตุลอิหฺร็อมในละหมาดนั้นเป็นทัศนะของนักวิชาการทั้งสองกรณี ต่างกันตรงที่ว่าฝ่ายที่ถือว่าการกอดอกเป็นสุนนะฮฺถือเป็นหลักฐานเฉพาะเรื่องซึ่งถูกต้องหรือชัดเจนกว่า ส่วนฝ่ายที่ปล่อยมืออาศัยหลักฐานกว้างๆ ที่ไม่ระบุเรื่องการกอดอก และไม่ถือหลักฐานเฉพาะเรื่อง (คือการกอดอก) ทัศนะของนักวิชาการฝ่ายนี้จึงอ่อนและไม่มีน้ำหนัก



      ส่วนเรื่องตำแหน่งการวางมือทั้งสองในกรณีกอดอกนั้นกล่าวมาแล้วข้างต้น ชัยคฺ อัล-อัลบานียฺ (ร.ฮ.) ให้น้ำหนักว่าที่เป็นสุนนะฮฺคือวางบนอก แต่อัล-หะดีษที่ท่านระบุถึงการกระทำของอิสหาก อิบนุ รอฮะวัยฮฺ ระบุว่า ท่านอิสหาก (ร.ฮ.) วางมือทั้งสองข้างบนราวนมหรือใต้ราวนม (ศิฟะตุ้ เศาะลาตินนบี หน้า 61) ถ้าใต้ราวนมก็ย่อมหมายความว่า ใต้หน้าอกซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่มัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุไว้ คือวางใต้หน้าอกและอยู่เหนือสะดือ


ส่วนทัศนะของฝ่ายที่ว่าให้วางใต้สะดือนั้นอาศัยหลักฐานจากท่านอะลี (ร.ฎ.) ที่ว่า “ส่วนหนึ่งจากสุนนะฮฺในการละหมาด คือการวางฝ่ามือลงบนฝ่ามือใต้สะดือ” (บันทึกโดยอัด-ดาเราะกุฏนียฺ , อัล-บัยฮะกียฺ และท่านอื่นๆ นักวิชาการอัล-หะดีษเห็นตรงกันว่าเป็นหะดีษอ่อน (เฎาะอีฟ) เพราะเป็นการรายงานของอับดุรเราะหฺมาน อิบนุ อิสหาก อัล-วาสิฏียฺ บุคคลผู้นี้อ่อน (เฎาะอีฟ) และอิบนุ อัล-มุนซิรฺกล่าวว่า “ไม่มีระบุสิ่งใดที่แน่นอนจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในเรื่องนี้ ก็ให้ผู้ละหมาดเลือกเอา” (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ เล่มที่ 3 หน้า 270)

والله أعلم بالصواب