การละหมาดกอฎอ(ละหมาดชด)  (อ่าน 19909 ครั้ง)

ซาฟิก สารี

  • บุคคลทั่วไป
การละหมาดกอฎอ(ละหมาดชด)
« เมื่อ: สิงหาคม 18, 2014, 03:21:03 pm »
อัสสลามมูอลัยกุมวะเราะห์มะตุ้ลลอฮิวะบารอกาตุฮฺ
ก่อนอื่น.. ผมต้องขอกล่าวอัลฮัมดุลิลละฮ์มากๆที่อัลลอฮฺได้ให้ผมรู้จักอ.อาลี เสือสมิงผ่านโลกออนไลน์แม้จะไม่เคยได้เจอตัวจริงเลยสักครั้ง ผมชื่อซาฟิก สารี อยู่ จ.นราธิวาส ครั้งหนึ่งผมไปอบรมที่ กทม. และรู้สึกอยากจะไปเยี่ยมเยียนครูผู้มีความรู้อย่างอ.อาลี เสือสมิง แต่ไม่รู้ว่าจะติดต่ออย่างไร เลยลองหาเบอร์โทรศัพท์จากโรงเรียนของอาจารย์ ได้คุยกับคนๆหนึ่งเพื่อขอเบอร์อาจารย์ หรือถามถึงที่อยู่อาศัยว่าอาจารย์อยู่โซนไหน แต่ดูเหมือนคนที่คุยด้วยเองก็ไม่ทราบเช่นกัน ไม่มีอะไรหรอกครับ เพียงแต่ว่าอยากเจอตัวจริงสักครั้งครับ

เข้าเรื่องนะครับ.. คำถามผมมีอยู่ว่า....
การละหมาดกอฎอ หรือละหมาดชด เท่าที่ผมทราบคือเราต้องรีบละหมาดชดทันทีที่เรารู้ตัวว่าเราเผลอหลับไป และตื่นขึ้นมาอีกทีเวลาละหมาดฟัรฎูของเราก็ได้ล่วงเลยผ่านไปแล้ว อันนี้เข้าใจครับ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ว่า....
ถ้าคนๆหนึ่ง แต่ก่อนเขาขี้เกียจฟังบรรยายธรรมเรื่องศาสนา, ทั้งๆที่พ่อแม่ก็บอกให้ไปอยู่ปอเนาะช่วงมหาลัยปิดเทอมบ้าง เอาความรู้ทางศาสนาบ้าง, จะได้ละหมาดและทำอาม้าลอีบาดัตอื่นๆได้อย่างถูกต้อง.. แต่คนๆนี้ก็ไม่เคยคิดจะไปฟังบรรยายเลย ความรู้ในการละหมาดก็เพียงแค่จำได้ตอนเด็กๆและอาศัยดูตามพ่อละหมาดไปเท่านั้น
แต่เขาคนนี้เป็นคนขยันละหมาดเอามากๆ เรียกได้ว่าญุมอะห์แทบจะไม่ขาดสายเลย แต่ดูเหมือนจะเข้าข่าย "ละหมาดโดยไร้ความรู้"
และเมื่อวันหนึ่งเขาสำนึกได้ หลังจากที่ได้ไปฟังบรรยายและรู้ว่าที่ผ่านมานั้น เขาละหมาดผิดๆถูกๆมาตลอด ตั้งแต่บรรลุนิติภาวะจนถึงปัจจุบันก็ 10 กว่าปีมาได้... เขาจึงเกิดความเข้าใจว่า... "ที่ผ่านมานั้น เขาละหมาดโดยที่ไม่มีความรู้ ละหมาดผิดๆถูกๆ แม้จะขยันละหมาด ณ มัสยิดก็ตาม แต่การกระทำเหล่านี้อาจจะไม่เป็นที่ตอบรับของอัลลอฮฺ(หรือป่าว) เพราะกระทำโดยที่ไม่มีความรู้"
เขาจึงเริ่มที่จะละหมาดชดหรือละหมาดกอฏอโดยกะระยะเวลาประมาณ 10 กว่าปีน่ะครับ
ไม่ทราบว่า ถ้าเป็นกรณีนี้ "จำเป็นอย่างยิ่ง" ที่จะต้องละหมาดกอฏอไหมครับ

เพราะมีบางคนในบางกลุ่ม(ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะอ้างตัวว่าปฏิบัติตามกีตาบุ้ลลอฮฺและซุนนะฮฺน่ะครับ.. แน่นอน! ทุกคนย่อมต้องตาม 2 สิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว) เขาบอกว่าไม่ต้องละหมาดกอฎอแล้ว เตาบัตก็เพียงพอแล้ว.. เพราะถ้าตัดสินใจจะละหมาดชดล่ะก็! คุณจะไม่ถูกอนุญาตให้ทำอย่างอื่นเลยนอกจาก "กินและขี้" เท่านั้น.. เวลาที่เหลือก็ต้องละหมาดชด.. จะเอาหรอ!

บางคนที่อยู่ในสายที่ตามมัซหับ เขาบอกว่าเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองเคยได้ยินแว่วๆมาว่า กรณีที่เราละหมาดถูกหรือผิดจนสะสมมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว ไม่จำเป็นต้องละหมาดชดก็ได้.. อันนี้เขาเองก็ไม่แน่ใจครับ
ผมจึงขอความกระจ่างจากท่านอาจารย์อาลี เสือสมิงด้วยครับ
ขอบคุณล่วงหน้าครับ
วัสสลามฯ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: การละหมาดกอฎอ(ละหมาดชด)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 21, 2014, 07:52:10 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
...الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد


นักวิชาการระบุว่า ส่วนหนึ่งจากเงื่อนไขการเศาะหฺ (ใช้ได้) สำหรับการละหมาดก็คือ การรู้ถึงวิธีการละหมาดด้วยการที่ผู้นั้นแยกแยะบรรดาฟัรฎู (สิ่งที่จำเป็น) ของการละหมาดออกจากบรรดาสิ่งที่เป็นสุนนะฮฺ และหลักเกณฑ์ (ในเรื่องนี้) ก็คือ ผู้ที่ละหมาดจะต้องไม่ปักใจเชื่อว่าฟัรฎูหนึ่งเป็นสุนนะฮฺ และไม่ทำรุกน์ (องค์ประกอบหลัก) ที่สั้นให้ยาวโดยเจตนา (หาชิยะฮฺ อัช-ชัยคฺ อัล-บัยญูรียฺ เล่มที่ 1 หน้า 264)


จากสิ่งที่นักวิชาการระบุข้างต้น จะเห็นได้ว่าการละหมาดจะใช้ได้ (เศาะหฺ) ก็ต่อเมื่อผู้ละหมาดรู้ถึงวิธีการละหมาดและแยกแยะได้ว่าสิ่งใดเป็นฟัรฎูของการละหมาด สิ่งใดเป็นสุนนะฮฺของการละหมาด หรืออย่างน้อยขั้นของการละหมาดที่ใช้ได้ก็คือ ผู้ละหมาดจะต้องไม่ปักใจเชื่อ (อิอฺติกอด) ว่าฟัรฎูหนึ่งของการละหมาดนั่นเป็นเพียงสุนนะฮฺ ทั้งนี้ในกรณีที่มีหลักฐานบ่งชี้และมีการให้น้ำหนักว่าสิ่งนั้นเป็นฟัรฎู ส่วนถ้าว่ามีความเห็นต่างกันในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นฟัรฎูหรือเป็นเพียงสุนนะฮฺกรณีนี้ไม่ใช่ประเด็นที่มุ่งหมายถึง


ดังนั้นถ้าผู้ละหมาดรู้ว่า การยืน การก้มรุกัวอฺ การอิอฺติดาล การลงสุหญูด 2 ครั้ง และการนั่งระหว่างสองสุหญูดเป็นฟัรฎูของการละหมาด และไม่มีความเชื่อว่าฟัรฎูนั้นเป็นสุนนะฮฺ การมีความรู้ในระดับนี้ก็ถือว่าพอเพียงแล้วสำหรับการละหมาดที่อยู่ในขั้นของการใช้ได้ ดังกรณีของเด็กที่รู้เดียงสา (มุมัยยิซฺ) ซึ่งรู้สิ่งพื้นฐานดังกล่าว การละหมาดของเด็กที่รู้เดียงสาก็ย่อมถือว่าใช้ได้ เมื่อบุคคลมีระดับความรู้ดังกล่าวก็ย่อมถือว่าการละหมาดของผู้นั้นใช้ได้ เมื่อการละหมาดของผู้นั้นใช้ได้ ก็หมายความว่าบุคคลผู้นั้นไม่ต้องละหมาดชดใช้ (เกาะฎออฺ) สำหรับการละหมาดที่ผ่านพ้นมาในสภาพดังกล่าว


ดังนั้น ในกรณีที่คุณชาฟิกถามมาเกี่ยวกับบุคคลนั้น ก็ไม่แน่ใจว่า การละหมาดโดยไร้ความรู้ของบุคคลผู้นั้นอยู่ในขั้นใดอยู่ในขั้นที่ต่ำกว่าเกณฑ์ความรู้ของเด็กที่รู้เดียงสา (มุมัยยิซฺ) ใช่หรือไม่? และที่ว่าบุคคลผู้นั้นละหมาดผิดๆ ถูกๆ นั้นเป็นการละหมาดในลักษณะใด เพราะละหมาดผิดนั้นมีหลายลักษณะ เช่น ผิดในเงื่อนไขของการเศาะหฺละหมาด (ละหมาดก่อนเวลา ละหมาดโดยไม่มีการทำเฏาะฮาเราะฮฺ หรือไม่ปกปิดเอาเราะฮฺ หรือมีนะญิสในขณะละหมาดที่เสื้อผ้า ร่างกาย หรือสถานที่ที่สัมผัสกับร่างกายในขณะละหมาด เป็นต้น)


หรือว่าผิดเนื่องจากกรณีของการทิ้งสุนนะฮฺในละหมาด หรือว่าทำไม่ถูกตามสุนนะฮฺและเข้าข่ายว่าเป็นมักรูฮฺหรือหะรอม ซึ่งการผิดในลักษณะนี้บางกรณีก็ไม่เสียการละหมาด แต่ว่ามักรูฮฺหรือหะรอมและเสียผลบุญอย่างนี้ก็มี


ดังนั้น ประโยคที่ว่า “ที่ผ่านมานั้น เขาละหมาดโดยที่ไม่มีความรู้ ละหมาดผิดๆ ถูกๆ แม้จะขยันละหมาด ณ มัสญิดก็ตาม แต่การกระทำเหล่านี้อาจจะไม่เป็นที่ตอบรับของอัลลอฮฺ (หรือป่าว) เพราะกระทำโดยที่ไม่มีความรู้” ก็ยากที่จะฟันธงว่า ใช้ไม่ได้ไปเสียทั้งหมด เพราะกรณีแวดล้อมบ่งชี้ว่าคนๆ นี้ไม่น่าจะแย่ถึงขั้นที่ว่า ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการละหมาด อย่างน้อยก็มีถูกปนผิด และเมื่อกระทำไปแล้วอาจจะไม่เป็นที่ตอบรับของอัลลอฮฺ (หรือป่าว) นี่ก็เป็นข้อสงสัย อีกทั้งในข้อเท็จจริงบางคนละหมาดถูกต้อง และมีความรู้อย่างดีเกี่ยวกับการละหมาด แต่ก็ปรากฏว่าไม่ไดรับผลบุญ คือ ไม่เป็นที่ตอบรับของอัลลอฮฺ อย่างนี้ก็มีเยอะทีเดียว เอาเป็นว่า เรื่องนี้มองได้ 2 กรณี 



หนึ่ง มองในแง่ดี ค่อนไปทางบวก คือการละหมาดของคนที่ว่านี้อยู่ในขั้นต่ำ แค่ใช้ได้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก่อนจะฉุกคิดได้ว่า ละหมาดของตนเป็นการละหมาดแบบเด็กรู้เดียงสาขั้นปฐมวัยเท่านั้น ถ้ามองในแง่นี้ก็ถือว่าละหมาดในช่วงที่ผ่านมาแค่ใช้ได้ คือพ้นฟัรฎูเท่านั้น คำว่า แค่ใช้ได้และพ้นฟัรฎูก็คือไม่ต้องละหมาดชดใช้ (เกาะฎออฺ) แต่ความสมบูรณ์ของการละหมาดยังห่างไกลจากเกณฑ์มาตรฐานมาก เมื่อฉุกคิดได้ก็ต้องพยายามเรียนรู้เรื่องการละหมาดให้ละเอียดมากขึ้นและปฏิบัติฟัรฎูให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น ไม่ทิ้งละหมาดฟัรฎู และให้ละหมาดสุนนะฮฺเสริมมากๆ   



สอง มองในแง่ร้าย ค่อนไปทางลบ คือการละหมาดของคนที่ว่านี้ไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ ได้แค่ศูนย์ เพราะการละหมาดในช่วง 10 ปีก่อนฉุกคิดได้ ผู้ละหมาดไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับวิธีการละหมาด แม้เพียงแค่ขั้นของการใช้ได้ ซึ่งแย่กว่าการละหมาดของเด็กที่รู้เดียงสา (มุมัยยิซฺ) โดยแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรเป็นฟัรฎู อะไรเป็นสุนนะฮฺ ที่ละหมาดผิดก็เพราะไม่รู้ ที่ละหมาดถูกก็ไม่รู้ว่าถูกจริงๆ การละหมาดทำนองนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะขาดเงื่อนไขในการเศาะหฺละหมาด เมื่อการละหมาดใช้ไม่ได้ก็จำเป็นต้องละหมาดใหม่ ถ้าอยู่ในเวลาก็เรียกว่า อิอาดะฮฺ คือกลับไปละหมาดใหม่และต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าพ้นเวลาไปแล้วก็เรียกว่า เกาะฎออฺ คือชดใช้การละหมาดที่ใช้ไม่ได้นั้น และต้องทำให้ถูกต้อง กรณีนี้เมื่อฉุกคิดได้ก็จำต้องเตาบะฮฺ (สำนึกผิด) เป็นอันดับแรกตามเงื่อนไขของการเตาบะฮฺ เพราะตนบกพร่องในหน้าที่คือการละหมาดฟัรฎู 5 เวลา ซึ่งเป็นสิทธิของ  อัลลอฮฺ (ซ.บ.) – หักกุลลอฮฺ –



ประเด็นต่อมา ถามว่าเมื่อเตาบะฮฺแล้วจำเป็นต้องละหมาดเกาะฎออฺชดใช้หรือไม่? นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺระบุว่า “ผู้ใดที่การละหมาดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้นั้น แล้วการละหมาดก็ผ่านพ้นผู้นั้นไป (ออกนอกเวลาละหมาดโดยไม่ละหมาดตามเวลาของการละหมาดนั้น) การชดใช้ (เกาะฎออฺ) ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้นั้นแล้ว ไม่ว่าการละหมาดนั้นได้ผ่านพ้นผู้นั้นไปด้วยอุปสรรคหรือโดยไม่มีอุปสรรคก็ตาม


ดังนั้น หากการผ่านพ้นไปของการละหมาดเป็นไปด้วยอุปสรรค (อุซฺร์) การละหมาดชดใช้นั้นก็เป็นไปโดยล่าช้า (อัต-ตะรอคียฺ) ได้ และส่งเสริมให้ผู้นั้นละหมาดชดใช้โดยเร็ว (อะลัลเฟารี่) นี่เป็นคำกล่าวที่มุอฺตะมัดในมัซฮับ แต่ถ้าหากการผ่านพ้นไปของการละหมาดเป็นไปโดยไม่มีอุปสรรค (อุซฺร์) ก็มี 2 ประเด็นในมัซฮับ ประเด็นที่ถูกต้องคือจำเป็นต้องละหมาดชดใช้โดยเร็ว (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 74)



ในกรณีของบุคคลผู้นี้ตามสมมุติฐานที่ว่าการละหมาดของเขาใช้ไม่ได้ และการละหมาดของเขาก็ผ่านพ้นมานานหลายปี โดยตลอดช่วงเวลาหลายปีนั้นละหมาดของเขาใช้ไม่ได้เลย จึงกลายเป็นว่าไม่รู้จำนวนของการละหมาดที่จำเป็นต้องชดใช้ แต่รู้ถึงช่วงระยะเวลาคือ 10 ปีที่ผ่านมา (โดยนับตั้งแต่การบรรลุ ศาสนภาวะ) ก็คิดสะระตะได้ว่า 1 ปี มี 360 วัน คูณ 10 ปี เท่ากับ 3,600 วัน นำจำนวน 3,600 วันคูณ 5 ก็จะได้จำนวนเวลาละหมาดที่ขาดไปตลอดช่วงเวลา 10 ปี เท่ากับ 18,000 เวลา


ดังนั้นถ้าจะถือเอาในขั้นมั่นใจก็ต้องละหมาดชดใช้จำนวน 18,000 เวลาซึ่งเป็นจำนวนที่มโหฬารเลยทีเดียว  กรณีที่สองนี้เป็นเรื่องยาก จึงต้องกลับมาพิจารณาถึงความน่าจะเป็นไปได้ว่า จริงๆ แล้วการละหมาดทั้ง 18,000 เวลานั้นใช้ไม่ได้ทั้งหมดทุกเวลาใช่หรือไม่? โดยวิเคราะห์ประเด็นที่ว่า เพราะละหมาดไปโดยไม่รู้จึงใช้ไม่ได้เป็นหลัก ทั้งนี้มีประเด็นเกี่ยวข้องที่ต้องพิจารณาดังนี้


1. นักวิชาการเห็นพ้องตรงกันว่า การละหมาดชดใช้ (เกาะฎออฺ) เป็นสิ่งจำเป็นเหนือคนที่ลืม (อัน-นาสียฺ) และคนที่นอนหลับจนเลยเวลาละหมาด  (ฟิกฮุสสุนนะฮฺ ; สัยยิด สาบิก เล่มที่ 1 หน้า 297) กรณีของบุคคลที่ถามมาใช่คนที่ลืมละหมาด หรือนอนหลับจนเลยการละหมาดหรือไม่? พิจารณแล้วก็ไม่น่าจะใช่!


2. ปวงปราชญ์ (ญุมฮูรฺ อัล-อุละมาอฺ) เห็นพ้องตรงกันว่า ผู้ที่ทิ้งการละหมาดโดยเจตนา ถือว่าผู้นั้นมีบาป และการละหมาดชดใช้ก็เป็นสิ่งจำเป็นเหนือผู้นั้น (อ้างแล้ว 1/297 , กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 76)

ส่วนชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) และชัยคฺ อบูมุฮัมมัด อะลี อิบนุ หัซฺมิน (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ผู้ที่ทิ้งการละหมาดโดยเจตนาไม่มีบัญญัติให้ผู้นั้นทำการละหมาดชดใช้ และการละหมาดชดใช้นั้นถือว่าใช้ไม่ได้อีกด้วย แต่ให้ผู้นั้นทำละหมาดสุนนะฮฺและความดีต่างๆ มากๆ และอิบนุ หัซฺมิน (ร.ฮ.) อ้างว่า เป็นคำพูดของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ท่านอับดุลลอฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ท่านสะอฺด์ อิบนุ อบีวักก็อศ (ร.ฎ.) ท่านสัลมาน อัล-ฟาริสียฺ (ร.ฎ.) ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฎ.) ท่านอัล-กอสิม อิบนุ มุฮัมมัด อิบนิ อบีบักรฺ (ร.ฮ.) และท่านอุมัรฺ อิบนุ อับดิลอะซีซฺ (ร.ฮ.) เป็นต้น (ดู ฟิกฮุสสุนนะฮฺ สัยยิด สาบิก 1/297 , 299)


กรณีของบุคคลที่ถูกถามมานี้เป็นผู้เจตนาทิ้งละหมาดหรือไม่? พิจารณาแล้ว ไม่น่าจะใช่ เพราะบุคคลผู้นี้ละหมาดด้วยความขยันแถมละหมาดญุมอะฮฺไม่ได้ขาด เพียงแต่น่าจะละหมาดใช้ไม่ได้เพราะไร้ความรู้เท่านั้น



3. วิเคราะห์กรณีที่ว่า ละหมาดใช้ไม่ได้เพราะไร้ความรู้ หรือสงสัยว่าน่าจะใช้ไม่ได้เพราะละหมาดไปโดยไม่รู้ เจ้าของตำราอัต-ตะฮฺซีบ กล่าวว่า : มีเงื่อนไขสำหรับการเศาะหฺละหมาดว่าต้องรู้ชัดว่าการละหมาดนั้นเป็นฟัรฎู และรู้จักการปฏิบัติละหมาดนั้น ดังนั้น หากผู้นั้นไม่รู้ถึงความเป็นฟัรฎูในหลักเดิมของการละหมาด หรือรู้เพียงบางส่วนของการละหมาดนั้นว่าเป็นฟัรฎู แต่ผู้นั้นไม่รู้ถึงความเป็นฟัรฎูของการละหมาดซึ่งเขาผู้นั้นเริ่มเข้าสู่การละหมาดนั่น ก็ถือว่าการละหมาดของเขาใช้ไม่ได้...


ส่วนกรณีเมื่อผู้นั้นรู้ถึงความเป็นฟัรฎูของการละหมาดแต่ไม่รู้ถึงบรรดาองค์ประกอบหลัก (อัรฺกาน) ของการละหมาด ก็มี 3 สภาพในกรณีนี้

(1) คือการที่ผู้นั้นเชื่อ (อิอฺติกอด) ว่าการกระทำทั้งหมดในละหมาดเป็นสุนนะฮฺ

(2) การที่เขาเชื่อว่าบางส่วนของการกระทำในละหมาดเป็นฟัรฎู และบางส่วนเป็นสุนนะฮฺ แต่ไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นฟัรฎูออกจากสิ่งที่เป็นสุนนะฮฺได้ การละหมาดของผู้นั้นย่อมใช้ไม่ได้ในสองสภาพนี้โดยไม่มีข้อขัดแย้ง อัล-กอฎียฺ หุสัยนฺ , อัล-มุตะวัลลียฺ และอัล-บะเฆาะวียฺระบุเอาไว้อย่างชัดเจน 

(3) การที่ผู้นั้นเชื่อ (อิอฺติกอด) ว่าการกระทำทั้งหมดของการละหมาดนั้นเป็นฟัรฎู

สภาพที่ 3 นี้มี 2 ประเด็น (วัจญ์ฮานี่) ประเด็นที่หนึ่ง ถือว่าการละหมาดของเขาใช้ไม่ได้ เพราะเขาละทิ้งการรู้ถึงสิ่งดังกล่าว ซึ่งการรู้นี้เป็นสิ่งจำเป็น ประเด็นที่สอง ถูกต้องที่สุดใน 2 ประเด็น (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนี่) คือ ถือว่าการละหมาดของเขาผู้นั้นใช้ได้ อัล-มุตวัลลียฺชี้ขาดเอาไว้ เพราะในกรณีนี้ ผู้นั้นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการที่เขาได้ทำสิ่งที่เป็นสุนนะฮฺโดยเชื่อว่าสุนนะฮฺนั้นเป็นฟัรฎู และสิ่งดังกล่าวไม่ส่งผลแต่อย่างใด ทั้งนี้ไม่แบ่งแยกระหว่างคนเอาวามหรือมิใช่เอาวามในกรณีนี้ (อ้างแล้ว 3/494)


อิมามอัล-เฆาะซาลียฺกล่าวไว้ในอัล-ฟะตาวา ว่า “อัล-อามมียฺ (คนเอาวาม) ซึ่งไม่แยกแยะบรรดาสิ่งที่เป็นฟัรฎูในการละหมาดของเขาออกจากบรรดาสิ่งที่เป็นสุนนะฮฺของการละหมาด การละหมาดของเขาย่อมใช้ได้ โดยมีเงื่อนไขว่า เขาผู้นั้นจะต้องไม่มีเจตนามุ่งหมายการทำสุนนะฮฺด้วยสิ่งที่เป็นฟัรฎู


ดังนั้น หากเขามีเจตนาทำเป็นสุนนะฮฺด้วยสิ่งที่เป็นฟัรฎู ก็ย่อมไม่ถูกนับด้วยสิ่งนั้น (คือใช้ไม่ได้) และหากว่าเขาหลงลืมจากรายละเอียด (ในขั้นตอนของการละหมาดว่าสิ่งใดเป็นฟัรฎู สิ่งใดเป็นสุนนะฮฺ) การมีเจตนาคร่าวๆ โดยรวมในตอนแรก (ของการเริ่มละหมาด) ก็ถือว่าพอเพียงแล้ว”


อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุว่า “คำกล่าวของอัล-เฆาะซาลียฺ (ร.ฮ.) นี้คือสิ่งที่ถูกต้องซึ่งสิ่งที่ปรากฏชัดจากบรรดาสภาพของเหล่าเศาะหาบะฮฺ และบุคคลในชั้นหลังพวกเขาชี้ขาดว่าเป็นเช่นนั้น และไม่มีการถ่ายทอดใดๆ เลยว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กำหนดให้ชาวอาหรับชนบท (อะอฺร็อบ) และผู้อื่นว่าจำเป็นต้องรู้ถึงการแยกแยะที่ว่านี้ และไม่มีการถ่ายทอดอีกว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ใช้ให้บุคคลที่ไม่รู้ถึงการแยกแยะนี้ทำการกลับไปละหมาดใหม่ (อิอาดะฮฺ) วัลลอฮุอะอฺลัม (อ้างแล้ว 3/494)



ดังนั้น คำว่า “ละหมาดโดยไม่รู้” ของบุคคลผู้นั้นตลอดช่วงเวลา 10 ปีก่อนฉุกคิดได้เมื่อไปฟังบรรยายจึงต้องวิเคราะห์ว่า ไม่รู้อะไร? และไม่รู้ในระดับใด? เพราะโดยข้อเท็จจริงถ้าถือเอากรณีที่ว่าต้องรู้โดยละเอียดและแยกแยะได้ ก็เท่ากับว่า การละหมาดของเด็กที่รู้เดียงสา (มุมัยยิซฺ)  ซึ่งยังไม่บรรลุศาสนภาวะและอาจจะยังไม่ได้เรียนฟัรฎูอีนเบื้องต้นด้วยซ้ำ ย่อมใช้ไม่ได้ ทั้งๆ ที่นักวิชาการระบุว่าการละหมาดของเด็กที่รู้เดียงสา (มุมัยยิซฺ) นั้นใช้ได้


ดังนั้น ผมค่อนข้างให้น้ำหนักกับกรณีแรกสำหรับบุคคลคนนี้ ก็คือละหมาดในช่วง 10 ปีที่ว่ามานั้นน่าจะใช้ได้ แต่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อค่อนข้างมั่นใจว่าใช้ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องละหมาดชดใช้ แต่เมื่อฉุกคิดและเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวแล้ว ก็ให้รักษาละหมาด 5 เวลาให้ครบ และถูกต้องตามที่เรียนรู้เพิ่ม และให้ละหมาดสุนนะฮฺเพิ่มเติมมากๆ ครับ แต่ถ้าจะละหมาดชดใช้ 18,000 เวลาที่ว่ามาก็ทำได้ เพื่อความมั่นใจก็ให้บุคคลนั้นถามใจตัวเองว่าจะเลือกตัดสินใจเอาแบบไหน เรื่องอย่างนี้ไม่มีใครรู้ดีเท่ากับตัวเราเองครับ


และขอบคุณคุณชาฟิกที่มีความรู้สึกดีๆ ให้กัน อินชาอัลลอฮฺคงได้มีโอกาสเจอกัน

والله أعلم بالصواب