ถามเรื่องการออก อีด อีดิ้ลอัฎฮา คับ  (อ่าน 9357 ครั้ง)

นายิบ

  • บุคคลทั่วไป
ถามเรื่องการออก อีด อีดิ้ลอัฎฮา คับ
« เมื่อ: กันยายน 28, 2014, 04:12:35 pm »
ผมมีความสงสัยว่า ในสมัยท่าน นบีมูฮำหมัด (ซ.ล) มีเหตุการไหนไหมครับที่ อีดไม่ตรงกัน เช่น เมืองมักกะห์ กับ เมือง มะดีนะห์ ที่แต่ก่อนยังไม่ได้รวมเป็นประเทศ ซาอุดิอาราเบีย เวลา 2 เมืองนี้ ก็ต่างกัน เกือบ 1 ชม มีไหมครับ ที่ ออกอีด คนละวัน / อีกคำถามนะครับ นบีทรงใช้ให้ประชาชาติอิสลาม ร่วมกัน ดูจันทร์เสี้ยวเพื่อกำหนด เดือน และอีดต่างๆในศาสนา นบี ทรงใช้เฉพาะ มุสลิม ใน ประเทศใดของใครของมัน หรือ ผู้ศรัทธาทั้งโลกร่วมกัน ครับ. ขอบคุณครับ อาจารย์

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: ถามเรื่องการออก อีด อีดิ้ลอัฎฮา คับ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 07, 2015, 09:37:29 am »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

การใช้ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ให้กำหนดการเข้าเดือน เราะมะฎอนและออกอีดด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยว (ฮิลาล) ตลอดจนการนับเดือนชะอฺบานให้ครบจำนวน 30 วันหากไม่เห็นจันทร์เสี้ยวเนื่องจากมีเมฆบดบังจันทร์เสี้ยว ถือเป็นมาตรฐานในการกำหนดการเข้าเดือนหรือออกเดือนอื่นๆ นอกจากเดือนชะอฺบานและเราะมะฎอน


กล่าวคือ การกำหนดวันที่ 1 ของเดือนเชาว๊าล (ซึ่งเป็นวันอีดอัล-ฟิฏร์) เดือนซุลเกาะดะฮฺและเดือน ซุลหิจญะฮฺ อันเป็นช่วงเวลาของการครองอิหฺรอมหัจญ์ (มีกอตซะมานียฺ) และการรู้ถึงวันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺอันเป็นวันวุกุฟของบรรดาหุจญาจที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ ตลอดจนวันที่ 10 ซุลหิจญะฮฺอันเป็นวันอีดอัล-อัฎหา ทั้งหมดเป็นผลมาจากการดูจันทร์เสี้ยวทั้งสิ้น


และคำสั่งให้ดูจันทร์เสี้ยวหรือนับจำนวนวันของเดือนก่อนให้ครบ 30 วัน กรณีไม่เห็นจันทร์เสี้ยว เป็นคำสั่งที่ใช้ครอบคลุมประชาคมมุสลิมทั้งหมดในการยึดเป็นหลักสำหรับการกำหนดของการเข้าเดือนหรือออกเดือน ไม่ใช่เป็นคำสั่งสำหรับมุสลิมในดินแดนหนึ่งดินแดนใดโดยเฉพาะ นี่เป็นลักษณะของคำสั่งทางศาสนาที่ครอบคลุมเช่นเดียวกับการประกอบศาสนกิจ (อิบาดาต) หรือการทำธุรกรรม (มุอามะลาต) ตลอดจนคำห้ามจากการกระทำสิ่งที่ขัดกับบัญญัติของศาสนา ทั้งหมดจะครอบคลุมและถูกบังคับใช้กับประชาคมมุสลิมทั่วโลก มิได้แยกส่วนหรือแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ นี่คือหลักการอันเป็นมาตรฐานสากลที่มุสลิมในทุกดินแดนจำต้องปฏิบัติตามและยึดมั่น


ส่วนในขั้นตอนของการปฏิบัติศาสนกิจ เช่น การละหมาด การถือศีลอด เป็นต้น กรณีนี้ในการปฏิบัติศาสนกิจอาจจะมีความแตกต่างกันในด้านของเวลาซึ่งเป็นเรื่องปกติ กล่าวคือ คำสั่งใช้ให้ละหมาดฟัรฎู 5 เวลา เป็นคำสั่งที่ครอบคลุมมุสลิมทั่วโลก แต่การปฏิบัติศาสนกิจการละหมาดของมุสลิมไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงเวลาเดียวกันทั่วโลกตามข้อเท็จจริงที่รู้กัน การกำหนดวันเพื่อเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนหรือเดือนอื่นๆ ด้วยการดูจันทร์เสี้ยวก็เป็นคำสั่งที่ครอบคลุมเช่นเดียวกับการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนก็เป็นคำสั่งที่ครอบคลุม


แต่การเห็นจันทร์เสี้ยวไม่ใช่สิ่งที่มุสลิมทั่วโลกเห็นพร้อมกันในช่วงเวลาเดียวกัน มุสลิมในดินแดนหนึ่งอาจจะเห็นจันทร์เสี้ยวเพราะฟ้าเปิดและมีทัศนะวิสัยที่ดี แต่มุสลิมในอีกดินแดนหนึ่งอาจจะไม่เห็นจันทร์เสี้ยวเพราะฟ้าปิดและทัศนะวิสัยไม่อำนวยเนื่องจากมีเมฆมาก การเริ่มต้นในการถือศีลอดของเดือนเราะมะฎอนในแต่ละวันของมุสลิมทั่วโลกก็ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันในเวลาเดียวกันทั่วโลก เช่นเดียวกับกรณีของการละศีลอดในแต่ละวัน มุสลิมในดินแดนหนึ่งอาจจะได้เวลาละศีลอดแล้ว ในขณะที่มุสลิมในอีกดินแดนหนึ่งที่ห่างไกลออกไปยังคงอยู่ในช่วงของการถือศีลอด


คำสั่งที่ครอบคลุมของศาสนาจึงเป็นเรื่องหนึ่ง และการปฏิบัติศาสนกิจตามคำสั่งของศาสนาที่ครอบคลุมนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวคือเป็นเรื่องของเวลาที่ต่างกันในแต่ละดินแดน หรือกล่าวได้ว่า คำสั่งใช้ให้ละหมาดและถือศีลอดเป็นฟัรฎูที่ครอบคลุมสำหรับมุสลิมทั่วโลก ส่วนการละหมาดและการถือศีลอดในขั้นการปฏิบัติจริงนั้นต่างเวลาหรือต่างกรรมต่างวาระกัน และผลที่มีเวลาต่างกันในแต่ละดินแดนตลอดจนมีสภาพอากาศของท้องฟ้าหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าต่างกันในแต่ละดินแดน การกำหนดวันเข้าเดือนหรือออกเดือนด้วยการดูจันทร์เสี้ยวก็ย่อมต่างกันเป็นธรรมดาดังที่กล่าวมาแล้ว


ดังนั้น การอ้างเรื่องคำสั่งที่ครอบคลุมสำหรับมุสลิมทั่วโลกในเรื่องการประกอบศาสนกิจแล้วก็ผูกเรื่องนี้ว่ามุสลิมทั่วโลกต้องประกอบศาสนกิจพร้อมกันทั่วโลกในเวลาเดียวกันจึงเป็นการนำเอาเรื่องที่ต่างกัน 2 เรื่องมาผูกพันกันซึ่งขัดกับข้อเท็จจริง


ในกรณีของการกำหนดวันอะเราะฟะฮฺอันเป็นวันที่ 9 เดือน ซุลหิจญะฮฺ และเป็นวันวุกุฟของบรรดาหุจญาจที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ ก็ต้องอาศัยหลักการดูจันทร์เสี้ยวเช่นกัน และหลักการข้อนี้ก็ครอบคลุมมุสลิมทั่วโลก มิได้มีคำสั่งเป็นการเฉพาะสำหรับมุสลิมในประเทศ ซาอุดียฺอาระเบียเพียงกลุ่มเดียว แน่นอนการวุกุ๊ฟของบรรดาหุจญ๊าจที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺนั่นเป็นเรื่องเฉพาะของบรรดาหุจญาตและประเทศซาอุดิยฺอารเบียซึ่งเป็นผู้กำหนดวันที่ 1 เดือน ซุลหิจญะฮฺและวันวุกุฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺซึ่งเป็นวันที่มีการประกอบศาสนกิจที่สำคัญที่นั่น


แต่การดูจันทร์เสี้ยวสำหรับดินแดนอื่นเพื่อประกอบศาสนกิจที่ไม่เกี่ยวกับพิธีหัจญ์อันได้แก่ การถือศีลอดสุนนะฮฺในวันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮฺ และการละหมาดอีดอัล-อัฎหาในวันที่ 10 เดือนซุลหิจญะฮฺ ตลอดจนการเชือดอุฎหิยะฮฺ (กุรบ่าน) ทั้งหมดก็จำต้องอาศัยการดูจันทร์เสี้ยวตามหลักที่เป็นมาตรฐานซึ่งครอบคลุมมุสลิมทั่วโลกอยู่เช่นเดิม ไม่ได้ถูกยกเลิกแต่อย่างใด กล่าวคือ คำสั่งให้ดูจันทร์เสี้ยวยังคงครอบคลุมมุสลิมทั่วโลก


หากเรากล่าวว่า การกำหนดวันอีดอัล-อัฎหาให้อาศัยการกำหนดวันวุกุฟที่อะเราะฟะฮฺของประเทศซาอุดียฺ คือถือผลการดูจันทร์เสี้ยวของซาอุดียฺเป็นเกณฑ์เท่านั้น นั่นหมายความว่า ประเทศมุสลิมอื่นๆ ไม่ต้องดูจันทร์เสี้ยวในดินแดนของตนใช่หรือไม่ หากตอบว่า ใช่ ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วการดูจันทร์เสี้ยวเพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนซุลหิจญะฮฺในประเทศอื่นๆ นั้นถูกยกเลิกไปด้วยหรือไม่ในเมื่อว่าผู้ที่ถือวันวุกุฟที่ อะเราะฟะฮฺเป็นเกณฑ์ถือตามทัศนะที่ว่า คำสั่งใช้เรื่องการดูจันทร์เสี้ยวเป็นสิ่งที่ครอบคลุมมุสลิมทั่วโลก ไม่ได้แยกส่วนหรือไม่พิจารณาถึงความแตกต่างของเวลาและเขตโซนของแต่ละดินแดน


หากตอบว่าไม่ใช่อย่างนั้น การดูจันทร์เสี้ยวยังคงเป็นคำสั่งที่ครอบคลุมมุสลิมทั่วโลก แต่ทุ่งอะเราะฟะฮฺมีแห่งเดียวจึงต้องออกอีดอัล-อัฎหาหลังวันวุกุฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺตามที่นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวไว้ ก็ซักค้านได้ว่า นั่นเป็นกรณีของสถานที่ซึ่งมีแห่งเดียวในโลก แต่การดูจันทร์เสี้ยวเพื่อกำหนดวันเข้าเดือนออกเดือนเป็นคำสั่งที่ครอบคลุมมุสลิมทั่วโลกเป็นเรื่องของเวลาและการนับวันซึ่งไม่ได้ผูกพันอยู่กับสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งตามที่ท่านยึดถือมิใช่หรือ วันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮฺจึงเป็นสิ่งที่ต่างกันได้เพราะเป็นผลมาจากการดูจันทร์เสี้ยวซึ่งเป็นหลักใหญ่


ส่วนการวุกุฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺของบรรดาหุจญาจนั่นเป็นเรื่องของสถานที่และวันที่เป็นผลมาจากการดูจันทร์เสี้ยวของประเทศที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺตั้งอยู่ที่นั่น หรืออาจกล่าวได้ว่า วันที่มีการวุกุฟ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺนั้นมีเพียงวันเดียว แต่วันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮฺซึ่งเรียกว่า วันอะเราะฟะฮฺ อาจจะมีมากกว่า 1 วันก็ได้ เพราะในวันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮฺเป็นการถือศีลอดสุนนะฮฺของมุสลิมทั่วโลกที่ไม่ได้วุกุฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺซึ่งเป็นผลมาจากการดูจันทร์เสี้ยวซึ่งเป็นคำสั่งที่ครอบคลุมทั่วโลก


และการดูจันทร์เสี้ยวของมุสลิมทั่วโลกเพื่อกำหนดวันที่ 1 ซุลหิจญะฮฺ และวันที่ 9 ตลอดจนวันที่ 10 ของเดือนซุลหิจญะฮฺก็เป็นเรื่องของการถือศีลอดสุนนะฮฺ การครองตนโดยไม่ตัดเล็บตัดผมของคนที่เจตนาว่าจะเชือดกุรบ่าน และการละหมาดอีดอัล-อัฎหา มิใช่เป็นการกำหนดวันที่จะทำการวุกุฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ เพราะมุสลิมทั่วโลกในดินแดนอื่นมิได้ประกอบพิธีหัจญ์ และการประกอบพิธีหัจญ์ที่มีการวุกุฟ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺก็เป็นเรื่องของบรรดาหุจญาจที่อยู่ในประเทศซาอุดียฺเป็นกรณีเฉพาะของบรรดาหุจญาจซึ่งไม่มีสุนนะฮฺให้พวกเขาทำการถือศีลอดขณะทำการวุกุฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ


การปฏิบัติศาสนกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบพิธีหัจญ์เป็นเรื่องของบรรดาหุจญาจที่อยู่ในดินแดนที่ถูกกำหนดเป็นการเฉพาะ การ วุกุฟต้องกระทำในเขตของทุ่งอะเราะฟะฮฺ การมะบีตหลังเที่ยงคืนที่ทุ่งมุซดะลิฟะฮฺ การขว้างเสาหินก็กระทำที่ทุ่งมินา การเฏาะวาฟอิฟาเฎาะฮฺและการสะแอย์ก็กระทำที่มัสญิดอัล-หะรอม ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวเป็นเรื่องของบรรดาหุจญาจเท่านั้น ไม่ได้เป็นการปฏิบัติของมุสลิมในดินแดนอื่นๆ ซึ่งมิได้ประกอบพิธีหัจญ์ วันวุกุฟที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ วันอัน-นะหฺร์ (วันอีด-วันเชือด) และวันตัซรีกทั้ง 3 วัน สำหรับบรรดาหุจญาจล้วนแล้วแต่เป็นวันที่บรรดาหุจญาจที่นครมักกะฮฺต้องถือตามการกำหนดของเจ้าของสถานที่คือประเทศซาอุดียฺ ส่วนมุสลิมในดินแดนอื่นก็ยึดหลักการดูจันทร์เสี้ยวเพื่อกำหนดวันในเดือนซุลหิจญะฮฺเพื่อประกอบศาสนกิจอื่นๆ ที่มิใช่การประกอบพิธีหัจญ์ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับการดูจันทร์เสี้ยวของประเทศซาอุดียฺก็ได้


หากค้านว่าไม่ตรงกับประเทศซาอุดียฺไม่ได้และจำเป็นต้องตรงกับเขา ก็ตอบได้ว่านั่นเป็นกรณีของคนที่ประเทศซาอุดียฺโดยเฉพาะคนที่ประกอบพิธีหัจญ์ คนมุสลิมในประเทศอื่นไม่ได้ประกอบพิธีหัจญ์ในบ้านเมืองอื่นเสียหน่อย เรื่องก็จะวนกลับไปยังจุดเดิมที่ถกเถียงกันมานับแต่ต้น เถียงกันไปอย่างนี้ไม่รู้จบ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้จบด้วยการถกเถียง ไม่ได้ยุติด้วยการอ้างหลักฐานมาตอบโต้กัน แต่เรื่องนี้จะจบลงได้และยุติลงได้ด้วยการให้น้ำหนักของผู้นำองค์กรอิสลามในแต่ละประเทศว่าจะถือทัศนะใดจาก 2 ทัศนะที่กล่าวมาคือจะถือการดูจันทร์เสี้ยวทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ หรือจะถือการกำหนดวันวุกุฟของประเทศซาอุดียฺเป็นเกณฑ์ เมื่อผู้นำองค์กรอิสลามในประเทศนั้นๆ ชี้ขาดไปในทางหนึ่งทางใดก็ถือว่าเป็นข้อยุติสำหรับมุสลิมในประเทศนั้นๆ เพราะประเด็นการชี้ขาดของผู้นำองค์กรอิสลามในข้อปัญหาที่เห็นต่างกันเป็นสิ่งที่นักวิชาการเห็นพ้องตรงกันว่านี่คือทางออกของปัญหาที่ถกเถียงกัน


สำหรับกรณีของการออกอีดไม่ตรงกันในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั้น เท่าที่ทราบยังไม่พบว่ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แต่ถ้าถามว่ามีการเห็นจันทร์เสี้ยวใน 2 ดินแดนไม่ตรงกันเคยเกิดขึ้นในสมัยของบรรดาเศาะหาบะฮฺหรือไม่ ก็ตอบได้ว่ามี ดังกรณีที่ถูกระบุไว้ในหะดีษที่อิมามมุสลิม (แลขที่ 1087) บันทึกจากท่านกุรอยบ์ว่า :


"จันทร์เสี้ยวของเราะมะฎอนได้ปรากฏเหนือฉัน โดยฉันอยู่ที่แคว้นชาม ฉันเห็นจันทร์เสี้ยวค่ำของวันศุกร์ ต่อมาฉันได้มุ่งมายังนครมะดีนะฮฺในช่วงท้ายเดือน แล้วอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ก็ถามฉันว่า : เมื่อใดที่พวกท่านเห็นจันทร์เสี้ยว? ฉันกล่าวว่า : พวกเราเห็นจันทร์เสี้ยวในค่ำของวันศุกร์ อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ท่านได้เห็นจันทร์เสี้ยวนั้นหรือ? ฉันตอบว่า : ใช่ และผู้คนก็เห็นจันทร์เสี้ยวนั้น พวกเขาถือศีลอด และท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ก็ถือศีลอด อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) จึงกล่าวว่า : พวกเราทั้งหมดได้เห็นจันทร์เสี้ยวค่ำของวันเสาร์ ดังนั้นเราจะยังคงทำการถือศีลอดจนกระทั่งพวกเราทำให้ครบจำนวน 30 วัน หรือเราจะได้เห็นจันทร์เสี้ยวเสียก่อน ฉันจึงกล่าวว่า :ท่านจะไม่เพียงพอด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยวของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และการถือศีลอดของเขากระนั้นหรือ? อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ไม่ เช่นนี้แหล่ะ ท่านรสูลุลลอฮฺได้ใช้พวกเรา"


นี่คือหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีการเห็นจันทร์เสี้ยวในการเริ่มเดือนเราะมะฎอนไม่ตรงกันของผู้คนซึ่งเป็นเศาะหาบะฮฺในสองดินแดนคือ นครมะดีนะฮฺกับแคว้นชาม ส่วนการออกอีดอัล-ฟิฏร์นั้นอัล-หะดีษไม่ได้ระบุชี้ชัดว่า ชาวเมืองมะดีนะฮฺออกอีดตรงกับพลเมืองในแคว้นชามหรือไม่ แต่ที่ชี้ชัดก็คือท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ไม่ถือตามการเห็นจันทร์เสี้ยวของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และพลเมืองในแคว้นชาม


กรณีของนครมักกะฮฺกับนครมะดีนะฮฺนั้น สองเมืองนี้อยู่ในแคว้นอัล-หิญาซเหมือนกัน เมื่อมีการพิชิตนครมักกะฮฺแล้วในปี ฮ.ศ. ที่ 8 นครมักกะฮฺก็ขึ้นกับนครมะดีนะฮฺซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐอิสลามในสมัยท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และช่วงการปกครองของบรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้ง 4 ท่าน ในบางช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ นครมักกะฮฺถูกแยกออกจากนครมะดีนะฮฺในด้านการปกครอง มีเจ้าเมืองของแต่ละเมือง บางสมัยก็ผนวกรวมเข้าเป็นเขตปกครองเดียวกันโดยถือเอาเมืองมะดีนะฮฺเป็นเขตปกครองที่ขึ้นกับเจ้าเมืองมักกะฮฺ


อย่างไรก็ตามก็ยังไม่พบว่าพลเมืองของนครมักกะฮฺกับนครมะดีนะฮฺออกอีดไม่ตรงกัน เพราะถึงแม้ว่าทั้งสองเมืองนี้จะอยู่ห่างกันและมีเวลาต่างกันประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ก็ถือว่าเป็นเมืองในเขตเดียวกันหรืออยู่ในโซนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นยุคก่อนหรือยุคหลังการสถาปนาประเทศซาอุดียฺอาระเบีย


ส่วนที่มีนักวิชาการในบ้านเราบางท่านอ้างอิงตำรา “วะฟาอุล วะฟา บิอัคบารฺ ดาริลมุศเฏาะฟา” ของท่านนูรุดดีน อะลี อิบนุ อับดิลลาฮฺ อัส-สัมฮูดียฺ (ร.ฮ.) หน้า 318 ว่า หนังสือเล่มนี้ระบุว่าชาวเมืองมักกะฮฺกับมะดีนะฮฺเห็นจันทร์เสี้ยวของเดือนซุลหิจญะฮฺไม่ตรงกัน แล้วก็อ้างว่านี่เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงตามที่หนังสือเล่มนี้ระบุ


เมื่อตรวจดูสำนวนแล้วก็พบว่า ไม่ใช่อย่างที่อ้าง เพราะเนื้อหาดังกล่าวเป็นเรื่องของคำอธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำกล่าวของปวงปราชญ์ (ญุมฮูรฺ อัล-อุละมาอฺ) ที่ว่า ปวงปราชญ์เห็นตรงกันว่า การวุกุฟในหัจญะตุล วะดาอฺเป็นวันศุกร์ วันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺจึงเป็นวันพฤหัสฯ ไม่ว่าจะสมมุติให้เดือนทั้งสามเดือนมีจำนวนเต็ม (30 วัน) หรือว่าจะมีจำนวนพร่อง (29 วัน) หรือบางเดือนเท่านั้น ก็ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องอยู่ดีว่า การเสียชีวิตของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) คือวันจันทร์พร้อมกับวันจันทร์นั้นเป็นวันที่ 12 เราะบีอุลเอาวัล


เพื่อออกจากปัญหานี้ อัล-บาริซียฺจึงได้ตอบว่า เป็นไปได้ว่ามีการเกิดขึ้นของเดือนทั้งสามในสภาพที่มีจำนวนเต็ม และชาวเมืองมักกะฮฺและมะดีนะฮฺมีความขัดแย้งกันในการเห็นจันทร์เสี้ยวของเดือนซุลหิจญะฮฺ ชาวเมืองมักกะฮฺก็เห็นจันทร์เสี้ยวในค่ำของวันพฤหัสฯ แต่ชาวเมืองมะดีนะฮฺยังไม่เห็นจันทร์เสี้ยวยกเว้นในค่ำของวันศุกร์ แล้วการวุกุฟก็เกิดขึ้นตามการเห็นจันทร์เสี้ยวของชาวเมืองมักกะฮฺ ต่อมาชาวเมืองมะดีนะฮฺก็กลับสู่นครมะดีนะฮฺ แล้วพวกเขา (ชาวมะดีนะฮฺ) ก็บันทึกวันเดือนปีตามการเห็นจันทร์เสี้ยวของชาวเมืองมะดีนะฮฺ ดังนั้น จึงปรากฏว่าวันที่ 1 ของซุลหิจญะฮฺคือวันศุกร์ เดือนซุลหิจญะฮฺและเดือนถัดมามีจำนวนเต็ม วันที่ 1 เราะบีอุลเอาวัลจึงเป็นวันพฤหัสฯ และวันที่ 12 ของเราะบีอุลเอาวัลคือวันจันทร์


นี่คือคำตอบและสมมุติฐานของอัล-บาริซียฺ ซึ่งอัส-สัมฮูดียฺเจ้าของหนังสือวะฟาอุวะฟาฯ ระบุว่า (وَلَايَخْفى بُعْدُهَذَاالجَوَاب) “และความห่างไกลของคำตอบนี้ไม่อำพราง” หมายความว่า เป็นที่ชัดเจนว่าคำตอบของอัล-บาริซียฺห่างไกลจากความถูกต้อง


จึงสรุปได้ว่าในหนังสือวะฟาอุลวะฟาฯ มิได้ระบุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นคำตอบและการตีความ (อิหฺติมาล) ของอัล-บาริซียฺ กล่าวคือ การที่ชาวเมืองมักกะฮฺและมะดีนะฮฺเห็นจันทร์เสี้ยวของเดือนซุลหิจญะฮฺไม่ตรงกันนั้นเป็นคำตอบและการตีความของอัล-บาริซียฺ ซึ่งห่างไกลจากความถูกต้องตามที่อัส-สัมฮุดียฺกล่าววิจารณ์เอาไว้ การอ้างข้อความดังกล่าวของอัล-บาริซียฺเพื่อยืนยันว่า เคยเกิดเหตุการณ์ดูจันทร์เสี้ยวไม่ตรงกันของชาวมักกะฮฺกับชาวมะดีนะฮฺ จึงเป็นการคลาดเคลื่อนและไม่น่าจะถูกต้อง และสมควรที่จะต้องกลับไปพิจารณาสำนวนของหนังสือใหม่อีกครั้ง

والله ولي التوفيق