ออกซะกาตก่อนกำหนด  (อ่าน 14751 ครั้ง)

blackjack

  • บุคคลทั่วไป
ออกซะกาตก่อนกำหนด
« เมื่อ: พฤศจิกายน 08, 2014, 09:47:43 am »
 salam

อาจารย์ครับ มีคำถามเกี่ยวกับการออกซะกาต อยากให้อาจารย์ให้ความกระจ่างดังนี้ครับ

1.กำหนดออกซะกาตนี่คือครบ 1 ปี ใช่ไหมครับ? หรือหมายถึงสิ้นสุดปีปฏิทินอิสลาม?
2.หากเงินที่มีครบพิกัดซะกาต แล้วเราก็จ่ายเลยโดยไม่ต้องให้ครบกำหนดปี อยากถามว่าเมื่อสิ้นสุดปีปฏิทินอิสลามแล้วเราต้องจ่ายอีกรอบไหม?
3.เงินซะกาตสามารถมอบให้ครอบครัวที่ยากจน โดยที่พ่อแม่หรือคนในครอบครัวเขาเจ็บป่วยอยู่และไม่มีเงินรักษาได้หรือไม่ครับ หากได้แล้วจะมีเกณท์อะไรในการแยกระหว่างการเศาะดาเกาะฮฺทั่วไปกับการซะกาต หรืออยู่ที่การเจตนา?

ญะซากัลลอฮุคอยรอนท่านอาจารย์ครับ  :)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: ออกซะกาตก่อนกำหนด
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2015, 03:32:30 am »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

1) กำหนดออกซะกาตที่วาญิบออกคือเมื่อครอบครองทรัพย์ถึงอัตราพิกัด (นิศอบ) (ประมาณ 100,000 บาท ขึ้นไป) จนครบรอบปี ส่วนจะหมายถึงสิ้นสุดปีปฏิทินอิสลามหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าการครอบครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (เงิน – ทอง – ธนบัตร) ที่มีอัตราถึงพิกัด (คือ 1 แสนบาทขึ้นไป) นั้นเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด หากเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มุฮัรรอมก็จะครบรอบปีเมื่อถึงวันสุดท้ายของเดือนซุลฮิจญะฮ์ในปีนั้น แต่ถ้าเริ่มนับในวันของเดือนอื่นการครอบรอบปีก็จะไม่ใช่การสิ้นสุดของปีปฏิทินอิสลาม เช่นเริ่มนับตั้งแต่เดือนเราะมะฎอนก็จะครบรอบในวันสุดท้ายของเราะมะฎอนปีถัดไปซึ่งมิใช่เป็นการสิ้นสุดปฏิทินอิสลามเพราะเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ 9 มิใช่เดือนสุดท้ายของปีปฏิทินอิสลาม



2) ในกรณีของซะกาตประเภทที่การครบรอบปี (อัล-เหาวฺล์) เป็นเงื่อนไขเช่น ซะกาตปศุสัตว์ , เงิน-ทองและสินค้า นักวิชาการส่วนมากมีทัศนะว่า เมื่อมีเหตุแห่งการวาญิบต้องออกซะกาต (คือมีพิกัดที่ครบ) ก็อนุญาตให้ออกซะกาตนั้นก่อนที่จะครบรอบปีได้ เป็นทัศนะของอัล-หะสัน อัล-บะเศาะรีย์ , สะอีด อิบนุ ญุบัยร์ , อัซ-ซุฮ์รีย์ , อัล-เอาว์ ซาอีย์ , อบูหะนีฟะฮ์ , อัช-ชาฟิอีย์ , อะห์มัด , อิสหาก และอบูอุบัยด์ (เราะหิมุฮุมุลลอฮ์) (อัล-มุฆนีย์ 2/63)


ส่วนท่านเราะบีอะฮ์ , อิมามมาลิก และดาวูด อัซ-ซอฮิรีย์มีทัศนะว่า ไม่อนุญาตให้ออก ซะกาตก่อนครบรอบปี ไม่ว่าการออกซะกาตก่อนนั้นจะเป็นการออกก่อนครอบครองพิกัด ซะกาตหรือภายหลังก็ตาม (อ้างแล้ว)


ดังนั้น เมื่อผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถึงพิกัด (นิศอบ) ได้ออกซะกาตก่อนครบรอบปีแล้ว ก็ไม่ต้องออกซะกาตอีกเมื่อครบรอบปีหรือเมื่อสิ้นสุดปีปฏิทินอิสลาม เพราะซะกาตประเภทนี้ออกเพียง 1 ครั้งในรอบปีเท่านั้น



3) ได้ครับ เพราะครอบครัวนั้นยากจนจะมีเรื่องค่ารักษาอาการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม และการแยกระหว่างเศาะดะเกาะฮ์ (ทานกุศลกิจ) กับซะกาตนั้นคือพิจารณาถึงที่มาของทรัพย์ที่จ่ายออกมาและเจตนาเป็นตัวกำหนด กล่าวคือ หากทรัพย์นั้นเป็นเงินส่วนอื่นที่นอกเหนือจากทรัพย์ที่ถึงอัตราพิกัดซึ่งจำต้องออกซะกาตเมื่อครบรอบปี การบริจาคทรัพย์จากเงินส่วนอื่นถือเป็นเศาะดะเกาะฮ์ แต่ถ้าประจวบเหมาะกับการครบรอบปีพอดี แล้วเราไม่ได้หักเงิน 2.5% จากกองที่นอนนิ่งอยู่ แต่นำเงินที่ใช้หมุนเวียนในส่วนอื่นออกแทนและมีเจตนาออกเป็นซะกาต เงินที่ออกไปก็ถือเป็นซะกาต


หรืออาจกล่าวได้ว่า ซะกาตเป็นส่วนหนึ่งจากการทำทานเศาะดะเกาะฮ์ที่เป็นวาญิบ แต่การทำทานเศาะดะเกาะฮ์เป็นเรื่องของกุศลกิจอาสา (คือ เศาะดะเกาะฮ์ที่เป็นสุนนะฮ์มิใช่วาญิบ) เศาะดะเกาะฮ์จึงมีนัยกว้างกว่าซะกาต ทุกการจ่ายซะกาตเป็นเศาะดะเกาะฮ์ที่วาญิบ แต่ใช่ว่าทุกการเศาะดะเกาะฮ์ถือเป็นซะกาต

والله أعلم بالصواب