ชาติพันธุ์  (อ่าน 6030 ครั้ง)

Husen

  • บุคคลทั่วไป
ชาติพันธุ์
« เมื่อ: ธันวาคม 04, 2014, 11:32:27 am »
อาจารย์ ที่เคารพครับ
           โลกของเรามีความแตกต่างกัน หนึ่งในความแตกต่างก็คือ ชาติพันธ์...คำถาม
ทำไมโลกของเรามีความหลากหลายทางชาติพันธ์ุ?ทั้งๆที่มนุษย์ทุกคนมาจากบิดาคนเดียวกัน คือศาสดาอดัม
ขอคำตอบจากอาจารย์ด้วยนะครับ...วัสลาม

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: ชาติพันธุ์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 02, 2015, 12:10:17 am »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

ชาติพันธุ์ หมายถึง กลุ่มที่มีพันธะเกี่ยวข้องกัน และที่แสดงเอกลักษณ์ออกมา โดยการผูกพันลักษณาการของเชื้อชาติและสัญชาติเข้าด้วยกัน


ชาติ หมายถึง ประเทศ , ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอย่างเดียวกันหรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน ประชาชาติก็ว่า พันธุ , พันธุ์ หมายถึง พวกพ้อง , พี่น้อง วงศ์วาน , เทือกเถา , เหล่ากอ , พืช


ชาติพันธุ์วิทยา หมายถึง วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการแบ่งเชื้อชาติของมนุษย์ กำเนิดของเชื้อชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติ ตลอดจนลักษณะเฉพาะของเชื้อชาติต่างๆ


เมื่อทราบถึงความหมายของคำว่า ชาติ , พันธุ์ และชาติพันธุ์แล้ว ทีนี้มาดูสิว่า ทำไมโลกของเรามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งๆ ที่มนุษย์ทุกคนมาจากบิดาคนเดียวกัน คือ นบีอาดัม (อ.ล.) คำตอบก็คือ เพราะอาดัม (อ.ล.) มิใช่มนุษย์เพียงคนเดียว ถึงจะได้ไม่มีความหลากหลาย เหตุที่มีความหลากหลายเป็นเพราะอาดัม (อ.ล.) มีบุตรหลายคน อาดัม (อ.ล.) เป็นบิดาของมนุษย์ที่มีหลายคน ความหลากหลายจึงเริ่มขึ้นนับแต่บัดนั้น


อิบนุ อิสหากระบุว่า หะวาอ์ให้กำเนิดบุตรแก่อาดัม (อ.ล.) เป็นชายและหญิงจำนวน 40 คน จากการตั้งครรภ์ 20 ครั้ง โดยการตั้งครรภ์จะเป็นแฝดคู่ชายกับหญิง (ตารีค อัฏ-เฏาะบะรีย์ 1/92) ต่อมาเมื่ออาดัม (อ.ล.) มีอายุได้ 130 ปี หลังเหตุการณ์ที่กอบีลสังหารฮาบีลได้ 5 ปี หะวาอ์ได้ให้กำเนิด ชีษ (شيث) แปลว่า ของขวัญของพระเจ้า แทนฮาบีลที่เสียชีวิตไป และเชื้อสายของมนุษย์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของอาดัม (อ.ล.) ทั้งหมดล้วนสืบถึงนบีชีษ (อ.ล.) เหตุเป็นเพราะเชื้อสายของลูกๆ อาดัม (อ.ล.) คนอื่นๆ นอกจากนบีชีษ (อ.ล.) ต่างสิ้นพงษ์พันธุ์และไม่มีผู้สืบเชื้อสายหลงเหลือในภายหลัง (อ้างแล้ว 1/96)


เผ่าพันธุ์มนุษย์สืบผ่านนบีชีษ (อ.ล.) เรื่อยมาจนถึงสมัยนบีนัวห์ (อ.ล.) นักวิชาการกลุ่มหนึ่งจากชนรุ่นสะลัฟ ศอลิห์ระบุว่า ช่วงเวลาระหว่างอาดัม (อ.ล.) กับนบีนัวห์ (อ.ล.) กินเวลา 10 ศตวรรษ (อ้างแล้ว 1/111) ตลอดช่วงเวลานั้นมนุษย์ถือในศาสนาเดียวกัน และการปฏิเสธได้เริ่มขึ้นในศตวรรษที่นบีนัวห์ (อ.ล.) ถูกส่งมาเป็นศาสนทูต (อ้างแล้ว 1/111) ดังปรากฏในอัลกุรอานว่า


(كان الناسُ أُمَّةً واحدةً فاخْتَلَفُوْا)

ความว่า “มนุษยชาติเคยเป็นประชาคมเดียวกัน (คือถือในศาสนาเดียวกัน) แล้วพวกเขาก็ขัดแย้งกัน (เบี่ยงเบนออกจากศาสนาเดิม)”  (อัล-บะเกาะเราะฮ์ : 213)


แล้วมหาอุทกภัย (ฏูฟาน) ก็เกิดขึ้นล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ ผู้ที่รอดในครั้งนั้นคือ นบีนัวห์ (อ.ล.) ครอบครัวของท่านและผู้ศรัทธาจำนวนไม่เกิน 80 คนตามจำนวนที่มีการรายงานมาสูงสุด (อ้างแล้ว 1/117) คือ ซาม , หาม และยาฟิษพร้อมภรรยาของบุตรชายทั้ง 3 คน และอีกราว 70 กว่าคนจากลูกหลานของนบีชีษ (อ.ล.) บุคคลเกือบทั้งหมดไม่มีลูกหลานสืบสกุล ยกเว้นลูกๆ ของนบีนัวห์ (อ.ล.) เท่านั้น คือ ซาม (سام) ลูกหลานของซามมีทั้งผิวขาวและผิวคล้ำ หาม (حام) ลูกหลานของหามมีผิวดำ และส่วนน้อยมีผิวขาว ยาฟิษ (يافث) ลูกหลานของยาฟิษมีผิวสีน้ำตาลและสีแดง เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ในยุคที่สองนี้ล้วนแล้วแต่สืบเชื้อสายมาจากลูกหลานของนบีนัวห์ (อ.ล.)


ดังปรากฏในอัลกุรอานว่า

وَجَعَلْنَا ذُرِّيَّتَهُ هُمُ الْبَاقِينَ

ความว่า “และเราได้ทำให้ลูกหลานของนัวห์คือพวกเขาที่เหลืออยู่ (อัศ-ศอฟฟาต : 77)


จากบุคคลทั้งสามคือ ซาม , หาม และยาฟิษ มนุษย์จึงมีชาติพันธุ์แตกต่างกันอย่างชัดเจนนับแต่บัดนั้น ทั้งๆ ที่ทั้งหมดสืบกลับไปยังมนุษย์คนแรกคือ อาดัม (อ.ล.)


ดังปรากฏในอัล-กุรอานว่า

يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَاكُم مِّن ذَكَرٍ وَأُنثَىٰ وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوبًا وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُوا ....الآية

ความว่า “โอ้ มนุษยชาติ แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้ามาจากชาย (คือ อาดัม) และหญิง (คือ หะวาอ์) และเราได้ทำให้พวกเจ้าเป็นชาติพันธุ์ต่างๆ และเป็นก๊ก เป็นเผ่าต่างๆ เพื่อที่พวกเจ้าจะได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน....” (อัล-หุญุรอต : 13)


อัล-กุรอานมิได้ปฏิเสธความหลากหลายของชาติพันธุ์ แต่ยอมรับโดยระบุถึงเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นว่าเพื่อให้มนุษยชาติเรียนรู้ และทำความรู้จักถึงความแตกต่างและความหลากหลายในการสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่เริ่มจากชายและหญิงคู่แรก และระบุว่าชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยพระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) แต่ชาติพันธุ์ก็มิใช่สิ่งที่จะตัดสินคุณค่าของมนุษย์แต่อยู่ที่ศีลธรรมและความยำเกรงในพระองค์

والله أعلم بالصواب