“การแสดงละคร หรือ การสร้างภาพยนตร์” ในมุมมองของศาสนาอิสลาม เป็นที่อนุญาต หรือไม่  (อ่าน 7634 ครั้ง)

ฺBinti Umar

  • บุคคลทั่วไป
อัสลามุอะลัยกุม ค่ะ

ดิฉันอยากทราบว่า

“การแสดงละคร หรือ การสร้างภาพยนตร์” ในมุมมองของศาสนาอิสลาม เป็นที่อนุญาต หรือไม่ อย่างไร

ถ้าเป็นการแสดงละคร หรือ การสร้างภาพยนตร์ เพื่อดะวะอฺเผยแพร่ศาสนาอิสลาม จะทำได้หรือไม่

มีขอบเขตหรือประเด็นในการพิจารณา  ว่าได้ หรือ ไม่ได้ อย่างไร

เมื่อลองอ่านจากเว็บลิงค์ด้านล่าง เหมือนจะไม่อนุญาต

แต่ทำไมช่องทีวีของมุสลิมบางช่อง ก็มี การแสดงละคร หรือ สร้างภาพยนตร์ด้วย ค่ะ

เริ่มสับสนแล้วค่ะ

รบกวนท่านอาจารย์อาลี โปรดชี้แนะและให้ความกระจ่างด้วยค่ะ

วัสลาม
-----------------------------

การแสดงละคร ในมุมมองของอิสลาม

https://salafyvanguard.files.wordpress.com/2014/11/e0b8a5e0b8b0e0b884e0b8a3-e0b8a5e0b988e0b8b2e0b8aae0b8b8e0b894.pdf

หัวข้อ: หุก่มของการแสดงเป็นศอฮาบะฮฺในละคร

http://www.fityatulhaq.net/forum/index.php?topic=2143.0

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد

การแสดงละครหรือการสร้างภาพยนต์เป็นสิ่งที่นักวิชาการมีความเห็นต่างกัน หากเป็นการแสดงบทบาทของผู้เป็นนบีหรือเราะสูล หรือเหล่าเศาะหาบะฮฺตลอดจนบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อิสลาม นักวิชาการส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเห็นตรงกันว่าไม่อนุญาตทั้งนี้เพื่อปิดหนทางที่จะนำไปสู่สิ่งที่เสียหาย (สัดดัน ลิซซะรออิอฺ)


แต่ถ้าเป็นการแสดงบทบาทสมมุติของบุคคลอื่นๆ ที่มิใช่บุคคลที่กล่าวมา นักวิชาการฝ่ายหนึ่งก็ยังคงทัศนะเดิมไว้ คือ ไม่อนุญาต แต่นักวิชาการอีกฝ่ายหนึ่งมีทัศนะว่า เรื่องนี้ต้องแยกแยะประเด็น คือมีทั้งที่อนุญาตและไม่อนุญาต กล่าวคือ ถ้าเป็นการแสดงบทบาทสมมุติของบุคคลที่ไม่ใช่นบีและเราะสูล ไม่ใช่เศาะหาบะฮฺ และมีเนื้อหาที่ไม่ขัดหลักการศาสนาหรือบทที่ขัดต่อหลักการของศาสนาก็เป็นที่อนุญาต โดยเฉพาะการแสดงละครในเชิงศาสนาหรือการดะอฺวะฮฺ ถือตามหลักเกณฑ์ทางนิติศาสตร์ที่ว่า

(لِكُلِّ ألوسَائِلِ حُكْمُ الْمَقَاصِدِ)

“สำหรับทุกสิ่งนั้นมีข้อชี้ขาดของเจตนารมณ์ที่มุ่งหมาย”


กล่าวคือ การแสดงละครหรือการสร้างภาพยนต์ถือเป็นสื่ออย่างหนึ่งในการสื่อสาร บอกกล่าว และเผยแผ่เรื่องราวของมุสลิมตลอดจนหลักคำสอนของศาสนาแก่ผู้ชม เมื่อการใช้สื่อมีเป้าหมายและเจตนารมณ์ที่ไม่ขัดต่อหลักการของศาสนาและเป็นสิ่งที่ดี ก็ย่อมมีข้อชี้ขาดว่าอนุญาตและเป็นสิ่งที่ดี


ดังนั้นหากเนื้อหาของบทละครหรือบทภาพยนต์เป็นเนื้อหาที่ดี นักแสดงก็แสดงตามบทโดยไม่ผิดเพี้ยน ไม่เสียหาย ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และมีเป้าหมายในการสะท้อนความจริง เผยแผ่หลักคำสอน บทเรียนชีวิต ให้ข้อคิด ก็ย่อมเป็นสิ่งที่อนุญาต แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนั้น เช่น บทละครหรือบทภาพยนต์มีสิ่งที่ขัดต่อหลักคำสอนมีการบิดเบือน และมีเป้าหมายในทางที่ไม่ดี เช่น ล้อเลียน ดูถูกดูแคลน มีการสร้างความเข้าใจผิด หรือเป็นเรื่องเกินจริง หรืออะไรทำนองนี้ ก็ถือว่าไม่อนุญาต



ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าการแสดงละครหรือการสร้างภาพยนต์นั้นมีทั้งอนุญาตและไม่อนุญาต มีทั้งคุณประโยชน์และโทษ ฝ่ายที่มองเห็นว่ามีคุณประโยชน์ก็ย่อมอนุญาตตามขอบเขตและกรอบที่กล่าวมา ฝ่ายที่มองเห็นว่ามีโทษมากกว่าคุณประโยชน์ก็ไม่อนุญาตและถือเป็นสิ่งต้องห้ามโดยถือหลักที่ว่า

(دَرْءُالْمَفَاسِدِقَبْلَ جَلْبِ الْمَنَافِعِ)

“การปัดป้องเหตุแห่งความเสียหายมาก่อนการนำพาประโยชน์”


ซึ่งนักวิชาการฝ่ายนี้ก็มีมุมมองตามเนื้อหาของบทความจากเวบลิงค์ที่ให้มา ส่วนที่มีทีวีมุสลิมบางช่องมีการแสดงละครหรือสร้างภาพยนต์นั่นก็คงเป็นการถือตามมุมมองของนักวิชาการฝ่ายที่อนุญาตดังที่กล่าวมาข้างต้น ความเห็นต่างหรือมุมมองที่ต่างกันของนักวิชาการในเรื่องทำนองนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ผู้ใดที่เห็นด้วยกับทัศนะของฝ่ายหนึ่งก็ถือตามทัศนะนั้น ทัศนะก็คือการมองเห็นหรือมุมมอง ซึ่งเป็นปกติธรรมดาที่ว่าเมื่อจุดยืนต่างกัน ภาวะการมองเห็นต่างกัน มองคนละมุม เข้าใจคนละอย่างก็ย่อมมีผลลัพธ์จากทัศนะและมุมมองตลอดจนจุดยืนต่างกัน หากเข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่ว่านี้ก็จะไม่มีความสับสนในเรื่องนี้แต่อย่างใด

والله اعلم بالصواب