การเรียกคนอื่นว่ามะ/ป๋า  (อ่าน 6515 ครั้ง)

Abu Abdullah

  • บุคคลทั่วไป
การเรียกคนอื่นว่ามะ/ป๋า
« เมื่อ: กันยายน 25, 2015, 08:58:58 pm »
อัสลามุอลัยกุมครับอาจารย์
การเรียกคนอื่นว่ามะ/ป๋า (แม่/พ่อของเพื่อน) หรือการใช้คำว่า "ลูก" ต่อท้ายประโยคเวลาคุยกับเด็กหรือคนที่อายุน้อยกว่า ตามหลักการอิสลามมีการอนุญาติหรือมีคำสั่งห้ามยังไงบ้างครับ  ญะซากุมุ้ลลอฮุค็อยร็อนครับ

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re: การเรียกคนอื่นว่ามะ/ป๋า
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 10, 2015, 10:47:56 pm »
وعليكم السلام ورحمة الله وبركاته
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد


ในเศาะฮีหฺมุสลิม มีรายงานจากท่านอะนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) ว่า 

قال ليْ رسولُ اللهِ عليه وسلم : يا بُنَيَّ

ความว่า “ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวแก่ฉันว่า “โอ้ ลูกน้อยของฉัน” 
(เศาะฮีหฺมุสลิม บิชัรหิอัน-นะวาวียฺ 14/129 ) 


และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวกับอัล-มุฆีเราะฮฺ อิบนุ ชุอฺบะฮฺ (ร.ฎ.) ที่ถามถึงเรื่องของอัด-ดัจญาลว่า (أَيْ بُنَيَّ)“โอ้ ลูกน้อยยของฉัน” (อ้างแล้ว 14/130 )


อิมาม อัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า  “ในอัล-หะดีษ 2 บทนี้มีการอนุญาตให้บุคคลกล่าวแก่ผู้ที่มิใช่ลูก (จริงๆ) ของตน ซึ่งมีอายุน้อยกว่าบุคคลนั้นว่า  (يَا ابْنِيْ) “โอ้ ลูกของฉัน”  และ(يا بُنَيَّ) “โอ้ลูกน้อยของฉัน” เป็นคำนามมุศ็อฆฆ็อร และคำว่า (ياوَلَدِيْ)“โอ้ ลูกของฉัน” โดยความหมายของคำเรียกขานนั้นเป็นการแสดงความเอ็นดูว่า “แท้จริงท่าน ณ ที่ฉันมีสถานะเป็นลูกของฉันในเรื่องความสงสาร”


ในทำนองเดียวกันนี้ก็จะถูกกล่าวแก่บุคคลที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับผู้พูดว่า (يا أَخِيْ) “โอ้ พี่น้องของฉัน” ตามความหมายที่เราได้กล่าวมาแล้ว และเมื่อผู้พูดมีเจตนาแสดงความเอ็นดู-สงสารก็ถือเป็นเรื่องที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) ดังเช่นที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กระทำไว้”


อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) อธิบายเรื่องนี้ภายใต้หัวข้อ : บทที่ว่าด้วยการอนุญาตให้บุคคลกล่าวกับผู้อื่นที่มิใช่บุตรของตนว่า “โอ้ ลูกน้อยของฉัน” และเป็นที่ส่งเสริมสำหรับกรณีที่กล่าวเพื่อแสดงความเอ็นดู-สงสาร” (อ้างแล้ว 14/129 )


เมื่ออนุญาตให้บุคคลกล่าวหรือเรียกขานบุคคลที่มีอายุน้อยกว่าว่าลูกหรือลูกน้อย ทั้งๆ ที่ผู้นั้นมิใช่ลูกจริงๆ ของผู้ที่เรียก และอนุญาตให้เรียกผู้ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันว่า พี่ชาย หรือ พี่น้อง ทั้งๆ ที่ผู้นั้นมิใช่พี่น้องโดยเชื้อสายโลหิต โดยมีเจตนาในการเรียกขานถึงความเอ็นดู-สงสาร (ตะลัฏฏุฟ) และความเป็นกันเอง (ตะอัลลุฟ) ก็ย่อมเข้าใจได้ว่า เป็นที่อนุญาตในการเรียกผู้ที่สูงอายุกว่า ว่า “ลุง” “น้า” “ป้า” “มะ” “ป๋า” “เยาะฮฺ” “โต๊ะ” หรือ “กี” หรือ “แชร์” โดยมีเจตนาในการให้เกียรติ (ตะกัรรุม , อิกรอม) ได้ ทั้งๆ ที่บุคคลดังกล่าวใช่ญาติโดยสายเลือด 


เพราะถ้อยคำที่ใช้เรียกขานดังกล่าวมิได้ถูกมุ่งหมายถึงการอ้างเชื้อสาย (อินติสาบ-นะสับ) แต่เป็นสำนวนที่ออกจากความหมายแท้ทางมูลภาษาเรียกว่า “มะญาซ” โดยมีเป้าหมายในการให้เกียรติยกย่องเป็นสิ่งที่ผันความหมายของคำไปยังความหมายอื่น ที่มิใช่ความหมายแท้เรียกว่า เกาะรีนะฮฺ


ดังนั้นการเรียกคนอื่นที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับแม่หรือพ่อของตนว่า มะ-ป๋า ทั้งๆ ที่ไม่ใช่มะ-ป๋าของตนจริงๆ จึงเป็นที่อนุญาตโดยมีเงื่อนไขในการมุ่งหมายให้เกียรติเป็นตัวกำหนด และการเรียกผู้อื่นว่า มะ-ป่า , ลูกก็ไม่เข้าอยู่ในข้อห้ามของ  หะดีษที่ระบุว่า

مَنْ ادَّعى إلى غَيْرِأَبِيْهِ وَهُوَيَعْلَمُ أَنَّهُ غَيْرُأَبِيْهِ , فَالْجَنَّةُعَلَيْهِ حَرَامٌ

ความว่า “บุคคลใดกล่าวอ้างเชื้อสายโลหิตไปยังผู้อื่นที่มิใช่บิดาของเขาโดยที่เขาผู้นั้นรู้ดีว่าผู้ที่ถูกอ้างมิใช่บิดาของตน สวรรค์ก็เป็นที่ต้องห้ามเหนือผู้นั้นแล้ว” (อัล-บุคอรียฺ 5326 ,4327 , มุสลิม 63)  เพราะประโยคที่ว่า (ادَّعى) หมายถึง (انْتَسَبَ كَاذِبًا)  “อ้างเชื้อสายโลหิตโดยมุสา” (มุซฮะตุลมุต-ตกีน ชัรหุ ริยาฎิศ-ศอลิหิน หน้า 653 )


หะดีษบทนี้ระบุในเรื่องห้ามการอ้างเชื้อสายโลหิตไปยังผู้อื่นที่มิใช่บิดาของตน เป็นคนละกรณีกับการเรียกขานที่ถามมาด้วยถ้อยคำที่เป็นสำนวนในเชิงแสดงความเอ็นดู-สงสาร ความเป็นกันเองและการให้เกียรติซึ่งมิใช่เป็นการอ้างถึงความเป็น พ่อ แม่ ลูก ในด้านเชื้อสายโลหิต

والله اعلم بالصواب