มายัด (การวางมัยยิตขณะละหมาดหรือการฝัง, อ่านตัลกีนขณะกำลังฝัง, ผลบุญของการละหมาดคนตาย)  (อ่าน 20023 ครั้ง)

muhammad

  • บุคคลทั่วไป
salamครับ  ท่านอ.อาลี เสือสมิง คือการวางมายัดขณะละหมาด หรือการฝัง มีข้อแตกต่างระหว่างผู้ชาย กับผู้หญิง หรือเปล่าครับ  ถ้ามี ช่วยบอกด้วยน่ะครับ และขณะที่กำลังฝัง สามารถอ่านตัลกีนได้ไหมครับ แล้วการละหมาดคนตายมีผลบุญมากขนาดไหนครับ
 ขอบคุณมากๆน่ะครับ
วัสสลาม

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
وعليكم السلام ورحمة الله و بركاته
      الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛   

ขณะจะละหมาดญะนาซะฮฺนั้น ให้วางมัยยิตไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงด้านหน้าอิหม่ามที่จะนำละหมาด (คือวางทางทิศกิบละฮฺ) ในกรณีที่มีมัยยิตเดียว ทั้งนี้มีสุนนะฮฺให้อิหม่าม (หรือผู้ที่ละหมาดญะนะซะฮฺคนเดียว) ยืนตรงบริเวณสะโพกของมัยยิตหญิงโดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺ


ส่วนมัยยิตผู้ชายนั้นมี 2 แนวทางที่ถูกต้อง (เศาะฮีหฺ) และเป็นคำกล่าวของอัศหาบุชชาฟีอียะฮฺรุ่นก่อน คือให้อิหม่ามยืนตรงบริเวณศีรษะของมัยยิตชาย ส่วนแนวทางที่ 2 นั้นเป็นการเลือกของอิหม่าม อัล-หะเราะมัยนฺ , อัล-เฆาะซาลียฺ และอัส-สัรคอสียฺ ชี้ขาดเอาไว้คือให้ยืนตรงบริเวณหน้าอกของมัยยิตชาย


แต่ถ้าอิหม่ามไม่ยืนตรงบริเวณที่มีสุนนะฮฺระบุหรือยืนสลับที่กันตามที่สุนนะฮฺระบุ เช่น ยืนตรงศีรษะของมัยยิตหญิง หรือยืนตรงบริเวณสะโพกของมัยยิตชายก็ถือว่าการละหมาดนั้นใช้ได้ แต่ค้านกับสุนนะฮฺ (กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 5 หน้า 183)


กรณีที่ว่ามานี้ คือตำแหน่งการยืนของอิหม่าม ส่วนการวางศีรษะของมัยยิตนั้นถ้าเป็นชายให้วางศีรษะทางด้านซ้ายของอิหม่าม ทั้งนี้เพื่อให้ร่างของมัยยิตส่วนใหญ่อยู่ทางขวาของอิหม่ามในเวลาละหมาดญะนาซะฮฺ ถ้าเป็นหญิงก็ให้วางศีรษะของมัยยิตทางด้านขวาของอิหม่าม (บินญัยริมียฺ อะลัล เคาะฏีบ เล่มที่ 2 หน้า 247)


ซึ่งกรณีทางการวางศีรษะมัยยิตที่ต่างกันระหว่างชายหญิงนี้เป็นเพียงทัศนะของนักวิชาการที่ไม่มีตัวบทระบุเอาไว้ หากจะวางศีรษะของมัยยิตทั้งชายและญิงทางด้านขวาของอิหม่ามเหมือนกันก็ไม่มีปัญหาต่อการเศาะหฺละหมาดญะนาซะฮฺแต่อย่างใด ในบางมัสญิดมีเรื่องมีราวกันจนเกิดปัญหาในเรื่องการวางมัยยิตชายและหญิงอยู่บ่อยครั้ง จึงเป็นสิ่งที่ผู้รู้สมควรทำความเข้าใจในระหว่างมุสลิมว่าเรื่องนี้เปิดกว้าง ไม่ใช่เรื่องบิดอะฮฺที่ทำแล้วจะเกิดโทษ


ส่วนกรณีมีมัยยิตมากกว่าหนึ่งนั้น ถ้าถือตามมัซฮับก็ให้ละหมาดญะนาซะฮฺทีละมัยยิตเป็นสิ่งที่อัฟฎ้อล (ประเสริฐกว่า) ก็ให้วางมัยยิตตามลักษณะที่ว่ามา ส่วนถ้าจะละหมาดมัยยิตที่มีมากกว่าหนึ่งรวดเดียวเลย ซึ่งเจ้าของตำราอัต-ตะติมะฮฺถือว่าเป็นสิ่งที่อัฟฎ้อล


ก็ให้พิจารณาว่าถ้าหลายมัยยิตนั้นเป็นเพศเดียวกัน ตามแนวทางที่ถูกต้องที่สุดในมัซฮับคือให้วางมัยยิตทั้งหมดข้างหน้าอิหม่ามโดยเรียงถัดกันไป (เป็นแถวตอน) เพื่อให้อิหม่ามอยู่ตรงกับบริเวณที่มีสุนนะฮฺให้อิหม่ามยืนตรงกับอัวัยวะส่วนนั้นของมัยยิตทั้งหมด


ส่วนแนวทางที่ 2 ซึ่งนักวิชาการสังกัดมัซอับอัช-ชาฟีอียฺส่วนมากในแคว้นคุรอสานเล่าเอาไว้มี 2 ทัศนะ ทัศนะที่ 1 เหมือนกับแนวทางแรก ทัศนะที่ 2 ซึ่งอิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺกล่าวเอาไว้คือให้วางมัยยิตทั้งหมดเรียงเป็นแถวกระดานเรียงหนึ่งข้างหน้าอิหม่ามโดยมัยยิตแต่ละมัยยิตจะอยู่ต่อจากปลายเท้าของอีกมัยยิตหนึ่ง และให้อิหม่ามยืนตรงกับมัยยิตสุดท้ายโดยมัยยิตที่เหลืออยู่ทางขวาของอิหม่าม


ส่วนถ้ามัยยิตที่เพศต่างกัน (คือมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง) กรณีนี้ให้ถือตามแนวทางแรก คือวางเรียงแบบแถวตอน ประเด็นต่อมาคือ เมื่อวางมัยยิตแบบแถวตอน จะเอามัยยิตใดเป็นมัยยิตที่หนึ่งซึ่งตั้งวางอยู่ใกล้กับอิหม่ามที่สุด ก็ให้ดูว่า ถ้ามัยยิตทั้งหมดเป็นคนละเพศกัน ก็ให้วางมัยยิตเพศชายใกล้อิหม่าม ถัดไปเป็นมัยยิตเด็ก ถัดไปเป็นกระเทย และถัดไปเป็นมัยยิตผู้หญิงแต่ถ้ามัยยิตทั้งหมดเป็นเพศเดียวกันก็ให้วางมัยยิตที่มีความประเสริฐมากที่สุดใกล้อิหม่าม ที่เหลือก็วางอยู่ถัดไป (อ้างแล้ว 5/184)


ส่วนการวางมัยยิตในหลุมขณะทำการฝังนั้น นักวิชาการเห็นพ้องกันให้วางมัยยิตนอนตะแคงลงบนซีก (สีข้าง) ขวาโดยถือเป็นสิ่งที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) และวาญิบให้วางมัยยิตหันหน้าไปทางทิศกิบละฮฺตามมัซฮับอัช-ชาฟีอียฮฺ ทั้งนี้ไม่ว่ามัยยิตนั้นจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม (อ้างแล้ว 5/252)


และตำแหน่งของอ่านตัลกีนหรือแม้กระทั่งการตัษบีตนั้นคือ ภายหลังการฝังมัยยิตแล้ว และที่เรียกว่าเป็นการฝังเสร็จคือ  เมื่อกลบหลุมจนถึงพื้นกุโบร์ด้านบน (หมายถึงกลบดินจนเต็มปากหลุมเสมอพื้นดินที่คนยืนอยู่เป็นอย่างน้อย)


ดังนั้น ในขณะที่กำลังฝังมัยยิตจึงไม่มีตำแหน่งของการอ่านตัลกีนหรือตัษบีต เพราะตำแหน่งของ 2 ประเภทนี้คือภายหลังฝังกลบหลุมเสร็จแล้ว แต่ที่ถามมาเป็นช่วงขณะกลบหลุมซึ่งยังไม่เสร็จ อนึ่งการอ่านดุอาอฺที่กระทำกันภายหลังหย่อนมัยยิตลงก้นหลุมนั้นเป็นเพียงดุอาอฺที่ควรอ่านในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นการตัษบีตที่มีสุนนะฮฺให้กระทำตามที่มีรายงานมาเพราะการตัษบีตมีตำแหน่งภายหลังการฝังกลบหลุมเสร็จแล้ว ดังนั้นการตัษบีตที่เรียกกันว่า “ตัษบีตปากหลุม” จึงเป็นเพียงการขอดุอาอฺขณะกำลังฝังกลบ มิใช่ตัษบีตสุนนะฮฺที่มีตัวบทรายงานมา


ผลบุญของการละหมาดญะนาซะฮฺนั้น หากผู้กระทำมีความบริสุทธิ์ใจและกระทำการละหมาดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ศาสนากำหนด จะมีผลบุญมหาศาลซึ่งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม) เทียบกับภูเขาขนาดใหญ่หรือภูเขาอุหุดที่นครมะดีนะฮฺหรือใหญ่กว่า โดยในอัล-หะดีษเรียกผลบุญนี้ว่า กีรอฏ (قِيْرَاطٌ)  


ทั้งนี้ผู้ร่วมละหมาดญะนาซะฮฺเพียงอย่างเดียวจะได้ผลบุญ 1 กีรอฏ แต่ถ้าร่วมละหมาดด้วยจนกระทั่งฝังเสร็จจะได้ 2 กีรอฏ ตามที่มีระบุไว้ในคำอธิบายของอิหม่ามอัน-นะวาวียฺใน ชัรหุ้เศาะฮีหฺ มุสลิม


والله أعلم بالصواب