การเก็บซะกาตทรัพย์สินจากธนบัตรในอัตราเกินกว่าร้อยละ 2.5 เป็นบิดอะฮฺหรือไม่  (อ่าน 4195 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
การเก็บซะกาตทรัพย์สินจากธนบัตรในอัตราเกินกว่าร้อยละ  2.5 ... ไม่ว่าก่อนหรือหลังครบรอบปี เป็นบิดอะฮฺหรือไม่

ถามโดย แสวงหา
« เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2009, 12:25:28 AM »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

ประเด็นของคำถามต้องแยกออกเป็น  2  ส่วนคือ

1. กรณีของธนบัตรนั้นจำเป็นต้องออกซะกาตหรือไม่?  เนื่องจากธนบัตรไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อนในสมัยของยุคต้นอิสลาม  แต่ในปัจจุบันธนบัตรกลายเป็นหลักพื้นฐานในการทำธุรกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ของผู้คนไปแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นราคาของสิ่งต่าง ๆ ,  ต้นทุน  และการซื้อขายตลอดจนการจ่ายเงินเดือน  ค่าจ้าง  และสิ่งตอบแทนเป็นธนบัตรทั้งสิ้น  


ในปัจจุบันไม่มีการใช้ทองคำและเงินในการทำธุรกรรมโดยทั่วไป  จึงกล่าวได้ว่า  ธนบัตรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่และเป็นบิดอะฮฺทางภาษา  (بدعة لغوية)  ซึ่งหมายถึงเรื่องที่เป็นของใหม่  ไม่เคยมีมาก่อนในยุคต้นอิสลาม  เมื่อเป็นบิดอะฮฺทางภาษาซึ่งเป็นเรื่องทางโลก  ไม่เกี่ยวกับบิดอะฮฺทางศาสนา  เรื่องที่ต้องพิจารณาก็คือจำเป็นต้องออกซะกาตในธนบัตรที่เป็นทรัพย์สินในครอบครองเมื่อถึงอัตราพิกัด  (นิซอบ)  หรือไม่  นักวิชาการที่เป็นปวงปราชญ์  เช่น  มัซฮับฮะนะฟีย์,  มาลิกีย์  และฮัมบาลีย์  และชาฟิอีย์บางส่วนเห็นพ้องกันว่า  จำเป็นต้องออกซะกาตในธนบัตรนั้น  โดยให้ใช้อัตราพิกัด  (นิซอบ)  ของทองคำเป็นหลัก  โดยอัตราที่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตก็คือ  2.5%  นั่นเอง


2. เมื่อทราบแล้วว่า  จำเป็นต้องออกซะกาตในธนบัตรในอัตรา  2.5%  เมื่อครบเงื่อนไขที่ศาสนากำหนดไว้  (เช่น  มีกรรมสิทธิ์ครอบครองโดยสมบูรณ์,  ถึงอัตราพิกัด,  และครบรอบปี  เป็นต้น)  ก็ถามว่า  การเก็บซะกาตทรัพย์สินจากธนบัตรในอัตราเกินกว่า  2.5%  ไม่ว่าก่อนหรือหลังครบรอบปีทำได้หรือไม่?  


เกี่ยวกับเรื่องนี้  เคยมีนักวิชาการร่วมสมัยบางคนคิดเหมือนกัน  แต่นักวิชาการดังกล่าวก็มิใช่ผู้ชำนาญการทางด้านอิสลามศึกษา  เช่น  ดร.ฟัฎลุรเราะฮฺมาน  ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานสภาวิจัยอิสลามแห่งปากีสถานในสมัยประธานาธิบดีอัยยูบ  ข่าน  ซึ่งบุคคลผู้นี้เรียกร้องว่ามีความจำเป็นต้องเพี่มอัตราของซะกาตในปัจจุบัน  ข้อเรียกร้องนี้ได้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันขนานใหญ่ในปากีสถาน  มีบรรดานักวิชาการเป็นอันมากได้ตอบโต้และถือว่าเป็นความเห็นที่ผิดพลาด  


เหตุผลส่วนหนึ่งที่นักวิชาการที่อาจหาญกลุ่มนี้กล่าวก็คือ  อัตราของซะกาตที่เป็นที่รู้กันในอิสลามไม่อาจพอเพียงต่อการตอบสนองความต้องการของสังคมในทุกวันนี้  เนื่องจากต้องเผชิญกับสภาพทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา  จึงจำเป็นต้องกลับไปทบทวนถึงความเป็นไปได้ในการที่รัฐบาลในปัจจุบันจะเพิ่มอัตราสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ตามสภาพและสถานการณ์  


ดร.ยูซุฟ  อัลกอรฎอวีย์  ได้ระบุว่าความเห็นเช่นนี้เป็นสิ่งที่ถูกค้านและไม่อาจยอมรับได้  เนื่องจากมีหลักฐานดังนี้

1) ขัดกับตัวบทที่ชัดเจนและแน่นอน  ซึ่งมีรายงานมาจากซุนนะฮฺของท่านร่อซู้ล  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ตลอดจนแนวทางของบรรดาสะลัฟซอลิฮฺ


2) ค้านกับมติเห็นพ้อง  (อิจญ์มาอฺ)  ของประชาชาติอิสลาม  ซึ่งตลอดระยะเวลา  14  ศตวรรษที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงผูกพันทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองมาโดยตลอด  ในบางยุคสมัยมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณอย่างยิ่งยวดถึงขั้นวิกฤติ  แต่กระนั้นก็ไม่มีนักวิชาการท่านใดเลยที่กล่าวว่าอนุญาตให้เพิ่มอัตราเปอร์เซ็นต์ของซะกาต


3) กลุ่มนักวิชาการสังกัดมัซฮับฮะนะฟีย์ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปิดกว้างที่สุดในการใช้หลักกิยาส  ก็ยังมีความเห็นพ้องกันว่า  การกิยาสจะนำมาใช้ในเรื่องการกำหนดอัตราของการจ่ายซะกาตไม่ได้  เพราะการกำหนดในเรื่องนี้เป็นสิทธิของผู้วางบัญญัติเท่านั้น  และการกำหนดนี้ก็สิ้นสุดลงแล้ว


4) ซะกาตเป็นภารกิจทางศาสนาซึ่งมีลักษณะตายตัว  มั่นคงและเป็นหนึ่งเดียว  ถ้าหากการเพิ่มการลดเข้ามามีส่วนก็แสดงว่ามีการยกเลิกได้  ซึ่งหลักการเช่นซะกาตจะไม่เป็นเช่นนั้น  เพราะเป็นหลักโครงสร้างสำคัญของศาสนาที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสถานที่  (ดูฟิกฮุซซะกาต  ;  ดร.ยูซุฟ  อัลกอรฎอวีย์  เล่มที่  1  หน้า  266-268)


ดังนั้นการจัดเก็บซะกาตโดยองค์กรหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในอัตราเกินกว่าที่ศาสนากำหนดจึงเป็นสิ่งที่กระทำมิได้และถือว่าเข้าข่ายเป็นบิดอะฮฺ  มุฮัรร่อมะฮฺคืออุตริกรรมที่ต้องห้าม  

ส่วนในกรณีของผู้จ่ายซะกาตมีความสมัครใจที่จะออกซะกาตเกินกว่าที่ศาสนากำหนดในอัตราที่วาญิบเอาไว้  กล่าวคือ  ออกซะกาตเกินกว่า  2.5%  หรือเกินกว่า  1  ซออฺหรือออกซะกาตเป็นสัตว์ที่มีคุณสมบัติดีกว่า  กรณีนี้เป็นสิ่งที่ทำได้  และถือเป็นกุศลที่ศาสนาส่งเสริม  (ดูอ้างแล้ว  เล่มที่  2  หน้า  995-996)


والله أعلم بالصواب