เงิน สสส อีกครั้งครับ ด่วน  (อ่าน 2813 ครั้ง)

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
เงิน สสส อีกครั้งครับ ด่วน
« เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2010, 02:43:04 pm »
หลักฐานต่อไปนี้เป็น พระราชบัญญัติ
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๔๔

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
เป็นปีที่ ๕๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

มาตรา ๑๐ กองทุนมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และรายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน
มาตรา ๑๒ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บและส่งเงินบำรุงกองทุน
                (๑) ให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเป็นผู้ดำเนินการเรียกเก็บเงินบำรุงกองทุน เพื่อนำส่งเป็นรายได้ของกองทุน โดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด
ซึ่ง กรณีงบจาก สสส ไม่เข้าอยู่ในงบประมาณแผ่นดินใช่หรือไม่ครับ ซึ่งมาจากภาษี สุรา และยาสูบโดยตรง โดยไม่เข้าอยู่ในงบประมาณแผ่นดิน แล้วเรามาใช้ได้หรือไม่ครับ แล้วที่เป็นงบประมาณแผ่นดินนั้นเรามาใช้ได้หรือไม่ครับ และอยากให้อาจารย์อธิบายให้หน่อยครับดังข้อความดังต่อไปนี้
ในฮาชีญะตุ ลบิเญรมี(มัซฮับชาฟิอียฺ) [4] มีคำกล่าวว่า สำหรับอัลอะการิอฺ(อาหารชนิดหนึ่ง)ที่ถูกเก็บเป็นภาษีในปัจจุบันนี้(สมัย ท่านบิเญรมี) ทัศนะที่เที่ยงธรรมคือต้องห้าม(เป็นหะรอม) และในหนังสืออัลอัชบาฮุวันนะซออิรุ ฟีเกาะวาอิดิ วะฟุรูอิ ฟิกฮิชชาฟิอียะติ ของอิมามสะยูฏียฺ หน้า 105 ท่านอิมามสะยูฏียฺได้ระบุกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการวินิจฉัยให้คำตัดสินสำหรับผู้ วินิจฉัย ซึ่งมีสำนวนว่า อิซัจตะมะอะ อัลหะลาลุวัลหะรอมุ ฆอละบัลหะรอม หมายความว่า ถ้าทรัพย์สินหะล้าลรวมกับทรัพย์สินหะรอม ทรัพย์สินหะรอมจะมีน้ำหนักมากกว่า...
อยากทราบว่างบประมาณแผ่นดินเข้าอยู่ในข้อความดังกล่าวหรือไม่ครับ อยากให้อาจารย์อธิบายไว้เป็นวิทยาทานครับ
ญาซากัลลอฮ์ ขออัลลอฮฺทรงตอบแทน

ถามโดย ผู้แสวงหา
« เมื่อ: กันยายน 13, 2009, 01:51:41 PM »

อาลี เสือสมิง

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2179
Re:เงิน สสส อีกครั้งครับ ด่วน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2010, 02:43:38 pm »
الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد...؛

ถึงแม้  พรบ.  จะระบุไว้ในมาตรา  12 (1)  ว่ากรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร  ไม่ต้องนำส่งเงินที่เรียกเก็บยังกระทรวงการคลัง  ก็ตาม  แต่กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรก็มีรายได้ที่จัดเก็บจากสิ่งที่หะล้าลอีกเป็นจำนวนมาก  มิได้จัดเก็บเฉพาะภาษีสุราและบุหรี่เพียงอย่างเดียว  ประเด็นจึงอยู่ตรงที่ว่า  เมื่อทรัพย์สินที่หะล้าลปนเปกับทรัพย์สินที่หะรอม  มีข้อชี้ขาดอย่างไร?  


อย่างภาษีที่อยู่ในกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรให้นำส่งเป็นรายได้ของกองทุน  (เช่น  สสส.)  ก็มีทั้งภาษีที่หะล้าลและภาษีที่หะรอมซึ่งยากในการจำแนกแยกแยะภาษีอันมาจากแหล่งรายได้ที่ต้องห้ามออกจากภาษีที่มีที่มาจากแหล่งรายได้ที่อนุญาต  นักวิชาการได้พูดถึง  เรื่องการผสมปนเปของสิ่งที่ต้องห้ามกับสิ่งที่อนุญาตในกรณีของเงินตรา  (อันนุกู๊ด)  ว่า  เหรียญเงิน  (ดิรฮัม)  นั้นจะถูกเจาะจงด้วยการกำหนดเจาะจงหรือไม่ถูกเจาะจงหรือถูกเจาะจงด้วยการครอบครอง  (อัล-ก็อบฎ์)  


ฝ่ายอัลมาลิกียะฮฺ, อัชชาฟิอียะฮฺและอัลฮะนาบิละฮฺ  มีความเห็นว่า  เหรียญดิรฮัมจะถูกเจาะจงด้วยการกำหนดเจาะจง  ไม่อนุญาตให้แทน  (คือตัวเงินอันไหนถูกเจาะจงเอาไว้ก็ต้องเอาอันนั้น  จะเอาอันอื่นมาแทนไม่ได้)  และในริวายะฮฺหนึ่งของอิหม่ามอะฮฺหมัด  (ร.ฮ.)  ระบุว่า  มันจะไม่ถูกเจาะจงด้วยการทำข้อตกลง  ดังนั้นก็อนุญาตให้ใช้สิ่งทดแทนเหมือนกันได้  ซึ่งริวายะฮฺนี้ตรงกับความเห็นในมัซฮับฮะนะฟีย์  และอิหม่าม  อัซซัรกะชีย์  


นักวิชาการมัซฮับอัชชาฟีอีย์ได้กล่าวไว้ในตำรา  “อัลมันซู๊ร  ฟิล  ก่อวาอิด”  ภายใต้กฎเกณฑ์นิติศาสตร์ที่ว่า  :  เมื่อสิ่งต้องห้ามรวมกับสิ่งที่หะล้าล  ด้านของสิ่งที่ต้องห้ามก็มากกว่า  (มีน้ำหนักค่อนไปทางหะรอม)  โดยท่านได้แยกแยะระหว่างสิ่งซึ่งเมื่อมันปนเปกันไปแล้ว  ระหว่างสิ่งที่ไม่มีการปนเปในสิ่งนั้น  อันแรกให้ถือว่าห้ามเป็นส่วนใหญ่  ส่วนอันที่สองนั้นไม่จำเป็นต้องถือว่าห้ามโดยส่วนใหญ่  โดยเฉพาะดิรฮัมที่หะรอมปนเปกับดิรฮัมที่หะล้าล  ท่านว่า  : ห้ามใช้  (หรือกระทำการใด)  จนกว่าจะแยกแยะมันออกเสียก่อน  


และถ่ายทอดจากอัลฆ่อซาลีย์  ในตำรา  อัลอิฮฺยาฮฺ  ว่า  :  เมื่อสิ่งต้องห้ามในเมืองหนึ่งผสมปนเปกันโดยกันออกไม่ได้  ก็ไม่ห้ามในการซื้อจากเมืองนั้น  ยิ่งไปกว่านั้นยังอนุญาตให้เอาได้อีกด้วย  ยกเว้นในการที่มีเครื่องหมายควบคู่มาบ่งว่ามันเป็นสิ่งต้องห้าม  ถ้าไม่มีเครื่องหมายบ่งควบคู่มาก็ไม่เป็นที่ต้องห้าม  แต่การละทิ้งเป็นความวะเราะอฺที่ชอบ  ในฟะตะวาของอิบนุ  อัศศ่อลาอฺ  (ร.ฮ.)  ระบุว่า  :  หากดิรฮัมที่ฮะล้าลปนเปกับดิรฮัมที่ต้องห้ามและแยกแยะไม่ได้  วิธีการคือ  ให้แยกส่วนที่ต้องห้ามออกเป็นเอกเทศโดยมีเจตนาแบ่งและดำเนินการได้ในส่วนที่เหลือ  และอัสฮาบุชชาฟิอียะฮฺ  เห็นพ้องว่าในกรณีเมื่อบุคคลฉกชิงข้าวสาลีหรือน้ำมันมาแล้วผสมปนเปกับสิ่งที่เหมือนกัน  ก็ให้ส่งมอบคืนส่วนที่ถูกผสมปนเปนั้นตามสัดส่วนในสิทธิของเจ้าของ  ที่เหลือก็เป็นของผู้ที่ฉกชิงมา  ส่วนสิ่งที่คนทั่วไปพูดกันว่า  :  การที่ทรัพย์ของผู้ฉกชิงไปปนกับทรัพย์สินอื่นทำให้ทรัพย์นั้นเป็นที่ต้องห้ามไปด้วย  เป็นสิ่งโมฆะ  และไม่มีที่มา


และใน  ชัรฮุนนีล  ได้เล่าจากอิบนุฮะญัร  ถึงสิ่งที่มีรายงานมาจากอิหม่ามอะฮฺหมัด  (ร.ฮ.)  ว่า  ข้อชี้ขาดของการผสมปนเประหว่างของฮะล้าลกับของฮะรอมนั้น  คือ  ให้นำเอาจำนวนที่ฮะรอมคัดออก  และในขณะนั้นส่วนที่เหลือก็เป็นที่หะล้าล  (ดูรายละเอียดทั้งหมดจาก  บุฮูซ  ว่า  ฟะตาวา  อิสลามียะฮฺ  ฟี  ก่อฎอยา  มุอาซิเราะฮฺ  ;  ชัยคุลอัซฮัร  ญาดัลฮักกฺ  อะลี  ญาดัลฮักกฺ  พิมพ์ครั้งที่  2  หน้า  472-481)  


ถ้าถือตามบรรดาทัศนะที่กล่าวมา  ก็ต้องดูว่า  รายได้ของกรมสรรพากรและกรมศุลกากร  หรือแม้แต่งบประมาณแผ่นดินอันเป็นรายได้สุทธินั้นมีจำนวนเท่าใด  ถ้าสมมติทั้ง  2  กรมมีรายได้สุทธิจากการเก็บภาษีบุหรี่และสุรามีจำนวนเท่าใด  สมมุติว่าเก็บได้  50,000  ล้านบาท  เป็นรายได้จากภาษี – บุหรี่เสีย  25,000  ล้านบาท  จำนวนนี้แหละที่เป็นทรัพย์ต้องห้าม  ส่วนที่เหลืออีก  25,000  ล้านบาท  ก็เป็นทรัพย์ที่หะล้าล  แล้วก็ดูว่า  ทั้ง  2  กรมนำส่งรายได้บำรุงกองทุน  สสส.  เท่าใด  เช่นสมมุตินำส่ง  10,000  ล้านบาทก็ถือว่าอยู่ในอัตราพิกัดของทรัพย์ที่หะล้าล  ก็สามารถนำส่วนนี้มาใช้ได้  ทั้งนี้เพราะเป็นการยากในการแยกแยะตัวของทรัพย์สินที่หะล้าลและหะรอมออกจากกัน  

อนึ่ง การนำเอากฎที่อิหม่ามอัสสุยูฎีย์  มาใช้โดยตรงโดยไม่มีการแยกแยะ  หรือดูความเหมาะสมจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมาหลายประการ  อาทิเช่น  
1. เมื่อมุสลิมไม่สามารถใช้ประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินเนื่องจากถือตามกฎนี้เอามาบังคับใช้  (ตัฏบีก)  มุสลิมในประเทศไทยก็ไม่สามารถใช้งบประมาณใด ๆ ได้เลยเพราะเป็นสิ่งต้องห้ามโดยส่วนใหญ่  งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการก็ใช้ไม่ได้ในส่วนของเงินอุดหนุนแก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม  15 (1)  ตามพรบ.การศึกษาแห่งชาติ  งบประมาณสนับสนุนให้กับองค์กรศาสนาตามพรบ.การบริหารกิจการศาสนาอิสลามก็ใช้ไม่ได้  งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขในส่วนการให้บริการกับฮุจญ๊าจก็นำมาใช้ไม่ได้  และอีกสารพัดงบ  ฯลฯ

2. เมื่อมุสลิมไม่สามารถใช้งบประมาณตามข้อที่  1  ก็เป็นสิ่งต้องห้ามที่ชาวมุสลิมจะเสียภาษีให้แก่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพราะงบที่รัฐและองค์กรจัดเก็บมีที่มาจากสิ่งที่หะล้าลและหะรอมปนกัน  ถือตามกฎนี้ก็กลายเป็นว่ามุสลิมเอาทรัพย์ที่หะล้าลส่งไปยังแหล่งรวมที่ทำให้ทรัพย์นั้นกลายเป็นที่ต้องห้าม  เข้าข่ายว่าทำให้เสียทรัพย์โดยใช่เหตุอีก  แต่ถ้ามุสลิมหลีกเลี่ยงภาษีคือไม่ยอมจ่ายภาษีให้แก่รัฐก็เป็นความผิดทางกฎหมายบ้านเมืองอีกเช่นกัน

3. หากถือตามกฎที่ว่านี้ไปเสียทุกกรณี  ก็ไม่อนุญาตให้มุสลิมทำธุรกรรม  ค้าขาย  ทำสัญญาข้อตกลงกับคนต่างศาสนาเพราะทรัพย์ของคนต่างศาสนามีดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง  แล้วมุสลิมจะทำธุรกรรมหรือค้าขายกับผู้ใดได้ในโลกนี้  เพราะระบบการเงินทุกวันนี้มีเรื่องของดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น  หรือร้านขายของชำของคนต่างศาสนาที่ขายของจิปาถะ  รวมถึงเนื้อสุกรในตู้เย็น  มุสลิมที่ปลูกผักจะส่งสินค้าพืชผักยังร้านนั้นได้หรือไม่  ในเมื่อรายได้ของเจ้าของร้านมีการปะปนกันระหว่างสิ่งที่หะรอม  (เงินขายสุกร)  กับสินค้าอื่น ๆ ที่หะล้าล  แล้วเจ้าของร้านก็นำเอาเงินของตน  (ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามโดยส่วนใหญ่ตามกฎที่ว่า)  มาจ่ายค่าผักที่มุสลิมนำมาส่งที่ร้าน  มุสลิมรับได้หรือไม่?


สรุปก็คือ ในเรื่องที่ถามมานี้นักวิชาการมีทัศนะความเห็นต่างกัน  มีทั้งที่ว่าได้และไม่ได้  ทั้งหมดเป็นทัศนะไม่มีตัวบทที่เด็ดขาด  สิ่งที่ใช้เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจจึงเป็นคำตอบที่  3  ก็คือ  ความว่าเราะอฺ  เป็นหลักการที่มุสลิมไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแต่ถ้าจะเข้าไปเกี่ยวข้องก็ต้องบอกว่ามีนักวิชาการระบุเอาไว้ว่าทำได้  และสิ่งหนึ่งที่จะต้องไม่ลืมก็คือ  นักวิชาการในอดีตวินิจฉัยเรื่องเหล่านี้ในบรรยากาศที่มีรัฐอิสลามซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องแหล่งที่มาของรายได้งบประมาณของรัฐ  ซึ่งกฎเกณฑ์ข้างต้นสามารถนำมาบังคับใช้ได้อย่างสมบูรณ์  แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ไม่ได้มีบรรยากาศเช่นนั้น  คือเราไม่ได้อยู่ในรัฐอิสลาม  เรื่องบางเรื่องจึงต้องดูความเหมาะสมที่มีทัศนะของนักวิชาการรองรับและชี้ทางออกเอาไว้ให้  ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า  เมื่อเราไม่ได้อยู่ในบรรยากาศหรืออยู่ในรัฐอิสลามก็อนุญาตให้กระทำสิ่งที่ขัดต่อหลักการของศาสนาได้  เช่น  กินดอกเบี้ยได้  อะไรทำนองนี้  ขอย้ำว่าไม่ใช่แน่นอน  ทุกอย่างที่นำเสนอมายังคงอยู่ในกรอบหลักการของศาสนาทั้งสิ้น!


والله أعلم بالصواب