สัตว์ หมายถึง สิ่งมีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากพรรณไม้  ส่วนมากมีความรู้สึก และเคลื่อนไหวย้ายที่ไปได้เอง  บางทีคำว่า สัตว์  ก็มีความหมายที่ใช้กันเป็นสามัญ หมายถึง สัตว์ที่ไม่ใช่คน  บางทีก็เรียกว่า เดรัจฉาน  หมายถึง สัตว์เว้นจากมนุษย์ เช่น หมู  หมา  วัว  ควาย  แต่มักจะใช้เป็นคำด่า  ใช้ว่า ดิรัจฉาน หรือ เดียรัจฉานก็มี 

 

                    เดิมเดรัจฉาน มีความหมายว่า ขวาง คือสัตว์ที่มีร่างกายเจริญโดยขวางหรือขนานไปกับพื้นโลก  ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์ที่มีกระดูกสันหลังและมีร่างกายเจริญตามยืนและตั้งตรง  ในอัลกุรอานกล่าวถึงสัตว์นานาชนิด  มีทั้งสัตว์บกและสัตว์ทะเล  ภาษาอาหรับเรียกสัตว์บกว่า  حَيَوَانَاتُالبَرِّ  และเรียกสัตว์ทะเลว่า حَيَوَانَاتُالبَحْرِ  จึงขอกล่าวถึงสัตว์บกเป็นอันดับแรก  เพราะมีหลากชนิด  ดังนี้

 

                   วัว  ภาษาอาหรับเรียก بَقَرٌ (บ้าก้อรุน)  เป็นนามบ่งประเภท (اسْمُجِنْسٍ) มีรูปเอกพจน์ว่า بَقَرَةٌ  (บ้าก้อร่อตุน) คือวัวตัวหนึ่ง  ไม่เจาะจงเพศ  ใช้ได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย  “วัว” หมายถึง สัตว์เคี้ยวเอื้องชนิด BOS Taurus   ในวงศ์ Bovidae  เป็นสัตว์กีบคู่ มีสีต่างๆ เช่น น้ำตาล นวล มีเหนียงห้อยอยู่ใต้คอถึงอก  บางทีในสำเนียงท้องถิ่นก็เรียกกันว่า “งัว” ซึ่งหมายถึงวัว หรือ โคนั่นเอง “โคนม” หมายถึง แม่วัวที่เลี้ยงไว้สำหรับรีดนม  “โคบาล” ก็คือ คนเลี้ยงวัวนั่นเอง  “โคมัย” หมายถึง ขี้วัว  ส่วน “โครส” หมายถึง นมวัว มี 5 อย่าง คือ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น เปรียง  เรียกรวมว่า “ปัญจโครส” มีขนมชนิดหนึ่งเรียกว่า “ขนมโค”

   

                    ทีนี้กลับมาเข้าเรื่องวัว  ในอัลกุรอาน บทที่สอง (ซูเราะห์) ของอัลกุรอาน มีชื่อว่า บทอัลบะกอเราะห์ คือ บทที่กล่าวถึงเรื่องวัวตัวนั้น  ตัวไหนล่ะ !  ก็ตัวที่เกิดเรื่องในครั้งสมัยท่านศาสดามูซา (โมเสส) อะลัยฮิซซลามนั่นงัย 

 

                    เรื่องมีอยู่ว่า “มีชายอิสราเอลคนหนึ่ง  เป็นหมันไม่มีลูกสืบสกุล  แต่เขาเป็นคนมีทรัพย์อยู่มากโข    ลูกของน้องชายหรือหลานของชายอิสราเอลผู้นี้จึงบุญหล่นทับ  เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว  แต่ทว่าด้วยความโลภโมโทสัน  ชายหนุ่มผู้นี้มิอาจรอรีให้ลุงของตนมีอายุยืนยาวต่อไป  เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่ทนได้นานเพียงใด  เผลอๆ อาจจะอายุยืนถึงร้อยปี  ตนคงหง่าวรอมรดกของลุงจนหง่อมไปด้วยกัน  จึงตัดสินใจทำฆาตกรรมลุงของตนเสีย  จะได้ครอบครองมรดกและเสวยสุขให้สมใจ 

 

                    เมื่อฆ่าลุงของตนแล้ว  รอจนพลบค่ำก็แบกศพของลุงที่ไร้วิญญาณ เอาไปวางไว้หน้าปากประตูบ้านของชายชาวอิสราเอลผู้หนึ่ง  หวังจะอำพรางคดีให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อน  พอรุ่งเช้าก็มีผู้มาพบศพชายผู้โชคร้าย  เจ้าหนุ่มอกตัญญูก็ทำทีเสแสร้งและสร้างสถานการณ์ให้อึมครืมโดยกล่าวหาชายเจ้าของบ้านว่าเป็นฆาตกร  ญาติโกโหติกาของคนทั้งสองฝ่ายก็โต้เถียงเป็นพัลวัน 

 

                    ฝ่ายหนึ่งก็หมายจะล้างเลือดดับแค้น  อีกฝ่ายก็ป้องปัดปฏิเสธบอกว่า ตนไม่รู้ว่าด้วยเหตุไฉนศพปริศนานี้มาอยู่หน้าบ้านได้อย่างไร? เถียงไปเถียงมาก็เกิดอารมณ์เดือดดาล  เอาความโกรธเข้าใส่  จับไม้จับอาวุธหวังจะราวีกันให้แหลกกันไปข้างนึง  ดีอยู่ว่า ในกลุ่มชาวอิสราเอลนั้นมีชายผู้มีสติปัญญา และคำนึงถึงความสมานฉันท์มากกว่าการใช้กำลังห้ำหั่นกัน  ชายผู้นั้นกล่าวเตือนสติผู้คนทั้งสองฝ่ายว่า “ไฉนเลย! พวกเราจะต้องมาประหัตประหารกันเอง  ทั้งๆ ที่ศาสนทูตของพระเจ้ายังอยู่ทั้งคน!”

 

                    สติสตังค์จึงหวนกลับคืนมาอีกครา  ชาวอิสราเอลทั้งสองฝ่ายจึงเฮโลสาระพาไปหาท่านศาสดามูซา (อะลัยฮิซซลาม) แล้วก็เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ท่านศาสดาทราบ  ท่านศาสดามูซา (อะลัยฮิซซลาม) จึงได้รับการดลใจ (วะฮีย์) จากพระผู้เป็นเจ้าแล้วประกาศว่า “แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺได้มีบัญชาให้พวกเจ้าเชือดวัวตัวหนึ่ง” เมื่อประกาศแล้ว แทนที่ชาวอิสราเอลจะจัดการตามพระบัญชากลับแสดงโมหะจริตและจวบจ้วงท่านศาสดามูซา กล่าวหาว่าท่านล้อเล่นสัพยอกหรือไร  ถึงได้บอกกล่าวให้ไปเชือดวัวแทนที่จะสืบสาวหาความจริงและตัดสินคดีว่าใครเป็นฆาตกร 

 

                    ท่านศาสดาจึงกล่าวตอบชาวอิสราเอลว่า “ฉันขอความคุ้มครองต่อพระผู้เป็นเจ้า ต่อการที่ฉันจะเป็นคนโง่ที่ล้อเล่นกับเรื่องสำคัญเช่นนี้”  ฝ่ายชาวอิสราเอลเห็นว่าท่านศาสดาเอาจริงและแข็งขัน  แทนที่จะไปหาวัวสักตัวหนึ่งแล้วเชือดตามบัญชา  ก็กลับซักไซ้ไล่เรียงว่า “วัวตัวนั้นมีลักษณะเยี่ยงไรกันเล่า ขอถาม !”  ท่านศาสดาก็กล่าวว่า  เป็นวัวที่ไม่แก่ชราและก็มีอายุพอประมาณ  ไม่ใช่วัวรุ่นกระทงที่ไม่เคยผ่านวัวหนุ่มมาก่อน  คืออายุไม่มากและก็ไม่น้อย  พวกท่านจงทำตามที่ถูกบัญชานั้นเถิด !”

 

                    แต่ชาวอิสราเอลก็ไม่ลดละ ซักไซ้ต่อไปว่า “ไอ้วัวที่ท่านว่า มันมีสีอะไรล่ะ ขอถาม” ท่านศาสดาจึงตอบว่า “เป็นวัวสีเหลืองจัด ใครพบใครเห็นเป็นได้ต้องตาต้องใจ” เรื่องน่าจะจบอยู่เพียงนี้ แต่ชาวอิสราเอลดันถามต่อเหมือนหาเหาใส่หัว “บอกอีกทีเถิดว่ามันมีลักษณะเยี่ยงไร เพราะวัวที่ท่านว่ามันดูจะคล้ายกันไปหมด หากพระเจ้าทรงประสงค์เราคงได้รู้แน่ชัดว่ามันมีหน้าตาอย่างไร?”  ท่านศาสดามูซาจึงกล่าวอีกคำรบว่า “วัวตัวนี้ไม่เคยถูกใช้ให้ไถนา  และไม่เคยถูกใช้ให้หมุนระหัดวิดน้ำเข้าท้องนา  มีรูปพรรณสัณฐานปกติ ไม่พิกลพิการ และไม่มีสีอื่นแซม คือมีสีเหลืองทั้งตัว” 

 

                    พอพวกอิสราเอลได้ฟังดังนี้ก็ถึงบางอ้อแต่ก็เกือบจะหาวัวที่มีลักษณะที่ว่ามายากเต็มที  เมื่อรู้แล้วว่าเจ้าวัวปริศนามีลักษณะอย่างไร  ชาวอิสราเอลก็พากันแยกย้ายออกเสาะหากันแทบพลิกแผ่นดิน แล้วก็พบวัวตัวที่ว่าเป็นของชายผู้หนึ่ง  บางกระแสรายงานระบุว่า เป็นเด็กกำพร้าคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกกตัญญู ปรนนิบัติพัดวีมารดาของตนอย่างมิห่างหาย  เจ้าของวัวจึงบอกว่า    “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่าราคาของวัวตัวนี้คือ ทองคำที่ใส่เต็มผืนหนังของมันโดยไม่ขาดตกบกพร่อง” 

 

                    ถึงครานี้ พวกอิสราเอลก็คงหน้าเจื่อนเป็นแถว แต่ก็มิอาจทำการอันใดได้นอกจากต้องยอมซื้อวัวเจ้าปัญหาด้วยราคาทองคำเต็มผืนหนัง เมื่อได้วัวมาแล้วซึ่งมีราคาสูงลิ่วและหาได้ยากเย็นยิ่ง พวกอิสราเอลจึงเชือดวัวตัวนั้นและนำชิ้นเนื้อของวัวไปตีที่ศพของชายที่ถูกฆาตกรรมตามคำบอกของท่านศาสดามูซา (อะลัยฮิซซลาม) ในบัดดล ศพนั้นก็มีชีวิตขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์และเป็นปาฏิหาริย์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสำแดงฤทธานุภาพของพระองค์ท่ามกลางสายตาของชาวอิสราเอล ศพลุกขึ้น  แล้วพวกอิสราเอลก็พากันถามศพที่มีชีวิตนั้นว่า “ใครเป็นคนฆ่าท่าน ?”

 

                    ศพตอบว่า “ชายผู้นี้แหล่ะ”  ว่าแล้วก็พลางชี้มือไปยังหลานชายของตน  เรื่องก็กระจ่าง ฆาตกรตัวจริงเผยโฉมแล้ว บัดดลศพนั้นก็ล้มลงและตายเป็นคำรบสองเพราะภารกิจจบแล้วไม่จำเป็นต้องมีชีวิตอยู่อีกต่อไป  ทีนี้ก็เป็นคราวซวยของเจ้าหนุ่มฆาตกรทรพี ความแตก  คดีพลิก  ชาวอิสราเอลจึงรุมจับตัวเอาชายหนุ่มไปสำเร็จโทษตามโทษานุโทษ นี่ละหนา  โลภมากลาภหาย  ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว 

 

                    เรื่องวัวกจบลงเพียงเท่านี้  นี่มิใช่ตำนานหรือเรื่องปรัมปราที่เอามาเล่าให้เด็กฟังก่อนเข้านอน  หากแต่เป็นเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นในยุคอดีต  และถูกระบุไว้ในอัลกุรอาน  บทที่ว่าด้วยเรื่องวัวตัวนั้น  ที่ถามกันเสียจนแทบจะหาไม่ได้  ครั้นพอหาได้ก็ราคาแพงลิบลิ่ว  คิดดูเอาก็แล้วกัน ว่า ทองคำใส่เต็มผืนหนังวัวหนึ่งตัวจะมีน้ำหนักมากเพียงใด  เชื่อฟังบัญชาท่านศาสดาเสียแต่แรกก็สิ้นเรื่องไปแล้ว  วัวตัวไหน ? ก็ได้  ไม่ต้องหากันอย่างพลิกแผ่นดิน  นี่แหล่ะหนาคือ ผลของการดื้อแพ่งและแข็งขืน 

 

                    การตั้งคำถามอย่างไม่ลดละ  เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ทำตาม  อัลกุรอานกล่าวถึงเรื่องวัวนับจากอายะฮฺ (พระบัญญัติ) ที่ 67 ถึง 73 จากบทอัลบะกอเราะฮฺ  และคำว่า บะกอเราะฮฺ (بَقَرَةٌ)  ถูกระบุไว้ 4 ครั้งด้วยกัน  ส่วนคำว่า อัลบะก๊อร (اَلْبَقَرُ) ซึ่งหมายถึงวัวเช่นกัน  ถูกระบุไว้ 3 ครั้ง  และหนึ่งในสามนั้น  ถูกระบุไว้ในบทอัลอันอาม อายะฮฺ (พระบัญญัติ) ที่ 146 ความว่า  “และเรา  (อัลลอฮฺ)   ได้บัญญัติห้ามสัตว์ทุกชนิดที่มีเล็บเท้าเป็นกลีบ (หรือผังผืด) เหนือบรรดา   ชนชาวยิว  และจากวัวและแพะแกะนั้น เราได้บัญญัติห้ามเหนือพวกเขา  ซึ่งไขมันของสัตว์นั้น  นอกจากไขมันที่หลังของสัตว์นั้นหรือลำไส้ได้อุ้มไว้  หรือที่ปะปนอยู่กับกระดูก  การดังกล่าว เราได้ตอบแทนพวกเขา (ลงโทษ) เนื่องด้วยความอธรรมของพวกเขา  และแท้จริงเรานั้นสัจจริง”

                    ฉะนั้นสัตว์จำพวกอูฐ หรือนกกระจอกเทศตลอดจนสัตว์ที่มีเท้าเป็นผังผืด เช่น เป็ดหรือห่าน  จึงเป็นสัตว์ที่ต้องห้ามบริโภคสำหรับชาวยิวหรือพงศ์พันธุ์อิสราเอล  ส่วนวัวและสัตว์จำพวกแพะแกะนั้นห้ามเฉพาะไขมันของมัน  ยกเว้นไขมันที่ไขสันหลังหรือลำไส้ และที่ปนอยู่กับกระดูก  ไขมันประเภทนี้เป็นที่อนุโลมให้บริโภคได้สำหรับชาวยิว  แต่เมื่อมีบัญญัติห้ามบริโภคไขมันสัตว์  ชาวยิวบางส่วนก็เลี่ยงบาลี เอาไขมันสัตว์ไปต้มแล้วเคี่ยวเป็นน้ำมันเอาไปขาย  ซึ่งผิดบทบัญญัติอีกเช่นกัน  เพราะเมื่อห้ามบริโภคก็ห้ามเอาราคาค่างวดไปด้วยในคราเดียวกัน

 

                    ในคัมภีร์อัลกุรอานยังได้ระบุถึงคำว่า อิจฺญลุน (عِجْلٌ) ซึ่งหมายถึง ลูกวัว  เอาไว้ถึง 10 ครั้ง  ในบทต่างๆ อาทิเช่น บทอัลบะกอเราะฮฺกล่าวไว้ 4 ครั้ง  ในบทอัลอะอฺร๊อฟ 2 ครั้ง  เป็นต้น   มีจำนวน 8 ครั้ง กล่าวถึงลูกวัวที่เป็นรูปเคารพที่ชาวอิสราเอลพากันหล่อขึ้นจากเครื่องประดับและโลหะเพื่อบูชาตามการชี้แนะของมูซา อัซซามิรี่ย์  ขณะที่ท่านศาสดามูซา (อะลัยฮิซซลาม) ขึ้นภูเขาซีนายเพื่อรอรับบัญญัติ 10 ประการ  จากพระผู้เป็นเจ้า  เป็นเวลาถึง 40 วัน 

 

                    ดังนั้น ลูกวัวที่เป็นรูปเคารพอันมีเค้าเงื่อนมาจากเทพเจ้าของชาวอิยิปต์จึงเป็นวัตถุที่มิใช่สัตว์ที่มีชีวิต  แต่สิ่งที่ทำให้มันมีความน่าศักดิ์สิทธิ์และลวงหลอกให้ชาวยิวหลงผิดก็คือ มันมีเสียงร้องออกมาจากปากเหมือนเสียงร้องของวัว ซึ่งเป็นเทคนิคที่มูซา อัซซามิรี่ย์  หล่อให้มีช่องลมผ่านจนเกิดเสียง  เมื่อมีลมพัด 

 

                    ส่วนคำว่า “ลูกวัว” อีก 2 ที่ ซึ่งถูกระบุในอัลกุรอาน  บทฮูด อายะฮฺที่ 69  และอัซซาริยาต อายะฮฺที่ 26 เป็นลูกวัวอ้วนพีที่ถูกหั่นเอามาเสิร์ฟให้กับแขกแปลกหน้าที่มาหาท่านศาสดาอิบรอฮีม (อับราฮัม) ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว แขกเหล่านั้นก็คือ ม่าลาอิกะฮฺ (เทวทูต) ที่ถูกส่งมาบอกข่าวแก่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อะลัยฮิซซลาม)  ที่ท่านศาสดาไม่ทราบว่าเป็นมาลาอิกะฮฺ ก็เพราะว่ามาลาอิกะฮฺนั้นได้จำแลงร่างเป็นมนุษย์นั่นเอง

 

                    ส่วนข่าวที่มาบอกนั้นมีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งเป็นข่าวดี  คือ อิบรอฮีมจะได้บุตรชายอีกคนอันเกิดแต่นางซาเราะห์ (ซาร่าห์) นามว่า อิสหาก (ไอแซค, ยิศฮัก) อีกเรื่องหนึ่งเป็นข่าวร้าย คือ ข่าวการลงทัณฑ์กับชาวเมืองสะดูมและก่อมูเราะห์ (โกโมร่า) ซึ่งที่นั่นมีศาสดาลู๊ฏ  ผู้เป็นหลานชายของท่านศาสดาอิบรอฮีมพำนักอยู่  ดังนั้น  “ลูกวัว” ในเรื่องนี้จึงเป็นลูกวัวอ้วนพีที่กลายเป็นเมนูเพื่อรับแขกไปแล้ว  ไม่ใช่ลูกวัวที่ยังมีชีวิตอยู่แต่อย่างใด

 

                    ในอัลกุรอานยังได้ระบุถึงเรื่อง วัวหลายตัว (بَقَرَاتٌ) เอาไว้อีก 2 แห่ง ในบทยูซุฟ คือ อายะฮฺที่ 43 และ 46 เป็นเรื่องวัว 7 ตัวที่กษัตริย์ฟาโรห์ (ฟิรอูน) ในราชวงศ์ ฮิกซู๊ส   มีพระสุบิน คือ ฝันเห็นวัว 7 ตัวที่อ้วนพีออกมาจากแม่น้ำที่เหือดแห้ง  ในภายหลังมีวัว  ที่ผอมโซอีก 7 ตัวออกตามมาและได้สวาปามวัวอ้วนพีทั้ง 7 ตัว  พร้อมทั้งฝันเห็นรวงข้าว 7 รวงเป็นรวงข้าวเขียวสด  และอีก 7 รวงเป็นรวงข้าวที่แห้ง  ข้าว 7 รวงที่แห้งได้พันรัด 7 รวงที่เขียวสดและกินจดหมดสิ้น 

                    ความฝันของกษัตริย์ไอยคุปต์กลายเป็นความฝันที่เหล่าโหราจารย์จนปัญญา  ไม่รู้จะอธิบายฝันดังกล่าวอย่างไร  แต่ในที่สุดท่านศาสดายูซุฟ (โจเซฟ) อะลัยฮิซซลาม  ก็เป็นผู้อธิบายฝันนั้น ขณะที่ท่านถูกจองจำอยู่ในคุกหลวง โดยอธิบายฝันว่า  หมายถึง 7 ปีที่เมืองอิยิปต์จะอุดมสมบูรณ์  ก็ให้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารกักตุนในยุ้งฉางให้เต็มที่  เพราะ 7 ปีให้หลัง  จะเกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง  เรื่องก็เป็นเช่นนี้  วัวทั้ง 7 ตัวจึงเป็นวัวในความฝันไม่ใช่วัวจริงๆ อีกเช่นกัน 

 

                    ก่อนจบเรื่องวัวๆ ก็ขอทิ้งท้ายสำนวนไทยที่เกี่ยวกับวัวเอาไว้ดังนี้  “วัวใครเข้าคอกคนนั้น” หมายถึง กรรมที่ผู้ใดทำไว้ย่อมส่งผลให้แก่ผู้นั้น  “วัวพันหลัก” หมายถึง วกหรือย้อนกลับเข้าหาที่เริ่มต้น  “วัวลืมตีน” หมายถึง  คนที่ได้ดีแล้วลืมตัว  “วัวสันหลังหวะ” หมายถึงคนที่มีความผิดติดตัวทำให้มีความหวาดระแวง  “วัวสันหลังขาด” ก็ว่า  สุดท้ายคือ  “วัวหายล้อมคอก”  หมายถึง ของหายแล้วจึงคิดป้องกัน หรือเรื่องเกิดขึ้นแล้วจึงคิดแก้ไข  จบเรื่องวัวไว้เพียงแค่นี้เพื่อไปสู่สัตว์ตัวอื่นเป็นอันดับต่อไป