ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชนิด  Equus asinus  ในวงศ์  Equidae  ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับม้า  รูปร่างคล้ายม้าแต่ตัวเล็กกว่า  หูยาว  ปลายหางเป็นพู่  ขนแผงคอสั้นตั้งตรง  มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา  ในภาษาอาหรับเรียกลาว่า  “ฮิมารุน”   (حِمَارٌ)  มีรูปพหูพจน์ว่า  “ฮะมีรฺ”  (حَمِيْرٌ)  และ “ฮุมุ๊ร”  (حُمُرٌ)  เป็นต้น 

 

                    ในคัมภีร์อัลกุรอาน บทอัลญุมอะฮฺ  อายะฮฺที่ 5  ระบุถึงเรื่องลาแบกคัมภีร์  มีใจความว่า 

                    “อุปมาบรรดาผู้ซึ่งได้รับคัมภีร์เตารอตแล้วพวกเขาก็ไม่นำพาตามคัมภีร์นั้น  อุปมัยดังลาที่แบกคัมภีร์จำนวนหนึ่ง  (บนหลังของมัน)”

 

                    กล่าวคือ บรรดาพวกยิวที่ได้รับคัมภีร์เตารอต  (คัมภีร์โตร่าห์-ภาคพันธสัญญาเดิม)  เป็นทางนำสำหรับพวกเขาแต่กลับไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนที่ถูกระบุอยู่ในคัมภีร์  ย่อมมีสภาพที่มิได้แตกต่างจากลาที่แบกคัมภีร์  ซึ่งคัมภีร์นั้นมีประโยชน์อเนกอนันต์  แต่เจ้าลาอ่านคัมภีร์ไม่ออก  คัมภีร์ก็ไร้ประโยชน์  เจ้าลาก็มิได้สิ่งใดนอกจากความเหนื่อยยากและหนักหลังของตนเพียงเท่านั้น 

 

                    ชาวยิวที่อ่านคัมภีร์เตารอตอยู่เป็นนิจสินแต่ไม่เคร่งครัดปฏิบัติตามก็ย่อมไร้ประโยชน์เช่นกัน  เรียกได้ว่า มีของดีอยู่กับตัวแต่มิเห็นค่า  เหมือนไก่ได้พลอย  วานรได้แหวน  หาประโยชน์อันใดมิได้  เพราะไม่รู้จักใช้ ชาวอาหรับมักเรียกขานคนโง่ว่าเป็นลา  เหมือนคนไทยเรียกคนโง่ว่า  “ควาย”  นั่นแล 

 

                    ความจริงลามิใช่สัตว์โง่อย่างที่ว่ากัน  มันเป็นสัตว์ที่มีความจดจำเส้นทางอย่างแม่นยำแม้เพียงเคยเดินผ่านในเส้นทางนั้นครั้งเดียวก็ตาม  โสตประสาทการรับฟังของลายอดเยี่ยมกระเทียมดอง  มีความอดทนเป็นเลิศ  บรรทุกของและสัมภาระอันหนักอึ้งได้คราวละมากๆ เจ้าลาไม่เคยอู้งาน  ไม่เคยลาพักร้อน  การปลดเกษียณของมันก็คือ ตายนั่นเอง 

 

                    ชาวอาหรับจึงเรียกขานลาว่า  “พ่อจอมอึด”  (أَبُوْصَبَّارٍ)  มีเรื่องแปลกสำหรับเจ้าลา  ซึ่งชาวอาหรับเล่าเอาไว้  คือ  เมื่อเจ้าลาได้กลิ่นสิงโตมันก็จะวิ่งรี่เข้าหาสิงโตเนื่องจากความกลัว  ทั้งๆ  ที่ต้องการจะกระโจนหนีจากสิงโต  ฟังแล้วก็แปลกดี  ลามี 2 ประเภท  ประเภทที่หนึ่งเรียกว่า ลาบ้าน (اَلْحِمَارُالأَهْلِيُّ)  คือลาที่ถูกใช้สอยเป็นพาหนะ  นักวิชาการระบุว่า  ห้ามบริโภคเนื้อลาประเภทนี้  เพราะมีหลักฐานชัดเจน  อีกประเภทหนึ่งเรียกว่า  ลาเปรียวหรือลาป่า (اَلْحِمَارُالْوَحْشِيُّ)  ลาประเภทนี้อนุญาตให้บริโภคเนื้อของมันได้ 

 

                    กล่าวกันว่า  ลาป่ามีอายุยืนถึง 200 ปี  บ้างก็ว่ามีอายุยืนถึง 800 ปี  ซึ่งอาจจะเกินจริง  แต่ที่พอฟังได้คือว่ากันว่า  ลาบ้านอายุจะสั้นกว่าลาป่า ชาวอาหรับบันทึกเอาไว้ว่า  ลาบ้านที่อายุยืนที่สุดคือลาของ อบูซัยยาเราะฮฺ อุมัยละฮฺ อิบนุ คอลิด  เป็นลาสีดำที่ให้บริการผู้คนได้ขี่จากทุ่งอัลมุซดะลิฟะฮฺ สู่ทุ่งมินาเป็นระยะเวลาถึง 40 ปี

                    ในคัมภีร์อัลกุรอาน บท อัลบะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 259  ระบุถึงเรื่องราวของชายชาวอิสราเอลผู้หนึ่ง  ได้ขี่ลาผ่านไปยังชุมชนแห่งหนึ่งที่พังพินาศราบพนาสูร แล้วก็กล่าวขึ้นว่า  “พระองค์อัลลอฮฺจะทรงให้ชุมชนนี้ฟื้นและรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง ได้อย่างไรกัน?

 

                    พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ)  จึงได้ให้ชายผู้นี้สิ้นชีวิตลงเป็นเวลาถึง 100 ปี  ต่อมาภายหลังพระองค์ก็ทรงให้เขาฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง  ความจริงจะว่าตายก็ไม่เชิง  แต่พระองค์ทรงบันดาลให้ชายผู้นี้สิ้นสติ  หมดความรู้สึกไปเหมือนกับเจ้าชายนิทรา  ที่หลับเป็นตายชนิดไม่รู้วันรู้เดือน  พ้นไปได้  100  ปี  จึงฟื้นหรือตื่นขึ้นมาอีกครา  แล้วก็พบว่าชุมชนที่พังพินาศนั้นกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง  หลังจากที่เขาหลับเหมือนตายไปได้ราว  70  ปี 

 

                    อนึ่งนักตัฟซีรส่วนใหญ่อรรถาธิบายว่า  ชายผู้นี้ตายจริงๆ  อันหมายถึงวิญญาณออกจากร่าง  แล้วพระองค์อัลลอฮฺก็ตรัสถามผ่านม่าลัก (เทวทูต) ว่า : เจ้าพำนักอยู่ตรงนี้นานเท่าใด? ความจริงพระองค์ทรงรู้อยู่แล้วว่าชายผู้นี้หลับหรือตายไปนานเท่าใด  แต่ที่ถามก็เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับต่อฤทธานุภาพของพระองค์ 

 

                    ชายผู้นี้ก็ตอบว่า  : ข้าพเจ้านอนอยู่ตรงนี้เพียง 1 วัน  หรือ เพียงบางส่วนของวันเท่านั้น  ที่ตอบออกมาอย่างนี้ก็เพราะว่า อีตอนที่ชายผู้นี้หลับหรือตายไปนั้นเป็นช่วงต้นวัน  พอฟื้นหรือตื่นขึ้นมาอีกทีก็ยังเห็นว่าตะวันยังไม่ตกดิน  เลยเข้าใจว่ายังไม่หมดวัน  พระองค์จึงให้ม่าลักเฉลยว่า  “เจ้าน่ะนอนอยู่ตรงนี้นานถึง 100 ปี !” 

 

                    ตอนแรกที่ชายผู้นี้ขี่ลาผ่านมาเมื่อร้อยปีก่อนนั้น  เขาเอาลูกมะเดื่อใส่ตะกร้ามาด้วยพร้อมกับน้ำองุ่นคั้น  พระองค์จึงบอกให้ชายผู้นี้มองดูลูกมะเดื่อกับน้ำองุ่นคั้นว่ายังมีสภาพดีอยู่  ไม่ได้เน่าเสียหรือแปรสภาพไปแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ผ่านเวลามานานถึงหนึ่งศตวรรษ 

 

                    เพียงเท่านั้นยังไม่พอ  พระองค์ได้ให้ชายผู้นี้มองดูลาที่ตนขี่มาก็พบว่าเจ้าลานั้นเหลือแต่กระดูก  แล้วม่าลักก็เรียกกองกระดูกของเจ้าลาเข้ามารวมกันด้วยฤทธานุภาพของพระผู้ทรงสร้าง  กระดูก  เส้นเอ็น  และเนื้อหนังพร้อมด้วยขนของเจ้าลาประกอบกันขึ้นและมีชีวิตเหมือนเดิม 

 

                    ชายผู้นี้ได้ประจักษ์เห็นขั้นตอนการชุบชีวิตเจ้าลาด้วยสายตาของตน  ในที่สุดเขายอมรับว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงฤทธานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง  นักวิชาการมีความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับชายผู้นี้ว่า  คือ ผู้ใดกันแน่  บ้างก็บอกว่า  คือ ศาสดาอัรมิยา (อะลัยฮิซซลาม) 

 

                    บ้างก็บอกว่า  คือ ท่านอุซัยร์ ซึ่งบ้างก็บอกว่า อุซัยร์เป็นศาสดา  บ้างก็บอกว่าไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นศาสดาหรือไม่ ?  อุซัยร์ผู้นี้แหล่ะที่อัลกุรอานระบุว่า  พวกยิว (ยะฮูดี) กลุ่มหนึ่งกล่าวว่า เป็นบุตรของพระเจ้า  ซึ่งพระองค์ทรงบริสุทธิ์จากการกล่าวอ้างของพวกเขา

 

                    ลาเป็นสัตว์พาหนะยอดนิยมสำหรับผู้คนในยุคอดีต ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ้อลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม)  ก็มีลาเป็นสัตว์พาหนะอยู่หลายตัว   อาทิเช่น  ลาที่ชื่อ อุฟัยร์ มีสีด่าง (ขาวสลับดำ)  อัลมุเกากิซ  เจ้าเมืองอิยิปต์ได้มอบลาตัวนี้เป็นของกำนัลแก่ท่านศาสดา 

 

                    ลาอีกตัวหนึ่ง  ฟัรวะฮฺ อัลญุซามี่ย์  ได้มอบเป็นของกำนับแก่ท่านเช่นกัน  ลาตัวนี้มีชื่อว่า ยะอฺฟู๊ร  มีขนเหมือนสีดินหรือฝุ่นดิน  ท่านอัซซุฮัยลี่ย์ กล่าวว่า  ยะอฺฟู๊ร ได้กระโจนลงบ่อน้ำในวันที่ท่านศาสดาเสียชีวิต 

 

                    ในคัมภีร์อัลกุรอาน  บทลุกมาน มีข้อความระบุว่า  “แท้จริงเสียงที่น่ารังเกียจที่สุด นั้นคือ เสียงของฝูงลา” (ลุกมาน อายะฮฺที่ 19)  ท่านอัลฮะซัน (ร.ฮ)  อธิบายว่า บรรดากลุ่มชนผู้ตั้งภาคีชอบแสดงการโอ่ด้วยการส่งเสียงดัง  อัลกุรอานจึงตอบโต้พวกเหล่านั้นว่า  ถ้าหากการส่งเสียงดังนั้นเป็นเรื่องดีแล้วล่ะก็  พวกลาก็ย่อมดีกว่า 

 

                    ส่วนท่านกอตาดะฮฺ (ร.ฮ)  กล่าวว่า  เสียงที่น่ารังเกียจที่สุดนั้นคือเสียงลา  แรกเริ่มเสียงลาคือ เสียงพ่นลม (เรียกว่า ซะฟีร) และช่วงปลายเสียงคือ เสียงสูงจนแสบหู (เรียกว่า ชะฮัก)  มีหะดีษระบุว่า  เมื่อได้ยินเสียงลาร้อง  ให้ขอความคุ้มครองต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) จากมารร้าย  เพราะเจ้าลามันมองเห็นมารร้าย (ชัยตอน) นั่นเอง  อย่างไรก็ตาม  ชาวอาหรับเรียกเสียงลารวมๆ ว่า “นะฮัก”