บทที่ 4 : อเมริกาในตำรานักภูมิศาสตร์ชาวมุสลิม

ภาพโลกของนักภูมิศาสตร์นิรนามชาวอาหรับความนึกคิดที่เชื่อว่ามีแผ่นดินอยู่เบื้องหลังทะเลแห่งความมืดมนนั้นได้มีอิทธิพลต่อบรรดานักวิชาการชาวมุสลิม อิบนุลอะรอบีย์ มีความเห็นว่า “แท้จริงเบื้องหลังมหาสมุทรแอตแลนติกนั้นมีประชาชาติต่างๆ จากลูกหลานของอาดัมและชุมชนที่มีความเจริญ” บุคคลผู้นั้นมีชีวิตอยู่ก่อนหน้าโคลัมบัสถึง 300 ปี และอบุซซ่านาอฺ อัลอัศฟาฮานีย์ก็เคยพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะมีแผ่นดินอยู่เบื้องหลังหมู่เกาะ “อัลคอลิดาต” ก่อนหน้าโคลัมบัสมากกว่า 150 ปี

คำพูดของบรรดานักปราชญ์เหล่านี้ย่อมตั้งอยู่บนกรณีของการเดินทางต่างๆ ของชนรุ่นก่อนที่เป็นนักผจญภัยชาวมุสลิมซึ่งพวกเขาได้พรรณนาในระหว่างการเดินทางนั้นถึงสิ่งที่พวกเขาได้พบเห็นมันในดินแดนดังกล่าว และในตำนานของชาวอาหรับยุคโบราณระบุว่า ซุ้ลก็อรฺนัยน์ เมื่อเขาขึ้นไปบนยอดเขาก็อฟ (ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าอยู่ที่สุดปลายโลกยุคเก่า)

เขาก็กล่าวกับภูเขานั้นว่า : “เจ้าจงบอกฉันทีถึงสิ่งหนึ่งจากความยิ่งใหญ่ของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ภูเขาก็อฟก็กล่าวว่า : แท้จริงเบื้องหลังข้านี้มีผืนแผ่นดินที่ใช้ระยะเวลาเดินทาง 500 ปี ใน 500 ปีระหว่างเทือกเขาน้ำแข็งที่มันต่างก็ถาโถมเข้าใส่กัน” (อะลาอุดดีน อัลกัตวารี่ย “มุตฎอเราะฮฺ อัลอะวาอิล ว่ามุซามะเราะฮฺ อัลอะวาคิรฺ” หน้า 61 โบล๊าก , อียิปต์ ฮ.ศ. 1300 อ้างจาก อัลบุดู๊รฺ อัซซาฟิเราะฮฺ ของอัลฆ่อซาลีย์)

อิบนุ อัลวัรดีย์สาธยายถึงอเมริกาก่อนการค้นพบมัน

อิบนุ อัลวัรดีย์ ซิรอญุดดีน อบูฮัฟซิน อุมัร อิบนุ อัลมุซอฟฺฟัร (ฮ.ศ. 691-794/ค.ศ. 1292-1349) นักกวีผู้เรืองนามเจ้าของบทกวี อัลลามี่ยะฮฺ และอัลมะกอมาต อัลมัชฟูอะฮฺ เป็นผู้แต่งตำราประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันในชื่อ “ตะติมมะฮฺ อัลมุคตะซ๊อร ฟี อัคบ๊าร อัลบะซัรฺ” และตำราในวิชานิติศาสตร์อิสลามและไวยากรณ์

สำหรับบุคคลผู้นี้ยังมีตำราสำคัญในวิชาภูมิศาสตร์พรรณนา ซึ่งนักค้นคว้าไม่เคยให้ความใส่ใจต่อตำราเล่มนี้ในยุคใหม่ ในตำราเล่มนี้ซึ่งแต่งขึ้นในเมืองอเล็ปโป (ฮะลับ) – ปี ฮ.ศ. 718 / ค.ศ. 1335 – อิบนุ อัลวัรดีย์ ระบุว่าเบื้องหลังหมู่เกาะอัลคอลิดาต (หมู่เกาะ แคนารี่) มีบรรดาเกาะต่างๆ และเขาได้พรรณนาถึงหมู่เกาะดังกล่าวจนเกือบจะสอดคล้องกับอเมริกา

-อิบนุ อัลวัรดีย์ มีชีวิตอยู่ก่อนหน้าโคลัมบัสราวศตวรรษครึ่ง และค่อนข้างแน่ใจได้ว่า โคลัมบัสได้รับการดลใจจากตำราเล่มนี้ (ข้อมูลต้นเรื่อง เข้าใจว่าผู้แต่งหนังสือสับสนระหว่างบุคคล 2 คน คือ ซัยนุดดีน อุมัร อิบนุ อัลวัรดีย์ (ค.ศ. 1290-1348) บุคคลผู้นี้เป็นนักกวีชาวซีเรียและเป็นนักประวัติศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาแห่งเมืองมัมบัลฺญ ส่วนหนึ่งจากตำราที่เขาแต่งเอาไว้ คือ ตะติมมะฮฺ อัลมุคตะซอร ฟี อัคบาร อัลบะซัรฺ , ชุมนุมบทกวี ดีวาน ซิงฺร์ , นะซีฮะตุ๊ลอิควานที่รู้จักกันในชื่อ ลามียะฮฺของอิบนิอัลวัรดีย์

ส่วนอีกคนหนึ่งชื่อ ซิรอญุดดีน อุมัร อิบนุ อัลวัรดีย์ (เสียชีวิต ค.ศ. 1457) บุคคลผู้นี้เป็นนักภูมิศาสตร์ชาวอาหรับ ตำราที่เลื่องลือของเขาคือ “ค่อรีดะตุ้ลอะญาอิบ ว่า ฟะรีดะตุ้ลฆ่อรออิบฺ” ข้อมูลของผู้แต่งจึงคลาดเคลื่อนและสับสนเนื่องจากนำชีวประวัติของบุคคลสองคนมารวมกันเพราะมีชื่อพ้องกัน ดังนั้นบุคคลที่ถูกต้องจึงน่าจะเป็นคนที่ 2 นี้ซึ่งเป็นนักภูมิศาสตร์ และมีตำราเล่มเดียวกันกับการระบุถึงของผู้แต่ง คือ ตำราค่อรีดะฮฺ

ฉะนั้นการกล่าวว่า อิบนุ อัลวัรดีย์มีชีวิตอยู่ก่อนโคลัมบัสเป็นเวลาถึงศตวรรษครึ่งจึงคลาดเคลื่อนเพราะเป็นช่วงอายุขัยของอิบนุ อัลวัรดีย์คนแรก ส่วนอิบนุ อัลวัรดีย์คนที่สองก็มีชีวิตอยู่ก่อนโคลัมบัส เพราะเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1457 ส่วนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสนั้นเข้าใจว่าเกิดในปี ค.ศ. 1451 และสิ้นชีวิตในปี ค.ศ. 1506 โคลัมบัสออกเดินทางครั้งแรกในปี ค.ศ. 1492 หมายความว่าการเดินทางนี้เกิดขึ้นหลังการสิ้นชีวิตของ อิบนุ อัลวัรดีย์ นักภูมิศาสตร์เป็นเวลา 35 ปี

และคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเกิดหลังจากการสิ้นชีวิตของอิบนุ อัลวัรดีย์ 6 ปี สมมุติฐานที่ว่า โคลัมบัสน่าจะได้แรงบันดาลใจจากตำราภูมิศาสตร์ของอิบนุ อัลวัรดีย์จึงเป็นไปได้เช่นกัน เพราะตำราเล่มนี้ต้องถูกแต่งก่อนหน้าการเกิดของโคลัมบัสอยู่แล้ว (ผู้แปล)-

เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรารู้ว่าตำราคัดลอกฉบับเขียนด้วยลายมือจากตำราต้นฉบับมีเป็นจำนวนมากที่แพร่หลายในยุโรปนับแต่การแต่งตำราของอิบนุ อัลวัรดีย์ เฉพาะในหอสมุดแห่งชาติของกรุงปารีสก็มีตำราคัดลอกปรากฏอยู่ถึง 9 ฉบับ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มัลธีรอน ได้กล่าวไว้ในตำราภูมิศาสตร์ของเขาว่า : อิบนุ อัลวัรดีย์ได้แต่งตำราเล่มหนึ่งในภาควิชาภูมิศาสตร์ เขาพรรณนาเอาไว้ในตำราเล่มนั้นถึงแอฟริกา ดินแดนของชาวอาหรับและแคว้นชาม (ซีเรีย , จอร์แดน , เลบานอน)

แต่เขากล่าวถึงโดยสรุปในสิ่งที่เกี่ยวกับยุโรป อินเดีย และภาคเหนือของเอเชีย ในห้องเก็บตำราของกรุงปารีสมีตำราฉบับคัดลอกเขียนด้วยปากกาจากตำราต้นฉบับนี้ถึง 9 เล่ม ตำราเล่มนี้รวมเอาแผนที่ของโลกโดยรวมเอาไว้ซึ่งแกนีสไม่ได้ระบุถึงในการคัดย่อตำราเล่มนี้ของเขา แผนที่ดังกล่าวมีสถานที่ส่วนใหญ่สอดคล้องกับแผนที่ของซานูโดที่มีอยู่ในกรุงบูคาเรสต์ สิ่งนี้บ่งชี้ว่านักภูมิศาสตร์รุ่นแรกๆ และนักเขียนแผนที่ชาวคริสเตียนได้เลียนแบบตำราของชาวอาหรับและเรียบเรียงตำราตามแบบของชาวอาหรับ

แกนีสได้พิมพ์บทคัดย่อต่างๆ จากตำราของ อิบนุ อัลวัรดีย์ โดยเลือกตำรานั้นมาจากหอสมุดแห่งกรุงปารีส ก่อนหน้านั้น โอรีโอลอส อาจารย์ที่เมืองอับซาล่า (Uppsala) ในสวีเดนได้จัดพิมพ์ส่วนหนึ่งจากตำราภูมิศาสตร์เล่มนี้ที่เมืองดังกล่าว ต่อมาภายหลังนักวิชาการที่เมืองหนึ่งในแคว้นซอกอเนียก็ได้ทำการจัดพิมพ์ตำราเล่มนี้ทั้งหมด (มัลธีรอน “ภูมิศาสตร์ทั่วไป” หน้า 144 แปลโดย ริฟาอะฮฺ อัฏเฏาะฮฺฏอวีย์ ; อียิปต์ ฮ.ศ. 1245)

"ภาพดินแดนอิสลาม ใช้นครมักกะฮฺเป็นศูนย์กลาง" ของ อัศ-ศ่อฟากิสียฺดังนั้น ภูมิศาสตร์ของอิบนุ อัลวัรดีย์จึงเป็นที่รู้จักกันในยุโรปนับแต่ช่วงแรกๆ แล้ว และคงมิใช่เรื่องที่ห่างไกลนัก – ถึงแม้ว่าจะไม่แน่ใจก็ตาม – ว่าโคลัมบัสเคยอ่านตำราเล่มนี้และศึกษาบรรดาภาพวาด (แผนที่) ที่อยู่ในภาคผนวก เพราะแน่ใจได้ว่า โคลัมบัสต้องศึกษาตำรับตำราเป็นจำนวนมากก่อนหน้าที่เขาจะอาจหาญออกเดินทาง ซึ่งตำราเหล่านั้นได้บอกลักษณะบรรดาเรือของชาวมุสลิม เครื่องไม้เครื่องมือที่ถูกใช้ในการเดินเรือของชาวมุสลิม และโคลัมบัสก็น่าจะศึกษาถึงการบอกลักษณะถึงดินแดน , ทะเล และหมู่เกาะต่างๆ ตลอดจนภาพวาดของชาวมุสลิม

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีคำพูดที่ว่า โคลัมบัสได้อาศัยตำราภูมิศาสตร์อิสลาม และใช้ตำรานั้นตามตัวบทภาษาอาหรับโดยตรงไม่มีการแปล ทั้งนี้ด้วยการขอความช่วยเหลือจากชาวมุสลิมมอริสโคบางคนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสเปน เราคงไม่ได้เลยเถิด หากเราจะกล่าวว่าโคลัมบัสเองก็ยอมรับว่าชาวอาหรับในตำราของนักปราชญ์อาหรับบางคนคือผู้ที่ชี้แนะโคลัมบัสถึงการมีอยู่ของทวีปใหม่เบื้องหลังมหาสมุทรนั้น กล่าวคือ โรนาน นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้เล่าเอาไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “อิบนุรุชด์และสำนักคิดของเขา” ว่า : โคลัมบัสได้ทิ้งจดหมายฉบับหนึ่งเอาไว้หลังการสิ้นชีวิตของเขา โดยยืนยันถึงสิ่งดังกล่าวเอาไว้ในจดหมายฉบับนั้น

อับดุลกอดิร อัลมัฆริบีย์ สมาชิกสถาบันภาษาอาหรับในกรุงดามัสกัส คือบุคคลแรกที่ฉุกคิดถึงการพรรณนาของอิบนุ อัลวัรดีย์ที่มีต่อทวีปใหม่ เขาบ่งชี้ไว้ในการบรรยายครั้งหนึ่งของเขาในปี ค.ศ. 1931 โดยกล่าวว่า : “อิบนุ อัลวัรดีย์ได้ระบุไว้ในตำราภูมิศาสตร์ของเขาว่ามีบรรดาหมู่เกาะขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลังหมู่เกาะอัลคอลิดาต ในหมู่เกาะเหล่านั้นมีผู้คนเป็นจำนวนมาก”

และมีนักเดินเรือคนหนึ่งได้เคยไปถึงหมู่เกาะเหล่านั้นโดยมิได้ตั้งใจ เนื่องจากถูกลมพายุพัดไป ต่อมานักเดินเรือผู้นี้ก็กลับจากหมู่เกาะเหล่านั้น หลังจากที่เขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด และอิบนุ อัลวัรดีย์ได้สาธยายลักษณะของหมู่เกาะดังกล่าวจนมีรายละเอียดเกือบจะตรงกับลักษณะของดินแดนในอเมริกา และอิบนุ อัลวัรดีย์มีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 หมายถึงก่อนการเกิดของโคลัมบัสราว 100 ปี

(การบรรยายของสถาบันทางวิชาการอาหรับ กรุงดามัสกัส 2/232 และอับดุลกอดิร อัลมัฆริบีย์ได้บอกให้เราทราบว่า เขานำข้อมูลในเรื่องนี้มาจากนิตยสาร “อัลมะอฺลูมาต อัตตุรกียะฮฺ” โดยระบุว่า อบุลวะฟาอฺ อัลมัฆริบีย์ กล่าวว่า : อิบนุ อัลวัรดีย์ ซึ่งมาก่อนโคลัมบัสเป็นเวลา 130 ปี ได้แต่งตำราที่ยิ่งใหญ่ มีชื่อว่า “ค่อรีดะตุ้ลอะญาอิบ” ในบทหนึ่งของตำรานี้อธิบายว่า ชาวอาหรับรู้จักอเมริกามาก่อนหน้าโคลัมบัสแล้วถึง 3 ยุคด้วยกัน”)

อาจารย์อับดุลอะซีร อิบนุ อับดิลลาฮฺ ได้ถือตามข้อบ่งชี้นี้ในการบรรยายของเขาภายใต้หัวข้อ “สายใยอันเก่าแก่ระหว่างอ่าวอาหรับกับตะวันตกไกล” ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร “อัลลิซานุ้ลอะรอบีย์” (มกราคม ปีค.ศ. 1973) แต่ไม่มีการเพิ่มเติมหรือวิจารณ์เอาไว้ โดยบอกให้รู้ถึงความสำคัญอันยิ่งยวดของการบ่งชี้ดังกล่าว

(อิบนุ อัลวัรดีย์ ; “ค่อรีดะตุ้ล อะญาอิบ ว่า ฟะรีดะตุ้ล ฆ่อรออิบ อียิปต์ ด๊าล-ตาอฺ 82 ตำรา “ค่อรีดะฮฺ” นี้  นักบูรพาคดีหลายคนได้แปลข้อความส่วนหนึ่งจากตำรา หรือเล่าข้อความบางส่วนพร้อมกับแปลความหมายเอาไว้ และมีการจัดพิมพ์สารานุกรมที่ระบุถึงดินแดน และเขตแคว้นต่างๆ จากตำรา “ค่อรีดะฮฺ” ในความดูแลของมิสเตอร์ไฮลันเดอร์ พร้อมกับแปลเป็นภาษาละติน ในเมืองลอนด์ (สวิสต์) ฮ.ศ. 1284 หน้า 13, 17 มีการจัดพิมพ์ออกเป็น 5 ภาษา ภาคที่ 1 พร้อมคำแปลในภาษาละติน ในความดูแลของตูรินเบิร์ก ภาคที่ 2 ในอวีสล่า 9/1835 และมีการแปลข้อความส่วนหนึ่งจากตำราโดย เดอ คีนี และ มาฮฺรอน และคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มุฮำมัด อิบนุ ชะนับ ได้กล่าวหาในสารานุกรมอิสลาม เล่มที่ 5 หน้า 415 ว่า อิบนุ อัลวัรดีย์ ถ่ายทอดเนื้อหาตำรา “ค่อรีดะฮฺ” มาจากตำรา “ญามิอุลฟุนูน ว่า ซิลวะฮฺ อัลมัคซูน” ของนัจญ์มฺ อิบนุ ฮัมดาน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในอียิปต์ ปี ฮ.ศ. 732/ ค.ศ. 1332)

ตำรา อัลอะญาอิบฺ วัลฆ่อรออิบฺ

ภูมิศาสตร์ของอิบนุ อัลวัรดีย์ ที่ถูกมุ่งหมายนั้นคือ ตำราของเขาที่ชื่อว่า “ค่อรีดะตุ้ลอะญาอิบ ว่าฟะรีดะตุ้ลฆ่อรออิบ” และตำราเล่มที่ถูกจัดพิมพ์นับแต่ครั้งเก่านั้นถูกจัดพิมพ์ไม่ค่อยดีนัก เป็นกระดาษสีเหลือง และกลายเป็นต้นฉบับที่หายาก ตำราฉบับที่ใหม่ที่สุดในการพิมพ์นั้นย้อนกลับไปยังปี ฮ.ศ. 1302 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อุสมาน อับดุรรอซิก

ในตำรานี้ อิบนุ อัลวัรดีย์ได้กล่าวไว้ภายใต้หัวข้อ “บทที่กล่าวถึงทะเลแห่งความมืดมน คือท้องทะเลแห่งมหาสมุทรทางทิศตะวันตก” ว่า : เหตุที่เรียกว่า ทะเลแห่งความมืดมนเพราะเต็มไปด้วยความน่าสะพรึงกลัว และความยากลำบากในการฝ่าเรือเข้าไป ไม่มีผู้ใดจากสิ่งที่ถูกสร้างของพระเจ้าสามารถเข้าไปสู่ภายในมันได้

เพียงแค่ผ่านไปตามแนวยาวของชายฝั่งเท่านั้น เพราะคลื่นของมันเป็นประหนึ่งดังขุนเขาอันสูงตระหง่าน ความมืดของมันขุ่นมัว กลิ่นของมันเหม็นคลุ้ง สัตว์ในท้องทะเลนี้ดุร้าย ไม่มีผู้ใดรู้ถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังมันนอกจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และไม่มีมนุษย์ผู้ใดสามารถตรวจสอบเรื่องราวของมันว่าจริงเพียงใด ที่ชายฝั่งของทะเลนี้จะมีอำพันสีขาวแซมดำอย่างดี หินของมันผู้ใดพกพาติดตัวผู้คนก็จะเข้าหาด้วยความรักและให้เกียรติ ธุระของเขาจะสัมฤทธิผล คำพูดของเขาจะถูกรับฟัง ลิ้นของเหล่าปรปักษ์จะมิอาจจาบจ้วงเขาผู้นั้น”

ณ จุดนี้ อิบนุ อัลวัรดีย์ได้เริ่มต้นปนเปข้อเท็จจริงเข้ากับสิ่งที่แปลกประหลาดและน่าอัศจรรย์ใจ เพื่อดึงดูดผู้อ่านตำราของเขาให้เกิดความสนใจถึงสิ่งที่ตำราของเขาได้รวบรวมเอาไว้จากเนื้อหา เขายังคงพรรณนาถึงลักษณะของทะเลแห่งความมืดมนต่อไป และกล่าวว่าที่ชายฝั่งของทะเลแห่งนี้มีหินที่หลากสีสันที่ผู้คนในดินแดนนั้นแข่งขันกันในราคาของมัน และรับเป็นมรดกตกทอด พวกเขาระบุว่าหินเหล่านั้นมีคุณสมบัติพิเศษที่สำคัญ ณ จุดนี้เราจะพบว่า อิบนุ อัลวัรดีย์ได้ยืนยันถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นก็คือการมีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ ณ บริเวณชายฝั่งของทะเลนี้ นอกเหนือจากการที่ชนพื้นเมืองเหล่านั้นมีความรู้เกี่ยวกับอัญมณีหรือหินมีค่าทั้งในด้านวัตถุและนามธรรม

แผนที่ลูกโลก ของญีฮามียฺ (นักภูมิศาสตร์ในศตวรรษที่ 4 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช / ค.ศ. ที่ 10

หลังจากนั้น อิบนุ อัลวัรดีย์ก็ยืนยันถึงการมีอยู่ของผืนแผ่นดินและดินแดนต่างๆ ในทะเลแห่งนี้ เขากล่าวว่า : “ในทะเลนี้มีบรรดาหมู่เกาะทั้งที่มีผู้คนอาศัยอยู่และรกร้างว่างเปล่าซึ่งไม่มีผู้ใดรู้ได้นอกจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และเคยมีผู้คนเดินทางไปถึงหมู่เกาะเหล่านั้นจำนวน 17 แห่งด้วยกัน” นั่นหมายความว่านับจากการบอกเล่าของอัลอิดรีซีย์จวบจนถึงสมัยของอิบนุ อัลวัรดีย์มีหมู่เกาะใหม่ๆ ในทะเลแห่งความมืดมนได้ถูกค้นพบแล้ว

ผลของสิ่งดังกล่าวทำให้ภูมิความรู้ทางภูมิศาสตร์ของชาวมุสลิมที่มีต่อผืนแผ่นดินที่มีอยู่ในทะเลแห่งความมืดมนกว้างไกลออกไป แต่ยังไม่รู้ว่าผืนแผ่นดินเหล่านี้ติดต่อกันจนกระทั่งถึงยุคของอิบนุ อัลวัรดีย์ อิบนุ อัลวัรดีย์ได้เริ่มต้นสาธยายถึงหมู่เกาะแห่งท้องทะเลนี้ด้วยการกล่าวถึงหมู่เกาะอัลคอลิดาตซึ่งรู้จักกันในปัจจุบันว่าคือ หมู่เกาะแคเนอรี่ เราคงต้องติดตามการเดินทางของเราไปพร้อมๆ กับอิบนุ อัลวัรดีย์เพื่อทำความรู้จักกับหมู่เกาะเหล่านี้ อันได้แก่

1. หมู่เกาะอัลคอลิดาต มีเกาะขนาดใหญ่ 2 เกาะ ใน 2 เกาะใหญ่นี้มีรูปเคารพ 2 ตนที่ถูกทำจากหินเนื้อแข็ง รูปเคารพแต่ละตนมีความสูง 100 ศอก และเหนือรูปเคารพนั้นมีรูปทองเหลือง ที่มือของมันชี้ไปทางข้างหลัง โดยมีความหมายว่า “จงกลับไปเสียเถิด ข้างหลังข้านี้ไม่มีอะไรอีกแล้ว” ซุลมะน๊าร กษัตริย์ฮิมยัรจากพวกตุบบะอฺได้สร้างรูปเคารพ 2 ตนนี้ บุคคลผู้นี้ก็คือ ซุลก็อรนัยน์ที่ถูกระบุในคัมภีร์อัลกุรอาน  การพรรณนานี้ใกล้เคียงกับคำพรรณนาของอัลอิดรีซีย์ที่มีต่อหมู่เกาะนี้ซึ่งกล่าวถึงมาแล้ว


2. เกาะอัลเอาวัซฺ ที่เกาะนี้มีรูปเคารพตนหนึ่งที่ถูกสร้างเอาไว้อย่างแข็งแรงไม่สามารถปีนขึ้นไปได้ ซุลกอรนัยน์เป็นผู้สร้างมันอีกเช่นกัน และช่างที่สร้างรูปเคารพก็ตายลงที่เกาะนี้ หลุมฝังศพของเขาอยู่ในวิหารที่สร้างด้วยหินอดะละบาสเตอร์และกระจกหลากสี ทีเกาะนี้มีสัตว์ร้ายและอสุรกายที่น่าสะพรึงกลัวฟังแล้วไม่อยากเชื่อ

3. เกาะอัสสะอาลีย์ เป็นเกาะขนาดใหญ่ ที่นั่นมีสิ่งถูกสร้าง (คน) ที่เหมือนผู้หญิง นอกจากว่าพวกนั้นมีเขี้ยวยาว ดวงตาของพวกเขาเป็นเสมือนสายฟ้าฟาด มีใบหน้าคล้ายกับแผ่นไม้ที่ถูกเผา พูดจาด้วยภาษาที่ฟังไม่ได้ศัพท์ แยกหญิงแยกชายของพวกเขาไม่ได้นอกจากอวัยวะเพศ เครื่องแต่งกายของพวกเขาคือใบไม้ และพวกเขาชอบล่าสัตว์ทะเลเอามาเป็นอาหาร

อิบนุ อัลวัรดีย์ได้เล่าถึงลักษณะของชนพื้นเมืองในเกาะอัสสะอาลีย์ว่า พวกเขามีใบหน้าคล้ายกับแผ่นไม้ที่ถูกเผา ซึ่งข้อนี้เป็นเรื่องจริง เพราะพวกเขาคือชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกา ซึ่งโคลัมบัสเรียกพวกเขาในเวลาต่อมาว่า อินเดียนแดง

เพราะโคลัมบัสพบว่าพวกเขามีผิวสีแดง และสีของแผ่นไม้ที่ถูกเผานั้นก็จะค่อนไปทางสีแดงคล้ำ และชัดเจนว่าการที่ใบหน้าของพวกเขาคล้ายกับแผ่นไม้เพราะมันรวมเอาไว้ซึ่งความกล้าแกร่งและตรากตรำจนเป็นลักษณะเฉพาะของใบหน้าชนอินเดียนแดง และขณะที่อิบนุ อัลวัรดีย์กล่าวว่า : พวกเขามีเขี้ยวยาว นั่นก็ย่อมกลับไปยังกรณีที่พวกอินเดียนแดงมักจะทาหน้าของพวกเขาและวาดลายเส้นสีขาวเอาไว้รอบๆ ปากของพวกเขา เมื่อเห็นแต่ไกลก็เข้าใจว่าลายเส้นสีขาวนั้นเป็นเหมือนเขี้ยวนั่นเอง

ภาพของโลก โดย "มุฮัมมัด อิบนุ อาลี อัชชุรฟีย์ อัศ-ศ่อฟากิสียฺ" วาดขึ้นในปี ฮ.ศ.1009 บนแผ่นหนังแกะ ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ นครปารีส

4. เกาะฮะซะรอต เป็นเกาะที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีภูเขาสูงและที่ตีนเขานั้นมีผู้คนผิวสีน้ำตาลตัวเตี้ย มีเครายาวถึงหัวเข่า ใบหน้าของพวกเขาแบน มีหูขนาดใหญ่ อาศัยหญ้าแห้งในการดำรงชีวิต มีแม่น้ำสายเล็กๆ ที่จืดสนิทหล่อเลี้ยงชีวิต


5. เกาะอัลอะร็อร เป็นเกาะที่มีรูปทรงยาวและกว้าง เต็มไปด้วยสมุนไพร และพันธุ์ไม้ตลอดจนไม้ยืนต้นที่มีผล


6. เกาะอัลมุสตะซักกีน รู้จักกันว่าเป็นเกาะแห่งมังกร เกาะนี้มีขนาดใหญ่ มีต้นไม้ แม่น้ำ และผลไม้อุดมสมบูรณ์ ที่เกาะนี้มีเมืองใหญ่ และที่เมืองนี้มีมังกรตัวเขื่องซึ่งอิสกันดัรได้สังหารมัน เล่ากันว่า มังกรยักษ์ได้ปรากฏขึ้นที่เมืองนี้ และมันเกือบจะทำลายทั้งเกาะซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนและฝูงสัตว์ ชาวเกาะจึงขอให้อิสกันดัรช่วยเหลือพวกเขาในการปราบมังกรยักษ์ตัวนี้ ซึ่งอิสกันดัรเคยอยู่ใกล้ๆ กับดินแดนดังกล่าว

พวกเขาบอกกับอิสกันดัรว่า มังกรยักษ์ได้กินฝูงปศุสัตว์ และทำลายทรัพย์สินของพวกเขา และมันได้ตัดเส้นทางสัญจรของผู้คน ในทุกๆ วันชาวเมืองจำต้องมอบวัวตัวใหญ่ 2 ตัว เพื่อสังเวยแก่มัน เมื่อมันมาถึงยังวัวที่ถูกสังเวย มันจะมาเหมือนเมฆที่ดำทะมึน ตาสองข้างของมันลุกโพลนเหมือนสายฟ้าฟาด ไฟและควันจะพวยพุ่งออกจากปากของมัน แล้วมันก็จะกลืนวัวทั้งสองตัว และกลับไปยังที่ของมัน อิสกันดัรจึงแล่นเรือไปยังเกาะนั้น และใช้ให้เอาวัวมา 2 ตัวและถลกหนัง หลังจากนั้นก็ยัดชัน , กำมะถัน , สารพิษ , ปูนขาว , น้ำมันดิบ และปรอทใส่เข้าไปในผืนหนังของวัว 2 ตัวนั้น พร้อมกับทำตะขอเหล็กเกี่ยวเอาไว้ด้วย แล้วเอาหนังวัวทั้ง 2 ตัวไปตั้งเอาไว้ในที่ประจำซึ่งมังกรจะมากินวัวในทุกๆ วัน

ครั้นวันรุ่งขึ้นมังกรก็มายังวัว 2 ตัวนั้นตามปกติ และกลืนวัว 2 ตัว นั้นเข้าไปในร่างของมัน แล้วมันก็กลับไปยังที่เดิมของมัน ชาวเมืองรอคอยมังกรกลับมาในวันรุ่งขึ้น แต่มันก็ไม่มาและไม่ปรากฏวี่แวว พวกเขาจึงไปยังที่ของมังกร ก็พบว่ามันตายเสียแล้ว ปากของมันเปิดอ้าอยู่เหมือนสะพานขนาดใหญ่ พวกเขาดีใจมาก และขอบคุณอิสกันดัร พวกเขานำของกำนัลที่มีค่าและแปลกตามามอบแก่อิสกันดัร ส่วนหนึ่งคือ อัลมิอฺรอจฺญ์ มีลักษณะเหมือนกระต่ายสีเหลือง บนหัวของมันมีเขา 1 อันสีดำสนิท กล่าวกันว่าสัตว์ร้ายทุกตัวที่เห็นเจ้าสิ่งนี้จะพากันเตลิดหนี

7. เกาะกอละฮาตฺ เป็นเกาะขนาดใหญ่ ที่นั่นมีผู้คนอาศัยอยู่ แต่ใบหน้าของผู้คนที่นั่นคล้ายกับสัตว์ พวกเขาชอบดำน้ำในทะเล และนำเอาสัตว์ทะเลออกมาเพื่อกินเป็นอาหาร อิบนุ อัลวัรดีย์ระบุว่า ใบหน้าของชาวเกาะกอละฮาตฺเหมือนกับใบหน้าของสัตว์ ซึ่งน่าจะหมายถึงหน้ากากที่ทำเลียนแบบสัตว์บางชนิด พวกอินเดียนแดงมักจะสวมหน้ากากนั้นเพื่อขู่คนแปลกหน้าให้กลัว

8. เกาะพ่อมด 2 พี่น้อง คนหนึ่งคือ ชิรฺฮามฺ อีกคนคือ ชิบฺรอม 2 คนนี้เคยอาศัยอยู่ที่เกาะนี้แล้วคอยดักปล้นขบวนสินค้าที่ผ่านมา ต่อมาทั้ง 2 คนได้ถูกสาปให้กลายเป็นหินยืนแน่นิ่งอยู่ที่ก้นทะเล ต่อมาเกาะนี้ก็เจริญขึ้น


ภาพแบ่งแคว้นทั้ง 7 ตามที่ อัล-บีรูนียฺ วาดไว้9. เกาะนก กล่าวกันว่าในเกาะนี้มีนกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับพญาอินทรีย์ มีสีแดง และมีกรงเล็บที่แข็งแรงใช้ล่าสัตว์ทะเล ที่เกาะนี้มีผลไม้รูปร่างหน้าตาคล้ายผลมะเดื่อ มีสรรพคุณแก้พิษทั้งมวล อัลญะวาลิกีย์ เล่าว่า : มีกษัตริย์พวกฝรั่งองค์หนึ่งทราบถึงสิ่งดังกล่าว พระองค์ได้ลงเรือมุ่งหน้าสู่เกาะนี้เพื่อมาเอาผลไม้ดังกล่าวและล่านกที่ว่านั้น เพราะกษัตริย์นี้รู้ดีถึงสรรพคุณของนกชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นเลือด อวัยวะ และเครื่องในของมัน ทว่าขากลับเรือได้อับปางลงในท้องทะเล ทุกคนตายหมดไม่มีใครรอดแม้แต่คนเดียว

ณ จุดนี้ อิบนุ อัลวัรดีย์ได้ให้ความกระจ่างแก่เราถึงประเด็นข้อเท็จจริงที่สำคัญ 2 ประการ ซึ่งจำเป็นต้องวิเคราะห์

ข้อเท็จจริงที่ 1 ขณะที่อิบนุ อัลวัรดีย์พรรณนาสภาพของเกาะนก เขาได้พูดถึงนก นั่นคือนกอินทรีย์อเมริกาที่โลกใหม่รู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งต่อมาชาวอเมริกาก็ใช้นกอินทรีย์นี้เป็นสัญลักษณ์ของชาติ และนกอินทรีย์สายพันธุ์นี้จะไม่ถูกพบในที่อื่นนอกจากอเมริกาเท่านั้น เจ้านกอินทรีย์นี้มักจะบินวนเวียนอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลเสมอเพื่อล่าปลาเป็นอาหาร อาหารของมันก็คือนกน้ำและกระต่ายตามหนองบึง นอกเหนือจากปลาที่มันจะล่าเป็นเหยื่อในบริเวณริมชายฝั่งนั้น (ดูข้อเขียนของ ดร.อะหฺหมัด ซะกีย์ เกี่ยวกับนกอินทรีย์อเมริกาในหนังสือที่ชื่อ ฟี ซะบีลี่เมาซูอะฮฺ อิลมี่ยะฮฺ ; อิฮฺซาน ญะอฺฟัร อ้างแล้วหน้า 98)

ข้อเท็จจริงที่ 2 คือการยืนยันของอิบนุ อัลวัรดีย์ที่ว่า พวกฝรั่งเคยมีความพยายามอยู่หลายครั้งมาก่อนหน้าความพยายามของโคลัมบัสในการท่องทะเลแห่งความมืดมน อันเป็นสิ่งที่ตำราอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้ยืนยันเอาไว้ว่าพวกสแกนดินิเวีย พวกไอริช ได้เคยเดินทางในมหาสมุทรแอตแลนติกมาก่อนแล้ว แต่เป็นการเดินทางตามแนวเส้นแวงที่ตรงกับดินแดนของพวกเขา การเดินทางได้นำพวกเขาไปพบกับกรีนแลนด์ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นเขตแดนที่รู้กันว่าเต็มไปด้วยความแห้งแล้งและไม่เหมาะสำหรับการตั้งหลักแหล่งของมนุษย์

สิ่งที่ถูกเน้นย้ำคือความเพียรพยายามที่พวกไอริชได้ทุ่มเทในช่วงเวลาก่อนหน้ายุคแห่งการค้นพบใหญ่ทางภูมิศาสตร์ในการกำหนดที่ตั้งของบางหมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการที่พวกไอริชไปถึงเกาะไอซ์แลนด์ในศตวรรษที่ 8 และในศตวรรษที่ 9 พวกนอร์เวย์ (ไวกิ้งค์) ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ในเกาะไอซ์แลนด์ และไม่นานนักพร้อมๆ กับการสิ้นสุดศตวรรษที่ 10 พวกนักสำรวจเหล่านั้นก็ค้นพบกรีนแลนด์ บางทีสภาพภูมิศาสตร์ ธรรมชาติอาจจะเป็นสิ่งผลักดันให้ชาวพื้นเมืองทั้งในไอร์แลนด์และคาบสมุทรสแกนดินิเวียให้มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตกเพื่อค้นหาดินแดนใหม่ก็เป็นได้

และดูเหมือนว่ากรีนแลนด์ในเวลานั้นมีความอบอุ่นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเอื้อสำหรับบรรดาผู้ค้นพบเหล่านั้นให้มีโอกาสสำหรับการตั้งหลักแหล่งและทำประมงในบริเวณใกล้ๆ กับชายฝั่งของกรีนแลนด์ ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาบางคนได้เข้ามาลึกยิ่งกว่านั้นยังเกาะบาฟิน ฟิลันดา อันซูล่า (Bafin vinlanda ansola) และบางทีสถานที่หลังสุดนี้อาจจะเป็นชายฝั่งของบราโดและปากแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ (ในอเมริกาเหนือแถบประเทศแคนาดา) – ฟัตรี่ย์ มุฮำมัด อบู อัยยานะฮฺ , มุฮำมัด ค่อมีซ อัซซูกะฮฺ , อีซา อะลี อิบรอฮีม ; “ดิรอซาต ฟิลกุซุฟ อัลญิฆรอฟียะฮิ ว่า ตะเฏาวุร อัลฟิกร์ อัลญิฆรอฟีย์” หน้า 150 , 157 ; ดารุ้ลมะอฺริฟะฮฺ อัลญาฟิอียะฮฺ , อเล็กซานเดรีย ค.ศ. 1988)

ข้อเท็จจริงนี้ได้ให้ความกระจ่างว่า พวกไอริชและพวกสแกนดินิเวียไม่เคยไปถึงนอกจากเกาะกรีนแลนด์และบางส่วนของดินแดนในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ (แคนาดา) เท่านั้น และภูมิความรู้ทางภูมิศาสตร์ของพวกเขาก็ไม่ได้เลยไปจากสถานที่เหล่านี้


10. เกาะอัซซอซีลฺ มีความยาวราว 15 วันในเส้นแวงที่ 10 ที่เกาะนี้มีเมืองขนาดใหญ่อยู่ 3 แห่ง มีผู้คนอาศัยอยู่และมีความเจริญ บรรดาพ่อค้าจะเดินทางไปยังเกาะนี้ และซื้อแกะตลอดจนหินมีค่าหลากสีจากที่นั่น เคยเกิดความเลวร้ายขึ้นกับผู้คนที่นั่นจนผู้คนส่วนใหญ่ล้มตาย คนที่เหลือรอดเพียงเล็กน้อยได้อพยพไปยังดินแดนของรูม (โรมัน)

ณ จุดนี้ อิบนุ อัลวัรดีย์ได้ระบุถึงการมีอยู่ของอารยธรรมในทวีปอเมริกา อารยธรรมเหล่านี้พวกยุโรปได้ค้นพบหรืออ้างว่าค้นพบภายหลังระยะเวลาอันยาวนานหลายปีจากการจับพลเมืองแห่งอารยธรรมนั้นเป็นทาสและเข่นฆ่าพวกเขาตลอดจนสูบทรัพยากรของดินแดนนั้นสู่เมืองแม่ในยุโรป

11. เกาะลาเกาะฮฺ คือเกาะขนาดใหญ่ ที่เกาะนี้มีไม้หอมที่เหมือนไม้ฟืน แต่ไร้ค่าและไร้กลิ่นเมื่อมันอยู่ที่นั่น จนกระทั่งเมื่อไม้หอมนี้ถูกนำออกจากดินแดนนั้นมันก็จะมีกลิ่น เกาะนี้มีความเจริญและมีชุมชนตั้งอยู่ ในทุกวันนี้มีฝูงงูขนาดใหญ่ได้ออกมาและฝูงงูนั้นก็ครอบครองดินแดนดังกล่าว

แผนที่แบ่งทะเล ของอัล-บีรูนียฺ12. เกาะเซารี่ยะฮฺ ที่เกาะนี้มีต้นไม้และลำธาร แต่ว่าไม่มีอาคารบ้านเรือนของผู้คน ในท้องทะเลแห่งความมืดมนนี้มีสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ มีรูปร่างแตกต่างกันและน่าสะพรึงกลัว กล่าวกันว่า : ปลาในท้องทะเลนี้หัวของมันจะผ่านไปเหมือนกับภูเขาลูกใหญ่ที่สูงลิบลิ่ว หลังจากนั้นสักช่วงหนึ่งหางของมันก็จะผ่านเลยไป ว่ากันว่าระยะนับจากหัวและหางของมันนั้น (ใช้เวลาเดินผ่าน) 4 เดือน (ดู อิบนุ อัลวัรดีย์ ; ค่อรีดะตุ้ล อะญาอิบฯ หน้า 58,59 สำนักพิมพ์ อุสมาน อับดุรรอซิก , อียิปต์ ฮ.ศ. 1302)

ปลาประหลาดที่อิบนุ อัลวัรดีย์ได้กล่าวถึงก็คือปลาวาฬนั่นเอง เพราะในมหาสมุทรแอตแลนติกจะมีปลาวาฬอยู่เป็นจำนวนมาก

อิบนุ อัลวัรดีย์ ได้กล่าวถึงรายละเอียดของเกาะจำนวน 12 เกาะ จากทั้งหมด 17 เกาะ ซึ่งเขาระบุว่าเคยมีคนไปถึงหมู่เกาะดังกล่าว บางทีอิบนุ อัลวัรดีย์ได้ลืมกล่าวเกาะอีก 5 แห่งเนื่องจากมันไม่มีความสำคัญ หรือไม่ก็เป็นการผิดพลาดจากผู้คัดลอกตำราที่ลืมกล่าวถึงเกาะที่เหลืออยู่ขณะถ่ายทอดเนื้อหาจากตำราต้นฉบับ จึงมีเพียงแค่ 12 เกาะเท่านั้น

เมื่อเราได้พิจารณาดูถึงลักษณะต่างๆ ซึ่งอิบนุ อัลวัรดีย์ได้ถ่ายทอดเอาไว้ –ทั้งที่เราพิจารณาเองและมีผู้บ่งชี้ถึง- เราจะพบว่าข้อมูลโดยรวมถึงขั้นของความถูกต้องพร้อมกับถือว่าเรื่องที่น่ากลัวบางเรื่องนั้นเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะผู้แต่งตำราเล่มนี้ต้องการเอาใจคนอ่านทั่วไปที่มักชอบฟังเรื่องที่แปลกประหลาดและพิสดาร

ภาพแบ่งแคว้นทั้ง 7 ตามที่มีระบุในตำรา "อัล-มุอฺญัม" ของ ยากู๊ต

ก่อนที่เราจะละจากตำราของอิบนุ อัลวัรดีย์ ก็สมควรที่เราจะรับรู้ถึงสิ่งที่เขาได้เขียนเอาไว้เกี่ยวกับมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของอเมริกา อิบนุ อัลวัรดีย์กล่าวว่า : ในท้องทะเลมีหมู่เกาะมากมายไม่มีผู้ใดรู้ถึงจำนวนของมันนอกจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) นอกจากว่ามีบางส่วนของหมู่เกาะดังกล่าวที่รู้กันดีว่ามีผู้คนเคยไปถึงมัน บ้างก็ว่า ในทะเลนี้มีเกาะ 312 แห่งที่มีความเจริญและมีผู้คนอาศัยอยู่ และที่เกาะเหล่านั้นมีอาณาจักรที่ปกครองโดยเหล่ากษัตริย์อยู่หลายองค์ (อิบนุ อัลวัรดีย์ อ้างแล้ว หน้า 58)

นั่นหมายความว่า  อิบนุ อัลวัรดีย์ ได้ยืนยัน – ตามที่เขากล่าวมา – ว่ามีความพยายามอยู่หลายครั้งจากชาวมุสลิมเพื่อค้นพบสิ่งที่ไม่เป็นที่รู้จักในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือทะเลจีนในยุคของเขา และที่นั่นมีหมู่เกาะที่ผู้คนเคยไปถึง และเขายังได้ยืนยันข้อเท็จจริงที่สำคัญอีกเช่นกัน

ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นได้เปิดโปงการหลอกลวงที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นเกี่ยวกับการเดินของแมกเจนแลนที่ว่า แมกเจนแลนคือบุคคลแรกที่ค้นพบช่องแคบติดต่อระหว่างจีน (แปซิฟิก) กับทะเลแห่งความมืดมน (แอตแลนติก) ทางตะวันออก อิบนุ อัลวัรดีย์ ได้ระบุว่า วาสโก ดิ บิลบาโอ คือผู้คนพบมหาสมุทรแปซิฟิกก่อนหน้าแมกเจนแลนโดยข้ามช่องแคบดาริอัน และได้พบกับหัวหน้าเผ่าต่างๆ ที่สวมผ้าโพกศีรษะ และใส่เสื้อคลุมกว้างๆ ที่ห่อจากผ้าฝ้ายสีขาวเหมือนอย่างชาวอาหรับ…” (ดร.มุฮำมัด ร่อชีด อัลฟีล อ้างแล้ว หน้า 7)