การยกเลิกระบอบคิลาฟะห์

        คงไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อนว่าระบอบคิลาฟะห์ได้ถูกยกเลิกในระยะเวลาอันรวดเร็ว ภายหลังเหตุการณ์ต่างๆ ทีได้ประดังกันเข้ามา เหล่าปัจจามิตรของอิสลามได้มุ่งพยายามสร้างความแตกแยกในจักรวรรดิอุษมานียะห์โดยหมายจ้วงแทงเข้าสู่หัวใจของจักรวรรดิเป็นดาบสุดท้าย

        ลอเรนซ์ได้กล่าวอยู่หลายครั้งว่า : พวกเราจะต้องผลักดันให้ตะวันตกยื้อแย่งสิทธิอันชอบธรรมของตะวันตกจากน้ำมือชาวตุรกีด้วยการใช้กำลัง เพราะด้วยการใช้กำลังนี่เองเราก็จะสามารถกำจัดอิสลามและอันตรายของอิสลามได้อย่างสิ้นซาก

        แผนการต่างๆ ของเหล่าพันธมิตรที่วางไว้ได้ถูกปิดบังเอาไว้อย่างลับสุดยอด เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกแบบอิสลามนิยมในหมู่มหาชนมุสลิม และเหล่าศัตรูก็เที่ยวตระเวนสอดส่องหาวีรบุรุษสักคนเพื่อแสดงบทบาทตามแผนการที่วางไว้ พวกพันธมิตรยุโรปได้ศึกษาถึงบุคลิกและนิสัยใจคอของบรรดานักการเมืองและเหล่าแกนนำที่โดดเด่น และแล้วพวกพันธมิตรก็ได้ข้อสรุปว่าวิธีการเดียวที่จะล้มล้างระบอบคิลาฟะห์นั้นแฝงตัวอยู่ในการใช้กำลังทหาร พวกเขาจึงมุ่งเป้าไปยังนายทหารสองคนที่มีความทะเยอทะยาน ชิงชังพวกเยอรมัน และคัดค้านในการเข้าสู่สงครามนายทหารสองคนนี้คือ ญะมาล ปาชา ซึ่งปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับอังกฤษถึงแม้ว่าจะหลอกล่อและโน้มน้าวมากเพียงใดก็ตาม และนายทหารคนที่สองก็คือ มุสตอฟา กามาล

        อังกฤษได้เริ่มติดต่อกับมุสตอฟา กามาลนับตั้งแต่ปีค.ศ.1917 อันเป็นช่วงเวลาที่มุสตอฟา กามาลเป็นแม่ทัพอยู่แนวหน้าในปาเลสไตน์ พวกอังกฤษได้ขอให้มุสตอฟา กามาลก่อการกบฏยึดอำนาจจากซุลตอน และสัญญาว่าอังกฤษจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 751) คำสัญญาของอังกฤษได้เข้ากุมหัวใจของมุสตอฟาและตรงกับจริตยิ่งนักซึ่งก็คงเป็นเช่นนั้นเพราะมุสตอฟา กามาลหาได้พึงพอใจต่อตำแหน่งและยศศักดิ์ที่ตนได้รับไม่

        อันวาร ปาชา ซึ่งรู้ซึ้งถึงธาตุแท้ของมุสตอฟาเยี่ยงบุคคลที่กำลังอ่านหนังสือที่เปิดอยู่ได้ กล่าวว่าเมื่อมุสตอฟาได้ถูกถามถึงเหตุที่เขาได้เลื่อนยศช้า เขาตอบว่า : พวกท่านจงรับรู้เถิดว่า เมื่อเขาสามารถไต่เต้าถึงตำแหน่งปาชา เขาย่อมปรารถนาที่จะเป็นซุลตอนและเมื่อเขาได้เป็นซุลตอน เขาย่อมปรารถนาที่จะเป็นพระเจ้า (อัรร่อญุล อัซซ่อนัม หน้า 90)

        ภายหลังข้อเรียกร้องของอังกฤษ มุสตอฟา กามาลได้ติดต่อกับนายทหารแห่งอุษมานียะห์ที่เป็นเพื่อนพ้องของตนสองนายซึ่งเป็นแม่ทัพที่มียศเท่ากับตนและตั้งค่ายรบอยู่ใกล้ๆ กัน มุสตอฟาเผยแผนคิดการใหญ่ให้กับนายทหารทั้งสอง แต่เมื่อได้รับฟังนายทหารทั้งสองคนถือว่านั่นเป็นเรื่องใหญ่และปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือและกล่าวกับมุสตอฟาว่า : เนื่องจากว่าท่านเองก็มิเคยกระทำผิดถึงขั้นประหารชีวิตมาก่อน เราจะขอปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ เราขอเตือนท่านว่าให้ลืมเรื่องนี้เสีย เราจะถือว่าท่านไม่เคยพูดเรื่องนี้กับเรา และเราเองก็ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้จากท่าน

        สำหรับนายทหารทั้งสองนี้เรื่องได้จบลง แต่สำหรับมุสตอฟา กามาลแม่ทัพแห่งอุษมานียะห์กลับไม่จบ เขาได้ตอบรับที่จะสมรู้ร่วมคิดกับอังกฤษเพื่อทำให้เป้าหมายของอังกฤษสัมฤทธิผล (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ หน้า 751)

        แผนการที่วางไว้เริ่มสัมฤทธิผลเมื่ออังกฤษสามารถกำชัยชนะเหนือกองทัพอุษมานียะห์ในแนวรบด้านปาเลสไตน์ ด้วยความดีความชอบของมุสตอฟา กามาล ผู้เป็นสมุนรับใช้ มุสตอฟาสั่งให้กองทัพของตนล่าถอยจากการเผชิญหน้ากับกองทัพอังกฤษสู่เอเดรียโนเปิ้ลและกูนียะห์ เป็นเรื่องแปลกที่ว่ากองทัพที่ได้รับชัยชนะนั้นเป็นกองทหารม้าที่ตีฝ่าแนวหน้ากองทัพอุษมานียะห์ และรุกคืบจนถึงแนวหลังของกองทัพ 4 กองทัพด้วยกัน ซึ่งตกอยู่ในกำมือของศัตรูทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นม้าศึก พลทหาร และนายทหาร ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ (อัรร่อญุล อัซซ่อนัท หน้า 472) และที่แปลกหนักเข้าไปอีกก็คือฝ่ายบัญชาการรบกลับไม่ได้ลงโทษมุสตอฟา กามาลแต่อย่างใด กลับถือว่ามุตอฟามีเจตนาดี

        อีกกรณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นสมุนรับใช้ของมุสตอฟาให้กับอังกฤษก็คือ การเป็นแนวร่วมกับอังกฤษในการต่อต้านจักรวรรดิอุษมานียะห์ด้วยการนำกำลังทหารปะทะกับฝ่ายเยอรมันซึ่งเป็นพันธมิตรของตุรกีในช่วงสงครามโลกที่ 1 และให้การพักพิงแก่พวกปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจที่หลบหนีมาภายหลังการปฏิวัติล้มเหลว กล่าวคือ ได้มีนายทหารผู้หนึ่งนามว่า ยะอ์กู๊บ ญะมีล แบก์ เป็นแกนนำก่อการกบฏได้รับการคุ้มครองจากมุสตอฟา กามาล ในแคว้นกูฟก๊อซ อันเป็นเรื่องที่ชวนให้คิดว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดของมุสตอฟา กามาลในการกบฏครั้งนั้น นอกจากนี้มุสตอฟา กามาลยังได้มอบดินแดนในแนวรบด้านซีเรียแก่ฝ่ายอังกฤษ และถอนกำลังทหารของตนสู่อนาโตเลีย (อัลอัฟอา อัลยะฮูดียะห์ หน้ า90) ตลอดจนการที่มุสตอฟา กามาลได้ติดต่อกับลอว์เร้นซ์ ออฟ อาระเบีย โดยผ่านทางแกนนำชาวอาหรับที่สนับสนุนอังกฤษอีกด้วย


การสร้างวีรบุรุษอันจอมปลอม

การสร้างผู้นำหรือวีรบุรุษจำเป็นจะต้องมีสองด้าน แต่ละด้านจะแสดงบทบาทของมันเพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์ซึ่งกันและกัน

        ด้านที่หนึ่ง คือการที่อังกฤษจะต้องทำให้บุคคลผู้นั้นเป็นที่ปรากฏต่อหน้ามวลชนในรูปลักษณ์ของวีรบุรุษผู้ห้าวหาญและจะต้องสร้างวีรกรรมและชัยชนะของวีรบุรุษผู้นี้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยในวีรกรรมเหล่านั้นเขามีเรือนร่างร่วมอยู่เท่านั้น ในทำนองเดียวกันจะต้องประโคมข่าวและสร้างภาพความเป็นวีรบุรุษประหนึ่งดังว่าไม่เคยมีผู้ใดเหมือนในประวัติศาสตร์ ซึ่งเราจะกล่าวถึงต่อไปถึงการสู้รบที่มุสตอฟา กามาลได้รับชัยชนะด้วยการช่วยเหลือของอังกฤษ

        ด้านที่สอง การแสดงออกด้วยการใช้ศาสนาเป็นฉากบังหน้า ซึ่งมุสตอฟา กามาลได้ประสบความสำเร็จในการระดมพลังมวลชนตุรกีด้วยอาวุธแห่งอิสลาม โดยที่มุสตอฟาสามารถปลุกระดมจิตสำนึกของมวลชนให้ปกป้องมาตุภูมิซึ่งถูกพวกครูเสดกรีซละเมิดและรุกราน มุสตอฟา กามาลมักสร้างภาพว่ามีความเคร่งครัดศาสนา เขาจะนมัสการละหมาดนำพลทหาร แสดงความอารีอารอบต่อบรรดาอุล่ามาอ์และใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือในการน้อมนำจิตใจและปลุกขวัญกำลังใจของเหล่าทหารให้พลีชีพในวิถีทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า (อัลอัฟอา อัลยะฮูดียะห์ หน้า90)

        เหล่าปัจจามิตรได้เล็งเห็นว่า การล้มล้างระบอบค่อลีฟะห์อิสลามนั้นมิใช่เรื่องง่าย และการล้มล้างจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้างวีรบุรุษด้วยภาพลักษณ์ที่ดูยิ่งใหญ่และน่าเกรงขาม สร้างภาพให้วีรบุรุษประหนึ่งดังว่าปาฏิหาริย์นั้นเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของเขา ซึ่งบทบาทเช่นนี้จักเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการกำหนดเป้าหมายสามประการด้วยกัน คือ สร้างวีรกรรมทางการทหารแก่วีรบุรุษ สร้างอุดมการณ์ทางการเมือง และเสแสร้งแสดงออกด้วยการใช้ศาสนาบังหน้า

        พวกศัตรูอิสลามมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างภาพการรบที่ทำให้วีรบุรุษปรากฏขึ้นในฐานะผู้กู้วิกฤติ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดสมรภูมิ อันนาฟุรเตาะห์ บริเวณช่องแคบคาร์ดาแนลระหว่างกองทัพอุษมานียะห์ภายใต้การนำทัพของมุสตอฟา กามาล และกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามดำเนินไปหลายวันด้วยกัน โดยที่ต่างฝ่ายก็มิสามารถกำชัยชนะได้อย่างเด็ดขาด แต่ละฝ่ายยังคงยึดที่มั่นทหารทางการทหารของตนเอาไว้อย่างเหนียวแน่นเป็นระยะเวลาหลายเดือน

        และแล้วก็เกิดสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ในค่ำคืนหนึ่งจากค่ำคืนแห่งฤดูหนาว และเป็นไปอย่างลับสุดยอดอังกฤษได้เคลียร์กองกำลังทหารของตนออกจากชายฝั่งกาลีโปลี กองทัพเรือของฝ่ายพันธมิตรถอยกลับจากน่านน้ำตุรกีอย่างรวดเร็วจนน่าอัศจรรย์ใจสงครามได้สิ้นสุดลงซึ่งนับเป็นความปราชัยครั้งใหญ่ของฝ่ายพันธมิตรให้กับมุสตอฟา กามาล

        มุสตอฟา กามาลกลับสู่ราชธานีอิสตันบูลอย่างผู้มีชัย ชื่อเสียงของมุสตอฟาเลื่องลือกระฉ่อนไปทั่วตุรกี และเขาก็พยายามทำให้ผู้อื่นเห็นด้วยกับการถอนตัวออกจากสงครามโลกโดยร่วมเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ มีแกนนำสำคัญหลายคนเห็นด้วยกับข้อเสนอ หนึ่งในนั้นคือ รัฐมนตรีการต่างประเทศ ฝ่ายพันธมิตรเข้าสู่ราชธานี รัฐบาลของอันวาร ปาชาล้มและอิซซัต ปาชาก็ถูกแต่งตั้งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในภายหลังวิกฤติภายในจักรวรรดิก็ถึงจุดระเบิดนับตั้งแต่การทำสนธิสัญญาพักรบ

        กล่าวคือ ฝ่ายสัมพันธมิตรยืนกรานอย่างชัดเจนว่า ไม่พร้อมสำหรับการหารือกับอันวาร ปาชา โดยถือว่า อันวาร ปาชา คือผู้รับผิดชอบต่อการที่ตุรกีเข้าสู่สงคราม แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรตอบรับที่จะหารือกับอิซซัต ปาชา หากอิซซัตถูกแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องนี้มิใช่เหตุบังเอิญแต่ประการใด เพราะมุสตอฟา กามาลคือผู้ที่พยายามวิ่งเต้นเสนออิซซัตให้ดำรงตำแหน่งนากยกรัฐมนตรี เมื่ออิซซัตขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลการหารือก็เริ่มขึ้น โดยอังกฤษได้ลงนามในสนธิสัญญาแทนฝ่ายสัมพันธมิตรกับอุษมานียะห์ แต่ในภายหลังอังกฤษก็เรียกร้องซุลตอนให้ปลดอิซซัต ปาชา ออกจากตำแหน่ง เตาฟิก ปาชาจึงถูกแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน บุคคลผู้นี้มีใจฝักใฝ่อังกฤษมากกว่าอิซซัต ปาชา (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 257)

        ยังมีกรณีวิกฤตอยู่อีกเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ อังกฤษได้ร้องขอให้ค่อลีฟะห์ประกาศยุบสภาผู้แทน โดยอ้างว่าสภาผู้แทนเป็นสภาที่นิยมอุษมานียะห์มิใช่ตุรกี ฝ่ายรัฐสภาเองก็ยืนกรานต่อค่อลีฟะห์ให้คงบทบาทของสภาเอาไว้และรักษาอธิปไตยของจักรวรรดิ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาโดยส่วนใหญ่สังกัดพรรคเอกภาพซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนโยบายของจักรวรรดิ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาโดยส่วนใหญ่สังกัดพรรคเอกภาพซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนโยบายการทำสงคราม พวกนี้ได้ใช้มุสตอฟา กามาลเป็นหัวหอกเรื่องนี้ แต่ทว่ามุสตอฟา กามาลก็มิได้ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด ซุลตอนก็ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศยุบรัฐสภา (ตารีค อัดเดาะลห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 258)

        อังกฤษจึงกลายเป็นผู้ออกคำสั่งโดยปริยาย ในภายหลังอังกฤษยังได้เคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มสุญญากาศทางการเมือง โดยผลักดันให้บรรดาสมุนผู้รับใช้ก่อความไม่สงบและสร้างภาพพจน์ต่อราชสำนักว่าไร้ความสามารถในการกระทำการอันใดได้ ด้วยเหตุนี้พวกอังกฤษและบริวารของตนได้ทำให้จักรวรรดิมีภาพลักษณ์ที่ไม่สู้ดีมากขึ้นไปอีก กล่าวคือการยุบสภาย่อมบ่งชี้ว่าจักรวรรดิไร้ศักยภาพในการปกครอง ภาพของสุญญากาศทางการเมืองก็เด่นชัดมากขึ้น ไม่มีคณะมนตรี ไม่มีสภา จักรวรรดิกลายเป็นอัมพาตโดยสิ้นเชิง ฝ่ายค่อลีฟะห์เองก็อยู่ในพระราชวังเยี่ยงผู้ถูกคุมขัง ผู้คนก็ขาดผู้บริหารราชการแผ่นดินและมีความรู้สึกเหมือนคนสิ้นชาติ สภาพการณ์ดำเนินไปเช่นนี้เป็นเกือบเวลา 6 เดือน (อ้างแล้ว หน้า 258) ฝ่ายอังกฤษเองก็พยายามปลุกระดมความคิดในเชิงรัฐนิยมและการเป็นเอกราชของตุรกี ในเวลาเดียวกันนี้การเคลื่อนไหวของมุสตอฟา กามาลก็ดำเนินไปอย่างลับๆ โดยมีภาพลักษณ์ในความพยายามต่อการกำจัดซุลตอน มุสตอฟาเริ่มพูดถึงสิ่งดังกล่าวอยู่บ่อยครั้งต่อหน้าสาธารณชนและเพื่อนฝูงของตน อีกทั้งยังได้เสนอให้ย้ายฐานบัญชาการสู่อนาโตเลีย

        มีการตั้งข้อสังเกตว่าอังกฤษเป็นผู้ปูทางให้เกิดบรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้เพื่อประโยชน์ของมุสตอฟาด้วยการสร้างสุญญากาศทางการเมืองและติดตามมาด้วยชัยชนะต่อกรีซที่ถูกอุปโลกน์อันเป็นการสร้างภาพพจน์ของวีรบุรุษที่ถูกแอบอ้างให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

        ซุลตอน มุฮำหมัด ว่าฮีดุดดีน ทรงตระหนักดีว่าการคงอยู่ของตุรกีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่มชาติตะวันตกทั้งนี้เพื่อสร้างความสมดุลในหมู่ชาติตะวันตกด้วยกันเอง พระองค์ตระหนักว่าอังกฤษและฝรั่งเศสคงไม่ยอมให้มีการทำลายล้างตุรกีอย่างสิ้นซาก เพราะนั่นเท่ากับว่าเป็นการเปิดช่องว่างให้แก่รุสเซียเพื่อเข้ายึดครองคาบสมุทรอนาโตเลียและตามมาด้วยการยึดครองช่องแคบบอสฟอรัสและดาดาร์แนล ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญของโลกในด้านยุทธศาสตร์

        ฉะนั้นจึงเป็นการดีกว่าสำหรับอังกฤษและฝรั่งเศสต่อการคงอยู่ของจักรวรรดิอุษมานียะห์โดยทำให้จักรวรรดิเป็นเพียงรัฐเล็กๆ เหมือนกับบอลข่านตามบรรทัดฐานของความคิดเช่นนี้ ซุลตอนจึงรู้ดีว่าการนำเอาบางสิ่งที่ถูกริดรอนกลับคืนมาคงมิอาจสัมฤทธิ์ได้ด้วยการให้เปล่า หากแต่จำเป็นต้องทำสงครามเพื่อนำสิ่งนั้นกลับคืนมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ก็คือ การปฏิวัติลุกฮือภายในประเทศ โดยที่ซุลตอนก็ทรงรู้จักมุสตอฟา กามาลเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาทและเดินทางสู่กรุงเบอร์ลินเพื่อบรรดานักการเมืองจักได้ถกเถียงอภิปรายและตื่นตัวในระหว่างลงนามในสนธิสัญญาประนีประนอมกับสัมพันธมิตรซึ่งจะทำให้สามารถนำเอาสิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมาจากเหล่าปัจจามิตร ดังนั้นมุสตอฟา กามาลจึงได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการเหล่าทัพแห่งอนาโตเลีย โดยมีอำนาจเต็มและยังได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นจำนวนถึง 20,000 ลีร่าทองคำอักด้วย (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ หน้า 750)

        ทางราชสำนักได้รับแจ้งข่าวจากฝ่ายพันธมิตรว่า กองทัพกรีซได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองอิซมีรหลังจากที่ทราบข่าวได้ 3 วัน มุสตอฟาจึงออกจากอิสตันบูลในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1917 โดยใช้เส้นทางทางทะเลพร้อมด้วยเหล่าทหารและพลเรือนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมุสตอฟาได้คัดเลือกให้เป็นอาสาสมัคร มุสตอฟา เดินทางถึงเมืองซามซุน (แซมซอน) ในวันที่ 19 พฤษภาคม กองทัพและพลเรือนก็ล้อมเมืองนี้เอาไว้และการลุกฮือก็เริ่มขึ้น (เมากิฟ อัลอักล์ วัลอิลม์ฯ 1/469)

        ณ จุดนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยื่นหนังสือประท้วงราชสำนักที่ได้ล้ำเส้นบทบาทของฝ่ายพันธมิตร โดยอ้างถึงข้อตกลงในสนธิสัญญาพักรบและร้องขอให้ราชสำนักเรียกตัวมุสตอฟากลับอิสลตันบูล แต่ทว่ามุสตอฟาก็ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่มุสตอฟามีความได้เปรียบในด้านสถานการณ์

        ในการประชุมเมื่อปี ฮ.ศ.1377 ความสำเร็จตกเป็นของบรรดาแกนนำและผู้แทนจากภูมิภาคตะวันออกและมีมติให้ปกป้องอธิปไตยของประเทศ มุสตอฟาได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานการประชุม ในภายหลังได้มีการประชุมในเมืองซีวาส มุสตอฟาก็ได้รับให้เป็นประธานองค์กรบริหารอีกครั้ง (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 261)

        เมื่อรัฐบาลอิสตันบูลได้รับทราบถึงการเคลื่อนไหวและมติเช่นนี้ รัฐบาลจึงได้มีคำสั่งให้ฝ่ายกลาโหมทำการปราบปราม การจัดเตรียมกองทัพเพื่อส่งไปปราบปราม การเคลื่อนไหวดังกล่าวก็เป็นไปอย่างพร้อมมูลแต่ทว่าอังกฤษกลับทัดทานเอาไว้ ทำไมอังกฤษจึงห้ามกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลในการจับกุมมุสตอฟาและแนวร่วม? คำตอบก็คือ เพื่อปกป้องมุสตอฟา กามาลและแนวร่วมมิให้ก่อความเสียหายแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งกำลังสร้างความวุ่นวายและร้องขอให้รัฐบาลเข้าปราบปรามและเพื่อเป็นการเสริมสร้างสถานภาพของมุสตอฟาให้ดูสูงส่งและน่าเกรงขามในสายตาของเหล่านายทหารและมวลชน ในเวลาเดียวกันก็พยายามสร้างภาพพจน์ของค่อลีฟะห์ และศูนย์กลางของระบอบการปกครองให้เสื่อมเสียชื่อเสียงในสายตาของประชาชน (อ้างแล้ว หน้า 263)

        บางคนอาจจะตั้งคำถามว่า กองทัพของอังกฤษได้ล่าถอยจากอัซกี ชะฮัร ซึ่งถูกมุสตอฟาและแนวร่วมปิดล้อมตลอดจนเมืองกูนียะห์ โดยไม่มีการปะทะกันแม้แต่น้อยเป็นไปได้อย่างไร? และด้วยการถอนทัพของอังกฤษจากเมืองทั้งสอง ก็ทำให้อนาโตเลียปลอดจากกองกำลังต่างชาติโดยสิ้นเชิง สถานการณ์เป็นไปตามสายตาของประชาชนว่าที่อนาโตเลียมีกองทัพ 2 ฝ่าย กำลังต่อสู้กันอยู่ในขณะที่ผู้คนกลับมองเห็นว่าซุลตอนมีทีท่าเข้ากับฝ่ายอังกฤษซึ่งมักจะเรียกร้องให้พลเมืองตุรกีเชื่อฟังคำสั่งของซุลตอนเสมอ ทั้งที่มุสตอฟาและแนวร่วมของตนกำลังต่อต้านอังกฤษ

        ด้วยเหตุนี้มุสตอฟาและแนวร่วมจึงสามารถแสวงหาแนวร่วมจากเหล่ามหาชนและนายทหารส่วนใหญ่จากภาพลักษณ์ดังกล่าว โดยมีคำขวัญที่จอมปลอมว่า มุสตอฟา กามาลได้กวาดล้างกองกำลังต่างชาติจากอนาโตเลียและสร้างประเทศขึ้นใหม่ในอังการ่าจากที่มีมีอะไรเลย (ดาอิเราะห์ อัลมะอารีฟ อัลอิสลามียะห์ 2/202)

        เมื่อเป็นเช่นนี้การเผชิญหน้าระหว่างมุสตอฟากับรัฐบาลอันชอบธรรมในอิสตันบูล จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ฝ่ายค่อลีฟะห์จึงได้ทรงนำทัพมุ่งสู่เมืองอังการ่าและอีกทัพมุ่งสู่แคว้นเคอร์ดิซตาน เนื่องจากมีเผ่าเคิร์ดก่อความไม่สงบและในขณะที่อังการ่าเกือบจะตกอยู่ในกำมือของกองทัพค่อลีฟะห์อยู่รอมร่อ และอาตาร์เติร์กพร้อมด้วยขบวนการของตนก็จะต้องจบลงนั้นเงื่อนไขของสนธิสัญญาซีเฟอร์ก็ถูกประโคมเป็นการใหญ่ด้วยสื่อมวลชน มติมหาชนจึงได้ลุกฮือต่อต้าน    ค่อลีฟะห์และแก้แค้นอังกฤษ สถานการณ์จึงกลับตาลปัตร กองทัพของฝ่ายค่อลีฟะห์ก็พลาดท่าปราชัย อังการ่าก็ถูกยึดครอง ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเลื่อนไขในสนธิสัญญาดังกล่าวซึ่งซุลตอนทรงเห็นชอบถือเป็นความอัปยศของจักรวรรดิ

        ฝ่ายมุสตอฟา กามาลจึงเป็นฝ่ายมีชัยในการเผชิญหน้ากับซุลตอนในครั้งนั้น ซึ่งมีอังกฤษเป็นผู้วางหมาก อีกทั้งอังกฤษยังวางท่านิ่งเฉยต่อการหลั่งไหลของอาวุธยุทโธปกรณ์และเงินตราสู่กองทัพของมุสตอฟา กามาล ซ้ำร้ายอังกฤษยังให้การรับรองต่อรัฐบาลแห่งอังการ่า ในขณะที่อังกฤษได้เชื้อเชิญตัวแทนของรัฐบาลอังการ่าเข้าร่วมหารือ ณ ลอนดอนพร้อมกับตัวแทนของรัฐบาลอิสตันบูลซึ่งชอบธรรม

        กำลังของฝ่ายมุสตอฟา กามาลได้เข้มแข็งมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะหลังจากตัวแทนของมุสตอฟา กามาลเข้าร่วมเป็นการเฉพาะในการทำข้อตกลงแห่งลอนดอน สนธิสัญญาหลายฉบับจึงถูกลงนามโดยมุสตอฟา กามาลกับฝ่ายพันธมิตรยุโรปในเวลาต่อมา


เหตุการณ์ในซักกอรียะห์

        ปัญหาความยุ่งยากของกรีซยังคงติดพันโดยมิอาจแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ จนกระทั่งปัญหาสงครามระหว่างอาตาเติร์กกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ถูกเคลียร์ มุสตอฟาจึงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพของตนโดยได้รับการสนับสนุนอาวุธจากฝ่ายรุสเซีย และผ่านแนวยึดครองของอังกฤษในบอสฟอรัสและทะเลดำ พวกกรีซได้เริ่มก่อสงครามกับชนชาติตุรกีภายหลังมีความมั่นใจจากการหนุนหลังของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร การรบพุ่งดำเนินไปเป็นระยะเวลาราวปีครึ่ง ในที่สุดฝ่ายสัมพันธมิตรก็ประกาศความเป็นกลาง (อันจอมปลอม) โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด สงครามจึงแปรเปลี่ยนสู่การรบอย่างเป็นระบบ และกรีซได้ยาตราทัพของตนสู่เมืองอัซกี ชะฮัรในปี ฮ.ศ.1340 ตลอดจนรุกคืบสู่เมืองอัฟยูนกูเราะห์

        ครั้นต่อมาพวกกรีซก็เริ่มปราชัยและถอยร่นสู่เมืองบูรซะห์ ทว่าพวกกรีซกก็พยายามใช้กำลังทหารเข้าโจมตีนครอิสตันบูล อังกฤษจึงเข้าขัดขวาง พวกกรีซจึงมุ่งหน้าสู่ทิศใต้และตะวันออก และได้ปะทะกับตุรกีซึ่งมีอิซมัต ปาชาเป็นแม่ทัพ ต่อมาพวกกรีซก็รุกคืบสู่กูตาฮียะห์ และกองทหารกรีซก็สามารถยึดครองเมืองอัฟยูน กูเราะห์ ฮิซอร ได้สำเร็จในภาคใต้ของตุรกี ต่อมากองทัพกรีซก็เดินทัพย้อนสู่ภาคเหนืออีกครั้ง ในช่วงนั้นเองมุสตอฟา กามาลก็เคลื่อนกำลังพลมาถึง และออกคำสั่งให้ยุติสงครามและล่าถอยสู่บริเวณใกล้กับซักกอรียะห์ และมุสตอฟาก็เดินทางกลับจากอัซกี ชะฮัร ด้วยขบวนรถไฟสู่อังการ่า ซึ่งบรรดาสมาชิกสภาอังการ่าได้เล่นงานมุสตอฟาด้วยความขุ่นเคืองเป็นการใหญ่ และต้องการให้มุสตอฟารับผิดชอบต่อความปราชัยดังกล่าว แต่ทว่าหลังจากได้ใช้ความพยายามอยู่พักใหญ่ มุสตอฟา กามาลกลับสู่ความเป็นผู้นำอีกครั้ง และปลุกระดมให้เหล่านายทหารมีใจฮึกเหิม กองทัพจึงเริ่มเข้มแข็งในสายตาของพวกเขา ทั้งที่เหล่านายทหารก็รู้จักถึงธาตุแท้ของมุสตอฟาเป็นอย่างดี

        พวกกรีซได้รุกคืบหน้าและรวมพลอยู่บริเวณด้านตะวันตกของเมืองซักกอรียะห์ สถานการณ์ก็ตกอยู่ในภาวะคับขันและวิกฤติมากขึ้นเป็นลำดับ

        นี่คือสถานการณ์ที่กำลังเข้าตาจนสำหรับตุรกี แล้วอะไรเกิดขึ้น?
        การโจมตีของกรีซก็ยุติลงโดยไม่มีวี่แววอย่างน่าฉงน ครั้นพลบค่ำการถอยทัพของกรีซก็เริ่มขึ้น แน่นอนเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ กองทัพตุรกีจึงกลับเป็นฝ่ายรุกบ้าง พวกกรีซได้ถอยกำลังออกจากอิซมีรและกองทัพตุรกีก็ยาตราเข้าสู่อิซมีร โดยไม่เสียกระสุนแม้แต่นัดเดียว ณ จุดนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเรียกร้องให้มีการสนธิสัญญาซึ่งกำหนดให้กรีซต้องถอนกำลังทหารของตนจากแคว้นตุรอเกีย (ตุรอเกีย (Thrac) ดินแดนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านตะวันตกขึ้นกับกรีซ และตะวันออกขึ้นกับตุรกี ในอาณาบริเวณระหว่างช่องแคบและทะเลมามาร่า เมืองสำคัญคืออิสตันบูล) ในที่สุด (อัรร่อญุล อัซซ่อนัม หน้า 257)

        การโฆษณาชวนเชื่อและการประโคมข่าวก็แสดงบทบาทของตน โดยเฉพาะกลุ่มชาติตะวันตกได้ถือว่าสงครามครั้งนี้ยิ่งใหญ่นัก ข่าวการได้รับชัยชนะอันจอมปลอมก็แพร่สะพัดไปทั่วโลกอิสลาม หัวใจของผู้คนก็อิ่มเอิบด้วยความปิติปราโมทย์ ชาวมุสลิมจึงถูกมุสตอฟา กามาลหลอกลวงด้วยวีรกรรมอันเป็นเพียงฉากที่ถูกกำกับเอาไว้โดยฝ่ายสัมพันธมิตร หัวใจของชาวมุสลิมก็ตื่นขึ้นด้วยความหวังและเทิดทูนวีรกรรมของ มุสตอฟา กามาล

        ด้วยประการฉะนี้ ความชื่นชมต่อวีรกรรมของมุสตอฟามีมากถึงขั้นที่ว่า บรรดานักกวีต่างก็ขับขานบทกวีของตน เป็นต้นว่าอะห์หมัด เชากีย์ ได้แต่งบทกวีเปรียบเปรยมุสตอฟา กามาลเยี่ยงท่านคอลด อิบนุ อัลวะลีดผู้ได้รับฉายา ซัยฟุลลอฮฺ (ดาบแห่งพระผู้เป็นเจ้า) และยังถือว่ามุสตอฟา กามาลได้สร้างวีรกรรมทัดเทียมกับซอลาฮุดดีน อัลอัยยูบีย์ก็ไม่ปาน นอกจากนี้อะห์หมัด เชากีย์ยังถือเอาชัยชนะของตุรกีที่มีต่อกองทัพกรีซเยี่ยงชัยชนะของชาวมุสลิมในสมรภูมิบัดร์อีกด้วย (ดูใน อัลอิดดิญาฮาด อัลวุฎอนียะห์ ฟี อัลอะดับ อัลมุอาซิร 2/22)

        กองทัพกรีซได้ถอนกำลังทหารของตนในช่วงเวลาที่ฝ่ายตนกำลังได้รับชัยชนะและเป็นต่อตุรกีอยู่หลายขุมย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงการกดดันกรีซของนานาชาติ หลักฐานบ่งชี้ถึงสิ่งดังกล่าวก็คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ร้องขอให้ทำสนธิสัญญาสงบศึก และเรียกร้องให้กองทัพกรีซถอนกำลังออกจากเขตยึดครองทั้งหมด การดังกล่าวก็เพื่อสร้างฐานกำลังอันมั่นคงแก่มุสตอฟา กามาลเพื่อแลกกับการที่มุสตอฟา กามาลจะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของพวกเขาในการล้มล้างระบอบคิลาฟะห์

        กรณีปัญหาตุรอเกีย (กรณีปัญหาตุรอเกียเกิดขึ้นภายหลังการถอนกำลังทหารกรีซออกจากเขตเอเชียน้อย (เอเชียไมเนอร์) มุสตอฟา กามาล จึงนำกองทัพของตนมุ่งหน้าสู่ตุรอเกีย อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับการประกาศเขตเป็นกลางของฝรั่งเศส , อังกฤษ และอิตาลี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งช่องแคบบอสฟอรัสและดาดาร์แนล ทั้งสามชาติมหาอำนาจได้ห้ามกรีซใช้กำลังทหารรุกล้ำผ่านเขตเป็นกลางดังกล่าวเพื่อเข้ายึดครองอิสตันบูล และทำทีเป็นห้ามฝ่ายกองทัพขอ งมุสตอฟา กามาล ในการยกทัพผ่านเขตกำหนดดังกล่าวเพื่อหวังยึดครองอิสตันบูลเช่นกัน

        ทว่ามุสตอฟา กามาลหาได้ใส่ใจต่อการขัดขวางดังกล่าว หากแต่ยังคงรุกคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง อังกฤษจึงแสดงเป็นทีว่าเข้าขัดขวางมุสตอฟาโดยเรียกระดมพลกองทัพอังกฤษเพื่อเผชิญหน้ากับกองทัพตุรกี อย่างไรก็ตามมุสตอฟา กามาลก็ยังคงยืนกรานที่จะนำกองทัพของตนรุกฝ่าเขตหวงห้ามในช่องแคบดาดาร์แนลเพื่อไปให้ถึงพวกกรีซ การเผชิญหน้าระหว่างกองทัพตุรกีและอังกฤษไม่มีการปะทะใดๆ เกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะฝ่ายอังกฤษได้มีคำสั่งห้ามทหารของตนยิงต่อสู้ ภายหลังได้มีการเจรจาระหว่างสองฝ่าย กรีซก็ถอนกำลังทหารของตนจากเขตตุรอเกียด้วยการเห็นชอบของอังกฤษ การดังกล่าวจึงถือว่าเป็นชัยชนะของมุสตอฟา กามาลซึ่งมีท่าทีมั่นคงมากยิ่งขึ้นไปอีก (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า269)

        นับได้ว่ากรณีปัญหาตุรอเกียเป็นการซ้อมรบและมหกรรมทางการทหารที่อังกฤษประสงค์ที่จะเสริมสร้างความมั่นคงต่อชัยชนะและวีรกรรมของมุสตอฟา กามาลให้โดดเด่นยิ่งขึ้นในสายตาของมหาชนทั่วไป โดยเฉพาะชาวมุสลิมซึ่งเฝ้าติดตามข่าวคราวของมุสตอฟา กามาลอย่างใจจดใจจ่อ และมหกรรมมาจัดฉากครั้งนี้ถือเป็นผลงานในการสู้รบของมุสตอฟา กามาลที่เขาได้กระทำเอาไว้ หรืออาจจะกล่าวว่าเป็นผลงานที่อังกฤษกำกับบทบาทวีรบุรุษให้แก่มุสตอฟา กามาลอีกเรื่องหนึ่งก็ว่าได้

        ด้านที่สาม  คือการแสดงออกหรือเสแสร้งว่ามีความเคร่งครัดในศาสนาเพื่อแสวงหาความชอบธรรมให้กับบุคลิกภาพและการกระทำของมุสตอฟา กามาลในสายตาของมหาชนที่มีศรัทธา มุสตอฟา กามาลได้ประสบความสำเร็จในการแสวงหาพลังร่วมโดยใช้ชื่ออิสลามบังหน้า เขาได้ปลุกระดมความรู้สึกของมวลชนให้เกิดความฮึกเหิมในการปกป้องมาตุภูมิซึ่งถูกพวกครูเสดกรีซรุกราน มีอยู่บ่อยครั้งที่มุสตอฟา กามาลมักจะนำละหมาดหน้าเหล่าพลทหารชั้นผู้น้อย และทำทีเสแสร้งว่ามีความนิยมที่จะคบค้าสมาคมกับบรรดานักวิชาการศาสนาและอารีอารอบต่อพวกเขา ทั้งนี้เพียงเพื่อใช้ในการนักวิชาการเป็นเครื่องมือในการปลุกขวัญกำลังใจของเหล่าทหารและพลเมืองสู่การอุทิศชีวิตในวิถีทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า (อัลอัฟอา อัลยะฮูดียะห์ หน้า 90 , ตารีค อัดเดา-ละห์ อัลอะลียะห์ หน้า 754) 

        มุสตอฟา กามาลยังได้เคยร่วมประชุมหารือกับท่านอะห์หมัด อัซซะนู-ซีย์ และยกคัมภีร์อัลกุรอ่านขึ้นเทิดทูนเยี่ยงสัญลักษณ์แห่งการปกป้องศาสนาอิสลาม (อัลอาลัม อัลอิสลามีย์ วัลอิสติอ์มาร อัซซิยาซี่ย์ หน้ า44) การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ด้านที่สามนี้ของ มุสตอฟา กามาล กอร์ปกับด้านทั้งสองที่กล่าวถึงข้างต้นได้ทำให้ความนิยมชมชอบถึงขั้นหลงใหลในตัวมุสตอฟา กามาล เป็นสิ่งที่โดดเด่นอย่างเป็นรูปธรรมในสายตาของชาวมุสลิมกระทั่งว่าพวกเขามีความดีใจต่อชัยชนะของมุสตอฟาและพร้อมที่จะชื่นชมต่อทุกสิ่งที่ปรากฏออกจากมุสตอฟา โดยที่ทัศนคติที่ดีและหวังว่าเบื้องหลังของ มุสตอฟา กามาล มีแต่ความดีความงาม ความมีทัศคติที่ดีต่อการกระทำของมุสตอฟ บรรลุถึงขั้นที่ว่าพวกเขาปกป้องและออกตัวรับแทนต่อการที่ มุสตอฟา กามาล ได้ปลดค่อลีฟะห์ออกจากพระราชอำนาจ และตั้งอังการ่าให้เป็นศูนย์กลางการปกครองของผู้นำประเทศ ทั้งๆ ที่การกระทำเยี่ยงนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครคิดหรืออาจหาญกระทำในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม ยิ่งไปกว่านั้นชาวมุสลิมที่หลงไปกับภาพพจน์อันจอมปลอมของมุสตอฟา กามาลได้ยังกล่าวโจมตีท่านค่อลีฟะห์และมุฟตีซึ่งได้มีคำสั่งวินิจฉัยได้ประหารชีวิตมุสตอฟา กามาลดังปรากฏชัดในบทกวีของอะห์หมัด เซากีย์ (อัลอิตติญาฮาด อัลวะฏอนียะห์ 2/22) ในภายหลังความหวังของบรรดาผู้ถูกหลอกลวงเหล่านี้ก็ต้องพังพาบไปหลังจากกาลเวลาได้ผ่านไปไม่นานนัก


ผนการขั้นสุดท้าย

        การดำเนินการตามด้านทั้งสามที่ได้กล่าวมาข้างต้นได้นำพามุสตอฟา กามาลให้บรรลุสู่อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในที่สุด อันเป็นไปตามสิ่งที่อังกฤษได้วางแผนการเอาไว้ บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้รับรู้ถึงเจตนาของมุสตอฟา กามาล และได้เตือนให้เขาระวังจากการสร้างความระคายเคืองต่อสถานภาพแห่งความเป็นค่อลีฟะห์ ส่วนหนึ่งจากบุคคลสำคัญที่เตือนมุสตอฟา กามาล จากการกระทำดังกล่าวคือนายพล กาซิม กุเราะห์ บากีร ซึ่งยึดมั่นต่ออุดมการณ์แห่งการปกครองในระบอบคิลาฟะห์ ตลอดจนนักศึกษาที่มุ่งเรียกร้องให้มีการพัฒนาปรับปรุงคนอื่นๆ ก็เช่นกัน (อัลอาลัม อัลอิสลามีย์ วัลอิสคิอ์มาร หน้า 46)

        แต่ทว่ามุสตอฟา กามาล ก็ยังคงดำเนินการเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวอย่างไม่ลดละ มุสตอฟามั่นใจว่าย่อมต้องมีฝ่ายที่มิเห็นด้วยกับทัศนะของตน เขาจึงกำจัดฝ่ายที่คัดค้านด้วยการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามและเห็นว่านั่นเป็นหนทางเดียวเท่านั้นในการดำเนินแผนการให้ลุล่วงและผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ก็จะเป็นใครไปเสียมิได้นอกจากอังกฤษผู้วางแผนบงการ พวกอังกฤษรู้แก่ใจว่าการล้มล้างระบอบคิลาฟะห์มิใช่เรื่องง่าย ดังนั้นบรรดานายทหารอังกฤษเช่น เฮอร์ริงตัน , วิลสัน และอาร์มสตรอง เป็นต้น จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อการนี้ ภายหลังการลงสนามในสนธิสัญญาสงบศึกเมื่อปี ฮ.ศ.1340 และการถอนกำลังทหารของกรีซก็ไม่มีกองกำลังต่างชาติใดอีกในตุรกีนอกจากอังกฤษเท่านั้น เฮอร์ริงตันจึงกระทำการโดยลำพัง ด้วยการเชื้อเชิญรัฐบาลอิสตันบูล และอังการ่าให้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาประนีประนอมในวันที่ 17 ธันวาคม

        ฝ่ายรัฐสภาของมุสตอฟา กามาลก็แสดงความไม่พอใจและต้องการรับทราบความเห็นของมุสตอฟา กามาลซึ่งขณะนั้นอยู่ในเมืองอิซมีร แต่มุสตอฟาก็มิได้ให้คำตอบแก่รัฐสภาแต่อย่างใด การประชุมรัฐสภาจึงเป็นไปด้วยการบรรยายที่เคร่งเครียด แต่หลังจากมุสตอฟา กามาลได้มาถึงที่ประชุมเขาก็ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสภา โดยเรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับฟังความคิดเห็นของตน โดยเสนอให้แยกอำนาจของซุลตอนออกจากอำนาจของค่อลีฟะห์ และยกเลิกระบอบซุลตอนเสีย และปลดวะฮีดุดดีน ข่าน ออกจากอำนาจความวุ่นวายในที่ประชุมจึงเกิดขึ้น มุสตอฟา กามาลจึงขอให้ออกเสียงลงมติในข้อเสนอดังกล่าว

        ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความไม่พอใจซึ่งปกคลุมไปทั่วรัฐสภาย่อมเป็นผลมาจากการส่อเค้าถึงเจตนาของมุสตอฟา กามาล และการที่ไม่มีคำตอบโต้ใดๆ จากมุสตอฟา กามาลขณะที่เขารู้ดีถึงความไม่พอใจดังกล่าว นั่นก็เป็นเพียงการรอคอยเวลาหรือเป็นการรอรับทราบความเห็นของบรรดานายเหนือหัวที่บงการอยู่เบื้องหลังเท่านั้น

        ในการประชุมสภาวันถัดมา ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบข้อเสนอต่างๆ ที่ถูกคัดค้านด้วยมติไม่รับหลักการ มุสตอฟา กามาลโกรธเคืองยิ่งนัก และตะโกนในที่ประชุมสภาว่า “บรรดาผู้ทรงเกียรติ ซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ได้ปล้นชิงอำนาจไปจากประชาราษฎร์ด้วยกำลังและประชาราษฎร์ก็พร้อมใจกันอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะนำเอาอำนาจอันชอบธรรมนั้นกลับคืนมาจากซุลตอน ตำแหน่งซุลตอนจำต้องถูกแบ่งแยกออกจากตำแหน่งค่อลีฟะห์ และจะต้องถูกยุบเลิกไป ไม่ว่าพวกท่านจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ตามทีสิ่งดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงก็คือว่าจะมีพวกท่านบางคนต้องหัวหลุดออกจากบ่าในเวลาที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น” (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 270)

        นี่คือความเป็นไปของประชาชาติที่มุสตอฟามักจะกล่าวอ้างในนามของพวกเขาอยู่เสมอๆ และประสงค์ที่จะนำเอาสิทธิอันชอบธรรมและอำนาจที่แท้จริงกลับคืนมาให้แก่พวกเขา ท่านศาสนทูต (ซ.ล.) ทรงกล่าวสมจริงแล้วขณะที่พระองค์ทรงมีพระวจนะว่า “หากมาตรว่าท่านไม่ละอาย ท่านก็จงกระทำตามที่สิ่งที่ท่านประสงค์เถิด” (รายงานโดย อบู ดาวูด)

        หลังจากการประกาศเยี่ยงนี้ของมุสตอฟา กามาลซึ่งมิได้ต่างอะไรกับบุคคลที่พูดว่า “ท่านผู้นำว่าอย่างนี้ก็ต้องเชื่ออย่างนี้ หากไม่เช่นนั้นแล้วก็ต้องโดนนี่แล้วก็พลางชี้ไปยังดาบที่อยู่ในมือ” เมื่อเป็นเช่นนี้ความหวาดกลัวก็เข้ามาเกาะกุมจิตใจของสมาชิกรัฐสภาที่คัดค้านข้อเสนอของ มุสตอฟา กามาล เรื่องนี้จึงถูกโอนไปให้สภาแห่งชาติ ซึ่งได้เคยลงมติคัดค้านไม่รับข้อเสนอด้วยเสียงส่วนมากอย่างถล่มทลาย แต่ภายใต้การคุกคามด้วยอาวุธปืนก็ไม่มีผู้ใดคัดค้านอีก นอกจากเสียงส่วนน้อยเท่านั้น ประธานสภาแห่งชาติก็ประกาศว่า สภาได้ให้การรับรองข้อเสนอดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ เสียงอื้ออึงและความวุ่นวายก็เกิดขึ้นทั่วสภา การประชุมสภาจึงยุติลงเพียงเท่านั้น ในขณะที่อาตาเติร์กก็เดินออกจากห้องประชุม

        แต่ทว่าเสียงตะโกนและการร่ำไห้จะทำการอันใดได้? หลังการประชุมสภาได้สภาได้ 5 วันได้เกิดการรัฐประหารในอิสตันบูล ภายใต้การรู้เห็นของเฮอร์ริงตัน ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วสำหรับสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลได้ปลดซุลตอนออกจากอำนาจโยใช้กำลังทหารและภายใต้การคุ้มครองของแม่ทัพอังกฤษ ซุลตอนวะฮีดุดดีน ข่าน และราชโอรสก็ถูกเนรเทศโดยอนุญาตให้นำกระเป๋าเสื้อผ้าและเครื่องใช้บางส่วนไปด้วยเท่านั้น พระองค์จึงเสด็จลงเรือของอังกฤษไปยังเกาะมอลต้า (มาลิเตาะห์) เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 17 มกราคม ปี ฮ.ศ.1340 เจ้าชายอับดุลมะญีด อิบนุ อับดิลอะซีซ ก็ถูกเรียกขานในฐานะค่อลีฟะห์แห่งปวงชนมุสลิม

        และในวันที่ 20 มกราคม ปีเดียวกัน การประชุมลูซานก็เปิดฉากขึ้น โดยมีตัวแทนจากอังการ่าเข้าร่วมหารือเท่านั้น ลอร์ด เคอร์ซอนผู้นำคณะผู้แทนของอังกฤษได้กำหนดเงื่อนไข 4 ข้อด้วยกัน สำหรับการได้รับเอกราชของตุรกี กล่าวคือ

        1. ยกเลิกระบอบการปกครองแบบคิลาฟะห์โดยสิ้นเชิง
        2. ขับไล่ค่อลีฟะห์ออกนอกประเทศ
        3. อายัดพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
        4. ประกาศความเป็นรัฐแบบโลกนิยม (แซคคิวล่าร์ อันหมายถคงการแยกศาสนาออกจากการเมืองโดยเด็ดขาด)

         ลอร์ด เคอร์ซอน ได้ผูกพันความสำเร็จของที่ประชุมเอาไว้กับการทำให้เงื่อนไขทั้ง 4 ข้อให้เป็นจริง การคัดค้านในสมาคมชาตินิยมจึงเกิดขึ้น ทั้งที่สมาคมแห่งนี้ถูกตั้งขึ้นด้วยการรู้เห็นของเคอร์ซอน สมาชิกที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเคอร์ซอนมีเพียงอิชมัต (ซึ่งเป็นหุ่นเชิดของอังกฤษ) และเฟาซีย์เท่านั้น เคอร์ซอนจึงประกาศยุบสมาคม แต่ทว่าสภาใหม่ก็คัดค้านเคอร์ซอนอีกระลอก เขาจึงหันไปใช้กลอุบายและสร้างปัญหาให้กับรัฐสภาชุดใหม่ โดยยุให้คณะรัฐมนตรีลาออก สมาคมชาตินิยมจึงประสบความล้มเหลวในการจัดตั้ง รัฐบาลชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ การถกเถียงและความวุ่นวายจึงเกิดขึ้นโดยทั่วไป

        มุสตอฟา กามาลมีเจตนาที่จะทำให้ตุรกีและบรรดานักการเมืองที่คัดค้านตนมีภาพลักษณ์ว่าไร้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน
        ในวันถัดมามุสตอฟา กามาลจึงได้รับรองการประกาศระบอบสาธารณรัฐ กลุ่มสมาคมจึงรวมตัวกันในบรรยากาศที่อึมครึม สมาชิกรัฐสภาต่างก็อภิปรายโจมตีในระหว่างกันอย่างดุเดือดเผ็ดร้อน และเพื่อเป็นการกู้สภาพวิกฤติและยุติความวุ่นวาย มุสตอฟาจึงเรียกตัวคณะมนตรีเข้าพบ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องยอมรับทัศนะของตนโดยไม่มีการถกเถียงอันใด

        เป็นเรื่องแปลกที่คณะรัฐมนตรีได้ยอมรับข้อตกลงเช่นนั้น ทั้งๆ ที่พวกเขาก็รู้อยู่แก่ใจถึงเจตนาของอาตาเติร์ก ดังนั้นอาตาเติร์กจึงได้ขึ้นสู่แท่นปราศรัยในรัฐสภา และประกาศการกำเนิดของระบอบสาธารณรัฐ (อัลอัซรอร อัลค่อฟียะห์ หน้า163)  อย่างไรก็ตามสมาชิกรัฐสภาก็หากระทำการอันใดได้ไม่ นอกจากโห่ร้อง มุสตอฟาจึงใช้วีการก่อวินาศกรรมและข่มขู่ต่อฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกับตน ต่อมามุสตอฟา กามาลได้เรียกเปิดประชุมสภาแห่งชาติและเสนอพระราชกำหนดเนรเทศค่อลีฟะห์และยกเลิกระบอบคิลาฟะห์ ตลอดจนแยกศาสนาออกจากรัฐในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ.1923 มุสตอฟาได้มีคำสั่งให้เนรเทศค่อลีฟะห์ อับดุลมะญีดออกนอกประเทศ พระองค์จึงเสด็จสู่สวิตเซอร์แลนด์ ในภายหลังบรรดาเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ก็เดินทางออกนอกประเทศในเวลาต่อมา

        กิจการศาสนาและตำแหน่งทางศาสนาได้ถูกยกเลิกเช่นกัน ศาสนสมบัติ (อัลเอากอฟ) ตกเป็นของรัฐ โรงเรียนและสถานศึกษาศาสนาถูกเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสามัญตามแบบตะวันตก กฎหมายแพ่งของสวิตเซอร์แลนด์ และกฎหมายอาญาแบบอิตาลี ตลอดจนกฎหมายพาณิชย์ของเยอรมันถูกนำมาใช้ แทนที่กฎหมายชะรีอะห์อิสลาม ศาสนาถูกแยกออกจากการเมือง อักษรภาษาอาหรับ (อารบิก) ถูกยกเลิก และภาษาตุรกี (เตอร์กิช) ก็ถูกเขียนด้วยตัวอักษรละตินเยี่ยงยุโรป การอะซานบอกเวลานมัสการด้วยภาษาอาหรับถูกยกเลิก พระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านถูกแปลเป็นภาษาตุรกี วันอาทิตย์ถูกำหนดให้เป็นวันหยุดทางราชการแทนวันศุกร์ การสวมหมวกทรงตอรบู๊ช (หมวกทรงกระบอกทำด้วยผ้ากำมะหยี่สีแดงและพู่ไหมห้อย) การคลุมศีรษะของสตรี (ฮิญาบ) ถูกยกเลิก และปฏิทินสากลแบบชาวยุโรปถูกนำมาแทนที่ปฏิทินอิสลาม (ซึ่งคำนวณตามจันทรคติ) การเปิดรับอารยธรรมตะวันตกและต่างชาติเป็นไปอย่างเต็มที่โดยไม่มีการอนุรักษ์ของเดิมอีกแต่อย่างใด และการมุ่งสู่ความเป็นยุโรป ตลอดจนตัดขาดจากโลกอิสลามโดยสิ้นเชิง และใกล้ชิดตะวันตกเป็นสิ่งที่ไหล่บ่าเข้าสู่ตุรกีนับแต่บัดนั้น

        แผนการในแต่ละก้าวเช่นนี้เป็นไปอย่างรุนแรง และโหมกระหน่ำพักพารูปลักษณ์อิสลามในตุรกีจนวิปริตไป อำนาจที่เด่นชัดในเวลานั้นคือ รัฐบาลทหาร  ซึ่งมิได้เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒน์ที่แท้จริง หากแต่เป็นการก้าวกระโดดอย่างสุดตัวเพื่อหวังทำให้ตุรกีกลายเป็นตะวันตกโดยเร็วที่สุด (อัลอาลัม อัลอิสลามีย์ หน้า 45)

        อาตาเติร์กได้ดำเนินการตามเงื่อนไขของลอร์ด เคอร์ซอน อย่างลุล่วงและสัมฤทธิ์ผล อีกทั้งยังดำเนินการอย่างแนบเนียน และตัวของอาตาเติร์กเองก็มุ่งมั่นเพื่อการนั้นมากยิ่งกว่าบรรดาผู้บงการเสียอีก เป้าหมายของกลุ่มประเทศล่าอาณานิคมก็คือ ทำให้ตุรกีปราศจากความมีรูปแบบของอิสลาม หรือสิ้นสภาพจากความเป็นศูนย์กลางแก่งเอกภาพของโลกอิสลามโดยสิ้นเชิง (อ้างแล้ว หน้า 43)

        ชัยค์ มุสตอฟา ซอบรีย์ ชัยคุลอิสลามแห่งตุรกีในเวลานั้นได้กล่าวว่า : อังกฤษได้ผ่อนปรนและอลุ้มอล่วยกับมุสตอฟา กามาลเพื่อทำให้มุสตอฟาเป็นวีรบุรุษในขณะที่พวกอังกฤษกดดันและบีบคั้นต่อค่อลีฟะห์วะฮีดุดดีน จนทำให้พระองค์ไร้ความสามารถ การดังกล่าวเป็นไปเพื่อทำให้ความนิยมชมชอบในตัวมุสตอฟา กามาลดูมีความสำคัญในสายตาและความนึกคิดของชาวมุสลิม”

        ท่านชัยค์ยังได้กล่าวอีกว่า “ชายผู้นี้ (อาตาเติร์ก) คือบุคคลที่อังกฤษได้พบว่าไม่มีใครเหมือนถ้าหากว่าอังกฤษจะหาคนเช่นนี้ เพื่อทำลายสารัตถะและจารีตแห่งอิสลาม โดยเฉพาะจารีตแห่งอิสลามภายในวันเดียวซึ่งอังกฤษเองต้องใช้เวลาเป็นแรมปี ในการสร้างทายาทของตนแล้วก็ถอนตัวออกไปจากประเทศของเรา” (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 273)

        เช่นนี้เองที่เหล่าปัจจามิตรของอิสลาม โดยเฉพาะอังกฤษได้สัมฤทธิผลในการพิฆาตระบอบคิลาฟะห์แห่งอิสลาม และด้วยสิ่งดังกล่าวพวกเขาก็สัมฤทธิผลในการดำเนินตามแผนการที่วางไว้ทีละข้อทีละข้อ เริ่มแรกหมู่ปัจจามิตรได้สร้างอุปสรรคต่างๆ นานา และสร้างปัญหาในท้องถิ่น และกลุ่มชนให้กับรัฐของค่อลีฟะห์ พวกเขาได้บั่นทอนและสร้างความอ่อนแอให้รัฐอิสลามจนถึงเฮือกสุดท้ายด้วยการรัฐประหารของอาตาเติร์ก ถามว่า การรัฐประหารเช่นนี้ที่จำต้องใช้กำลังอาวุธประหัตประหาร การสร้างความหวาดกลัวและการคร่าชีวิตเพื่อทำให้ตุรกีเหินห่างจากอิสลามได้สัมฤทธิผลจริงหรือไม่

        ถึงแม้ว่าการรัฐประหารของกามาลนี้จะประสบความสำเร็จในการทำให้ตุรกีเหินห่างจากอิสลามก็ตาม แต่ในอีกมิติหนึ่งก็ประสบความล้มเหลวในการทำให้อิสลามออกห่างจากหัวใจของผู้คน

        ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดนับแต่การกำเนิดขึ้นของระบอบแห่งอาตาเติร์กจวบจนปัจจุบันย่อมบ่งชี้ว่า ระบอบดังกล่าวได้พ่ายแพ้ปราชัย นับแต่วินาทีแรกได้ถูกคัดค้านที่ท้าทายอยู่เสมอ ซึ่งชาวมุสลิมตุรกีได้สำแดงให้เห็นในหลายรูปแบบ กล่าวคือ
        1. การลุกฮือขึ้นคัดค้านต่อระบอบอย่างต่อเนื่อง
        2. กลุ่มชนยังคงปฏิบัติศาสนกิจและยึดมั่นต่อหลักการอิสลามอย่างไม่ใยดีต่อการคุกรามใดๆ จากรัฐบาล สิ่งดังกล่าวได้ประจักษ์ชัดเมื่อสบโอกาสหลังการสิ้นชีวิตของอาตาเติร์ก ประชาชนชาวตุรกีได้สำแดงถึงความยึดมั่นอย่างลึกซึ้งต่ออิสลาม ภัยคุกคามต่างๆ นานที่พวกเขาได้รับมิได้มีผลอันใด นอกจากเพิ่มพูนพลังและความบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

        ชาวตุรกีก็มิเคยสละจากความเป็นอิสลามิกชนของตนเลยแม้แต่น้อย ยิ่งไปกว่านั้น ขบวนการอิสลามในตุรกีทุกวันมีความเข้มแข็งมั่นคงยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมาเสียอีก  อิสลามคือป้อมปราการอันเข้มแข็งแห่งเดียวเท่านั้นที่จักพิทักษ์คุ้มครองตุรกีให้แคล้วคลาดจากความชั่วร้ายของหมู่ปัจจามิตร ไม่มีสิ่งใดนอกจากอิสลามเท่านั้นที่จะทำให้ชาวตุรกีกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่ดังเดิมเฉกเช่นบรรพบุรุษของพวกเขาที่เคยยิ่งใหญ่และเกรียงไกรมาแล้วในอดีต

ส่วนประชาชาติอิสลามภายหลังการอวสานของระบอบคิลาฟะห์ อันเป็นรูปลักษณ์แห่งศูนย์รวมใจก็บังเกิดความรู้สึกสูญเสียทั้งด้านจิตวิญญาณและการเมือง สายสัมพันธ์ที่เคยร้อยรัดผูกพันหมู่พลเมืองนับสิบเชื้อชาติก็ขาดสะบั้นลง มุสลิมในเขตชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดียหรือแอตแลนติก หรือในแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ ต่างก็รู้สึกว่าตนกลายเป็นคนแปลกหน้าที่โดดเดี่ยวและว้าเหว่ในโลกใบนี้ และความรู้สึกเช่นนี้ไม่มีวันจะเสื่อมคลายไปได้จากหัวใจของชาวมุสลิม นอกเสียจากเมื่อระบอบคิลาฟะห์ได้กลับคืนมาอีกครั้งเท่านั้น