พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพสกนิกรชาวไทยมุสลิม

มัสยิดกะมาลุ้ลอิสลาม ทรายกองดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าหญิงรำเพย” ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์) พระราชโอรสลำดับที่ ๖ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และลำดับที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ซึ่งเป็นธิดาพระอักษรสมบัติ (หม่อมทับ) กับท่านผ่อง ซึ่งเป็นธิดาพระยาพัทลุง (ทองขาว) สกุลแขกสุนนีพัทลุง และมารดาของท่านผ่อง คือ ท่านปล้อง เป็นธิดาของพระยาราชวังสันเสนีย์ (หวัง) บุตรเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด) ที่สมุหนายกในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

และท่านปล้อง ยังเป็นน้องนางพระชนนีเพ็ง ภรรยาของพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) ซึ่งเป็นพระชนกชนนีของสมเด็จกรมพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม) พระราชชนนีพระพันปีหลวงของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เหตุนี้พระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฝ่ายพระบิดา ซึ่งล้นเกล้าล้นกระหม่อม ทรงสถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์จึงมีพระสายโลหิตเกี่ยวเนื่องด้วยราชินีกูล ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ อันเป็นสายสกุลแขกสุนนีซึ่งสืบวงศ์มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ

นอกจากนี้พระพี่เลี้ยงผู้ช่วยถวายอภิบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ คือ พระพี่เลี้ยงหยา ภรรยาคุณพระสยามิธิการภักดี แห่งบ้านตลาดขวัญ แขวงเมืองนนทบุรี (เก็บความจาก สายสกุล สุลต่าน สุลัยมาน พ.ศ. ๒๕๓๑ พิมพ์ที่ บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด,กรุงเทพฯ)

ความผูกพันระหว่าง พระพี่เลี้ยงหยา ซึ่งชาวบ้านตลาดขวัญเรียกท่านว่า โต๊ะย่าหยา กับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีหลักฐานปรากฏชัดเจน คือการสร้างมัสยิด ฮิดายะตุลอุมมะฮฺ ที่บ้านตลาดขวัญ แขวงเมืองนนทบุรี ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ทดแทนมัสยิดหลังเก่าที่ถูกสร้างขึ้นมานับแต่แผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และโปรดเกล้าฯให้พระสยามิธิการภักดี สามีพระพี่เลี้ยงหยาเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๓๓

นอกจากนี้ล้นเกล้าฯยังได้ทรงแสดงพระกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อพระพี่เลี้ยงหยาด้วยการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างบ้านเรือนไทยอีก ๑ หลังบริเวณด้านหลังมัสยิดบ้านตลาดขวัญเพื่อให้เป็นนิวาสถานสำหรับพระพี่เลี้ยงหยาอีกด้วย หลักฐานที่แสดงถึงความผูกพันของล้นเกล้าฯกับพระพี่เลี้ยงหยาสตรีชาวไทยมุสลิมแห่งบ้านตลาดขวัญ อีกประการคืออาคารครอบสุสานศิลปะแบบตะวันตกซึ่งเรียกในภาษาอาหรับว่า “มะกอม” ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเหนือสุสานของพระพี่เลี้ยงหยาเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งสายใยผูกพันระหว่างพระพี่เลี้ยงหยากับพระองค์เมื่อครั้งทรงพระเยาว์

ในการเสด็จประพาสหัวเมืองภายในพระราชอาณาจักรของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โดยเฉพาะการเสด็จประพาสต้น อันหมายถึง การเสด็จส่วนพระองค์ซึ่งไม่มีหมายกำหนดการล่วงหน้า ไม่มีกระบวนเสด็จเป็นทางราชการ และคำว่า “ประพาสต้น” เรียกตามชื่อเรือต้นที่ทรงใช้ในกระบวนการเสด็จประพาส นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ผลจากการเสด็จประพาสต้นหลายครั้งทำให้พระองค์ทรงทราบถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของเหล่าพสกนิกรได้อย่างแท้จริง

ตลอดจนเป็นการสร้างความใกล้ชิดระหว่างพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์กับเหล่าพสกนิกรทุกหมู่เหล่าที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารอย่างไม่เคยมีมาก่อน และส่วนหนึ่งจากการเสด็จประพาสของพระองค์เมื่อ ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) คือการเสด็จประพาสคลองแสนแสบ ซึ่งมีปรากฏชื่อสถานที่ตลอดเส้นทางในพระราชหัตถเลขา หลายแห่งเป็นชุมชนของชาวไทยมุสลิมที่เข้ามาตั้งรกรากตลอดรายทางคลองแสนแสบนับแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ดังความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาระบุว่า : พอออกจากวัดปากบึง ประเดี๋ยวก็เข้าแดนเมืองมีน คลองตอนนี้หน้าตาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ คือ รากไม่เกาะยึดและมีต้นไม้ริมคลองมากขึ้น มีบ้านเรือนรายมาจนถึงหนองจอก เป็นหมู่ใหญ่เห็นวัดสักวัดเดียวเท่านั้น เพราะแถบนั้นเป็นบ้านแขก คือ แขกพวกหลวงอุดมทีเดียวมิใช่อื่นไกลเลย (ประยุทธ สิทธิพันธ์ : ประวัติศาสตร์ประพาสต้นของพระพุทธเจ้าหลวง ; พิมพ์ครั้งที่สอง โดยสร้างสรรค์บุ๊คส์ ; มีนาคม ๒๕๕๒ กรุงเทพฯ เล่มที่ ๒ หน้า ๔๖๓)

แขกที่พระองค์ทรงกล่าวถึงคือแขกมลายูที่ถูกกวาดต้อนเทครัวมาจากหัวเมืองมลายูนับแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ และถูกนำมาไว้ตลอดรายทางคลองแสนแสบในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งรายละเอียดมีระบุไว้ในจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติที่ถูกออกชื่อไว้ว่าเป็นแขกมลายูเช่นกัน ในพระราชหัตถเลขาเมื่อครั้งเสด็จประพาสคลองแสนแสบยังออกชื่อ บ้านสามแยกท่าไข่ ตำบลคู้ มีสุเหร่าใหญ่ บ้านแขกและสุเหร่าแขกอีก ๒ แห่ง คลองสามวา และ คลองนุ่น อีกด้วย (อ้างแล้ว หน้า ๔๖๔-๔๖๕ เล่มเดียวกัน)

มีเรื่องเล่ามุขปาฐะของบรรพบุรุษมุสลิมในแถบบ้านทรายกองดิน ซึ่งอยู่ริมคลองแสนแสบว่า เมื่อครั้งเสด็จประพาสคลองแสนแสบ ผ่านมาบริเวณหน้าสุเหร่าทรายกองดิน (มัสยิดกะมาลุลอิสลาม ปัจจุบัน) เรือพระที่นั่งได้เกิดเครื่องยนต์ขัดข้องที่บริเวณหน้าสุเหร่า แก้ไขอยู่นานก็ไม่สำเร็จ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงรำพึงขึ้นว่า หากในบริเวณนี้มีผู้มีบุญญาธิการสถิตอยู่ขอได้ช่วยให้เครื่องยนต์เดินได้เป็นปกติตามเดิมด้วย พระองค์จะทรงสร้างอนุสรณ์สถานเป็นกุศลไว้แก่หมู่บ้านนี้ ทันใดนั้นเครื่องยนต์เรือพระที่นั่งก็เดินได้เป็นปกติ

พระองค์จึงทรงมีพระกระแสรับสั่งให้ทหารมหาดเล็กขึ้นไปบนฝั่ง เพื่อสอบถามว่า กองหินกองทรายที่นำมากองไว้ริมคลองนั้นมีโครงการจะสร้างอะไร ก็ได้รับคำตอบจากผู้อาวุโสที่พำนักอยู่บริเวณนั้นว่า จะทำการสร้างอาคารสุเหร่า เมื่อทรงรับทราบแล้วจึงมีพระกระแสรับสั่งให้นำอิฐ หิน และทรายมาสมทบอย่างละ ๗ ลำเรือ เพื่อพระราชทานสมทบในการก่อสร้างอาคารสุเหร่าหลังใหม่ พร้อมทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินจำนวน ๔๐ ไร่ เป็นใบเดินทุ่งให้กับทรัสตีสุเหร่าแห่งนี้ด้วย (อ้างจาก วารสาร มุสลิม กทม. ฉบับที่ ๗ ปีที่ ๒ ตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ปกในอธิบายภาพปกมัสยิดกะมาลุลอิสลาม ทรายกองดิน)

ในพระราชนิพนธ์ เรื่องเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ ๒ ร.ศ. ๑๒๕ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสทางชลมารคผ่านบริเวณชุมชนมุสลิมแถบคลองตะเคียน พระนครศรีอยุธยา ดังปรากฏข้อความในพระราชนิพนธ์ว่า : …กลับมาลงเรือ ออกจากท้ายเกาะ โมงครึ่ง มาแวะคลองตะเคียนซื้อผ้า เวลาล่าไปฝนก็ตกลืมดูนาฬิกาจนหิวจึงรู้สึก จึงจอดทำกับข้าวกันที่แพซุง ใกล้คลองตะเคียน…” (ประยุทธ สิทธิพันธ์ อ้างแล้ว เล่มที่ ๑ หน้า ๑๔๗)

คลองตะเคียนถือเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ชาวมุสลิมตั้งรกรากอยู่นับแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีมัสยิดเก่าแก่หลังหนึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากปากคลองตะเคียนนัก เรียกกันว่า มัสยิดกุฎีช่อฟ้า มีหลักฐานระบุว่า กุฎีช่อฟ้า เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จประพาสทางชลมารค พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นเยี่ยมมัสยิด

และทรงทราบจากราษฎรที่เข้าเฝ้าในขณะนั้นว่า ชื่อสุเหร่ากุฎีเจ้าเซ็น พระองค์ตรัสถามว่า คนที่นี่เป็นแขกเจ้าเซ็นใช่หรือไม่ ผู้เข้าเฝ้าในขณะนั้นก็ทูลตอบว่า มิใช่แขกเจ้าเซ็นแต่เป็นแขกมาจากเมืองตานี พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อเป็น สุเหร่ากุฎีช่อฟ้า เนื่องจากมัสยิดแห่งนี้มีหลังคาทรงจั่วมีช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ จึงทรงพระราชทานนามตามนั้น (ศิวราช กบิลคาม ; วัฒนธรรมอิสลามกับการดำเนินชีวิตของมุสลิมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ; ๒๕๔๙ หน้า ๘๐)

ในการเสด็จประพาสแหลมมลายู คราว ร.ศ. ๑๐๘ และ ร.ศ. ๑๐๙ นั้นเหล่าพสกนิกรชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูทุกหมู่เหล่าทั้งฝ่ายปกครองและสามัญชนได้รอรับเสด็จทุกแห่งหนเพื่อชื่นชมพระบารมีของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ซึ่งนับเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ทรงเสด็จประพาสหัวเมืองมลายูซึ่งหมายรวม ถึงกลันตันและตรังกานูที่เคยเป็นของสยามมาก่อนอีกด้วย เหล่าข้าราชการและข้าราชบริพารฝ่ายปกครองที่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายูต่างก็ได้มีโอกาสถวายการรับเสด็จฯอย่างใกล้ชิด

ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา คราวเสด็จประพาสหัวเมืองมลายู ร.ศ. ๑๐๘ ความตอนหนึ่งว่า : การคุ้นเคยของพระยาตานีกับฉันดูสนิทสนมมากขึ้น เมื่อมาครั้งก่อนพูดไทยไม่เข้าใจ แต่ไม่พูดออกมาเลยเป็นอันขาดคนอื่นยังล่อได้บ้าง แต่ครั้งนี้ตกบ่ายลงพูดไทยกับฉันจ้อทีเดียว ที่ไม่พูดนั้นจะเป็นด้วยรู้ศัพท์ไม่พออย่างหนึ่ง พูดไม่ชัดคือไม่ดังเชื้อช้าวเช่นชาวนอก เสียงกราวๆไปเช่นแขกฤาฝรั่งพูดไทยนั้นอย่างหนึ่ง ประหม่าสะทกสะท้านนั้นอย่างหนึ่ง พอได้พูดไทยเสียก็ดูสบายใจขึ้นมาก ทำอาการกริยาเกือบจะเป็นข้าราชการไทยๆ(ประยุทธ สิทธิพันธ์ อ้างแล้ว เล่ม ๒ หน้า ๕๓๘)

และความตอนหนึ่งว่า : มารดาและพระยายะหริ่งกับทั้งพี่สาวซึ่งเป็นภรรยารายามุดาเมืองกลันตันคนก่อน ภรรยาพระโยธานุประดิษฐ์ ภรรยานิโซ๊ะกับญาติพี่น้องผู้หญิงออกมารับจัดกับเข้าของเลี้ยงมาเลี้ยงเป็นสำรับอย่างไทยรองถาดตามธรรมเนียม แต่กับเข้านั้นเป็นกับเข้าแขกเป็นพื้น มีกับเข้าไทยเจือสองสามสิ่งของหวานเป็นอย่างไทย ภรรยาพระยายิหริ่งผู้นี้เรียกกันว่าแม่บ๋า เป็นลูกตนกูโนชาวเมืองตานีอยู่ในกรุงเทพฯพูดภาษาไทยได้ จัดการรับรองอันใดก็จะอยู่ข้างเป็นไทย(อ้างแล้ว ๒/๕๓๙,๕๔๐)

ในคราวเสด็จประพาสหัวเมืองมลายูของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น พระองค์ยังทรงได้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างข้าราชการฝ่ายมลายูและทรงกำชับให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายไทย เช่น พระยาสุนทรารักษ์ให้พิจารณาคดีความอย่างเป็นธรรม ดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า ฉันก็ได้ตักเตือนพระยาสุนทราให้เร่งว่ากล่าวเสียให้เห็นผิดแลชอบ ถ้ามีความผิดจริงก็ลงโทษได้ อย่าให้เป็นที่ติเตียนว่าหนักหน่วงความไว้ด้วย การที่แกล้ง ให้เป็นที่หวาดของเมืองแขกทั้งปวง…” (อ้างแล้ว ๒/๕๔๓)

ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในหัวเมืองมลายูที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงตรัสถึงเป็นพิเศษ คือ เจ้าพระยาไทรบุรี ดังปรากฏในพระราชดำรัสตอบพระบรมวงษานุวงษ์ ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทในการเฉลิมพระชนมพรรษา ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อจุลศักราช ๑๒๔๑ (พ.ศ. ๒๔๒๒) ความตอนหนึ่งว่า :

อนึ่ง เรามีความเสียใจยิ่งนัก ที่เจ้าพระยาไทรบุรีถึงอาสัญกรรม เจ้าพระยาไทรบุรีมีความซื่อสัตย์รักใคร่สนิทต่อกรุงเทพมหานคร แลเป็นผู้มีสติปัญญาทำนุบำรุงรักษาบ้านเมืองมีความเจริญกว่าเมืองแขกทั้งปวง เป็นที่หวังใจมั่นใจของเราทุกสิ่งทุกอย่าง เราไว้ใจว่าบุตรของเจ้าพระยาไทรบุรีซึ่งจะได้รับที่แทนต่อไป แลอาทั้งสองซึ่งเป็นผู้ทำนุบำรุงคงจะประพฤติตามแบบเจ้าพระยาไทร ในทางราชการแลการทำนุบำรุงบ้านเมืองทุกประการ…” (ประยุทธ สิทธิพันธ์ อ้างแล้ว ๒/๗๘๔)

ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดให้ความสนิทสนมชิดเชื้อมากเป็นพิเศษ คือพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) มารดาของท่านคือ “คุณหญิงกลิ่น” เป็นราชินีกุลทางสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชชนนีในรัชกาลที่ ๕ และธิดาท่านที่ ๓ ของพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ก็คือ เจ้าจอมละม้ายในรัชกาลที่ ๕ พระยา จุฬาราชมนตรี (สิน) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ว่าที่จุฬาราชมนตรี ท่านที่ ๔ แห่งกรุงรัตน เจ้าพระยาไทรบุรี ( อับดุลฮามิด) โกสินทร์ และเป็นเจ้ากรมกองแสตมป์ กระทรวงยุติธรรมได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาประถมาภรณ์มงกุฎไทย

และพระราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าวิเศษชั้นสูงสุด และได้รับพระราชทานพานทองเทียบเท่าชั้นเจ้าพระยาพานทอง ในพิธีมะหะหร่ำตามอย่างแขกเจ้าเซ็น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเสด็จทอดพระเนตรพิธีมะหะหร่ำพร้อมกับข้าราชการและข้าราชบริพาร ฉลองพระองค์ด้วยชุดดำ สมเด็จพระราชินี และพระเจ้าลูกเธอที่โดยเสด็จทุกพระองค์ก็ทรงแต่งชุดดำกันทุกพระองค์ จนกระทั่งประชาชนโดยทั่วไปกล่าวขานกันว่า ในหลวงทรงเป็นแขกเจ้าเซ็นไปองค์หนึ่งเสียแล้ว (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ,มุสลิมในประเทศไทย ; พิมพ์ครั้งที่ ๒ (๒๕๓๙) กรุงเทพฯ หน้า ๔๖-๔๗)

เมื่อพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ล้มป่วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดให้แพทย์หลวงมาดูแลรักษา และโปรดให้กรมหลวงดำรงราชานุภาพ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าทูลกระหม่อมอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เสด็จมาเป็นเจ้าของไข้ และมีมหาดเล็กมาจดรายงานการป่วยของพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ให้ทรงทราบทุกระยะด้วย (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ ; อ้างแล้ว หน้า ๔๗-๔๘)

 

กุฎีเจริญพาศน์  (กุฎีล่าง)และเมื่อพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ได้ถึงแก่อสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีฝังศพพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ด้วยพระองค์เอง ณ มัสยิดต้นสน ปากคลองบางกอกใหญ่ และทรงโปรดให้แกะไม้สลักเป็นลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานปักไว้ ณ หลุมฝังศพด้วย (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ อ้างแล้ว หน้า ๔๘)

กุฎีบน ของมุสลิมชีอะห์พระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ ยังแผ่ไพศาลครอบคลุมเหล่าพสกนิกรไทยมุสลิมที่เป็นสามัญชนและมุสลิมในบังคับของต่างชาติรุ่นแรกที่เข้ามาประกอบอาชีพและทำธุรกิจในประเทศสยามอีกด้วย ดังเช่นการพระราชทานที่ดินให้อยู่อาศัย รวมถึงการปลูกสร้างมัสยิดในที่ดินพระราชทานเพื่อใช้ประกอบศาสนกิจ (เอกสารกระทรวงนครบาล (ร.๕ น.๑๘ ๑.๒) ระบุว่า กะฎีป่าช้า ตำบลวัวลำพอง เป็นที่หลวงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้พวกแขกอาศัย)

การกราบทูลฯขอพึ่งพระบารมีล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ของตระกูล อับดุล ราฮิม ซึ่งเคยได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์มาแต่เดิม (จดหมายบุตรนาย เอช อับดุลราฮิม กราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑๔ มีนาคม ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) เอกสารกระทรวงยุติธรรม (ร.๕ ย.๑/๔๑)) และการพระราชทาน “จานทอง” ให้แก่ นายกาเซ็ม บินมูฮำมัดใย มุสลิมเชื้อสายยะวาที่มีความสามารถพิเศษในด้านการผสมพันธุ์กุหลาบสีต่างๆ ถวายพระองค์ (กรรณิการ์ จุฑามาศ สุมาลี ; ยะวา-ชวาในบางกอก,สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ; กรุงเทพฯ หน้า ๕๖-๕๗) เป็นต้น

พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน)  ไม้นิฌาน หรือไม้ปักหลุมศพของพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการศาสนูปถัมภ์ ฝ่ายศาสนาอิสลาม

สืบเนื่องจากศาสนาอิสลามถือเป็นศาสนาหนึ่งที่มีพสกนิกรชาวไทยนับถือมาตั้งครั้งอดีต พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์นับแต่ครั้งอดีตต่างก็ทรงเป็นพุทธมามกะ และองค์อัครศาสนูปถัมภก การทำนุบำรุงผู้นับถือศาสนาอื่นๆในประเทศไทยนี้ถือเป็นพระราชกรณียกิจที่พระมหากษัตริย์ไทยแต่เดิมทรงกระทำมาเป็นราชประเพณี ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เช่นกัน เหล่าพสกนิกรชาวไทยมุสลิมได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านในการอุปถัมภ์ศาสนาอิสลามอยู่เนืองๆ

ดังปรากฏข้อความในพระราชหัตถเลขาความทรงจำ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตอนหนึ่งว่า : “…ส่วนพวกถือศาสนาอิสลามนั้น พวกถือลัทธิเซียะ : (พวกเจ้าเซ็น) ได้รับพระบรมราชานุเคราะห์เป็นประเพณีมาแต่รัชกาลก่อนแล้ว ก็โปรดฯพระราชทานตามเคยแก่พวกลัทธิสุหนี่เป็นคนหลายชาติหลายภาษา แยกย้ายกันอยู่ตามตำบลต่างๆมีสุเหร่าและนักบวชชาติของตนเองเข้ากับพลเมืองเป็นปกติอยู่แล้ว จึงไม่มีกิจที่จะต้องพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ผิดกันแต่ก่อน แต่ประการใด…” (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ; ความทรงจำ (พระนคร : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ๒๕๐๖) หน้า ๘๙ ) ส่วนหนึ่งจากพระราชกรณียกิจด้านการศาสนูปถัมภ์ ฝ่ายศาสนาอิสลาม ปรากฏดังนี้

  • – ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับ “พิธีมะหะหร่ำ” ของมุสลิมนิกายชีอะฮฺ (แขกเจ้าเซ็น) ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

  • – ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระสยามิธิการภักดีสามีพระพี่เลี้ยงหยา สร้างอาคารมัสยิด ฮิดายะตุลอุมมะฮฺ หลังใหม่ ที่ตำบลบ้านตลาดขวัญ แขวงเมืองนนทบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๓

  • – ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมทบวัสดุก่อสร้างอาคารมัสยิด กะมาลุลอิสลาม บ้านทรายกองดิน ริมคลองแสนแสบ มีนบุรี (ปัจจุบันคือเขตคลองสามวา) และพระราชทานที่ดินให้แก่มัสยิดฯจำนวน ๔๐ ไร่ ภายหลังเสด็จกลับจากการประพาสคลองแสนแสบ ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐)

    มะกอม (สุสาน) เจ้าพระคุณตะเกี่ยโยคินราชมิสกิจจินจาสยาม

  • – ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามให้แก่มัสยิดกุฎีช่อฟ้า ที่ตำบลคลองตะเคียน พระนครศรีอยุธยา เมื่อคราวเสด็จประพาสกรุงเก่าทางชลมารค ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙)

  • – ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามให้แก่มัสยิดเจ้าพระคุณตะเกี่ยโยคินราชมิสกิจจินจาสยาม เมื่อคราวเสด็จประพาสกรุงเก่าทางชลมารค ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ.๒๔๔๙) ซึ่งมัสยิดเจ้าพระคุณตะเกี่ยฯนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองตะเคียน พระนครศรีอยุธยาใกล้กับปากคลองตะเคียน

  • – สถานีรถไฟบางกอกน้อย

  • – พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริจะสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯไปจังหวัดเพชรบุรี ทรงมีพระราชประสงค์ว่าตรงปากคลองบางกอกน้อยเหมาะสมที่จะตั้งเป็นสถานีรถไฟ ปรากฏว่าตำแหน่งที่จะตั้งสถานีรถไฟบางกอกน้อยนั้นเป็นที่ตั้งมัสยิดของพวกที่ถือศาสนาอิสลามฝ่ายสุหนี่

     สถานีรถไฟบางกอกน้อย

    พระองค์ทรงรับสั่งให้แลกที่ดินฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นโรงเก็บเรือหลวงที่ชำรุด ให้เป็นที่ตั้งมัสยิดแห่งใหม่ พระราชทานที่ดินให้มากกว่าเดิมและได้พระราชทานทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมัสยิดอีกด้วย ตามประกาศพระบรมราชูทิศไว้แต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๕๑) เป็นวันที่ ๑๒๔๓๓ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามที่ปรากฏในประกาศพระบรมราชโองการสร้างมัสยิดสำหรับ พวกที่นับถือศาสนาอิสลามฝ่ายสุหนี่ ดังนี้

ประกาศพระบรมราชโองการ สร้างมัสยิดสำหรับพวกที่นับถือศาสนาอิสลามฝ่ายสุหนี่

มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ประกาศทราบทั่วกันว่า มีพระราชหฤทัยนิยมต่อพระราชประเพณีซึ่งมีสืบเสมอมาแต่โบราณ ในการที่ทำนุบำรุงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั่วไป มิได้เลือกว่าจะเป็นผู้นับถือศาสนาลัทธิต่างกันประการใด และเมื่อ .. ๑๑๙ จะลงมือ สร้างรถไฟหลวงแต่กรุงเทพฯ ลงไปเมืองเพ็ชรบุรีทางรถไฟถูกที่มัสยิดสำหรับพวกที่นับถือศาสนาอิสลามฝ่ายสุหนี่

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯบริจาคพระราชทรัพย์ให้สร้างมัสยิดนี้ขึ้น ให้งดงามดีกว่ามัสยิดเก่าที่ถูกทางรถไฟนั้น เพื่อให้เป็นอารัมณียสถานอันถาวร ควรแก่ประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลามจะประชุมกันกระทำพิธีกรรมตามลัทธิศาสนาไว้สำหรับพระนครแห่ง มีกำหนดเนื้อที่โดยยาวตามลำคลองบางกอกน้อย ๓๓ วา โดยกว้าง ๑๔ วา ศอก ทรงพระราชอุทิศมัสยิดนี้ให้เป็นสาธารณประโยชน์สำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามอันเป็นฝ่ายสุหนี่ทั่วไปจะได้กระทำพิธีกรรมและอัญชลีกรรมได้โดยสะดวกดังปรารถนาด้วยพระราชประสงค์อันทรงพระกรุณาเพื่อจะบำรุงผู้ที่นับถือศาสนาทั้งปวงอันเป็นข้าขอบขัณฑเสมาอาณาจักร แลซึ่งจะมาแต่จาตุทิศทั้งปวงให้สำเร็จประโยชน์มีความสุขสืบไป


ประกาศพระบรมราชูทิศไว้แต่วันที่
๒๖ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ เป็นวันที่ ๑๒๔๓๓ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ คลองบางกอกน้อย

เมื่อมัสยิดสร้างเสร็จ ได้ทำพิธีเปิดเป็นทางการและใช้เป็นสถานที่ทำพิธีกรรมทางศาสนาเป็นประจำทุกวัน ต่อมาเมื่อ ๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ.๒๔๔๙) หะยีอับดุลการีม อิหม่ามมัสยิดหลวงบางกอกน้อย และคณะได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถวายรายงานเพื่อทรงทราบว่า ที่ดินที่พระองค์ทรงพระราชทานให้สร้างมัสยิดนั้น มีพื้นที่จำกัดไม่พอสร้างโรงเรียนเพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชน และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานที่ดินซึ่งเป็นอู่ซุงของทหารเรือติดกับมัสยิดเพื่อใช้เป็นที่สำหรับสร้างโรงเรียน

วันที่ ๑๓ มกราคม รัตนโกสินทรศก๑๒๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกาศพระบรมราชูทิศที่ดินเพิ่มเติมจากที่ดินมัสยิดสำหรับสร้างโรงเรียน ดังปรากฏเนื้อความดังนี้

ประกาศพระบรมราชูทิศ ที่เพิ่มเติมเขตร์มัสยิดสำหรับสร้างโรงเรียน

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ประกาศทราบทั่วกันว่า เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดที่ดินตำบลคลองบางกอกน้อย และทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างมัสยิดขึ้นในที่นั้น ทรงพระราชอุทิศให้เป็นที่สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามฝ่ายสุหนี่ กระทำพิธีกรรมตามลัทธิในศาสนา มีความปรากฏอยู่ในประกาศพระบรมราชูทิศ ซึ่งลงวันที่ ๒๖พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ นั้นแล้ว

บัดนี้ทรงทราบผ่าละอองธุลีพระบาทว่า ที่ซึ่งทรงพระราชอุทิศให้เป็นเขตร์มัสยิดนั้น ยังไม่เพียงพอแก่ที่จะบำรุงการเล่าเรียนให้เจริญยิ่งขึ้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินซึ่งต่อกับที่มัสยิดโดยกว้าง ทิศเหนือ วา ทิศใต้ วา ยาวทิศตะวันออก ๑๙ วาศอก ทิศตะวันตกเส้นหนึ่งกับ วา เพิ่มเข้าไปเป็นที่เขตร์มัสยิด เพื่อได้สร้างโรงเรียนขึ้นให้เป็นสาธารณประโยชน์ สำหรับบำรุงการเล่าเรียนหนังสือภาษาไทยและภาษาแขกโดยพระมหากรุณาแก่ประชาชน อันเป็นข้าขอบขัณฑสีมา อาณาจักรทั้งปวงให้สำเร็จประโยชน์ และความสุขสืบไป

ประกาศพระบรมราชูทิศไว้แต่วันที่ ๑๓ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖ เป็นวันที่ ๑๕๓๐๔ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

โรงเรียนราชการุญในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การก่อสร้างอาคารโรงเรียนของมัสยิดในที่ดินพระราชทานเพิ่มเติม สิ้นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ๑๐๐ ชั่ง (๘๐๐๐ บาท) นับเป็นการกำเนิดโรงเรียนอิสลามหลังแรกขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้พระยากัลยาภักดี ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเป็นองค์ประธานในงานฉลองโรงเรียน แต่พระองค์ทรงมีพระราชภารกิจจำเป็น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าฟ้ากรมพระยานครสวรรค์วรพินิตเสด็จมาแทนพระองค์ มีกองทหารเกียรติยศเหมือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ

บรรดาพสกนิกรชาวมุสลิมได้เข้าร่วมรับเสด็จและชุมนุมในงานฉลองโรงเรียนอย่างล้นหลาม และโรงเรียนแห่งนี้มีชื่อเป็นภาษาอาหรับว่า มัดเราะสะฮะมีดียะห์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชทานนามเป็นภาษาไทยว่า “ โรงเรียนราชการุญ “ (สายสกุลสัมพันธ์ ๒๕๔๓ หน้า ๖-๘ เรื่อง ความเป็นมาของมัสยิดหลวงบางกอกน้อย)

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้กฎหมายอิสลามในการพิจารณาอรรถคดีความแพ่งซึ่งเกี่ยวด้วยศาสนาอิสลามเรื่องครอบครัวและมรดกในกรณีที่ทั้งโจทย์และจำเลยเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่การปกครองบริเวณหัวเมืองทั้ง ๗ (มณฑลปัตตานีเดิม) โดยให้ผู้ทรงความรู้ทางศาสนาอิสลามเป็นผู้ตัดสินคดีความเรียกว่า “โต๊ะกาลี” (โต๊ะกอฎียฺ) ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ดาโต๊ะยุติธรรม” เพื่อให้สอดคล้องกับตำแหน่ง “เสนายุติธรรม” ในการศาลของมณฑลพายัพ

ดังปรากฏในกฎการปกครองบริเวณหัวเมืองทั้ง ๗ ร.ศ.๑๒๐ ความตอนหนึ่งว่า :

“…ให้มีศาลเป็น ศาล คือ ศาลบริเวณศาลเมืองแลศาลแขวง แลให้มีผู้พิพากษาสำหรับศาลเหล่านั้น เพื่อพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระราชกำหนดกฎหมาย

ให้ใช้พระราชกำหนดกฎหมายทั้งมวล ในความอาญาและแพ่ง แต่ความแพ่งซึ่งเกี่ยวด้วยศาสนาอิสลาม เรื่อง ผัวเมียก็ดี เรื่องมรดกก็ดี ซึ่งคนนับถือศาสนาอิสลามในการพิจารณาพิพากษาการใช้กฎหมายอิสลามในเรื่องที่ว่าด้วยครอบครัวและมรดกในบริเวณหัวเมืองมลายูทั้ง ๗ ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นนั้นถือเป็นหลักรัฐประศาสน์ที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาการเมืองการปกครองในหัวเมืองมลายูและเป็นแนวทางในการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.๒๔๘๙ ในรัชกาลต่อมา แม้ภายหลังการยกเลิกรูปแบบการปกครองแบบเก่าในมณฑลปัตตานีเดิมหรือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในปีพ.ศ.๒๔๗๕ ก็ตาม การอนุโลมให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกในพื้นที่ ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงได้รับการรับรองด้วยพระราชบัญญัติจวบจนปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กับการศาสนพิธีฝ่ายอิสลามนิกายชีอะฮฺ (แขกเจ้าเซ็น) 

ผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮฺ หรือที่เรียกกันว่า “แขกเจ้าเซ็น” นั้นมีปรากฏหลักฐานว่าเข้ามายังสยามประเทศนับแต่ชั้นกรุงศรีอยุธยาปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.๒๑๓๓-๒๑๔๘) กล่าวคือ มีพ่อค้าชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) สองพี่น้องชื่อ “เฉกอะฮฺมัด” และ “เฉกสะอิ๊ด” พร้อมด้วยบริวารเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งนิวาสถานและทำการค้าขายอยู่ที่ตำบลท่ากายี ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๖๓-๒๑๗๑)

“เฉกอะฮฺมัด” ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “พระยาเฉกอะฮฺมัดรัตนเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา ว่าที่จุฬาราชมนตรี” จวบจนถึงปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็น “เจ้าพระยาเฉกอะฮฺมัดรัตนาธิบดี” ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ ลุแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๓-๒๑๙๘) ทรงโปรดเกล้าฯให้เป็น “เจ้าพระยาบวรราชนายก” จางวางกรมมหาดไทย และเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะฮฺมัด) ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่ออายุ ๘๘ ปี ถือเป็นปฐมจุฬาราชมนตรี และเป็นมุสลิมคนแรกที่นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮฺ อิหม่ามสิบสอง เข้ามายังสยามประเทศอย่างเป็นทางการ ลูกหลานของเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะฮฺมัด)  ที่สืบวงศ์วานว่าเครือต่อมาได้ดำรงตำแหน่งขุนนางสำคัญเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์โดยเฉพาะ “ขุนนางกรมท่าขวา” ที่มีพระยาจุฬาราชมนตรีเป็นเจ้ากรม

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ท่านสิน บุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) กับคุณหญิงกลิ่น ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯเลื่อนตำแหน่งจากพระราชเศรษฐีเป็นพระยาจุฬาราชมนตรีคนที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และธิดาคนที่ ๓ ของพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ที่ชื่อ “ละม้าย” เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ ; มุสลิมในประเทศไทย (๒๕๓๙) หน้า ๑๓๘,๑๔๗) ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างขุนนางมุสลิมนิกายชีอะฮฺกับราชสำนักของสยามที่มีมาแต่ครั้งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาจวบจนแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ ตลอดจนความสัมพันธ์ทางสายตระกูลร่วมกับกับสกุลบุนนาค

อันมีเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะฮฺมัด) เป็นต้นสกุล ทำให้พระเจ้าแผ่นดินสยามหลายพระองค์ทรงถือเอาเป็นพระราชประเพณีนิยมในการอุปถัมภ์และทำนุบำรุงการศาสนพิธีของชาวมุสลิมนิกายชีอะฮฺ โดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับเอาพิธี “มะหะหร่ำ” ของชาวมุสลิมชีอะฮฺ (แขกเจ้าเซ็น) ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พิธี “มะหะหร่ำ” นี้เกี่ยวเนื่องกับวันที่ ๑๐ เดือนมุหัรร็อม (ตามปฏิทินอิสลาม) ของทุกปี

ซึ่งมุสลิมนิกายชีอะฮฺจะจัดการพิธีรำลึกถึงท่านอัล-หุสัยนฺ บุตรท่านอิหม่ามอะลียฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา) ที่เสียชีวิต ณ ตำบลกัรบะลาอฺ แผ่นดินอิรัก เมื่อปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ ๖๑ ตรงกับปีค.ศ.๖๘๐ ในเหตุการณ์ ณ ตำบลกัรบะลาอฺนั้น ท่านอิมามอัล-หุสัยนฺ (อิมามลำดับที่ ๓ ตามคติความเชื่อของมุสลิมนิกายชีอะฮฺ อิมามสิบสอง) และครอบครัวของท่านได้ถูกสังหารอย่างอยุติธรรม ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในยุคต้นศาสนาอิสลาม ฝ่ายมุสลิมชีอะฮฺจึงถือเอาวันที่ ๑๐ เดือนมุหัรร็อมของทุกปีจัดพิธีมะหะหร่ำ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าเศร้าครั้งนั้น

โดยจัดพิธีนี้ที่เขตกระฎีอันเป็นศาสนสถานของฝ่ายชีอะฮฺ และในการจัดพิธีมะหะหร่ำนี้เป็นที่เอิกเกริกและรับรู้กันของชาวสยามนับแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สำหรับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีปรากฏหลักฐานในความทรงจำของท่านพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) บุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ว่า :

ครั้นเมื่อปีจอ ฉอศก จุลศักราช ๑๑๗๖ เดือนยี่ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เปนปีที่ ในรัชกาลที่ โปรดเกล้าฯให้เอาการโมหะหร่ำอันนี้ไปทอดพระเนตรที่น่าพระที่นั่งสุทัยสวรรย์ ทั้งสองกระฎีครั้นได้ทราบกระแสพระบรมราชโองการแล้วฝ่ายท่านเจ้าของกระฎีทั้งสองและสับรุษด้วยกันทั้งสองข้างก็มีความวิตกแลเศราโศกถึงการงานที่จะต้องไป แต่ขัดพระบรมราชโองการมิได้ ต่างคนก็ต่างปรับทุกข์ด้วยกันทั้งสองพวก

ครั้นถึงกำหนดวันทั้งสองกระฎี ก็ต่างจัดแจงคือที่กระฎีบนนั้นคำที่เล่าว่าได้เอาเรือใหญ่ มาขนาบเทียบกันสองลำ แล้วก็ยกปั้นหย่า และโต้ระบัด ลงในเรือข้ามฝากไปขึ้นที่ท่าน่าวัดพระเชตุพล ฝ่ายกระฎีล่างนั้นคำที่เล่าว่าก็ได้เอาเรือที่ใหญ่ เหมือนกัน แล้วก็เอาปั้นหย่าและโต้ระบัดตั้งมาในเรือออกจากคลองบางกอกใหญ่ข้ามฝากไปขึ้นที่ท่าเดียวกัน พอพร้อมกันแล้วทั้งสองฝ่ายก็ได้ยกไปตามถนนข้างวัดพระเชตุพล เลี้ยวขึ้นถนนน่าพระที่นั่งสุทัยสวรรย์หยุดพักอยู่ด้านใต้พระที่นั่งทั้งสองกระฎี การที่ยกโต้ระบัดไปนั้นโปรดเกล้าฯให้รื้อกำแพงพระนครด้านริมน้ำตรงวัดพระเชตุพล ครั้นได้เวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จออก ทั้งสองข้างก็เดินกระบวนแห่เรียงกันไปทั้งสองกระฎี แต่มาระเขี่ย