ประวัติชุมชน “บ้านป่า”

“ชุมชนบ้านป่า” ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่การปกครองของเขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร อาณาบริเวณของชุมชนบ้านป่ามีแนวเขตติดต่อตลอดเส้นทางถนนพัฒนาการฯ ระหว่างสี่แยกคลองตันถึงสี่แยกศรีนครินทร์ มีคลองหัวหมากเป็นแนวเขตด้านทิศตะวันออก และคลองตันเป็นแนวเขตด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือมีคลองกะจะ และคลองลาว ส่วนทิศใต้มีคลองโอ่งอ่างเป็นแนวเขต และมีคลองบ้านป่าเป็นคลองหลักเชื่อมต่อถึงคลองใหญ่หรือคลองพระโขนง ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอีกทอดหนึ่ง

ในอดีต ชุมชน “บ้านป่า” มีสภาพสมดังชื่อ คือเต็มไปด้วยป่ารกชัฏ มีต้นไม้น้อยใหญ่ปกคลุมอาณาบริเวณของพื้นที่โดยทั่วไป ลำคลอง “บ้านป่า” บางช่วงเต็มไปด้วยป่าทั้งสองฝั่ง และไม่มีบ้านเรือนผู้คนอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น โดยเฉพาะในช่วงที่เรียกว่า”คลองตื้น” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลำคลองสายนี้ ทั้งสองฝั่งรกครึ้มไปด้วยป่าไผ่ ป่ามะไฟ ป่าตะโก มะพลับ เป็นต้น

มีเรื่องเล่าจากมุขปาฐะของผู้สูงอายุว่า คลองบ้านป่ามิใช่คลองขุด แต่เป็นคลองธรรมชาติที่เกิดจากโขลงช้างเดินหาอาหารจนเกิดเป็นคลองในภายหลัง สังเกตได้จากความคดเคี้ยวของลำคลอง ซึ่งแตกต่างจากลำคลองโดยทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงคลองบ้านป่าที่เรียกว่า คลองสะแกเชื่อมต่อกับคลองกะจะนั้น ในสมัยก่อน (ราว 30 ปีที่ผ่านมา) ก็เต็มไปด้วยผืนป่าทั้ง 2 ฝั่งเช่นกัน

พื้นที่บางส่วนของชุมชนบ้านป่าในอดีต มีเรือกสวนไร่นาสลับกับกลุ่มของบ้านเรือนที่กระจุกตัวอยู่ในบางช่วง ตามแนวลำคลองสายนี้ ซึ่งผู้คนโดยส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ มีเชื้อสายมลายูปัตตานี โดยมีข้อมูลระบุว่า เมื่อราว 180 ปีที่ผ่านมา มีแชมะกับแชนูร ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณตอนล่างของพื้นที่บ้านป่า เรียกกันว่า “บ้านล่าง”

เมื่อกาลเวลาผ่านไป ครัวเรือนเริ่มขยายจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชน จึงมีการสร้างมัสยิดขึ้นเป็นหลังแรกพร้อมสุสาน (กุโบร์) เรียกกันว่า กุโบร์บ้านล่าง ปัจจุบันใช้เป็นที่ฝังศพของมัสยิดเราเฎาะติ้ลญันนะฮฺ ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณบ้านล่างภายหลัง

ประเด็นสำคัญที่จำต้องสืบค้นเกี่ยวกับอายุของชุมชนบ้านป่าก็คือ ระยะเวลาที่มีข้อมูลระบุไว้ว่า มีอายุราว 180 ปี ซึ่งมิน่าจะใช่ ทั้งนี้หากเราตั้งสมมติฐานว่า บรรพชนบ้านป่าถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองมลายูในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในปี พ.ศ. 2328 แล้วถูกนำมาไว้ในบริเวณแถบนี้ก็จะมีเวลาย้อนกลับไปในอดีตถึง 220 ปี และนี่เป็นระลอกแรกของการกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองมลายูสู่พระนครภายหลังปัตตานีดารุสสลามแตก

ดังมีข้อความในกองจดหมายเหตุแห่งชาติ 2525 บันทึกไว้ว่า
“ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใน พ.ศ. 2328 เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จไปปราบพม่าทางหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกแล้วประทับอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช “ทรงประราชดำริว่า กองทัพก็มีพร้อมอยู่ที่นั่นแล้ว เป็นโอกาสที่จะปราบปรามหัวเมืองมลายูประเทศราชที่ตั้งแข็งมาแต่เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ให้กลับมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาอย่างเดิมได้

จึงมีรับสั่งให้ข้าหลวงถือหนังสือไปถึงพระยาปัตตานี และพระยาไทรบุรี ให้แต่งทูตนำต้นไม้เงินทองเข้ามาถวายเหมือนแต่ก่อน พระยาปัตตานีขัดแข็งเสีย หามาอ่อนน้อมไม่ กรมพระราชวังบวรฯ จึงดำรัสสั่งให้พระยากลาโหมกับพระยาจ่าแสนยากร ยกทัพหน้าลงไปตีเมืองปัตตานีแล้วสเด็จยกทัพหลวงตามลงไปยังเมืองสงขลา กองทัพไทยยกลงไปตีเมืองปัตตานี ได้ปืนใหญ่อันเป็นศรีเมือง ซึ่งเรียกว่า “นางพระยาตานี” กับครอบครัวและทรัพย์สมบัติมาในครั้งนั้นเป็นอันมาก”

นอกจานี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติไว้ดังนี้  “กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปประทับอยู่ที่เมืองสงขลา ให้ข้าหลวงเชิญกระแสรับสั่งออกไปถึงพระยาปัตตานี พระยาไทรบุรี และพระยาตรังกานู ให้มายอมเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยา (หมายถึง กรุงเทพฯ ผู้เขียน) อย่างแต่ก่อน พระยาปัตตานีไม่ยอม จึงมีรับสั่งให้กองทัพไทยยกลงไปตีเมืองปัตตานีได้ เมื่อตีได้แล้ว มีรับสั่งให้กวาดครอบครัวและเก็บเครื่องศัตราวุธ คือ ปืนใหญ่ กระบอกที่เรียกว่า “พระยาตานี” นั้นเป็นต้น เอามากรุงเทพฯ ทอนกำลังเมืองปัตตานีลงเสียบ้าง แล้วทรงตั้งให้แขกซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีเก่า เป็น “พระยาปัตตานี”

ต่อมา สงครามปราบปรามปัตตานีในครั้งแรกเสร็จสิ้นราวปี พ.ศ. 2329 และพระยาตานีในครั้งนั้น คือ สุลต่านมุฮำมัด (Sultan Muhammad) ซึ่งสิ้นพระชนม์ในสนามรบ ก่อนที่พระยากลาโหม ซึ่งเป็นแม่ทัพจะถอนทัพกลับ ได้แต่งตั้ง เต็งกู  ลามิเด็น (Tenku  Lamiden) เป็นเจ้าเมืองปัตตานี พระยากลาโหมได้นำเชลยชาวปัตตานีจำนวน 4,000 คน ลงเรือมุ่งสู่พระนครฯ ระหว่างเดินทางบางคนก็กระโดดหนีจากเรือ ลงทะเลหลบหนี จะมีรอดบ้างก็น้อยเต็มที ส่วนใหญ่ก็ตายในทะเล

ดังนั้นเพื่อมิให้ชาวปัตตานีกระโดดหนีลงทะเลอีก ทหารสยามจึงใช้วิธีร้อยหวายที่เอ็นเหนือส้นเท้าของเชลยเหล่านั้น ผูกพ่วงต่อกันหลายๆ คน เชลยที่เป็นหญิงก็จะถูกร้อยใบหูพ่วงไว้เช่นเดียวกัน และให้นั่งอยู่ในเรือเดินทางจนถึงบางกอก บางคนเจ็บป่วยล้มตายในเรือระหว่างเดินทาง ที่ไม่ตายก็เกิดแผลเป็นฝีหนองเจ็บป่วยทุกข์เวทนาเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อถึงบางกอก ลูกหลานสุลต่าน (เชื้อพระวงศ์) ได้ถูกนำไปไว้หลังวัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี ซึ่งบริเวณดังกล่าว เรียกกันว่า บ้านแขกมลายูหรือบ้านแขก (ปัจจุบันคือ สี่แยกบ้านแขก บ้านสมเด็จเจ้าพระยาฯ เขตธนบุรี) ส่วนเชลยที่เป็นคนธรรมดาสามัญก็ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานในการขุดคลองแสนแสบ และจัดที่ให้ทำไร่ ทำนารอบๆ พระนคร เช่น พื้นที่เขตปทุมธานี หนองจอก มีนบุรี ท่าอิฐ เป็นต้น

สงครามครั้งที่สองเกิดขึ้นอีกเมื่อปี พ.ศ. 2334 เป็นกรณีสงครามเพื่อกอบกู้เอกราช ซึ่งนำโดยเต็งกู  ลามิเด็น และสงครามครั้งที่สามเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2351 เป็นกรณีการกอบกู้เอกราชปัตตานีซึ่งนำโดย ดาโต๊ะ ปึงกาลัน (Datuk Pengkalan) สงครามครั้งนี้ ปัตตานีแพ้พ่ายและดาโต๊ะ ปึงกาลันสิ้นพระชนม์ การกวาดต้อนชาวปัตตานีที่แพ้สงครามและตกเป็นเชลยศึก แล้วเอามาไว้ในเขตพระนคร และเขตปริมณฑล นับแต่ช่วงปี พ.ศ. 2329-2351 ในช่วงเวลา 22 ปี ถือเป็นการกวาดต้อนชาวปัตตานีรุ่นแรกสู่พระนครฯ

ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 2 ปี พ.ศ. 2364 นั้น เป็นการกวาดต้อนเชลยศึกที่มีทั้งชาวปัตตานีและชาวไทรบุรี (เคดะห์) เพราะ ครานั้นเจ้าพระยาไทรบุรีแข็งเมือง สยามจึงส่งกองทัพไปปราบปราม การกวาดต้อนชาวมลายู โดยเฉพาะไทรบุรีจึงถือเป็นเชลยศึกชุดที่สองหรือระลอกสอง และเกิดขึ้นภายหลังการกวาดต้อนชาวปัตตานีรุ่นแรก (สงคราม 3 ครั้ง) เป็นเวลา 13 ปี ครั้นเมื่อถึงรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ. 2381 ก็เกิดสงครามกับหัวเมืองมลายูอีกระลอก คราวนี้มีทั้งชาวกลันตัน ตรังกานู และหัวเมืองปักษ์ใต้อื่นๆ สมทบเข้ามาด้วย และถือเป็นเชลยศึกชุดที่สามหรือระลอกสาม มีช่วงเวลาห่างจากชุดที่สอง 17 ปี และห่างจากชุดแรกเป็นเวลา 52 ปี

ดังนั้นเชลยศึกปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงมีอายุอานามเก่าแก่ถึง 219 ปีด้วยกัน และนับเป็นพลเมืองที่มีประวัติเก่าแก่เคียงคู่กับกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อแรกสถาปนา (พ.ศ. 2325) เลยทีเดียว กล่าวคือ ถูกกวาดต้อนเข้ามายังกรุงเทพมหานครหลังจากรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาราชธานีแห่งใหม่นี้ได้ราว 4 ปีล่วงมาแล้ว
ประเด็นสำคัญที่จะต้องสืบค้นหรือมีการตั้งสมมติฐานก็คือ ชาวปัตตานี 2 ท่าน คือ แชมะ แชนูร ที่ออกนามเอาไว้ว่า เป็นผู้บุกเบิกในการตั้งชุมชนมุสลิมมลายู ณ บริเวณบ้านล่างของบ้านป่านั้นมาจากชนมลายูรุ่นใดกันแน่?

หากถือตามข้อมูลเดิมที่ระบุว่า ชุมชนบ้านป่ามีอายุย้อนหลังกลับไปเมื่อ 180 ปีที่ผ่านมา ก็จะตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 ในการทำสงครามกับหัวเมืองมลายู โดยเฉพาะเมืองไทรบุรี (เคดะห์) เมื่อปี พ.ศ. 2364 ซึ่งนับเวลาได้จนถึงปัจจุบันราว 184 ปี แต่เท่าที่ไล่เรียงอายุของบรรพบุรุษ ย้อนกลับไป 4 ชั่วอายุคน ก็น่าจะเกินช่วงเวลาที่กล่าวมานี้ (คือ 180 ปี) 

ถ้าหากกำหนดว่า บรรพบุรุษแต่ละชั่วอายุคน มีอายุ 50 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งจริงๆ แล้วมีอายุถัวเฉลี่ย 70 ปีขึ้นไป บางท่านเช่น ย่า (โต๊ะ) ท่านเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 90 ปีเศษเข้าไปแล้ว สมมติฐานข้อนี้จึงมิน่าจะใช่

ดังนั้นช่วงเวลาที่มีความเป็นไปได้ก็คือ บรรพบุรุษที่ตั้งชุมชนบ้านป่าในครั้งอดีต น่าจะเป็นชาวปัตตานีรุ่นแรกที่ถูกกวาดต้อนมาในรัชกาลที่ 1 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสามารถย้อนเวลากลับไปถึง 219 ปี โดยในช่วงแรกของการตั้งชุมชน ยังไม่มีการสร้างมัสยิดหลังแรกขึ้นที่บ้านล่างแต่อย่างใด ต่อเมื่อระยะเวลาผ่านไปราว 30 กว่าปี ชุมชนขยายครัวเรือนมากขึ้น จึงมีการสร้างมัสยิดหลังแรกเพื่อประกอบศาสนกิจ โดยเฉพาะการละหมาดวันศุกร์ ซึ่งมัสยิดหลังแรกมีอายุมากกว่า 180 ปี

ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการสร้างมัสยิดหลังแรก บรรพบุรุษของชุมชนบ้านป่าอาจจะอาศัยบ้านหลังหนึ่งหลังใดเป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจ หรือไม่ก็เดินทางไปร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดอัลกุ๊บรอ (สุเหร่าใหญ่) บริเวณปากคลองเคล็ด ซึ่งมีหลักฐานระบุว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2332 โดยท่านอับบ๊าส อดีตแม่ทัพของปัตตานีที่พ่ายศึกและถูกกวาดต้อนครัวมากักกันไว้ที่แขวงเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ ซึ่งขณะนั้นกินอาณาบริเวณรวมถึงพระโขนง และสวนหลวงในปัจจุบันด้วย

ทั้งนี้พิจารณาจากระยะทางระหว่างบ้านป่าและปากคลองเคล็ดมีระยะทางไม่ห่างไกลกันนัก ซึ่งบริเวณที่ตั้งมัสยิดอัลกุ๊บรอนั้น เรียกว่า “หัวป่า” คือ สุดเขตแดนผืนป่าติดกับคลองใหญ่ ส่วนชุมชนบ้านป่านั้นมีพื้นที่ลึกเข้ามาในส่วนใจกลางป่า โดยมีคลองบ้านป่าที่คดเคี้ยวเป็นทางสัญจรในการคมนาคมทางน้ำในยุคนั้น

อย่างไรก็ตามสมมติฐานที่สองนี้ซึ่งคะเนว่า บรรพบุรุษชนชนบ้านป่าเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับชาวตานีรุ่นแรก ที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่หลายประการด้วยกัน กล่าวคือ

1. ผู้สูงอายุเล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านแขกเก่า (คือเป็นชาวมลายูรุ่นเก่าก่อน รวมถึงชุมชนมุสลิมในบริเวณที่ติดต่อกัน โดยมีคลองใหญ่ (คลองพระโขนง-คลองตัน) เป็นเส้นทางสัญจร ซึ่งได้แก่ชุมชนบางมะเขือ, สามอิน, คลองตัน, คลองกะจะ, หัวหมาก เป็นต้น ก็เป็นแขกเก่าเช่นกัน) ส่วนชาวหัวป่าและปากคลองเคล็ด ถูกเรียกขานว่า “แขกใหม่” (คือ แขกมลายูที่เข้ามาใหม่และเข้ามาทีหลัง) ทำไมจึงเรียกเช่นนั้น?

2. หากชาวบ้านป่าเป็นคนรุ่นเดียวกับชาวตานีที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองมลายู ทำไมคนบ้านป่าหลายชั่วอายุคนที่ผ่านมา จึงไม่สามารถพูดภาษามลายูได้ ในขณะที่ผู้อาวุโส คนแก่คนเฒ่าในชุมชนหัวป่า และคลองเคล็ดในปัจจุบัน ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งพูดภาษามลายูได้อยู่ และการพูดภาษามลายูได้นี้ หมายถึง พูดในชีวิตประจำวันระหว่างผู้คนในครอบครัวเดียวกัน

(ส่วนการอ่านและเขียนภาษามลายูได้นั้นเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้คนที่ร่ำเรียนศาสนาจากตำราในยุคที่ผู้คนยังมีอคติกับภาษาไทยและการเรียนการสอนภาษาไทยยังคงอยู่ในวงจำกัด) อะไรเป็นสาเหตุที่คนรุ่นเดียวกันทิ้งภาษาพูดของตน การแยกครัวเรือนมาตั้งใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่น่าจะเป็นสาเหตุให้คนรุ่นเดียวกันถึงกับลืมภาษาแม่ จนเกือบหมดสิ้น

3. จากมุขปาฐะของผู้สูงอายุให้การยืนยันว่า ผู้คนในชุมชนบ้านป่ากับชาวมลายูตานี ในเขตคลองเคล็ดและหัวป่า ไม่มีความเกี่ยวข้องทางเครือญาติที่ชัดเจน จะมีก็แต่ในชั้นหลังที่เกี่ยวดองกันด้วยการแต่งงาน นี่เป็นข้อสงสัยอีกประการหนึ่ง เพราะถ้าเป็นคนจากแหล่งเดียวกัน ก็น่าจะมีสายสมพันธ์ทางเครือญาติปรากฏอยู่บ้าง ในส่วนของแชมะกับแชนูร ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้บุกเบิกชุมชนบ้านป่าในอดีตก็ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด

รู้แต่ว่าท่านทั้งสองเป็นชาวตานีเพียงเท่านั้น ลูกหลานที่สืบต่อมาในชั้นหลังก็มิอาจทราบได้ว่าเป็นผู้ใด เป็นต้นตระกูลของสกุลใดในชุมชนบ้านป่า ถ้าหากท่านทั้งสองแยกครัวมาจากหัวป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกัน ก็น่าจะมีญาติพี่น้องหรือพรรคพวกอยู่ที่นั่น แต่กลับไม่ปรากฏ แม้บรรพบุรษของตระกูลเก่าแก่ในบ้านป่า ก็ไม่ปรากฏว่ามีเครือญาติทางหัวป่าแต่อย่างใด ยกเว้นในชั้นหลังเท่านั้น ซึ่งก็เรียกขานผู้ที่เกี่ยวดองด้วยการแต่งงานนั้นว่าเป็นแขกใหม่ พูดภาษามลายูได้อย่างฉะฉาน ในขณะที่ญาติทางบ้านป่าซึ่งเกี่ยวดองกันไม่สามารถพูดภาษามลายูได้ เพราเป็น “แขกเก่า” ที่พูดภาษาไทยนับแต่เกิด

4. วัฒนธรรมและวิถีชีวิตประจำวันบางประการ ก็มีส่วนสำคัญในการตั้งข้อสงสัยได้เช่นกัน กล่าวคือ ชาวมลายูตานีนั้นเมื่อแรกถูกกวาดต้อนมาในฐานะเชลยศึก ก็ยังคงผูกใจเจ็บและอาฆาตสยามอยู่เป็นธรรมดา การจำยอมรับขนบธรรมเนียมและวิถีชีวิตอย่างชนสยามในเมืองบางกอก คงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น การแต่งกายของชาวมลายูตานีในช่วงเวลานั้น ก็คงยังรักษารูปแบบเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น เช่น นุ่งโสร่ง ผ้าปาเต๊ะ พูดมลายู (กะเจ๊ะนายู) เป็นต้น  แต่บรรพบุรุษในชมชนบ้านป่ากลับมีธรรมเนียม และวิถีชีวิตแตกต่างกัน คือเป็นชาวไร่ชาวนาเหมือนชาวบ้านภาคกลางในยุคนั้นโดยทั่วไป (ซึ่งชาวตานีเองก็คงไม่แตกต่างในเรื่องนี้ เพราะเป็นชาวนาชาวสวนเหมือนกัน) ปลูกบ้านเรือนทรงไทยภาคกลาง พูดภาษาไทย

ที่สำคัญคือ บรรพบุรุษในชุมชนบ้านป่าสมัยก่อน (รุ่นย่า-ยาย) นุ่งผ้าโจงกระเบน คาดผ้าแถบรัดทรวงอก กินหมากพลู และใช้เชี่ยนหมากเป็นเครื่องโลหะ (เชี่ยนหมาก คือ ภาชนะสำหรับใส่หมากพลู) ซึ่งชาวมลายูตานีไม่นิยมกินหมากพลู จะมีบ้างก็ประปราย จึงมีข้อน่าสงสัยว่า ทำไมชาวมลายูตานีในบ้านป่าจึงมีวิถีชีวิตเหมือนกับคนไทยเดิมในภาคกลาง เรื่องนุ่งผ้าโจงกระเบน คาดผ้าแถบรัดทรวงอกนี้ ทั้งย่าและยายของผู้เขียนเองก็เคยใช้มาก่อน ทั้งมะอฺและเยาะฮฺ (แม่-พ่อ) ต่างก็ยืนยันเช่นนั้น หรือว่าพวกท่านเหล่านั้นจะเป็นแขกเก่าที่มีวิถีชีวิตแบบคนไทยภาคกลางมาแต่เดิม?

มัสยิดอัลเอี๊ยะติซอม  มัสยิดอัลกุ๊บรอ (สุเหร่าใหญ่)

นอกจากนี้ยังมีข้อสังกตอีกประการหนึ่งที่น่าคิด กล่าวคือ มีผู้หลักผู้ใหญ่รุ่นก่อนเป็นจำนวนมิใช่น้อยที่มีชื่อเสียงเรียงนามเป็นคำโดด พยางค์เดียวเหมือนกับชื่อของคนไทยภาคกลางในสมัยก่อน อาทิเช่น จัน, พ่วง, แพร, ภู่, ฟัก, เรียก, จำปี, นุ่ม, ฉ่อง เป็นต้น ตัวอย่างของนามชื่อที่กล่าวมาล้วนเป็นนามชื่ออย่างไทยภาคกลาง ในอดีตบางท่านอาจจะแย้งว่า ชื่อแบบมลายูก็มีและเยอะมากด้วย เช่น ซบ, เลาะ, หมัด, ดุน, มิน, ซัน, มาน, รอน เป็นต้น ข้อนี้ผู้เขียนก็เห็นพ้องด้วย แต่นั่นเป็นเรื่องปกติ เพราะแม้ทุกวันนี้ก็ยังนิยมเรียกชื่อคำอาหรับเป็นสำเนียงไทย โดยกร่อนลงเพียงพยางค์เดียว คือ เป็นคำโดด

แต่กรณีมีชื่อเป็นคำไทยอย่างที่ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ เป็นเรื่องผิดปกติสำหรับชาวมลายูตานีในยุคต้นที่เพิ่งถูกกวาดต้อนมาไม่นานนัก และที่สำคัญนามชื่อที่กร่อนเหลือเพียงพยางค์เดียว เช่น ซบ, เลาะ, ดุน ฯลฯ ก็มีเค้าเงื่อนมาจากคำนามที่ใช้เรียกชื่อเป็นภาษาอาหรับแต่เดิม คือ ยูซบ อัลดุลเลาะห์ อัลดุล อามีน ฮะซัน ฯลฯ ไม่น่าจะกร่อนมาจากคำเรียกชื่อตามสำเนียงมลายู ซึ่งเพี้ยนเสียงมาจากคำอาหรับมาแล้วทอดหนึ่ง เช่น ดะรอแม (อับดุรเราะห์มาน), อารง (ฮารูน), มะ (มูฮำหมัด) ฯลฯ

กระนั้น บางท่านอาจจะแย้งอีกว่า สาเหตุที่ชาวมุสลิมรุ่นก่อนมีชื่อพยางค์เดียวหรือสองพยางค์เป็นคำไทย เป็นผลมาจากการใช้นโยบายรัฐนิยมของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งประกาศใช้ทั่วประเทศนับแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2482 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 โดยเฉพาะประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 3 เรื่องการเรียกชื่อชาวไทย (ประกาศใช้ 2 สิงหาคม 2482) ทำให้ชาวมุสลิมในประเทศไทยจำต้องเปลี่ยนนามชื่อที่มีคำภาษาอื่นปะปนอยู่เป็นคำไทยแท้ แต่นั่นก็เป็นช่วงเวลาที่ย้อนกลับไปเพียง 60 ปีเศษเท่านั้น

ส่วนบรรพบุรุษที่ใช้ชื่อไทยดังในตัวอย่างนั้น ใช้ชื่อเรียกขานมาก่อนหน้านั้น แต่เดิมแล้ว (คือ สามารถย้อนกลับไปในอดีตได้เป็นเวลาร้อยปี) จากประเด็นข้อสงสัยที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะเป็นสมมติฐานได้ว่า บรรพชนบ้านป่านี้ ไม่น่าจะอยู่หรือตั้งหลักแหล่งในช่วงเวลาเดียวกับชาวมลายู-ปัตตานีที่พ่ายสงครามแก่สยามในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์และถูกกวาดต้อนมาไว้ในเขตรอบนอกพระนคร ถ้าสมมติฐานนี้มีความเป็นไปได้ ก็ต้องตั้งประเด็นต่อไปว่า แล้วชาวมลายู-ปัตตานีที่มีวิถีชีวิตเหมือนคนไทยพื้นบ้านในภาคกลางเหล่านี้มาจากที่ใดกัน? และเข้ามาตั้งชุมชนในพื้นที่บ้านป่านี้ได้อย่างไร?