คัมภีร์อัล-กุรอานกับคริสตชน : ภาคที่ 8 อัครสาวกสิบสองคนของพระเยซูคริสต์

อัครสาวกสิบสองคนของพระเยซูคริสต์

คัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุถึงบรรดาอัครสาวกของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (อ.ล.) ว่า

” فَلَمَّا أَحَسَّ عِيسَىٰ مِنْهُمُ الْكُفْرَ‌ قَالَ مَنْ أَنصَارِ‌ي إِلَى اللَّـهِ   قَالَ الْحَوَارِ‌يُّونَ نَحْنُ أَنصَارُ‌ اللَّـهِ آمَنَّا بِاللَّـهِ وَاشْهَدْ بِأَنَّا مُسْلِمُونَ “

” رَ‌بَّنَا آمَنَّا بِمَا أَنزَلْتَ وَاتَّبَعْنَا الرَّ‌سُولَ فَاكْتُبْنَا مَعَ الشَّاهِدِينَ “

ความว่า   “ครั้นเมื่ออีซารู้แน่ชัดถึงการปฏิเสธศรัทธาจากพวกเขา (ชาวยิว) เขากล่าวว่า ผู้ใดเล่าคือผู้ช่วยเหลือสนับสนุนฉัน (ในการเรียกร้อง) สู่พระองค์อัลลอฮฺ ฝ่ายหะวารียูนจึงกล่าวว่า : พวกเราคือบรรดาผู้ให้การช่วยเหลือสนับสนุน (ศาสนา) ของอัลลอฮฺ เราศรัทธาแล้วต่อพระองค์   อัลลอฮฺ และขอจงเป็นพยานว่าพวกเราเป็นผู้ยอมนอบน้อม โอ้พระผู้อภิบาลของเหล่าข้าพระองค์ พวกเราศรัทธาต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานลงมาและเราได้ปฏิบัติตามผู้เป็นศาสนทูต ดังนั้นขอจงทรงบันทึกพวกข้าพระองค์ให้อยู่พร้อมกับบรรดาผู้เป็นสักขีพยานทั้งหลาย”

(อาลิ-อิมรอน : 52-53)

อัล-กุรอานเรียกขานเหล่าสาวกของอัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล) ว่า “อัล-หะวารียูน”  คำๆ นี้เป็นพหูพจน์ของคำ “อัล-หะวารียฺ” (اَلْحَوَارِيُّ)  ซึ่งมีความหมายว่า คนสนิท และผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้วยความจริงใจ เหล่าสาวกของอัล-มะสีหฺได้ยืนยันว่าพวกตนศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เชื่อในความเป็นผู้เผยพระวจนะหรือศาสนทูตของอัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) และเป็นสักขีพยานยืนยันถึงเอกานุภาพของอัลลอฮฺและความสัจจริงแห่งศาสนทูตของพระองค์

อัล-กุรอานได้ระบุถึงเหล่า “อัล-หะวารียูน” อีกว่า

وَإِذْ أَوْحَيْتُ إِلَى الْحَوَارِ‌يِّينَ أَنْ آمِنُوا بِي وَبِرَ‌سُولِي قَالُوا آمَنَّا وَاشْهَدْ بِأَنَّنَا مُسْلِمُونَ  ﴿١١١

إِذْ قَالَ الْحَوَارِ‌يُّونَ يَا عِيسَى ابْنَ مَرْ‌يَمَ هَلْ يَسْتَطِيعُ رَ‌بُّكَ أَن يُنَزِّلَ عَلَيْنَا مَائِدَةً مِّنَ السَّمَاءِ  قَالَ اتَّقُوا اللَّـهَ إِن كُنتُم مُّؤْمِنِينَ  ﴿١١٢

قَالُوا نُرِ‌يدُ أَن نَّأْكُلَ مِنْهَا وَتَطْمَئِنَّ قُلُوبُنَا وَنَعْلَمَ أَن قَدْ صَدَقْتَنَا وَنَكُونَ عَلَيْهَا مِنَ الشَّاهِدِينَ  ﴿١١٣

قَالَ عِيسَى ابْنُ مَرْ‌يَمَ اللَّـهُمَّ رَ‌بَّنَا أَنزِلْ عَلَيْنَا مَائِدَةً مِّنَ السَّمَاءِ تَكُونُ لَنَا عِيدًا لِّأَوَّلِنَا وَآخِرِ‌نَا وَآيَةً مِّنكَ  وَارْ‌زُقْنَا وَأَنتَ خَيْرُ‌ الرَّ‌ازِقِينَ  ﴿١١٤

قَالَ اللَّـهُ إِنِّي مُنَزِّلُهَا عَلَيْكُمْ  فَمَن يَكْفُرْ‌ بَعْدُ مِنكُمْ فَإِنِّي أُعَذِّبُهُ عَذَابًا لَّا أُعَذِّبُهُ أَحَدًا مِّنَ الْعَالَمِينَ  ﴿١١٥

ความว่า “และจงรำลึกขณะที่ข้าได้ดลใจไปยังหะวารียูนว่า พวกเจ้าจงศรัทธาต่อข้าและต่อผู้เผยพระวจนะของข้า พวกเขากล่าวว่า : เราศรัทธาแล้ว และขอจงเป็นพยานว่าพวกเราเป็นผู้ยอมจำนน จงรำลึกขณะที่หะวารียูนกล่าวว่า : “โอ้ อีซา บุตร มัรยัม พระผู้อภิบาลของท่านทรงสามารถหรือไม่ในการที่พระองค์จะทรงประทานสำรับอาหารจากฟากฟ้าลงมาเหนือพวกเรา”

เขา (อีซา) กล่าวว่า “พวกท่านจงอย่าเกรงอัลลอฮฺเถิด.. หากพวกท่านเป็นผู้ศรัทธา” พวกเขากล่าวว่า “พวกเราประสงค์ต่อการที่พวกเราจะได้รับประทานจากสำรับอาหารนั้น และหัวใจของพวกเราจะได้สงบและพวกเราจะได้รู้ว่าแท้จริงท่านได้พูดความสัตย์กับพวกเรา และพวกเราจะได้เป็นส่วนหนึ่งจากประจักษ์พยานถึงสำรับอาหารนั้น

อีซา บุตร มัรยัม กล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺพระผู้อภิบาลของเรา ขอทรงประทานสำรับอาหารหนึ่งจากฟากฟ้าลงมาเหนือเรา จะได้เป็นการรื่นเริงสำหรับเราแก่เบื้องต้นของเราและเบื้องท้ายสุดของเรา และเป็นหมายสำคัญจากพระองค์ท่าน และขอทรงโปรดประทานปัจจัยแก่เรา และพระองค์ท่านคือผู้ที่ทรงประทานปัจจัยที่ดีที่สุด” อัลลอฮฺตรัสว่า “แท้จริงข้าจะประทานสำรับอาหารนั้นลงมาเหนือพวกเจ้า ฉะนั้นผู้ใดจากพวกเจ้าปฏิเสธศรัทธาในภายหลัง ข้าจะลงทัณฑ์ผู้นั้นด้วยโทษทัณฑ์ที่ข้าจะไม่ลงทัณฑ์ผู้ใดเลยจากโลกทั้งผอง”  (อัล-มาอิดะฮฺ : 111-115)

คัมภีร์ อัล-กุรอาน ระบุเรื่อง “สำรับอาหาร” จากฟากฟ้าว่าเป็นส่วนหนึ่งจากหมายสำคัญอันเป็นปาฏิหารย์ (มุอฺญิซาต) ที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานแก่อัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (อ.ล.) ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีบันทึกโดยชัดเจนในพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 4 ฉบับ การรับประทานปัสกาของพระเยซูคริสต์กับอัครทูตก่อนเหตุการณ์อายัดจับกุมพระองค์นั้นก็ไม่ปรากฏว่าเป็นการรับประทานอาหารที่พระเยซูทรงทูลขอต่อพระผู้เป็นเจ้าทรงประทานลงมาจากฟากฟ้าหรือไม่?

และข้อความของอัล-กุรอานในเรื่องนี้บ่งชี้ว่า เหล่าอัครทูต อัล-หะวารียูนขอหมายสำคัญจากอัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) เพื่อยืนยันความสัจจริงของพระองค์ การตั้งคำถามว่า “พระเจ้าของท่านทำได้หรือไม่?”  นั้นส่อเค้าว่าผู้ที่ตั้งคำถามยังไม่ศรัทธาอย่างหมดจิตหมดใจในฤทธานุภาพและความสัตย์จริงของพระผู้เป็นเจ้าและผู้เผยพระวจนะของพระองค์ นักอรรถาธิบายอัล-กุรอานได้วิเคราะห์ว่า

การตั้งคำถามเช่นนี้อาจต้องตีความให้เหมาะควรกับสถานภาพของอัล-หะวารียูน ซึ่งเป็นอัครสาวกของอัล-มะสีหฺ อีซา เนื่องจากนัยของคำถามบ่งถึงความศรัทธาที่อ่อนแอของผู้ที่ตั้งคำถาม คำอธิบายที่มีน้ำหนักในเรื่องนี้คือ การตั้งคำถามเพื่อขอหมายสำคัญนี้เกิดจากบางคนในหมู่สาวกสิบสองคนเท่านั้น มิได้หมายความว่าทั้งหมดได้ขอหมายสำคัญนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรจะถูกตำหนิและย้ำเตือนด้วยประโยคที่ว่า “พวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺ หากพวกท่านเป็นผู้ศรัทธา” ลางทีผู้ที่ถามและขอหมายสำคัญนี้คือ ยูดาส อิสคาริโอทก็เป็นได้ เพราะในภายหลังยูดาสได้รับการลงฑัณฑ์ที่ไม่มีผู้ใดจากชาวโลกเคยถูกลงทัณฑ์มาก่อน นั่นคือ การถูกตรึงกางเขนแทนอัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) นั่นเอง

คัมภีร์อัล-กุรอานได้เรียกร้องให้ผู้ศรัทธารักษาหลักการของศาสนาขอบเขตและพันธสัญญาตลอดจนหลีกห่างจากสิ่งที่อัลลอฮฺบัญญัติห้ามเอาไว้ โดยกล่าวถึง อัล-หะวารียูนที่ตอบรับการเรียกร้องของ อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) ดังปรากฏว่า :

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُونُوا أَنصَارَ‌ اللَّـهِ كَمَا قَالَ عِيسَى ابْنُ مَرْ‌يَمَ لِلْحَوَارِ‌يِّينَ مَنْ أَنصَارِ‌ي إِلَى اللَّـهِ  قَالَ الْحَوَارِ‌يُّونَ نَحْنُ أَنصَارُ‌ اللَّـهِ  فَآمَنَت طَّائِفَةٌ مِّن بَنِي إِسْرَ‌ائِيلَ وَكَفَرَ‌ت طَّائِفَةٌ  فَأَيَّدْنَا الَّذِينَ آمَنُوا عَلَىٰ عَدُوِّهِمْ فَأَصْبَحُوا ظَاهِرِ‌ينَ

ความว่า “โอ้ บรรดาศรัทธาชน พวกเจ้าจงเป็นผู้ให้การสนับสนุนศาสนาของอัลลอฮฺอย่างที่อีซา บุตรมัรยัมกล่าวแก่บรรดา “หะวารียูน” ว่า “ผู้ใดคือบรรดาผู้ให้การสนับสนุนฉัน (ในการเรียกร้อง) สู่อัลลอฮฺ” ฝ่ายหะวารียูนกล่าวว่า “พวกเราคือบรรดาผู้ให้การสนับสนุนศาสนาของอัลลอฮฺ” แล้วกลุ่มชนหนึ่งจากวงศ์วานอิสรออีลก็ได้ศรัทธาและกลุ่มชนหนึ่งได้ปฏิเสธศรัทธา ดังนั้นเราจึงได้สนับสนุนบรรดาผู้ศรัทธาให้เหนือกว่าปรปักษ์ของพวกเขา แล้วพวกเขาก็เป็นผู้ที่สำแดงให้ปรากฏ (ด้วยบรรดาหลักฐานและหมายสำคัญ)”
(อัศ-ศอฟ : 14)

ดังนั้นบุคคลแรกที่เชื่อในความสัจจริงของอัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) ก็คือมารดาของท่าน (มัรยัม บุตรีอิมรอน) และยะหฺยา (ยอห์นผู้ให้บัพติศมา) ส่วนกลุ่มบุคคลแรกจากวงศ์วานของอิสราเอลที่ศรัทธาต่อความสัจจริงของ อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) ก็คือ บรรดาอัครทูต 12 คน ซึ่งถูกเรียกขานว่า “อัล-หะวารียูน” คัมภีร์อัล-กุรอานมิได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนของอัล-หะวารียูนว่ามีกี่คน มีใครบ้างแต่ละไว้สำหรับบรรดานักวิชาการในการสืบค้นถึงรายละเอียดของบรรดาอัลหะวารียูน อัล-กุรอานมุ่งเน้นประเด็นไปยังเนื้อหาและสารัตถะมากกว่าการพูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ ซึ่งเป็นข้อปลีกย่อยที่เป็นเรื่องรองและเปิดช่องเอาไว้สำหรับการสืบค้น

บรรดาอัครทูตหรือสาวกสิบสองของอัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) นั้นพวกเขามิได้รวมตัวกันในคราเดียวแต่เป็นการยอมรับคำเชิญชวนของอัล-มะสีหฺของแต่ละบุคคลในช่วงของลำดับเหตุการณ์ พระคริสตธรรมคัมภีร์ระบุว่าในช่วงเริ่มพระราชกิจจานุกิจของพระเยซูคริสต์ ขณะที่พระองค์ทรงดำเนินอยู่ตามชายทะเลกาลิลี ก็ทรงทอดพระเนตรเห็นพี่น้องชาวประมงสองคน คือ ซีโมนที่เรียกว่า เปโตร กับอันดรูว์น้องชาย กำลังทอดแหอยู่ที่ทะเลสาบ

พระองค์ตรัสกับเขาว่า “จงตามเรามาเถิด และเราจะตั้งท่านให้เป็นผู้หาคน ดั่งหาปลา” เขาทั้งสองได้ละแหตามพระองค์ไปทันที ครั้นพระองค์เสด็จต่อไป ก็ทอดพระเนตรเห็นพี่น้องอีกสองคน ชื่อ ยากอบ บุตรเศเบดี กับยอห์นน้องชายของเขากำลังชุนอวนอยู่ในเรือกับเศเบดีบิดาของเขา พระองค์ได้ทรงเรียกเขา ในทันทีทันใดนั้นทั้งสองก็ละเรือและละบิดาของเขาตามพระองค์ไป” (มัทธิว 4 : 18-22) มาระโกบันทึกเรื่องนี้ตรงกับมัทธิว (มาระโก 1 : 16-20)

แต่ลูกาบันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ต่างออกไปว่า :

“ครั้งเมื่อประชาชนกำลังเบียดเสียดพระองค์ เพื่อฟังพระวจนะของพระเจ้า พระองค์ทรงยืนอยู่ที่ฝั่งทะเลเยน-เนซาเรท และพระองค์ทรงเห็นเรือสองลำจอดอยู่ริมฝั่งทะเลสาบนั้น แต่ชาวประมงขึ้นจากเรือแล้วกำลังซักอวนอยู่ พระองค์จึงเสด็จลงเรือลำหนึ่ง เป็นเรือของซีโมน ทรงขอให้เขาถอยไปจากฝั่งหน่อยหนึ่ง แล้วพระองค์ทรงนั่งลงสอนประชาชนจากเรือนั้น

เมื่อพระองค์ตรัสสอนเสร็จแล้ว จึงตรัสแก่ซีโมนว่า “จงถอยออกไปที่น้ำลึก หย่อนอวนลงจับปลา” ซีโมนทูลตอบว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายทอดอวนคืนยันรุ่ง ไม่ได้อะไรเลย แต่ข้าพระองค์จะหย่อนอวนลงตามพระดำรัสของพระองค์” เมื่อเขาหย่อนลงแล้วก็ล้อมปลาไว้เป็นอันมาก จนอวนของเขากำลังปริ….ฝ่ายซีโมนเปโตรเมื่อเห็นดังนั้น ก็กราบลงที่พระชานุของพระเยซู ทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า ขอเสด็จไปให้ห่างจากข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์เป็นคนบาป”  

เพราะว่าเขากับคนทั้งหลายที่อยู่ด้วยกันประหลาดใจด้วยปลาเป็นอันมากที่เขาจับได้นั้น
ยากอบและยอห์นบุตรของเศเบดีผู้ร่วมงานกับซีโมนก็ประหลาดใจเหมือนกัน พระเยซูตรัสแก่ซีโมนว่า “อย่ากลัวเลย ตั้งแต่นี้ไปท่านจะเป็นผู้จับคน” เมื่อเขานำเรือมาถึงฝั่งแล้ว เขาก็สละสิ่งสารพัดทิ้ง ตามพระองค์ไป” (ลูกา 5 : 1-11)

ลูกายังได้บันทึกอีกด้วยว่า ก่อนเหตุการณ์ครั้งนี้ที่เกิดขึ้นริมทะเลสาบ พระเยซูคริสต์ได้ทรงรักษาแม่ยายของเปโตรที่ป่วยเป็นไข้หนักนอนอยู่ในเรือนของเปโตรอีกด้วย (ลูกา 4 : 38-41)

เมื่อนำเอาสิ่งที่ถูกบันทึกในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับของลูกาไปเปรียบเทียบกับฉบับของมัทธิวและมาระโกซึ่ง 2 ฉบับนี้สาธยายเหตุการณ์เหมือนกันก็จะพบว่า ลูกาสาธยายเหตุการณ์แตกต่างจาก 2 ฉบับแรกจนดูเหมือนเป็นคนละเหตุการณ์เลยทีเดียว มัทธิวไม่ได้บันทึกเรื่องการรักษาแม่ยายของเปโตรเอาไว้ก่อนเหตุการณ์นี้ แต่มัทธิวบันทึกเอาไว้หลังการเรียกอัครสาวกทั้งสิบสองคนนั้นแล้ว และก่อนหน้าการรักษาแม่ยายของเปโตร พระองค์ก็ทรงรักษาคนโรคเรื้อนให้หาย (มัทธิว 8 : 1-4)  ทรงรักษาบ่าวของนายร้อย (มัทธิว 8 : 5-13)

แต่ลูกาบันทึกเหตุการณ์การรักษาแม่ยายของเปโตรเอาไว้ก่อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นริมทะเลสาบ มาระโกก็บันทึกกการรักษาแม่ยายของเปโตรภายหลังจากที่เปโตรติดตามพระองค์เป็นศิษย์แล้ว เพราะผู้ที่เข้าไปในเรือนของเปโตรและอันดรูวฺมียอห์นและยากอบบุตรเศเบดีด้วย แสดงว่าทั้ง 4 คน เป็นสาวกแล้วก่อนการรักษาแม่ยายของเปโตร (มาระโก 1 : 29-31) มัทธิวกับมาระโกมิได้บันทึกว่ามีประชาชนมากมายมาเบียดเสียดเพื่อฟังพระวจนะของพระเจ้าอย่างที่ลูกาบันทึก

ลูกาบันทึกว่า พระเยซูเสด็จลงเรือของซีโมนเปโตรและให้นำเรือออกไปยังที่ลึกเพื่อหย่อนอวน มีการจับปลาได้จำนวนมากจนคนในเรือ 2 ลำซึ่งช่วยกันเอาปลาขึ้น มีซีโมน เปโตร ยากอบ และยอห์น ไม่มีการระบุถึงอันดรูว์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเล เมื่อขึ้นฝั่งพวกเขาก็ตามพระเยซูไป ในขณะมัทธิวกับมาระโกมิได้บันทึกเช่นนั้น เพียงแค่นี้ก็เห็นได้ว่าลูกาบันทึกเรื่องราวแตกต่างกับ 2 ฉบับในหลายประเด็น

ครั้นเมื่ออ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับยอห์น เรื่องของการได้สาวกพวกแรกของพระเยซูคริสต์ก็แตกต่างออกไปอีก ยอห์นบันทึกว่า ผู้ที่ติดตามพระเยซูในตอนแรกมี 2 คน ซึ่งเป็นสาวกของยอห์นที่ได้ยินยอห์นกล่างถึงพระเมษโปดกของพระเจ้า ทั้งสองจึงติดตามพระเยซูไป หนึ่งในสองคนนั้นคืออันดรูว์น้องชายของ ซีโมนเปโตร เขาจึงไปหาซีโมนเปโตรพี่ชายและบอกเขาว่าตนได้พบพระเมสสิยาห์แล้ว อันดรูว์จึงพาพี่ชายไปเฝ้าพระเยซู เมื่อพระองค์เห็นเขาแล้วก็ตรัสว่า “ท่านคือซีโมนบุตรยอห์นซินะ เขาจะเรียกท่านว่าเคฟาส (แปลว่า ศิลา)” (ยอห์น 1 : 35-42)

ยอห์นบันทึกเรื่องราวแตกต่างจากพระคัมภีร์ทั้ง 3  ฉบับจนกลายเป็นคนละเรื่องกัน ยอห์นมิได้บันทึกว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นริมชายทะเลที่มีชาวประมงกำลังยุ่งกับงานของพวกตนหรือไม่ได้กล่าวถึงเรือ การเสด็จลงเรือ การจับปลา และที่สำคัญยอห์นบันทึกว่า อันดรูว์น้องชายซีโมนเปโตรเป็นสาวกหนึ่งในสองคนของยอห์นผู้ให้บัพติศมามาก่อน และอันดรูว์พบพระเยซูก่อนจึงไปบอกเปโตรให้เข้าเฝ้าพระองค์ในเวลาต่อมา

จึงสรุปได้ว่าเหตุการณ์ติดตามพระเยซูคริสต์ของสาวกพวกแรกมีความสอดคล้องกันเพียง 2  ฉบับคือ มัทธิวและมาระโก ส่วนลูกาบันทึกรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างออกไปแต่ยังไม่มากเท่ากับกรณีของยอห์นที่บันทึกต่างจาก 3 ฉบับจนดูเหมือนเป็นคนละเรื่องกัน หากนำเรื่องราวที่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 4 ฉบับมาเรียบเรียงเหตุการณ์ให้มีท้องเรื่องเดียวกันโดยไม่ทิ้งสาระสำคัญของพระคัมภีร์แต่ละฉบับก็คงต้องใช้จินตนาการและเวลาอย่างมากมายในการทำสิ่งดังกล่าวซึ่งก็ไม่แน่อีก เมื่อเรียบเรียงออกมาแล้วจะมีความลงตัวได้มากน้อยเพียงใด จึงคงต้องปล่อยให้ความแตกต่างและขัดแย้งของพระคัมภีร์ทั้ง 4 ฉบับปรากฏเอาไว้เช่นนั้น!

อย่างไรก็ตามสาวกพวกแรกของพระเยซูคริสต์ในเหตุการณ์ริมทะเลสาบกาลิลีนั้น 3 ฉบับแรกได้ข้อสรุปตรงกันว่ามี 4 คนเป็นชาวประมงทั้งหมด คือ ซีโมนเปโตร อันดรูว์ น้องชายซีโมนเปโตร และยากอบกับยอห์นบุตรเศเบดี  ส่วนฉบับของยอห์นใด้เพียง 3 คน คือสาวก 2 คนของยอห์นผู้ให้บัพติศมา หนึ่งในสองนั้นคือ อันดรูว์ และคนที่สามคือ ซีโมนเปโตรซึ่งอันดรูว์ได้ไปบอกข่าวของพระคริสต์และพาเขาเข้าพบพระองค์

*มัทธิวกล่าวต่อมาว่า  มีธรรมจารย์คนหนึ่งมาหาพระองค์ก่อนจะข้ามฟากว่าจะขอติดตามพระองค์ไปด้วย และอีกคนหนึ่งขอฝังศพบิดาของตนก่อน แต่พระเยซูตรัสว่า จงตามเรามาเถิด ปล่อยให้คนตายฝังคนตายของเขาเองเถิด (มัทธิว 8 :18-20) คนต่อมาที่พระองค์ทรงชักชวนคือ มัทธิว ซึ่งนั่งอยู่ที่ด่านภาษี (มัทธิว 9:9) แล้วก็บันทึกถึงเรื่องพระเยซูทรงเรียกสาวกสิบสองคนซึ่งมัทธิวบันทึกชื่อเอาไว้ดังนี้ ซีโมนเปโตรกับอันดรูว์ น้องชายของเขา ยากอบและยอห์น บุตรชายของเศเบดี ฟิลิป บาร์โธโลมิว โธมัส มัทธิวคนเก็บภาษี ยากอบบุตรอัลเฟอัส เลบเบอัสหรือธัดเดอัส ซีโมนพรรคชาตินิยม และยูดาส อิสคาริโอท (มัทธิว 10 : 1-4)

*มาระโก บันทึกว่า พระเยซูทรงเรียกเลวี บุตร อัลเฟอัส นั่งอยู่ที่ด่านภาษี แต่ท้องเรื่องไปพ้องกับกรณีของมัทธิวคนเก็บภาษีซึ่งมัทธิวบันทึกไว้ (มัทธิว 9 : 9-13) มาระโกบันทึกว่าศิษย์สิบสองคนของพระเยซูคริสต์คือ ซีโมนเปโตร ยากอบ และยอห์นบุตรเศเบดี 2 คนนี้พระองค์ประทานชื่อว่า โบอาเนอเย แปลว่าลูกฟ้าร้อง อันดรูว์ ฟิลิป บาร์โธโลมิว มัทธิว โธมัส  ยากอบบุตรอัลเฟอัส ธัดเดอัส ซีโมนพรรคชาตินิยม และยูดาส อิสคาริโอท (มาระโก 3 : 13-19) โปรดสังเกตว่าทั้งมัทธิวและมาระโกออกชื่อ ยากอบว่าเป็นบุตรอัลเฟอัสเหมือนกัน ในขณะที่มาระโกพูดถึงเลวีบุตรอัลเฟอัสมาก่อนหน้านี้ แต่ไม่ปรากฏชื่อของเลวีแต่กลายเป็นยากอบบุตรอัลเฟอัส!

*ลูกา บันทึกว่า “คราวนั้นพระเยซูเสด็จไปที่ภูเขาเพื่อจะอธิษฐาน และได้อธิษฐานต่อพระเจ้าคืนยันรุ่ง ครั้นรุ่งเช้าแล้ว พระองค์ทรงเรียกสาวกของพระองค์ แล้วทรงเลือกสิบสองคนออกจากหมู่สาวกนั้น ที่พระองค์ทรงเรียกว่า อัครทูต คือ ซีโมนที่พระองค์ทรงให้ชื่ออีกว่า เปโตร   อันดรูว์น้องชายของเปโตร ยากอบและยอห์น ฟิลิปและบาร์โธโลมิว มัทธิวและโธมัส ยากอบบุตรอัลเฟอัส ซีโมนที่เรียกว่าเศโลเท ยูดาสบุตรของยากอบ และยูดาส อิสคาริโอทที่เป็นผู้อายัดพระองค์ไว้นั้น (ลูกา 6 : 12-16) ในพระคริสธรรมคัมภีร์ฉบับลูกามิได้ระบุถึงเลบเบอัสหรือธัดเดอัส ซึ่งในฉบับของมัทธิวระบุชื่อของเขาเอาไว้ (มัทธิว 10 : 1-4)

*ยอห์น บันทึกว่า สาวกที่ติดตามพระเยซูคริสต์ คือ อันดรูว์ และซีโมนพี่ชายของเขา (ยอห์น 1 : 40-41) ต่อมาก็คือ ฟิลิปที่มาจากเบธไซดา เมืองของอันดรูว์และเปโตร ฟิลิปก็ไปหานาธานาเอลเพื่อให้มาพบพระเยซู (ยอห์น 1 : 43-51) ยอห์นไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับอัครทูตผู้เป็นสาวกสิบสองคนนั้นว่ามีผู้ใดบ้าง ในกรณีของซีโมนเปโตรนั้น มัทธิวบันทึกว่า พระเยซูคริสต์ตรัสกับเขาว่า ซีโมนบุตรโยนาเอ๋ย (Simon son of John) (มัทธิว  16 : 17)

แต่ยอห์นกลับบันทึกว่า เมื่ออันดรูว์พาซีโมนไปเฝ้าพระเยซู พระองค์ทรงทอดพระเนตรเขาแล้วจึงตรัสว่า “ท่านคือ ซีโมนบุตรยอห์นซีนะ “You are Simon of John” (ยอห์น 1 : 42) จะเห็นได้ว่ามีการระบุชื่อบิดาของซีโมนเปโตรหรือเคฟาสต่างกัน มัทธิวระบุว่า โยนา (Jonah) แต่ยอห์นระบุว่า “ยอห์น” (John) ซึ่งทั้ง 2 ชื่อนี้ต่างกันและบ่งชี้ว่าผู้บันทึกพระคริสตธรรมคัมภีร์เกิดความสับสนใน 2 ชื่อนี้โดยเรียงลำดับอักษรของชื่อต่างกัน

และในกิจการอัครทูต 1 : 12-13 ระบุว่า อัครทูตที่รวมกันอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มในห้องชั้นบนที่เคยพักอยู่นั้นมี 1 เปโตร  2.ยอห์น  3.ยากอบ  4.อันดรูว์ 5.ฟิลิป 6.โธมัส  7.บารโธโลมิว  8.มัทธิว  9.ยากอบบุตรอัลเฟอัส 1.ซีโมนพรรคชาตินิยม 11.ยูดาสบุตรยากอบ  ขาดยูดาส อิสคาริโอทไป 1 คน จะเห็นว่าไม่มีชื่อของ เลบเบอัสหรือธัดเดอัสปรากฏอยู่ตามที่มัทธิวระบุ (มัทธิว 10 : 1-4) และมาระโกซึ่งระบุว่ามีธัดเดอัสอยู่ด้วย (มาระโก 3 : 13-19) และยังความสับสนของ เลวีบุตรอัลเฟอัส กับยากอบบุตรอัลเฟอัสอีกด้วย

บุคคลสำคัญอย่างเหล่าอัครทูตผู้เป็นสาวกใกล้ชิด 12 คน ของพระเยซูคริสต์น่าจะมีความชัดเจนและสอดคล้องในรายชื่อของบุคคลเหล่านี้ในการบันทึกข้อมูล แต่กลับปรากฏว่าสับสนและดูขัดแย้งกันเองอย่างไม่น่าจะเป็น หากบรรดาผู้บันทึกพระคริสตธรรมคัมภีร์ได้รับการวิวรณ์จากพระวิญญาณบริสุทธิ์จริงตามคำกล่าวอ้างก็ไม่น่าที่จะเกิดเรื่องเช่นนั้นได้ ซึ่งนั่นก็แสดงว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์มิได้ดลใจบรรดาผู้บันทึกพระคัมภีร์ แต่พวกเขาเขียนขึ้นเองโดยพละการนั่นเองจึงเกิดความสับสนและขัดแย้งกัน แม้กระทั่งในเรื่องของรายชื่อบุคคลเพียงแค่ 12 คนเท่านั้น

เพื่อให้ผู้อ่านเห็นความต่างที่เกิดขึ้นโดยชัดเจน จึงขอเทียบรายชื่ออัครทูตทั้ง 12 คนที่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ดังนี้

มัทธิว-มาระโก

1.ซีโมนเปโตร 

2.อันดรูว์น้องชายซีโมน

3.ยากอบบุตรเศเบดี

4.ยอห์นบุตรเศเบดี

5.ฟิลิป   

6.บาร์โธโลมิว  

7.โธมัส 

8.มัทธิวคนเก็บภาษี  

9.ยากอบบุตรอัลเฟอัส

10.เลบเบออัส-ธัดเดอัส

11.ซีโมนพรรคชาตินิยม

12.ยูดาส อิสคาริโอท

ลูกา

1.ซีโมนเปโตร

2.อันดรูว์น้องชายซีโมน

3.ยากอบ

4.ยอห์น

5.ฟิลิป

6.บาร์โธโลมิว

7.โธมัส

8.มัทธิว

9.ยากอบบุตรอัลเฟอัส

10.ซีโมน (เศโลเท)

11.ยูดาสบุตรยากอบ

12.ยูดาสอิสคาริโอท

กิจการของอัครทูต

1.เปโตร

2.อันดรูว์

3.ยากอบ

4.ยอห์น

5.ฟิลิป

6.บาร์โธโลมิว

7.โธมัส

8.มัทธิว

9.ยากอบบุตรอัลเฟอัส

10.ซีโมนพรรคชาตินิยม

11.ยูดาสบุตรยากอบ

12.เลือกมัทธิวอัสแทนยูดาส อิสคาริโอท


*มัทธิวและมาระโกระบุว่า เลบเบออัสหรือธัดเดอัสเป็นหนึ่งในอัครทูต 12 คน ส่วนลูการะบุ ยูดาสบุตรยากอบแทนที่ของเลบเบออัสหรือธัดเดอัส มัทธิวและมาระโกบันทึกรายชื่อตรงกัน ส่วนลูกาบันทึกรายชื่อตรงกับที่กิจการอัครทูตระบุเอาไว้

*มัทธิวระบุว่า ซีโมนเปโตรหรือเคฟาสเป็นบุตรของโยนา แต่ยอห์นบันทึกว่า ซีโมนเปโตรเป็นบุตรของยอห์น

อัครทูตสิบสองคนนี้ พระเยซูทรงใช้ให้ออกไปและสั่งเขาว่า “อย่าไปทางที่ไปสู่พวกต่างชาติ และอย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมะเรีย แต่ว่าจงไปหาแกะหลงของวงศ์วานอิสราเอลนั้นดีกว่า จงไปพลางประกาศพลางว่า “แผ่นดินสวรรค์ใกล้แล้ว” จงรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย คนตายแล้วให้ฟื้น คนโรคเรื้อนให้หายสะอาด และจงขับผีให้ออก ท่านทั้งหลายได้รับเปล่าๆ จงให้เปล่าๆ (มัทธิว 10 : 5-8)

ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมาระโกบันทึกว่า : พระองค์ทรงเรียกสาวกสิบสองคนมาแล้วทรงใช้เขาให้ออกไปเป็นคู่ๆ ทรงประทานอำนาจให้เขาขับผีร้ายออกได้ (มาระโก 6:7) ฝ่ายเหล่าสาวกก็ออกไปเทศนาประกาศให้กลับใจเสียใหม่ เขาได้ขับผีออกเสียหลายผีและได้เอาน้ำมันทาคนเจ็บป่วยหลายคนให้หายโรค (มาระโก 6 : 12-13) ส่วนลูกาบันทึกว่า : พระองค์ทรงเรียกสาวกสิบสองคนมาพร้อมกัน แล้วก็ประทานให้เขามีอำนาจเหนือผีทั้งปวง และรักษาโรคต่างๆ ให้หาย (ลูกา 9:1-2)

รายละเอียดที่พระเยซูทรงใช้อัครทูตสิบสองคนนี้ มีสำนวนที่ต่างกัน มัทธิวบันทึกรายละเอียดไว้มากที่สุด ส่วนฉบับอื่นพูดแบบสรุปความและการระบุเส้นทางที่จะไปประกาศคำสอนนั้นมีฉบับของมัทธิวที่ระบุชัดเจน ว่า “อย่าไปในทางที่ไปสู่พวกต่างชาติ และอย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมะเรีย แต่ให้ไปหาแกะหลงของวงศ์วานอิรสรา เอลดีกว่า”   ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้ไม่มีระบุในฉบับของมาระโกและลูกา และในการตรัสกำชับของพระเยซูมิให้อัครทูตทั้ง 12 คน นำสิ่งใดไปติดต่อไปเว้นแต่ไม้เท้าสิ่งเดียว (มาระโก 6:8) แต่มัทธิวบันทักว่า : อย่าหาเหรียญทองคำหรือเงินหรือทองแดงไว้ในไถ้ของท่าน หรือย่ามใช้ตามทาง หรือเสื้อ หรือถือไม้เท้า….” (มัทธิว 10 : 9-10) ลูกาก็บันทึกว่า : “อย่าเอาอะไรไปใช้ตามทาง เช่น ไม้เท้า หรือย่าม หรืออาหาร หรือเงิน หรือเสื้อ” (ลูกา 9:3)

นอกจากนี้ มัทธิวระบุว่า สิ่งที่พระเยซูตรัสกำชับห้ามมิให้อัครทูตนำไปด้วย มีเสื้อ และอย่าสวมรองเท้า (มัทธิว 10:10) สอดคล้องกับบันทึกของลูกาที่ระบุว่า : อย่าเอาอะไรไปใช้ตามทาง เช่น ไม้เท้า หรือย่าม หรืออาหาร หรือเงิน หรือเสื้อ (ลูกา 9:3) แต่พระคริสตธรรมฉบับมาระโกระบุว่า : แต่ให้สวมรองเท้าและไม่ให้สวมเสื้อสองตัว (มาระโก 6:9) ตกลงว่าพระเยซูทรงอนุญาตให้ใช้ไม้เท้า สวมเสื้อได้แต่ไม่ให้สวมเสื้อสองตัว และสวมรองเท้าหรือว่าไม่อนุญาตให้กระทำสิ่งดังกล่าวกันแน่!

สิ่งที่พระคริสตธรรมคัมภีร์บันทึกตรงกันทั้ง 3 ฉบับคือ การที่พระเยซูคริสต์ทรงประทานอำนาจให้เหล่าอัครทูตในการขับผีร้ายออกได้ และรักษาคนป่วยเจ็บทุกแห่งให้หาย มาระโกและ  ลูกาไม่ได้บันทึกว่าอัครทูตมีอำนาจให้คนตายแล้วฟื้นอย่างที่มัทธิวบันทึกหมายสำคัญข้อนี้เอาไว้ (มัทธิว 10:8) ในขณะที่ มาระโกบันทึกว่า อัครทูตได้เอาน้ำมันทาคนเจ็บป่วยหลายคนให้หาย (มาระโก 6:13)

สรุปว่า เหล่าอัครทูตทั้ง 12 คน ได้รับอำนาจจากพระเยซูในการแสดงหมายสำคัญได้หลายอย่างเหมือนกับพระองค์ เช่น การขับผีร้ายออกได้ รักษาโรคเรื้อน รักษาคนป่วยเจ็บให้หายและทำให้คนตายฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ แสดงว่าหมายสำคัญอันเป็นปาฏิหารย์ของพระเยซูคริสต์ที่ได้ทรงสำแดงในพระราชกิจของพระองค์เป็นสิ่งที่อัครทูตทั้ง 12 คนสามารถกระทำได้ และไม่ใช่สิ่งที่เป็นปาฏิหารย์เฉพาะของพระเยซูคริสต์ที่พระบิดาเจ้าทรงประทานให้แก่พระบุตรของพระองค์เท่านั้น ซึ่งกรณีนี้แตกต่างจากสิ่งที่คัมภีร์อัล-กุรอานระบุเอาไว้ว่าเป็นปาฏิหารย์ที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานอนุมัติให้แก่ อัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (อ.ล.) เป็นกรณีเฉพาะ

พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงดำรัสในคัมภีร์ อัล-กุรอานเกี่ยวกับปาฏิหารย์อันเป็นหมายสำคัญของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (อ.ล.) ว่า :

وَرَ‌سُولًا إِلَىٰ بَنِي إِسْرَ‌ائِيلَ أَنِّي قَدْ جِئْتُكُم بِآيَةٍ مِّن رَّ‌بِّكُمْ   أَنِّي أَخْلُقُ لَكُم مِّنَ الطِّينِ كَهَيْئَةِ الطَّيْرِ‌ فَأَنفُخُ فِيهِ فَيَكُونُ طَيْرً‌ا بِإِذْنِ اللَّـهِ   وَأُبْرِ‌ئُ الْأَكْمَهَ وَالْأَبْرَ‌صَ وَأُحْيِي الْمَوْتَىٰ بِإِذْنِ اللَّـهِ   …الآية

ความว่า “และในฐานะศาสนทูตที่ถูกส่งมายังวงศ์วานอิสราเอล แท้จริงข้าพเจ้าได้นำหมายสำคัญจากพระผู้อภิบาลของพวกท่านมายังพวกท่าน แท้จริงข้าพเจ้าจะทำรูปให้พวกท่านจากดินเป็นเหมือนรูปทรงของนกแล้วข้าพเจ้าก็จะเป่า (วิญญาณ) เข้าไปแล้วมันก็จะเป็นนก (ที่บินได้) ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ และข้าพเจ้าจะรักษาคนตาบอดแต่กำเนิดและคนที่เป็นโรคเรือนให้หายและข้าพเจ้าจะทำให้คนตายฟื้นคืนชีพด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ” (อาลิ-อิมรอน พระบัญญัติที่ 49)


และทรงดำรัสอีกว่า

وَإِذْ تَخْلُقُ مِنَ الطِّينِ كَهَيْئَةِ الطَّيْرِ‌ بِإِذْنِي فَتَنفُخُ فِيهَا فَتَكُونُ طَيْرً‌ا بِإِذْنِي  وَتُبْرِ‌ئُ الْأَكْمَهَ وَالْأَبْرَ‌صَ بِإِذْنِي  …الآية

ความว่า “และจงรำลึกขณะที่เจ้าได้ทำรูปจากดินเป็นเหมือนรูปทรงของนกด้วยอนุมัติของข้า แล้วเจ้าก็เป่า (วิญญาณ) เข้าไปในรูปนั้น แล้วมันก็เป็นนกด้วยอนุมัติของข้า และเจ้าได้รักษาคนตาบอดแต่กำเนิดและคนเป็นโรคเรือนให้หายด้วยอนุมัติของข้า และจงรำลึกขณะที่เจ้าทำให้คนตายฟื้นออกมา (จากสุสาน) ด้วยอนุมัตของข้า (อัล-มาอิดะฮฺ พระบัญญัติที่ 110)


คัมภีร์อัล-กุรอานได้เน้นย้ำว่าปาฏิหารย์ที่อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) ได้แสดงนั้นเป็นไปด้วยพระอนุมัติของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) มิใช่อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) แสดงสิ่งเหล่านั้นด้วยอำนาจของตัวท่านเองหรือกระทำไปโดยพละการ  การเน้นย้ำด้วยประโยคที่ว่า “ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ” หรือ “ด้วยอนุมัติของข้า” เป็นการป้องกันความเชื่อที่อาจจะเบี่ยงเบนออกจากข้อเท็จจริงที่ว่า หมายสำคัญทั้งหมดอันเป็นปาฏิหารย์ที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของอัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) นั้น ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นมหิทธานุภาพของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ทรงอนุมัติให้แต่เพียงพระองค์เดียว มิใช่อำนาจของอัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) เองแต่อย่างใด  เพราะอัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) เป็นเพียงศาสนทูตของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่มีปาฏิหารย์เป็นหมายสำคัญยืนยันถึงความสัจจริงของท่านในการกล่าวอ้างว่าเป็นผู้เผยพระวจนะของพระเจ้า

แต่พระคริสตธรรมคัมภีร์ระบุว่าสิ่งเหล่านั้น เป็นอำนาจของพระเยซูที่ทรงประทานให้แก่เหล่าอัครทูตของพระองค์ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือไม่มีความแตกต่างระหว่างหมายสำคัญของพระเยซูคริสต์กับหมายสำคัญที่เหล่าอัครทูตทั้ง 12 คนได้แสดงต่อผู้คน จะต่างกันตรงประเด็นที่ว่า อำนาจในการแสดงหมายนั้นเป็นอำนาจของพระเยซูโดยตรงที่ทรงประทานให้แก่เหล่าอัครทูตโดยไม่มีการย้ำเกี่ยวกับมหิทธานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าแต่อย่างใด

การมองถึงสถานภาพที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ในเรื่องอำนาจแห่งการแสดงหมายสำคัญระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิมจึงแตกต่างกัน จริงอยู่สำหรับชาวมุสลิมแล้ว การที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะทรงประทานหมายสำคัญให้เกิดแก่ผู้ศรัทธาที่เชื่อตามแนวทางของศาสนทูตที่ประกาศพระบัญญัติของพระองค์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่การแสดงหมายสำคัญนั้นเป็นอำนาจที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีพระประสงค์และอนุมัติให้เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนบรรดาผู้ศรัทธาในศาสนทูตของพระองค์มิใช่เป็นอำนาจของศาสนทูตที่จะกระทำไปโดยพละการ

และการแสดงหมายสำคัญของเหล่าผู้ศรัทธาก็จะมีลักษณะที่แตกต่างจากปาฏิหารย์ที่ศาสนทูตได้แสดงเป็นหมายสำคัญ มิใช่เหมือนกันอย่างในกรณีของพระเยซูคริสต์กับเหล่าอัครทูตของพระองค์ ซึ่งแทบจะไม่ได้แตกต่างกันเลย ทั้งนี้เมื่อชาวคริสต์อ้างว่าเหตุผลที่ยืนยันว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระเป็นเจ้าจริงเพราะพระองค์ทรงทำให้คนตายฟื้นคืนชีพและรักษาคนที่ป่วยด้วยโรคร้ายซึ่งยากแก่การรักษาหรือไม่มีทางรักษาให้หายได้  เหตุผลเดียวกันนี้เองได้ถูกหักล้างด้วยกรณีที่เหล่าอัครทูตทั้ง 12 คนก็มีอำนาจที่จะกระทำสิ่งที่เป็นปาฏิหารย์เหล่านั้นได้เช่นกัน แล้วด้วยเหตุใดพวกเขาจึงไม่กลายเป็นพระบุตรของพระเป็นเจ้าไปด้วยเล่า!

สิ่งที่พระคริสตธรรมคัมภีร์ได้ระบุก็คือ เหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์ไม่สามารถขับผีที่เข้าสิงเด็กและเป็นลมบ้าหมูได้ (มัทธิว 17:14-21   มาระโก 9:14-29  , ลูกา  9:37-43) เพราะเหตุว่าพวกเขามีความเชื่อน้อย และการจะขับผีชนิดนี้ออกต้องมีการอธิษฐานและการอดอาหารเท่านั้น ดังนั้นการที่เหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์มีอำนาจให้ขับผีร้ายออกได้ตามอำนาจที่พระเยซูคริสต์ทรงประทานให้แก่พวกเขาจึงเป็นสิ่งที่มีเงื่อนไข และใช่ว่าจะใช้อำนาจนั้นได้ทุกครั้งไป และทั้งหมดล้วนแต่เป็นอำนาจที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

ดังที่พระเยซูคริสต์ตรัสว่า  “ฝ่ายมนุษย์ก็เหลือกำลังที่จะทำได้ แต่ไม่เหลือกำลังของพระเจ้า เพราะว่าพระเจ้าทรงกระทำให้สำเร็จได้ทุกสิ่ง” (มาระโก 10:27) นอกจากเหล่าอัครทูต 12 คนที่พระเยซูคริสต์ทรงส่งพวกเขาออกไปประกาศแก่ผู้คนและมีอำนาจที่ทรงประทานให้ในการแสดงความหมายสำคัญแล้ว พระเยซูยังได้ทรงตั้งสาวกอื่นอีกเจ็ดสิบคนไว้และใช้ให้เขาออกไปทีละสองคนๆ ให้ล่วงหน้าพระองค์ไปก่อนให้เข้าไปทุกเมืองและทุกตำบลที่พระองค์จะเสด็จไปนั้น ทรงกำชับพวกเขาเหมือนที่ทรงกำชับแก่เหล่าอัครทูตก่อนแล้ว และเรื่องของการตั้งสาวก 70 คนออกประกาศนี้มีพระคริสตธรรมฉบับลูกาเพียงฉบับเดียวที่ระบุถึง (ลูกา 10:1-12)

และดูเหมือนว่าสาวกทั้ง 70 คนนั้นได้รับอำนาจจากพระเยซูไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้แก่เหล่าอัครทูตทั้ง 12 คน เพราะลูกาบันทึกว่า “ฝ่ายสาวกเจ็ดสิบคนนั้นกลับมาด้วยความปรีดีทูลว่า พระองค์เจ้าข้า ถึงผีทั้งหลายก็ได้อยู่ใต้บังคับของพวกข้าพระองค์โดยพระนามของพระองค์ พระองค์ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า : เราได้เห็นซาตานตกจากฟ้าเหมือนฟ้าแลบ ดูเถิด เราได้ให้พวกท่านมีอำนาจเหยียบงูร้ายและแมลงป่อง และมีอำนาจใหญ่ยิ่งกว่ากำลังศัตรู ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด-จะทำอันตรายแก่ท่านได้เลย…” (ลูกา 10 : 17-19)

ในกิจการของอัครทูตได้ระบุถึงสภานภาพของเหล่าสาวกที่มาร่วมชุมนุมอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 120 คนว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จมาสถิตกับพวกเขา เมื่อพวกเขาประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ (the Holy Spirit) แล้วจึงตั้งต้นพูดภาษาอื่นๆ ตามที่พระวิญญาณทรงโปรดให้พูด (กิจการอัครทูต 2 :1—4) ซี่โมนเปโตรสาวกคนสำคัญของพระเยซูคริสต์ก็แสดงหมายสำคัญด้วยการทำให้คนง่อยที่ประตูงามของพระวิหารหายจากโรค (กิจการของอัครทูต 3 : 1-10)

อานาเนียกับสัปฟีรา 2 ผัวเมียที่ยักยอกเงินค่าที่ดินส่วนหนึ่งเอาไว้จากของกลางก็ล้มลงตายแทบเท้าของเปโตร (กิจการของอัครทูต 5 : 1-11) คนที่เจ็บป่วยซึ่งถูกหามออกไปที่ถนนวางบนที่นอนและแคร่นั้น เพียงแค่ซีโมนเปโตรเดินผ่านเงาของซีโมนเปโตรได้ถูกเขาบางคนก็หายจากโรคภัยไข้เจ็บ (กิจการของอัครทูต 5:12-16) สเทเฟนผู้ประกอบด้วยความเชื่อและพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เป็นผู้หนึ่งที่ทำการอัศจรรย์และทำการเป็นนิมิตใหญ่ท่ามกลางประชากร (กิจการของอัครทูต 6:8)

ฟิลิปซึ่งเป็นหนึ่งในอัครทูตก็แสดงหมายสำคัญในการขับผีโสโครกและรักษาคนที่เป็นโรคอัมพาตกับคนง่อยในแคว้นสะมะเรีย (กิจการของอัครทูต 8:4-7) เปโตรกับยอห์นก็วางมือบนผู้ที่มีความเชื่อ แล้วเขาทั้งหลายก็ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กิจการของอัครทูต 8:17) เปโตรยังได้รักษาไอเนอัสที่เป็นอัมพาตนอนอยู่กับที่แปดปีมาแล้วให้หาย (กิจการของอัครทูต 9:32-35)    ทาบิธาหรือโครคัสก็ฟื้นคืนชีพด้วยการอธิษฐานของเปโตร (กิจการของอัครทูต 9:36-42)

ทูตสวรรค์องค์หนึ่งได้ช่วยเหลือให้เปโตรรอดพ้นจากที่คุมขัง (กิจการของอัครทูต 12 : 6-10) เปาโลกับสิลาสก็ได้แสดงหมายสำคัญขณะถูกจับกุมที่คุกในฟิลิปปี โดยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่จนรากคุกสะเทือนสะท้าน และประตูคุกเปิดหมดทุกบาน เครื่องจำจองก็หลุดจากเขาทั้งสิ้น (กิจการของอัครทูต 16:25-6) และพระเจ้าได้ทรงกระทำอิทธิฤทธิ์อันพิสดารด้วยมือของเปาโลจนเขานำเอาผ้าเช็ดหน้ากับผ้ากันเปื้อนจากตัวเปาโลไปวางที่ตัวคนป่วยไข้ โรคนั้นก็หายและผีร้ายก็ออกจากคน (กิจการของอัครทูต 19:11-12)

ชายที่ชื่อยุทิกัสซึ่งพลัดตกจากหน้าต่างชั้นที่สามและเสียชีวิตก็ฟื้นคืนชีพด้วยมือของเปาโล (กิจการของอัครทูต 20 : 7-12) ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นเรื่องอัศจรรย์และอิทธิฤทธิ์อันพิสดารที่เหล่าสาวกและผู้ประกาศความเชื่อในพระเยซูคริสต์ได้สำแดงต่อผู้คน ในเหตุการณ์และสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีผลทำให้ผู้มีศรัทธาเพิ่มมากขึ้นทั้งชาวยิวและชาวต่างชาติ สาระสำคัญที่มีบันทึกในกิจการของอัครทูตจึงเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์และมีอำนาจในการแสดงหมายสำคัญเสียมากในกิจการของอัครทูตโดยเฉพาะกรณีของเปาโลหรือนักบุญเปาโล

การประกาศเรียกร้องผู้คนถึงพระเยซูคริสต์เป็นการเน้นในเรื่องการยอมรับถึงฤทธานุภาพในการเอ่ยพระนามของพระองค์ และบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่เหล่าอัครทูตเพียงแต่วางมือบนผู้ที่ฟังคำประกาศพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็สถิตอยู่กับพวกเขาและทำให้พวกเขาพูดได้ในภาษาต่างๆ ตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์มีประสงค์ ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ เหล่าอัครทูตและสาวกที่ประกาศเรื่องราวของพระเยซูคริสต์แทบจะไม่ได้อ้างถึงคำสอนและสิ่งที่พระเยซูคริสต์ได้เคยเทศนาเอาไว้เลยแม้แต่น้อย

หากแต่เป็นการอ้างอิงถึงถ้อยความในพระคริสตธรรมคัมภีร์เดิมและคำพยากรณ์ของผู้เผยพระวจนะในอดีต ดังจะพบได้ในคำปราศัยของเปโตรในวันเพ็นเทคศเต เปโตรอ้างถ้อยคำของโยเอลผู้เผยพระวจนะ,ถ้อยคำของกษัตริย์ดาวิด  (กิจการของอัครทูต 2:14-36) ถ้อยคำของโมเสส (กิจการของอัครทูต 3:22-23) สเทเฟนก็สู้คดีโดยอาศัยเรื่องราวของพระคริสตธรรมคัมภีร์เดิม (กิจการของอัครทูต 7:1-50)

ส่วนเปาโลนั้นเขาชักชวนผู้คนให้เชื่อถือพระเยซูโดยใช้ข้อความจากคัมภีร์ธรรมบัญญัติของโมเสสและจากคัมภีร์ของผู้เผยพระวจนะเป็นหลัก (กิจการของอัครทูต 28:23) ซึ่งการอ้างถึงถ้อยความในพระคริสตธรรมคัมภีร์เดิมแล้วตีความของบรรดาเหล่าอัครทูตได้กลายเป็นสาระธรรมที่ถูกประกาศและแสดงแก่ผู้คนแทนที่จะเป็นหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายในพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่

และดูเหมือนว่าแทบจะไม่มีการนำเอาหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์มากล่าวถึงเลยตลอดเนื้อหาของกิจการของอัครทูต จึงกลายเป็นว่าผู้คนศรัทธาต่อพระเยซูคริสต์ด้วยเหตุ 2 ประการเท่านั้นคือ

1. การแสดงหมายสำคัญและอิทธิฤทธิ์ของผู้ที่ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์

2. การอ้างหลักคำสอนและพระธรรมบัญญัติเดิมซึ่งมิใช่เป็นหลักคำสอนโดยตรงของพระเยซูคริสต์ที่เคยเทศนาสั่งสอนเอาไว้ แม้การอธิบายความของพระเยซูคริสต์ถึงถ้อยความในพระบัญญัติเดิมก็แทบจะไม่มีการนำมาอ้าง แต่เป็นการตีความของอัครทูตที่อ้างว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่กับพวกเขา ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? ทั้งๆที่มีคำสอนของพระเยซูคริสต์ที่งดงามและเพียงพอในการชักจูงให้เกิดศรัทธาในคำเทศนาของพระองค์โดยไม่ต้องอาศัยถ้อยคำของพระธรรมบัญญัติเดิมหรือคำของผู้เผยวจนะตลอดจนการแสดงอิทธิปาฏิหารย์ใดๆ เลยด้วยซ้ำไป

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกิจการของอัครทูตถูกเขียนโดยลูการะหว่างปี ค.ศที่ 68-85 และเขาได้เขียนพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับของตนในราวปี ค.ศ.67 ก่อนหน้าการบันทึกเรื่องราวของกิจการของอัครทูต (Josephus : Antiquities IV 10) ซึ่งมีถ้อยความในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับของ  ลูกาถึง 350 ที่ที่เกือบจะเป็นตัวบทเดียวกันกับพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมาระโก (Finkelstein L. AK iba , 33) เนื่องจากฉบับของมาระโกเป็นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดใน 4 ฉบับ

โดยมาระโกเขียนขึ้นราวปีที่ 65-70 ลูกาไม่เคยพบพระเยซูคริสต์เหมือนกับเปาโล กิจการของอัครทูตที่ลูกาเขียนจึงเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับการประกาศข่าวและการเดินทางของเปาโล เมื่อเปาโลใช้ถ้อยคำจากพระธรรมบัญญัติเดิมของโมเสสเพราะเปาโลเป็นยิวที่ช่ำชองคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมมาก่อน เนื้อหาในกิจการของอัครทูตจึงแทบจะไม่มีเรื่องราวที่เป็นคำสอนของพระเยซูคริสต์ปรากฏอยู่เลย หากแต่เป็นถ้อยคำในการเทศนาของเปาโลซึ่งลูกาเป็นศิษย์คนหนึ่งของเปาโลนั่นเอง  

เนื้อหาในจดหมายของเปาโลซึ่งมีไปถึงธรรมิกชนในหัวเมืองต่างๆ ก็เป็นเรื่องของพระธรรมบัญญัติเดิม ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ก็เป็นเรื่องของการเป็นพระบุตรของพระเป็นเจ้า การตายและการฟื้นคืนชีพของพระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นการอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเยซูคริสต์ตามที่เปาโลรับรู้มาในทำนองของการตีความว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่ไม่มีคำเทศนาของพระเยซูคริสต์ถูกนำมาประกอบการเทศนาสั่งสอนของเปาโลเว้นแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

จดหมายของเปาโลถูกเขียนขึ้นระหว่างปี ค.ศ.ที่ 54 ถึงปีค.ศ. ที่ 63 ซึ่งเป็นปีที่บรรดานักบุญผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิ้ลทั้ง 4 ฉบับ เริ่มต้นในการเขียนพระคริสตธรรมคัมภีร์เกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของพระเยซูคริสต์ กล่าวคือ จดหมายของเปาโลถูกเขียนขึ้นก่อนหน้าพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับของนักบุญมาระโกเสียอีก ซึ่งมีการระบุเอาไว้ต่างกัน บ้างก็ว่าในปี ค.ศ. 64 บ้างก็ว่าระหว่างปี ค.ศ. 65-70 แต่บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่า นักบุญมาระโกถูกสังหารในปี ค.ศ. 62 อันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสับสนในการอ้างว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมาระโกถูกเขียนหลังปี ค.ศ.ที่ 63 เพิ่มเข้ามา

อีกประเด็นหนึ่ง อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่ชัดว่า จดหมายของเปาโลถูกเขียนขึ้นก่อนหน้าพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 4 ฉบับและก่อนหน้าบันทึกกิจการของอัครทูตที่ลูกาเป็นผู้บันทึกในราวปี ค.ศ.68-85 ทั้งนี้เปาโลเขียนจดหมาย 2 ฉบับ ถึงเธสะโลนิกา ในปี ค.ศ. ที่ 54 จดหมายฉบับที่ 1 ถึงโครินธ์ในปีค.ศ. 55 , จดหมายถึงกรุงโรมราวปี ค.ศ. 56  หรือ และ ค.ศ. 57  และจดหมายถึงเอเฟซัส , ฟิลิปี และโคโลสีในปี ค.ศ. 61 หรือ 63 (พระเยซูคริสต์ ; คุณพ่อพอล อิเลียส หน้า 17)

ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเป็นเหตุผลที่อธิบายข้อสังเกตที่ว่าทำไมเนื้อหาในกิจการของอัครทูตและจดหมายฉบับต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของนักบุญเปาโลจึงไม่มีการถ่ายทอดหรืออ้างอิงคำสอนที่พระเยซูคริสต์ได้เคยเทศนาเอาไว้ หากแต่เป็นการอาศัยถ้อยความจากพระธรรมบัญญัติเดิมและคำของผู้เผยพระวจนะนำมาตีความตามปรัชญาของนักบุญเปาโลซึ่งอ้างว่านั่นเป็นสิ่งที่พูดไปตามพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ดลใจให้พูด ทั้งๆ ที่นักบุญเปาโลเองมิใช่สาวกของพระเยซูคริสต์มาก่อน แต่เป็นผู้ต่อต้านและข่มเหงคริสตจักรในช่วงก่อนหน้านั้น และที่สำคัญนักบุญเปาโลไม่เคยพบพระเยซูคริสต์และรับฟังคำเทศนาของพระองค์มาก่อนเลย

และนี่คือประเด็นที่เราจะพูดถึงต่อไปเกี่ยวกับนักบุญเปาโลเป็นกรณีศึกษา

อินชาอัลลอฮฺ