คัมภีร์อัล-กุรอานกับคริสตชน : ภาคที่ 9 “นักบุญเปาโล” ผู้เปลี่ยนโฉมคริสต์ศาสนา

สำหรับชาวมุสลิมแล้ว ทุกคนศรัทธาในความเป็นศาสนทูตของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (อ.ล.) และศรัทธาว่าพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เอกองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานคัมภีร์ “อัล-อินญีล” ให้แก่อัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (อ.ล.) ซึ่งความศรัทธานี้เป็นส่วนหนึ่งจากหลักศรัทธาพื้นฐานสำหรับชาวมุสลิมทุกคน หากมุสลิมคนใดปฏิเสธและไม่ยอมรับว่า อัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (อ.ล.) เป็นหนึ่งจากบรรดาศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และปฏิเสธต่อคัมภีร์ “อัล-อินญีล” ที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้แก่อัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (อ.ล.) มุสลิมผู้นั้นก็สิ้นสภาพจากการเป็นผู้นับถือในศาสนาอิสลาม (ตกศาสนา-มุรตัด)

ในทำนองเดียวกัน หากมุสลิมคนใดเชื่อว่า อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) เป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าหรือเป็นหนึ่งในสามของพระผู้เป็นเจ้าหรือคือพระผู้เป็นเจ้า มุสลิมผู้นั้นก็สิ้นสภาพจากการเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามเช่นกัน เพราะมุสลิมทุกคนศรัทธาว่า อัลลอฮฺ (ซ.บ.) คือพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง พระองค์ทรงเอกะ พระองค์เท่านั้นที่มุสลิมจะเคารพสักการะและขอความช่วยเหลือ พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไม่มีพระบุตร ไม่มีคู่ภาคีใดๆ เลย สำหรับพระองค์ พระองค์ไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีที่สิ้นสุด และพระองค์ทรงพระชนม์ชีพ ทรงเป็นนิรันดร ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ และพระองค์ทรงมหิทธานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง พระองค์ไม่ทรงพึ่งพาอาศัยสิ่งใดเลย แต่ทุกสรรพสิ่งต้องพึ่งพาพระองค์ คุณลักษณะของพระองค์นั้นสมบูรณ์เป็นที่สุด และพระองค์ทรงมหาบริสุทธิ์จากความบกพร่องทั้งปวง

นี่คือหลักศรัทธาที่มุสลิมทุกคนยึดมั่น อันเป็นหลักศรัทธาที่บรรดาศาสนทูตและเหล่าผู้เผยพระวจนะของพระองค์ต่างก็ป่าวประกาศและเรียกร้องมนุษยชาติในทุกยุคทุกสมัย แม้อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) เองก็ประกาศหลักศรัทธาดังกล่าวในหมู่วงศ์วานอิสราเอล หลักศรัทธาในเอกานุภาพและคุณลักษณะอันสมบูรณ์เป็นที่สุดนี้เป็นหนึ่งเดียว (Unity)

อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) ไม่เคยเทศนาสั่งสอนอื่นไปจากนี้ ถึงแม้ว่า อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) จะเรียกขานพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในหลายวาระและโอกาสว่า “พระบิดา” แต่นั่นก็เป็นเพียงสำนวนโวหารที่มิได้ถูกมุ่งหมายตามรูปคำ หากแต่เป็นการใช้ถ้อยคำที่บ่งถึงความเมตตาและพระกรุณาของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ทรงมีต่อวงศ์วานอิสราเอล ซึ่งเป็นประชาชาติของพระองค์ด้วยการอภิบาลคุ้มครองและการประทานทางนำให้แก่พวกเขามาโดยตลอด สิ่งที่สังเกตได้ในเรื่องนี้นั้น เราจะพบได้ว่า อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) ไม่เคยกล่าวอ้างว่าท่านคือพระบุตรของพระองค์เลย แต่สิ่งที่พบในพระคริสตธรรมคัมภีร์ล้วนแล้วแต่เป็นคำกล่าวของผู้อื่นทั้งสิ้น

การเรียกขานองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า “พระบิดา” ในคำเทศนาสั่งสอนและคำอธิษฐานของพระเยซูคริสต์ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้สำนวนว่า “พระบิดาของท่าน” (Your Father) (ดู มัทธิว 5:16, 5:48, 6:1, 6:4, 6:6) “พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย” (Our Father) (ดู มัทธิว 6:9) ส่วนการเรียกขานตัวเองว่าเป็นพระบุตรก็เป็นการเรียกขานในทำนองสำนวนโวหารเช่นกัน และบ่อยครั้งที่พระเยซูคริสต์ทรงเรียกขานตัวของพระองค์ว่า “บุตรมนุษย์” (The Son of Man)

ส่วนการเรียกขานพระเยซูคริสต์ว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้าส่วนใหญ่ก็เป็นการเรียกขานของผู้อื่นนอกจากพระองค์ เช่น ที่อ้างว่ามีพระสุรเสียงตรัสจากฟ้าสวรรค์ว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก” (This is my Son, Whom I love ; with him I am well pleased) (มัทธิว 3:17) นั่นก็เป็นการประกาศจากฟ้าสวรรค์ตามที่พระคริสตธรรมคัมภีร์กล่าวอ้าง มิใช่คำพูดของพระเยซูคริสต์ และพระคริสตธรรมคัมภีร์ก็มิได้ระบุว่ามีผู้ใดได้ยินพระสุรเสียงนั้น แม้กระทั่งยอห์นผู้ให้ศีลบัพติศมาเองก็ตาม ทั้งๆ ที่ยอห์นก็ปรากฏตัวอยู่ในเหตุการณ์นั้น

ถึงแม้ว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับยอห์นจะระบุว่า ยอห์นผู้ให้รับบัพติศมากล่าวว่า : ได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า “เมื่อเจ้าเห็นพระวิญญาณเสด็จลงมาสถิตอยู่บนผู้ใด ผู้นั้นแหล่ะเป็นผู้ให้บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และข้าพเจ้าก็ได้เห็นแล้ว และได้เป็นพยานว่า พระองค์นี่แหล่ะเป็นพระบุตรของพระเจ้า (ยอห์น 1: 33-34) ถ้าเป็นจริง นั่นก็คือคำพูดของยอห์น ผู้ให้รับบัพติศมาเอง เพราะเขาไม่ได้ยินพระสุรเสียงใดประกาศลงมา เขาได้แต่เห็น แต่ไม่ได้ยิน และที่แน่ๆ พระเยซูคริสต์ไม่ได้ตรัสประโยคที่ว่านั่น!

และพระคริสตธรรมคัมภีร์เองก็กล่าวถึงคำเทศนาสั่งสอนของยอห์นผู้ให้ศีลบัพติศมา แต่ก็ไม่ปรากฏว่ายอห์นพูดถึงเรื่องสำคัญอันน่าอัศจรรย์นี้แต่อย่างใด มารผู้มาผจญพระเยซู คือผู้ที่พูดว่า “ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า จงสั่งก้อนหินเหล่านี้ให้กลายเป็นพระกระยาหาร” และ “ถ้าท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า จงโจนลงไปเถิด…” (มัทธิว 4:3, 4:6, มาระโก 1: 12-13, ลูกา 4: 1-13) ผีร้ายที่เข้าสิงคนสองคนที่แดนกาดาราก็กล่าวว่า : “ท่านผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้า ท่านจะมายุ่งกับพวกเราทำไม จะมาทรมานพวกเราก่อนเวลาหรือ..” (มัทธิว 8:29)  หรือผีร้ายที่เข้าสิงคนที่เมืองเก-ราซา ก็ร้องเสียงดังว่า : “ข้าแต่พระเยซู พระบุตรของพระเจ้าสูงสุด พระองค์มายุ่งกับข้าพระองค์ทำไม…” (มาระโก 8:7, ลูกา 8:28)

สาวกของพระเยซูคริสต์ที่อยู่ในเรือและพระองค์ทรงดำเนินบนน้ำทะเลไปยังเหล่าสาวกคือผู้ที่กล่าวว่า : “พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าจริงแล้ว” (มัทธิว 14: 22-33) ซีโมนเปโตรคือผู้ที่ทูลตอบพระองค์หลังจากตรัสถามเขาว่า : “แล้วพวกท่านเล่า ว่าเราเป็นใคร” ซีโมนเปโตรทูลตอบว่า : “พระองค์ทรงเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงพระชนม์อยู่” (มัทธิว 16: 15-16) แต่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับของมาระโก 8: 27-30 และลูกา 9: 18-21 ระบุว่าเป็นพระคริสต์ของพระเจ้าเท่านั้น

และในเหตุการณ์จำแลงพระกายนั้น บังเกิดมีเมฆสุกใสมาปกคลุมเขา (เปโตร) ไว้ แล้วมีพระสุรเสียงออกมาจากเมฆนั้นว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านผู้นี้มาก จงเชื่อฟังท่านเถิด” (มัทธิว 17: 1-13) นั่นก็มิใช่คำตรัสของพระเยซูคริสต์ แต่เป็นพระสุรเสียงที่ออกมาจากเมฆ แต่เมื่อพระองค์ทรงตรัสในตอนท้ายเหตุการณ์นั้น พระองค์ทรงใช้สำนวนว่า “บุตรมนุษย์” แทนที่จะใช้สำนวนว่า “บุตรของพระเจ้า” ตามที่พระสุรเสียงนั้นบอก (มัทธิว 17:9 , 12)

ในเหตุการณ์การตรึงกางเขนก็เช่นกัน พวกมหาปุโรหิตกับพวกธรรมาจารย์และพวกผู้ใหญ่ก็เยาะเย้ยพระองค์ว่า : “เขาไว้ใจในพระเจ้า ถ้าพระองค์พอพระทัยในเขาก็ให้ทรงช่วยเขาเดี๋ยวนี้เถิด ด้วยเขาได้กล่าวว่า เขาเป็นพระบุตรของพระเจ้า” (มัทธิว 27:43)

ยอห์นได้แจ้งถึงจุดประสงค์ของการเขียนพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับของตนว่า “แต่การที่ได้บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ ก็เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่า พระเยซูทรงเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า (Jesus is the Christ, the Son of God) และเมื่อมีความเชื่อแล้ว ท่านก็จะมีชีวิตโดยโดยพระนามของพระองค์” (ยอห์น 21: 30-31)

อาจกล่าวได้ว่า ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 4 ฉบับ ไม่มีสำนวนที่ชัดเจนบ่งชี้ว่า พระเยซูคริสต์ทรงประกาศแก่ผู้คนทั้งหลายว่า “เราคือพระบุตรของพระเป็นเจ้า” แต่สำนวนที่บ่งชี้ว่า “พระองค์คือพระบุตรของพระเป็นเจ้า” ล้วนแล้วแต่เป็นการกล่าวของมาร, ผีโสโครก, สาวกและคำใส่ร้ายในเชิงเยาะเย้ยของพวกมหาปุโรหิตและธรรมาจารย์ และคำประกาศแรกในพระราชกิจจานุกิจของพระองค์ก็คือ “จงกลับใจเสียใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว” (มัทธิว 4:17)

พระองค์มิได้ทรงเริ่มต้นในการประกาศว่า “เราคือพระบุตรของพระเจ้า พวกท่านจงมีความเชื่อเถิด” หรืออะไรในทำนองนั้น แต่ผู้ที่เริ่มต้นในการประกาศความเชื่อที่ว่า พระเยซูคริสต์คือพระบุตรของพระเจ้าก็คือ เซาโลผู้กลับใจ ซึ่งในกิจการของอัครทูต 9:20 ระบุว่า “ท่านไม่ได้รีรอ ท่านประกาศตามธรรมศาลา กล่าวเรื่องพระเยซูว่า : พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า (that Jesus is the Son of God) เซาโลผู้นี้คือใคร? เขาจึงได้อาจหาญประกาศอย่างชัดเจนในความเชื่อดังกล่าว และนี่คือสิ่งที่เราต้องติดตามไปพร้อมๆ กัน

เรื่องราวของเซาโล (เปาโล) ปรากฏอยู่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ในกิจการของอัครทูต (The Acts of The Apostles) ซึ่ง วอลล์ ดิเวอร์เรนท์ ระบุไว้ใน “เรื่องเล่าอารยธรรม” ว่า : เป็นเรื่องที่เห็นตรงกันโดยทั่วไปในแวดวงนักค้นคว้าว่า พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับกิจการของอัครทูตและพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับที่ 3 เป็นการเรียบเรียงของผู้แต่งคนเดียวกัน… คือลูกา สหายของเปโตร ซึ่งลูกามิใช่ผู้หนึ่งจากอัครทูต 12 ท่านของพระเยซูคริสต์ และมิใช่ชาวยิว เมื่อปรากฏว่า พระธรรมฉบับกิจการของอัครทูตไม่มีการระบุถึงการเสียชีวิตของเปาโล ต้นฉบับเดิมก็น่าจะถูกเรียบเรียงขึ้นราวปี ค.ศ. 63” (เรื่องเล่าอารยธรรม ; วอลล์ ดิเวอร์เรนท์ ; เล่มที่ 3 หน้า 241)

ดังนั้น พระคริสตธรรมฉบับกิจการของอัครทูตจึงกลายเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในระหว่างปี ค.ศ. 30-95 โดยเริ่มต้นเรื่องราวด้วยการที่พระเยซูคริสต์ได้พบกับเหล่าอัครสาวกของพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย การกำชับของพระองค์มิให้พวกเขาออกจากเยรูซาเล็ม การเสด็จขึ้นของพระเยซูคริสต์สู่สวรรค์ชั้นฟ้าเบื้องบน และกิจการของอัครทูตในการเผยแผ่คำสอนของพระเยซูคริสต์ในหมู่ชาวยิวทั้งที่อยู่ในหัวเมืองยิวและโรมัน ซึ่งบทบาทของเปาโลภายหลังกลับใจรับใช้พระคริสต์ในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ไปยังดินแดนของคนต่างชาติถูกกล่าวถึงเป็นเนื้อหาสำคัญ นอกจากนี้บรรดาจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสตจักรตามหัวเมืองต่างๆ ก็เป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถนำมาอ้างอิงประกอบในการสืบค้นถึงทัศนคติและแนวทางที่เปาโลยึดถือและพยายามเผยแพร่ได้อีกด้วยเช่นกัน

ปูมหลังของเซาโล (เปาโล)

เซาโล หรือที่ต่อมาเรียกกันว่า เปาโล (Paul) ถือกำเนิดที่เมือง ทาร์ซัส (ฏอรสูส) แคว้นซีลีเซีย (เกาะลีกียะฮฺ) ข้อมูลนี้เป็นสิ่งที่เปาโลพูดเองว่า “I am a Jew, born in Tarsus of Cilicia” (กิจการของอัครทูต 21:39, 22:3)

ตัวของเปาโลและบิดาของเขาเป็นพวกฟาริสี (I am a Pharisee, the son of Pharisee. ข้าพเจ้าเป็นพวกฟาริสี และเป็นบุตรของพวกฟาริสี) (กิจการของอัครทูต 23:6) “I lived as a Pharisee” ข้าพระบาทดำรงชีพตามพวกที่ถือเคร่งครัดที่สุด คือ เป็นพวกฟาริสี” (กิจการของอัครทูต 26:5) และเปาโลกล่าวอ้างว่าตนเป็นคนสัญชาติโรม “We are Roman citizens” “เราผู้เป็นคนสัญชาติโรม” (กิจการของอัครทูต 16:37) อาชีพเดิมสำหรับครอบครัวของเปาโลคือ ช่างทำเต็นท์ (กิจการของอัครทูต 18:3)

เปาโลเล่าเรียนกับอาจารย์ของตนที่ชื่อ กามาลิเอล (Gamaliel) โดยเล่าเรียนตามธรรมบัญญัติของบรรพบุรุษ (กิจการของอัครทูต 22:3) กามาลิเอลเป็นอาจารย์ในสำนักของยิว (เยรูซาเล็ม) ที่มีความชำนาญในพระธรรมบัญญัติเดิม และเปาโลเรียนรู้จากอาจารย์ผู้นี้ในการอรรถาธิบายพระธรรมบัญญัติแบบเข้าใจง่าย และมีความช่ำชองในการโต้เถียงแบบหาตัวจับได้ยาก และเปาโลก็ได้รับอิทธิพลทางความคิดในเชิงปรัชญาของพวกสโตอิก (Stoicism) ซึ่งแพร่หลายในแถบอันทิโอก (อันฏอกียะฮฺ) และทาร์ซูส (ฏอรฺสูส) (วอลล์ดิเวอร์เรนท์ ; อ้างแล้ว 3/250)

และมีความเป็นไปได้อย่างมากว่า เปาโลเคยศึกษากับปุโรหิตและธรรมาจารย์ของพวกยิวที่อยู่ในธรรมศาลา (the Jewish synagogue) ซึ่งอยู่นอกดินแดนปาเลสไตน์ เช่น เมืองอันทิโอก เป็นต้น เมืองอันทิโอกนี้อยู่ไม่ไกลจากเมืองทาร์ซูส บ้านเกิดของเปาโลและเป็นศูนย์กลางทางความคิดในเชิงปรัชญาที่ใหญ่ที่สุดในเขตเอเชียน้อยโดยเฉพาะปรัชญากรีกและสำนักคิดในเชิงปรัชญาและศาสนาที่มาบรรจบกันที่เมืองนั้น (บูลุส วัลมะสีฮียะฮฺ ; ดร.มุฮัมมัด อบุล-ฆอยฏ์ อัล-ฟัรตฺ หน้า 18)

คุณสมบัติพิเศษในตัวของนักบุญเปาโล

นักบุญเปาโล มีคุณลักษณะที่โดดเด่นหลายประการ และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาปัจจัยเหตุที่ทำให้นักบุญเปาโลประสบความสำเร็จในภารกิจของตน แต่คุณลักษณะที่โดดเด่นเหล่านั้นก็มีทั้งในแง่ที่ดีและไม่ดี ตลอดจนบ่อยครั้งก็ขัดแย้งกันเอง นักบุญเปาโลมีความกล้าหาญ มีความเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจของตนจนบางครั้งก็ดูไร้เหตุผล เมื่อนักบุญเปาโลไม่สบอารมณ์ก็จะมีความรุนแรงแสดงออกมา นั่นเป็นเพราะนักบุญเปาโลมีความจริงจังและยึดมั่นในทัศนะคติและอุดมการณ์ของตน  ในขณะเดียวกันนักบุญผู้นี้ก็แสดงออกซึ่งความรัก ความอ่อนโยนและความมีเมตตากรุณา บ่อยครั้งที่เขาชี้นำให้ผู้ที่ติดตามเชื่อฟังตนอธิษฐานให้แก่บรรดาผู้ที่กดขี่ข่มเหงคริสตจักร

นักบุญเปาโลพูดถึงตนเองว่า : “…เพราะข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าไม่ด้อยกว่าอัครทูตชั้นผู้ใหญ่เหล่านั้นแม้แต่น้อยเลย แม้ว่าข้าพเจ้าพูดไม่เก่ง แต่ข้าพเจ้าก็ยังมีความรู้ที่จริง เราก็ได้แสดงข้อนี้ให้ประจักษ์แก่พวกท่านในกิจการทุกสิ่งแล้ว…” (2 โครินธ์ 11: 5-6) “ไม่ว่าใครกล้าอวดในเรื่องใด (ข้าพเจ้าพูดอย่างคนเขลา) ข้าพเจ้าก็กล้าอวดเรื่องนั้นเหมือนกัน เขาเป็นชาติฮิบรูหรือ ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนกัน เขาเป็นชนชาติอิสราเอลหรือ ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนกัน เขาเป็นเผ่าพันธุ์ของ อับราฮัมหรือ ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนกัน เขาเป็นคนรับใช้ของพระคริสต์หรือ ข้าพเจ้าเป็นดีกว่าเขาเสียอีก (ข้าพเจ้าพูดอย่างคนบ้า) ข้าพเจ้าทำงานใหญ่ยิ่งกว่าเขาอีก ข้าพเจ้าติดคุกมากกว่าเขา ข้าพเจ้าถูกโบยตีเกินขนาด ข้าพเจ้าหวิดตายบ่อยๆ…” (2 โครินธ์ 11: 21-23)

“ข้าพเจ้าเป็นคนเขลาไปแล้วซี ท่านบังคับข้าพเจ้าให้เป็น เพราะว่าสมควรแล้วที่ท่านจะยกย่องข้าพเจ้า เพราะว่าข้าพเจ้าไม่ด้อยกว่าอัครทูตชั้นผู้ใหญ่เหล่านั้นแต่ประการใดเลย ถึงแม้ข้าพเจ้าจะไม่วิเศษอะไรเลยก็จริง” ( 2 โครินธ์ 12:11) นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากถ้อยความที่นักบุญเปาโลเขียนไว้ในจดหมายของเขาที่มีถึงคริสตจักร ถ้อยความเหล่านี้บ่งถึงทัศนคติของเปาโลที่มีต่อตัวของเขาเอง และการมองคนอื่น แม้กระทั่งคนอื่นที่ว่านั้นจะเป็นเหล่าอัครทูตของพระเยซูคริสต์เองก็ตาม การมองในลักษณะดังกล่าวถึงแม้ว่าจะกำกับด้วยประโยคที่ว่า “ข้าพเจ้าพูดอย่างคนเขลา” ก็ตาม ย่อมบ่งถึงความเป็นตัวตนของเปาโลว่าเป็นคนที่มีคุณลักษณะเช่นใด?

เหตุการณ์อันน่าเหลือเชื่อ

นักบุญเปาโลเป็นชาวยิวพวกฟารีสี ซึ่งเป็นพวกปุโรหิตและธรรมาจารย์ที่เคร่งครัดในพระธรรมบัญญัติเดิม และพวกฟารีสีก็เป็นปรปักษ์กับพระเยซูคริสต์และผู้ที่เชื่อในคำสอนของพระองค์ พระคริสตธรรมคัมภีร์ได้บันทึกคำเทศนาสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ที่วิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของพวกฟารีสีเอาไว้ในหลายเหตุการณ์ด้วยกัน เช่น “คราวนั้นมีบางคนในพวกธรรมาจารย์และพวกฟารีสีมาทูลพระองค์ว่า “อาจารย์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าอยากจะเห็นหมายสำคัญจากท่าน” พระองค์จึงตรัสตอบเขาว่า “คนชาติชั่วและคิดทรยศต่อพระเจ้าแสวงหาหมายสำคัญ และจะไม่ทรงโปรดให้หมายสำคัญแก่เขา เว้นไว้แต่หมายสำคัญของโยนาห์ผู้เผยพระวจนะ” (มัทธิว 12: 38-39)

“ครั้งนั้นพระเยซูตรัสกับประชาชนและพวกสาวกของพระองค์ว่า “พวกธรรมจารย์กับพวกฟารีสีนั่งบนที่นั่งของโมเสส เหตุฉะนั้น ทุกสิ่งซึ่งเขาสั่งสอนพวกท่านจงถือประพฤติตาม เว้นแต่การประพฤติของเขาอย่าได้ทำตามเลย เพราะเขาเป็นแต่ผู้สั่งสอน แต่เขาเองหาทำตามไม่” (มัทธิว 23: 1-3) ถ้อยคำที่พระเยซูคริสต์มักจะใช้โต้ตอบกับพวกธรรมจารย์และพวกฟาริสี ก็คือ “วิบัติแก่เจ้า พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี คนหน้าซื่อใจคด” (มัทธิว 23: 13-15) “วิบัติแก่เจ้า คนนำทางตาบอด” (มัทธิว 23:16) “โอ้คนโฉดเขลาตาบอด” (มัทธิว 23:17) “โอ พวกฟาริสีตาบอด (มัทธิว 23:26)    “โอ พวกงู พันธุ์งูร้าย เจ้าจะพ้นโทษอย่างไรได้” (มัทธิว 23:33) เป็นต้น

ในช่วงที่บรรดาอัครทูตทั้งสิบสองคนประกาศข่าวว่า พระเยซู ทรงเป็นพระคริสต์ในกรุงเยรูซาเล็มนั้น เหล่าอัครทูตได้ร่วมประชุมและคัดเลือกศิษย์ จำนวน 7 คน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการประกาศคำสอน หนึ่งจากผู้ที่ถูกคัดเลือกคือ สเทเฟน (Stephen) ผู้ประกอบด้วยความเชื่อและพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กิจการของอัครทูต 6: 2-7) เวลานั้นเซาโล (เปาโล) ก็ยังเป็นยิวที่ข่มเหงคริสตจักร และการที่สเทเฟนถูกฆ่าตายนั้นเซาโลก็เห็นชอบด้วย และการข่มเหงคริสตจักรในกรุงเยรูซาเล็มเป็นไปอย่างรุนแรง ทำให้ศิษย์ทั้งปวง ยกเว้นพวกอัครทูตต้องกระจัดกระจายหลบหนีไปทั่วแว่นแคว้นยูเดียและสะมาเรีย ฝ่ายเซาโลนั้นได้เข้าไปฉุดลากชายหญิงจากทุกบ้านทุกเรือนเอาไปจำไว้ในคุก (กิจการของอัครทูต 8: 1-3)  เซาโลไปหามหาปุโรหิตประจำการเพื่อขอหนังสือไปยังธรรมศาลาในเมืองดามัสกัส เพื่อว่าถ้าพบผู้ใดถือทางนั้นไม่ว่าชายหรือหญิง จะได้จับมัดพามายังกรุงเยรูซาเล็ม (กิจการของอัครทูต 9: 1-2)

และแล้วเหตุการณ์อันน่าเหลือเชื่อก็เกิดขึ้นกับเซาโล กล่าวคือ เมื่อเซาโลเดินทางไปใกล้จะถึงเมืองดามัสกัส ในทันใดนั้นมีแสงสว่างส่องมาจากฟ้าล้อมตัวเขาไว้รอบ เซาโลจึงล้มลงถึงดินและได้ยินพระสุรเสียงตรัสถามว่า “เซาโล เซาโลเอ๋ย เจ้าข่มเหงเราทำไม” เซาโลจึงทูลถามว่า “พระองค์เจ้าข้า พระองค์ทรงเป็นผู้ใด” พระองค์ตรัสว่า “เราคือเยซู ซึ่งเจ้าข่มเหง แต่เจ้าจงลุกขึ้นเข้าไปในเมือง และเจ้าจะต้องทำประการใดจะมีคนบอกให้รู้” คนทั้งหลายที่เดินทางไปด้วยกันก็ยืนนิ่งพูดไม่ออก ได้ยินพระสุรเสียงนั้น แต่ไม่เห็นใคร ฝ่ายเซาโลได้ลุกขึ้นจากพื้นดิน เมื่อลืมตาแล้วก็มองอะไรไม่เห็น เขาจึงจูงมือเซาโลไปยังเมืองดามัสกัส (กิจการของอัครทูต 9: 3-8)

เหตุการณ์ครั้งนั้นที่ทำให้เซาโลกลับใจ เกิดขึ้นราวปี ค.ศ. 38 บุคคลที่ครั้งหนึ่งเป็นศัตรูกับคริสตจักรและขู่คำรามว่าจะฆ่าศิษย์ของพระเยซูคริสต์ (กิจการของอัครทูต 9:1) ไม่เคยพบพระเยซูคริสต์ ไม่เคยรับฟังคำเทศนาสั่งสอนหรือหมายสำคัญของพระเยซูคริสต์ ในช่วงก่อนการเสด็จขึ้นของพระองค์เลย ได้กลับกลายเป็นผู้รับใช้พระเยซูคริสต์ด้วยเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจ แต่น่ากังขายิ่งนัก เพราะไม่แน่ใจว่านั่นจะเป็นนิมิตรที่เกิดขึ้นจริงกับเปาโลหรือไม่ เป็นไปได้ว่าการเดินทางที่ยาวไกลและได้รับความเหนื่อยล้าระหว่างเส้นทางที่ทุรกันดารจากกรุงเยรูซาเล็มถึงเมืองดามัสกัส ทำให้เกิดสภาพดังกล่าวแก่เปาโล เพราะเปาโลเล่าเองว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณเวลาเที่ยง (กิจการของอัครทูต 22:6)

เปาโลอ้างว่ามีแสงสว่างกล้ามาจากฟ้าล้อมเขาไว้ เขาจึงล้มลงบนพื้นดิน (กิจการของอัครทูต 22: 6-7) เปาโลเองไม่เห็นพระเยซูคริสต์ที่มีพระสุรเสียงเรียกตน สิ่งที่เขาเห็นก็คือแสงแรงกล้าเท่านั้น และเขาก็มองอะไรไม่เห็นหลังจากลุกขึ้น (กิจการของอัครทูต 22:11) สิ่งที่ยืนยันว่าเปาโลไม่เห็นพระเยซูคริสต์ แต่ได้ยินพระสุรเสียงเรียกก็คือ เปาโลทูลถามว่า “พระองค์เจ้าข้า พระองค์ทรงเป็นผู้ใด” (กิจการของอัครทูต 22:8) นั่นอาจจะหมายความอีกด้วยว่า ถึงแม้จะเห็นก็ไม่รู้จักว่าเป็นผู้ใด เพราะเซาโล (เปาโล) ไม่เคยพบพระองค์มาก่อน

ข้อความที่พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับกิจการของอัครทูตซึ่งเขียนโดยลูกา ผู้เป็นศิษย์และสหายของเปาโล ในภายหลังก็ระบุไว้ขัดกัน ตอนหนึ่งระบุว่า “คนทั้งหลายที่เดินทางไปด้วยกันก็ยืนนิ่งพูดไม่ออก ได้ยินพระสุรเสียงนั้นแต่ไม่เห็นใคร” (กิจการของอัครทูต 9:7) อีกตอนหนึ่งเป็นคำเล่าของเปาโลเองว่า “ฝ่ายคนทั้งหลายที่อยู่กับข้าพเจ้าได้เห็นแสงสว่าง แต่พระสุรเสียงที่ตรัสกับข้าพเจ้านั้นเขาหาได้ยินไม่” (กิจการของอัครทูต 22:9) แน่นอน

ลูกาเขียนเรื่องราวเหล่านี้ตามคำบอกเล่าของเปาโล แต่ลูกาอาจจะไม่ถี่ถ้วนในรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญเท่ากับที่เปาโลเล่าด้วยตัวเอง แต่กระนั้นสิ่งที่เปาโลเล่านี้ก็เป็นการเรียบเรียงของลูกา ถ้าสรุปว่าเปาโลไม่ได้ให้การขัดแย้งกันในเรื่องนี้ แต่ลูกาเรียบเรียงและบันทึกรายละเอียดขัดกันเอง ก็ไม่พ้นความน่ากังขาอยู่ดี เพราะถ้าคนที่ร่วมเดินทางมาด้วยได้ยินแต่พระสุรเสียงแต่ไม่เห็นใคร ก็ไม่อาจแน่ใจและเป็นพยานได้ว่า เปาโลได้ถูกเลือกจากพระเยซูคริสต์แล้วด้วยบัญชาจากพระสุรเสียงนั้น เพราะไม่เห็นผู้พูดปรากฏอยู่ แต่ถ้าพวกเขาเห็นแต่แสงสว่างแต่ไม่ได้ยินพระสุรเสียงนั้นตามที่เปาโลเล่า ก็ไม่อาจเป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงพระบัญชาที่เลือกเปาโลให้เป็นผู้รับใช้พระองค์ เพราะเห็นแต่แสงสว่างแต่ไม่ได้ยินสิ่งใดเลย

คำยืนยันของอานาเนียที่มีนิมิตรกับผู้นั้นว่า พระเยซูคริสต์ทรงเลือกเปาโลเป็นภาชนะสำหรับจะนำนามของพระองค์ไปยังประชาชาติ กษัตริย์และพวกอิสราเอล (กิจการของอัครทูต 9: 10-17) โดยอานาเนียกล่าวว่า : “พี่เซาโลเอ๋ย องค์พระผู้เป็นเจ้า คือพระเยซูได้ทรงปรากฏแก่ท่านกลางทางที่ท่านมานั้น” (กิจการของอัครทูต 9:17) “พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของเราได้ทรงเลือกท่านไว้ ประสงค์จะให้ท่านรู้จักน้ำพระทัยของพระองค์ให้ท่านเห็นพระองค์ผู้ชอบธรรม และให้ได้ยินพระสุรเสียงจากโอษฐ์ของพระองค์” (กิจการของอัครทูต 22: 13-14) นั่นก็ดูจะขัดกันเพราะเปาโลเห็นแต่แสงแรงกล้า ไม่เห็นองค์พระเยซูคริสต์ เขาเพียงแต่ได้ยินพระสุรเสียงจากแสงแรงกล้านั้นเท่านั้น จะว่าได้เห็นพระองค์จริงๆ ได้อย่างไร

และเรื่องของอานาเนียก็เป็นคำบอกเล่าของเปาโลเอง แล้วลูกาก็เขียนตามคำบอกเล่านั้น อย่างไรก็ตามดูเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามคำอ้างของเปาโลจะกลายเป็นสิ่งที่คริสตชนไม่มีข้อกังขาใดๆ พวกเขายอมรับมันโดยดุษฎีและไม่มีผู้ใดแม้แต่จะคิดว่านั่นคือคำกล่าวอ้างของบุคคลที่ไม่เคยพบพระเยซูคริสต์มาก่อน ไม่เคยรับฟังคำเทศนาสั่งสอนใดๆ จากพระโอษฐ์ของพระองค์ พวกเขาไม่คิดว่านี่คือการอ้างสิทธิอันชอบธรรมของเปาโลในการรับภารกิจและสิ่งที่เขาจะเทศนาสั่งสอนต่อไป ว่าเขารับสิ่งเหล่านั้นโดยตรงจากพระเยซูคริสต์และผู้ใดก็ย่อมไม่มีสิทธิจะทัดทานหรือคัดค้านได้  ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะเป็นอัครทูตที่เป็นสาวกของพระเยซูคริสต์จริงๆ เองก็ตาม

ทุกสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงตรากตรำลำบากในการดั้นด้นเทศนาสั่งสอนผู้คนพร้อมกับบรรดาสาวกของพระองค์มาโดยตลอดจวบจนการเสด็จขึ้นของพระองค์ กลายเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพออีกแล้วสำหรับการที่บรรดาสาวกของพระองค์จะสืบสานภารกิจอันสำคัญนี้ จึงทำให้พระองค์ต้องแสดงเหตุมหัศจรรย์กับบุคคลที่ครั้งหนึ่งเคยข่มเหงเหล่าสาวกและสานุศิษย์มาก่อน และมอบหมายภารกิจที่ยิ่งใหญ่ให้แก่บุคคลผู้นี้อีกครั้ง ทั้งๆ ที่ภารกิจนั้นพระองค์ทรงมอบหมายไว้แล้วแก่เหล่าสาวกของพระองค์ก่อนการเสด็จขึ้นดังที่พระองค์ตรัสว่า : “แต่ท่านทั้งหลายจะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดชเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือท่าน และท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเราในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” (กิจการของอัครทูต 1:8)

“เหตุฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในนามแห่งพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนให้เขาถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งสอนพวกเจ้าไว้ นี่แหล่ะเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค (มัทธิว 28:20) “พวกสาวกเหล่านั้นจึงออกไปเทศนาสั่งสอนทุกแห่งหนตำบล และพระเจ้าทรงร่วมงานกับเขา และทรงสนับสนุนคำสอนของเขาโดยหมายสำคัญที่ประกอบนั้น” (มาระโก 16:20)

เมื่อการเป็นเช่นนั้นตามที่พระคริสตธรรมคัมภีร์กล่าวเอาไว้ ไฉนเลยพระเยซูคริสต์จึงต้องทรงเลือกบุคคลเช่นเปาโลมารับภารกิจโดยตรงจากพระองค์อีกเล่า! การเป็นพยานฝ่ายพระเยซูคริสต์ของเหล่าสาวกของพระองค์ที่มีไปถึงสุดปลายโลกนั้นยังไม่เพียงพออีกกระนั้นหรือ? การที่เหล่าสาวกสั่งสอนสิ่งสารพัดซึ่งพระเยซูคริสต์ทรงได้สั่งสอนพวกเขาเอาไว้ด้วยพระองค์เอง ยังไม่เพียงพออีกกระนั้นหรือ? การที่พระองค์ทรงสัญญาว่าพระองค์จะทรงอยู่กับพวกเขาเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค ยังไม่เพียงพออีกกระนั้นหรือ?

และในเมื่อพระเจ้าทรงร่วมงานกับเหล่าสาวกและทรงสนับสนุนพวกเขาโดยหมายสำคัญที่ประกอบนั้น ยังไม่เพียงพอในการสืบสานคำสอนของพระเยซูคริสต์และป่าวประกาศออกไปแก่ประชาชาติทั้งหลายอีกกระนั้นหรือ ถึงจำต้องมีการปรากฏขึ้นของเปาโลในฐานะผู้ที่ถูกคัดเลือกตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า ทั้งๆ ที่พระเจ้าทรงร่วมงานกับเหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์อยู่แล้ว!

หากคริสตชนตอบว่า ใช่แล้ว! นั่นยังไม่เพียงพอและการเลือกเปาโลก็เพื่อการนี้แหล่ะ! แน่นอนหากตอบเช่นนี้ ก็หมายความว่าสิ่งที่พระคริสตธรรมคัมภีร์กล่าวถึงสาวกเอาไว้ก็ไม่สมจริงดังว่า! แต่ถ้าตอบว่า “ไม่” การสืบสานภารกิจต่อจากพระเยซูคริสต์ของเหล่าสาวกย่อมเพียงพอและออกจะเกินพอไปเสียด้วยซ้ำ จึงขอถามต่อว่า แล้วกรณีที่เกิดขึ้นกับเปาโลนั่นเล่า กรณีนั้นบ่งถึงอะไร? ลองพิจารณาดูเอาเถิด โอ้ คริสตชนทั้งหลาย! คำตอบมีอยู่แล้ว เพียงแต่ท่านทั้งหลายจะเปิดใจยอมรับมันหรือไม่เท่านั้นเอง สำหรับเราชาวมุสลิมผู้ศรัทธาในเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และเชื่อในความเป็นศาสนทูตของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (อ.ล.) หรือพระเยซูคริสต์ที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงส่งมายังวงศ์วานอิสราเอล เรามีคำตอบอยู่แล้ว!

เหตุไฉน คนที่เชื่อและศรัทธาต่อพระเยซูคริสต์ เป็นสาวกผู้ใกล้ชิดอยู่ร่วมกับพระองค์ เห็นพระองค์ ได้ยินพระองค์ ร่วมอธิษฐานกับพระองค์ เห็นหมายสำคัญที่พระองค์ทรงแสดงมากมายที่เกิดขึ้นต่อหน้าพวกเขา และเหล่าสาวกนั้นคือผู้ที่พระเยซูคริสต์ทรงอธิษฐานต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อพวกเขา “คนเหล่านั้นเป็นของพระองค์แล้ว และพระองค์ได้ประทานเขาไว้ให้แก่ข้าพระองค์ และเขาได้ปฏิบัติตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว” (ยอห์น 17:6)

“ข้าพระองค์อธิษฐานเพื่อเขา ข้าพระองค์มิได้อธิษฐานเพื่อโลก แต่เพื่อคนเหล่านั้นที่พระองค์ทรงประทานแก่ข้าพระองค์ เพราะว่าเขาเป็นของพระองค์” (ยอห์น 17:9) “บัดนี้ ข้าพระองค์จะไม่อยู่ในโลกนี้อีก แต่พวกเขายังอยู่ในโลกนี้ และข้าพระองค์กำลังจะไปหาพระองค์ ข้าแต่พระบิดาผู้บริสุทธิ์ขอพระองค์ทรงโปรดพิทักษ์รักษาบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ประทานแก่ข้าพระองค์ไว้โดยพระนามของพระองค์ เพื่อเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนดังข้าพระองค์กับพระองค์ (ยอห์น 17:11)

“ข้าพระองค์ไม่ได้ขอให้พระองค์เอาเขาออกไปจากโลก เหมือนดังนี้ข้าพระองค์ไม่ใช่ของโลก ขอทรงโปรดชำระเขาให้บริสุทธิ์ด้วยความจริง พระวจนะของพระองค์เป็นความจริง พระองค์ทรงใช้ข้าพระองค์มาในโลกฉันใด ข้าพระองค์ก็ใช้เขาไปในโลกฉันนั้น ข้าพระองค์ชำระตัวถวายเพราะเห็นแก่เขา เพื่อให้เขารับการทรงชำระแต่งตั้งไว้โดยสัจจะด้วยเช่นกัน ข้าพระองค์มิได้อธิษฐานเพื่อคนเหล่านี้พวกเดียว แต่เพื่อคนทั้งปวงที่วางใจในข้าพระองค์เพราะถ้อยคำของเขา” (ยอห์น 17: 15-20)

คำอธิษฐานข้างต้นของพระเยซูคริสต์เพื่อเหล่าสาวกของพระองค์ (ยกเว้นลูกของความพินาศ คือ ยูดาส อิสคาริโอท) ย่อมเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า เหล่าสาวกของพระองค์คือผู้ที่สืบสานความเชื่อและศรัทธาซึ่งพระองค์ได้ทรงเทศนาสั่งสอนเอาไว้ แต่เหตุไฉน บุคคลที่มิได้วางใจในพระเยซูคริสต์เพราะถ้อยคำของเหล่าสาวก แต่กล่าวอ้างเรื่องอัศจรรย์ในการกลับใจของตน เช่นเปาโล จึงกลายเป็นผู้ที่พระเป็นเจ้าทรงเลือกให้เขาเป็นภาชนะสำหรับนำพระนามของพระองค์สู่ผู้คนทั้งหลายไปได้

หากเปาโลเคยเห็นและได้ยินคำเทศนาสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ด้วยตัวเองแล้ว เขาก็ได้รับทางสว่างและกลับใจจากการเป็นผู้ข่มเหงคริสตจักรมาสู่การเป็นผู้เชื่อในพระองค์ นั่นย่อมมิใช่เรื่องแปลกและย่อมไม่มีข้อกังขา หรือเปาโลได้รับฟังถ้อยคำของเหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์ภายหลังการเสด็จขึ้นของพระองค์แล้ว ถ้อยคำของเหล่าสาวกก็ทำให้เปาโลวางใจและศรัทธาในพระองค์ นั่นก็มิใช่เรื่องแปลกและไม่มีข้อสงสัยอีกเช่นกัน แต่ทว่าสิ่ง 2 ประการนั้นมิได้เกิดขึ้นกับเปาโล ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อในพระเยซูคริสต์ก่อนการเสด็จขึ้น หรือการรับฟังถ้อยคำของเหล่าสาวก

เปาโลยังคงเป็นผู้ปฏิเสธในคำสอนของพระเยซูคริสต์และข่มเหงคริสตจักรหลังการเสด็จขึ้นของพระองค์ แล้วจู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์อันน่าเหลือเชื่อเช่นนั้นกับเปาโล ซึ่งเป็นพวกฟาริสี ที่พระเยซูคริสต์ทรงเรียกพวกนี้ว่า “คนหน้าซื่อใจคด”, “คนนำทางตาบอด”, “คนชาติชั่วและคิดทรยศ” และ “พวกงู พันธุ์งูร้าย” เป็นต้น พระเยซูคริสต์ทรงอธิษฐานเพื่อเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “ขอปกป้องเขาไว้ให้พ้นจากมารร้าย” (ยอห์น 17:15)เปาโลมิใช่สาวกของพระเยซูคริสต์ก่อนหน้าการเสด็จขึ้นของพระองค์ และเปาโลก็มิได้วางใจในพระเยซูคริสต์เพราะถ้อยคำของสาวก (ยอห์น 17:20) ถึงจะทำให้เปาโลได้รับพรจากคำอธิษฐานนั้นด้วย

การได้รับการปกป้องให้พ้นจากมารร้ายก็ย่อมไม่เกิดแก่เปาโลตามคำอธิษฐานนั้น เหตุการณ์อันน่าเหลือเชื่อนั้นมีแต่เปาโลเพียงผู้เดียวที่กล่าวอ้างแม้จะลาก “อานาเนีย” เข้ามาร่วมเป็นประจักษ์พยานในคำกล่าวอ้างของตนก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจเชื่อได้โดยสนิทใจว่าจริงหรือไม่ เปาโลมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนมิใช่อาการของคนที่เป็นลมแดดที่มักเกิดอาการตาพร่ามัวและหูแว่ว หมดสติและล้มลง

หากค้านว่า มิใช่อาการของคนที่เป็นลมแดด แต่เป็นความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจริงกับเปาโล ก็ต้องถามว่า แล้วมั่นใจมากน้อยเพียงใดว่านั่นมิใช่การล่อลวงของมารร้าย เพราะเปาโลไม่อยู่ในข่ายของผู้ได้รับพรแห่งการอธิษฐานของพระเยซูคริสต์ในเรื่องการปกป้องให้พ้นจากมารร้าย คริสตชนไม่ได้ฉุกคิดกระนั้นหรือว่าพระเยซูคริสต์ทรงตรัสเตือนเหล่าสาวกของพระองค์เอาไว้เช่นใด?  พระองค์ตรัสว่า :

“ระวังให้ดี อย่าให้ผู้ใดล่อลวงท่านให้หลง ด้วยว่าจะมีหลายคนมาต่างอ้างนามของเราว่าตัวเขาเป็นพระคริสต์ เขาจะให้คนเป็นอันมากหลงไป (มัทธิว 24: 4-5)

“คราวนั้น คนเป็นอันมากจะถดถอยไปและอายัดกันและกัน ทั้งจะเกลียดชังซึ่งกันและกันด้วย ผู้เผยพระวจนะปลอมหลายคนจะเกิดมีขึ้นและล่อลวงคนเป็นอันมากให้หลงไป” (มัทธิว 24: 10-11)

“ในเวลานั้น ถ้าผู้ใดจะบอกพวกท่านว่า “แน่ะ พระคริสต์อยู่ที่นี่” หรือ “อยู่ที่โน่น” อย่าได้เชื่อเลย ด้วยว่าจะมีพระคริสต์เทียมเท็จและผู้ทำนายเทียมเท็จหลายคนเกิดขึ้น ทำหมายสำคัญอันใหญ่และการมหัศจรรย์ ล่อลวงแม้ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรให้หลง ถ้าเป็นได้ ดูเถิด เราได้กล่าวเตือนท่านทั้งหลายไว้ก่อนแล้ว” (มัทธิว 24: 24-25)

“ระวังให้ดี อย่าให้ผู้ใดล่อลวงท่านให้หลง ด้วยว่าจะมีหลายคนมาต่างอ้างนามของเราว่า “เราเป็นผู้นั้น” และจะให้คนเป็นอันมากหลงไป” (มาระโก 13: 5-6) “พวกท่านทั้งหลายจงระวังเชื้อของพวกฟาริสีซึ่งเป็นคนหน้าซื่อใจคด” (ลูกา 12:1)

ดูเหมือนเหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์ในกรุงเยรูซาเล็มจะจดจำคำเตือนของพระเยซูคริสต์ได้เป็นอย่างดี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ว่า เมื่อเปาโลไปถึงกรุงเยรูซาเล็มหลังจากหลบหนีพวกยิวในเมืองดามัสกัสออกมาได้ เปาโลก็ใคร่จะคบให้สนิทกับพวกสาวก แต่เหล่าสาวกก็กลัวที่จะทำเช่นนั้น เพราะไม่เชื่อว่าเปาโลได้กลับใจเป็นสาวกแล้ว หากบารนาบัสไม่พาเปาโลไปหาพวกอัครทูตและเล่าให้พวกอัครทูตฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเปาโล ก็ยากที่เปาโลจะได้รับความไว้วางใจให้เข้านอกออกในอยู่กับพวกอัครทูตในกรุงเยรูซาเล็ม (กิจการของอัครทูต 9: 26-28)

การแสดงความเอาจริงเอาจังของเปาโลในการประกาศออกนามพระเยซูคริสต์ด้วยใจกล้าหาญและเขาได้ใช้ความช่ำชองในการโต้เถียงกับพวกนิยมกรีก จนพวกนั้นถูกไล่เลียงให้จนแต้ม ทำให้อัครทูตส่งเปาโลไปยังเมืองซีซารียา แล้วส่งไปยังเมืองทาร์ซัสบ้านเกิดของเปาโล (กิจการของอัครทูต 9: 29-30) ก่อนหน้านั้น ภายหลังเหตุการณ์อัศจรรย์ที่เกิดกับเปาโลในระหว่างทางสู่นครดามัสกัส เปาโลไม่ได้รีรอในการประกาศตามธรรมศาลา กล่าวเรื่องพระเยซูว่า “พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า (กิจการของอัครทูต 9:20)

เปาโลไม่ได้เริ่มภารกิจของตนด้วยการประกาศ “จงกลับใจเสียใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว” อย่างที่ยอห์นผู้ให้รับบัพติศมาประกาศ (มัทธิว 3:2) หรืออย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงเริ่มกิจจานุกิจของพระองค์ด้วยการประกาศถึงสิ่งดังกล่าวเป็นอันดับแรก (มัทธิว 4:17)

แต่เปาโลกลับเริ่มประกาศในสิ่งที่พระเยซูคริสต์เองไม่เคยกล่าวอ้างสิ่งนั้นตามความหมายที่จริงๆ แก่ตัวของพระองค์เองว่า “พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า” พระองค์เรียกพระผู้เป็นเจ้าว่า “พระบิดา” และเรียกพระองค์เองในบางครั้งว่า “พระบุตร” ในทำนองของสำนวนโวหารซึ่งตีความได้ว่า มิใช่ความหมายของบิดาและบุตรจริงๆ ดังที่เรากล่าวถึงเรื่องนี้มาแล้วในตอนต้น เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้น (คือคำว่า “พระบิดา” และ “พระบุตร” เป็นเพียงสำนวนโวหาร มิได้มุ่งหมายตามความหมายจริงๆ ของถ้อยคำ) แล้วคริสตชนจะอธิบายประโยคที่ว่า “แต่ส่วนบรรดาผู้ที่ต้อนรับพระองค์ ผู้ที่เชื่อในพระนามของพระองค์ พระองค์ก็ทรงประทานสิทธิให้เป็นบุตรของพระเจ้า” (ยอห์น 1:12)

“ถ้าพระเจ้าเป็นพระบิดาของท่านแล้ว ท่านก็จะรักเรา เพราะเรามาจากพระเจ้าและอยู่นี่แล้ว เรามิได้มาตามใจชอบของเราเอง แต่พระองค์ทรงใช้เรามา” (ยอห์น 8:42) “เพราะพระบิดาทรงเป็นใหญ่กว่าเรา” (ยอห์น 14:28) “เพื่อเขาทั้งหลายจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่พระองค์ คือ พระบิดาทรงสถิตในข้าพระองค์ และพระองค์ในพระองค์ เพื่อให้เขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์และกับข้าพระองค์ด้วย” (ยอห์น 17:21) ถ้าสิ่งที่ยกตัวอย่างมานี้มิใช่เป็นการกล่าวในเชิงสำนวนโวหารแล้ว

คริสตชนจะอธิบายอย่างไร โดยถือตามความหมายจริงๆ ของรูปคำ! และถ้าพระเยซูคริสต์คือพระบุตรของพระเจ้าจริงๆ ตามความหมายของคำว่า บุตรและบิดา นั่นก็เป็นสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงประกาศและตรัสเอาไว้แล้ว ทำไมเปาโลจึงต้องมาประกาศซ้ำอีก แต่ถ้าสิ่งที่ว่ามาเป็นเพียงสำนวนโวหารและพระเยซูคริสต์มิได้ทรงมุ่งหมายว่าพระองค์เป็นพระบุตรจริงๆ ตามความหมายของคำว่า บุตรและบิดา ทำไมเปาโลจึงกล้าประกาศอย่างชัดเจนว่า พระเยซูคริสต์คือพระบุตรของพระเจ้า! แทนที่จะประกาศสั่งสอนอย่างเหล่าอัครทูตว่า พระเยซูคือพระคริสต์ (that Jesus is the Christ) (กิจการของอัครทูต 5:42) ฟิลิป ผู้เป็นศิษย์ของเหล่าอัครทูตที่ถูกเลือกเป็นผู้หนึ่งในเจ็ดคนพร้อมกับสเทเฟนและคนอื่นก็ประกาศเรื่องพระคริสต์ในเมืองหนึ่งของแคว้นสะมาเรีย (กิจการของอัครทูต 8: 4-6)

ฟิลิปไม่ได้ประกาศว่า พระเยซูเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่เรียกร้องให้ผู้คนเชื่อว่า พระเยซูคือพระคริสต์ของพระเจ้า แม้ในเหตุการณ์ที่ฟิลิปพบกับขันทีชาวเอทิโอเปีย (กิจการของอัครทูต 8: 26-40) ท่านก็อธิบายให้ขันทีผู้นั้น ซึ่งกำลังอ่านหนังสืออิสยาห์ผู้เผยพระวจนะว่า ถ้อยความนั้นเล็งถึงผู้ใด โดยฟิลิปบอกว่า พระคัมภีร์ข้อนั้นชี้แจงถึงข่าวประเสริฐเรื่องพระเยซู ซึ่งท่านไม่ได้พูดถึงพระบุตรของพระเจ้า ส่วนผู้ที่พูดประโยคนั้นก็คือ ขันทีชาวเอทิโอเปีย ที่พูดว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า” (กิจการของอัครทูต 8:37)

ฟิลิปไม่ได้พูดถึงความเป็นพระบุตรของพระเยซูคริสต์เลยแม้แต่น้อย กระทั่งพระสุรเสียงที่พระเยซูทรงตรัสจากแสงแรงกล้าที่มาจากฟ้าล้อมตัวของเปาโลในเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ตามที่เปาโลอ้างนั้น ก็ตรัสว่า : “เราคือเยซู ซึ่งเจ้าข่มเหง” (กิจการของอัครทูต 9:5)

พระสุรเสียงนั้นมิได้ตรัสว่า “เราคือเยซู พระบุตรของพระเจ้า ซึ่งเจ้าข่มเหง” แน่นอนเปาโลได้เริ่มภารกิจของตนด้วยการประกาศเช่นนั้นตามที่กิจการของอัครทูตบันทึกไว้ เราคงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้เพียงแค่นี้ เพื่อที่เราจะได้ติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเปาในข้ออื่นๆ ซึ่งยังมีอีกมาก

พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับกิจการของอัครทูต ได้เล่าถึงคริสตจักรที่เมืองอันทิโอก (อันฏอกียะฮฺ) ว่า: “ฝ่ายคนทั้งหลายที่กระจัดกระจายไปเพราะการเคี่ยวเข็ญเนื่องจากสเทเฟน ก็พากันไปยังเมืองฟินิเซีย เกาะไซปรัส และเมืองอันทิโอก และได้กล่าวพระวจนะแก่ยิวพวกเดียว

แต่มีบางคนในพวกที่กระจัดกระจายไปนั้นเป็นชาวเกาะไซปรัสกับชาวไซรีน เมื่อมายังเมืองอันทิโอก ก็ได้กล่าวประกาศข่าวประเสริฐเรื่องพระเยซูคริสตเจ้าแก่พวกกรีกด้วย

และพระหัตถ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่กับเขา คนเป็นอันมากที่เชื่อ ก็กลับมาหาองค์พระผู้เป็นเจ้า

ข่าวนี้ก็เล่าลือไปยังคริสตจักรในกรุงเยรูซาเล็ม เขาจึงใช้บารนาบัสให้ไปยังเมืองอันทิโอก

เมื่อบารนาบัสมาถึงแล้ว และได้เห็นพระคุณของพระเจ้าก็ปิติยินดี จึงได้เตือนคนเหล่านั้นให้ตั้งใจมั่นคงติดสนิทอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้า

บารนาบัสเป็นคนดี ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และความเชื่อ จำนวนคนเป็นอันมากก็เพิ่มเข้ากับคนขององค์พระผู้เป็นเจ้า

บารนาบัสจึงไปหาเซาโลที่เมืองทาร์ซัส

เมื่อพบแล้วจึงพามายังเมืองอันทิโอก ท่านทั้งสองได้ประชุมกันกับคริสตจักรตลอดปีหนึ่ง ได้สั่งสอนคนเป็นอันมาก และในเมืองอันทิโอกนั่นเอง พวกสาวกได้ชื่อว่า คริสเตียนเป็นครั้งแรก” (กิจการของอัครทูต 11: 19-26) บารนาบัสที่ถูกออกชื่อไว้ในเหตุการณ์ช่วงนั้นก็คือ บารนาบัสที่พาเซาโลไปพบพวกอัครทูตในกรุงเยรูซาเล็มและเล่าให้เขาเหล่านั้นฟังว่า เซาโลกลับใจแล้วด้วยเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ที่เกิดกับเซาโล ทำให้พวกอัครทูตไว้วางใจในเซาโล (กิจการของอัครทูต 9:27) ต่อมาพวกนิยมกรีกหาช่องทางจะฆ่าเซาโล พวกเขาจึงพาเซาโลไปยังเมืองซีซารียา แล้วส่งไปยังเมืองทาร์ซัส (กิจการของอัครทูต 9: 29-30)

บารนาบัสบันทึกไว้ใน “วรสารฉบับบารนาบัส” ที่เชื่อกันว่าเขาเป็นผู้เรียบเรียงขึ้น แต่พระสันตะปาปากลาทิอุส ได้ประกาศให้วรสารฉบับนี้เป็นที่ต้องห้ามในปี ค.ศ. 492 (มุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ฟี อัต-เตารอต วัล-อินญีล วัลกุรอาน ; อิบรอฮีม เคาะลีล อะหฺหมัด (หรืออดีตบาทหลวงอิบรอฮีม เคาะลีล ฟิลิป) หน้า 109)

บารนาบัสบันทึกว่า : “เมื่อพระเยซูทรงเห็นว่าประชาชนเป็นอันมากได้กลับใจเพื่อดำเนินตามพระธรรมบัญญัติของพระเจ้า เป็นผู้คนจำนวนมาก พระองค์จึงเสด็จขึ้นบนภูเขาและทรงขะมักเขม้นอธิษฐานตลอดทั้งคืน ครั้นเมื่อขึ้นวันใหม่ พระองค์เสด็จลงจากภูเขาและทรงคัดเลือกคน 12 คน ทรงเรียกขานพวกเขาว่า “อัครทูต” หนึ่งจากนั้นคือยูดาสที่ถูกตรึงกางเขน ส่วนนามชื่อของอัครทูต 12 คนนั้นคือ อันดรูว์กับเปโตร พี่ชายชาวประมง บารนาบัสผู้ซึ่งเรียบเรียงวรสารนี้พร้อมกับมัทธิว คนเก็บภาษีซึ่งเคยนั่งเก็บภาษี ยอห์นและยากอบ บุตรของเศเบดี ธัดเดอัส ยูดาส บารโธโลมิว  ฟีลิป ยอกอบและยูดาส อิสคาริโอท ผู้ทรยศ” (วรสารบารนาบัส 14: 9-12) หากถือตามพระวรสารฉบับ

บารนาบัส ก็แสดงว่า บารนาบัสเป็นหนึ่งในอัครทูต 12 คน ที่พระเยซูคริสต์ทรงคัดเลือกหรือไม่ก็เป็นสาวกคนหนึ่งจากสาวก 70 คนที่พระเยซูคริสต์ทรงตั้งไว้และใช้ให้เขาออกไปทีละสองคนๆ ให้ล่วงหน้าพระองค์ไปก่อน ให้เข้าไปทุกเมืองและทุกตำบลที่พระองค์จะเสด็จไปนั้น (ลูกา 10: 1-12, 17-20) เพราะพระคริสต์ธรรมคัมภีร์มิได้ออกชื่อสาวกทั้ง 70 คนนั้นว่ามีผู้ใดบ้าง อย่างไรก็ตาม บารนาบัสถูกกล่าวถึงในหมู่สาวกรุ่นแรกๆ ซึ่งมีพวกอัครทูตในกรุงเยรูซาเล็มเป็นผู้นำ ซึ่งพระคัมภีร์ระบุว่า พวกเขาร่วมประชุมอยู่ในสถานที่เดียวกัน มีทั้งสิ้นประมาณ 120 คน (กิจการของอัครทูต 1:15)

และเขาเหล่านั้นก็ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กิจการของอัครทูต 2: 1-6) คำปราศรัยของเปโตรในวันเพ็นเทคศเต (ดูกิจการของอัครทูต 2: 14-42) บ่งบอกว่า คนทั้งหลายที่รับคำเปโตรและรับบัพติศมาด้วยในวันนั้น เข้าเป็นสาวกประมาณสามพันคน ต่างก็เคยเห็นองค์พระเยซูคริสต์และการอัศจรรย์ตลอดจนหมายสำคัญที่ทรงแสดงท่ามกลางพวกเขามาก่อน

บารนาบัสก็คือบุคคลหนึ่งที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้น พระคัมภีร์ระบุว่า : “ เขามีความเกรงกลัวด้วยกันทุกคน และพวกอัครทูตทำการอัศจรรย์และหมายสำคัญหลายประการ บรรดาผู้ที่เชื่อถือนั้นก็อยู่พร้อมกัน ณ ที่แห่งเดียวกัน และทรัพย์สิ่งของของเขาเหล่านั้นเขาเอามารวมกันเป็นของกลาง เขาจึงได้ขายที่ดินและทรัพย์สิ่งของมาแบ่งให้แก่คนทั้งปวงตามซึ่งทุกคนต้องการ” (กิจการของอัครทูต 2: 43-45) เป็นต้นว่า โยเซฟ ที่อัครทูตเรียกว่า บารนาบัส แปลว่า ลูกแห่งการหนุนน้ำใจ เป็นพวกเลวีชาวเกาะไซปรัส มีที่ดินก็ขายเสีย และนำเงินค่าที่นั้นมาวางไว้ที่เท้าของอัครทูต (กิจการของอัครทูต 4: 36-37)

จึงเป็นที่เชื่อถือได้ว่า “บารนาบัส” เป็นสาวกรุ่นแรกและเป็นผู้ที่เคยเห็นพระเยซูคริสต์หรืออย่างน้อยเขาก็เป็นศิษย์ของเหล่าอัครทูตและเรียนรู้คำสอนของพระเยซูคริสต์ผ่านทางอัครทูตของพระองค์ในกรุงเยรูซาเล็ม  และบารนาบัสก็เป็นผู้ที่วางใจในพระเยซูคริสต์และรับความเชื่อในพระองค์ก่อนหน้าเปาโลซึ่งขณะนั้นก็คือ เซาโล ผู้ข่มเหงคริสตจักร พระคัมภีร์รับรองว่า บารนาบัสเป็นคนดี ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และความเชื่อ (กิจการของอัครทูต 11:24)

บรรดาอัครทูตในกรุงเยรูซาเล็มวางใจในตัวของบารนาบัส เมื่อมีข่าวของเมืองอันทิโอกไปถึงพวกเขาว่ามีผู้คนเป็นอันมากที่นั่นเชื่อในพระเยซูคริสต์ เหล่าอัครทูตจึงใช้ให้บารนาบัสไปยังเมืองอันทิโอก และบารนาบัสก็ไปหาเซาโลที่เมืองทาร์ซัส แล้วพากันมายังเมืองอันทิโอก ทั้งสองได้สั่งสอนผู้คนเป็นอันมากที่นั่นตลอดระยะเวลา 1 ปี และพวกสาวกที่นั่นก็ได้ชื่อว่า “คริสเตียน” คือ ผู้ที่เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์เป็นครั้งแรก (กิจการของอัครทูต 11: 22-26) ต่อมาบุคคลทั้งสองก็เดินทางกลับมายังกรุงเยรูซาเล็มเพื่อนำของฝากที่เรี่ยไรกัน ลงมาช่วยผู้คนในช่วงที่กันดารอาหาร (กิจการของอัครทูต 27-30)

ในช่วงเวลานั้น ยากอบพี่ชายของยอห์นถูกกษัตริย์เฮโรดสังหาร ฝ่ายเปโตรก็ถูกจำคุก แต่เปโตรก็ได้รับการช่วยเหลือจากทูตสวรรค์ให้พ้นจากคุก กษัตริย์เฮโรดถึงแก่พิราลัยในเวลาต่อมา ฝ่ายบารนาบัสกับเซาโล เมื่อได้ทำภารกิจที่รับมอบหมายสำเร็จแล้ว จึงออกจากกรุงเยรูซาเล็มกลับไปยังเมืองอันทิโอก โดยพายอห์นที่มีชื่ออีกว่า มาระโก ไปด้วย (กิจการของอัครทูต 12: 1-25)

พระคัมภีร์เล่าต่อมาว่า คริสตจักรในเมืองอันทิโอก มีบางคนที่เป็นผู้พยากรณ์และอาจารย์ มีบารนาบัส สิเมโอน (นิเกอร์) ลูสิอัส ชาวเมืองไซรีน มานาเอน และเซาโล ฝ่ายพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ตรัสสั่งว่า “จงตั้งบารนาบัสกับเซาโลไว้สำหรับการซึ่งเราเรียกให้เขาทำนั้น” (กิจการของอัครทูต 13: 1-3) บารนาบัสกับเซาโล (เปาโล) ได้เดินทางไปยังเมืองต่างๆ ดังนี้

–  เมืองเซลูเคีย (Seleucia) แล่นเรือจากที่นั่นไปยังเกาะไซปรัส (Cyprus)

–  เมืองซาลามิส (Salamis) และเมืองปาโฟส (Paphos) ที่นั่น อัครทูตทั้งสองพบกับคนทำวิทยาคม ชื่อ บารเยซู (Bar-Jesus) และแสดงหมายสำคัญจนผู้ว่าราชการเมืองที่ชื่อ เสอร์จีอัส (Serjius) เชื่อถือ

– เมืองเปอร์กา (Perga) แคว้นปัมฟีเลีย (Pamphylia) ที่นั่น ยอห์นหรือมาระโกไม่ร่วมเดินทางต่อ แต่กลับมายังกรุงเยรูซาเล็ม

– ไปถึงเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย (Pi-Sidian) ชาวยิวที่นั่นเป็นจำนวนมากเชื่อถือคำประกาศ

– เมืองอิโคนียูม (Iconium) มีพวกยิวและชนชาติกรีกเป็นอันมากเชื่อถือ ฝ่ายชาวเมืองที่ไม่เชื่อคือพวกยิวกับคนต่างชาติร่วมกับพวกเจ้าขุนมูลนายวางแผนจะเอาก้อนหินขว้างอัครทูตทั้งสอง จึงหลบหนีออกจากที่นั่น

– ลิสตรา (Lystra) และเดอร์บี (Derbe) แคว้นลิคาโอเนีย (Lycaonian) ที่นั่นชาวเมืองเรียกบารนาบัสว่า พระซุส (Zeus) และเรียกเปาโลว่า พระเฮอร์เมส (Hermes) เพราะเข้าใจว่าพระทั้งสองแปลงกายเป็นมนุษย์มาหาพวกเขา

ภายหลังพวกยิวบางคนจากเมืองอันทิโอกและอิโคนียูม ปลุกระดมให้ประชาชนเอาหินไล่ขว้างบุคคลทั้งสอง จึงหนีไปยังเมืองเดอร์บี ประกาศข่าวประเสริฐที่นั่นและได้คนมาเป็นสาวกมาก จึงกลับไปยังเมืองลิสตรา เมืองอิโคนียูม และเมืองอันทิโอก อัครทูตทั้งสองได้เลือกตั้งผู้ปกครองสาวกไว้ให้ทุกคริสตจักร แล้วข้ามแคว้นปิสิเดียมายังแคว้นปัมฟีเลีย เข้าสู่เมืองเปอร์กา แล้วไปยังเมืองอัททาลิยา (Attalia)

–  ลงเรือที่อัททาลิยาและกลับสู่เมืองอันทิโอกในซีเรีย ซึ่งเป็นคริสตจักรที่อัครทูตทั้งสองตั้งขึ้นไว้ ทั้งสองได้เรียกประชุมคริสตจักรและเล่าถึงมหกิจทั้งปวง แล้วทั้งสองก็อยู่กับพวกสาวกที่นั่นช้านาน” (กิจการของอัครทูต 13: 1-52, 14: 1-28)

จะเห็นได้ว่า บารนาบัสและเปาโลมีบทบาทสำคัญในการประกาศข่าวประเสริฐเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในดินแดนอิทธิพลของกรีกนอกแคว้นยูเดีย ทั้งสองจะมุ่งไปหาชาวยิวตามหัวเมืองต่างๆ และเทศนาสั่งสอนในธรรมศาลาประจำเมืองเหล่านั้น สิ่งสำคัญก็คือ มีคนต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวยิวในหัวเมืองเหล่านั้นได้ยอมรับและเชื่อถือในคำประกาศของบุคคลทั้งสอง ทำให้คริสต์ศาสนาในช่วงนั้นแผ่ออกไปยังดินแดนนอกเยรูซาเล็มและแคว้นยูเดีย ตลอดจนผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ก็มิใช่เฉพาะชาวยิวเท่านั้น หากแต่รวมถึงบรรดาคนต่างชาติ เช่น พวกกรีกด้วย

กระนั้นชาวยิวตามธรรมศาลาในหัวเมืองต่างๆ ก็ยังเป็นเป้าหมายหลักในการประกาศข่าวประเสริฐของอัครทูตทั้งสอง คนต่างชาติที่เชื่อและศรัทธานั้นเป็นเพียงผลพลอยได้ ไม่ใช่เป้าหมายหลัก เพราะพระเยซูคริสต์เคยทรงใช้ให้อัครทูต 12 คนของพระองค์ออกไปและสั่งพวกเขาว่า “อย่าไปทางที่ไปสู่พวกต่างชาติและอย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมาเรีย แต่ว่าจงไปหาแกะหลงของวงศ์วานอิสราเอลนั้นดีกว่า” (มัทธิว 10: 5-6)

และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงกันในหมู่สาวกเกี่ยวกับกรณีที่มีชนต่างชาติได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้และการเข้าสุหนัตของคนต่างชาติที่เชื่อในคำประกาศว่า เป็นสิ่งจำเป็นตามจารีตของโมเสสหรือไม่? พระคัมภีร์บันทึกว่า :

“มีบางคนลงมาจากแคว้นยูเดีย ได้สั่งสอนพวกพี่น้องว่า ถ้าไม่เข้าสุหนัตตามจารีตของโมเสส จะรอดไม่ได้

เมื่อเกิดการโต้แย้งและไล่เลียงกันระหว่างเปาโลและบารนาบัสกับคนเหล่านั้นมากมายแล้ว เขาทั้งหลายได้ตั้งเปาโลและบารนาบัสกับคนอื่นๆ ในพวกนั้นให้ขึ้นไปหารือกับอัครทูตและผู้ปกครองในกรุงเยรูซาเล็มในเรื่องที่เถียงกัน

คริสตจักรได้จัดส่งท่านเหล่านั้นไปและขณะเมื่อท่านกำลังข้ามแคว้นฟินิเซียกับแคว้นสะมาเรีย ท่านได้กล่าวถึงเรื่องที่คนต่างชาติได้กลับใจใหม่ ทำให้พวกพี่น้องมีความยินดีอย่างยิ่ง

ครั้นมาถึงกรุงเยรูซาเล็ม คริสตจักรอัครทูตและผู้ปกครองทั้งหลายได้ต้อนรับท่าน แล้วท่านเหล่านั้น จึงเล่าให้เขาฟังถึงเหตุการณ์ทั้งปวงที่พระเจ้าทรงโปรดให้ท่านกระทำนั้น

แต่มีบางคนในพวกฟาริสีที่มีความเชื่อ ได้ยืนขึ้นกล่าวว่า คนต่างชาตินั้นควรต้องให้เขาเข้าสุหนัต และสั่งให้เขาถือตามธรรมบัญญัติของโมเสส ฝ่ายอัครทูตกับผู้ปกครองทั้งหลายจึงได้ประชุมปรึกษากันในเรื่องนั้น” (กิจการของอัครทูต 15: 1-6) หลังการโต้แย้ง เปโตรก็ลุกขึ้นกล่าวคำปราศรัยแสดงท่าทีเห็นด้วยในการประกาศข่าวประเสริฐให้คนต่างชาติฟังและเชื่อ (กิจการของอัครทูต 15: 7-11) ต่อจากนั้นยากอบก็กล่าวคำปราศรัยสนับสนุนและอ้างคำของผู้เผยพระวจนะอาโมสว่า : ภายหลังเราจะกลับมาและเราจะสร้างพลับพลาของดาวิดซึ่งพังลงแล้วขึ้นใหม่ ที่ร้างหักพังนั้นเราจะก่อขึ้นอีกและจะตั้งขึ้นใหม่ เพื่อคนอื่นๆ จะได้แสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้า คือ บรรดาคนต่างชาติซึ่งเราจองไว้ องค์พระผู้ป็นเจ้าผู้ทรงแจ้งเหตุการณ์เหล่านี้ให้ทราบแต่โบราณกาลได้ตรัสไว้แล้ว” (อาโมส 9: 11-12) ยากอบอ้างว่า คำของผู้เผยพระวจนะอาโมสในพระคัมภีร์เก่าสอดคล้องในเรื่องที่ตนมีความเห็นสนับสนุน แต่เมื่อเราย้อนกลับไปพิจารณาข้อความในพระธรรมบัญญัติเดิมฉบับของอาโมสก็พบว่ามีข้อความดังนี้

“ ในวันนั้น เราจะยก

กระท่อมของดาวิดที่ล้มลงแล้ว

นั้นตั้งขึ้นใหม่

และซ่อมช่องชำรุดต่างๆ เสีย

และยกที่สลักหักพังขึ้น

และสร้างเสียใหม่อย่างในสมัย

โบราณกาล

เพื่อเขาจะได้ยึดกรรมสิทธิ์คนที่

เหลืออยู่ของเอโดม

และประชาชาติทั้งสิ้นซึ่งเขา

เรียกด้วยนามของเรา”

พระเจ้าผู้ทรงกระทำเช่นนี้

ตรัสดังนี้แหล่ะ”

การอ้างข้อความจากคำของผู้เผยพระวจนะอาโมสของยากอบเพื่อยืนยันว่าการให้คนต่างชาติได้มีสิทธิรับพระวิญญาณบริสุทธิ์และไม่ต้องเข้าสุหนัตตามธรรมบัญญัติของโมเสสเป็นสิ่งที่สอดคล้องกัน เป็นการตีความของยากอบเอง ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนด้วยซ้ำไป เพราะข้อความที่ถูกนำมาอ้างประกอบนั้นเป็นการพยากรณ์ว่า อิสราเอลจะกลับสู่สภาพเดิมในอนาคต และการแปลความหมายก็ต่างกันเป็นคนละเรื่อง เพราะคำของผู้เผยพระวจนะกล่าวว่า : “เพื่อเขา (หมายถึงพงษ์พันธุ์อิสราเอลในอนาคตตามคำพยากรณ์) จะได้ยึดกรรมสิทธิ์คนที่เหลืออยู่ของเอโดม และประชาชาติทั้งสิ้น ซึ่งเขาเรียกด้วยนามของเรา” กับคำแปลของยากอบ (ซึ่งที่จริงคือลูกา ผู้เขียนเรื่องราวในกิจการของอัครทูต)

ที่ว่า : “เพื่อคนอื่นๆ จะได้แสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้า คือ บรรดาคนต่างชาติซึ่งเราจองไว้” ค่อนข้างจะแตกต่างกัน แต่ถ้าบอกว่าเหมือนกันโดยนัยของถ้อยความก็ย่อมไม่สอดคล้องกันอยู่ดี เพราะคำของผู้เผยพระวจนะอาโมสพยากรณ์ถึงการกลับสู่สภาพเดิมของอิสราเอลดังข้อความถัดมาในตอนท้ายระบุว่า :

“เราจะให้อิสราเอลประชากรของเรากลับสู่สภาพเดิม เขาจะสร้างเมืองที่พังนั้นขึ้นใหม่และเข้าอาศัยอยู่ เขาจะปลูกสวนองุ่นและดื่มเหล้าองุ่นของสวนนั้น เขาจะทำสวนผลไม้และรับประทานผลของมัน เราจะปลูกเขาไว้ในแผ่นดินของเขา เขาจะไม่ถูกถอนออกไปจากแผ่นดินซึ่งเราได้มอบให้แก่เขาอีกเลย” พระเยโฮวาห์ พระเจ้าของเจ้าตรัสดังนี้แหละ” (อาโมส 9: 14-15)

อย่างไรก็ตาม การอ้างคำของผู้เผยพระวจนะแล้วตีความเพื่อสนับสนุนความเห็นของตนจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเรื่องนี้หรือไม่ แต่สิ่งที่ยากอบผู้เป็นหนึ่งในอัครทูต 12 คน ของพระเยซูคริสต์ก็พลาดอยู่ดี เพราะยากอบหลงลืมสิ่งที่พระเยซูทรงสั่งพวกเขาเอาไว้และเป็นคำตอบในเรื่องที่โต้แย้งกันนี้ คือ คำของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “อย่าไปทางที่ไปสู่พวกต่างชาติและอย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมาเรีย แต่ว่าจงไปหาแกะหลงของวงศ์วานอิสราเอลนั้นดีกว่า” (มัทธิว 10: 5-6)

เปโตรเองก็หลงลืมคำสั่งนี้เช่นกัน เพราะเปโตรกล่าวในคำปราศรัยของตนว่า “พี่น้องเอ๋ย ท่านทั้งหลายทราบอยู่แล้ว เมื่อแรกเริ่มนั้นพระเจ้าได้ทรงเลือกข้าพเจ้าเองจากพวกท่านทั้งหลายให้เป็นผู้ประกาศข่าวประเสริฐให้คนต่างชาติฟังและเชื่อ” (กิจการของอัครทูต 15:7)

เพราะเปโตรเชื่อในนิมิตของตนมากกว่าที่จะจดจำและระลึกถึงคำสั่งของพระเยซูคริสต์ในเรื่องการประกาศข่าวประเสริฐกับคนต่างชาติว่าเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง นิมิตของเปโตรที่เมืองยัฟฟาบนหลังตึกนั้นเกิดขึ้นเพราะความหิว อยากจะรับประทานอาหาร (กิจการของอัครทูต10: 1-16)

เปโตรอ้างว่าได้เห็นท้องฟ้าแหวกออกเป็นช่อง มีอะไรอย่างหนึ่งเหมือนผ้าผืนใหญ่ทั้งสี่มุมหย่อนลงมายังพื้นโลก ในนั้นมีสัตว์ทุกอย่าง คือ สัตว์ที่เดิน ที่เลื้อยคลานและที่บิน แล้วมีพระสุรเสียงสั่งให้เปโตรลุกขึ้นฆ่ากินเถิด เปโตรยังค้านด้วยซ้ำไปว่าสิ่งเหล่านั้นต้องห้าม ตัวเองไม่เคยรับประทาน แต่พระสุรเสียงนั้นก็สั่งว่า “ซึ่งพระเจ้าได้ทรงชำระแล้วอย่าว่าเป็นของต้องห้าม” นิมิตที่เปโตรอ้างนี้จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่พระธรรมบัญญัติเดิมระบุเอาไว้เกี่ยวกับสัตว์สะอาดและสัตว์มลทิน (ดู เลวีนิติ 11: 1-46, เฉลยธรรมบัญญัติ 14: 3-21)

เป็นสิ่งที่สำคัญกว่าเพราะพระเยซูคริสต์ทรงตรัสว่า : “อย่าคิดว่าเรามาเลิกล้างธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะ เรามิได้มาเลิกล้าง แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินดำรงอยู่ แม้อักษรหนึ่งหรือขีดๆ หนึ่งจะไม่สูญไปจากธรรมบัญญัติ” (มัทธิว 5: 17-18)

คริสตชนอาจจะค้านว่า : “ก็เปโตรเป็นผู้ที่พระเยซูคริสต์ทรงมอบลูกกุญแจแผ่นดินสวรรค์ให้แก่เขา และทรงตรัสว่า “ท่านจะกล่าวห้ามสิ่งใดในโลก สิ่งนั้นก็จะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์ เมื่อท่านจะกล่าวอนุญาตสิ่งใดในโลก สิ่งนั้นจะกล่าวอนุญาตในสวรรค์ด้วย” (มัทธิว 16:19)  หากเรื่องมอบลูกกุญแจแผ่นดินสวรรค์และการกล่าวห้ามหรืออนุญาตสิ่งใดสำหรับเปโตรเป็นเรื่องจริง ทำไมเปโตรจึงไม่นึกถึงเรื่องนี้ แต่กลับไปอ้างนิมิตของตนซึ่งเกิดขึ้นขณะหิวจัด ถ้าเปโตรมีสิทธิกล่าวห้ามหรืออนุญาตสิ่งใดได้จริงแล้ว ทำไมจึงต้องเกิดนิมิตเช่นนั้นอีก เพราะเปโตรมีสิทธิจะกินได้อยู่แล้ว และสิ่งนั้นก็ย่อมกลายเป็นที่อนุญาตในสวรรค์โดยปริยาย ถึงแม้ว่าจะขัดกับพระธรรมบัญญัติก็ตาม

แต่ถ้าบอกว่าขัดไม่ได้ จำเป็นต้องถือพระธรรมบัญญัติโดยเคร่งครัด นิมิตนั้นก็น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดจากความหิวหรือมารที่ล่อลวงมากกว่าจะมาจากพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ทรงบริสุทธิ์และทรงใช้ให้บ่าวของพระองค์รักษาความบริสุทธิ์ของตนด้วยการหลีกห่างจากการรับประทานสิ่งที่เป็นมลทินเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม เปโตรตีความนิมิตนั้นว่าหมายถึงการที่ไม่ควรเรียกคนหนึ่งคนใดว่าเป็นที่ห้ามหรือมลทินแม้ว่าผู้นั้นจะเป็นคนต่างชาติก็ตาม (กิจการของอัครทูต 10:28)

และเปโตรได้กล่าวคำปราศรัยในบ้านของโครเนลิอัส (Cornelius) ที่เมืองซีซารียาว่า “ข้าพเจ้าเห็นจริงแล้ว พระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่คนใดๆ ในทุกชาติที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติตามทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์” (กิจการของอัครทูต 10: 34-35) แล้วพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เสด็จลงมาสถิตกับคนทั้งปวงที่ฟังพระวจนะนั้น ฝ่ายพวกที่ได้เข้าสุหนัตซึ่งเชื่อถือในพระเยซูเจ้า คือที่มาด้วยกันกับเปโตรก็ประหลาดใจ เพราะว่า พระเจ้าได้ทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ลงมาบนคนต่างชาติด้วย เปโตรจึงย้อนถามว่า : ใครอาจจะห้ามคนเหล่านี้ที่ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เหมือนเรา โดยมิให้เขารับบัพติศมาในพระนามของพระเยซูคริสต์ (กิจการของอัครทูต 10: 44-48)

ที่สำคัญเปโตรได้รายงานเรื่องคนต่างชาติได้รับพระวจนะของพระเจ้าเหมือนกันยังคริสตจักรที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเปโตรถูกต่อว่าจากพวกที่เข้าสุหนัตในเรื่องที่เขาไปหาคนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัต และร่วมรับประทานอาหารกับพวกนั้น เปโตรจึงอ้างถึงนิมิตของตนเกี่ยวกับสัตว์ในผืนผ้าใหญ่ที่ลงมาจากฟ้าและกล่าวว่าตนเองนึกขึ้นได้ถึงพระวาจาของพระเยซูคริสต์ที่เคยตรัสไว้ว่า “ยอห์นได้ให้รับบัพติศมาด้วยน้ำ แต่ท่านทั้งหลายจะรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” (กิจการของอัครทูต 11: 5-17)

เหตุไฉน เปโตรจึงระลึกถึงพระวาจาของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเปโตรเรียกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าในเรื่องการรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ แต่ลืมสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งไว้ในเรื่องการประกาศข่าวประเสริฐว่าอย่าไปในทางที่สู่พวกต่างชาติ หรือลืมไปว่าตนไม่จำเป็นต้องอ้างเรื่องการรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เสียด้วยซ้ำ เพราะเมื่อตนได้รับมอบลูกกุญแจแผ่นดินสวรรค์แล้ว สิ่งใดที่ตนว่าไม่ได้ ในสวรรค์ก็เป็นเช่นนั้น สิ่งใดที่ตนว่าได้ ในสวรรค์ก็เป็นเช่นนั้น ทำไมเปโตรไม่อ้างเรื่องลูกกุญแจแผ่นดินสวรรค์เพื่อยืนยันความชอบธรรมให้แก่ตนว่า ตนมีสิทธิเต็มที่ในเรื่องนี้ การนึกขึ้นได้ในเรื่องบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นก็นึกไม่ครบถ้วน เพราะเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงปรากฏแก่เหล่าสาวกในเวลา 40 วัน ก่อนเสด็จขึ้น พระองค์ก็ทรงสนทนากับพวกเขาถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า (ซึ่งเปโตรได้รับมอบลูกกุญแจเอาไว้แล้ว)

และพระองค์ทรงกำชับกับพวกเขาว่ามิให้ออกไปจากกรุงเยรูซาเล็ม แต่ให้คอยรับตามพระสัญญาของพระบิดา คือ พระองค์ตรัสว่า “ตามที่ท่านทั้งหลายได้ยินจากเรานั่นแหละ เพราะว่ายอห์นให้รับบัพติศมาด้วยน้ำ แต่ไม่ช้าไม่นาน ท่านจะรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” (กิจการของอัครทูต 1:1)

เปโตรลืมคำกำชับของพระเยซูคริสต์ที่ว่ามิให้ออกจากกรุงเยรูซาเล็ม แต่ให้คอยรับตามพระสัญญาของพระบิดา นี่ยังไม่รวมประเด็นที่ว่า “ยอห์นให้รับบัพติศมาด้วยน้ำ แต่ไม่ช้าไม่นาน ท่านจะรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” ประโยคนี้เป็นข้อเขียนของลูกาผู้เรียบเรียงกิจการของอัครทูตที่เขียนเรื่องนี้ถึงเธโอฟีลัส แต่ในหนังสือเรื่องแรกคือพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับลูกา ซึ่งมีคำอุทิศแด่เธโอฟีลัสเช่นกันระบุว่า “และจะต้องประกาศทั่วทุกประชาชาติในพระนามของพระองค์ ให้เขากลับใจใหม่รับการยกบาป ตั้งต้นที่กรุงเยรูซาเล็ม ท่านทั้งหลายเป็นพยานด้วยข้อความเหล่านั้น และดูเถิดเราจะส่งซึ่งพระบิดาของเราทรงสัญญานั้นมาเหนือท่านทั้งหลาย แต่ท่านทั้งหลายจงคอยอยู่ในกรุงจนกว่าท่านจะได้ประกอบด้วยฤทธิ์เดชที่มาจากเบื้องบน (ลูกา 24: 47-49)

หากคำสั่งใช้ที่ว่า จะต้องประกาศทั่วทุกประชาชาติในพระนามของพระองค์ให้เขากลับใจใหม่รับการยกบาป หมายถึงให้ประกาศแก่คนต่างชาติด้วยและคำสั่งนี้เป็นจริง ก็แสดงว่าอัครทูตแห่งกรุงเยรูซาเล็มหลงลืมคำสั่งนี้ จึงโต้แย้งและถกเถียงกันในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่มีคำสั่งอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ที่ต้องโต้แย้งกันและร่วมประชุมกันในเรื่องนี้ก็เพราะมีเหตุ 2 อย่างคือ คำสั่งนี้มีจริงแต่ทุกคนหลงลืมและไม่ได้ระลึกถึง สองก็คือ ไม่มีคำสั่งเช่นนี้เกิดขึ้นจริง จึงต้องโต้แย้งกันและหาข้อสรุป

นอกจากนี้ข้อเขียนของลูกาในกิจการของอัครทูต 1: 4-5 “ตามที่ท่านทั้งหลายได้ยินจากเรานั่นแหล่ะ เพราะว่ายอห์นให้รับบัพติศมาด้วยน้ำ แต่ไม่ช้าไม่นาน ท่านจะรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” ตลอดจนคำกล่าวอ้างของเปโตรที่บอกว่าระลึกขึ้นได้ถึงพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ว่า ยอห์นได้ให้รับบัพติศมาด้วยน้ำ แต่ท่านทั้งหลายจะรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” (กิจการของอัครทูต 11:16) เมื่อกลับไปดูในพระคริสตธรรมคัมภีร์ก็พบว่าผู้ที่กล่าวถ้อยคำนั้นคือ ยอห์นผู้ให้รับบัพติศมา หาใช่พระวาจาของพระเยซูคริสต์ไม่

-เราให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยน้ำแสดงว่ากลับใจใหม่ก็จริง แต่พระองค์ผู้จะมาภายหลังเรา… พระองค์จะทรงให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ  (มัทธิว 3:11)

-“ท่านประกาศว่า “ภายหลังเราจะมีพระองค์ผู้หนึ่งเสด็จมา… เราให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยน้ำ แต่พระองค์นั้นจะให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์”  (มาระโก 1: 7-8)

-ยอห์นจึงตอบเขาทั้งหลายว่า “เราให้เจ้ารับบัพติศมาด้วยน้ำ แต่จะมีพระองค์หนึ่งเสด็จมา… พระองค์จะทรงให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ”  (ลูกา 3:16)

-ข้าพเจ้าเองไม่รู้จักพระองค์ แต่พระองค์ทรงใช้ให้ข้าพเจ้าให้บัพติศมาด้วยน้ำ ได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า “เมื่อเจ้าเห็นพระวิญญาณเสด็จลงมาสถิตอยู่บนผู้ใด ผู้นั้นแหล่ะเป็นผู้ให้บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์…”  (ยอห์น 1:33)

เมื่อประโยคที่ว่านั้นเป็นคำพูดของยอห์นผู้ให้รับบัพติศมา มิใช่สิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงตรัสไว้ การที่เปโตรอ้างว่าจำได้ว่าเป็นพระวาจาของพระองค์ก็เป็นความจำที่คลาดเคลื่อน ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ ลูกาผู้เรียบเรียงกิจการของอัครทูตนั่นเองที่เป็นผู้คลาดเคลื่อนและทำให้เรื่องนี้สับสน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ลงเอยที่ว่า ทั้งเปโตรและยากอบเห็นชอบในเรื่องการประกาศข่าวประเสริฐและการเปิดโอกาสให้แก่คนต่างชาติในการมีสิทธิที่จะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์และความเชื่อ ตลอดจนเห็นชอบให้วางแอกลงจากต้นคอของเหล่าสาวกที่เป็นคนต่างชาติเสีย ซึ่งแอกที่เปโตรกล่าวถึงนี้ก็คือ การเข้าสุหนัตนั่นเอง

คำตอบของที่ประชุมคริสตจักรอัครทูตแห่งเยรูซาเล็ม

อัครทูตยากอบได้เสนอให้ที่ประชุมทราบถึงความเห็นของท่านภายหลังอ้างคำของผู้เผยพระวจนะอาโมสประกอบว่า “เหตุฉะนั้นตามความเห็นของข้าพเจ้า อย่าให้เราวางเครื่องขัดขวางกีดกันคนต่างชาติซึ่งกลับมาหาพระเจ้า

แต่เราจงเขียนหนังสือฝากไปถึงเขาว่า ให้งดเว้นเสียจากสิ่งที่มลทินเนื่องด้วยรูปเคารพ จากการล่วงประเวณีจากการรับประทานเนื้อสัตว์ที่รัดคอตาย และจากการรับประทานเลือด เพราะว่าตั้งแต่โบราณมาในทุกเมือง มีคนประกาศเรื่องของโมเสส เพราะคนได้อ่านธรรมบัญญัติของท่านในธรรมศาลาทุกวันสะบาโต” (กิจการของอัครทูต 15: 19-21)

ที่ประชุมจึงเห็นชอบตามข้อเสนอของยากอบและคัดเลือกคณะบุคคลอันประกอบด้วยเปาโล บารนาบัส ยูดาส ผู้มีอีกชื่อหนึ่งว่า บารซับบาส (Barsabbas) และสิลาส (Silas) โดยเขียนจดหมายให้พวกเขาถือไปยังคริสตจักรเมืองอันทิโอกดังนี้

“อัครทูตและผู้ปกครองผู้เป็นพี่น้องของท่านคำนับมายังท่าน ผู้เป็นพวกพี่น้องซึ่งเป็นคนต่างชาติ ซึ่งอยู่ในเมืองอันทิโอกแคว้นซีเรีย และแคว้นซิลีเซียทราบ

ด้วยข้าพเจ้าทั้งหลายได้ยินว่ามีบางคนในพวกข้าพเจ้าได้พูดให้ท่านทั้งหลายเกิดความไม่สบายใจ และทำให้ใจของท่านปั่นป่วนไป แม้ว่าเขามิได้รับคำสั่งจากพวกข้าพเจ้า

พวกข้าพเจ้าจึงพร้อมใจกันเห็นชอบที่จะเลือกคนและใช้เขามายังท่านทั้งหลาย พร้อมกับบารนาบัสและเปาโลผู้เป็นที่รักของเรา

และเป็นผู้อุทิศชีวิตของตนเพื่อพระนามแห่งพระเยซูคริสตเจ้าของเรา

เหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงใช้ยูดาสกับสิลาสมาเป็นผู้ซึ่งจะเล่าข้อความนี้แก่ท่านทั้งหลายด้วยปากของเขาเอง

เพราะว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์และข้าพเจ้าทั้งหลายก็เห็นชอบที่จะไม่วางภาระบนท่านทั้งหลาย เว้นไว้แต่สิ่งเหล่านั้นที่จำเป็น

คือว่าให้ท่านทั้งหลายงดการรับประทานสิ่งของซึ่งเขาได้บูชาแก่รูปเคารพ และการรับประทานเลือด และการรับประทานเนื้อสัตว์ซึ่งถูกรัดคอตาย และการล่วงประเวณี ถ้าท่านทั้งหลายงดการเหล่านี้ก็จะเป็นการดี ขอให้อยู่เป็นสุขเถิด” (กิจการของอัครทูต 15: 22-29)

ข้อสังเกตในเรื่องนี้

1) บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวคริสตจักรอัครทูตแห่งเยรูซาเล็มให้เห็นชอบในเรื่องการเรียกร้องคนต่างชาติให้กลับสู่พระเจ้าและปลดภาระที่อ้างว่าแบกไม่ไหวคือ การยกเว้นการเข้าสุหนัตสำหรับคนต่างชาติที่เป็นสาวก คือ เปาโลกับบารนาบัส โดยอาศัยการเล่าเรื่องหมายสำคัญและการอัศจรรย์ต่างๆ ซึ่งพระเจ้าได้ทรงกระทำโดยบุคคลทั้งสองในหมู่พวกต่างชาติและเปโตรกับยากอบที่เห็นชอบและกล่าวคำปราศรัยสนับสนุนด้วยการอ้างนิมิตและคำของผู้เผยพระวจนะ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกสำหรับอัครทูต 2 ท่านที่เป็นสาวกใกล้ชิดพระเยซูคริสต์มาก่อนที่เห็นดีเห็นงามและสนับสนุนในเรื่องนี้

2) เปโตรกล่าวว่า : “พระเจ้าผู้ทรงทราบจิตใจมนุษย์ได้ทรงรับรองคนต่างชาติ และทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่เขาเหมือนได้ทรงประทานแก่พวกเรา พระองค์ไม่ทรงถือเราถือเขา แต่ทรงชำระใจเขาให้บริสุทธิ์โดยความเชื่อ ถ้าอย่างนั้นทำไมท่านทั้งหลายจึงทดลองพระเจ้าโดยวางแอกบนคอของพวกสาวก ซึ่งบรรพบุรุษของเราหรือตัวเราเองก็ดีแบกไม่ไหว แต่เราเชื่อว่าเราเองก็รอดโดยพระคุณของพระเยซูคริสต์เจ้าเหมือนอย่างเขา” (กิจการของอัครทูต 15: 8-11)

ส่วนข้อความในจดหมายระบุว่า : เพราะว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์และข้าพเจ้าทั้งหลายก็เห็นชอบที่จะไม่วางภาระบนท่านทั้งหลาย เว้นไว้แต่สิ่งเหล่านั้นที่จำเป็นคือ…” (กิจการของอัครทูต 15:28)

กรณีที่อ้างว่าพระเจ้าทรงรับรองคนต่างชาติและทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่เขาเหมือนได้ทรงประทานแก่พวกเรา คำอ้างนี้พอฟังได้ เพราะพระเจ้าจะทรงชี้นำผู้ใดสู่ทางรอดก็ได้เมื่อพระองค์ทรงมีพระประสงค์ อีกทั้งสถานการณ์ของคริสตจักรในเวลานั้นก็เริ่มมีอุปสรรคในการมุ่งประกาศข่าวประเสริฐเฉพาะแต่ชาวยิวตามธรรมศาลาหรือแม้แต่ในกรุงเยรูซาเล็มเอง จึงมีความจำเป็นในการเปิดประตูแห่งความรอดไปยังคนต่างชาติด้วย แต่กระนั้นก็ยังอาจถูกคัดค้านได้ว่า การเปิดกว้างที่มุ่งไปยังคนต่างชาติโดยตรงและไม่มุ่งเน้นในการตามหาแกะหลงของวงศ์วานอิสราเอล เป็นการขัดคำสั่งและเจตนารมณ์ของพระเยซูคริสต์ที่ได้ทรงแสดงกิจจานุกิจมาโดยตลอด

ส่วนกรณีการอ้างว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์เห็นชอบพร้อมกับเหล่าอัครทูตในการไม่วางภาระบนเหล่าสาวกที่เป็นคนต่างชาตินั้น เป็นเรื่องที่น่ากังขายิ่งนัก เพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์มักจะถูกนำมาอ้างอยู่หลายเหตุการณ์ แต่ถ้าหากพระวิญญาณบริสุทธิ์เห็นชอบในเรื่องที่กล่าวอ้างนี้จริง เพราะเหตุใดพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงไม่สำแดงสิ่งอัศจรรย์ให้เป็นที่ปรากฏเสียแต่แรก เพราะอัครทูตก็ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ เปาโลและบารนาบัสก็ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ บรรดาคนต่างชาติเหล่านั้นก็ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ในเมื่อทุกคนได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เหมือนกันอย่างเปโตรว่า แล้วทำไมพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงปล่อยให้เรื่องนี้กลายเป็นที่โต้แย้งในคริสตจักรด้วยเล่า?

3) ขณะที่ยากอบอ้างคำของผู้เผยพระวจนะจากพระธรรมบัญญัติเดิมเพื่อประกอบความเห็นของตน เรื่องนั้นก็พอฟังได้ในกรณีเปิดประตูแห่งความรอดแก่กลุ่มคนต่างชาติ แต่การที่ยากอบกล่าวว่า :

“เหตุฉะนั้น ตามความเห็นของข้าพเจ้า อย่าให้เราวางเครื่องขัดขวางกีดกันคนต่างชาติซึ่งกลับมาหาพระเจ้า” (กิจการของอัครทูต 15:19) ยากอบไม่มีการอ้างถ้อยคำจากพระธรรมบัญญัติเดิมมาสนับสนุนความเห็นของตนที่ว่า อนุญาตให้คนต่างชาติไม่ต้องเข้าสุหนัตตามธรรมบัญญัติของโมเสส คำของผู้เผยพระวจนะอาโมสที่ยากอบอ้างก็ไม่เกี่ยวข้องหรือบ่งว่าอนุญาตให้ไม่ต้องเข้าสุหนัต

อีกทั้งยากอบก็มิได้อ้างว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เห็นชอบหรือมีวิวรณ์ผ่านลงมา แต่ยากอบพูดชัดเจนว่า “ตามความเห็นของข้าพเจ้า” ยากอบไม่ได้พูดแต่น้อยว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์ดลใจแก่ข้าพเจ้า” หรือ “ข้าพเจ้าเห็นตามฤทธิเดชแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์” แล้วด้วยเหตุใดพวกเขาจึงเขียนในจดหมายว่า “เพราะว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์และข้าพเจ้าทั้งหลายก็เห็นชอบที่จะไม่วางภาระบนท่านทั้งหลาย เว้นไว้แต่สิ่งเหล่านั้นที่จำเป็น”

4) ยากอบระลึกได้ถึงคำของผู้เผยพระวจนะอาโมส เปโตรก็ระลึกได้ถึงพระวาจาขององค์พระเป็นเจ้าในเรื่องการรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นคำของยอห์น ผู้ให้รับบัพติศมา ไม่ใช่คำของพระเยซูคริสต์ แต่เหตุไฉนอัครทูตทั้งสองจึงหลงลืมคำเทศนาสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “อย่าคิดว่า เรามาเลิกล้างธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะ เรามิได้มาเลิกล้าง แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ” (มัทธิว 5:17)

สิ่งหนึ่งที่ไขความในเรื่องนี้ได้ประการหนึ่งก็คือ เพราะพระธรรมบัญญัติข้อนี้ไม่ปรากฏมีในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับของลูกาซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงกิจการของอัครทูต ลูกาเองจึงไม่ได้นึกถึงพระธรรมบัญญัติข้อนี้ ซึ่งมีอยู่เฉพาะในฉบับของมัทธิวเท่านั้น หากลูกาเขียนพระคัมภีร์ด้วยการดลใจของพระวิญญาณบริสุทธิ์จริง เหตุไฉนพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงหลงลืมพระธรรมบัญญัติข้อนี้ไปเสียได้ มิหนำซ้ำพระเยซูคริสต์ยังทรงตรัสอีกว่า : เหตุฉะนั้น ผู้ใดได้ทำให้ข้อเล็กน้อยสักข้อหนึ่งในธรรมบัญญัตินี้เบาขึ้น ทั้งสอนคนอื่นให้ทำอย่างนั้นด้วย ผู้นั้นจะได้ชื่อว่า เป็นผู้น้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ แต่ผู้ใดประพฤติและสอนตามธรรมบัญญัติ ผู้นั้นจะได้ชื่อว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินสวรรค์” (มัทธิว 5:19)


การเห็นชอบให้ละเว้นการเข้าสุหนัตและให้ถือเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ซึ่งมีเพียง 4 ข้อคือ

– งดการรับประทานสิ่งของซึ่งเขาได้บูชาแก่รูปเคารพ

– งดเว้นการรับประทานเลือด

– งดเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์ซึ่งถูกรัดคอตาย

– งดเว้นการล่วงประเวณี

หากไม่เรียกว่าเลิกล้างธรรมบัญญัติ หรือทำให้อักษรหนึ่งหรือขีดๆ หนึ่งสูญไปจากธรรมบัญญัติ หรือทำให้ข้อเล็กน้อยสักข้อหนึ่งในธรรมบัญญัตินั้นเบาขึ้น แล้วสอนให้คนอื่นกระทำอย่างนั้นด้วยแล้ว จะเรียกว่าอะไรดีเล่า โอ้คริสตชนทั้งหลาย ใครมีหูจงฟังเถิด! (He who has ears, Let him hear) เพราะท่านทั้งหลายได้ทำให้ธรรมบัญญัติของพระเจ้าเป็นหมันไป เพราะเห็นแก่คำสอนของพวกท่าน (มัทธิว 15:6)

ศิษย์ไม่ใหญ่กว่าครู และทาสไม่ใหญ่กว่านายตน (A student is not above his teacher, nor a servant above his master) (มัทธิว 10:24) แล้วเหตุไฉนพวกเขาจึงเอาความเห็นชอบของพวกเขาเป็นใหญ่กว่าคำสั่งสอนของครูเล่า พระเยซูคริสต์ผู้เป็นบรมครูของเหล่าอัครทูตสอนเอาไว้มิใช่หรือว่า : “จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพและใจอ่อนน้อม และจิตใจท่านทั้งหลายจะได้พัก ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา (For my yoke is easy and my burden is light) (มัทธิว 11: 29-30)

แล้วเหตุไฉน เปโตรจึงกล่าวว่า : “ถ้าอย่างนั้น ทำไมท่านทั้งหลายจึงทดลองพระเจ้าโดยวางแอกบนคอของพวกสาวก ซึ่งบรรพบุรุษของเราหรือตัวเราเองก็ดีแบกไม่ไหว” (กิจการของอัครทูต 15:10) หากว่าแอกของพระเยซูคริสต์พอเหมาะและภาระของพระองค์ก็เบา แล้วเหตุไฉนจึงต้องปลดแอกที่เหมาะนั้นลงเล่า และการกระทำเช่นนั้นจะไม่เรียกว่าเป็นการทดลองพระเจ้ากระนั้นหรือ

ยอห์นผู้ให้รับบัพติศมาก็เข้าสุหนัต (ลูกา 1:59) พระเยซูคริสต์เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระกุมารก็เข้าสุหนัตและทำพิธีชำระตัวตามธรรมบัญญัติของโมเสส (ลูกา 2: 21-22)

เหล่าอัครทูตทั้งหมดเองก็เข้าสุหนัต แล้วเหตุไฉนคนที่เป็นสาวกชาวต่างชาติจึงได้รับการผ่อนผันในข้อนี้ ทั้งๆ ที่การเข้าสุหนัตเป็นสัญลักษณ์แห่งพันธสัญญา เพราะพระเจ้าตรัสกับอับราฮัมว่า : “เจ้าเองก็ดี เชื้อสายของเจ้าที่สืบตลอดชั่วชาติพันธุ์ของเขาก็ดี จงรักษาพันธสัญญาของเรา นี่เป็นพันธสัญญาของเราซึ่งเจ้าจะต้องรักษาระหว่างเรากับเจ้า และเชื้อสายของเจ้าที่จะสืบมา คือผู้ชายทุกคนจะต้องเข้าสุหนัต เจ้าจงเข้าสุหนัตตัดหนังหุ้มปลายองคชาตของเจ้า

นี่จะเป็นหมายสำคัญของพันธสัญญาระหว่างเรากับเจ้า ผู้ชายที่มีอายุแปดวันต้องเข้าสุหนัต คือ ชายทุกคนตลอดชั่วชาติพันธุ์ของเจ้า เป็นคนที่เกิดในบ้านของเจ้าก็ดี หรือที่เอาเงินซื้อมาจากคนต่างด้าวใดๆ ซึ่งมิใช่พงษ์พันธุ์ของเจ้าก็ดี ทั้งผู้ที่เกิดในบ้านของเจ้าและที่เอาเงินของเจ้าซื้อมาจะต้องเข้าสุหนัต ดังนี้แหละพันธสัญญาของเราจะได้อยูที่เนื้อของเจ้า เป็นพันธสัญญานิรันดร์ ชายใดๆ ที่มิได้เข้าสุหนัต มิได้เข้าสุหนัตตัดหนังหุ้มปลายองคชาต จะต้องถูกตัดจากชนชาติของเขา เขาได้ละเมิดพันธสัญญาของเรา” (ปฐมกาล 17: 9-14)

พระเจ้ามิได้ทรงกระทำพันธสัญญานี้กับอัมราฮัมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคคลที่มิใช่พงษ์พันธุ์ของท่าน ซึ่งท่านซื้อมาหรือเกิดในบ้านของท่านอีกด้วย ชายใดๆ ที่ไม่ได้เข้าสุหนัต ผู้นั้นได้ละเมิดพันธสัญญาของพระเจ้า ยากอบอ้างคำของผู้เผยพระวจนะจากพระธรรมบัญญัติเก่า แต่ยากอบก็หลงลืมพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงกำหนดเอาไว้ในพระธรรมบัญญัติเสียเอง มิหนำซ้ำยากอบกลับพูดว่า “อย่าให้เราวางเครื่องขัดขวางกีดกันคนต่างชาติซึ่งกลับมาหาพระเจ้า” (กิจการของอัครทูต 15:19)

เรื่องการเข้าสุหนัตมิใช่สิ่งที่อัครทูตวางและกำหนด แต่เป็นธรรมบัญญัติ เป็นพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงตั้งเอาไว้ และผู้ไม่ทำตามก็ย่อมได้ชื่อว่าละเมิดพันธสัญญาของพระองค์ การเข้าสุหนัตจึงไม่ใช่เครื่องขัดขวางกีดกัน แต่เป็นธรรมบัญญัติของพระเจ้าที่จะเลิกล้างไม่ได้ หรือทำให้เบาขึ้นก็ไม่ได้ การละวางให้แก่คนต่างชาติว่าไม่ต้องเข้าสุหนัตไม่มีเหตุผลอันใดมากเกินไปกว่าการกระทำสิ่งนั้นเพื่อเอาใจมนุษย์ โดยเฉพาะพวกกรีกที่พวกเขารับไม่ได้กับการเข้าสุหนัต จึงต้องยอมทำให้ธรรมบัญญัติข้อนี้ให้เบาขึ้น ซึ่งผลของมันก็คือ พวกเขาที่สั่งสอนหรือเห็นชอบให้กระทำเช่นนั้นกลายเป็นผู้น้อยที่สุดในแผ่นดินของพระเจ้า

5) การกำหนดว่าสิ่งที่จำเป็นสำหรับการถือปฏิบัติในการงดเว้นว่ามีเพียง 4 ประการเท่านั้น เป็นการเลิกล้างธรรมบัญญัติของพระเจ้าและทำให้ธรรมบัญญัตินั้นเบาขึ้นเพื่อเห็นแก่สาวกที่เป็นคนต่างชาติโดยอ้างเรื่องความเชื่อเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการปฏิบัติเป็นสิ่งที่ยากอบและเปาโลมองต่างกัน เมื่อเราอ่านข้อความในจดหมายของบุคคลทั้งสอง เราจะพบว่าเปาโลพยายามอธิบายให้เห็นว่า การเข้าสุหนัตมิใช่สิ่งสำคัญ “เพราะเราทั้งหลายเห็นว่า คนหนึ่งคนใดจะเป็นคนชอบธรรมได้ ก็โดยอาศัยความเชื่อนอกเหนือการประพฤติตามธรรมบัญญัติ

หรือว่าพระเจ้านั้น ทรงเป็นพระเจ้าของพวกยิวเท่านั้นหรือ พระองค์ไม่ทรงเป็นพระเจ้าของชนต่างชาติด้วยหรือ ถูกแล้วพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของชนต่างชาติด้วย เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียว และพระองค์ทรงโปรดยกโทษของคนที่ไม่เข้าสุหนัตก็เพราะความเชื่อดุจกัน ถ้าเช่นนั้นเราลบล้างธรรมบัญญัติความเชื่อหรือ เปล่าเลย เรากลับสนับสนุนพระธรรมบัญญัติเสียอีก (โรม 3: 28-31) “เพราะว่ายิวแท้ มิใช่คนที่เป็นยิวภายนอกเท่านั้น และการเข้าสุหนัตแท้ ก็ไม่ใช่การเข้าสุหนัตซึ่งปรากฏที่เนื้อหนังเท่านั้น คนที่เป็นยิวแท้ คือคนที่เป็นยิวภายใน และการเข้าสุหนัตแท้นั้นเป็นเรื่องของจิตใจตามพระวิญญาณมิใช่ตามตัวบทบัญญัติ คนอย่างนั้นพระเจ้าสรรเสริญ มนุษย์ไม่สรรเสริญ (โรม 2: 28-29)

แต่บัดนี้ได้ปรากฏแล้วว่า ความชอบธรรมซึ่งมาจากพระเจ้านั้น ปรากฏนอกเหนือกฎบัญญัติธรรมบัญญัติกับพวกผู้เผยพระวจนะเป็นพยานอยู่ คือความชอบธรรมของพระเจ้าซึ่งประทานโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์แก่ทุกคนที่เชื่อถือ เพราะว่าคนทั้งหลายไม่ต่างกัน (โรม 3: 21-22) เช่นนั้นแหล่ะ พี่น้องทั้งหลาย ท่านทั้งหลายได้ตายจากธรรมบัญญัติทางพระกายของพระคริสต์” (โรม 7:4) “แต่บัดนี้เราได้พ้นจากธรรมบัญญัติ คือได้ตายจากธรรมบัญญัติที่ได้ผูกมัดเราไว้ เพื่อเราจะได้ไม่พฤติตามตัวอักษรในประมวลธรรมบัญญัติเก่า แต่จะดำเนินชีวิตใหม่ตามลักษณะพระวิญญาณ (โรม 7:6)

เปาโลนำเรื่องราวของอับราฮัมมาอธิบายความเข้าใจของตนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ถ้าอับราฮัมเป็นผู้ชอบธรรมโดยการประพฤติ ท่านก็มีทางที่จะอวดได้ แต่ในสายพระเนตรของพระเจ้า ท่านไม่มีทางอย่างนั้น พระคัมภีร์ว่าอย่างไร ก็ว่า อับราฮัมเชื่อในพระเจ้าและเพราะความเชื่อนั้นเอง พระเจ้าทรงถือว่าท่านเป็นคนชอบธรรม” (โรม 4: 2-3) “ถ้าเช่นนั้นความสุขมีแก่คนที่เข้าสุหนัตพวกเดียวหรือ หรือว่ามีแก่พวกที่มิได้เข้าสุหนัตด้วย เพราะเรากล่าวว่า “เพราะความเชื่อนั้นเองพระเจ้าทรงถือว่าอับราฮัมเป็นคนชอบธรรม” (โรม 4:9)

ฝ่ายยากอบกล่าวเรื่องนี้ไว้ต่างกันกับที่เปาโลกล่าวและพยายามอธิบายว่า “ส่วนคนที่มิได้อาศัยการประพฤติ แต่ได้เชื่อในพระองค์ผู้ทรงโปรดให้คนผิดเป็นคนชอบธรรมได้ เพราะความเชื่อของคนนั้น พระเจ้าทรงถือว่าเป็นความชอบธรรม (โรม 4:5) ยากอบกล่าวว่า “ดูก่อน พี่น้องของข้าพเจ้า แม้ผู้ใดจะว่าตนมีความเชื่อ แต่ไม่ประพฤติตามจะได้ประโยชน์อะไร ความเชื่อของเขาจะช่วยเขาให้รอดได้หรือ (ยากอบ 2:14)

“แต่บางคนจะกล่าวว่า : “คนหนึ่งมีความเชื่อ แต่อีกคนหนึ่งมีการประพฤติ” จงแสดงให้ข้าพเจ้าเห็นความเชื่อของท่านที่ไม่มีการประพฤติตามและด้วยการประพฤติตามข้าพเจ้า จะแสดงให้ท่านเห็นความเชื่อของข้าพเจ้า (ยากอบ 2:18) “แน่ะ คนโฉดเขลา ท่านต้องการให้พิสูจน์หรือว่า ความเชื่อที่ไม่ประพฤติตามนั้นไร้ผล เมื่ออับราฮัมบิดาของเราได้พาอิศอัคบุตรของท่านมาถวายบนแท่นบูชา จึงได้ความชอบธรรม เพราะการประพฤติไม่ใช่หรือ ท่านทั้งหลายก็เห็นแล้วว่า ความเชื่อมีกำลังร่วมกับการประพฤติตามของท่าน และความเชื่อนั้นจะบริบูรณ์ด้วยการประพฤติ  (ยากอบ 2: 20-22)

“ท่านทั้งหลายก็เห็นแล้วว่า ผู้ใดจะเป็นคนชอบธรรมได้ก็เนื่องด้วยการประพฤติและมิใช่ด้วยความเชื่อเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกัน ราหับ (Rahab) หญิงแพศยาก็ได้ความชอบธรรมเนื่องด้วยความประพฤติมิใช่หรือ เมื่อนางได้รับรองผู้ส่งข่าวเหล่านั้น และส่งเขาไปเสียทางอื่น เพราะกายที่ปราศจากจิตวิญญาณนั้นไร้ชีพแล้วฉันใด ความเชื่อที่ปราศจากการประพฤติตามก็ไร้ผลฉันนั้น” (ยากอบ 2: 24-26)

จะเห็นได้ว่า ในขณะที่เปาโลเน้นเรื่องความเชื่อและก้าวล่วงไปสู่การตีความตามความเข้าใจของตนว่า ผู้มีความเชื่อโดยไม่ต้องมีการประพฤติตามธรรมบัญญัติก็เป็นคนชอบธรรมได้ ยากอบก็เน้นในเรื่องการประพฤติตามว่า เป็นสิ่งที่สำคัญและฟันธงเช่นกันว่า การมีแต่ความเชื่อเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการประพฤติตามธรรมบัญญัติก็ย่อมไร้ผล เมื่อผู้อ่านได้ลองอ่านถ้อยความในจดหมายของยากอบ (THE LETTER OF JAMES) ก็จะรู้สึกได้ไม่ยากว่า ยากอบกำลังพูดถึงผู้ใด จนดูเหมือนว่าจดหมายฉบับนี้เป็นการเขียนเพื่อตอบโต้หักล้างคนที่อ้าง

แต่ความเชื่อโดยไม่เน้นการประพฤติตามบัญญัติของพระเจ้า ถึงแม้ว่าจะไม่พูดชัดเจนในเรื่องการเข้าสุหนัตก็ตาม  อย่างไรเสีย ทั้งยากอบและเปาโลต่างก็มีส่วนในการทำให้พระธรรมบัญญัติข้อหนึ่งของพระเจ้าเบาขึ้นสำหรับคนต่างชาติที่เป็นสาวก ถึงแม้ว่าจดหมายของยากอบจะบ่งอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนจุดยืนและหันมาโต้ตอบความคิดที่เลยเถิดของเปาโลก็ตาม ซึ่งทั้งหมดคือการตั้งข้อสังเกตเพื่อให้เหล่าคริสตชนได้ใช้ในการทบทวนและพิจารณาดูถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามีผลข้างเคียงเช่นใดในการเปลี่ยนแปลงหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ในเรื่องการถือตามธรรมบัญญัติของโมเสส

แต่ถ้าคริสตชนเห็นว่า การตั้งข้อสังเกตที่ว่ามาเป็นสิ่งไร้สาระ เพราะไม่มีผลอันใดในการเปลี่ยนจุดยืนและทบทวนความเชื่อของพวกเขา เราก็พ้นภาระนั้นแล้วในการเตือนสติพวกเขา ซึ่งจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นเรื่องของพวกเขา แต่เราเชื่อในเอกองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นพระเจ้าของอับราฮัม อิชมาอีล อิศอัค ยากอบ เศคาริยา ยอห์นผู้ให้รับบัพติศมา และเยซูบุตรมารีย์ (ขอพระองค์ทรงประทานความศานติแก่ท่านผู้เป็นศาสนทูตของพระองค์ทั้งหมดที่ออกชื่อมา)

และเราประพฤติตามวิถีแห่งบิดาของเราคือ อับราฮัม (อ.ล.) และดำรงพันธสัญญาอันเป็นนิรันดร์ที่ท่านได้กระทำไว้กับพระผู้เป็นเจ้า  นั่นคือ การเข้าสุหนัตและงดเว้นจากสิ่งมลทินทั้งปวงที่มิใช่มีเพียงแค่ 4 ข้อตามที่พวกเขาได้รับการผ่อนผันจากมนุษย์ ทั้งๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญญัติไว้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ ศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ผู้เป็นเชื้อสายของอิสมาอีล บุตรชายหัวปีของอับราฮัม (อ.ล.) ได้สั่งสอนให้พวกเราชาวมุสลิมถือตามมรรคาแห่งเอกองค์พระผู้เป็นเจ้าและวิถีปฏิบัติแห่งอับราฮัม (อ.ล.) ด้วยการรักษาพันธสัญญาที่ได้กระทำไว้นั้นอย่างสมบูรณ์แล้ว เราขอยืนยันและเพียงพอแล้วสำหรับพวกเราในการที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นสักขีพยาน

คัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุว่า :

أَفَتُؤْمِنُوْنَ بِبَعْضِ الْكِتَابِ وَتَكْفُرُوْنَ بِبَعْضٍ

ความว่า : ฉะนั้นพวกท่านจะศรัทธาต่อบางส่วนของคัมภีร์และพวกท่านจะปฏิเสธบางส่วนกระนั้นหรือ!

(อัล-บะกอเราะฮฺ : 85)

وَلاَتُقُوْلُوالِمَاتَصِفُ أَلْسِنَتُكُمُ اﻠﻛَذِبَ ھَذَاحَلاَلٌ وَھَذَاحَرَامٌ لِتَفْتَرُوْعَلىَ اللهِ اﻠﻛذبَ ،

إن اﻠذينَ يَفْتَرُوْنَ عَلَى اللهِ اﻠﻛذبَ لاَيُفْلِحُوْنَ

ความว่า “และสูเจ้าทั้งหลายอย่าได้กล่าวคำเท็จตามที่ลิ้นของสูเจ้าทั้งหลายสาธยายว่านี่เป็นสิ่งที่อนุมัติและนี่เป็นสิ่งต้องห้ามเพื่อสูเจ้าทั้งหลายจะกล่าวตู่ความเท็จต่ออัลลอฮฺ แท้จริงบรรดาผู้ที่กล่าวตู่ความเท็จต่ออัลลอฮฺย่อมไม่ประสบความสำเร็จ”

(อัน-นะหฺลุ้ : 116)

فَخَلَفَ مِنْ بَعْدِهِمْ خَلْفٌ وَرِثواالكِتَابَ يَأْخُذُوْنَ عَرَضَ ھَذَاالأَدْنى

وَيَقُوْلُوْنَ سَيُغْفَرُلَنَاوَإِنْ يَأْتِهِمْ عَرَضٌ مِثْلُهُ يَأْخِذُوْهُ

أَلَمْ يُؤْخَذعَلَيْهِمْ مِيْثَاقُ الكِتاَبِ اَنْ لاَيَقُوْلُوْاعَلى الله إلاالحَقَّ

وَدَرُسُوْامافِيْهِ وَالدارالاخرةُخَيْرٌﻠﻠذين يتقون أفلاتعقلون

واﻠذين يُمَسّكون بالكتابِ وأقامواالصلاةَ إنالانُضِيْعُ أجرَالمُصْلحِينَ

ความว่า : “แล้วชนรุ่นหลังก็สืบต่อมาภายหลังพวกเขา ชนรุ่นหลังนั้นรับมรดกคัมภีร์ (เตารอต) โดยพวกเขาจะยึดสิ่งที่ถูกเสนอให้ของโลกเบื้องต่ำนี้และพวกเขาจะกล่าวว่า ต่อไปจะถูกอภัยบาปให้แก่เรา และหากมีสิ่งที่เสนอที่เหมือนกันมายังพวกเขา พวกเขาก็ยึดมันไว้ ก็พันธสัญญาของคัมภีร์นั้นมิได้ถูกถือเอาเป็นภาระแก่พวกเขากระนั้นหรือ กล่าวคือ พวกเขาจะต้องไม่กล่าวอ้างถึงอัลลอฮฺเว้นเสียแต่ความสัจจริง และพวกเขาก็ร่ำเรียนสิ่งที่อยู่ในคัมภีร์นั้น และสถานสุดท้าย (โลกหน้า) ย่อมดีกว่าสำหรับผู้มีความยำเกรง พวกเจ้าไม่ใช้ปัญญาตรองดูหรอกหรือ และสำหรับบรรดาผู้ที่ยึดมั่นต่อการอธิษฐาน (นมัสการ) แท้จริงเราจะไม่ทำให้ผลตอบแทน (ผลบุญ) ของบรรดาผู้ปรับปรุงให้ดีขึ้นนั้นสูญเปล่า

(อัล-อะอฺร็อฟ 169-170)

คัมภีร์อัล-กุรอานได้ประณามผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้า ตลอดจนผู้ที่ศรัทธาและประพฤติตามพระบัญญัติเพียงบางส่วน ซึ่งต้องจริตของพวกเขา และปฏิเสธดื้อแพ่งต่อพระบัญญัติในส่วนอื่นที่ไม่ต้องจริตของพวกเขา หรืออ้างว่าพระบัญญัตินั้นเป็นแอกที่หนักต้นคอของพวกเขา จึงปฏิเสธที่จะรับพระบัญญัตินั้น และการกำหนดว่าสิ่งใดเป็นที่อนุมัติ สิ่งใดเป็นที่ต้องห้ามถือเป็นสิทธิของพระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว มนุษย์ย่อมไม่มีสิทธิก้าวล่วงในสิ่งดังกล่าว

ดังนั้นผู้ใดกล่าววาจาตามอำเภอใจหรือถือเอาความคิดของตนในการกล่าวว่า สิ่งนั้นอนุมัติ สิ่งนี้ต้องห้าม ทั้งๆ ที่ไม่มีพระบัญญัติของพระองค์มารองรับ หรือกล่าวตู่ว่าพระเจ้าทรงดลใจให้เขากล่าวสิ่งนั้น ทั้งๆ ที่พระองค์มิได้ทรงดลใจแต่เป็นอารมณ์กิเลสและการล่อลวงของมาร ผู้นั้นย่อมไม่ประสบความสำเร็จอันใดในบั้นปลาย

เพราะท้ายที่สุด ผู้นั้นจะต้องได้รับการพิพากษาเอาโทษที่กล่าวตู่พระองค์ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ และส่วนหนึ่งจากพันธสัญญาของพระเจ้าที่มีระบุไว้ในพระคัมภีร์ของพระองค์ คือการที่บุคคลต้องไม่กล่าวตู่ต่อพระองค์หากจะอ้างถึงพระองค์ผู้นั้นต้องอ้างด้วยความจริงและความชอบธรรม มิใช่ด้วยการกล่าวตู่ คนที่ยึดมั่นในพระธรรมบัญญัติของพระเจ้าและตั้งมั่นในการนมัสการและการอธิษฐานต่อพระองค์โดยเคร่งครัด ผู้นั้นย่อมได้รับอานิสงค์และย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติความชอบธรรมในสายพระเนตรของพระองค์ พระองค์จะทรงเติมเต็มอย่างสมบูรณ์ด้วยคำสัญญาของพระองค์เช่นกัน

เมื่อการประกาศข่าวประเสริฐเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ถูกมุ่งสู่ชนต่างชาติที่มิใช่ชาวยิวเป็นการเฉพาะ และเปลี่ยนจากการตามแกะหลงของวงศ์วานอิสราเอลสู่โลกใหม่ คือโลกของคนที่นิยมกรีกซึ่งมิใช่ชาวยิว ติดตามมาด้วยการได้รับข้ออนุโลมว่าไม่ต้องเข้าสุหนัตตามธรรมบัญญัติของโมเสส และให้งดเว้นจากสิ่งต้องห้ามเพียง 4 ประการ ที่เหลือจากนั้นให้ตั้งอยู่บนความเชื่อ หลักคำสอนที่พระเยซูคริสต์ได้เที่ยวสั่งสอนและเทศนามาโดยตลอดก่อนหน้านั้นก็กลายเป็นหมันไปในที่สุด

เพราะสิ่งที่พวกอัครทูตได้นำมาประกอบคำสอนของพวกเขาคือคำของผู้เผยพระวจนะในพระธรรมบัญญัติเดิม เพราะในเวลานั้นพระคริสตธรรมคัมภีร์ยังไม่ได้ถูกเขียนและเรียบเรียง สิ่งที่มีปรากฏในจดหมายของเปาโลจึงกลายเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญที่เกิดขึ้นตามความรับรู้ของคริสตชนรุ่นแรก เช่น การตรึงกางเขนและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน การฟื้นคืนชีพหลังจากนั้น 3 วันก็ถูกอธิบายอย่างล้ำลึกด้วยคำเทศนาของนักบุญเปาโล การเน้นในความเป็นพระบุตรของพระเจ้าหรือการเรียกขาน พระเยซูคริสต์ว่า คือองค์พระผู้เป็นเจ้า (มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์จากสิ่งที่พวกเขาได้ตั้งภาคีต่อพระองค์)

ทั้งหมดได้ทำให้หลักคำสอนของพระเยซูคริสต์วิปลาสและผิดเพี้ยนไปในที่สุด เหตุนี้นักค้นคว้าชาวตะวันตกบางคนจึงได้ให้ข้อสรุปว่า ศาสนาคริสต์นั้นมีพระเยซูคริสต์เป็นบ่อเกิด แต่ผู้ที่สถาปนาศาสนาคริสต์ให้มีคุณลักษณะอย่างทุกวันนี้ ก็คือ นักบุญเปาโลนั่นเอง จึงสมควรเรียกศาสนาคริสต์ที่มีพัฒนาการใหม่นี้ว่า “คริสต์ศาสนาแบบเปาโล” ส่วนคริสต์ศาสนาแบบพระเยซูคริสต์ แห่งนาซาเร็ธนั้นได้แปรสภาพไปแล้ว นับตั้งแต่การเป็นอัครทูตของนักบุญเปาโล!

وَاللهُ وَﻠﻲُّ اﻠﺗَّوفِيقِ وَالهِدَايَةِ