อัชชะรีฟ อัลอิดรีซีย์ (الشريف الإدريسي)

มุฮำมัด อิบนุ อับดิลลาฮฺ อิบนิ อิดรีส (หลานของอิดรีสที่ 2 อัลฮะมะดีย์ เจ้าชายแห่งนครมะละกา-สเปน) อัชชะรีฟ อัลอิดรีซีย์ถือกำเนิดในปี ฮ.ศ.493 และเสียชีวิตในปี ฮ.ศ.560 ณ เมืองซิบตะฮฺ   อัลอิดรีซี่ย์ ได้ย้ายสู่นครกุรฏุบะฮฺ (คอร์โดบาฮฺ) ในแคว้นอันดะลุส (เอ็นดะลูเซีย) ซึ่งในเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอัลมุ่รอบิฏีน ซึ่งกินอาณาเขตนับแต่สเปนและแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ อัลอิดรีซีย์ ได้ศึกษาในนครกุรฏุบะฮฺ (คอร์โดบาฮฺ) เขาให้ความสนใจเป็นการเฉพาะต่อวิชาภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา

กษัตริย์โรเจอร์ ที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์นอร์แมนที่ปกครองซิซีเลีย (ซิกิลลี่ยะฮฺ) ต่อจากชาวมุสลิมได้เชื้อเชิญอัลอิดรีซี่ย์สู่นครพาร์โลโม่ ราชธานีแห่งซิซิเลีย ซึ่งวิทยาการอิสลามยังคงรุ่งโรจน์อยู่ในเกาะดังกล่าว

 

อัลอิดรีซีย์ มีพรสวรรค์ในการดึงดูดผู้คนให้ความนิยมชมชอบเขาถึงขั้นที่ว่า บรรดาผู้ห้อมล้อมกษัตริย์โรเจอร์ที่ 2 แห่งซิซิเลีย ที่เป็นชาวคริสเตียนฝังหัวนั้น กล่าวหาว่ากษัตริย์โรเจอร์เข้ารับในศาสนาอิสลาม อันมีสาเหตุมาจากการที่เขาได้ให้เกียรติอย่างมากต่อ อัชชะรีฟ อัลอิดรีซีย์และความหลงใหลของกษัตริย์โรเจอร์ต่อวิทยาการอิสลามถึงแม้ว่าเขาจะถือในศาสนาคริสต์ก็ตาม

 

กษัตริย์โรเจอร์ที่ 2 แห่งซิซิเลียได้พระราชทานทรัพย์สินอันมากมายแก่อัลอิดรีซีย์ เพื่อแลกกับการที่อัลอิดรีซี่ย์จะแต่งตำราภูมิศาสตร์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมถวายแก่พระองค์ อัลอิดรีซีย์ได้ทำตามประสงค์ของกษัตริย์โรเจอร์ด้วยการแต่งตำราอันเลื่องชื่อของเขาที่มีนามว่า “นุซฮะตุ้ลมุชต๊าก ฟิคติรอกิลอาฟ๊าก” ซึ่งอัลอิดริซีย์ได้อาศัยข้อมูลในการแต่งตำราเล่มนี้ด้วยการตั้งข้อสังเกตและสมมติฐานซึ่งประจักษ์ชัดทางวิชาการทั้งในด้านภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา นอกจากนี้อัลอิดรีซีย์ยังได้ทำแผนที่โลกใบนี้บนรูปโลกทรงกลมที่ทำจากแผ่นเงิน

 

อัชชะรีฟ อัลอิดรีซีย์ มีความโด่งดังด้วยความรู้อันมากมายและข้อมูลที่ละเอียดอ่อนในวิชาภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา นั่นเป็นผลมาจากการศึกษาอันยาวนานและการเดินทางท่องโลกอยู่ตลอดเวลาของเขา อัลอิดรีซีย์ได้ท่องท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งตะวันออกและตะวันตกของท้องทะเลแห่งนี้ เขานำเสนอการเดินทางของเขาซึ่งโดดเด่นด้วยข้อมูลที่รอบด้าน อาทิเช่น การกำหนดต้นกำเนิดของแม่น้ำไนล์และชนิดของสัตว์ที่เขาได้พบตามลำน้ำไนล์ตลอดจนพื้นที่เขตปริมณฑลรายล้อม และเขาได้กำหนดขอบเขตของทะเลสาบในเขตศูนย์สูตร ซึ่งนักวิชาการยุโรปประสบความล้มเหลวในเรื่องนี้

 

อัลอิดรีซีย์ ได้ให้ความสนใจในการเดินทางเยือนดินแดนต่างๆ ด้วยการพรรณนาถึงสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ ขนบธรรมเนียมประเพณีและเครื่องแต่งกายของผู้คนในดินแดนเหล่านั้น

 

อัลอิดรีซีย์ได้เล่าถึงเรื่องราวอันน่าทึ่งของบรรดาเด็กหนุ่มผู้รักการผจญภัย อันเป็นเรื่องราวการผจญภัยและการค้นพบทางทะเลที่บรรดาเด็กหนุ่มชาวมุสลิมจากแคว้นอันดะลุส (เอ็นดะลูเซีย) ได้ออกเดินทางจากนครลิสบอน (ลิชบูนะฮฺ) –เมืองหลวงของโปรตุเกสในปัจจุบัน-  ในเรือลำหนึ่งที่บรรจุเสบียงและน้ำจืดจำนวนมากที่พอเพียงสำหรับระยะเวลาหลายเดือน พวกเขาได้ล่องเรือสู่ท้องทะเลแห่งความมืดมน (มหาสมุทรแอตแลนติก) เป็นเวลาแรมเดือน ในภายหลังพวกเขาได้ล่องเรือมาถึงเกาะแห่งหนึ่ง ที่ชาวเกาะมีรูปร่างสูงใหญ่ ผู้หญิงชาวเกาะมีความงดงามจนน่าหลงใหล ซึ่งนักวิชาการเห็นพ้องกันว่า นั่นคือ หมู่เกาะอัลคอลิดาตฺ ที่ชาวตะวันตกรู้จักกันในชื่อ หมู่เกาะคินารี่ย์ ในขณะที่นักวิชาการอีกเป็นจำนวนมากมีความเห็นว่า หมู่เกาะดังกล่าวอยู่ในทะเลแคริบเบียน ซึ่งนั่นย่อมแสดงว่า ชาวอาหรับคือกลุ่มชนแรกที่ค้นพบทวีปอเมริกา

 

หลังจากผ่านพ้นเวลามาได้หลายวัน ผู้นำของกลุ่มเด็กหนุ่มเหล่านี้ได้พาเรือกลับสู่ “อัซฟา” ซึ่งเป็นเมืองท่าของดินแดนตะวันตกไกล

 

ในตำรา “นุซฮะตุ้ลมุชต๊ากฯ” อัลอิดรีซีย์ได้ระบุถึงแร่ธาตุต่างๆ และสถานที่ที่มีแร่ธาตุแต่ละชนิด เขาได้พูดถึงธรรมชาติทางธรณีวิทยาในตำรา “อันซา อัลมินฮัจญ์ ว่าเราฎ่อตุ้ลฟ่ารอจญ์” ถึงเรื่องราวของภูเขา แม่น้ำ และแร่ธาตุต่างๆ อีกด้วย

 

อัลอิดรีซีย์ได้กล่าวถึงทฤษฎีว่าด้วยแรงดึงดูดของโลกและโลกมีสัณฐานกลม (โลกกลม) ในตำรา “นุซฮะตุ้ลมุชต๊ากฯ” ว่า :  แท้จริงโลกนั้นกลมเหมือนความกลมของลูกบอลล์ และผืนน้ำนั้นยึดติดกับโลกที่กลมนั้น และอยู่นิ่งตามธรรมชาติ ไม่แยกออกจากโลก พื้นโลกและน้ำนั้นทั้งมั่นคงอยู่ภายในทรงกลมเหมือนกับไข่แดงที่อยู่ภายในไข่ และตำแหน่งของน้ำและผืนแผ่นดินนั้นอยู่ตรงกลาง มีลมเอื่อยๆ (ชั้นบรรยากาศ) ห้อมล้อมโลกเอาไว้ทุกด้าน ซึ่งมันจะดึงดูดโลกสู่ด้านของการโคจร นั่นเป็นเพราะการโคจรของมันเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดจะอยู่บนพื้นผิวโลก และโลกได้ดึงดูดสิ่งที่มีน้ำหนักในเรือนร่างของสิ่งมีชีวิตเอาไว้ เหมือนอย่างแม่เหล็กที่จะดูดเหล็กเข้าไปหามัน”

 

ความจริงแล้ว อัลอิดรีซีย์ยังมีความชำนาญในสาขาวิชาอื่นอีก เช่น บทกวี, การแพทย์, เภสัชกรรมและศาสตร์ว่าด้วยพันธุ์พืช เป็นต้น

อัลอิดรีซีย์ได้กล่าวถึงลักษณะโดยสรุปของโลก โดยให้ภาพลักษณ์ของโลกว่ามีสัณฐานกลม ความยาวของเส้นรอบวงนั้นวัดได้ 22,900 ไมล์ เท่ากับ 40,068 กิโลเมตร ในส่วนตำรา “นุซฮะตุ้ลมุชต๊ากฯ” ของอัลอิดรีซีย์นั้นได้รวบรวมแผนที่เอาไว้มากกว่า 40 ชิ้น ซึ่งชาวตะวันตกได้แปลตำราเล่มนี้ออกเป็นภาษาละตินในช่วงแรกๆ และเป็นตำราเล่มแรกๆ ที่ถูกตีพิมพ์ อัลอิดรีซีย์คือบุคคลที่กล่าวว่า โลกกลมและวาดพื้นที่โลกตามข้อเท็จจริงนี้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การวาดรูปพื้นที่โลกบนพื้นผิวรูปโลกทรงกลมจะมีหลักการและวิธีการแตกต่างจากการวาดภาพบนพื้นผิวที่แบนราบ อัลอิดรีซีย์จึงเป็นบุคคลแรกที่กำหนดวางพื้นฐานของวิธีการวาดภาพบนพื้นผิวรูปทรงกลม