อัลอันดะลุสภายหลังอาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูน (ยุคบะนู มะรีนและบะนู อัลอะฮฺมัร)

ทัศนียภาพของเมืองมาลิเกาะฮฺ (มาลากา) มองจากที่ราบเห็นแนวป้อมปราการ และยอดปราสาท, อัล-อันดะลุส (สเปน)

ปีฮ.ศ.620/คศ.1223 พวกบะนู อัลอะฮฺมัรฺได้สถาปนาอาณาจักรอิสระขึ้นในฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) ภายใต้การนำของอบูอับดิลลาฮฺ อัลฆอลิบ บิลลาฮฺ มุฮำหมัด อิบนุ ยูซุฟ อิบนิ มุฮำหมัด อิบนิ ค่อมีซ อิบนิ นัซรฺ อิบนิ กอยฺซ์ อิบนิ สะอฺด์ อิบนิ อุบาดะฮฺ

(ท่านสะอฺด์ อิบนุ อุบาดะฮฺ เป็นอัครสาวกคนสำคัญจากเผ่าอัลคอซฺรอจญ์ เคยเข้าร่วมในสัตยาบันแห่งอัลอะกอบะฮฺและเป็นหนึ่งในสิบสองผู้นำของชาวมะดีนะฮฺ)

 

อบู อับดิลลาฮฺ อาศัยอยู่ในภาคกลางของอัลอันดะลุสในป้อมปราการที่มีชื่อว่า อัรญูนะฮฺ (Arjona) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับอัลวาดีย์ อัลกะบีร (Guadelquivir) เขาเป็นคนที่นอบน้อมถ่อมตนมีความกล้าหาญและมีความคิดที่เฉียบคมตลอดจนเป็นนักการเมืองที่ดี ต่อมาเขาได้ย้ายจากป้อมอัรญูนะฮฺ (Arjona) ไปยังเมืองญิยาน (Jaen) และเริ่มเป็นกระบอกเสียงให้กับพวกอัลมุวะฮฺฮิดูน, บะนู ฮัฟซ์และค่อลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัลอับบาซียะฮฺ อัลมุสตันซิร บิลลาฮฺ ตามลำดับ ผู้คนรู้จักเขาในนามอิบนุ อัลอะฮฺมัร

 

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ อบูอับดิลลาฮฺ มุฮำหมัด อิบนุ ยูซุฟ (ซึ่งสืบเชื้อสายจากตระกูลฮูดที่มีอำนาจในเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) ในช่วงการปกครองหลายก๊ก (อัตตอวาอิฟ) ได้เริ่มสร้างอำนาจของตนในเมืองมัรซียะฮฺ (Murcia) และได้รับสัตยาบันในปีฮ.ศ.622 โดยส่งคณะตัวแทนไปยังค่อลีฟะฮฺอัลมุสตันซิร บิลลาฮฺ แห่งราชวงศ์อัลอับบาซียะฮฺให้รับรองความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครองของตน และเข้าร่วมอยู่ภายใต้ร่มธงของพวกอับบาซียะฮฺแต่เพียงในนามพร้อมกับประกาศแข็งเมืองต่อพวกอัลมุวะฮฺฮิดูน

 

ต่อมาก็แผ่อำนาจเข้ายึดครองเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) และตั้งฉายานามให้กับตนเองว่า อะมีรุ้ลมุสลิมีน ซัยฟุดเดาละฮฺ อัลมุตะวักกิล อะลัลลอฮฺ ในช่วงที่อบู อับดิลลาฮฺ ผู้นี้มีอำนาจได้เคยนำทัพเข้าทำศึกกับพวกคริสเตียนกิชตาละฮฺ (Castile) แต่ก็ปราชัยในการศึกหลายครั้งเนื่องจากขาดความพร้อมในการทำศึก ต่อมาเขาได้เสียชีวิตในนครอัลมะรียะฮฺ ปีฮ.ศ.635

 

พลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) ได้ส่งตัวแทนไปยังอิบนุ อัลอะฮฺมัรซึ่งกล่าวถึงมาแล้วข้างต้น เพื่อเชิญชวนให้เขามาเป็นผู้นำของพวกตน อิบนุ อัลอะฮฺมัร จึงได้ประกาศตนขึ้นเป็นอะมีร (ผู้ครองนครรัฐ) แห่งอาณาจักรอัลฆอรนาเฏาะฮฺ ในวันที่ 26 ร่อมาฎอน ปีฮ.ศ.635 และแผ่อำนาจเข้าปกครองเมืองอัลมะรียะฮฺ (Almeria) ตามด้วยเมืองมาลิเกาะฮฺ (Malaga) ในปีฮ.ศ.636

 

ด้วยเหตุนี้เอง ทางภาคใต้ของอัลอันดะลุสจึงเกิดอาณาจักรใหม่ขึ้น ภายใต้การปกครองของตระกูลอัลอะฮฺมัร เรียกที่ตั้งของอาณาจักรนี้ว่า “อัลอันดะลุส อัซซุฆรอ” (เอ็นดาลูเซียน้อย) มีนครฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) เป็นราชธานี บรรดาพลเมืองอัลอันดะลุสที่ลี้ภัยสงครามจากหัวเมืองต่างๆ ที่ตกอยู่ในกำมือของชาวคริสต์ครูเสดก็อพยพหลั่งไหลเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในอาณาจักรที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่แห่งนี้เป็นจำนวนมาก

 

ปีฮ.ศ.636/คศ.1239 คอยมีย์ หรือ ญัยมิซที่ 1 (Jaime I) กษัตริย์คริสเตียนแห่งอรากอน (Aragon) รับรู้ว่าสมรภูมิอะมีชะฮฺ ได้สร้างความบอบช้ำให้แก่พลเมืองมุสลิมในนครบะลันซียะฮฺ (Valencia) ทำให้จำนวนทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์น้อยลง และเจ้าเมืองมัรซียะฮฺ (Murcia) ตลอดจนเจ้าเมืองมุสลิมอื่นๆ ไม่สามารถส่งกองทหารมาสนับสนุนบะลันซียะฮฺได้ คอยมีย์ เกรงว่า เฟอร์นานโด (Fernando III) ที่ 3 กษัตริย์แห่งกิชตาละฮฺ (Castile) จะชิงตัดหน้าตนด้วยการยึดครองบะลันซียะฮฺซึ่งได้ผนวกนครโคโดบาฮฺ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิชตาละฮฺก่อนหน้านั้นแล้ว มิหนำซ้ำ พระสันตะปาปาก็ได้เคยประกาศสงครามครูเสดกับบะลันซียะฮฺมาก่อนแล้ว

 

ด้วยเหตุดังกล่าวคอยมีย์ กษัตริย์แห่งอรากอน จึงเริ่มเตรียมการสำหรับการยกทัพเข้าตีบะลันซียะฮฺ (Valencia) ซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้ายของชาวมุสลิมในเขตตะวันออกของอัลอันดะลุส เขาสาบานว่า จะไม่ยอมกลับจนกว่าจะตีเมืองบะลันซียะฮฺได้สำเร็จ เหตุนี้คอยมีย์จึงนำพระมเหสีและพระราชธิดาของตนร่วมไปในกองทัพครั้งนี้ด้วย

 

คอยมีย์ ได้นำทัพมุ่งหน้าสู่บะลันซียะฮฺ (Valencia) ในเส้นทางการเดินทัพนั้นป้อมปราการและหมู่บ้านของชาวมุสลิมหลายแห่งได้ยอมจำนนและเมื่อเคลื่อนกำลังพลเข้าใกล้บะลันซียะฮฺ กองทัพอรากอนก็มีกำลังทหารที่อาสาร่วมรบเข้าสมทบตลอดเส้นทางเป็นจำนวนถึง 10,000 คน เป็นทหาร (พวกอัศวิน) และพลเดินเท้าอีก 60,000 คน หลังจากนั้นก็เข้าปิดล้อมเมืองเอาไว้อย่างแน่นหนา เจ้าเมืองบะลันซียะฮฺก็ขอกำลังสนับสนุนในการทำศึกป้องกันเมืองจากที่มั่นของชาวมุสลิมที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ

 

ตลอดจนขอกำลังเสริมจากพวกบะนู ฮัฟซ์ในตูนิเซียซึ่งเตรียมกองเรือรบจำนวน 18 ลำที่บรรทุกกำลังทหารมาช่วยเหลือ แต่ทว่าการปิดล้อมที่หนักหน่วงและแน่นหนาทำให้กองเรือของพวกบะนู ฮัฟซ์ไม่สามารถตีฝ่าเข้ามาได้ ทำให้ชาวเมืองซึ่งตกอยู่ในสภาพคับขันจำต้องส่งตัวแทนออกมาเจรจากับกษัตริย์อรากอน โดยชาวเมืองตกลงว่าจะยอมสละเมือง ภายในเวลา 5 วันและจะอพยพลี้ภัยสงครามไปยังเมืองดานียะฮฺ (Denia) ในที่สุดชาวเมืองบะลันซียะฮฺจำนวน 50,000 คนก็ลี้ภัยสู่เมืองดานียะฮฺ โดยอาศัยกองเรือของพวกบะนู ฮัฟซ์ที่ถูกส่งมาในการลำเลียงผู้คน

 

ในวันศุกร์ที่ 27 เดือนซ่อฟัร ปีฮ.ศ.636/คศ.1239 กษัตริย์อรากอนพร้อมด้วยราชวงศ์และทหารของตนก็เข้าสู่ตัวเมือง และเปลี่ยนบรรดามัสญิดในเมืองเป็นโบสถ์วิหารในคริสต์ศาสนา หลังจากที่เมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) อยู่ในกำมือของฝ่ายมุสลิมได้ราว 5 ศตวรรษเศษ ต่อมาในปีฮ.ศ.639 เกาะชะกอร (Alcira) ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้เมืองบะลันซียะฮฺก็เสียแก่พวกคริสเตียน

 

ในปีฮ.ศ.640/คศ.1243 อัรร่อชีดผู้ปกครองคนสุดท้ายของอัลมุวะฮฺฮิดูนก็สิ้นชีวิต  ปีฮ.ศ.641 เมืองดานียะฮฺ (Denia) ตกอยู่ในกำมือกองทัพคริสเตียน ตามมาด้วยเมืองญิยาน (Jaen) ในปีฮ.ศ.643 และเมืองชาฏิบะฮฺ (Jativa) ในปีฮ.ศ.644

 

ส่วนพลเมืองมุสลิมในเมืองมัรซียะฮฺ (Murcia) นั้นได้ยอมจ่ายเครื่องบรรณาการแก่กษัตริย์กิชตาละฮฺ (Castile) มาตั้งแต่ปีฮ.ศ.636 เพื่อแลกกับการคุ้มครองจากฝ่ายคริสเตียน จวบจนกระทั่งกษัตริย์อรากอนและกษัตริย์กิชตาละฮฺ (Castile) ได้มีข้อตกลงระหว่างกันในการยึดครองเมืองมัรซียะฮฺ กองทัพของอรากอน (Aragon) ได้เข้าปิดล้อมเมืองนี้เอาไว้จนกระทั่งยอมจำนนในปีฮ.ศ.644/คศ.1246 พวกคริสเตียนได้ปล่อยให้พลเมืองมุสลิมอพยพออกจากเมืองโดยปลอดภัยสู่เมืองอัรร่อชาเกาะฮฺ และสัญญาว่าจะไม่ทำร้ายชาวมุสลิมผู้อพยพเป็นเวลา 10 ปีแต่ทว่าเมื่อผู้อพยพเดินทางถึงบะบูรกาลฺ พวกคริสเตียนก็ผิดสัญญาด้วยการสังหารผู้ชาย จับเด็กและสตรีเป็นเชลย!

 

ต่อมาในปีฮ.ศ.645 เฟอร์นานโดที่ 3 กษัตริย์กิชตาละฮฺก็นำทัพคริสเตียนเข้าปิดล้อมเมืองอิชบีลียะฮฺ อดีตราชธานีของอัลมุวะฮฺฮิดูนในอัลอันดะลุสซึ่งสูญเสียแนวป้องกันเมืองตั้งแต่ปีฮ.ศ.644 แต่การปิดล้อมเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ก็มิใช่เรื่องงายและเพราะจำต้องอาศัยทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือเข้าปิดล้อมในเวลาเดียวกัน และชาวเมืองก็เริ่มจัดเตรียมการป้องกันเมือง เสบียงและอาวุธเพื่อต่อสู้ป้องกันเมืองอย่างเข้มแข็ง

 

หลังการปิดล้อมของกองทัพคริสเตียนก็เกิดการรบพุ่งระหว่างพลเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) และพวกทหารที่โจมตี ผลัดกันรุกผลัดกันรับ แต่ทว่าหาได้มีกองทัพมุสลิมใดส่งทหารมาช่วยเหลือไม่ ในขณะที่ทหารอาสาคริสเตียนและพวกอัศวินครูเสดได้หลั่งไหลเข้าร่วมสมทบกับกองทัพคริสเตียนกิชตาละฮฺ (Castile) กระนั้น พลเมืองอิชบีลียะฮฺก็ต่อสู้ป้องกันเมืองอย่างกล้าหาญ ตลอดระยะเวลา 9 เดือน จนกระทั่งเสบียงอาหารเริ่มร่อยหรอ อาวุธและกำลังทหารเหลือน้อยเต็มที ในที่สุดชาวเมืองก็ส่งตัวแทนไปเจรจากับเฟอร์นานโดที่ 3 ว่าจะขอสละเมืองและอพยพจากเมืองอิชบีลียะฮฺ เฟอร์นานโดก็ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว

 

ในปีฮ.ศ.646/คศ.1248 ชาวเมืองจำนวน 400,000 คน ก็อพยพหนีภัยศึกสงครามไปยังหัวเมืองอัลอันดะลุสและมอรอคโค นครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ดินแดนแห่งบรรดานักปราชญ์และสรรพวิทยาการ ซึ่งถูกขนานนามว่า “อะรูซ อัลอันดะลุส” (เจ้าสาวแห่งอัลอันดะลุส) ก็ตกอยู่ในกำมือของกองทัพคริสเตียนหลังจากที่เป็นนครอิสลามมากกว่า 5 ศตวรรษ สิ่งที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งก็คือ เจ้าเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) ได้นำทหารม้าของตนเข้าร่วมรบกับฝ่ายคริสเตียนในการปิดล้อมนครแห่งนี้! หลังจากเสียเมืองให้แก่กองทัพคริสเตียนแล้ว ป้อมปราการต่างๆ ที่ขึ้นกับนครอิชบีลียะฮฺก็ตกอยู่ในกำมือของพวกคริสเตียน

 

ฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) จึงกลายเป็นอาณาจักรมุสลิมเล็กๆ เพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอัลอันดะลุส สาเหตุที่ทำให้ ฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) ยังคงตั้งมั่นอยู่ได้ในอัลอันดะลุส ก็คือ

1.  ฆอรนาเฏาะฮฺ ตั้งอยู่ใกล้กับญะบัล ตอริก (Gibralta) ซึ่งสามารถขอกำลังสนับสนุนจากรัฐมุสลิมในฝั่งแอฟริกาได้อย่างรวดเร็ว

2.  ดินแดนของพวกคริสเตียนตั้งอยู่ห่างจากฆอรนาเฏาะฮฺ

3.  มีพลเมืองอัลอันดะลุสเป็นจำนวนมากจากบรรดานักปราชญ์, นักการแพทย์, นักสถาปัตยกรรม (สถาปนิก) ผู้ชำนาญการเดินเรือและช่างฝีมือได้อพยพลี้ภัยเข้ามาตั้งหลักแหล่งในฆอรนาเฏาะฮฺที่มั่นสุดท้ายของชาวมุสลิมในอัลอันดะลุส

4.  ความสำนึกในจิตวิญญาณแห่งอิสลามที่ได้รับการปลุกและกระตุ้นจากบรรดานักวิชาการศาสนาในหมู่พลเมือง ฆอรนาเฏาะฮฺและในปลายสุดของภาคใต้จากคาบสมุทรไอบีเรีย (อัลอันดะลุส) เหลือเมืองที่อยู่ในปกครองของมุสลิมเพียง 3 แห่งคือ ฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) อัลมะรียะฮฺ (Almeria) และมาริเกาะฮฺ (Malaga)

 

พวกคริสเตียนได้ยุติการรุกรานของพวกตนภายหลังผนวกนครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) เข้าสู่ภายใต้อำนาจ ในช่วงเวลานั้น อิบนุ อัลอะฮฺมัรก็เร่งสร้างอาณาจักรของตนและมุ่งมั่นให้อาณาจักรใหม่แห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรือง ต่อมาในปีฮ.ศ.650 กษัตริย์เฟอร์นานโดที่ 3 ก็สิ้นพระชนม์ กษัตริย์เฟอร์ดินานที่ 3 ซึ่งชาวคริสต์ถือว่าเป็นนักบุญ (เซนต์) คนหนึ่งสำหรับพวกเขาถือเป็นกษัตริย์คริสเตียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่สามารถแย่งชิงเขตแดน ป้อมปราการและหัวเมืองเป็นอันมากจากชาวมุสลิม การทำศึกของเฟอร์นานโดที่ 3 บรรลุถึงจุดสุดยอดด้วยการพิชิตนครโคโดบาฮฺและติดตามด้วยนครอิชบีลียะฮฺ และทำให้ชาวมุสลิมหมดอำนาจจากตอนกลางและตะวันตกของอัลอันดะลุส

 

อาณาจักรคริสเตียนในช่วงเวลานั้นคือ อาณาจักรลิอองและอรากอน, อาณาจักรกิชตาละฮฺ และโปรตุเกสทางทิศตะวันตก ต่อมาภายหลังอาณาจักรลิอองและกิชตาละฮฺได้รวมกันเป็นสเปนในปัจจุบัน ส่วนโปรตุเกสยังคงแยกตนเป็นเอกราชจากอาณาจักรสเปนจวบจนทุกวันนี้

 

บรรดาหัวเมืองอิสลามที่ตกอยู่ในกำมือของคริสเตียนนั้นเกือบจะร้างผู้คนเพราะชาวมุสลิมเป็นอันมากได้อพยพลี้ภัยสงครามไปยังส่วนต่างๆ ของมอรอคโคหรือไม่ก็อพยพสู่ดินแดนที่ยังคงตกอยู่ในฝ่ายของมุสลิมในอัลอันดะลุส ส่วนชาวมุสลิมที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของพวกคริสเตียนในอดีตหัวเมืองอิสลามที่เสียแก่อาณาจักรคริสเตียนนั้นถูกเรียกขานว่า อัลมุดัจญะนูน (Los Mudejaras) ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) มีจำนวนราว 30,000 คน พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของพวกคริสเตียนเยี่ยงพลเมืองชั้น 2 ถูกลิดรอนสิทธิและถูกเหยียดหยามจากพลเมืองคริสเตียนทั่วไป

 

ในปีฮ.ศ.652 พวกอัลมุดัจญะนูน ได้รวมตัวกันลุกฮือเพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพบางส่วนในการดำเนินชีวิต พวกเขาได้เข้ายึดครองป้อมปราการบางแห่งจากเขตเมืองบะลันซียะฮฺ เอาไว้ได้และเคลื่อนกำลังของพวกตนสู่ตัวเมือง และเกือบที่จะยึดเมืองบะลันซียะฮฺเอาไว้ได้ กษัตริย์แห่งอรากอน – ลิอองจึงมีบัญชาให้กดดันพวกอัลมุดัจญินูนออกจากอาณาจักรของพระองค์ พวกอัลมุดัจญินูนทั้งหมดจึงได้อพยพสู่ฆอรนาเฏาะฮฺ โดยละทิ้งบ้านเรือนและทรัพย์สินของพวกเขาเอาไว้เบื้องหลัง แต่พวกคริสเตียนโดยกษัตริย์บัฏเราะฮฺ (Pedro II) ซึ่งครองราชย์ต่อมาได้นำทัพเข้าโจมตีพวกอัลมัจญะนูนจนพวกเขาต้องหลบหนีสู่เมือง มุนตะซีฮฺและจับตัวเป็นเชลยเอาไว้ทั้งหมด หลังจากนั้นก็ส่งตัวไปเป็นทาสตามหมู่บ้านในนครบะลันซียะฮฺ (Valencia)

 

ในปีฮ.ศ.650 กษัตริย์เฟอร์นานโดที่ 3 ได้สิ้นพระชนม์ อัลฟองซัวที่ 10 (Alfonso x) ก็ขึ้นครองราชย์ในอาณาจักรกิชตาละฮฺ (Castile) ต่อจากพระราชบิดาของตน และอิบนุ อัลอะฮฺมัร ก็อยู่ร่วมสมัยเดียวกับกษัตริย์องค์ใหม่นี้ ในปีฮ.ศ.660/คศ.1262 อัลฟองซัวที่ 10 ก็นำทัพเข้าโจมตีดินแดนที่อยู่ในปกครองของฆอรนาเฏาะฮฺและเคลื่อนกำลังพลเข้าประชิดเมืองทำให้อิบนุ อัลอะฮฺมัร ต้องขอกำลังทหารสนับสนุนจากแอฟริกาเหนือ บรรดาทหารมุสลิมที่อาสาทำศึกญิฮาดจึงยกกำลังพลข้ามฝั่งช่องแคบญิบรอลต้าและสามารถสกัดกั้นการรุกคืบหน้าของกองทัพได้สำเร็จ

 

ต่อมาในปีฮ.ศ.661 กองทัพคริสเตียนก็ย้อนกลับมาโจมตีฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) อีกครั้ง ทำให้อิบนุ อัลอะฮฺมัรจำต้องร้องขอให้พวกคริสเตียนประนีประนอมและทำสัญญาสงบศึก อัลฟองซัวที่ 10 จึงยอมตกลงภายใต้เงื่อนไขที่อิบนุ อัลอะฮฺมัรต้องสละป้อมปราการและหัวเมืองตามที่อัลฟองซัวได้ระบุ อิบนุ อัลอะฮฺมัรจึงต้องยอมสละป้อมปราการเป็นจำนวนมากและเขตแดนบางส่วนให้แก่กษัตริย์อัลฟองซัว ส่วนหนึ่งคือ ชะรีซ (Jerez de la Frontera) และเมืองชะซูนะฮฺ ในปี ฮ.ศ.664

 

ครั้นลุถึงปีฮ.ศ.668/คศ.1270 พวกบะนู มะรีนก็ประกาศอย่างเป็นทางการถึงการสิ้นสุดลงของอาณาจักร อัลมุวะฮฺฮิดูนในมอรอคโค หลังจากพวกบะนู มะรีนซึ่งเป็นเบอร์เบอร์ก๊ก ซะนาตะฮฺมีความเข้มแข็งมากขึ้นในสมัยการปกครองของอบู สะอีด อุสมาน อิบนุ อับดิลฮักฺจนสามารถยึดครองเมืองมัรรอกิช ราชธานีของอัลมุวะฮฺฮิดูนได้สำเร็จในปีฮ.ศ.664

 

มุมมองทั่วไปสำหรับอาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูน

1.  ทางด้านการทหาร

อัลอันดะลุสอยู่ภายใต้การปกครองของเหล่าข้าหลวง (อะมีร) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนครมัรรอกิช ราชธานีของอัลมุวะฮฺฮิดูน บรรดาผู้ปกครองเหล่านี้ได้สร้างเสถียรภาพให้กับอัลอันดะลุส ด้วยการบริหารราชการและการจัดระเบียบการปกครองตลอดจนวางกำลังทหารเพื่อรับมือกับการคุกคามของพวกคริสเตียน ซึ่งได้แผ่ขยายอำนาจในภาคเหนือและภาคตะวันออกของอัลอันดะลุสมีอาณาจักรกิชตาละฮฺและอรากอนเป็นหัวหอกและอาณาจักรโปรตุเกสในเขตตะวันตก

 

กองกำลังของอัลมุวะฮฺฮิดูนซึ่งข้ามฝั่งมาจากมอรอคโคและทหารประจำการที่มีอยู่ในอัลอันดะลุสไม่สามารถหยุดยั้งการรุกรานที่เกิดขึ้นตลอดเวลาจากอาณาจักรคริสเตียน พวกเขาได้รับชัยชนะในการศึกอัลอะร๊อก (Alarcos) ซึ่งเป็นสมรภูมิครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นก็ปราชัยในสมรภูมิอัลอิกอบฺ (Las Navas de Tolosa) ซึ่งสร้างความบอบช้ำอย่างหนักให้แก่กองทัพและกำลังพลอัลมุวะฮฺฮิดูนจนกระทั่งต้องเสื่อมลงในเวลาต่อมา

 

2.  ทางด้านวิทยาการ

ในยุคที่อัลมุวะฮฺฮิดูนเรืองอำนาจนั้น มีความตื่นตัวทางด้านวิทยาการเป็นอันมาก อัลอันดะลุสมีความเจริญรุ่งเรืองด้วยสรรพวิทยาแขนงต่างๆ บรรดาหัวเมืองใหญ่กลายเป็นศูนย์กลางของสถาบันทางวิชาการจำนวนมากซึ่งถูกสร้างขึ้นทั้งในอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) กุรฏุบะฮฺ (Cordoba) และบะลันซียะฮฺ (Valencia) เป็นต้น บรรดาผู้ปกครองในอาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูนโดยเฉพาะค่อลีฟะฮฺนั้นจะถูกห้อมล้อมไปด้วยเหล่านักปราชญ์ ราชบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านวิชาการศาสนาแขนงต่างๆ และทางด้านอักษรศาสตร์ และวรรณกรรม มีนักกวีคนสำคัญๆ ปรากฏขึ้น อาทิเช่น อบุลบะกออฺ อันรอนดีย์, อิบนุ ค่อฟาญะฮฺ และอิบนุ อัลอับบ๊าร ซึ่งเป็นทั้งนักกวีและนักประวัติศาสตร์ เป็นต้น

 

และส่วนหนึ่งจากนักประวัติศาสตร์คนสำคัญที่สร้างผลงานทางวิชาการในช่วงอัลมุวะฮฺฮิดูนเรืองอำนาจได้แก่ อิบนุ อิซารีย์ ผู้แต่งหนังสือ “อัลบะยาน อัลมุฆริบ” และมุฮำหมัด อิบนุ อับดิลม่าลิก เจ้าของสารานุกรมขนาดใหญ่ เป็นต้น ในด้านการแพทย์นั้น ก็มีอิบนุ ซะฮฺริน ปรากฏเป็นที่เลื่องลือ และอิบนุ อัฏฏุฟัยล์ กับ อิบนุ รุชด์ ในด้านปรัชญา อิบนุ อัฏฏุฟัยล์ นั้นเป็นนักปรัชญาที่ถ่ายทอดแนวความคิดเชิงปรัชญาของตนในลักษณะเรื่องเล่าซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามฮัยฺย์ อิบนุ ยะกอซฺอน

 

ส่วนอิบนุ รุชด์นั้นอิทธิพลทางความคิดในเชิงปรัชญาของเขาแพร่เข้าสู่แวดวงคริสเตียนในยุโรปและเป็นที่นิยมแพร่หลายจนเกิดการปะทะทางความคิดระหว่างปรัชญาของอิบนุ รุชด์ (เอบเบ็นโรชด์) กับคริสตจักรเลยทีเดียว อีกบุคคลหนึ่งที่สมควรกล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้ก็คือ อิบนุ ญุบัยร์ นักท่องโลกคนสำคัญที่เป็นชาวเมือง บะลันซียะฮฺ (Valencia) ในอัลอันดะลุสก็มีชีวิตอยู่ในช่วงการปกครองของพวกอัลมุวะฮฺฮิดูนเช่นกัน!

 

3.  ด้านความเจริญทางอารยธรรมและสถาปัตยกรรม

พวกอัลมุวะฮฺฮิดูนได้ให้ความสนใจในการก่อสร้างมัสญิด, สะพานข้ามแม่น้ำและขุดคลองชลประทาน ตลอดจนการสร้างเมืองท่า และสวนพฤกษชาติเป็นจำนวนมาก ร่องรอยทางสถาปัตยกรรมและป้อมปราการที่อัลมุวะฮฺฮิดูนได้สร้างเอาไว้ยังคงเป็นที่ปรากฏอยู่จวบจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะหออะซานของมัสญิดญามิอฺ ในนครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) และหอสูงที่ตั้งตระหง่านและงดงามด้วยสถาปัตยกรรมซึ่งเรียกกันว่า บุรจญ์ ซะฮะบีย์ (หอทองคำ)

 

ในปีฮ.ศ.671/คศ.1273 อัลฟองซัวที่ 10 (Alfonso x) ได้เริ่มโจมตีครั้งใหม่ต่อเขตแดนที่ขึ้นกับอาณาจักรฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) หลังจากที่บิดพลิ้วในการทำสนธิสัญญาสงบศึกก่อนหน้านั้น อิบนุ อัลอะฮฺมัรจึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังยะอฺกู๊บ อิบนุ อับดิลฮักฺ ซุลตอนแห่งอาณาจักรบะนู มะรีนในมอรอคโค กองทัพผสม 2 ฝ่ายของมุสลิมสามารถต้านทานการโจมตีของพวกคริสเตียนเอาไว้ได้ แต่อิบนุ อัลอะฮฺมัรได้สิ้นชีวิตลงเสียก่อนในปีเดียวกันนั้น มุฮำหมัด อิบนุ มุฮำหมัด อิบนิ อัลอะฮฺมัร บุตรชายของเขาที่มีฉายานามว่า อัลฟะกีฮฺ ก็สืบทอดอำนาจต่อมา

 

เมื่อการคุกคามของอาณาจักรคริสเตียนยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อัลฟะกีฮฺ จึงขอความช่วยเหลือไปยังพวกบะนู มะรีน, ยะอฺกู๊บ อิบนุ อับดิลฮักฺซึ่งมีฉายานามว่า อัลมันซูร จึงส่งกองทัพภายใต้การนำของยูซุฟ บุตรชายของตนจำนวน 5,000 คน ในปีฮ.ศ.673 มายังอัลอันดะลุส กองทัพของอัลฟะกีฮฺก็รวมพลกับกองหนุนของพวกบะนู มะรีน และเคลื่อนกำลังพลออกจากญะบัล ตอริก มุ่งหน้าขึ้นสู่ตอนเหนือยังเมืองโคโดบาฮฺ ซึ่งกลายเป็นนครหลวงของพวกกิชตาละฮฺไปแล้วในเวลานั้น

 

กองทัพคริสเตียนซึ่งมีดอน นูนิโอ เดอ ลาร่า เป็นแม่ทัพก็ออกมาเผชิญหน้ากับกองทัพมุสลิม ฝ่ายคริสเตียนมีกำลังพล 90,000 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เข้มแข็งและเจนศึก ในขณะที่กำลังพลของมุสลิมมีจำนวนไม่เกิน 10,000 คน การรบพุ่งได้เกิดขึ้นใกล้ๆ กับเมืองอัสตะญะฮฺ (Astorga) ในวันที่ 15 ร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีฮ.ศ.673 เรียกสมรภูมินี้ว่า อัดดะนูนียะฮฺ (อ้างถึงดอน นูนิโอ ซึ่งเป็นแม่ทัพของกองทัพกิชตาละฮฺ) ฝ่ายมุสลิมถึงแม้จะมีจำนวนน้อยกว่าแต่ก็สู้ด้วยขวัญกำลังใจที่มั่นต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จนกระทั่งพวกคริสเตียนต้องแตกพ่ายและถูกสังหารเป็นจำนวน 6,000 คน และตกเป็นเชลย 7,800 คน

 

ฝ่ายมุสลิมได้ยึดทรัพย์สงครามได้เป็นอันมาก หลังเสร็จศึกในสมรภูมิอัดดะนูนียะฮฺ กองทัพของมุสลิมก็แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งนำโดยอิบนุ อัลอะฮฺมัร มุ่งหน้าเข้าปิดล้อมเมืองญิยาน (Jaen) และสามารถเอาชนะกองทัพคริสเตียนได้ในที่สุด

 

ส่วนที่สองอัลมันซูรได้นำทัพของตนเข้าปิดล้อมนครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) จนกระทั่งชาวเมืองยอมจำนนและยอมจ่ายบรรณาการแก่เขา การส่งกองทัพเข้าร่วมสนับสนุนของพวกบะนู มะรีนทำให้อาณาจักรฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) ยังคงดำรงอยู่ในอัลอันดะลุสต่อมาอีกร่วม 2 ศตวรรษ อัลมันซูร อัลมะรีนีย์ อยู่ในอัลอันดะลุสเป็นเวลา 5 เดือน หลังจากนั้นก็เดินทางกลับสู่มอรอคโคโดยทิ้งทหารรักษาการณ์จำนวน 3,000 คนเอาไว้ ในอัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺ (Algeciras) เพื่อคอยช่วยเหลือพลเมืองอัลอันดะลุสในกรณีเกิดการคุกคามจากกองทัพคริสเตียนครูเสด

 

ในปีฮ.ศ.677/คศ.1278 อัลมันซูร อัลมะรีนีย์ได้กลับสู่อัลอันดะลุสอีกครั้งและพบกับอิบนุ อัลอะฮฺมัร อัลฟะกีฮฺและรวมทัพกันเข้าปิดล้อมนครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ซึ่งผิดสัญญาที่เคยกระทำไว้กับกองทัพของบะนู มะรีนและสามารถพิชิตป้อมปราการของพวกคริสเตียนได้หลายแห่ง ต่อมาอัลมันซูรก็ส่งกองทัพภายใต้การนำของบุตรชายของเขาเพื่อเข้าปิดล้อมนครโคโดบาฮฺ ภายหลังอัลมันซูรก็นำทัพติดตามมาสมทบกษัตริย์คริสเตียนจึงยื่นข้อเสนอให้ประนีประนอมโดยยอมจ่ายบรรณาการแก่กองทัพมุสลิม

 

เมื่อเสร็จศึกในการปิดล้อมนครโคโดบาฮฺแล้ว อัลมันซูร และอิบนุ อัลอะฮฺมัร อัลฟะกีฮฺก็กลับสู่ฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) อัลมันซูรได้มอบทรัพย์สงครามที่ยึดมาได้ทั้งหมดแก่พลเมืองอัลอันดะลุส และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ผู้ปกครองเมืองมาลิเกาะฮฺซึ่งเป็นรัฐอิสระที่ขึ้นกับฆอรนาเฏาะฮฺแต่เพียงในนาม บุตรชายของผู้ปกครองเมืองมาลิเกาะฮฺ (Malaga) ก็ยอมสละเมืองแก่พวกบะนู มะรีนและส่งตัวแทนไปพบอัลมันซูรเพื่อแจ้งถึงการสวามิภักดิ์ของตน อัลมันซูรจึงได้แต่งตั้ง อบูซัยยาน บุตรชายของตนเป็นเจ้าเมืองมาลิเกาะฮฺ ซึ่งกลายเป็นฐานทัพของพวกบะนู มะรีนในอัลอันดะลุสด้วยเหตุนั้น

 

เหตุการณ์ดังกล่าวได้นำมาซึ่งความวิตกจริตของอิบนุ อัลอะฮฺมัร อัลฟะกีฮฺที่มีต่ออัลมันซูร อัลมะรีนีย์ ซึ่งเขากริ่งเกรงว่าอัลมันซูรอาจจะยื้อแย่งอำนาจจากตนในภายหลังเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วระหว่างอัลมุอฺตะมัด อิบนุ อับบาด กับ ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีน ในที่สุดอิบนุ อัลอะฮฺมัร อัลฟะกีฮฺ ก็สิ้นคิดด้วยการลักลอบส่งคนไปเจรจากับพวกคริสเตียนกิชตาละฮฺให้เป็นพันธมิตรของฆอรนาเฏาะฮฺและกิชตาละฮฺจึงเคลื่อนกำลังพลสู่อัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺ (Algeciras) ซึ่งมีทหารบะนู มะรีน ประจำการอยู่ 3,000 คน ทหารบะนู มะรีนจึงขอความช่วยเหลือไปยังมอรอคโค อัลมันซูร อัลมะรีนีย์จึงส่งบุตรชายของตนให้นำกองทัพเรือจำนวน 400 ลำ มุ่งหน้าสู่อัลอันดะลุส

 

พวกคริสเตียนกิชตาละฮฺจึงส่งกองทัพเรือของพวกตนเข้าขัดขวางในบริเวณช่องแคบญิบรอลต้า (Gibralta) มีการทำยุทธนาวีที่นั่นอย่างดุเดือด จนกองทัพเรือของคริสเตียนต้องล่าถอย ฝ่ายกองทัพบกของคริสเตียนก็ปราชัยเช่นกัน พวกคริสเตียนจึงปล่อยให้อิบนุ อัลอะฮฺมัร อัลฟะกีฮฺ ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เพียงลำพัง ในที่สุดเขาก็ไม่มีทางเลือกนอกจากยอมรับกับความผิดพลาดของตนและขออภัยต่ออัลมันซูร อัลมะรีนีย์ต่อสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป อัลมันซูรยอมรับคำขอโทษและให้บุตรชายของตนบัญชาการอยู่ในอัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺ (Algeciras) ต่อไป

 

แต่ทว่ายูซุฟ อิบนุ มันซูรได้อาศัยช่วงเวลาที่อัลมันซูรบิดาของตนกำลังมีศึกติดพันกับพวกกบฏในแอลจีเรีย ส่งคนไปติดต่อกับพวกิชตาละฮฺ (Castile) เสียเองเพื่อคิดบัญชีกับอิบนุ อัลอะฮฺมัร อัลฟะกีฮฺ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดถนัด ในภายหลังอัลมันซูร อัลมะรีนีย์ ก็ทราบเรื่องทั้งหมดจึงส่งคนไปตำหนิบุตรชายของตนอย่างรุนแรงโดยกล่าวว่า : เจ้าจะแก้ไขปัญหาการคิดคดทรยศด้วยการคิดคดทรยศ และขจัดอาชญากรรมด้วยการกระทำอาชญากรรมกระนั้นหรือ? สถานการณ์จึงสงบลง สันติภาพและความปลอดภัยก็แผ่ปกคลุมฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) มีการทำความเข้าใจระหว่างกันจนบรรยากาศทั่วไประหว่างบะนู มะรีนและบะนู อัลอะฮฺมัรก็ดีขึ้นตามลำดับ

 

ในปีฮ.ศ.681/คศ.1282 ชานญะฮฺ (Sancho)โอรสของอัลฟองซัวที่ 10 ได้ก่อการกบฏแย่งชิงบัลลังก์จากบิดาของตนได้สำเร็จ อัลฟองซัวจึงลี้ภัยสู่ยุโรปและขอความช่วยเหลือจากบรรดาผู้ปกครองรัฐคริสเตียนและพระสันตะปาปาให้ช่วยแย่งชิงอำนาจของตนกลับคืนแต่ไม่มีผู้ใดให้การตอบรับเพราะเป็นปัญหาภายในที่ไม่มีผู้ใดอยากเข้ามาแทรกแซง ซึ่งแน่ล่ะ! ถ้าหากเป็นปัญหาพิพาทระหว่างมุสลิมกับคริสเตียนแล้วละก้อ พวกเขาย่อมไม่รีรอเลยแม้แต่น้อย!

 

อัลฟองซัวที่ 10 กษัตริย์ผู้สูญเสียบัลลังก์ต้องกลับสู่อัลอันดะลุส และตัดสินใจข้ามช่องแคบญิบรอลต้าเพื่อมุ่งหน้าสู่มอรอคโคและเข้าพบอัลมันซูร อัลมะรีนีย์เพื่อขอความช่วยเหลือในการนำเอาอำนาจของตนกลับคืนมา อัลฟองซัวจุมพิตมือของอัลมันซูรในครั้งนั้นซึ่งมีรายงานระบุว่า อัลมันซูรได้ล้างมือของตนหลังจากการจุมพิตนั้นเพราะถือตามทัศนะของนักวิชาการฝ่ายอัซซอฮิรีย์ ที่ถือว่าบรรดาผู้ตั้งภาคีเป็นผู้มีมลทิน (นะยิส)

 

นอกจากนี้เขายังได้มอบมงกุฎของตนแก่อัลมันซูรเพื่อเป็นสิ่งค้ำประกัน อัลมันซูรตอบรับคำขอร้องของเขา กองทัพของบะนู มะรีนจึงยกกำลังพลข้ามฝั่งเพื่อร่วมสมทบกับกองทหารในอัลอันดะลุสและมุ่งหน้าสู่นครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) และกุรฏุบะฮฺ (Cordova) กองทัพของบะนู มะรีนและอัลอันดะลุสสามารถพิชิตป้อมปราการได้หลายแห่ง การโจมตีเขตแดนของคริสเตียนดำเนินต่อไปตลอดระยะเวลา 2 ปีเต็ม ในระหว่างนั้น อัลฟองซัวที่ 10 ก็สิ้นพระชนม์ในปีฮ.ศ.683 ชานญะฮฺ (Sancho) โอรสของเขาจึงมีอำนาจเหนืออาณาจักรกิชตาละฮฺแต่เพียงผู้เดียว และอัลมันซูรก็เดินทางกลับสู่มอรอคโค

 

ในปีฮ.ศ.684 อัลมันซูร อัลมะรีนีย์ได้ข้ามฝั่งสู่อัลอันดะลุสอีกครั้งเพื่อหยุดยั้งการคุกคามของอาจักรกิชตาละฮฺ (Castile) ที่มีต่อเส้นพรมแดนของฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) การรบพุ่งทั้งทางบกและทางทะเลเป็นไปอย่างหนักหน่วงทำให้ชานญะฮฺ (Sancho) จำต้องเรียกร้องให้หย่าศึกอัลมันซูรยอมรับข้อเสนอแต่มีเงื่อนไขว่า :

1)  กษัตริย์ชานญะฮฺ (Sancho) ต้องให้สัญญาว่าจะไม่กดขี่ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในอัลอันดะลุส และรับรองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขา

2)  กษัตริย์ชานญะฮ์ (Sancho) ต้องส่งมอบตำรับตำราที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในบรรดาหัวเมืองที่ตกอยู่ในกำมือของคริสเตียน เช่น เมืองฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) และอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) เป็นต้น กษัตริย์ชานญะฮฺยอมทำตามเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ในทุกวันนี้ตำรับตำราที่เป็นมรดกทางวิชาการของอัลอันดะลุสยังคงหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมากในมอรอคโค

 

ในปีฮ.ศ.685/คศ.1286 อบูยูซุฟ อัลมันซูร อัลมะรีนีย์ก็สิ้นชีวิต หลังจากที่เขาได้เข้าร่วมในการทำการญิฮาดและใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของตนในการข้ามฝั่งไปมาระหว่างมอรอคโคกับอัลอันดะลุสเพื่อกู้สถานการณ์ของชาวมุสลิมในอัลอันดะลุส ตลอดจนการแผ่ขยายอำนาจของบะนู มะรีนในเขตแอฟริกาเหนือจนทำให้อิทธิพลของพวกอัลมุวะฮฺฮิดูนสิ้นสุดลง

 

อบูยะอฺกู๊บ ยูซุฟ อิบนุ มันซูร อัลมะรีนีย์ก็ขึ้นเป็นผู้ปกครองอาณาจักรอัลมะรีนีย์สืบต่อมา ยูซุฟเคยเข้าร่วมในการญิฮาดกับบิดาของตนมาก่อนแล้วในอัลอันดะลุส และเคยคิดผิดในขณะที่เขาเคยขอความช่วยเหลือจากพวกคริสเตียนเพื่อสั่งสอนอิบนุ อัลอะฮฺมัร แต่ในภายหลังเขาก็อยู่ในร่องในรอยเมื่อถูกอัลมันซูร บิดาของตนตำหนิอย่างรุนแรงถึงความผิดพลาดดังกล่าว ฝ่ายอิบนุ อัลอะฮฺมัร อัลฟะกีฮฺก็ข้ามฝั่งไปยังมอรอคโคเพื่อแสดงความยินดีกับยูซุฟในการขึ้นดำรงตำแหน่งสืบต่อจากบิดา และประกาศสารภาพผิดต่อสิ่งที่ตนได้เคยกระทำลงไป

 

ยูซุฟ ไม่ได้ติดใจเอาความอันใดกับอัลฟะกีฮฺ และขอเอาเมืองฏ่อรีฟ (Tarifa) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับญะบัล ตอริก (Gibralta) เพื่อเป็นที่มั่นทางทหารของบะนู มะรีนในส่วนปลายสุดของอัลอันดะลุส อัลฟะกีฮฺก็ยินยอมความสัมพันธ์ระหว่างบะนู มะรีนและบะนู อัลอะฮฺมัรก็กลับคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้งจนกระทั่งถึงปีฮ.ศ.690 พวกคริสเตียนซึ่งอาศัยช่วงเวลาที่มีสนธิสัญญาสงบศึกกับฝ่ายมุสลิมในการรวบรวมกำลังพลและฟื้นฟูกองทัพก็ทำการผิดสัญญาอีกครั้ง ยูซุฟ อัลมะรีนีย์ก็นำทัพบะนู มะรีนเพื่อข้ามฝั่งสู่อัลอันดะลุส โดยที่กองทัพคริสเตียนกิชตาละฮฺ (Castile) ได้เตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับฝ่ายมุสลิมทั้งทางบกและทางทะเล

 

กองทัพเรือของกิชตาละฮฺได้ขัดขวางกองทัพเรือของบะนู มะรีนบริเวณช่องแคบญิบรอลต้ามีการทำยุทธนาวีอย่างรุนแรงจนฝ่ายกองทัพมุสลิมเริ่มเสียกระบวน แต่ยูซุฟ อัลมะรีนีย์ก็นำเรือที่ตนบัญชาการเข้าจู่โจมกองเรือคริสเตียนอย่างกล้าหาญ เมื่อกองเรือของมุสลิมที่กำลังล่าถอยเห็นเช่นนั้นจึงได้รวมกำลังเข้าโจมตีกองเรือของคริสเตียนอีกครั้ง ในที่สุดชัยชนะก็ตกเป็นของกองทัพเรือมุสลิม กองเรือรบของคริสเตียนก็ล่าถอยไปในที่สุด

 

ในปีฮ.ศ.691/คศ.1292 อบูยะอฺกู๊บ ยูซุฟ อัลมะรีนีย์ได้ข้ามสู่ฝั่งอัลอันดะลุสที่อัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺและนำทัพมุ่งหน้าสู่นครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) เข้าปิดล้อมเพื่อหวังตีนครแห่งนี้กลับคืน แต่ทว่า ฤดูหนาวที่มีอากาศเย็นจัดได้ทำให้ยูซุฟ อัลมะรีนีย์จำต้องนำทัพของตนกลับสู่อัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺ (Algeciras) การปิดล้อมนครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) จึงยกเลิกไป และแล้ว อิบนุ อัลอะฮฺมีร อัลฟะกีฮฺ ก็กลับมาทรยศต่อพวกบะนู มะรีน อีกครั้งด้วยการลอบส่งคนของตนไปติดต่อกับพวกคริสเตียนเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรในการโจมตีพวกบะนู มะรีนในเมืองฏ่อรีฟ (Tarifa) ซึ่งเป็นที่มั่นของกองทัพบะนู มะรีนในอัลอันดะลุสในเวลานั้น

 

พวกบะนู มะรีนกำลังมีศึกติดพันกับสถานการณ์ในมอรอคโคกระนั้นอบู ยะอฺกู๊บ อัลมะรีนีย์ก็ส่งกองเรือรบของตนเพื่อมาช่วยเหลือพลเมืองฏ่อรีฟ (Tarifa) พวกคริสเตียนกิชตาละฮฺ (Castile) ได้ส่งกองเรือรบที่เตรียมเอาไว้เข้าขัดขวางกองเรือรบของพวกบะนู มะรีน การสู้รบระหว่างกองทัพพันธมิตรคริสเตียนและฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) กับกองทัพบกและกองทัพเรือของบะนู มะรีนเป็นไปอย่างดุเดือดจนกระทั่งพวกคริสเตียนและกองหนุนของอิบนุ อัลอะฮฺมัร อัลฟะกีฮฺ สามารถรุกเข้าตีเมืองฏ่อรีฟ (Tarifa) ได้สำเร็จหลังจากปิดล้อมเมืองนี้ตลอดระยะเวลา 4 เดือน

 

ข้อตกลงระหว่างอัลฟะกีฮฺและพวกคริสเตียนก็คือพวกคริสเตียนต้องส่งมอบเมืองที่ถูกพิชิตให้แก่อิบนุ อัลอะฮฺมัร อัลฟะกีฮฺ แต่ทว่าพวกคริสเตียนกลับปฏิเสธที่จะมอบดินแดนเหล่านั้นแก่อัลฟะกีฮฺและนี่คือผลพวงของการทรยศบิดพลิ้วที่อิบนุ อัลอะฮฺมัร อัลฟะกีฮฺได้รับ!

 

อีกครั้งที่อิบนุ อัลอะฮฺมัร อัลฟะกีฮฺมีความเศร้าใจต่อการกระทำที่สิ้นคิดของตน เขาจึงข้ามฝั่งไปยังมอรอคโคและติดต่อกับอบูยะอฺกู๊บ อัลมะรีนีย์เพื่อขอความเห็นใจและยอมรับถึงความผิดของตน อบูยะอฺกู๊บจึงยกโทษให้ อิบนุ อัลอะฮฺมัร อัลฟะกีฮฺยังได้ยอมสละป้อมทั้งหมดในอัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฏรออฺ (Algeciras) และเมืองรินดะฮฺ (Ronda) แก่อบูยะอฺกู๊บ ยูซุฟ อัลมะรีนีย์

 

ต่อมากองทัพพันธมิตรมุสลิมสองฝ่าย (บะนูมะรีน – ฆอรนาเฏาะฮฺ) ก็ดำเนินการเพื่อยึดนครฏ่อรีฟ (Tarifa) กลับคืน แต่การดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งพวกกองทัพของคริสเตียนมีกำลังกล้าแข็งและสร้างป้อมปราการเพื่อรักษาเมืองเอาไว้อย่างแน่นหนา ซึ่งถ้าหากไม่มีการทรยศของอิบนุ อัลอะฮฺมีร อัลฟะกีฮฺแล้วพวกคริสเตียนก็ย่อมไม่สามารถได้รับประโยชน์จากสิ่งดังกล่าว และเมืองฏ่อรีฟ (Tarifa) ก็คงไม่เสียแก่พวกคริสเตียน

อิบนุ อัล-อะฮฺมัร ผู้ที่ประวัติศาสตร์ จารึกว่าเป็นผู้ทรยศ

ในปีฮ.ศ.701/คศ.1302 อิบนุ อัลอะฮฺมัร มุฮำหมัดที่ 2 อัลฟะกีฮฺ ได้สิ้นชีวิต อบูอับดิลลาฮฺ มุฮำหมัดที่ 3 บุตรของมุฮำหมัด อิบนุ มุฮำหมัด อิบนิ อัลอะฮฺมัร ซึ่งมีฉายานามว่า อัลอะอฺมัช (คนตาแฉะ) ก็สืบทอดอำนาจต่อมา อบูอับดิลลาฮฺ มุฮำหมัดที่ 3 ผู้นี้เป็นผู้ที่มีบุคลิกอ่อนแอ ไม่มีความเหมาะสมสำหรับการเป็นผู้ปกครอง อบูอับดิลลาฮฺ อัลหะกีม เสนาบดีของเขาจึงมีอิทธิพลครอบงำมุฮำหมัดที่ 3 และกุมอำนาจในการบริหารอาณาจักร ฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) มุฮำหมัดที่ 3 อัลอะอฺมัชจึงเป็นเพียงผู้ปกครองอาณาจักรแต่ในนามเท่านั้น

 

เสนาบดีอัลหะกีม ผู้นี้ได้พยามยามสร้างความร้าวฉานระหว่างบะนู อัลอะฮฺมัรและบะนู มะรีน และส่งตัวแทนไปติดต่อกับพวกคริสเตียน การทรยศหักหลังก็ปรากฏขึ้นอีกครั้งในฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) ผลพวงของความทุรยศได้เลวร้ายมากขึ้นเมื่อเสนาบดี อัลหะกีมได้ฉวยโอกาสขณะที่พวกบะนู มะรีนกำลังมีศึกติดพันกับพวกกบฏในแอลจีเรีย ในเขตเมืองติลมิซาน ด้วยการส่งกองทัพจากอัลอันดะลุสเข้ายึดครองเมืองซิบตะฮฺ (Ceuta) ภายใต้การนำของฟัรฺจญ์ อิบนุ อบิลวะลีด อิสมาอีล ฝ่ายมุสลิมกำลังรบพุ่งกันเองในขณะที่พวกคริสเตียนกลับมีความเป็นเอกภาพ (กิชตาละฮฺ, อรากอน และโปรตุเกส)

 

ต่อมาสถานการณ์ก็เลวร้ายหนักลงไปอีก เมื่อเสนาบดี อัลหะกีมก็ประกาศการกบฏลุกฮือต่อพวกบะนู มะรีน และสร้างความแตกแยกระหว่างพวกบะนู มะรีนด้วยกันเอง กล่าวคือ เขาได้แต่งตั้งอุสมาน อิบนุ อบิลฺอะลาอฺ ซึ่งเป็นพวกบะนู มะรีนให้เป็นผู้ปกครองเมืองซิบตะฮฺ (Ceuta) ทำให้เกิดการรบพุ่งกันเองระหว่างพวกบะนู มะรีนในมอรอคโคโดยมีพลเมืองอัลอันดะลุสเป็นผู้จุดไฟแห่งความสับสนวุ่นวายเสียเอง ทำให้อบูยะอฺกู๊บ ยูซุฟ อัลมะรีนีย์ ซุลตอนแห่งบะนู มะรีนต้องเศร้าใจและเสียชีวิตด้วยความทุกข์ระทม อบูซาบิต อิบนุ อบีอามิร จากบะนู มะรีนก็สืบทอดอำนาจต่อมา

 

แต่ลุงของอบู ซาบิตกลับไม่พอใจและก่อการกบฏต่อซุลตอนคนใหม่ของพวกบะนู มะรีนทำให้อาณาจักรบะนู มะรีนต้องแตกออกเป็น 3 ส่วนที่ขัดแย้งกันเองคือ

1.  อุสมาน อิบนุ อบิลฺอะลาอฺ และพรรคพวกของเขาที่ปกครองเมืองซิบตะฮฺ (Ceuta)

2.  อบูซาบิต อิบนุ อบีอามิรและทหารบะนู มะรีน

3.  อบูซาลิม ลุงของอบูซาบิต อิบนุ อบีอามิรและผู้ให้การสนับสนุนมีการพิพาทระหว่าง 3 ฝ่ายโดยอบูซาบิต สามารถปราบปรามลุงของตนและยกกองทัพเข้าปิดล้อมเมืองซิบตะฮฺ (Ceuta) แต่อบูซาบิตได้เสียชีวิตในระหว่างการปิดล้อม ซุลตอน อบูอัรร่อบีอฺซึ่งสืบทอดอำนาจต่อมาก็รับช่วงในการปิดล้อมจนกระทั่งอุสมาน จำต้องหลบหนีไปสู่อัลอันดะลุส และทิ้งเมืองซิบตะฮฺ (Ceuta) ในที่สุด

 

สถานการณ์ของฝ่ายคริสเตียนในเวลานั้นเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพพวกคริสเตียนสามารถยึดครองแผ่นดินอัลอันดะลุสและหัวเมืองต่างๆ ได้เกือบทั้งหมด อีกทั้งยังสามารถเข้ายึดครองเมืองฏ่อรีฟ (Tarifa) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์ระหว่างอัลอันดะลุสกับมอรอคโค

 

ในปีฮ.ศ.708/คศ.1308 เฟอร์นานโดที่ 4 (Fernando IV (Castile) ได้นำทัพของตนมุ่งหน้าสู่เมืองอัลมะรียะฮฺ (Almeria) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญที่สุดเมืองหนึ่งของอาณาจักรฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) และเป็นเมืองแห่งกองทัพเรือของมุสลิม ในเวลาเดียวกันนั้น ญัยมิชที่ 2 (Jaime II) กษัตริย์แห่งอรากอนก็นำทัพเข้าปิดล้อมเมืองญะบัลตอริก (Gibralta) อีกด้านหนึ่งเอาไว้ ทั้งๆ ที่มีสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างมุสลิมกับคริสเตียน ซึ่งสนธิสัญญาย่อมไม่มีความหมายอันใดเมื่อฝ่ายมุสลิมอ่อนแอ

 

ผู้ปกครองอาณาจักรฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) ในช่วงเวลานั้น คือ มุฮำหมัด อัลอะอฺมัช ภายในราชสำนักของฆอรนาเฏาะฮฺเกิดการแก่งแย่งอำนาจในระหว่างวงศ์อัลอะฮฺมัร นัซรฺ อิบนุ มุฮำหมัดได้ก่อการกบฏต่ออัลอะอฺมัชและยึดอำนาจพร้อมปลดอัลอะอฺมัชออกจากตำแหน่ง นัซรฺ อิบนุ มุฮำหมัด เรียกขานฉายานามให้กับตนเองว่า อบู อัลญุยูช (บิดาแห่งกองทัพ)!

 

การขัดแย้งดังกล่าวได้ทำให้ฆอรนาเฏาะฮฺไม่สามารถให้การช่วยเหลือเมืองอัลมะรียะฮฺและญะบัลตอริกได้ จนกระทั่งในที่สุด เมืองญะบัลตอริกก็เสียแก่พวกคริสเตียนในปีฮ.ศ.709 เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ นัซรฺ อบุลญุยูช จึงขอความช่วยเหลือไปยังพวกบะนู มะรีนในแอฟริกาเหนือ การปิดล้อมเมืองอัลมะรียะฮฺ (Almeria) ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง พวกคริสเตียนไม่สามารถเข้ายึดตัวเมืองได้ ในขณะที่พวกบะนู อัลอะฮฺมัรก็ไม่สามารถทำอะไรพวกคริสเตียนได้เช่นกัน

 

พวกคริสเตียนได้ทำการขุดอุโมงค์ใต้กำแพงเมืองอัลมะรียะฮฺ หลายจุดแต่ละจุดนั้นทหารสามารถลอดผ่านอุโมงค์ได้ราว 29 คน เมื่อชาวเมืองอัลมะรียะฮฺรู้ว่าพวกคริสเตียนขุดอุโมงค์เข้ามา พวกเขาก็เริ่มขุดอุโมงค์เข้าหาอุโมงค์ของพวกคริสเตียน ทหาร 2 ฝ่ายได้เผชิญหน้าและสู้รบกันภายใต้พื้นดินในอุโมงค์เหล่านั้น ฝ่ายอุสมาน อิบนุ อบิลอะลาอฺ ซึ่งหลบหนีจากเมืองซิบตะฮฺ (Ceuta) ไปยังอัลอันดะลุสเห็นว่าสถานการณ์เข้าขั้นคับขัน จึงได้เตรียมกองกำลังของตนมุ่งหน้าสู่เมืองอัลมะรียะฮฺ ประจวบกับกองทหารบะนู มะรีนได้มาถึงพอดี จึงรวมกำลังกันเข้าโจมตีพวกทหารคริสเตียนที่ปิดล้อมเมืองอย่างหนักหน่วง ในที่สุดกองทัพคริสเตียนก็ปราชัย การปิดล้อมเมืองอัลมะรียะฮฺก็สิ้นสุดลง ฝ่ายมุสลิมได้ยึดทรัพย์สงครามเป็นอันมากจากพวกคริสเตียน

 

ยามที่พวกเราแตกแยกและขัดแย้งกันเอง เราย่อมสูญเสีย
สูญเสียเมืองฏ่อรีฟและญะบัลตอริก
และในยามที่เรามีสามัคคีและร่วมมือกัน เราย่อมสามารถ
กู้สถานการณ์วิกฤติและอัลมะรียะฮฺก็รอดพ้นจากกรงเล็บของศัตรู
ทว่า ผู้มีความยำเกรงและผู้มีปัญญาไปอยู่เสียที่ไหน?
ชัยชนะที่จะได้มาจะจีรังยั่งยืนกระนั้นหรือ?

 

มาบัดนี้ คงเหลือแต่เมืองฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในตอนปลายสุดของอัลอันดะลุส ฆอรนาเฏาะฮฺต้องสูญเสียป้อมปราการและเขตแดนของตนอันเนื่องมาจากความทุรยศและบิดพลิ้วที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมุสลิมเอง เมืองฏ่อรีฟและฐานที่มั่นในญะบัล ตอริก (Gibralta) ต้องถูกยึดครองไปในที่สุด?

 

ในปีฮ.ศ.741/คศ.1340 ซุลตอน อบุลหะซัน อัลมะรีนีย์ ซึ่งนับเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดผู้หนึ่งของอาณาจักรบะนู มะรีนได้ขึ้นครองอำนาจ และอยู่ร่วมสมัยกับอบุลฮัจญ์ญาจฺ ผู้ปกครองฆอรนาเฏาะฮฺ บุคคลทั้งสองได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างแนวร่วมแห่งเอกภาพในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามของพวกคริสเตียน และยังได้สัญญาว่าจะร่วมกันตีคืนเมืองหน้าด่านและป้อมปราการที่สูญเสียไปกลับมาอีกครั้ง ผลจากการร่วมมือทางการทหารครั้งนี้ทำให้ฝ่ายมุสลิมสามารถตีญะบัล ตอริก (Gibralta) กลับคืนมาได้สำเร็จ

 

ฝ่ายอบุลหะซัน อัลมะรีนีย์ ได้ข้ามช่องแคบญิบรอลต้าพร้อมด้วยกองทัพของตนเพื่อตีชิงเมืองฏ่อรีฟ (Tarifa) กลับคืนโดยอบุลฮัจญ์ญาจฺ ผู้ปกครองฆอรนาเฏาะฮฺได้สนับสนุนกองทหารและทรัพย์สินเพื่อการณ์นี้ แต่ทว่าพวกคริสเตียนได้รวมตัวเป็นพันธมิตรและมีกองทหารสนับสนุนจากอังกฤษตามคำบัญชาของพระสันตะปาปาที่ประกาศสงครามครูเสดกับฝ่ายมุสลิม กองเรือรบของอังกฤษซึ่งบรรทุกทหารอาสาคริสเตียนมาด้วยได้มาถึงช่องแคบญิบรอลต้าเพื่อขัดขวางการส่งกำลังบำรุงจากมอรอคโคของกองทัพบะนู มะรีนในอัลอันดะลุส สถานการณ์ฝ่ายมุสลิมจึงเกิดความระส่ำระสาย เพราะไม่มีกำลังหนุนจากภาคใต้ที่มาจากมอรอคโคในขณะที่พวกศัตรูกำลังโจมตีอยู่ทางด้านเหนือ เสบียงก็ร่อยหรอลง

 

กระนั้นกองทัพมุสลิมภายใต้การบัญชาการของอบุลหะซัน และอบุลฮัจญ์ญาจฺ ก็ยังทำการต่อสู้อย่างเข้มแข็งจนกระทั่งกองทัพของโปรตุเกสได้เข้าร่วมในการศึกเพื่อสนับสนุนชาวคริสเตียนตามบัญชาของพระสันตะปาปา กองทัพมุสลิมจึงต้องเผชิญกับกองทัพของคริสเตียนถึง 3 ด้านในเวลาเดียวกัน พวกโปรตุเกสสามารถจู่โจมแนวรบทางตะวันตกของกองทัพมุสลิมและบุกทะลวงจนเข้าถึงเต้นท์บัญชาการของอบุลหะซัน อัลมะรีนีย์ บรรดาทหารองครักษ์ได้ทำการต่อสู้อย่างไม่คิดชีวิตเพื่อคุ้มกันซุลตอน พวกทหารโปรตุเกสได้สังหารทหารองครักษ์ล้มตายเป็นจำนวนมากรวมถึงจับบุตรชายของอบุลหะซันเป็นเชลยศึก

 

ส่วนตัวอบุลหะซัน อัลมะรีนีย์สามารถหลบหนีและเข้าร่วมสมทบกับบรรดาทหารหาญจำนวนหนึ่งโดยหลบหนีมุ่งหน้าสู่อัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฏรออฺ (Algeciras) ญะบัล ตอริก และเมืองซิบตะฮฺในมอรอคโคตามลำดับ ฝ่ายอบุลฮัจญ์ญาจฺ กษัตริย์ฆอรนาเฏาะฮฺก็สามารถหลบหนีเอาชีวิตรอดได้เช่นกัน ฝ่ายกองทัพมุสลิมต้องเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนมากในการศึกที่เมืองฏ่อรีฟ (Tarifa)

 

ส่วนหนึ่งเป็นนักวิชาการคนสำคัญ อันได้แก่ อบูมุฮำหมัด อับดุลลอฮฺ อิบนิ สะอีด อัซซัลมานีย์ บิดาของลิซานุดดีน อิบนุ อัลค่อฏีบ, อัลกอฎีย์ อบู อับดิลลาฮฺ มุฮำหมัด อิบนุ บักร์ อัลมาลิกีย์ กอฎีย์แห่งฆอรนาเฏาะฮฺและเป็นครูคนหนึ่งของอิบนุ อัลค่อฏีบ, มุฮำหมัด อิบนุ ญุซัยย์ ผู้ประพันธ์หนังสืออัตตัซฮีล ฟี อัตตัฟซีร ส่วนครอบครัวของอบุลหะซันที่ตกเป็นเชลยศึกถูกสังหารทั้งหมดอย่างโหดเหี้ยม

 

สมรภูมิ ณ เมืองฏ่อรีฟ นับเป็นความปราชัยครั้งใหญ่สำหรับชาวมุสลิม ทำให้รำลึกถึงสมรภูมิอัลอิก๊อบ (Las Navas de Tolosa) ในอดีตเมื่อครั้งอาณาจักรอัลมุวะฮฺฮิดูน หลังจากนั้นกองเรือรบของคริสเตียนก็สามารถยึดครองป้อมและที่มั่นสำคัญของฝ่ายมุสลิมอีกหลายแห่ง เช่น ป้อมอบูสะอีด เมื่ออบุล ฮัจญ์ญาจฺได้กลับถึงฆอรนาเฏาะฮฺแล้วเขาก็เริ่มเคลื่อนกำลังกองทัพเรือของตนเพื่อปกป้องหัวเมืองอัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺ แต่อบุลฮัจญ์ญาจฺก็ต้องปราชัยอีกครั้งเพราะเขารีบเร่งในการจัดเตรียมกองเรือรบที่ฉุกละหุกเกินไปนั่นเอง กองเรือรบของฝ่ายศัตรูจึงได้ทำการปิดล้อมอัลญะซีเราะฮฺ เอาไว้ทั้งหมดทุกด้านจากทางทะเล

สมรภูมิ ณ เมืองฏอรีฟ วาดโดยศิลปินชาวตะวันตก

พระสันตะปาปาได้มีบัญชาให้อังกฤษส่งกองทัพเรือของตนเพื่อเข้าร่วมสมทบอีกด้วย การปิดล้อมอัลญะซีเราะฮฺกินเวลาถึง 3 ปีครึ่ง โดยที่กองทัพจากฆอรนาเฏาะฮฺไม่สามารถตีฝ่าการปิดล้อมของพวกคริสเตียนได้ ชาวเมืองจึงยอมจำนน ในปีฮ.ศ.743/คศ.1342 และอพยพลี้ภัยออกจากเมืองสู่ฆอรนาเฏาะฮฺ และมอรอคโค ชาวมุสลิมในอัลอันดะลุสจึงเหลือเพียงฆอรนาเฏาะฮฺ เป็นที่มั่นสุดท้ายกับเขตญะบัล ตอริกที่ขึ้นกับฆอรนาเฏาะฮฺเท่านั้น

 

ในปีฮ.ศ.750/คศ.1349 อัลฟองซัวที่ 11 (Alfonso XI) กษัตริย์แห่งกิชตาละฮฺ (Castile) ได้นำทัพมุ่งหน้าสู่ญะบัล ตอริกและเข้าปิดล้อมเมืองเอาไว้ ชาวเมืองตั้งรับอยู่ภายในกำแพงเมืองเท่านั้น ในระหว่างนั้นได้เกิดโรคระบาดไปทั่วยุโรปและเขตชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนหลายล้านคน รวมถึงแพร่ระบาดในกองทัพคริสเตียนที่กำลังปิดล้อมเมืองญะบัล ตอริกนั้นด้วย กองทัพส่วนใหญ่ต้องล้มตายเป็นอันมาก รวมถึงอัลฟองซัวที่ 11 ด้วย การปิดล้อมญะบัล ตอริกจึงต้องเลิกรากันไป กองทัพกิชตาละฮฺที่เหลือได้ล่าถอยกลับสู่นครโคโดบาฮฺ หลังจากปิดล้อมได้ราว 1 ปีเต็ม

 

หลังจากอัลฟองซัวที่ 11 สิ้นพระชนม์ในคราวเกิดโรคระบาดใหญ่นั้นแล้ว บัฏเราะฮฺ (Pedro) ผู้มีฉายานามว่า “จอมโหด” โอรสของอัลฟองซัวก็ขึ้นครองอำนาจขณะมีอายุได้ 16 ปี พระมเหสีของอัลฟองซัวที่ 11 ได้แผ่อิทธิพลเข้าครอบงำราชสำนักกิชตาละฮฺ และบัฏเราะฮฺ (Pedro) ก็ได้สังหารพระนาง ทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ บัฏเราะฮฺจึงได้ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชนของตนอย่างเหี้ยมโหด สถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในอาณาจักรคริสเตียนทำให้ชาวมุสลิมมีโอกาสในการว่างเว้นจากภัยคุกคามและเริ่มเตรียมการสำหรับปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขา

 

สรุปเหตุการณ์สำคัญในยุคบะนู มะรีนในอัลอันดะลุส

ฮ.ศ.671  อิบนุ อัลอะฮฺมัร สิ้นชีวิต มุฮำหมัด อัลฟะกีฮฺบุตรชายสืบอำนาจ ในอาณาจักร ฆอรนาเฏาะฮฺ

ฮ.ศ.674  มุสลิมได้รับชัยชนะในสมรภูมิอัดดะนูนียะฮฺ

ฮ.ศ.674  มุสลิมมีชัยในเมืองญิยานและอิชบีลียะฮฺ

ฮ.ศ.677  ฆอรนาเฏาะฮฺกับบะนู มะรีนร่วมเป็นพันธมิตรเข้าปิดล้อมนครโคโดบาฮฺ และพลเมืองโคโดบาฮฺยอมจ่ายบรรณาการ

ฮ.ศ.677  มุฮำหมัด อัลฟะกีฮฺ ทรยศต่อบะนู มะรีน

ฮ.ศ.681  ชานญะฮฺ ยึดอำนาจจากอัลฟองซัวที่ 10

ฮ.ศ.683  อัลฟองซัวที่ 10 สิ้นพระชนม์

ฮ.ศ.685  อัลมันซูร อัลมะรีนีย์ สิ้นชีวิต ยูซุฟ บุตรชายขึ้นครองอำนาจต่อจากบิดาของตน

ฮ.ศ.691  อัลฟะกีฮฺ ทรยศต่อบะนู มะรีนทำให้เสียเมืองฏ่อรีฟ

ฮ.ศ.701  เสนาบดี อบู อับดิลลาฮฺ อัลหะกีมสร้างความแตกแยกระหว่างบะนู มะรีน และบะนู อัลอะฮฺมัร

ฮ.ศ.709  เสียเมืองญะบัล ตอริกให้แก่ฝ่ายคริสเตียน

ฮ.ศ.709  มุสลิมได้รับชัยชนะในสมรภูมิเมืองอัลมะรียะฮฺ

ฮ.ศ.741  พันธมิตรฆอรนาเฏาะฮฺ – บะนู มะรีนร่วมกันตีชิงญะบัล ตอริกกลับคืนได้สำเร็จ

ฮ.ศ.741  พันธมิตรฆอรนาเฏาะฮฺ – บะนู มะรีนร่วมกันปิดล้อมเมืองฏ่อรีฟ และปราชัยต่อกองทัพคริสเตียน