การล่มสลายของฆอรนาเฏาะฮฺและจุดจบของอัลอันดะลุส


อบูอับดิลลาฮฺ อัซซ่อฆีรยังคงปกครองฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) ในส่วนที่เหลือต่อไป อัซซะฆอลลุงของเขาสูญเสียเมืองบัสเฏาะฮฺ และยอมขายดินแดนมุสลิมให้แก่สเปนไปแล้ว เขารู้อยู่แก่ใจว่าสเปนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความยิ่งใหญ่และแผ่อำนาจทางทหารอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่สถานการณ์ของชาวมุสลิมกำลังเลวร้ายลงทุกขณะ

แต่เขาก็ไม่คิดจะทำการสิ่งใดนอกจากร้องขอไปยังสเปนให้ทำสนธิสัญญาประนีประนอมกับฆอรนาเฏาะฮฺ ฝ่ายกษัตริย์สเปนก็เรียกร้องให้อบูอับดิลลาฮฺยอมมอบฆอรนาเฏาะฮฺแก่พระองค์

 

ในระหว่างนี้เอง มีนักต่อสู้ผู้หนึ่งนามว่า อบูมูซา อิบนุ ฆอซฺซานชื่อของวีรบุรุษท่านนี้น้อยคนนักที่จะรู้จักแม้กระทั่งมุสลิมเอง บรรดาเยาวชนคนหนุ่มสาวอาจจะรู้จักเรื่องราวของบุคคล เช่น สตาลิน, เชอร์ชิล, มอนต์โกโมรี่, ฮิตเล่อร์ ฯลฯ แต่พวกเขาไม่รู้จักวีรบุรุษของมุสลิมในอัลอันดะลุสยุคสุดท้ายผู้นี้เลยแม้แต่น้อย!

 

อบูมูซา อิบนุ ฆอซฺซาน วีรบุรุษผู้นี้น่าจะมีเชื้อสายของกษัตริย์มุสลิม เพราะเขาถูกเรียกขานว่าอะมีร (เจ้าชาย) และเป็นพลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ อะมีร มูซามีจิตใจที่เด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่นในการปลุกจิตสำนึกและวิญญาณแห่งการต่อสู้ในหมู่ชาวมุสลิม เขาได้ประกาศการญิฮาด และเห็นว่าความตายย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าการที่เขาจะเห็นดินแดนมุสลิมถูกเหยียบย่ำจากเท้าของศัตรู เขารวบรวมกำลังผู้คนและฝึกปรือตลอดจนสอนยุทธวิธีในการรบแก่พวกเขา

 

ในขณะที่กษัตริย์อบูอับดิลลาฮฺหลบซ่อนตัวอยู่ในปราสาทของพระองค์ด้วยความขลาดเขลา มูซาจึงจำต้องรับภาระในการปกป้องฆอรนาเฏาะฮฺ บรรดาชาวมุสลิมได้ร่วมให้สัตยาบันแก่มูซาว่าจะยอมตายในวิถีทางของพระผู้เป็นเจ้า และส่งตัวแทนไปยังกษัตริย์สเปนเพื่อแจ้งให้พระองค์ทราบว่าพลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺปฏิเสธที่จะยอมแพ้แก่พระองค์ ดังนั้นกองทัพของสเปนจึงได้เคลื่อนกำลังเข้าโจมตีหมู่บ้านและเขตแดนของฆอรนาเฏาะฮฺ

 

อะมีร มูซาได้เคลื่อนสู่ขั้นตอนของการโจมตีข้าศึก ในระหว่างที่เขาเป็นผู้ป้องกันเมืองและตั้งรับเขาก็กลายเป็นผู้รุกเสียก่อนทั้งๆ ที่จำนวนกองกำลังของมุสลิมมีน้อยกว่ามาก แต่ก็ตัดสินใจเข้าโจมตีกองทัพของสเปนและสามารถสร้างความปราชัยแก่พวกอัศวินคริสเตียนหลายครั้งจนอัศวินมุสลิมสามารถกุมสถานการณ์เอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง กองกำลังของมุสลิมได้ยึดทรัพย์สงครามเป็นอันมากจากการเข้าโจมตีกองทัพสเปน ความหวังและความหึกเหิมในจิตใจของชาวมุสลิมได้คืบคลานเข้าสู่หัวใจของพลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺอีกครั้ง

 

ฝ่ายกษัตริย์สเปนได้มีบัญชาให้กองทัพของพระองค์เข้าโจมตีเขตมัรจฺญ์ (ปริมณฑล) ของฆอรนาเฏาะฮฺ และส่งอัศวินคริสเตียนจำนวน 25,000 คนเข้าวางเพลิงทุกสิ่งที่ขวางหน้า ทำลายผลผลิตทางการเกษตรและรื้อทำลายบ้านเรือนทั้งหมด เมืองฆอรนาเฏาะฮฺในเวลานั้นนับเป็นเมืองที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง เรือกสวนไร่นาอันอุดมสมบูรณ์ของฆอรนาเฏาะฮฺก็ถือกันว่าสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

กษัตริย์คริสเตียนได้มุ่งมั่นที่จะทำลายทุกสิ่งเท่าที่จะเป็นไปได้ อะมีรมูซาจึงตัดสินใจแบ่งกำลังทหารม้าของตนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ และกำหนดภารกิจให้แต่ละกลุ่มเข้าโจมตีกองทัพของศัตรู บรรดาไพร่พลของคริสเตียนก็ล้มตายเป็นอันมาก และทุกครั้งที่มุสลิมเข้าโจมตีก็ได้รับชัยชนะและสร้างความเสียหายแก่กองทัพคริสเตียนทุกครั้งไป บรรดาทหารที่เป็นกำลังพลของอะมีรมูซานั้นล้วนแล้วแต่เป็นเยาวชนรุ่นหนุ่มสาวที่ต่อสู้ในวิถีทางของพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่ความตายถูกเพรียกหา ชีวิตก็ถูกมอบให้

 

พวกอัศวินคริสเตียนจึงตกอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบและถูกปิดล้อมในที่แคบๆ พวกนั้นถูกสังหารเป็นจำนวนมาก  ด้วยเหตุนี้กษัตริย์เฟอร์ดินานด์จึงได้ประกาศแก่ทหารของพระองค์ว่าอย่าเผชิญหน้าและสู้รบกับพวกมุสลิม แต่ให้วางเพลิงเผาทำลายพื้นที่เรือกสวนไร่นาให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้นก็ให้หลบหนีก่อนที่จะถูกพวกมุสลิมเข้าโจมตี ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ อัซฺซะฆอลได้เข้าร่วมสมทบกับฝ่ายของคริสเตียนเพื่อทำลายอำนาจของอบูอับดิลลาฮฺหลานชายของตน

 

ชาวมุสลิมไม่ทราบถึงการเป็นพันธมิตรของอัซซะฆอลกับพวกคริสเตียน จนกระทั่งมีอยู่ครั้งหนึ่งอัซซะฆอลได้นำทหารม้าจำนวน 150 คนทำทีว่าหลบหนีจากการไล่ติดตามของกองทัพคริสเตียนหนีไปยังป้อมปราการแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า ฮุดมะฮฺและขอร้องให้ชาวมุสลิมในป้อมปราการเปิดประตูรับพวกตนก่อนที่ศัตรูจะตามมาถึง ชาวมุสลิมในป้อมปราการหลงเชื่อ จึงเปิดประตูป้อมปราการให้ทหารม้า 150 คนนั้นเข้าไป

 

เมื่อเข้าสู่ภายในป้อมปราการได้แล้วพวกทหารของอัซซะฆอลก็เปิดประตูให้พวกทหารคริสเตียนเข้ามา ป้อมฮุดมะฮฺจึงเสียแก่พวกคริสเตียน การกระทำของบุคคลผู้คิดคดทรยศผู้นี้ได้สร้างความเกลียดชังในจิตใจของชาวมุสลิม ฝ่ายอบูอับดิลลาฮฺจึงได้อาศัยช่วงเวลาดังกล่าวประกาศว่าตนเป็นผู้ต่อสู้ในวิถีทางของพระผู้เป็นเจ้าและยืนยันว่าตนจะไม่คิดคดทรยศและจะไม่ติดต่อกับพวกคริสเตียน ผู้คนที่ไม่รู้ความจริงก็หลงเชื่ออบูอับดิลลาฮฺ ทั้งๆ ที่อบูอับดิลลาฮฺมีแผนการอยู่ในใจแล้วว่าจะยอมส่งมอบเมืองแก่พวกคริสเตียน

 

อบูอับดิลลาฮฺ ได้นำกำลังพลของตนมุ่งหน้าสู่ป้อมฮามะดาน และสามารถพิชิตป้อมแห่งนี้ได้สำเร็จหลังจากได้สังหารทหารคริสเตียนจำนวน 250 คน ในป้อมแห่งนี้ หลังจากนั้นก็มุ่งหน้าสู่ป้อมมัรชะนะฮฺและสกูบินยา และสามารถพิชิตป้อมทั้งสองแห่งได้ ผู้คนได้ประจักษ์เห็นถึงวีรกรรมของอบูอับดิลลาฮฺ และเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่จริงจัง ชื่อเสียงของเขาก็เป็นที่กล่าวขานในหมู่ชาวมุสลิม อัลมุดัจญะนูนที่อยู่ในหัวเมืองอัลอันดะลุส และปรารถนาที่จะเข้าร่วมสมทบกับกษัตริย์มุสลิมผู้นี้

 

ทำให้กษัตริย์เฟอร์ดินานด์จำต้องส่งสายลับไปยังหัวเมืองต่างๆ ทางตอนใต้ของอัลอันดะลุส เพื่อสืบหาความกระจ่างในเรื่องนี้ เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ประชาชนมุสลิมส่วนใหญ่ในหัวเมืองดังกล่าวได้เตรียมการเพื่อเข้าสู่สงครามและให้การสนับสนุนพลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ กษัตริย์เฟอร์ดินานด์วิตกว่าจะเกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ จึงได้มีบัญชาให้ขับชาวมุสลิมออกจากหัวเมืองดังกล่าวทั้งหมด ทั้งๆ ที่พระองค์ได้เคยสัญญาว่าจะให้ความปลอดภัยแก่พวกเขา

 

อัซฺซะฆอลต้องการจะกลับมามีอำนาจในบรรดาหัวเมืองที่ชาวมุสลิมถูกขับไล่ออกไป (มาลิเกาะฮฺ, บัสเฏาะฮฺ, อัลมะรียะฮฺ เป็นต้น) อีกครั้ง แต่เขาก็รู้ตัวดีว่าเขาเป็นบุคคลไม่พึงประสงค์สำหรับอัลอันดะลุส และผู้คนก็โห่ร้องให้แก่อบูอับดิลลาฮฺ ที่กลายเป็นวีรบุรุษ (จอมปลอม) ไปเสียแล้ว ในปีฮ.ศ.896 อัซฺซะฆอลจึงได้ขอพระบรมราชานุญาตจากกษัตริย์คริสเตียนเพื่อเดินทางออกจากอัลอันดะลุส และมุ่งหน้าไปยังมอรอคโคโดยลงพักที่นครฟ๊าส พร้อมกับทรัพย์สินและพวกคนรับใช้

 

ข่าวของอัซฺซะฆอลได้รู้ถึงเจ้าครองนครฟ๊าส จึงได้มีคำสั่งให้จับกุมเขา อัซฺซะฆอลถูกควักลูกตาทั้งสองข้างและถูกคุมขัง ทรัพย์สินของเขาที่มีมากกว่า 5 ล้านดีนารก็ถูกริบจนหมดสิ้น ต่อมาเขาได้ถูกปล่อยตัวจากที่คุมขังและกลายเป็นขอทานที่ไม่มีผู้ใดรู้จักถึงอดีตของเขาเลย นี่คือผลตอบแทนต่อความทุรยศที่เขาได้กระทำกับดินแดนและพลเมืองอัลอันดะลุสในบั้นปลายชีวิตของเขา

   นครฆอรนาเฏาะฮฺถูกกองทัพคริสเตียนเข้าปิดล้อมปี ค.ศ. 1417 วาดโดยศิลปินชาวตะวันตก

ในปีฮ.ศ.896/คศ. 1491 การปิดล้อมฆอรนาเฏาะฮฺยังคงดำเนินไปอย่างหนัก ทหารคริสเตียนที่ปิดล้อมเมืองมีมากถึง 40,000 คน และมีทหารม้าอีก 10,000 นายโดยมีกำลังเสริมเข้ามาร่วมสมทบโดยตลอด ทำให้อบูอับดิลลาฮฺเริ่มคิดที่จะยอมแพ้ เขาได้เรียกบรรดาแม่ทัพนายกองเข้าร่วมประชุมหารือและตกลงกันว่าจะขอทำสัญญาสงบศึกกับฝ่ายคริสเตียน ไม่มีผู้ใดคัดค้านนอกจากอะมีร มูซา อิบนุ ฆอซซาน ซึ่งเตือนอบูอับดิลลาฮฺว่าจะมีจุดจบเช่นเดียวกับบรรดาหัวเมืองมุสลิมที่ยอมแพ้ต่อกองทัพคริสเตียน

 

ฝ่ายกษัตริย์คริสเตียนก็เห็นว่า การบุกเข้าโจมตีฆอรนาเฏาะฮฺจะทำให้เกิดความสูญเสียแก่กองทัพพระองค์ จึงได้มีบัญชาให้ปิดล้อมอย่างแข็งขันในทุกเส้นทางที่เข้าออกของเมืองโดยไม่ให้มีการเผชิญหน้ากับฝ่ายมุสลิม เมื่ออะมีร มูซานำทหารมุสลิมออกโจมตีพวกทหารคริสเตียน พวกคริสเตียนก็จะล่าถอยและไม่ปะทะด้วย

 

ต่อมากษัตริย์เฟอร์ดินานด์ก็มีบัญชาให้ทหารของพระองค์ขุดคันคูและสนามเพลาะล้อมเมืองเอาไว้ เพื่อไม่ให้ชาวมุสลิมออกมาโจมตี ฝ่ายมุสลิมจึงได้ทำการท้าทายให้ทหารคริสเตียนเข้ามาต่อสู้กันตัวต่อตัว การท้าดวลเกิดขึ้นหลายครั้งและทหารคริสเตียนก็ถูกสังหารไปทุกครั้ง กษัตริย์คริสเตียนจึงสั่งห้ามไม่ให้ท้าดวลกับพวกมุสลิมอีกแม้ว่าจะถูกฝ่ายมุสลิมยั่วยุต่างๆ นานาก็ตาม

 

จนในที่สุดมีทหารมุสลิมผู้หนึ่ง ชื่อว่า กุรบะฮฺ ซึ่งมีอายุมากเข้าสู่วัยชราแล้วได้ข้ามสนามเพลาะและบุกเข้าสู่รบกับพวกทหารคริสเตียนและตีฝ่าวงล้อมจนเข้าถึงพลับพลาของกษัตริย์และก็ปักหอกของตนเอาไว้ที่หน้าพลับพลานั้นเพื่อหมิ่นพระเกียรติของพระราชินีและตะโกนเรียกพระนางโดยไม่มีผู้ใดขัดขวางแต่อย่างใด สถานการณ์ในเวลานั้นตึงเครียดหนัก เส้นทางทั้งหมดถูกตัดขาด เสบียงอาหารในเมืองก็ร่อยหรอ

 

ฝ่ายพระราชินีอิซาเบลล่านั้นพระนางเคยได้ยินถึงความยิ่งใหญ่และความงดงามของฆอรนาเฏาะฮฺ จึงปรารถนาที่จะได้ชมเมืองจากจุดที่ใกล้ที่สุด บรรดาแม่ทัพนายกองก็เตือนพระนางมิให้กระทำเช่นนั้น แต่พระนางก็ยืนกราน กษัตริย์เฟอร์ดินานด์พระสวามีจึงต้องสั่งให้กองทหารอารักขาพระนาง พระนางจึงได้ขึ้นสู่เนินแห่งหนึ่งเพื่อทอดพระเนตรความงดงามของฆอรนาเฏาะฮฺ ฝ่ายอะมีรมูซาและพลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ เมื่อเห็นว่ามีกองทหารคริสเตียนเคลื่อนมาที่เนินนั้นก็เข้าใจว่าพวกคริสเตียนเริ่มเปิดฉากโจมตี

 

อะมีรมูซาจึงได้มีคำสั่งให้ทหารของตนเข้าโจมตีการรบพุ่งอย่างดุเดือดจึงเกิดขึ้น ขบวนเสด็จของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ก็ตกอยู่ในวงล้อมของทหารมุสลิม จนกระทั่งทั้งสองพระองค์ต้องกระโดดหนีและวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระแม่มารี กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ได้มีบัญชาให้กองทัพของพระองค์ทุ่มกำลังเข้าโจมตีฝ่ายมุสลิมและเข้าสู่สมรภูมิในที่สุดความมากกว่าของฝ่ายคริสเตียนก็เอาชนะความกล้าหาญของฝ่ายมุสลิมที่มีจำนวนน้อยกว่า ชาวมุสลิมได้รับชะฮีดในการศึกครั้งนี้ราว 2,000 คนในขณะเข้าลอบวางเพลิงค่ายทหารของคริสเตียน

 

อะมีรมูซาได้พยายามรวมกำลังพลของตนอีกครั้งแต่ก็พบว่าทหารมุสลิมแตกพ่ายจนรวมตัวไม่ติด จึงได้สั่งให้ถอยทัพกลับเข้าสู่ตัวเมือง ฝ่ายกษัตริย์เฟอร์ดินานด์เห็นว่าถ้าสั่งให้ทหารยุติการโจมตีก็จะเป็นผลเสียแก่กองทัพ จึงมีบัญชาให้กองทัพทั้งหมดบุกเข้าโจมตีฆอรนาเฏาะฮฺทุกด้านพร้อมกัน ทหารคริสเตียนบางส่วนสามารถยึดครองป้อมเชิงเทินบางแห่งของกำแพงเมืองฆอรนาเฏาะฮฺได้อะมีรมูซาก็ล่าถอยเข้าสู่ใจกลางเมืองหลังจากที่กองทหารของเขาได้รับบาดเจ็บและใช้ให้ทหารยิงกระสุนเพลิงและเทน้ำร้อนเข้าใส่พวกทหารคริสเตียนทำให้ไม่สามารถเข้าใกล้กำแพงเมือง

 

พวกทหารคริสเตียนจึงหันไปเผาทำลายทุกสิ่งรอบๆ เมืองแทน แล้วฤดูหนาวก็มาถึง กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ได้มีบัญชาให้ตั้งค่ายทหารและเรียกค่ายทหารนั้นว่า “ซานตา ฟีฮฺ” (หมายถึง นครแห่งศรัทธาอันศักดิ์สิทธิ์) และมีบัญชาให้สร้างกำแพงที่ก่อด้วยก้อนหินขึ้นล้อมเมืองในส่วนที่ตกอยู่ในกำมือของพระองค์เพื่อไม่ให้มีการส่งกำลังบำรุงเข้าไปยังภายในตัวเมือง ฆอรนาเฏาะฮฺจึงถูกตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง

 

อบูอับดิลลาฮฺจึงเรียกบรรดาแม่ทัพนายกองรวมถึงอะมีรมูซาเข้าร่วมประชุมหารือว่าจะกระทำการสิ่งใดดี ทั้งหมดก็เห็นว่าสมควรจะยอมแพ้ยกเว้นอะมีรมูซาเพียงคนเดียวที่ไม่เห็นด้วย อบุลกอซิม อับดุลมะลิกเสนาบดีคนหนึ่งของอบูอับดิลลาฮฺจึงเริ่มเจรจากับกษัตริย์คริสเตียนทั้งสองพระองค์ในวันที่ 21 มุฮัรรอม ปีฮ.ศ.897/23 พฤศจิกายน คศ.1491 การลงนามในข้อตกลงก็เสร็จสิ้นอย่างลับๆ ระหว่างสองฝ่าย

 

เมื่อข่าวการทำข้อตกลงนั้นรู้ถึงชาวเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ อะมีรมูซาก็ออกไปยังผู้คนและเรียกร้องให้พวกเขาต่อสู้และเตือนว่า หากยอมแพ้ก็จะมีจุดจบเช่นเดียวกับชาวมุสลิม อัลมุดัจญะนูนและฝ่ายคริสเตียนไม่เคยรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับชาวมุสลิม! กษัตริย์อบูอับดิลลาฮฺจึงประกาศว่า การยอมแพ้นี้เป็นไปตามลิขิตและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า บรรดานักวิชาการในฆอรนาเฏาะฮฺก็เห็นชอบต่อคำกล่าวของกษัตริย์ผู้นี้โดยไม่มีผู้ใดทัดทาน

 

อะมีรมูซาจึงผละออกจากกลุ่มผู้คนและตระเวนไปทั่วปราสาทอัลฮัมรออฺ (Alhambra) และเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ หลังจากนั้นก็สวมใส่ชุดออกศึกพร้อมด้วยอาวุธ เขาขึ้นขี่ม้าและออกนอกเมืองจนกระทั่งเผชิญหน้ากับกลุ่มอัศวินคริสเตียน พวกนั้นพยายามหยุดยั้งเขา จึงเกิดการต่อสู้ระหว่างกันอะมีรมูซาได้สังหารอัศวินคริสเตียนกลุ่มนั้นส่วนใหญ่เพียงลำพัง และตัวเขาเองกับม้าศึกคู่ใจก็บาดเจ็บ เขาจึงลงจากหลังม้าและวิ่งเข้าใส่พวกศัตรูโดยไม่ยอมตกเป็นเชลยจนในที่สุดพวกนั้นก็สังหารมูซาและโยนศพของเขาลงแม่น้ำไปโดยไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเขาเป็นใคร? วีรบุรุษมุสลิมคนสุดท้ายแห่งอัลอันดะลุสก็ปิดฉากชีวิตแห่งการต่อสู้ของเขาลงเพียงนี้

 

ในปีฮ.ศ.897/คศ.1492 เสนาบดี อบุลกอซิม อับดุลมะลิกก็รับหน้าที่ในการเจรจากับฝ่ายคริสเตียนเพื่อให้การดำเนินการลงนามในสนธิสัญญาเป็นไปอย่างสมบูรณ์ การลงนามเสร็จสิ้นลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ร่อบีอุลเอาวั้ล ฮ.ศ.897/2 มกราคม คศ.1492 ในวันแห่งประวัติศาสตร์นี้ กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ที่ 5 กับพระราชินีอิซาเบลล่า ก็เสด็จเข้าสู่ปราสาทอัลฮัมรออฺ (Alhambra) ซึ่งถูกจัดเตรียมเอาไว้สำหรับเป็นที่ประทับแก่ทั้งสองพระองค์

   สนธิสัญญาส่งมอบนครฆอรนาเฏาะฮฺ (แกรนาดา)  ที่มั่นสุดท้ายของชาวมุสลิมในอัล-อันดะลุสแก่ฝ่ายคริสเตียนสเปน

ข้อตกลงในสนธิสัญญาส่งมอบเมืองฆอรนาเฏาะฮฺซึ่งมีรายละเอียดชัดเจนและถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรยังคงถูกเก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์สงคราม ณ กรุงมาดริด นครหลวงของสเปนในทุกวันนี้ มีเงื่อนไขถึง 67 ข้อ ซึ่งนับเป็นสนธิสัญญาที่มีเงื่อนไขข้อตกลงยืดยาวและหยุมหยิมมากที่สุดในโลกฉบับหนึ่งเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งจากเงื่อนไขดังกล่าวคือ

 

  1. มุสลิมไม่ว่าเด็กและผู้ใหญ่ ผู้นำหรือผู้ตามต้องได้รับความปลอดภัยในชีวิต, ครอบครัว และลูกๆ และให้ทุกคนยังคงอยู่ในบ้านเรือนและที่ดินของพวกเขาได้  ให้ใช้กฎหมายอิสลามระหว่างชาวมุสลิม และไม่ให้ใช้กฎหมายอื่นในการตัดสินคดีความระหว่างมุสลิมด้วยกันเอง

  2. บรรดามัสญิดต้องคงสภาพเดิม และสาธารณสมบัติทางศาสนาอิสลามต้องได้รับการปกปักษ์รักษาเอาไว้

  3. ชาวคริสเตียนจะต้องไม่เข้าสู่เคหะสถานของชาวมุสลิมและไม่แย่งชิงที่ดินของพวกเขา

  4. จะต้องไม่ให้ผู้ใดปกครองชาวมุสลิมนอกจากผู้ปกครองที่เป็นมุสลิมเท่านั้น

  5. บรรดาเชลยศึกชาวมุสลิมจากพลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺต้องได้รับการปลดปล่อยไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม และมุสลิมคนใดที่หลบหนีมายังฆอรนาเฏาะฮฺย่อมไม่มีการขัดขวาง และซุลตอนแห่งฆอรนาเฏาะฮฺต้องจ่ายราคาค่าตัวของมุสลิมผู้นั้นแก่เจ้าของ

  6. ผู้ใดประสงค์จะข้ามฝั่งไปยังมอรอคโคผู้นั้นย่อมมีสิทธิและจะไม่มีการขัดขวางแต่อย่างใดในช่วงเวลาที่ถูกกำหนด และมุสลิมไม่ต้องจ่ายสิ่งใดนอกจากค่าจ้างแก่เรือ และเมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาแล้วผู้นั้นต้องจ่ายค่าจ้างให้กับเรือและหนึ่งในสิบของทรัพย์สินที่เขาครอบครอง

  7. จะไม่มีการเอาโทษเนื่องจากกระทำผิดนอกจากผู้กระทำผิดเท่านั้น

  8. จะต้องไม่มีผู้ใดถูกบังคับให้เข้ารีตในศาสนาคริสต์ ผู้ใดเข้ารีตเป็นคริสเตียนจะถูกอายัดตัวเอาไว้ก่อน แล้วให้ผู้ตัดสินที่เป็นมุสลิมคนหนึ่งกับคริสเตียนอีกคนหนึ่งมาสอบถามผู้นั้น หากว่ายืนกรานในการเข้ารีตเป็นคริสต์ชนก็ให้เป็นไปตามนั้น

  9. ผู้ใดที่สังหารชาวคริสเตียนในช่วงมีสงครามผู้นั้นจะไม่ถูกประหารและผู้ใดยึดเอาทรัพย์สินไปในระหว่างนั้นไม่ต้องมอบคืน

  10. มุสลิมจะต้องไม่ถูกบังคับให้ต้อนรับทหารคริสเตียนในฐานะแขกผู้มาเยือน และการละเมิดใดๆ ก็ตามต้องถูกชำระความ

  11. มุสลิมจะได้รับการผ่อนผันจากการเก็บภาษีเป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นให้จ่ายภาษีตามจำนวนที่เคยจ่ายแก่กษัตริย์มุสลิม

  12. ชาวคริสเตียนต้องไม่ละลาบละล้วงบ้านเรือนและรุกล้ำกำแพงบ้านเรือนของชาวมุสลิม

  13. มุสลิมสามารถเดินทางท่องไปในดินแดนของคริสเตียนได้อย่างปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และไม่มีเงื่อนไขว่ามุสลิมต้องพกพาสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่จำแนกมุสลิมออกจากผู้ที่มิใช่มุสลิม

  14. พลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺคือพสกนิกรของกษัตริย์แห่งอัลอันดะลุส อาวุธ และม้าศึกยังคงเป็นของพวกเขาและพวกเขาไม่ต้องส่งมอบสิ่งใด นอกจากเพื่อป้องกันอาณาจักรสเปนเท่านั้น เป็นต้น

 

เงื่อนไขเหล่านี้ส่วนใหญ่และที่สำคัญๆ จะเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม ที่ข้างท้ายของสนธิสัญญาจะปรากฏถ้อยคำยืนยันของกษัตริย์และพระราชินีสเปนว่าจะรักษาสัญญาด้วยเกียรติของกษัตริย์และจะปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกประการ จะให้เกียรติและเคารพในสนธิสัญญานี้ มีการลงพระนามรับรองและประทับตราประจำพระองค์ของกษัตริย์และพระราชินีที่ข้างท้ายอีกด้วย

 

ในระหว่างการดำเนินการส่งมอบเมืองนั้น ฝ่ายสเปนได้ยึดเอาตัวประกันจำนวน 500 คนเอาไว้ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลสำคัญของฝ่ายมุสลิม พวกเขาจะต้องอยู่ในการควบคุมของสเปนจนกว่าการส่งมอบเมืองจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์อย่างราบรื่น และจนกว่าฝ่ายสเปนจะเข้าสู่ตัวเมืองโดยปลอดภัยเมื่อทุกอย่างดำเนินการเสร็จสิ้น พวกสเปนก็ปล่อยตัวประกันทั้งหมดให้เป็นอิสระ

 

กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ และพระราชินิอิซาเบลล่าแห่งสเปนได้ทรงทำพิธีรับมอบเมืองฆอรนาเฏาะฮฺในปราสาทอัลฮัมรออฺ (Alhambra) อย่างเป็นทางการ บรรดาบาดหลวงในคริสต์ศาสนาได้จัดพิธีมิสซาขึ้นภายในมัสญิดญามิอฺซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นโบสถ์คริสต์นับตั้งแต่บัดนั้น

 

อบูอับดิลลาฮฺ (Boabdil,Badilla) กษัตริย์ผู้ต่ำต้อยได้ออกจากพระราชวังอัลฮัมรออฺ (Alhambra) อย่างผู้อัปยศอดสู เขาเดินผ่านไปยังเนินแห่งหนึ่ง ที่เรียกกันว่า เนิน ”อัลบันดูล” และหยุดยืนอยู่ที่นั่นเพื่อทอดสายตามองนครฆอรนาเฏาะฮฺ น้ำตาของเขาเริ่มไหลและสะอื้นด้วยการร่ำไห้ พระนางอาอิชะฮฺผู้เป็นมารดาของอบูอับดิลลาฮฺจึงตะโกนบอกลูกชาย ผู้อัปยศของพระนางว่า “เออดี! เจ้าจงร่ำไห้เหมือนลูกผู้หญิงเถิด อำนาจที่เจ้าไม่สามารถปกป้องมันเอาไว้เยี่ยงลูกผู้ชาย” พวกสเปนเรียกเนินแห่งนี้ว่า “เสียงสะอื้นครั้งสุดท้ายของอาหรับ (มัวร์)” (el ultimo Suspiro del moro)

 

ฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada) นครของชาวมุสลิมที่งดงามที่สุดในโลกในเวลานั้นทั้งถนนหนทาง วงเวียนจัตุรัสและสาธารณูปโภค นครที่มีพลเมืองอาศัยอยู่ล้านคนในเวลานั้น แต่หาได้มีผู้ปกครองที่เข้มแข็งคอยปกปักรักษาเอาไว้ นครแห่งวิชาการและการแต่งตำรา นครของอิบนุ อัลบัยฏอร, อิบนุ อัรรูมียะฮฺ และอิบนุ อัลค่อฏีบ ฯลฯ

 

นครแห่งการคิดค้นและการประดิษฐ์สร้างสรรค์ ซึ่งมีปืนใหญ่หรือเครื่องยิงกระสุนเพลิงและปืนคาบศิลา นครแห่งการหัตถกรรมและศิลปะ การถักทอ เครื่องลายคราม ฉาดทอง การฟอกหนัง การย้อมผ้า เครื่องประดับและกระดาษ นครแห่งสถาปัตยกรรม นครแห่งปราสาทอัลฮัมรออฺและการแกะสลัก ลวดลายอันวิจิตรบรรจง นครสุดท้ายของชาวมุสลิมแห่งอัลอันดะลุสก็ล่มสลายลง

 

ณ จุดนี้ขอตั้งข้อสังเกตที่สำคัญเอาไว้ประการหนึ่งคือ เหตุไฉนชาวตะวันตกหรือพวกคริสเตียนจึงถือเอาวันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าเพราะอะไร? แม้กระทั่งพวกฝรั่งคริสเตียนเองก็คงไม่ทราบต้นสายปลายเหตุในเรื่องนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า เหตุที่ชาวตะวันตกถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันเฉลิมฉลองของพวกตนจนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลกทุกวันนี้ก็เป็นเพราะว่า วันที่ 1 มกราคม เมื่อ 5 ศตวรรษที่ผ่านมาเป็นวันแห่งชัยชนะของคริสเตียนในยุโรปที่สามารถยึดครองที่มั่นสุดท้ายของมุสลิมในอัลอันดะลุสได้สำเร็จหลังจากที่พวกเขาประกาศสงครามครูเสดกับชาวมุสลิมมาเนิ่นนานหลายศตวรรษ

 

ถึงแม้ว่าวันที่ 2 มกราคม ปีคศ.1492 จะเป็นวันที่การทำสนธิสัญญา 67 ข้อในการส่งมอบเมืองฆอรนาเฏาะฮฺแก่กษัตริย์สเปนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แต่นั่นก็เป็นทางการเพราะมุสลิมสูญเสียเมืองฆอรนาเฏาะฮฺมาก่อนแล้วอย่างไม่เป็นทางการ เรื่องนี้น่าฉุกคิดยิ่งนัก จึงได้ตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ อย่างน้อยผู้อ่านก็จะได้จดจำว่าวันที่ 2 มกราคมคือวันแห่งการสูญเสียของชาวมุสลิมในอัลอันดะลุสและโลกอิสลามเมื่อ 5 ศตวรรษที่ผ่านมา!

 

ต่อมาในภายหลังกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ก็เสด็จไปยังแคว้นอันดะริช (Andarax) ในแถบเทือกเขาอัลบุชารอตฺ (Las Alpujarras) ซึ่งพระองค์ได้กำหนดให้ที่นั่นเป็นที่ประทับของพระองค์ก่อนหน้านั้นแล้ว

 

สาเหตุที่ทำให้ชาวมุสลิมต้องสูญเสียนครฆอรนาเฏาะฮฺนั้นที่สำคัญ ได้แก่

        * บรรดาผู้ปกครองมัวแต่พะวงในเรื่องการขัดแย้งภายใน มีการแก่งแย่งอำนาจระหว่างสมาชิกในวงศ์อัลอะฮฺมัรด้วยกันเองจนถึงขั้นรบพุ่งและก่อการกบฏลุกฮือ ความปรารถนาในการขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ครอบงำจิตใจของแต่ละฝ่าย ทำให้เกิดความระส่ำระสายและไร้เสถียรภาพ อีกทั้งผู้ที่สามารถแย่งชิงอำนาจมาจากฝ่ายที่พ่ายแพ้ก็ไร้ความสามารถในการบริหารบ้านเมืองและขาดจิตวิญญาณแห่งการญิฮาด

 

        * ฝ่ายศัตรูได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่นและมีความเข้มแข็งในขณะที่ฝ่ายมุสลิมเองกลับแตกแยกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย แม้ในยามวิกฤติฆอรนาเฏาะฮฺเองยังถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน มีกษัตริย์สององค์ในเวลาเดียวกันและต่างก็ขับเคี่ยวและมุ่งทำลายอำนาจของอีกฝ่ายอย่างไม่ลืมหูลืมตาทั้งๆ ที่ศัตรูยกทัพมาประชิดและยึดครองดินแดนที่รายล้อมได้เกือบทั้งหมด

 

        * ป้อมปราการอันเป็นจุดยุทธศาสตร์และที่มั่นทางการทหารในการป้องกันเมืองต่างก็ยอมจำนนต่อกองทัพของศัตรู ทำให้กำลังของฝ่ายมุสลิมอ่อนแอและทำให้กำลังของศัตรูกล้าแข็งมากขึ้น

 

        * มีบุคคลเช่น อัซซะฆอล และกษัตริย์อบูอับดิลลาฮฺ อัซซ่อฆีร เป็นผู้ปกครองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน คิดคดทรยศและยอมขายดินแดนของมุสลิมให้แก่ศัตรู ตลอดจนยอมเป็นพันธมิตรกับศัตรูเพื่อเอาชนะมุสลิมด้วยกัน โดยไม่สนใจว่าพลเมืองมุสลิมที่อยู่ภายใต้ปกครองจะต้องประสบกับชะตากรรมเช่นไร? การยอมจำนนให้แก่ฝ่ายศัตรูที่ไม่เคยรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้เป็นเหมือนการฝากเนื้อให้แก่ราชสีห์ ฝากแกะอ้วนพลีให้สุนัขจิ้งจอกคอยดูแล ทั้งๆ ที่เคยมีบทเรียนครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่เคยหลาบจำ จึงต้องมีจุดจบอย่างที่เป็น! ลาเฮาล่าวะลากูวะต้าอิลลา บิลลาฮฺ

่อฆีร หรือโบอับดิล กษัตริย์มุสลิมคนสุดท้ายในอัลอันดะลุส

อบูอับดิลลาฮฺ อัซซ่อฆีร กษัตริย์มุสลิมคนสุดท้ายที่ถูกปลดจากอำนาจได้ขออนุญาตจากกษัตริย์เฟอร์ดินานด์เพื่อออกเดินทางจากอัลอันดะลุสในปีฮ.ศ.899 กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ทรงอนุญาต อบูอับดิลลาฮฺจึงนำครอบครัวของตนพร้อมด้วยชาวมุสลิมเป็นจำนวนมากที่ต้องการข้ามฝั่งไปยังมอรอคโคติดตามไปด้วย เขาลงพำนักที่เมืองมะลีละฮฺในมอรอคโคแล้วย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในนครฟ๊าส และเสียชีวิตที่นั่นในปีฮ.ศ.924 ทรัพย์สินของเขาหมดลงและไม่มีมรดกทิ้งไว้เลย ครอบครัวของอบูอับดิลลาฮฺดำรงชีวิตด้วยการอาศัยเงินจากสาธารณสมบัติในศาสนาอิสลาม (อัลเอากอฟ) และอยู่อย่างยากจนข้นแค้น

 

บรรดานักวิชาการศาสนาก็พากันอพยพออกจากอัลอันดะลุสเป็นจำนวนมากเพราะอัลอันดะลุสไม่ใช่ดินแดนแห่งอิสลามอีกต่อไป ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนความเชื่อทางศาสนากลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจประกันได้จากท่าทีของฝ่ายคริสเตียนที่ยึดครอง

 

ส่วนหนึ่งจากบรรดานักวิชาการดังกล่าวได้แก่ อิบนุ อัลค่อฏีบ มุฮำหมัด อิบนุ อับดิลลาฮฺ ซึ่งถือกำเนิดในเมืองลูชะฮฺ (Loja) ปีฮ.ศ.713 เขาศึกษาการแพทย์ ปรัชญาและนิติศาสตร์อิสลามตลอดจนวรณคดี เคยเป็นนักประพันธ์ที่เจนจัดทั้งในด้านร้อยแก้วและร้อยกรอง อีกทั้งยังเคยเป็นเสนาบดีให้กับบรรดาซุลตอนหลายพระองค์ในวงศ์อัลอะฮฺมัร อิบนุ อัลค่อฏีบเสียชีวิตในมอรอคโค ปีฮ.ศ.776,อิบนุ อัลอัซฺรอก มุฮำหมัด อิบนุ อะลี เดิมมาจากเมืองวาดีย์ อาชฺ (Guadix) และเคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในนครฆอรนาเฏาะฮฺ เสียชีวิตในปีฮ.ศ.895 เป็นต้น

 

การสูญเสียฆอรนาเฏาะฮฺมิใช่โศกนาฏกรรมที่แท้จริง แต่โศกนาฏกรรมที่แท้จริงเกิดขึ้นภายหลังการเสียเมือง กล่าวคือชาวมุสลิมจำนวนหลายล้านคนที่อาศัยอยู่ในอัลอันดะลุสและฆอรนาเฏาะฮฺยังคงตกค้างอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายคริสเตียน ในขณะที่ผู้คนเป็นจำนวนมากได้อพยพออกจากอัลอันดะลุสไปแล้ว

 

กระนั้นชาวมุสลิมในอัลอันดะลุสที่ตกค้างอยู่ในหัวเมืองที่เสียแก่คริสเตียนในเขตทางตอนใต้ของแม่น้ำดุวัยเราะฮฺและอิบเราะฮฺ ยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก นับแต่ปีคศ. 1085 ที่อัลฟองซัวที่ 6 สามารถยึดครองนครโทเลโดได้นั้น ก็มีมุสลิมตกค้างอยู่เป็นจำนวนมากจนกระทั่งอัลฟองซัวถึงกับเรียกขานตนเองว่าเป็นซุลตอนแห่ง 2 ศาสนา (คือศาสนาอิสลามและคริสเตียน) แม้ในอาณาจักรอรากอนก็ปรากฏว่ามีพลเมืองมุสลิมตกค้างอยู่คิดเป็นจำนวน 20% จากพลเมืองทั้งหมด

 

ในบะลันซียะฮฺนั้นถึงแม้ว่าจะตกเป็นของคริสเตียนแล้ว ชาวมุสลิมก็ยังเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของเมือง ได้มีการสำรวจสำมะโนประชากรในส่วนของชาวมุสลิมในอัลอันดะลุส เมื่อปีคศ.1502 ว่ามีจำนวนมุสลิมตกค้างอยู่จำนวน 50,000 ในอรากอน, 160,000 ในบะลันซียะฮฺ, 10,000 ในกอตลาเนีย, 15,000 คนในมะยูรเกาะฮฺ รวมจำนวนมุสลิมทั้งหมดในอาณาจักรอรากอน ราว 235,000 คน ส่วนในอาณาจักรกิชตาละฮฺนั้นมีจำนวนอยู่ระหว่าง 700,000 ถึง 1,000,000 คน คิดเป็นจำนวน 200,000 คนในกิชตาละฮฺ และอยู่ระหว่าง 500,000 ถึง 700,000 คนในส่วนของฆอรนาเฏาะฮฺ

 

หลังจากปีคศ.1502 นั้นชาวมุสลิมจำนวน 30,000 คนได้อพยพออกจากอัลอันดะลุส จำนวนของชาวมุสลิมทั้งหมดที่ยังคงอยู่ในกิชตาละฮฺ, อรากอนและฆอรนาเฏาะฮฺ น่าจะอยู่ระหว่างจำนวน 635,000 ถึง 835,000 คน จากจำนวนประชากรในคาบสมุทรไอบีเรียทั้งหมดในเวลานั้น ซึ่งมีอยู่ราว 8 ล้านคนเศษ

 

กษัตริย์คริสเตียนได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสนธิสัญญาส่งมอบเมืองในช่วงเวลาหนึ่ง พระนางอิซาเบลล่าได้เสด็จสู่นครอิชบีลียะฮฺในเวลาต่อมาและมอบหมายให้ เฟอร์นานโด เดอ เซฟร่า และเคาวน์ท์ ตันเดลล่า ผู้บัญชาการทหารแห่งฆอรนาเฏาะฮฺเป็นผู้ดูแลฆอรนาเฏาะฮฺ และยังมีเฮอร์นานโด ทัลบีร่า อีกคนหนึ่งซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลฆอรนาเฏาะฮฺย่อมส่งให้เห็นถึงพระประสงค์ของพระนางอิซาเบลล่าและกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ว่าเตรียมการเพื่อทำให้พลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺยอมเข้ารีตในคริสต์ศาสนาแต่โดยดี เพราะเฟอร์นานโด เดอเซฟร่านั้นมีความชำนาญในการใช้ภาษาอาหรับและรู้ดีถึงขนบธรรมเนียมของชาวอาหรับและมีท่าทีเป็นมิตร

 

ส่วนตันเดลล่านั้นมีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีจากพลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺเพื่อเป็นเบี้ยหวัดแก่กองทหารคริสเตียน ส่วนสังฆนายกเฮอร์นานโด นั้นก็พยายามให้ความสนใจต่อชาวอาหรับมุสลิมเพื่อโน้มน้าวพวกเขาให้เข้ารีตในคริสต์ศาสนา สังฆนายกผู้นี้ยังได้ศึกษาภาษาอาหรับและประวัติศาสตร์ตลอดจนสรรพวิทยาการของชาวอาหรับ อีกทั้งยังได้แปลตำราในคริสต์ศาสนาเป็นภาษาอาหรับอีกด้วย

 

แต่ทว่าความพยายามของฝ่ายคริสเตียนในการโน้มน้าวชาวมุสลิมให้เข้ารีตในศาสนาคริสต์ก็ดูจะไร้ผล เพราะพวกเขายังคงยึดมั่นต่อหลักคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างมั่นคง กษัตริย์คริสเตียนจึงมีประสงค์ให้พวกเขาเลือกเอาระหว่างการอพยพออกจากอัลอันดะลุสหรือไม่ก็เข้ารีตในศาสนาคริสต์ การผิดคำสัญญาจึงเริ่มขึ้น!

 

การสูญเสียนครฆอรนาเฏาะฮฺเกิดขึ้นในช่วงเวลาของการนิยมคลั่งไคล้ต่อนิกายคาทอลิกในหมู่ชาวคริสต์ พระราชินีอิซาเบลล่าและเฟอร์ดินานด์ซึ่งพระสันตะปาปาทรงขนานนามทั้งสองพระองค์ว่า กษัตริย์แห่งคาทอลิกก็เข้าร่วมในการนิยมคลั่งไคล้นั่นด้วยโดยสร้างองค์กรพิเศษเพื่อทำหน้าที่ในการกดขี่ทางศาสนา

 

จนกระทั่งพระสันตะปาปาก็ทรงเห็นชอบในการตั้งศาลตรวจสอบในปีคศ.1478 (ก่อนหน้าการเสียเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ) โดยให้โทม่า เดอ เทอร์กิมาด้า ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการณ์ทั่วไป ในช่วงนั้นมีพวกยิวถูกนำตัวขึ้นศาลตรวจสอบและถูกเผาทั้งเป็นหลายร้อยคนด้วยข้อหากระทำการนอกรีตหลังจากยึดครองฆอรนาเฏาะฮฺได้เพียง 7 ปี กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ก็ออกพระราชกฤษฎีกา ในปีฮ.ศ.905/คศ.1499 ตามข้อเสนอของฝ่ายคริสตจักรสั่งให้ปิดมัสญิดทั้งหมด และห้ามชาวมุสลิมในการประกอบศาสนกิจหลังจากที่ฝ่ายคริสเตียนได้พยายามทุกวิถีทางในการโน้มน้าวให้ชาวมุสลิมเข้ารีตในคริสต์ศาสนาแต่ก็ไร้ผล

 

การกดขี่และการฉีกสัญญาที่ฝ่ายคริสเตียนได้กระทำไว้กับชาวมุสลิมก็เริ่มปรากฏชัดและเป็นจริงตามที่อะมีร มูซา อิบนุ ฆอซซานได้เคยเตือนเอาไว้ บรรดาขุนนางคริสเตียนได้เข้ายึดครองที่ดินของชาวมุสลิมโดยส่วนใหญ่ บรรดามัสญิดที่ถูกปิดก็ถูกเปลี่ยนเป็นโบสถ์ในคริสต์ศาสนา

 

มัสญิดแห่งแรกในฆอรนาเฏาะฮฺที่ถูกเปลี่ยนเป็นโบสถ์คริสต์ ก็คือมัสญิดที่เฟอร์ดินานด์ประทับอยู่ในช่วงของวันที่มีการส่งมอบเมือง เรียกกันว่า โบสถ์ เซนต์ ซิบาสเตียน และตามมาด้วยการยกไม้กางเขนเงินขึ้นเหนือเชิงเทินในปราสาทอัลฮัมรออฺ (Alhambra) ในวันที่ 2 มกราคม คศ.1492 หลังจากนั้นมัสญิดทั้งหมดก็ถูกเปลี่ยนเป็นโบสถ์ในคริสต์ศาสนาเมื่อมีประกาศดังกล่าวในปีคศ.1499

 

ต่อมาฟรานซิสโก เดอ เซสนิรุส หรือ เคอมิเนส ได้ดำรงตำแหน่งสังฆนายกแทน เฮอร์นานโด ทัลบีร่า ตามพระประสงค์ของพระราชินีอิซาเบลล่าและการเห็นชอบของพระสันตะปาปา อเล็กซานเดอร์ที่ 6 ในปีคศ.1492 เคอมีเนสเป็นบุคคลสำคัญลำดับที่ 3 ในราชสำนักถัดจากพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ เขาเริ่มดำเนินการในการโน้มน้าวชาวมุสลิมให้เป็นคริสเตียน ด้วยการเชิญบรรดานักวิชาการชาวมุสลิมมายังโบสถ์ในคริสต์ศาสนาซึ่งเคยเป็นมัสญิดมาก่อนเพื่ออภิปรายถกเถียงหลักความเชื่อระหว่างสองศาสนา

 

เขาหวังว่าหากสามารถเอาชนะบรรดานักวิชาการมุสลิมในการโต้เถียงได้ก็จะมีผลในการโน้มน้าวชาวมุสลิมให้เห็นดีเห็นชอบกับการเปลี่ยนศาสนา การโต้เถียงและการอภิปรายระหว่างกลุ่มบาดหลวงและนักวิชาการมุสลิมดำเนินไปเป็นเวลาหลายวันก็ไม่สามารถหักล้างเอาชนะฝ่ายมุสลิมได้ คอมิเนสจึงหันไปชักชวนชาวมุสลิมทั่วไปที่ไม่มีความรู้ในศาสนาของตน และมอบของกำนัล ติดสินบนแก่ชาวมุสลิมเหล่านั้น ซึ่งก็ได้ผลบ้างแต่ไม่มากเพราะบรรดานักวิชาการมุสลิมรู้ถึงแผนการของคอมิเนสจึงได้เตือนบรรดามุสลิมมิให้หลงเชื่อ มิให้รับของกำนัลและสินบนจากสังฆนายกผู้นี้

 

และถ้าหากมุสลิมคนใดเข้ารีตในคริสต์ศาสนานั่นก็จะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การขึ้นศาลตรวจสอบและจะมีจุดจบเช่นเดียวกับพวกยิว สังฆนายก คอมิเนส จึงสั่งให้นำตัวชาวมุสลิมในฆอรนาเฏาะฮฺจำนวน 3,000 คนมารวมตัวกันในโบสถ์คริสต์ และเรียกร้องเชิญชวนพวกเขาให้เข้ารีตในคริสต์ศาสนา บรรดานักวิชาการมุสลิมก็ขัดขวางการกระทำของคอมิเนส คอมิเนสจึงหันมาเชิญชวนนักวิชาการมุสลิมเป็นรายบุคคล

 

มีอยู่วันหนึ่งคอมิเนสได้เชื้อชวนเชคอัซซีรีย์ หรือ อัซซอกรีย์ เข้ามาในโบสถ์เพื่ออภิปรายและโต้เถียงกับตน เขาพยายามหว่านล้อมและหยิบยื่นทรัพย์สินและของกำนัลแก่ชัยค์อัซซีรีย์ แต่เชคอัซซีรีย์ก็ปฏิเสธ คอมิเนสเชื่อว่าถ้าหากตนสามารถโน้มน้าวชัยค์ผู้นี้ให้เข้ารีตในคริสต์ศาสนาได้สำเร็จก็จะทำให้ชาวมุสลิมหลายร้อยคนเข้ารีตตามไปด้วย

 

เมื่อชัยค์อัซซีรีย์ขออนุญาตสังฆนายกกลับไปยังชุมชนอัลบิยาซีน (ซึ่งเป็นเขตชุมชนของชาวมุสลิมโดยเฉพาะในฆอรนาเฏาะฮฺ) สังฆนายกคอมิเนสก็สั่งให้คุมตัวชัยค์และจับเขาใส่ที่คุมขัง ชัยค์อัซซีรีย์ถูกทรมานและถูกห้ามไม่ให้กินอาหารอยู่หลายวัน หลังจากนั้นคอมิเนสก็ออกไปพบพลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺและกล่าวแก่พวกเขาว่า ชัยค์อัซซีรีย์ได้ฝันเห็นว่ามีเสียงมาจากฟากฟ้าบัญชาให้เขาเข้ารีตในศาสนาคริสต์ และให้ชาวมุสลิมปฏิบัติตามความฝันนั้น แต่ก็ไม่มีผู้ใดหลงเชื่อ

 

คอมิเนสจึงหันไปใช้วิธีการสั่งเผาทำลายตำราและข้อเขียนของชาวมุสลิมที่หลงเหลืออยู่ในฆอรนาเฏาะฮฺจำนวนหลายหมื่นเล่ม และสั่งห้ามชาวมุสลิมครอบครองตำราและข้อเขียนที่เป็นภาษาอาหรับ และในที่สุดคอมิเนสก็สั่งให้เผาคัมภีร์อัล-กุรอ่านที่ตกอยู่ในกำมือของพวกคริสเตียน คอมิเนสได้ส่งเจ้าหน้าที่ 3 คนของตนไปยังชุมชน อัลบิยาซีน เพื่อหาข่าวและสืบความเคลื่อนไหวของชาวมุสลิมแล้วก็เกิดปะทะกับชาวมุสลิมจนเจ้าหน้าที่ 2 คนถูกสังหาร

 

ความอดกลั้นของชาวมุสลิมก็สิ้นสุดลง การลุกฮือของชาวมุสลิมในฆอรนาเฏาะฮฺก็เกิดขึ้นหลายครั้งทั้งในชุมชน อัลบิยาซีน, อัลบุชรอฮฺ (Alpujarras) ในปีคศ.1499 และ 1501 ต่อมาในปีคศ.1502 พระราชินีอิซาเบลล่าก็ออกประกาศให้ชาวมุสลิมในอัลอันดะลุสเลือกเอาระหว่างการอพยพออกจากฆอรนาเฏาะฮฺและหัวเมืองอื่นๆ หรือการเป็นคริสเตียน ชาวมุสลิมจำนวนถึง 300,000 คนจึงเดินทางออกจากฆอรนาเฏาะฮฺ ส่วนชาวมุสลิมที่ยังคงตกค้างอยู่ก็ถูกชาวคริสเตียนเรียกขานว่า อัลมะวาริกะฮฺ, อัลมูริสกียูน (Los Moriscos) ซึ่งหมายถึง “คริสเตียนใหม่” นับแต่บัดนั้น

 

ในปีฮ.ศ.910/คศ.1504 พระราชินีอิซาเบลล่าก็ทรงสิ้นพระชนม์ ก่อนสิ้นพระชนม์พระนางได้ทรงสั่งเสียแก่กษัตริย์เฟอร์ดินานด์พระราชสวามีให้ทำสงครามครูเสดกับพวกคนนอกศาสนา (หมายถึงชาวมุสลิม) ในมอรอคโคและสืบสานภารกิจในการเปลี่ยนชาวมุสลิมที่เหลืออยู่ให้เป็นคริสเตียนทั้งหมด

 

ตลอดรัชสมัยของเฟอร์ดินานด์ อาณาจักรสเปนได้แผ่ขยายอำนาจจนกลายเป็นจักรวรรดิที่เรืองอำนาจในยุโรป ในปีคศ.1508 กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ก็มีประกาศเพื่อสร้างความลำบากแก่ชาวมุสลิมอีกระลอกหลังจากได้ยกเลิกเงื่อนไขในสนธิสัญญาปีคศ.1492 ทั้งหมด ต่อมาในปีคศ.1519/ฮ.ศ.925 กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ก็สิ้นพระชนม์ คาร์ลอสที่ 5 พระราชนัดดาจึงได้ขึ้นครองราชย์

 

ต่อมา ในปีฮ.ศ.935/คศ.1529 ก็มีประกาศห้ามพลเมืองมุสลิมพูดภาษาอาหรับ ผู้ใดพูดภาษาอาหรับจะต้องถูกประหารชีวิต และชาวมุสลิมก็ถูกห้ามอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน และถูกตัดขาดจากโลกภายนอก การกดขี่ชาวมุสลิมที่ถูกบังคับให้เข้ารีตในศาสนาคริสต์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในปีฮ.ศ.974 ก็มีประกาศห้ามชาวมุสลิมอาบน้ำ มีการทำลายห้องอาบน้ำในทุกหัวเมืองโดยเฉพาะในเมืองฆอรนาเฏาะฮฺ มุสลิมคนใดอาบน้ำจะถูกประหารชีวิตและห้ามแต่งกายแบบชาวอาหรับ ผู้ใดแต่งกายแบบชาวมุสลิมหรือชาวอาหรับก็จะถูกประหารชีวิตเพราะขัดคำสั่งจากราชสำนัก

 

ต่อมาก็มีการตั้งศาลตรวจการณ์ขึ้นในฆอรนาเฏาะฮฺเพื่อจัดการกับชาวมุสลิมที่เข้ารีตในคริสต์ศาสนาแต่ยังหลบซ่อนปฏิบัติศาสนกิจตามศาสนาอิสลามอย่างลับๆ มีชาวมุสลิมถูกสังหารเป็นจำนวนมาก มีการทรมานและคุมขังผู้คนอย่างโหดร้ายทารุณในนามของศาลตรวจการณ์ นักประวัติศาสตร์ระบุว่ามีพลเมืองต้องสูญเสียชีวิตไปนับแต่มีการตั้งศาลตรวจการณ์ราว 3 ล้านคน

 ชาวมุสลิมในนครฆอรนาเฏาะฮฺ (แกรนาดา) ถูกบังคับให้ทำพิธีศีลจุ่มเพื่อเข้ารีตในคริสตศาสนาภายหลังนครฆอรนาเฏาะฮฺตกอยู่ในกำมือของคริสเตียน

เมื่อมีการเข่นฆ่าชาวมุสลิมมากขึ้นตลอดจนการไล่ล่าชาวมุสลิมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มุสลิมผู้หนึ่งที่ชื่อ ฟารอจญ์ อิบนุ ฟารอจญ์ (Farax aben Farax) ได้เป็นผู้นำก่อการลุกฮือในปีฮ.ศ.975/คศ.1568 ฟารอจญ์เรียกร้องให้พลเมืองฆอรนาเฏาะฮฺเข้าร่วมสนับสนุน “เฟอร์ดินานโด เดอ โคโดบาฮฺ” (ในเอกสารบางฉบับระบุว่าเป็น เฮอร์นานโด เดอ บาลูร) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากวงศ์อุมัยยะฮฺ มีชื่อจริงว่า มุฮำหมัด อิบนุ อุมัยยะฮฺ แต่เขาแสดงออกว่าเป็นคริสเตียน

 

ชาวมุสลิมหรือมอริสโกในเวลานั้นจึงเข้าร่วมสมทบในการกบฏลุกฮือ ณ สถานที่ตั้งใกล้ๆ กับภูเขาอัลบุชรอฮฺ (Albujarras) พวกคริสเตียนจึงได้สังหารครอบคครัวและญาติสนิทของพวกที่เข้าร่วมก่อการกบฏ หรือแม้กระทั่งชาวมุสลิมมอริสโกคนใดก็ตามที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ กับภูเขา อัลบุชรอฮฺ ด้วยข้อหาว่าพวกเขาให้การสนับสนุนพวกกบฏ

 

เหตุการณ์ลุกฮือครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 และตรงกับรัชสมัยกษัตริย์ฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปน พระองค์ได้มีบัญชาให้มาควิชฺ มันดิคอร์ เป็นผู้นำกองทหารจำนวน 4,000 คนเข้าปราบปรามพวกกบฏ มีการสังหารหมู่ชาวมุสลิมมอริสโกในเมืองญุบัยล์ (Jubiles) และลูเราะฮฺ (Laroles) แต่ทว่าการกบฏลุกฮือก็ยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากในระหว่างนั้นสเปนกำลังมีศึกติดพันกับดัชท์และพวกเติร์กในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ตลอดจนมีการลุกฮือของพลเมืองในแคว้นกอตลาเนีย (Catalonia)

 

กษัตริย์ฟิลลิปที่ 2 จึงแต่งตั้งให้ดอน ควน พระอนุชา (พระโอรสนอกสมรสของกษัตริย์คาร์ลอสที่ 5) ให้ร่วมกับมาควิซฺ มันดิคอร์และดุกซีซ่านำทัพเข้าปราบปรามขั้นเด็ดขาดกับพวกกบฏ ซึ่งตั้งมั่นในภูเขาอัลบุชรอฮฺมาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว กองทัพของสเปนที่ยกมาถูกกำลังคนของอัลฟารอจญ์และมุฮำหมัด อิบนุ อุมัยยะฮฺซุ่มโจมตีจนต้องได้รับความสูญเสียเป็นอันมาก

 

การต่อสู้ของพวกกบฏมุสลิมโมริสโกได้ทำให้ชาวมุสลิมโมริสโกในหัวเมืองต่างๆ ของคริสเตียนเข้าร่วมสมทบกับฝ่ายกบฏซึ่งกินระยะเวลาถึง 20 ปี ชาวมุสลิมโมริสโกได้ถูกสังหารไปราว 20,000 คน การกบฏลุกฮือได้ถูกปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณ ผู้ที่รอดชีวิตก็ถูกจับตัวเป็นเชลยส่งไปยังหัวเมืองต่างๆ ทั่วอัลอันดะลุส

 

ในปีฮ.ศ.1019/คศ.1610 ราชสำนักสเปนได้ออกประกาศนิรโทษกรรมแก่ชาวมุสลิมโมริสโกโดยมีเงื่อนไขว่า พวกเขาต้องอพยพออกจากอัลอันดะลุสและฆอรนาเฏาะฮฺ ชาวมุสลิมโมริสโกจำนวนครึ่งล้านคนที่เหลือจึงอพยพข้ามฝั่งไปยังมอรอคโค กระนั้นศาลตรวจการณ์ที่ฝ่ายคริสเตียนตั้งขึ้นยังคงดำเนินภารกิจของตนต่อไป

 

ในระหว่างปีคศ.1635-1638 ได้มีการจับกุมขบวนการลับของชาวมุสลิมโมริสโกครั้งใหญ่ และขบวนการลับสุดท้ายที่มีเอกสารระบุถึงนั้นถูกเปิดโปงในปีฮ.ศ.1183/คศ.1769 การต่อสู้ของชาวมุสลิมโมริสโกในอัลอันดะลุสตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีนับแต่การสูญเสียฆอรนาเฏาะฮฺก็สิ้นสุดลง

  อบูอับดิลลาฮฺ อัซซ่อฆีร กษัตริย์มุสลิมคนสุดท้ายในอัลอันดะลุสคุกเข่าเบื้องหน้า กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ที่ 5 แห่งสเปนเพื่อจุมพิตพระหัตถ์ของพระองค์

สรุปเหตุการณ์สำคัญในช่วงการสูญเสียฆอรนาเฏาะฮฺ

        ฮ.ศ.896     สเปนปิดล้อมนครฆอรนาเฏาะฮฺ

        ฮ.ศ.897     การเจรจาระหว่างอบูอับดิลลาฮฺและกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ซึ่งนำไปสู่การยอมจำนนของฆอรนาเฏาะฮฺ

        ฮ.ศ.905     เฟอร์ดินานด์ผิดสัญญาและบรรดามัสญิดถูกปิด

        ฮ.ศ.910     พระราชินีอิซาเบลล่า สิ้นพระชนม์

        ฮ.ศ.924     กษัตริย์อบู อับดิลลาฮฺ เสียชีวิตในนครฟาส

        ฮ.ศ.925     กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ สิ้นพระชนม์

        ฮ.ศ.935     ออกกฎหมายห้ามพูดภาษาอาหรับ, ห้ามแต่งกายด้วยชุดอาหรับ และการตั้งศาลตรวจการณ์ในฆอรนาเฏาะฮฺ

        ฮ.ศ.1568   การลุกฮือของชาวมุสลิมโมริสโกครั้งใหญ่ในแถบภูเขาอัลบุชรอฮฺ

        ฮ.ศ.1610   ชาวมุสลิมโมริสโกอพยพออกจากอัลอันดะลุส