การยืนของอิมามกับมะอฺมูม และการซิกรุ้ลลอฮฺและดุอาหลังการละหมาดญะมาอะฮฺ

 

1. สุนนะฮฺให้มะอฺมูมคนเดียวยืนทางด้านขวาของอิมาม ไม่ว่าจะเป็นชายหรือเด็กที่รู้เดียงสาก็ตาม และส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้มะอฺมูมคนเดียวนั้นถอยลงมาจากการยืนเสมออิมามเล็กน้อย

 

ดังนั้นหากมะอฺมูมกระทำสิ่งที่ค้านกับสุนนะฮฺโดยยืนทางด้านซ้ายของอิมามหรือข้างหลังอิมาม ก็ส่งเสริม (มุสตะหับ) สำหรับมะอฺมูมผู้นั้นให้ย้ายตำแหน่งการยืนไปทางด้านขวาของอิมาม โดยมะอฺมูมจะต้องระมัดระวังจากการกระทำที่ทำให้เสียละหมาด (เช่น การก้าวเท้าที่ติดต่อกัน เกิน 2 ครั้ง เป็นต้น)

 

แต่ถ้าหากมะอฺมูมไม่เปลี่ยนหรือย้ายตำแหน่งการยืนจากทางด้านซ้ายของอิมาม ก็ส่งเสริมสำหรับอิมามให้จับหรือดึงมะอฺมูมให้ย้ายตำแหน่งการยืนมาทางขวาของอิมาม

 

ตามที่มีอัล-หะดีษซึ่งรายงานโดย อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ระบุว่า : “ฉันเคยค้างคืนอยู่กับท่านหญิงมัยมูนะฮฺ (ร.ฎ.) น้าสาวของฉัน แล้วท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ลุกขึ้นละหมาด (กิยามุลลัยลฺ) แล้วฉันก็ยืนทางด้านซ้ายของท่าน ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงทำให้ฉันอยู่ทางด้านขวาของท่าน” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

แต่ถ้าหากมะอฺมูมยังคงยืนอยู่ทางด้านซ้ายของอิมามต่อไปหรือยืนอยู่ทางด้านหลังของอิมาม ก็ถือว่ามักรูฮฺ แต่การละหมาดของมะอฺมูมผู้นั้นใช้ได้โดยการเห็นพ้องของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุ้ลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 4 หน้า 184-185)

 

2. เมื่อมีอิมามและมะอฺมูม 2 คน มาร่วมละหมาดญะมาอะฮฺ ก็ให้อิมามขึ้นไปข้างหน้า และให้มะอฺมูม 2 คนนั้นเข้าแถวอยู่ด้านหลังอิมาม ไม่ว่ามะอฺมูม 2 คนนั้นจะเป็นผู้ชายทั้งคู่ หรือเด็กที่รู้เดียงสาทั้งคู่ หรือผู้ชายคนหนึ่งและเด็กคนหนึ่งก็ตาม นี่เป็นมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺและเป็นมัซฮับของบรรดานักปราชญ์ทั้งหมด ยกเว้นมัซฮับของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฎ.) และสานุศิษย์ทั้งสองของท่าน คือ อัล-เกาะมะฮฺและอัล-อัสวัด ที่กล่าวว่า : อิมามและมะอฺมูมทั้ง 2 คนนั้นทั้งหมดยืนอยู่ในแถวเดียวกัน ซึ่งทัศนะที่รายงานจากท่านอิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฎ.) นี้ มีระบุอยู่ในเศาะหิหฺมุสลิม (อ้างแล้ว 4/185)

 

หากมีอิมามและมะอฺมูมมาร่วมละหมาดญะมาอะฮฺ โดยมะอฺมูมตักบีเราะตุลอิหฺร็อมทางด้านขวาของอิมาม ต่อมาก็มีมะอฺมูมมาอีกคนหนึ่ง ให้มะอฺมูมที่มาทีหลังนี้ตักบีเราะตุลอิหฺร็อมทางด้านซ้ายของอิมาม ต่อมาหากข้างหน้าอิมามมีที่ว่างพอ และข้างหลังมะอฺมูม 2 คนนั้นไม่มีที่ว่างพอ ก็ให้อิมามขึ้นไปข้างหน้า แต่ถ้าหากข้างหลังมะอฺมูม 2 คนนั้นมีที่ว่างพอและข้างหน้า อิมามไม่มีที่ว่างพอ ก็ให้มะอฺมูม 2 คนนั้นถอยหลังมาตั้งแถวข้างหลังอิมาม

 

แต่ถ้าข้างหน้าอิมามและข้างหลังมะอฺมูมมีที่ว่างพอ ตามประเด็นที่ถูกต้องในมัซฮับ ถือว่าการถอยหลังของมะอฺมูมลงมาตั้งแถวข้างหลังอิมามเป็นสิ่งที่ดีกว่า (อัฟฎ็อล) เพราะอิมามเป็นผู้ที่ถูกปฏิบัติตาม จึงไม่ต้องย้ายที่ในการยืน ที่กล่าวมานี้เป็นกรณีที่มะอฺมูมคนที่สอง มาในตอนขณะยืนละหมาด แต่ถ้าหากมาในขณะนั่งตะชะฮฺฮุดและในการสุหญูด ก็ไม่มีการขึ้นไปข้างหน้าและการถอยหลังจนกว่าทั้งหมดจะลุกขึ้นยืน และไม่มีข้อขัดแย้งว่าการขึ้นไปข้างหน้าและการถอยหลังนั้นจะไม่เกิดขึ้น นอกเสียจากภายหลังการตักบีเราะตุลอิหฺร็อมของมะอฺมูมคนที่สองแล้วเท่านั้น (อ้างแล้ว 4/185)

 

ในกรณีที่อิมามนำละหมาดมะอฺมูม 2 คน แล้วมะอฺมูม 2 คนนั้นยืนอยู่ทางขวาของอิมามหรือทางซ้ายของอิมาม หรือคนหนึ่งยืนทางขวาของอิมาม อีกคนหนึ่งยืนอยู่ทางซ้ายของอิมาม หรือคนหนึ่งยืนอยู่ด้านข้างอิมาม และอีกคนยืนอยู่ข้างหลังอิมาม หรือคนหนึ่งยืนข้างหลังอิมาม และมะอฺมูมอีกคนหนึ่งยืนอยู่ข้างหลังมะอฺมูมคนแรก ก็ถือว่ามักรูฮฺ แต่การละหมาดนั้นใช้ได้ ไม่ต้องกลับมาละหมาดใหม่ (อิอาดะฮฺ) และไม่ต้องสุหญูดสะฮฺวียฺแต่อย่างใด (อ้างแล้ว 4/185)

 

3. เมื่อมีผู้มาร่วมละหมาดญะมาอะฮฺเป็นจำนวนมากทั้งผู้ชายและเด็ก ก็ให้บรรดาผู้ชายนั้นอยู่ในแถวหน้า (แถวแรกๆ) ต่อมาก็เป็นแถวของบรรดาเด็กๆ ตามประเด็นที่ถูกต้องในมัซฮับ แต่ก็มีประเด็นที่ระบุว่า ส่งเสริมให้เด็กหนึ่งคนยืนอยู่ระหว่างผู้ชาย 2 คน เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การปฏิบัติละหมาดจากบรรดาผู้ชายเหล่านั้น

 

ซึ่งตามประเด็นหลังนี้มีผลดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นการควบคุมระเบียบและความเรียบร้อยของบรรดาเด็กๆ ในขณะทำการละหมาดด้วย โดยเฉพาะในมัสญิดที่มีเด็กนักเรียนมาร่วมละหมาดเป็นจำนวนมาก หากบรรดาผู้ใหญ่ละหมาดอยู่กันเฉพาะในแถวหน้า แล้วบรรดาเด็กๆ ก็ยืนละหมาดอยู่แถวหลังโดยไม่มีผู้ใหญ่บางคนไปยืนแทรกอยู่ในแถวหลังเลย เด็กบางคนก็อาจจะป่วนเพื่อนคนอื่นในแถวหรือเด็กอาจจะยืนในแถวโดยไม่รักษาระเบียบแถวก็เป็นได้

 

ในกรณีที่ผู้มาร่วมละหมาดมีบรรดาผู้ชาย เด็กๆ บรรดากระเทยและผู้หญิง ก็ให้บรรดาผู้ชายอยู่แถวหน้า ถัดมาก็คือบรรดาเด็กผู้ชาย ถัดมาก็คือบรรดากระเทย ถัดมาก็คือบรรดาผู้หญิงตามลำดับ แต่ถ้ามีผู้ชายหลายคน กระเทยหนึ่งคน และผู้หญิงหนึ่งคน ก็ให้กระเทยคนนั้นยืนข้างหลังบรรดาผู้ชายเพียงลำพัง และให้ผู้หญิงหนึ่งคนนั้นยืนข้างหลังกระเทยผู้นั้นเพียงลำพัง

 

แต่ถ้ามีเด็กผู้ชายหนึ่งคนร่วมอยู่ด้วย ก็ให้เด็กผู้ชายนั้นยืนอยู่ในแถวของบรรดาผู้ชาย แต่ถ้ามีอิมาม เด็กหนึ่งคน ผู้หญิงหนึ่งคน และกระเทยหนึ่งคน ก็ให้เด็กคนนั้นยืนทางขวาของอิมาม และให้กระเทยยืนข้างหลังคนทั้งสองนั้น และผู้หญิงก็ยืนอยู่ข้างหลังกระเทยอีกที (อ้างแล้ว 4/186)

 

4. ถือเป็นมักรูฮฺในการที่สถานที่ยืนของอิมามหรือของมะอฺมูมอยู่สูงกว่าสถานที่ยืนของอีกผู้หนึ่ง แต่ถ้าหากมีความต้องการสอนให้มะอฺมูมรู้ถึงการปฏิบัติละหมาดหรือเพื่อให้มะอฺมูมเป็นมุบัลลิฆฺ (ผู้ส่งเสียงถ่ายทอด) แก่กลุ่มชนถึงการตักบีรของอิมาม หรือที่คล้ายกันนั้น ก็ส่งเสริมให้อยู่ในที่สูงกว่าได้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว นี่เป็นมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ และเป็นรายงานหนึ่งจากอิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) ส่วนอีกรายงานหนึ่งนั้นถือว่าเป็นมักรูฮฺโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งตามนี้ อิมามมาลิกและอัล-เอาวฺซาอียฺกล่าวเอาไว้ (อ้างแล้ว 4/187)

 

ในกรณีเมื่อผู้หญิงยืนละหมาดล้ำหน้าแถวของผู้ชายโดยที่นางมิได้ยืนล้ำหน้าอิมามนำละหมาดหรือนางยืนอยู่ด้านข้างของอิมามหรือด้านขวาของมะอฺมูมผู้ชาย การละหมาดของนางและการละหมาดของบรรดาผู้ชายนั้นใช้ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ

 

และหากบุคคลละหมาดคนเดียวข้างหลังแถวละหมาด ทั้งๆ ที่เขาผู้นั้นสามารถเข้ายืนในแถวละหมาดนั้นได้ ก็ถือว่ามักรูฮฺ แต่การละหมาดของเขาใช้ได้ (อ้างแล้ว 4/188) ซึ่งตามนี้ อิบนุ อัล-มุนซิรฺ เล่าจาก อัล-หะสัน อัล-บะเศาะรียฺ , มาลิก และ อัล-เอาวฺซาอียฺ ตลอดจน อัศหาบฺ อัร-เราะอฺย์ และนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ เล่าจากท่านซัยดฺ อิบนุ ษาบิต (ร.ฎ.) , อัษ-เษารียฺ , อิบนุ อัล-มุบาร็อกและดาวูดอีกเช่นกัน แต่นักปราชญ์กลุ่มหนึ่งกล่าวว่า ไม่อนุญาตให้ยืนละหมาดคนเดียวข้างหลังแถวละหมาด

 

โดยอิบนุ อัล-มุนซิรฺ เล่าจาก อัน-นะเคาะอียฺ , อัล-หะกัม , อัล-หะสัน อิบนุ ศอลิหฺ , อิมามอะหฺหมัดและอิสหาก และทัศนะที่รู้กัน (มัชฮู๊ร) จากอิมามอะหฺหมัดและอิสหาก ถือว่าผู้ที่ยืนละหมาดคนเดียวข้างหลังแถวละหมาดนั้น การตักบีเราะตุล อิหฺรอมของเขาใช้ได้ ดังนั้นหากว่าผู้นั้นเข้าสู่แถวละหมาดก่อนการก้มลงรุ่กัวอฺ ก็ถือว่าการละหมาดตามของเขาใช้ได้ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ก็ถือว่าการละหมาดของเขาเป็นโมฆะ

 

หลักฐานของนักปราชญ์ฝ่ายหลังนี้คือ อัล-หะดีษที่รายงานโดยท่านวาบิเศาะฮฺ อิบนุ มะอฺบัด (ร.ฎ.) ว่า : แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เห็นชายคนหนึ่งกำลังละหมาดอยู่ข้างหลังแถวเพียงลำพัง ท่านจึงใช้ให้ชายผู้นั้นกลับไปละหมาดใหม่” (รายงานโดยอบูดาวูดและอัต-ติรมีซียฺ ซึ่งกล่าวว่าเป็นหะดีษหะสัน)

 

และมีรายงานจากท่านอะลี อิบนุ ชัยบานฺ กล่าวว่า : พวกเราเคยละหมาดอยู่ข้างหลังท่านนบี (ศัอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วท่านก็ผินออก (เสร็จจากการละหมาด) ท่านก็เห็นชายคนหนึ่งกำลังละหมาดอยู่ข้างหลังแถวละหมาด ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงหยุดยืนอยู่จนกระทั่งชายผู้นั้นผินออก (เสร็จจากการละหมาด) ท่านจึงกล่าวกับเขาว่า : “จงมุ่งสู่การละหมาดของท่าน (เสียใหม่) ย่อมไม่มีการละหมาดสำหรับผู้ที่อยู่ข้างหลังแถว” (รายงานโดยอิบนุ มาญะฮฺ ด้วยสายรายงานที่หะสัน)

 

สำหรับนักวิชาการสังกัดมัซฮับ อัช-ชาฟิอียฺและปราชญ์ฝ่ายแรกอาศัยหลักฐานจากอัล-หะดีษที่รายงานโดย อบูบักเราะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งท่านอบูบักเราะฮฺ (ร.ฎ.) ได้ตักบีเราะตุลอิหฺร็อมข้างหลังแถวละหมาดและก้มลงรุ่กัวอฺ ต่อมาท่านก็เดินเข้าสู่แถวละหมาด ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวแก่อบูบักเราะฮฺว่า : “ขออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงเพิ่มพูนความกระตือรือร้นแก่ท่าน และอย่าได้ทำ (เช่นนี้) อีก” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม) และตีความอัล-หะดีษ 2 บทที่นักปราชญ์ฝ่ายหลังอาศัยเป็นหลักฐานว่า คำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่ให้กลับไปละหมาดนั้นเป็นเพียงการส่งเสริมเพื่อรวมนัยของหลักฐานทั้งหมดไม่ให้ขัดแย้งกัน

 

และคำกล่าวของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่ว่า “ไม่มีการละหมาดสำหรับผู้ที่อยู่ข้างหลังแถว” หมายถึง ไม่มีการละหมาดที่สมบูรณ์ อีกทั้งการที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หยุดยืนรอชายผู้นั้นจนละหมาดเสร็จ ก็บ่งชี้ว่าการละหมาดของชายผู้นั้นใช้ได้ เพราะหากการละหมาดนนั้นเป็นโมฆะเสียแล้ว ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็คงไม่ปล่อยให้เขาทำละหมาดจนเสร็จ (อ้างแล้ว 4/189-190)

 

5. เมื่อปรากฏว่าผู้ที่เข้ามาละหมาดญะมาอะฮฺพบว่าในแถวมีช่องว่างหรือที่ว่างพอก็ให้เขาผู้นั้นเข้าสู่ช่องว่างหรือที่ว่างพอในแถวนั้น และผู้นั้นมีสิทธิแทรกเข้าไปในแถวหลังเมื่อไม่ปรากฏว่ามีช่องว่างในแถวหลัง แต่มีช่องว่างอยู่ในแถวหน้าเนื่องจากบรรดาผู้ที่อยู่ในแถวหลังนั้นกระทำบกพร่องด้วยการปล่อยให้มีช่องว่างในแถวหน้านั้น

 

แต่ถ้าผู้นั้นไม่พบช่องว่างและที่ว่างพอในการแทรก กรณีนี้มี 2 คำกล่าวในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ หนึ่งใน 2  คำกล่าวคือ ให้ผู้นั้นยืนละหมาดข้างหลังแถวคนเดียวและไม่ต้องดึงคนใดจากแถวนั้น ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ไม่ทำให้คนอื่นถูกห้ามจากความประเสริฐของการยืนของแถวหน้า อัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบ เลือกคำกล่าวนี้

 

ส่วนอีกคำกล่าวหนึ่ง เป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง ซึ่ง ชัยคฺ อบูหามิดและท่านอื่นๆ รายงานจากตัวบทของอิมาม อัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และปวงปราชญ์ในมัซฮับชี้ขาดเอาไว้ กล่าวคือ ส่งเสริมให้ผู้ที่เข้ามานั้นดึงคนๆ หนึ่งจากแถวลงมาหาผู้ที่เข้ามานั้น และส่งเสริมให้ผู้ที่ถูกดึงลงมานั้นร่วมมือช่วยเหลือผู้ที่ดึงนั้น โดยผู้ที่เข้ามานั้นจะไม่ดึงคนๆ หนึ่งจากแถวลงมานอกเสียจากภายหลังผู้ที่เข้ามานั้นทำการตักบีเราะตุลอิหฺร็อมเสียก่อนแล้ว จึงดึงผู้ที่อยู่ในแถวคนหนึ่งลงมาเพื่อตั้งแถวละหมาดร่วมกับผู้นั้น (อ้างแล้ว 4/189)

 

 

ดังนั้นเงื่อนไขสำหรับการดึงคนที่อยู่ในแถวลงมานั้นจึงมี 4 ประการ คือ 1.การดึงนั้นเกิดขึ้นภายหลังการตักบีเราะตุลอิหฺร็อมแล้ว 2.การร่วมมือของคนที่ถูกดึงนั้นเป็นสิ่งที่อนุญาต (คือแน่ใจว่าผู้นั้นยอมถูกดึงลงมา) หาไม่แล้วก็เป็นที่ต้องห้าม เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาความวุ่นวายได้ 3.ผู้ที่ถูกดึงนั้นเป็นเสรีชน 4.แถวนั้นจะต้องไม่มีการตั้งเพียงแค่ 2 แถว (อิอานะตุฏฏอลิบีน ; อัด-ดุมยาฏียฺ เล่มที่ 2 หน้า 30)

 

6. เมื่อมะอฺมูมยืนล้ำหน้าอิมามของตนในสถานที่นั้น กรณีนี้มี 2 คำกล่าวในมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ

 

หนึ่งเป็นคำกล่าวอัล-ญะดีดที่ปรากฏชัดที่สุดถือว่า ใช้ไม่ได้นับแต่ต้น และหากปรากฏว่าการยืนล้ำหน้าอิมามของมะอฺมูมเกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติละหมาด ก็ถือว่าการละหมาดนั้นเป็นโมฆะ

 

สอง เป็นคำกล่าวอัล-เกาะดีม ถือว่าใช้ได้ตั้งแต่ต้น และการละหมาดก็ไม่เป็นโมฆะ หากว่าการยืนล้ำหน้าอิมามของมะอฺมูมเกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติละหมาด แต่ถ้าหากมะอฺมูมมิได้ยืนล้ำหน้าอิมาม แต่ยืนเสมอกับอิมาม การละหมาดของมะอฺมูมก็ไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด หากแต่เป็นการมักรูฮฺเท่านั้น

 

และการพิจารณาว่าล้ำหน้าหรือยืนเสมอนั้นให้ถือเอาส้นเท้า (ของอิมาม) เป็นเกณฑ์ตามมัซฮับและตามการชี้ขาดของปวงปราชญ์ในมัซฮับ ดังนั้นหากมะอฺมูมกับอิมามยืนเสมอกัน ณ ส้นเท้า และนิ้วเท้าของมะอฺมูมล้ำหน้านิ้วเท้าของอิมาม ถือว่าไม่ส่งผลใดๆ แต่ถ้าหากส้นเท้าของมะอฺมูมล้ำหน้าส้นเท้าของอิมาม และนิ้วเท้าของอิมามก็อยู่หลังนิ้วเท้าของมะอฺมูม กรณีนี้มี 2 คำกล่าว แต่อัร-รอฟิอียฺเล่าไว้ว่า ใช้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข (กิตาบ อัลมัจญ์มูอฺ 4/190-191)

 

ในกรณีที่สงสัยว่า ยืนล้ำหน้าอิมามหรือไม่? ก็มี 2 ประเด็นที่ถูกต้อง ซึ่งมีตัวบทระบุไว้ในอัล-อุมม์และบรรดามุหักกิก (ผู้ตรวจทานที่สันทัดกรณี) ได้ชี้ขาดเอาไว้ ถือว่าการละหมาดของมะอฺมูมใช้ได้ เป็นคำกล่าวเดียวในทุกกรณี (อ้างแล้ว 4/191)

 

อนึ่ง การยืนล้ำหน้าอิมามของมะอฺมูมนั้นตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ถือว่าการละหมาดเป็นโมฆะ และตามนี้ อิมาม อบูหะนีฟะฮฺและอิมามอะฮฺมัดกล่าวเอาไว้ ส่วนอิมามมาลิก, อิสหาก, อบูเษารินและดาวูด กล่าวว่าอนุญาต และอิบนุ อัล-มุนซิรฺเล่าจากอิมามมาลิก, อิสหากและอบูเษารินว่า อนุญาตเมื่อสถานที่นั้นคับแคบ (อ้างแล้ว 4/191)

 

7. แถวแรก (อัศ-ศ็อฟฺฟุล เอาวัล) ของการละหมาดญะมาอะฮฺ คือ แถวที่อยู่ถัดจากอิมาม ไม่ว่าจะมีมิมบัรหรือเสามาคั่นระหว่างแถวนั้นหรือไม่ก็ตาม และแถวแรกนี้มีภาคผลความประเสริฐ (ฟะฎีละฮฺ) ในการละหมาดญะมาอะฮฺมากที่สุด ต่อจากนั้นก็คือแถวที่สองและถัดมาตามลำดับ ทั้งนี้ในกรณีของแถวละหมาดที่เป็นชาย และเป็นแถวของผู้หญิงที่แยกทำการละหมาดญะมาอะฮฺเป็นการเฉพาะสำหรับพวกนาง

 

ส่วนกรณีที่บรรดาผู้หญิงร่วมละหมาดญะมาอะฮฺเดียวกับบรรดาผู้ชาย โดยไม่มีสิ่งใดมาคั่นขวางระหว่างผู้ชายและผู้หญิง (เช่น ม่านหรือฉากบังตา เป็นต้น) แถวที่มีภาคผลความประเสริฐมากที่สุดของผู้หญิงคือ แถวสุดท้ายของพวกนาง ในแถวแรกนั้น ผู้ละหมาดญะมาอะฮฺซึ่งเป็นมะอฺมูมที่ยืนอยู่ใกล้อิมามย่อมมีความประเสริฐและภาคผลมากกว่าผู้ละหมาดซึ่งเป็นมะอฺมูมที่ยืนไกลจากอิมามลดหลั่นกันไปตามลำดับ และผู้ละหมาดซึ่งเป็นมะอฺมูมที่ยืนละหมาดทางด้านขวาของอิมาม ย่อมมีภาคผลความประเสริฐมากกว่าผู้ละหมาดที่เป็นมะอฺมูมซึ่งยืนอยู่ทางด้านซ้ายของอิมาม

 

การตั้งแถวใหม่ให้ถือเอาอิมามอยู่ตรงกลาง กล่าวคือ ให้ผู้ที่มาตั้งแถวที่สองหรือแถวถัดมายืนตรงกับตำแหน่งการยืนของอิมามแล้วขยายความยาวของแถวออกไปจากทั้งสองด้านของอิมาม มิใช่ตั้งแถวใหม่ด้วยการไปยืนทางด้านขวาสุดของอิมาม ซึ่งเป็นปลายสุดของแถว

 

และมีสุนนะฮฺให้ระยะห่างระหว่างแถวละหมาดนับตั้งแต่ตำแหน่งการยืนของอิมามและแถวแรกและแถวถัดไปไม่เกิน 3 คืบศอก ทั้งนี้เพื่อรักษาภาคผลความประเสริฐของการละหมาดญะมาอะฮฺให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ (เก็บความจาก กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรฺหุลมุฮัซซับ, อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 4 หน้า 192-193, อิอานะตุฏฏอลิบีน ; อัด-ดุมยาฏียฺ เล่มที่ 2 หน้า 31)

 

8. ส่วนหนึ่งจากเงื่อนไขในการเศาะหฺการละหมาดตามอิมามในการละหมาดญะมาอะฮฺคือการที่มะอฺมูมต้องรู้ถึงการเคลื่อนย้าย (การเปลี่ยนอิริยาบถ) ของอิมาม ด้วยการมองเห็นอิมามหรือมองเห็นการเคลื่อนย้ายของมะอฺมูมในแถวบางส่วนที่อยู่ทางขวาหรือทางซ้ายหรือข้างหน้าหรือด้วยการได้ยินเสียงของอิมาม (ในการตักบีรย้ายอิริยาบถ เป็นต้น) หรือด้วยการได้ยินเสียงของ มุบัลลิฆฺ ที่เชื่อถือได้ (ถึงแม้ว่า มุบัลลิฆฺจะไม่ใช่ผู้ละหมาดก็ตาม)

 

ดังนั้นหากมะอฺมูมไม่รู้ถึงการกระทำที่ปรากฏชัดของอิมาม เช่น การรุกัวอฺและการสุหญูด เป็นต้น การละหมาดของมะอฺมูมย่อมใช้ไม่ได้ เนื่องจากการตามในขณะนั้นเป็นอุปสรรค (อิอานะตุฏฏอลิบีน เล่มที่ 2 หน้า 32)

 

9. ในกรณีที่อิมามและมะอฺมูมละหมาดอยู่ในมัสญิดหรือสถานที่เดียวกัน ก็ถือว่าการละหมาดตามกันนั้นใช้ได้ไม่ว่าระยะระหว่างทั้งสองจะอยู่ใกล้กันหรืออยู่ห่างจากกันก็ตาม และไม่ว่าสถานที่ละหมาดนั้นจะเป็นตัวอาคารเดียวกัน (เช่น โถงละหมาดขนาดใหญ่) หรือต่างกัน เช่น ระเบียงหรือเพิงของมัสญิดหรือดาดฟ้าหรือลานโล่งของมัสญิดหรือหออะซาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมัสญิด

 

การละหมาดในทุกกรณีนี้ถือว่าใช้ได้โดยมีข้อแม้ว่า เมื่อมะอฺมูมรู้ถึงการละหมาดของอิมามและมะอฺมูมไม่ได้ยืนล้ำหน้าอิมาม ไม่ว่ามะอฺมูมจะอยู่สูงหรือต่ำกว่าอิมามก็ตาม และไม่ว่าจะมีสิ่งใดขวางกั้นหรือไม่ก็ตาม ตราบใดที่เป็นการละหมาดภายในมัสญิดเดียวกัน ซึ่งอิมาม อัชชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ได้กำหนดระยะความห่างระหว่างแถวต่างๆ ของมะอฺมูมกับอิมามว่าต้องไม่เกิน 300 คืบศอก (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ 4/194 , 200)

 

10. การละหมาดใดก็ตามที่มีสุนนะฮฺให้ละหมาดแบบญะมาอะฮฺหรือมีเงื่อนไขในการเศาะฮฺละหมาดว่าต้องกระทำละหมาดนั้นแบบญามาอะฮฺ ผู้ละหมาดจำต้องคำนึงถึงเรื่องระเบียบและข้อปฏิบัติในการจัดแถวทั้งสิ้ เพื่อให้การละหมาดนั้นมีภาคผลความประเสริฐและความสมบูรณ์ของการละหมาดเกิดขึ้นแก่ผู้ร่วมละหมาด

 

ทั้งนี้เราได้กล่าวถึงอัล-หะดีษที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กำชับให้มีการจัดแถวละหมาดญะมาอะฮฺก่อนหน้านี้แล้ว และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็ได้แจ้งให้พวกเราทราบว่า หากพวกเราไม่คำนึงและใส่ใจในการจัดแถวละหมาดให้ตรงและเป็นแถวที่สมบูรณ์ก็จะเป็นเหตุให้เกิดการพิพาทและความขัดแย้งในหมู่สับปุรุษและประชาคมมุสลิมโดยรวม คำสั่งในเรื่องนี้ครอบคลุมการละหมาดญะมาอะฮฺทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่การละหมาดญะนาซะฮฺ ซึ่งมีหลักฐานระบุให้มีการจัดแถวของผู้ที่มาร่วมละหมาดญะนาซะฮฺให้ได้จำนวน 3 แถวขึ้นไป

 

แต่ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายๆ มัสญิดที่มีการละหมาดญะนาซะฮฺก็คือ ผู้ที่มาร่วมละหมาดได้ลุกขึ้นยืนละหมาดภายหลังการประกาศให้ละหมาดญะนาซะฮฺโดยไม่มีการจัดแถว ทุกคนที่มาร่วมละหมาด (ยกเว้นคนที่ละหมาดญะนาซะฮฺในแถวแรกหลังอิมาม) ต่างก็เบียดเสียดยืนชิดเข้ามาในตัวอาคารมัสญิดโดยไม่มีการตั้งแถวหรือจัดแถวแต่อย่างใด

 

การละหมาดญะนาซะฮฺในหลายๆ มัสญิดซึ่งอาจจะมีคนมาร่วมละหมาดไม่มากก็พากันกระจุกตัวแบบไร้ระเบียบแถวทั้งๆ ที่โถงละหมาดของอาคารมัสญิดก็ยังมีที่เหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก นี่เป็นการกระทำที่พวกเราปล่อยปละละเลยกันมาอย่างยาวนาน ทำให้สุนนะฮฺในการจัดแถวละหมาดญะนาซะฮฺถูกหลงลืมและทอดทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย บรรดาผู้รู้ก็ปล่อยปละละเลยโดยไม่ฉุกคิดว่าในตำรับตำราฟิกฮฺของมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺเกือบทุกเล่มต่างก็ระบุว่า ส่งเสริมให้ทำแถวของผู้มาร่วมละหมาดญะนาซะฮฺให้ได้จำนวน 3 แถวขึ้นไป

 

แต่สภาพความเป็นจริงคือ การละหมาดญะนาซะฮฺในหลายๆ มัสญิดหรือเกือบทุกมัสญิด กลับเป็นการยืนเบียดเสียดแบบไร้ระเบียบแถว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าประกาศให้ยืนขึ้นละหมาด ผู้มาร่วมละหมาดส่วนใหญ่นั่งอยู่ในแถวละหมาดกันอย่างเรียบร้อยดีแล้ว แทนที่ทุกนจะลุกขึ้นยืนอยู่ในแถวของตนกลับกลายเป็นการเลิกระเบียบแถวนั้นไปเสียสิ้น ทุกคนลุกขึ้นแล้วก็เดินขึ้นหน้าเพื่อไปกระจุกตัวรวมกันเป็นปึกโดยเข้าใจว่านี่คือสุนนะฮฺในการละหมาดญะนาซะฮฺ! ทั้งๆ ที่เป็นการทำลายสุนนะฮฺโดยไม่รู้ตัว

 

จึงขอเรียกร้องให้พี่น้องมุสลิมได้ร่วมกันฟื้นฟูสุนนะฮฺในการจัดแถวละหมาดญะนาซะฮฺตามที่มีตัวบทหลักฐานระบุเอาไว้ ทั้งนี้เพื่อให้การละหมาดญะนาซะฮฺนั้นเกิดความสมบูรณ์ และเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์แห่งภาคผลที่ผู้ตายจะได้รับจากผู้ที่มาร่วมละหมาดตลอดจนเพื่อให้ประชาคมมุสลิมหลุดพ้นจากความขัดแย้งและการพิพาทที่บ่อนทำลายสามัคคีและเอกภาพอันเนื่องมาจากการไม่รักษาระเบียบการจัดแถวละหมาดตามที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เตือนเอาไว้ วัลลฮุอะลียุตเตาฟีก

 

11. ส่งเสริมให้ผู้ที่เป็นมัสบู๊กลุกขึ้นเพื่อทำการละหมาดในส่วนที่เหลือของตนภายหลังการให้สล่ามครั้งสองของอิมามแล้ว ดังนั้นหากผู้ที่เป็นมัสบู๊กลุกขึ้นยืนหลังจากอิมามกล่าวสล่ามครั้งแรกเสร็จแล้วก็ถือว่าเป็นที่อนุญาต เพราะอิมามได้ออกจากการละหมาดแล้ว

 

แต่ถ้าหากผู้ที่เป็นมัสบู๊กลุกขึ้นยืนก่อนการเริ่มให้สล่ามของอิมามก็ถือว่าการละหมาดของผู้ที่เป็นมัสบู๊กนั้นเป็นโมฆะยกเว้นในการที่เขาผู้นั้นมีเจตนาแยกจากการตามอิมาม (มุฟาเราะเกาะฮฺ) และหากผู้ที่เป็นมัสบู๊กนั้นลุกขึ้นยืนภายหลังอิมามเริ่มให้สล่ามแต่อิมามยังไม่เสร็จสิ้นจากการกล่าวคำกล่าวว่า “อะลัยกุม” ก็เหมือนกับกรณีการยืนก่อนการเริ่มให้สล่ามของอิมาม (คือใช้ไม่ได้ยกเว้นเมื่อมีการเจตนาแยกตนออกจากการตามอิมามเท่านั้น)

 

หากอิมามให้สล่ามแล้ว และผู้ที่เป็นมัสบู๊กก็ยังคงนั่งอยู่หลังการให้สล่ามของอิมามและการนั่งนั้นยาว (นาน) หากการนั่งนั้นเป็นตำแหน่งของการนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งแรกของผู้ที่เป็นมัสบู๊กก็ถือว่าอนุญาตและการละหมาดของเขาก็ไม่เป็นโมฆะ เพราะเป็นการนั่งที่ถูกคิดเป็นส่วนหนึ่งจากการละหมาดของผู้ที่เป็นมัสบู๊กนั้นและการตามอิมามก็ขาดตอนลงแล้ว อีกทั้งการตะชะฮฺฮุดครั้งแรกนั้นก็อนุญาตให้นั่งยาว (นาน) ได้แต่เป็นสิ่งที่มักรูฮฺ

 

แต่ถ้าหากการนั่งของผู้ที่เป็นมัสบู๊กหลังการให้สล่ามของอิมามมิใช่ตำแหน่งการตะชะฮฺฮุดของผู้ที่เป็นมัสบู๊กนั้น ก็ไม่อนุญาตให้เขานั่งภายหลังการให้สล่ามของอิมาม เพราะการนั่งของผู้ที่เป็นมัสบู๊กเป็นกรณีของการตาม (มุตาบะอะฮฺ) ซึ่งหมดไปแล้ว ดังนั้นหากผู้ที่เป็นมัสบู๊กนั่งอยู่โดยเจตนาและรู้ว่าเป็นที่ต้องห้ามก็ถือว่าการละหมาดของผู้ที่เป็นมัสบู๊กนั้นเป็นโมฆะ แต่ถ้าหากว่าหลงลืมก็ไม่เป็นโมฆะและให้สุหญูดสะฮฺวียฺในภายหลังการให้สล่าม (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ 3/464)

 

12. เมื่ออิมามให้สล่ามครั้งที่หนึ่งแล้ว การตามอิมามของมะอฺมูมที่เป็นมุวาฟิก (คือมะอฺมูมที่กระทำละหมาดพร้อมกับอิมามนับแต่ต้น) และมะอฺมูมที่เป็นมัสบู๊กก็สิ้นสุดลงเนื่องจากอิมามออกจากการละหมาดนั้นแล้ว มะอฺมูมที่เป็นมัสบู๊กก็ลุกขึ้นกระทำละหมาดในส่วนที่เหลืออยู่ต่อไปตามประเด็นที่กล่าวมาแล้วในข้อที่ (11) ส่วนมะอฺมูมที่เป็นมูวาฟิกนั้นก็มีสิทธิเลือกเอาว่าจะให้สล่ามหลังจากอิมามเลยหรือว่าจะยังคงนั่งอยู่ต่อไปเพื่อกล่าวดุอาอฺป้องกัน (อาติอาซะฮฺ) ตามที่มีรายงานมาหรือกล่าวดุอาอฺอื่นๆ ได้ตามที่อัธยาศัยก่อนการให้สล่าม (อ้างแล้ว 3/464)

 

อนึ่ง ในกรณีที่อิมามจำกัดการให้สล่ามเพียงครั้งเดียว ก็มีสุนนะฮฺให้มะอฺมูมกล่าวสล่ามครั้งที่สองเพราะมะอฺมูมออกจากการตามอิมามแล้วด้วยการให้สล่ามครั้งแรก (ซึ่งเป็นครั้งเดียวของอิมามในกรณีนี้) ต่างจากการกรณีของการตะชะฮฺฮุดครั้งแรก กล่าวคือหากอิมามละทิ้งการตะชะฮฺฮุดครั้งแรกก็จำเป็นที่มะอฺมูมต้องละทิ้งการตะชะฮฺฮุดครั้งแรกนั้นตามอิมาม ทั้งนี้เนื่องจากการตามอิมามก่อนการให้สล่ามของอิมามนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมะอฺมูม (อ้างแล้ว 3/465)

 

13. ส่งเสริมให้ทำการซิกรุลลอฮฺหลังการให้สล่ามจากการละหมาด และการซิกรุลลอฮฺดังกล่าวส่งเสริมสำหรับอิมาม , มะอฺมูม , ผู้ละหมาดคนเดียว , ชาย , หญิง ผู้เดินทางและอื่นๆ และส่งเสริมให้บุคคลดังกล่าวขอดุอาอฺภายหลังการให้สล่ามจากการละหมาดแล้วเช่นกันโดยการเห็นพ้อง (อิต-ติฟ๊าก) (อ้างแล้ว 3/465)

 

นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺกล่าวว่า : แท้จริงการซิกรุลลอฮฺและการขอดุอาอฺหลังการละหมาดนั้นถูกส่งเสริมให้กระทำค่อยๆ ยกเว้นในกรณีของอิมามที่ประสงค์จะสอนผู้คนให้รู้ถึงถ้อยคำในการซิกรุลลอฮฺ ก็ให้อิมามนั้นอ่านเสียงดังเพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้ ดังนั้น เมื่อพวกเขาเรียนรู้แล้วและรู้ถึงถ้อยคำในการซิกรุลลอฮฺก็ให้อิมามทำการซิกรุลลอฮฺค่อยๆ (อ้างแล้ว 3/469)

 

ส่วนการกระทำที่มากเกินไปในการส่งเสียงดังด้วยการซิกรุลลอฺและการขอดุอาอฺในมัสญิดโดยที่เกิดการรบกวนต่อผู้ละหมาดนั้นก็บังควรว่าเป็นที่ต้องห้าม (อิอานะตุฏฏอลิบีน เล่มที่ 1 หน้า 217)

 

อนึ่ง ในกรณีที่อนุโลมให้อิมามอ่านซิกรุลลอฮฺเสียงดังเพราะประสงค์จะสอนมะอฺมูมที่ร่วมละหมาดให้รู้ถึงถ้อยคำในการซิกรุลลอฮฺหลังละหมาดนั้นยังรวมถึงกรณีที่อิมามประสงค์การกล่าวอามีนของมะอฺมูมสำหรับการขอดุอาอฺของอิมามด้วย (อิอานะตุฏฏอลิบีน เล่มที่ 1 หน้า 216) และสุนนะฮฺให้ทำการซิกรุลลอฮฺและการขอดุอาอฺก่อนหน้าการปฏิบัติละหมาดสุนนะฮฺไม่ว่าการละหมาดนั้นจะเป็นละหมาดสุนนะฮฺรอติบะฮฺหรืออื่นๆ ก็ตาม (อ้างแล้ว 1/216)

 

และมีสุนนะฮฺให้มะอฺมูมที่ได้ยินการขอดุอาอฺของอิมามกล่าวอามีน ถึงแม้ว่ามะอฺมูมจะท่องจำดุอาอฺดังกล่าวก็ตาม แต่ถ้าหากมะอฺมูมไม่ได้ยินการขอดุอาอฺของอิมามก็ให้มะอฺมูมขอดุอาอฺด้วยตนเอง (อ้างแล้ว 1/217)

 

อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า “และฉันชอบให้ผู้ละหมาดคนเดียวหรือมะอฺมูมทำการซิกรุลลอฮฺยาว (นาน) ภายหลังการละหมาด และให้ขอดุอาอฺมากๆ โดยมุ่งหวังในการตอบรับหลังการละหมาดฟัรฎู” (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ; อันนะนะวาวียฺ เล่มที่ 3/469) ส่วนกรณีของอิมามนั้นที่ดีที่สุด (อัฟฏ็อล) ให้อิมามลุกขึ้นยืนจากที่ละหมาดของตน (อิอานะตุฏฏอลิบีน 1/218)

 

ทั้งนี้ท่านอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และบรรดาสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า “ส่งเสริมสำหรับอิมามเมื่อให้สล่ามแล้วในการที่อิมามจะลุกขึ้นจากที่ละหมาดของตนภายหลังการให้สล่ามเมื่อไม่ปรากฏว่ามีผู้หญิงมาร่วมละหมาดข้างหลังอิมาม” เช่นนี้ ท่านอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในอัล-มุคตะศ็อรฺ และบรรดานักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺก็เห็นพ้อง โดยชัยคฺ อบูหามิด ได้ให้เหตุผลสำหรับการลุกขึ้นจากที่ละหมาดของอิมาม 2 ประการคือ

1) เพื่อมิให้อิมามเองหรือมะอฺมูมข้างหลังอิมามเกิดข้อสงสัยว่าอิมามให้สล่ามแล้วหรือยัง

2) เพื่อมิให้คนอื่นที่เข้ามาในมัสญิดเข้าใจว่าอิมามยังคงอยู่ในการละหมาดแล้วผู้นั้นก็ละหมาดตามอิมาม (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ 3/470)

 

ส่วนในกรณีที่มีผู้หญิงมาร่วมละหมาดข้างหลังอิมามก็ส่งเสริมให้อิมามและบรรดาผู้ชายที่มาร่วมละหมาดนั่งอยู่ครู่หนึ่งภายหลังการให้สล่ามของอิมามโดยทำการซิกรุลลอฮฺจนกระทั่งผู้หญิงที่มาร่วมละหมาดออกจากมัสญิดแล้ว โดยผู้ชายที่เดินเร็วนั้นไม่ทันคนสุดท้ายของผู้หญิงที่มาร่วมละหมาด และส่งเสริมสำหรับพวกนางให้ออกจากมัสญิดภายหลังการให้ สล่ามของอิมาม

 

ฉะนั้นเมื่อพวกนางออกไปแล้วก็ให้อิมามและมะอฺมูมผู้ชายค่อยออกจากที่ละหมาดนั้น และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในตำราอัล-อุมม์ ว่า “ฉะนั้นถ้าหากอิมามลุกขึ้นก่อนหน้านั้นหรือนั่งอยู่นานกว่านั้นก็ไม่เป็นอะไร และสำหรับมะอฺมูมนั้นก็สามารถลุกขึ้นออกไปจากที่ละหมาดได้ เมื่ออิมามทำการให้สล่ามเสร็จแล้วก่อนการลุกขึ้นของอิมาม แต่การล่าช้าสิ่งดังกล่าวจนกระทั่งมะอฺมูมแยกย้ายกันไปหลังการลุกขึ้นของอิมามหรือพร้อมกับอิมามเป็นสิ่งที่ฉันชอบยิ่งกว่า (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 471)

 

ในกรณีที่อิมามไม่ลุกขึ้นจากที่ละหมาดก็ให้อิมามหันไปทางด้านขวาหรือด้านซ้ายหรือหันหน้ามาหาบรรดามะอฺมูม และหากอิมามประสงค์จะหันในขณะนั่งอยู่ในมิหฺร็อบและหันหน้ามายังผู้คนเพื่อทำการซิกรุลลอฮฺและขอดุอาอฺและอื่นๆ ก็เป็นที่อนุญาตแต่ที่ดีที่สุด (อัฟฎ็อล) ตามที่อัล-บะเฆาะวียฺกล่าวคือให้หันจากทางด้านขวาโดยให้ทางด้านซ้ายของอิมามอยู่ในมิหฺร็อบและทางขวาของอิมามอยู่ทางด้านมะอฺมูมโดยนั่งอยู่ทางด้านซ้ายของมิหฺร็อบตามประเด็นที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะหฺ อัล-วัจญ์ฮัยนฺ) (อ้างแล้ว 3/472)

 

14. สำหรับถ้อยคำซิกรุลลอฮฺหรือวิริดหลังการละหมาดที่ส่งเสริมให้กล่าว มีดังต่อไปนี้

1. กล่าว  (أَسْتَغْفِرُالله) 3 ครั้ง แล้วกล่าวว่า  

(أللهم أَنْتَ السَّلَامُ ومِنْكَ السلامُ تَبَارَكْتَ يَاذَاالْجَلَالِ وَالْإِكْرَامٍ) (รายงานโดยมุสลิม)
อนึ่ง อัล-กอฎียฺ อบูอัฏ-ฏอยยิบ กล่าวว่า ส่งเสริมให้เริ่มกล่าวคำซิกรุลลอฮฺเหล่านี้ด้วยการกล่าว อิมติฆฺฟาร ก่อน (อ้างแล้ว 3/468)

 

2. กล่าว

لاإله إلله وحمده لاشريك له , له الملك وله الحمد وهوعلى كُلِّ شئ قدير , لاحول ولاقوةإلابالله , لاإله الاالله ولانعبدإلاإياه له النعمة وله الفضل وله الثناءالحسن , لاإله إلاالله مخلصين له الدين ولوكره الكافرون

(รายงานโดย มุสลิม)

 

3. กล่าว

“لاإله الاالله وحده لاشريك له , له الملك وله الحمد وهوعلى كل شئ قدير أللهم لامانع لماأعطيت ولامعطى لما منعت ولاينفع ذاالجدمنك الجد”

(รายงานโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

4. กล่าว  سبحان الله 

33 ครั้ง 

กล่าว الحمدلله

33 ครั้ง

และกล่าว  الله أكبر

34 ครั้ง

(รายงานโดยมุสลิม)

 

หรือกล่าว

 سبحان الله 

33 ครั้ง 

กล่าว الحمدلله

33 ครั้ง

และกล่าว  الله أكبر

33 ครั้ง  (รวมเป็น 99 ครั้ง)
และกล่าวว่า  
لاإله إلاالله وحمده لاشريك له , له الملك وله الحمد وهوعلى كل شئ قدير

(รายงานโดย มุสลิม)

 

5. อ่าน قل هوالله أحد , قل أعوذبرب الفلق และ قل أعوذبرب الناس

(รายงานโดย อบูดาวูด , อัต-ติรมีซียฺ และ อัน-นะสาอียฺ)

 

6. อ่าน آية الكرسي  (รายงานโดย อัฏ-เฏาะบะรอนียฺ)

 

7. กล่าว  أللهُمَّ أَعِنِّىْ على ذِكْرِكَ وشُكْرِكَ وَحُسْنِ عِبَادَتِكَ

(รายงานโดย อบูดาวูดและอัน-นาสาอียฺ ด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺ)

 

8.กล่าว

أللهم اغْفِرْلِىْ ماقَدَّمْتُ وماأخَّرْتُ وماأسرَرْتُ وماأعْلَنْتُ وماأسْرَفْتُ ، وماأنتَ أَعْلَمُ به مِني أنت المُقَدِّمُ وأنتَ المُؤَخِّرُ , لاإله إلأانتَ

(รายงานโดย อบูดาวูดด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺ ซึ่งเป็นสายรายงานของ อิมามมุสลิมในอีกริวายะฮฺหนึ่ง ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อ่านดุอาอฺบทนี้ระหว่างการตะชะฮฺฮุดกับการให้สล่าม)

 

9. กล่าว

أَللهُمَّ إنى أعوذبك مِنَ الجُبْنِ , واعوذبك مِنْ أَنْ أُرَدَّإلى أَرْذَلِ ألعُمُرِ , وأعوذبك مِنْ فتنةِ الدنيا وأعوذبك منْ عذاب القبر

(รายงานโดย อัล-บุคอรียฺ)

 

10. (เฉพาะหลังละหมาดศุบหิ)  กล่าว سبحان الله

100 ครั้ง

لاإله إلاالله

100 ครั้ง

(รายงานโดย อัน-นะสาอียฺด้วยสายรายงานที่เศาะหิหฺ)

 

อนึ่งส่งเสริมให้อิมามหันหน้ามายังผู้คนและขอดุอาอฺในกรณีที่อิมามประสงค์จะขอดุอาอฺและให้บรรดามะอฺมูมที่ยินการขอดุอาอฺของอิมามกล่าวอามีน (กิตาบอัล-มัจญ์มูอฺ 3/469)

 

15. ในกรณีที่การละหมาดฟัรฎูญะมาอะฮฺที่มัสญิดมีการละหมาดสุนนะฮฺหลังจากการละหมาดนั้น (เช่น ละหมาดสุนนะฮฺรอติบะฮฺ) มีสุนนะฮฺให้ผู้ที่ละหมาดนั้นกลับไปยังบ้านของตนเพื่อละหมาดสุนนะฮฺนั้น เพราะการปฏิบัติละหมาดสุนนะฮฺที่บ้านมีความประเสริฐกว่าเนื่องจากมีอัล-หะดีษระบุว่า

صَلُّوْاأَيُّهَاالناسُ فِى بُيُوْتِكِم فانَّ أفضَلَ صلاةِ الْمَرْءِفى بيتِه إلاالملكتوبةَ

ความว่า “โอ้ผู้คนทั้งหลาย จงละหมาดภายในบ้านเรือนของพวกท่าน เพราะแท้จริงการละหมาดที่ดีที่สุดของบุคคลนั้นคือในบ้านของเขายกเว้นการละหมาดฟัรฎู” (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

และมีอัล-หะดีษระบุอีกว่า

إذاقَضى أَحَدُكُمْ صَلَاتَه فى مسجدِه فَلْيَجْعَلْ لِبيْتِه مِنْ صلاتِه نَصِيْبًا فَإِنَّاللهَ جَاعِلٌ فِىْ بَيْتِه مِنْ صَلَا تِه خَيْرًا 

ความว่า “เมื่อคนหนึ่งของพวกท่านปฏิบัติละหมาดของตนในมัสญิดของตนเสร็จสิ้นแล้ว  ผู้นั้นก็จงทำให้บ้านของเขาได้มีส่วนจากการละหมาดของเขา เพราะแท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงบันดาลให้มีความดีเกิดขึ้นในบ้านของเขาจากการละหมาดของเขา” (รายงานโดย มุสลิม)

 

แต่ถ้าหากผู้นั้นยังไม่กลับไปยังบ้านเรือนของตน และประสงค์ทำละหมาดสุนนะฮฺในมัสญิดนั้นก็ส่งเสริมให้ผู้นั้นย้ายจากที่ละหมาดของตนเล็กน้อยเพื่อทำให้สถานที่ในการสุหญูดของเขามีมากกว่าหนึ่งที่ แต่ถ้าเขาผู้นั้นไม่ย้ายที่ละหมาดไปยังอีกที่หนึ่งก็ควรที่จะคั่นระหว่างละหมาดฟัรฎูและการละหมาดสุนนะฮฺด้วยการพูดจากับผู้คน (อ้างแล้ว 3/472) หรือการ ซิกรุลลอฮฺหรือการอ่านอัลกุรอานก็ได้ (อิอานะตุฏฏอลิบีน 1/219)

 

16. เราได้กล่าวมาแล้วถึงการซิกรุลลอฮฺและการขอดุอาอฺสำหรับอิมาม , มะอฺมูม และผู้ละหมาดคนเดียวว่าเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริม (มุสตะหับ) หลังการละหมาดฟัรฎูทุกเวลาโดยไม่มีข้อขัดแย้งในหมู่นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ ส่วนกรณีการจำกัดการขอดุอาอฺของอิมามอยู่เฉพาะเวลาศุบหิและอัศรินั้นไม่มีที่มา ตามที่อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ระบุเอาไว้ (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ เล่มที่ 3 หน้า 469)

 

สำหรับการสัมผัสมือ (มุศอฟะหะฮฺ) ของผู้มาร่วมละหมาดภายหลังเสร็จสิ้นการละหมาดศุบหิและอัศริหรือการละหมาดฟัรฎูเวลาอื่นๆ นั้น อิมามอบูมุฮัมมัด อัล-อิซฺซ์ อิบนุ อับดิสสล่าม (ร.ฮ.) กล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่งจากบิดอะฮฺ มุบาหะฮฺ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นมักรูฮฺ และไม่ใช่สิ่งที่ถูกส่งเสริมให้กระทำ

 

และอิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า ที่ถูกคัดเลือก (อัล-มุคตาร) คือ กล่าวว่า “หากผู้มาละหมาดได้สัมผัสมือ (มุศอฟะหะฮฺ) กับบุคคลที่อยู่ร่วมพร้อมกับเขาก่อนการละหมาดแล้ว ก็ถือเป็นสิ่งที่อนุญาต (มุบาหฺ) (กล่าวคือ เป็นบิดอะฮฺ มุบาหะฮฺ) แต่ถ้าหากเขาสัมผัสมือ  (มุศอฟะหะฮฺ) กับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ร่วมกับเขาก่อนหน้าการละหมาดมาก่อน ก็ถือเป็นสิ่งที่ถูกส่งเสริมให้กระทำ เพราะการสัมผัสมือ (มุศอฟะหะฮฺ) ในขณะที่พบกันนั้นเป็นสุนนะฮฺโดยอิจญ์มาอฺ (อ้างแล้ว 3/470)

 

 อนึ่ง ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ได้ถูกถามถึงการขอดุอาอฺภายหลังการละหมาดว่าเป็นสุนนะฮฺหรือไม่? และบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับอิมามที่ไม่ขอดุอาอฺภายหลังการละหมาดอัศริ บุคคลที่ไม่เห็นด้วยนั้นกระทำถูกต้องหรือว่าผิดพลาด? (ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ตอบว่า

 

“มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺ , ไม่เคยปรากฏว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะทำการขอดุอาอฺตัวท่านและบรรดามะอฺมูมภายหลังการละหมาด 5 เวลาเหมือนอย่างที่ผู้คนบางส่วนจะกระทำสิ่งนั้นภายหลังการละหมาดฟัจฺญร์และอัศริ สิ่งดังกล่าวไม่ได้ถูกถ่ายทอดมาจากผู้ใด และผู้หนึ่งผู้ใดจากบรรดาอิมามก็ไม่ได้ชอบให้กระทำสิ่งนั้น ผู้ใดที่ถ่ายทอดจากอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ว่า อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ชอบให้กระทำสิ่งนั้น แน่แท้ผู้นั้นกระทำผิดพลาดต่ออิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) แล้ว และคำกล่าวของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ที่มีอยู่ในบรรดาตำราของท่านค้านกับสิ่งดังกล่าว

 

และเช่นกันอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) และท่านอื่นๆ จากบรรดาอิมามก็ไม่ชอบให้กระทำสิ่งดังกล่าว แต่ทว่า กลุ่มหนึ่งจากสานุศิษย์ของอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) และอิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และอื่นจากท่านทั้งสอง พวกเขาชอบให้ทำการขอดุอาอฺภายหลังการละหมาดฟัจ์ญร์และอัศริ พวกเขากล่าวว่า “เพราะแท้จริงการละหมาดทั้ง 2 เวลานี้นั้นไม่มีการละหมาดใดๆ หลังการละหมาดทั้งสอง จึงถูกทดแทนการละหมาดนั้นด้วยการขอดุอาอฺ

 

อีกกลุ่มหนึ่งจากสานุศิษย์ของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) และท่านอื่นๆ ชอบให้ทำการขอดุอาอฺภายหลังการละหมาด 5 เวลา ทั้งหมดต่างก็เห็นพ้องว่า ผู้ใดละทิ้งการขอดุอาอฺนั้น ผู้นั้นจะไม่ถูกปฏิเสธเหนือเขา (คือจะไม่ถูกตำหนิติเตียน) และผู้ใดปฏิเสธผู้ที่ละทิ้งการขอดุอาอฺ ผู้นั้นแหละคือผู้ที่ผิดพลาดโดยการเห็นพ้องของบรรดานักปราชญ์ เพราะแท้จริงสิ่งนี้ (การขอดุอาอฺหลังละหมาด) ไม่ใช่สิ่งที่ถูกสั่งใช้ให้กระทำ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งในเชิงวาญิบ และไม่ว่าจะเป็นคำสั่งในเชิงส่งเสริม (ให้ทำการขอดุอาอฺ) ในสถานที่ตรงนี้ (หลังการละหมาดเสร็จ)

 

คนที่ปฏิเสธ (ไม่เห็นด้วย) ต่อผู้ละทิ้ง (การขอดุอาอฺหลังละหมาดเสร็จ) ย่อมสมควรกว่าในการปฏิเสธ (ไม่เห็นด้วย) มากกว่าผู้ที่ละทิ้ง มิหนำซ้ำผู้ที่กระทำ (การขอดุอาอฺหลังละหมาด) สมควรกว่าที่จะถูกปฏิเสธ (ว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้กระทำ) เพราะว่าแท้จริงการกระทำเป็นนิจศีลในสิ่งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่เคยกระทำเป็นนิจศีลในการละหมาด 5 เวลานั้นย่อมมิใช่เป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติตามหลักการของศาสนา

 

หากแต่ว่า (การกระทำเป็นนิจศีลในเรื่องนี้) ถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) เหมือนอย่างกรณีหากมีการกระทำเป็นนิจศีลในการขอดุอาอฺก่อนเข้าสู่การละหมาด หรือทำการกุหนูตเป็นนิจศีลในรอกอะฮฺที่หนึ่ง หรือในการละหมาดทั้ง 5 เวลา หรือกระทำการส่งเสียงดังด้วยการอ่านดุอาอฺ อิสติฟฺตาหฺ ในทุกการละหมาดเป็นนิจศีล และที่คล้ายๆ กัน เพราะแท้จริงนั่นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) และถึงแม้จะปรากฏว่าการกุหนูตในละหมาด 5 เวลานั้นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยกระทำในบางครั้ง

 

และท่านอุมัร (ร.ฎ.) ก็เคยอ่านดุอาอฺ อิสติฟตาหฺเสียงดังในบางครั้ง และมีชายคนหนึ่งเคยอ่านเสียงดังข้างหลังนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในทำนองนั้นแล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็รับรองบุคคลผู้นั้นก็ตาม ใช่ว่าทุกๆ สิ่งที่มีบัญญัติให้กระทำสิ่งนั้นในบางครั้งจะถูกบัญญัติให้กระทำเป็นนิจศีลก็หาไม่

 

และหากอิมามและมะอฺมูมจะขอดุอาอฺภายหลังการละหมาดเป็นครั้งคราวเนื่องจากมีเรื่องราวอันใดเกิดขึ้น ก็ไม่ถือว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ขัดกับสุนนะฮฺเหมือนอย่างคนที่กระทำสิ่งนั้นเป็นนิจศีล…”

(มัจญ์มูอะฮฺ อัล-ฟะตาวา ; เล่มที่ 22 หน้า 300-301)

 

จากคำตอบของชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ข้างต้น มีบางประเด็นที่เราเห็นพ้องและบางประเด็นที่เราเห็นต่าง ทั้งนี้เราต้องยอมรับเสียก่อนว่า คำตอบของชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) เป็นเพียงทัศนะทางวิชาการทีเกิดจากการวิเคราะห์และความเข้าใจของท่านเท่านั้น เมื่อเป็นเพียงทัศนะทางวิชาการก็ย่อมมิใช่ตัวบททางบัญญัติศาสนา (อัน-นุศูศฺ อัช-ชัรฺอียะฮฺ) ที่จะเห็นต่างหรือค้านมิได้

 

และในเมื่อกรณีการขอดุอาอฺหลังละหมาดนี้มีทัศนะที่เห็นต่างกันของนักวิชาการก็ย่อมบ่งชี้ในระดับหนึ่งว่า ไม่มีตัวบททางบัญญัติศาสนาระบุชี้ขาดเอาไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้มีความเห็นต่างเกิดขึ้นตามมาโดยปริยาย ประเด็นที่เห็นพ้องตรงกัน (อิตติฟ็าก) โดยไม่มีข้อขัดแย้งก็คือ การขอดุอาอฺหลังละหมาดไม่ใช่สิ่งจำเป็น (ไม่วาญิบ) ผู้ใดละทิ้งการขอดุอาอฺหลังละหมาดก็ย่อมไม่มีความผิดตามหลักการของศาสนา

 

แต่ประเด็นเห็นต่างที่เกิดขึ้นก็คือ การขอดุอาอฺหลังละหมาดเป็นสิ่งที่มีสุนนะฮฺรับรองหรือไม่ หรืออย่างน้อยการขอดุอาอฺหลังละหมาดเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้หรือไม่ และนักวิชาการฝ่ายที่มีทัศนะว่ามีสุนนะฮฺรับรองหรืออนุญาตให้กระทำได้มีหลักฐานทางศาสนารับรองหรือไม่? อย่างไร? และฝ่ายที่มีทัศนะว่าไม่อนุญาตหรือชี้ขาดเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) มีหลักฐานทางศาสนามารับรองทัศนะของตนหรือไม่? อย่างไร?

 

กรณีที่ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ตอบว่า : “และผู้ใดถ่ายทอดจากอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ว่า อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ชอบให้กระทำสิ่งดังกล่าว แน่แท้ผู้นั้นกระทำผิดพลาดต่ออิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) แล้ว และถ้อยคำของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ที่มีปรากฏอยู่ในบรรดาตำราของท่านค้านกับสิ่งดังกล่าว”

 

การกระทำสิ่งดังกล่าวที่ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ระบุนั้นหมายถึง การกระทำของผู้คนบางส่วนที่จำกัดการขอดุอาอฺเฉพาะหลังการละหมาดฟัจญ์รฺและอัศริโดยอ้างว่าการละหมาดฟัรฎู 2 เวลานี้ไม่มีการละหมาดใดๆ (สุนนะฮฺ รอติบะฮฺ) หลังการละหมาดทั้งสองเวลานั้น จึงทดแทนการละหมาดนั้นด้วยการดุอาอฺ ซึ่งการอ้างของพวกเขาไม่มีสุนนะฮฺมารับรอง (มัจญ์มูอะฮฺ อัล-ฟะตาวา เล่มที่ 22 หน้า 303 และ หน้า 300 ในคำตอบนี้)

 

ทั้งนี้อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า “แน่แท้เราได้ระบุมาแล้วว่า ส่งเสริมให้ซิกรุลลอฮฺและขอดุอาอฺสำหรับอิมาม มะอฺมูม และผู้ที่ละหมาดคนเดียว และเป็นการส่งเสริมภายหลังทุกๆ การละหมาดโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ส่วนกรณีสิ่งที่ผู้คนหรือคนเป็นจำนวนมากจากพวกเขากระทำเป็นประจำจากการกำหนดเจาะจงการขอดุอาอฺของอิมามเฉพาะการละหมาดศุบหิและอัศริเพียง 2 เวลา นั่นไม่มีที่มาแต่อย่างใด

 

ถึงแม้ว่าเจ้าของตำราอัล-หาวียฺได้บ่งชี้ถึงสิ่งนั้นว่า “หากปรากฏว่าเป็นการละหมาดที่ไม่มีการทำสุนนะฮฺหลังจากละหมาดนั้น เช่น ศุบหิและอัศริ ก็ให้ อิมามหันหลังให้กับทิศกิบละฮฺและหันหน้ามายังผู้คนและขอดุอาอฺ และหากเป็นการละหมาดที่มีการทำสุนนะฮฺหลังจากการละหมาดนั้น เช่น ซุฮริ , มัฆริบ และอิชาอฺ ก็ให้ถูกเลือกเอาในการทำละหมาดสุนนะฮฺในบ้านของเขา”

 

สิ่งที่เจ้าของตำราอัล-หาวียะฮฺบ่งชี้ถึงนี้จากการกำหนดเจาะจงเป็นสิ่งที่ไม่มีที่มา ทว่าที่ถูกต้องคือส่งเสริมในทุกๆ การละหมาด และส่งเสริมให้อิมามหันหน้าไปยังผู้คนแล้วทำการขอดุอาอฺ วัลลอฮุอะอฺลัม (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า (469)

 

คำกล่าวของอิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) สอดคล้องกับสิ่งที่ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ระบุเอาไว้ กล่าวคือการกำหนดเจาะจงการขอดุอาอฺหลังละหมาดเฉพาะเวลาศุบหิและอัศริเป็นสิ่งที่ไม่มีที่มา และไม่มีตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุเอาไว้

 

สิ่งที่ชัยคุลอิสลาม (ร.ฮ.) ระบุว่าไม่มีการถ่ายทอดเรื่องนี้มาจากอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) จึงหมายถึงการกำหนดเจาะจงการขอดุอาอฺหลังละหมาดเฉพาะเวลาศุบหิและอัศริ แต่มิได้มุ่งหมายว่า อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ไม่ชอบให้ทำการขอดุอาอฺหลังละหมาดแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่มีระบุจากอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) คือส่งเสริมให้ทำการขอดุอาอฺหลังการละหมาดทุกเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามที่อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ชี้ขาดเอาไว้

 

ส่วนหนึ่งจากตัวบทของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ที่ถูกระบุไว้ในตำราอัล-อุมม์ ก็คือ

“وَأَسْتَحِبُّ لِلْمُصَلِّيْ مُنْفَرِدًا ,وَلِلْمَأْمُوْمِ  , أَنْ يُطِيْلَ الذِّكْرَبَعْدَالصلاةِ , وَيُكْثِرَالدعاءَ , رَجَاءَ الإجَابَةِبعدَ المكتوبةِ”

“และฉันถือว่าเป็นเรื่องที่ชอบสำหรับผู้ละหมาดคนเดียวและมะอฺมูมในการที่เขาจะทำการซิกรุลลอฮฺยาวภายหลังการละหมาดและทำการขอดุอาอฺมากๆ เพื่อมุ่งหวังการตอบรับหลังละหมาดฟัรฎู” (เมาสูอะฮฺ อัล-อิมาม อัช-ชาฟิอียฺ , อัล-กิตาบ อัล-อุมม์ เล่มที่ 2 หน้า 222 เลขที่ 1572 ; สำนักพิมพ์ดารุกุตัยบะฮฺ (เบรุต) ค.ศ. 1996)

 

คำกล่าวของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) บ่งชี้ว่าการซิกรุลลอฮฺและการขอดุอาอฺของมะอฺมูมและผู้ละหมาดคนเดียวหลังการละหมาดฟัรฎูเป็นสิ่งที่ท่านชอบให้กระทำ (มุสตะหับ) เพราะการขอดุอาอฺภายหลังการละหมาดจะเป็นสิ่งที่ถูกตอบรับ ดังปรากฏในอัล-หะดีษที่รายงานจากท่านอบู อุมามะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า

 

“มีผู้กล่าวขึ้นแก่ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอุลัยฮิวะสัลลัม) ว่า “การขอดุอาอฺช่วงไหนที่ถูกรับฟัง (ถูกตอบรับ) มากที่สุด?” ท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอุลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “ในยามค่ำคืนช่วงสุดท้ายและตอนท้ายของบรรดาละหมาดฟัรฎู” (รายงานโดย อัต-ติรฺมีซียฺ และอัต-ติรฺมีซียฺกล่าวว่า “เป็นหะดีษหะสัน”)

 

ซึ่งคำว่า ท้ายของบรรดาละหมาดฟัรฎู (دُبُرَالصلوات المكتوبة) ครอบคลุมทั้งในช่วงเวลาก่อนให้สล่ามและหลังการให้สล่าม ถึงแม้ว่าชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) จะให้น้ำหนักว่าหมายถึงการขอดุอาอฺหลังการตะชะฮฺฮุดก่อนการให้สล่ามก็ตาม เพราะการตีความว่า ท้ายของการละหมาดว่าหมายถึง หลังการละหมาดเสร็จแล้วเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกว่า (ดู สุบุลุสสลาม ชัรหุ บุลูฆิลมะร็อม ; อัศ-ศอนอานียฺ เล่มที่ 1 หน้า 333 ; สำนักพิมพ์ดารุลหะดีษ (ไคโร) ไม่ระบุปีพิมพ์)

 

ประเด็นของการขอดุอาอฺหลังการอ่านตะชะฮฺฮุดก่อนการให้สล่ามนั้นเป็นสุนนะฮฺที่แข็งแรง และตำแหน่งของการขอดุอาอฺนั้นอยู่ก่อนการให้สล่าม ซึ่งเรามิได้พูดถึงประเด็นนี้ แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงคือการขอดุอาอฺของมะอฺมูมและผู้ละหมาดคนเดียวหลังการให้สล่ามจากการละหมาดฟัรฎูแล้วว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้หรือไม่?

 

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.)  กล่าวว่า

“بَلْ إِذَادعاكُلُّ وَاحِدٍ وَحْدَهُ بعدَالسلامِ , فهذالَايُخَالِفُ السُّنَّةَ….”

“ทว่า เมื่อแต่ละคนขอดุอาอฺเพียงลำพังหลังการให้สล่าม สิ่งนี้ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับสุนนะฮฺ” (มัจญ์มูอะฮฺ อัล-ฟะตาวา ; เล่มที่ 11 ภาคที่ 22 หน้า 294)

 

ดังนั้นการขอดุอาอฺของมะอฺมูมเพียงลำพังหรือคนที่ละหมาดคนเดียวจึงเป็นสิ่งที่กระทำได้เพราะไม่ขัดกับสุนนะฮฺ ไม่ว่าการละหมาดนั้นจะเป็นละหมาดฟัรฎูหรือสุนนะฮฺก็ตาม และนี่เป็นสิ่งที่อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ชอบให้กระทำดังตัวบทในตำราอัล-อุมม์ ที่กล่าวมาแล้ว

 

ประเด็นต่อมาก็คือ เมื่อการขอดุอาอฺของมะอฺมูมเพียงลำพังเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ เพราะไม่ขัดกับสุนนะฮฺ อีกทั้งยังเป็นที่ส่งเสริมให้ขอดุอาอฺมากๆ ตามมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ มะอฺมูมจะยกมือขอดุอาอฺหลังการละหมาดฟัรฎูนั้นได้หรือไม่?

 

ชัยคฺ อับดุลอะซีสซฺบิน บ็าซฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า

“การยกมือในการขอดุอาอฺนั้นเป็นสุนนะฮฺและเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาสาเหตุแห่งการตอบรับดุอาอฺ…แต่ทว่าไม่มีบัญญัติให้ยกมือทั้งสองในหลายกรณีที่ถูกพบในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอุลัยฮิวะสัลลัม) โดยที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอุลัยฮิวะสัลลัม) จะไม่ยกมือในกรณีเหล่านั้น เช่น ท้ายการละหมาดฟัรฎู 5 เวลา …(มัจญ์มูอฺ ฟะตาวา ว่ามะกอลาตฺ มุตะเนาวิอะฮฺ เล่มที่ 11 หน้า 181)

 

ในอีกที่หนึ่ง ชัยคฺ บิน บ็าซฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า “และอันที่จริงการยกมือทั้งสองจะถูกห้ามในบรรดาสถานที่ (กรณี) ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอุลัยฮิวะสัลลัม) ไม่เคยยกมือในสถานที่ (กรณี) เหล่านั้น เช่น การยกมือภายหลังการละหมาดฟัรฎูสำหรับอิมาม , มะอฺมูม และผู้ละหมาดคนเดียว  ฉะนั้น จึงไม่มีบัญญัติให้คนหนึ่งคนใดจากพวกเขาทำการยกมือทั้งสองข้างหลังการละหมาดฟัรฎู เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอุลัยฮิวะสัลลัม) ไม่เคยยกมือทั้งสองภายหลังการให้สล่ามของท่านจากการละหมาดฟัรฎู…” (อ้างแล้ว 11/182)

 

ทั้งนี้ ชัยคฺ บินบ็าซฺ (ร.ฮ.)เห็นด้วยกับการขอดุอาอฺเพียงลำพังหลังการละหมาดฟัรฎูเพราะไม่มีข้อห้ามและมีบรรดาหะดีษบ่งชี้เอาไว้แต่สิ่งที่ระบุไว้ในคำฟัตวาของท่านก็คือ ไม่มีบัญญัติให้ยกมือทั้งสองในการขอดุอาอฺหลังการละหมาดฟัรฎู เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอุลัยฮิวะสัลลัม) ไม่เคยกระทำ (อ้างแล้ว 11/179)

 

แต่ถ้าหากเป็นการละหมาดสุนนะฮฺ ชัยคฺ บินบ็าซฺ (ร.ฮ.) กลับมีความเห็นว่าการยกมือในการขอดุอาอฺหลังละหมาดสุนนะฮฺในบางครั้งมิใช่กระทำเป็นประจำนั้นถือว่าไม่เป็นอะไร เพราะไม่มีข้อห้าม (มานิอฺ) และเป็นการปฏิบัติตามนัยกว้างๆ ของหลักฐาน (อ้างแล้ว 11/181 , 182)

 

คำตอบของชัยคฺบินบ็าซฺ (ร.ฮ.) ในเรื่องการยกมือขณะขอดุอาอฺหลังละหมาดได้กลายเป็นปัญหาแก่สัปบุรุษของบางมัสญิดที่รับทราบข้อมูลจากผู้รู้บางคนผ่านสื่อที่แพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งหากเป็นเพียงความเห็นต่างหรือเป็นเพียงทัศนะที่มองต่างมุมก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือมีพี่น้องมุสลิมบางกลุ่มนำเอาทัศนะในทำนองนี้มากล่าวโจมตีพี่น้องมุสลิมด้วยกันว่ากระทำอุตริกรรม (บิดอะฮฺ)

 

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอธิบายและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

1.เรามิได้ปฏิเสธว่าการขอดุอาอฺในหลายๆ กรณีของการปฏิบัติละหมาด ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้ยกมือทั้งสองขณะอ่านดุอาอฺในขณะปฏิบัติละหมาดนั้น เช่น ดุอาอฺอิฟติตาหฺ , ดุอาอฺในขณะก้มรุ่กัวะอฺ , ดุอาอฺขณะอิอฺติดาล , ดุอาอฺขณะก้มสุหญูด , ดุอาอฺขณะนั่งระหว่างสอง สุหญูด และดุอาอฺหลังการอ่านตะชะฮฺฮุดก่อนการให้สล่าม ทั้งหมดไม่มีรายงานว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทำการยกมือขณะกล่าวดุอาอฺในขณะปฏิบัติละหมาด

 

ส่วนการขอดุอาอฺที่เรากำลังพูดถึงนี้เป็นกรณีของการอยู่นอกการละหมาด คือภายหลังการละหมาดเสร็จแล้ว เมื่อไม่มีรายงานระบุว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยกมือในกรณีดังกล่าวขณะปฏิบัติละหมาดเราจึงไม่ยกมือทั้งสองขณะอ่านดุอาอฺในกรณีดังกล่าวซึ่งอยู่ในการละหมาดตามที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ปฏิบัติเอาไว้

 

ละเราก็จะไม่นำเอาหลักเกณฑ์ทั่วๆ ไปในเรื่องของการยกมือในการขอดุอาอฺที่ว่าเป็นสุนนะฮฺและเป็นหนึ่งจากบรรดาสาเหตุแห่งการตอบรับอย่างที่ชัยคฺ บินบ็าซฺ (ร.ฮ.) กล่าวในตอนต้นของคำฟัตวามาใช้ในกรณีนี้ เพราะกรณีของการขอดุอาอฺในอิริยาบทต่างๆ ของการละหมาดเป็นการขอดุอาอฺขณะปฏิบัติละหมาด ซึ่งไม่มีรายงานจากสุนนะฮฺให้ยกมือทั้งสองขณะขอดุอาอฺในการปฏิบัติละหมาด

 

แต่เมื่อละหมาดเสร็จแล้วซึ่งเป็นการปฏิบัตินอกการละหมาดหลักเกณฑ์ทั่วๆ ไปที่เป็นมารยาทและข้อควรปฏิบัติในการขอดุอาอฺก็จะถูกนำมาใช้ตามปกติ นั่นก็คือการยกมือทั้งสองขณะทำการขอดุอาอฺ ทำไมจึงยกมือขอดุอาอฺ เหตุผลก็เป็นไปตามที่ชัยคฺ บินบ็าซฺ (ร.ฮ.) กล่าวนั่นแล คือ การยกมือขณะขอดุอาอฺ (ซึ่งอยู่นอกการละหมาดแล้ว) เป็นสุนนะฮฺและเป็นหนึ่งจากบรรดาสาเหตุแห่งการตอบรับดุอาอฺนั่นเอง

 

2.เหตุผลที่ชัยคฺ บินบ็าซฺ (ร.ฮ.) แยกระหว่างการละหมาดฟัรฎูกับการละหมาดสุนนะฮฺในกรณีที่ว่าถ้าเป็นการขอดุอาอฺหลังละหมาดฟัรฎู ไม่มีบัญญัติให้ยกมือขณะขอดุอาอฺ แต่ถ้าเป็นการขอดุอาอฺหลังการละหมาดสุนนะฮฺก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีข้อห้ามระบุเท่าที่ท่าน (ชัยคฺ บินบ็าซฺ) รู้ และเป็นการปฏิบัติตามนัยกว้างๆ ของหลักฐานที่บ่งชี้ว่าให้ยกมือทั้งสองขณะขอดุอาอฺ

 

เหตุผลที่แยกกันระหว่างการละหมาดฟัรฎูกับการละหมาดสุนนะฮฺตามที่ชัยคฺ บินบาซฺ (ร.ฮ.) กล่าวเป็นเหตุผลเดียวกับที่เรายึดถือในกรณีนี้ กล่าวคือ ไม่มีข้อห้าม (มานิอฺ) ในการยกมือขอดุอาอฺหลังการละหมาดฟัรฎูเท่าที่เรารู้ และการที่เรายกมือขอดุอาอฺหลังการละหมาดทั้งที่เป็นฟัรฎูและสุนนะฮฺเป็นการปฏิบัติตามนัยกว้างๆ ของบรรดาหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีสุนนะฮฺให้ยกมือขณะขอดุอาอฺ โดยเฉพาะการขอดุอาอฺที่อยู่นอกการละหมาดในกรณีปกติทั่วไป

 

3.การแยกระหว่างละหมาดฟัรฎูกับการละหมาดสุนนะฮฺตามที่ชัยคฺ บินบ็าซฺ (ร.ฮ.) มีความเห็นเป็นการแยกที่ขาดความชัดเจนและเป็นการแยกในสิ่งที่ไม่ควรแยกเพราะละหมาดฟัรฎูและสุนนะฮฺมีลักษณะและองค์ประกอบเหมือนกัน การขอดุอาอฺในละหมาดฟัรฎูและละหมาดสุนนะฮฺ

 

บรรดาหะดีษที่ระบุให้มีการซิกรุลลอฮฺหลังเสร็จสิ้นจากการละหมาดก็มีนัยครอบคลุมทั้งหลังการละหมาดฟัรฎูและสุนนะฮฺโดยรวม หากกำหนดว่าถ้าเป็นการละหมาดสุนนะฮฺเสร็จแล้วก็สามารถขอดุอาอฺและยกมือทั้งสองได้เพราะไม่มีข้อห้าม แล้วอะไรคือข้อห้ามของการขอดุอาอฺและยกมือทั้งสองหลังการละหมาดฟัรฎู

 

หากตอบว่า ข้อห้ามก็คือ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิได้ยกมือขอดุอาอฺหลังละหมาดฟัรฎู การที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิได้กระทำจึงถือเป็นข้อห้ามมิให้ยกมือขอดุอาอฺหลังละหมาดฟัรฎู ก็ซักค้านได้ว่า หลังการละหมาดสุนนะฮฺก็ไม่มีรายงานว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยกมือขอดุอาอฺเช่นกัน ทำไมจึงไม่ถือว่าเป็นข้อห้ามไปด้วยเล่า?

 

แต่ถ้าตอบว่า ก็เพราะการขอดุอาอฺด้วยการยกมือทั้งสองหลังการละหมาดสุนนะฮฺไม่มีข้อห้ามและเป็นการปฏิบัติตามหลักฐานที่มีนัยระบุเอาไว้กว้างๆ ว่าให้ยกมือในการขอดุอาอฺ  ก็ซักค้านได้ว่า กรณีหลังละหมาดฟัรฎูก็เช่นกัน เพราะไม่มีข้อห้ามระบุมาว่าห้ามยกมือขณะขอดุอาอฺหลังละหมาดฟัรฎูแล้ว

 

ดังนั้น เราจึงไม่ยึดประเด็นการแยกระหว่างละหมาดฟัรฎูกับการละหมาดสุนนะฮฺในเรื่องการยกมือขอดุอาอฺอย่างที่ชัยคฺ บินบ็าซฺ (ร.ฮ.) มีทัศนะ แต่เราแยกระหว่างกรณีการขอดุอาอฺในขณะละหมาดกับกรณีการขอดุอาอฺนอกละหมาดซึ่งต่างกรรมต่างวาระกันและมีลักษณะตลอดจนมีข้อกำหนดตามบัญญัติศาสนาที่ต่างกัน

 

เพราะการกระทำหรือไม่กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะปฏิบัติละหมาดเป็นเรื่องเฉพาะ ต่างจากการกระทำหรือไม่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดนอกการละหมาด และการขอดุอาอฺด้วยการยกมือทั้งสองนี้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นนอกการละหมาดจึงให้ใช้หลักเกณฑ์และข้อควรปฏิบัติทั่วๆ ไป

 

สรุปในขั้นนี้ได้ว่า การขอดุอาอฺของมะอฺมูมหรือผู้ละหมาดคนเดียวพร้อมกับการยกมือทั้งสองนั้นย่อมเป็นสิ่งที่อนุญาติให้กระทำได้ไม่ว่าจะเป็นภายหลังการละหมาดฟัรฎูหรือละหมาดสุนนะฮฺก็ตาม

 

ประเด็นต่อมาก็คือ อิมามจะขอดุอาอฺพร้อมกับบรรดามะอฺมูมได้หรือไม่ โดยอิมามเป็นผู้ขอดุอาอฺและบรรดามะอฺมูมกล่าว อามีน

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า “ส่วนการดุอาอฺของอิมามและบรรดามะอฺมูมทั้งหมด (พร้อมกัน) หลังการละหมาดนั้น ไม่มีผู้ใดถ่ายทอดสิ่งนี้จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ….” (มัจญ์มูอะฮฺ  อัล-ฟะตาวา เล่มที่ 11 ภาคที่ 22 หน้า 303)

 

และในอีกที่ท่านกล่าวว่า “(สอง) การดุอาอฺของอิมามและมะอฺมูมทั้งหลายพร้อมกัน อันที่สองนี้ไม่ต้องสงสัยว่าแท้จริงท่าน นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่เคยกระทำในตอนท้ายๆ การละหมาดฟัรฎู…” (อ้างแล้ว หน้า 303)

 

และท่านตอบอย่างชัดเจนในอีกคำฟัตวาหนึ่งที่ถูกถามว่า “การดุอาอฺของอิมามและมะอฺมูมหลังการละหมาดฟัรฎูเป็นสิ่งที่อนุญาตหรือไม่?” ท่านตอบว่า “มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺ กรณีการขอดุอาอฺของอิมามและบรรดามะอฺมูมพร้อมกันทั้งหมดภายหลังการละหมาดนั้น นั่นคืออุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ที่ไม่เคยปรากฏในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

หากแต่ว่าการขอดุอาอฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อยู่ในตัวของการละหมาด เพราะแท้จริงผู้ละหมาดกำลังเข้าเฝ้า (มุนาญาตฺ) พระผู้อภิบาลของเขา ดังนั้น เมื่อผู้ละหมาดขอดุอาอฺขณะอยู่ในการเข้าเฝ้า  (มุนาญาตฺ) ของเขาต่อพระผู้อภิบาล นั่นย่อมเป็นสิ่งที่เหมาะสม ส่วนการขอดุอาอฺภายหลังผู้ที่ละหมาดผินออกจากเข้าเฝ้า (มุนาญาตฺ) และโต้ตอบกับกับพระผู้อภิบาลของเขาแล้ว นั่นย่อมไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม..” (อ้างแล้ว หน้า 305)

 

ส่วน ชัยคฺ บินบ็าซฺ (ร.ฮ.) กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ส่วนสิ่งที่ผู้คนบางส่วนมักจะกระทำจากการขอดุอาอฺหลังการละหมาดฟัรฎูเมื่อพวกเขาให้สล่ามแล้วอิมามก็ขอดุอาอฺ แล้วพวกเขา (มะอฺมุม) ก็ยกมือของพวกเขาแล้วกล่าวอามีน สิ่งนี้ไม่มีต้นตอที่มา และท่าน นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านก็มิได้กระทำ…. ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ที่จำเป็นต้องละทิ้ง…” (มัจญ์มูอฺ ฟะตะวา ว่ามะกอลาตฺ มุตะเนาวิอะฮฺ เล่มที่ 11 หน้า 170)

 

สำหรับประเด็นการขอดุอาอฺของอิมามและมะอฺมูมพร้อมกันนั้นเราก็มิได้กล่าวอ้างว่าต้องกระทำในลักษณะเช่นนี้เสมอไป เพราะท่านอิมามมอัช-ชาฟิอียฺและบรรดาสานุศิษย์ของท่านกล่าวว่า “ส่งเสริมสำหรับอิมามเมื่อให้สล่ามแล้วในการที่อิมามจะลุกขึ้นจากที่ละหมาดของอิมามภายหลังการให้สล่ามของอิมามเมื่อไม่ปรากฏว่ามีบรรดาผู้หญิง (มาร่วมละหมาด) อยู่ข้างหลังอิมาม ส่วนกรณีเมื่อปรากฏว่ามีผู้หญิง (มาร่วมละหมาด) อยู่ข้างหลังอิมาม ก็ส่งเสริมให้อิมามนั่งอยู่ครู่หนึ่งภายหลังการให้สล่ามตลอดจนบรรดามะอฺมูมผู้ชายก็ให้คงอยู่ขนาดเล็กน้อยโดยกล่าวซิกรุลลอฮฺจนกระทั่งผู้หญิงผินไปกันหมดแล้ว

 

และอิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวไว้ในตำราอัล-อุมม์ ว่า “ฉะนั้น หากอิมามลุกขึ้นยืนก่อนหน้านั้นหรือนั่งนานกว่านั้นก็ไม่เป็นอะไร และสำหรับมะอฺมูมก็มีสิทธิในการผินออกไปเมื่ออิมามให้สล่ามเสร็จก่อนการยืนขึ้นของอิมามและการล่าช้าสิ่งนั้นจนกระทั่งมะอฺมูมผินออกไปภายหลังการผิน (เปลี่ยนอิริยาบท) ของอิมามหรือพร้อมกับอิมามเป็นสิ่งที่ฉันชอบยิ่ง” (กิตาบ อัล-มัจญ์มูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 470, 471)

 

นั่นหมายความว่าข้อควรปฏิบัติสำหรับอิมามภายหลังการให้สล่ามแล้วก็คือการลุกขึ้นจากที่ละหมาดภายหลังการให้สล่ามไปเลยนั่นถือว่าดีที่สุด ซึ่งในขณะนั้นการขอดุอาอฺของอิมามจึงไม่มีเกิดขึ้นโดยปริยาย แต่ถ้าอิมามจะนั่งอยู่ก็มีสุนนะฮฺให้เปลี่ยนอิริยาบทด้วยการหันไปทางขวา , ทางซ้าย หรือหันหน้ามายังบรรดามะอฺมูม

 

ซึ่งในกรณีนี้อิมามอาจจะนั่งอยู่พร้อมกับมะอฺมูมและทำการซิกรุลลอฮฺค่อยๆ ยกเว้นว่าอิมามประสงค์จะสอนถ้อยคำการซิกรุลลอฮฺแก่มะอฺมูมก็สามารถใช้เสียงดังได้ ต่อเมื่อมั่นใจว่ามะอฺมูมรู้แล้วก็ให้อิมามซิกรุลลอฮฺด้วยเสียงค่อยตามที่อิมามอัช-ชาฟิอียฺ (ร.ฮ.) ระบุเอาไว้เป็นตัวบทในตำราอัล-อุมม์

 

สดงว่าการซิกรุลลอฺค่อยหรือดังให้พิจารณาตามความเหมาะสม มิใช่ค่อยตลอดหรือดังตลอดเป็นนิจศีล และการซิกรุลลอฮฺของอิมามในขณะนั้นก็เป็นการรอให้บรรดาผู้หญิงที่มาร่วมละหมาดได้แยกย้ายกันออกไปเสียก่อน แล้วอิมามก็ลุกขึ้นหรือเปลี่ยนอิริยาบทเพื่อจะได้ไม่เป็นการหน่วงเหนี่ยวบรรดามะอฺมูมในการที่จะลุกขึ้นภายหลังการลุกขึ้นหรือเปลี่ยนอิริยาบทของอิมาม

 

ดังนั้นการปฏิบัติของอิมามภายหลังการให้สล่ามแล้วจึงเป็นเรื่องที่สามารถปฏิบัติได้หลายกรณีขึ้นอยู่กับสภาพของผู้มาร่วมละหมาดในขณะนั้น การที่อิมามลุกขึ้นหลังการให้สล่ามเลยก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะจะได้ไม่หน่วงเหนี่ยวมะอฺมูมที่ประสงค์จะลุกขึ้น ซึ่งโดยมารยาทให้มะอฺมูมลุกขึ้นหลังหรือพร้อมกับอิมาม ในกรณีนี้ไม่มีการขอดุอาอฺโดยปริยาย

 

แต่ถ้าหากอิมามจะขอดุอาอฺภายหลังการซิกรุลลอฮฺโดยประสงค์ให้มะอฺมูมที่ได้ยินกล่าวอามีน กรณีนี้ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า “หากอิมามและมะอฺมูมขอดุอาอฺพร้อมกันในบางครั้งภายหลังการละหมาดอันเนื่องมาจากมีเรื่องราวเกิดขึ้น ก็ไม่ถือว่าสิ่งนี้ขัดแย้งกับสุนนะฮฺแต่อย่างใด (มัจญ์มูอะฮฺ อัล-ฟะตาวา เล่มที่ 11  ภาคที่ 22 หน้า 301)

 

ทั้งนี้หากกระทำเป็นครั้งคราวมิได้กระทำเป็นนิจศีล ซึ่งเราก็ไม่ได้กล่าวอ้างว่าอิมามต้องขอดุอาอฺพร้อมกับมะอฺมูมเป็นนิจศีลหลังการละหมาดเพราะข้อควรปฏิบัติของอิมามในบางกรณีก็ไม่มีการขอดุอาอฺอยู่แล้วดังที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่เราต้องการยืนยันก็คือ การขอดุอาอฺของอิมามพร้อมกับมะอฺมูมเป็นสิ่งที่กระทำได้และไม่ขัดกับสุนนะฮฺ ถึงแม้ว่าจะเป็นบางครั้งบางคราวในการขอดุอาอฺร่วมกันก็ตาม เพราะถ้าไม่กระทำเป็นนิจศีลกอปรกับมีเรื่องราวเกิดขึ้นก็ย่อมไม่ถือว่าขัดกับสุนนะฮฺแต่อย่างใด

 

และถึงแม้ว่าจะกระทำเป็นนิจศีลก็ใม่น่าจะมีข้อห้ามอีกเช่นกัน เพราะการกล่าวซิกรุลลอฮฺและขอดุอาอฺร่วมกันเป็นสิ่งที่ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ตอบเอาไว้เองว่า

 

“การร่วมกันเพื่อทำการซิกรุลลอฮฺ การรับฟังคัมภีร์ของพระองค์และการขอดุอาอฺถือเป็นการกระทำที่ดี (อะมัล-ศอลิหฺ) และเป็นส่วนหนึ่งจากการสร้างความใกล้ชิดและการประกอบอิบาดะฮฺที่ประเสริฐที่สุดในช่วงเวลาต่างๆ…” (มัจญ์มูอะฮฺ อัล-ฟะตะวา เล่มที่ 11 ภาคที่ 22 หน้า 305,307) แล้วจะกล่าวว่าการขอดุอาอฺร่วมกันของอิมามและมะอฺมูมหลังการละหมาดเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ได้อย่างไร?

 

และการที่อิมามไม่ขอดุอาอฺเพียงลำพังเฉพาะตัวเองแต่ขอให้บรรดามะอฺมูมด้วยก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีหลักฐานจากสุนนะฮฺมารับรอง เพราะมีรายงานมาจากท่านอบู อุมามะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า “ฉันเคยได้ยินท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า

“لَايُصَلِّىْ الإمامُ بِقَوْمٍ , فَيَخُصُّ نَفْسَهُ بد عوةٍ دُوْنَهُمْ”

ความว่า “อิมามจะไม่ละหมาดกับกลุ่มชนหนึ่ง แล้วอิมามก็จำกัดเฉพาะตัวเองด้วยการขอดุอาอฺโดยนอกเหนือจากชนกลุ่มนั้น” (บันทึกโดย อัล-บัยฮะกียฺ ในสุนันอัล-กุบรอ (3 : 129) และในอัล-มะอฺริฟะฮฺ 4/5969)

 

ในอีกสำนวนหนึ่งระบุว่า

“إذاأَمَّ الرُّجُلُ القوم , فلايَخْتَصُّ بدعاءٍ فإنْ فَعَلَ فَقَدْخَانَهُمْ”

ความว่า “เมื่อบุคคลนำละหมาดกลุ่มชน ผู้นั้นอย่าได้จำกัดเฉพาะด้วยการขอดุอาอฺ ฉะนั้นหากผู้นั้นกระทำ (เช่นนั้น) แน่แท้ผู้นั้นได้ทรยศต่อกลุ่มชนนั้นแล้ว”

 

ดังนั้น การที่อิมามจะขอดุอาอฺร่วมกับมะอฺมูมจึงเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสุนนะฮฺที่มีรายงานมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

แต่ถ้าหากจะค้านว่า นัยของอัล-หะดีษไม่ได้บ่งชี้ว่าต้องขอดุอาอฺพร้อมกันระหว่างอิมามกับมะอฺมูม เพราะหากอิมามขอดุอาอฺเพียงลำพังโดยขอให้มะอฺมูมด้วยก็ย่อมถือว่าอิมามมิได้กระทำผิดตามที่ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ระบุเอาไว้

 

ก็ซักค้านได้ว่า ถึงแม้ว่าการที่อิมามกระทำเช่นนั้นได้เพราะอิมามขอให้มะอฺมูมด้วย แต่สิ่งที่ชัดเจนและไม่มีข้อสงสัยจากมะอฺมูมว่าอิมามขอดุอาอฺให้แก่พวกเขาหรือไม่ก็คือการที่อิมามขอดุอาอฺให้มะอฺมูมได้ยินแล้วมะอฺมูมก็กล่าวอามีนย่อมเป็นการดีกว่าเช่นกันเพราะรู้โดยทั่วกัน

 

ละการขอดุอาอฺของอิมามพร้อมกับมะอฺมูมภายหลังการละหมาดฟัรฎูนี้ก็เป็นการปฏิบัตินอกการละหมาด กอปรกับไม่มีข้อห้ามระบุมาอย่างชัดเจนเด็ดขาดว่าห้ามอิมามและมะอฺมูมขอดุอาอฺร่วมกันเป็นเหตุผลเดียวที่ชัยคฺ บินบ็าซฺ (ร.ฮ.) นำมาใช้ในการอนุญาตให้ยกมือขอดุอาอฺหลังการละหมาดสุนนะฮฺ

 

และเราก็มิได้กล่าวอ้างว่าอิมามและมะอฺมูมจะต้องขอดุอาอฺร่วมกันหลังการละหมาดเป็นนิจศีล เพราะอิมามเลือกปฏิบัติได้หลายกรณีภายหลังการให้สล่ามจากการละหมาดแล้ว ซึ่งในบางกรณีก็ไม่มีการขอดุอาอฺปรากฏขึ้น

 

สิ่งที่ประสงค์ในเรื่องนี้ก็คือ หากอิมามจะขอดุอาอฺพร้อมกับมะอฺมูมภายหลังการละหมาดเสร็จสิ้นและภายหลังการกล่าวถ้อยคำซิกรุลลฮฺที่มีรายงานมาเสร็จแล้วย่อมเป็นสิ่งที่อนุญาตที่จะกระทำได้แล้วแต่ความเหมาะสม เพราะการขอดุอาอฺในกรณีนี้เป็นเรื่องทั่วไป มิใช่สิ่งจำเป็นหรือเป็นสุนนะฮฺที่เด็ดขาดแต่เป็นสิ่งที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) ในทัศนะของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺและนักวิชาการที่มีความเห็นสอดคล้อง เมื่อเป็นสิ่งที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) ก็ย่อมสามารถกระทำหรือไม่กระทำก็ได้

 

ในกรณีที่อิมามประสงค์จะขอดุอาอฺและให้มะอฺมูมที่ได้ยินกล่าวอามีน ก็ให้อิมามหันหน้ามายังบรรดามะอฺมูม โดยให้ขอดุอาอฺภายหลังจากการกล่าวถ้อยคำซิกรุลลอฮฺ (วิริด) หลังการละหมาดเสียก่อน เพราะการดุอาอฺภายหลังการซิกรุลลอฮฺเป็นสุนนะฮฺและการกล่าวเศาะละวาตก่อนหน้าการขอดุอาอฺก็เป็นสุนนะฮฺเช่นกัน (สุบุลุสสลาม ชัรหุ บุลูฆิลมะร็อม ; อัศ-ศอนอานียฺ เล่มที่ 1 หน้า 336)

 

และการขอดุอาอฺของอิมามพร้อมกับมะอฺมูมนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้เสียงดังเกินไปเพราะจะเป็นการรบกวนมะอฺมูมที่เป็นมัสบูกหรือมะอฺมูมที่กำลังละหมาดสุนนะฮฺอยู่ในขณะนั้น

 

ทางออกในเรื่องนี้ก็คือให้อิมามขอดุอาอฺด้วยน้ำเสียงที่มะอฺมูมในแถวแรกได้ยินโดยไม่ต้องใช้ไมโครโฟนหรือไมค์ลอย เพราะการใช้เสียงผ่านอุปกรณ์ขยายเสียงทั้งในขณะซิกรุลลอฮฺและการขอดุอาอฺโดยตลอดนับแต่ต้นจนกระทั่งกล่าวเศาะละวาตฺปิดท้ายอย่างที่นิยมกระทำกันในหลายๆ มัสญิดถือเป็นการส่งเสียงรบกวนผู้ที่กำลังละหมาด และการส่งเสียงรบกวนผู้ละหมาดเป็นสิ่งที่ต้องห้ามดังทีได้กล่าวมาก่อนหน้านี้

 

วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก