อบุลกอซิม อัลมัจฺญ์รีฏีย์ (ابو القاسم المجريطي)


อบุลกอซิม มัสละมะฮฺ อิบนุ อะฮฺมัด อัลมัจฺรีฏีย์ รู้จักกันในนาม “อัลมัจญ์รีฏีย์” 
มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ฮ.ศ.338-398 ถือกำเนิด ณ เมืองมัจญ์รีฏ (มาดริด นครหลวงของสเปนในปัจจุบัน) แคว้นเอ็นดะลูเซีย (อัล-อันดะลุส) แต่ต่อมาเขาได้ย้ายไปอยู่ ณ นครกุรฏุบะฮฺ (โคโดบาฮฺ) ใช้ชีวิตและเสียชีวิตที่นั่น

อบุลกอซิม อัลมัจญ์รีฏีย์ รักการเดินทางท่องโลกเพื่อเสาะหาบรรดานักปราชญ์ในศาสตร์แขนงต่างๆ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์เพื่ออภิปรายแลกเปลี่ยนกับบรรดานักปราชญ์เหล่านั้น และศึกษาค้นคว้าในภาควิชาคณิตศาสตร์ดาราศาสตร์และเคมี

 

เมื่ออบุลกอซิม อัลมัจญ์รีฏีย์ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในนครกุรฏุบะฮฺนั้นเขาได้สร้างโรงเรียนที่สอนสรรพวิชาและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (คล้ายกับสถาบันเทคโนโลยีสมัยใหม่) ซึ่งมีนักวิชาการเป็นจำนวนมากได้เข้าศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้ มีทั้งนักคณิตศาสตร์, ดาราศาสตร์, การแพทย์, ปรัชญา, เคมีและสัตวศาสตร์

 

อบุลกอซิม อัลมัจญ์รีฏีย์ มีความเฉลียวฉลาดอย่างเอกอุ และถือเป็นพหูสูตในทุกสาขาวิชา ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับการเรียกขานว่า นักเคมีของชาวอาหรับและอิหม่าม (ผู้นำ) ของนักคณิตศาสตร์อาหรับแห่งเอ็นดะลูเซีย เขาเป็นบุคคลแรกที่อรรถาธิบายเชิงวิชาการเกี่ยวกับแผนที่ดาราศาสตร์ของปโตเลมี นักปราชญ์ชาวกรีก ตลอดจนอธิบายปฏิทินดวงดาวของอัลคุวาริซมี่ย์ และสาส์นของกลุ่มอิควาน อัซซ่อฟาอฺ และอบุลกอซิมยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาตัวเลขที่นิยมใช้กัน อีกทั้งยังได้สรุปปฏิทินดวงดาวของอัลบัตตานีย์ ซึ่งถือเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญในวิชาดาราศาสตร์

 

อบุลกอซิม ได้ทำให้นักวิชาการของเอ็นดะลูเซียรู้จักผลงานของกลุ่มความคิด อิควาน อัซซ่อฟาอฺและอรรถาธิบายผลงานของปโตเลมีตามแบบแผนวิชาการ ซึ่ง รูดอล์ฟ ออฟ เจอร์จิส ได้แปลจากภาษาอาหรับเป็นภาษาละตินในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

 

อบุลกอซิม อัลมัจญ์รีฏีย์ ยังได้แต่งตำราการคำนวณในการค้าหรือการจัดทำบัญชีซึ่งเป็นตำราที่ได้รับความนิยมในหมู่นักวิชาการชาวอาหรับมุสลิมทั่วดินแดนอิสลาม นอกจากนี้เขายังได้เขียนสารานิพนธ์ที่สำคัญเกี่ยวกับเครื่องมือแอสโทรแล็บ ซึ่งจอห์น ฮิสปาลินิซิส ได้แปลจากภาษาอาหรับเป็นภาษาละติน อบุลกอซิมยังให้ความสนใจในวิชาเคมี และแต่งตำราในวิชานี้ 2 เล่มด้วยกัน คือ “ตำรารุตบะฮฺ อัลฮะกีม” และ ตำรา “ฆอยะตุ้ลฮะกีม” ตำราเล่มที่ 2 นี้ได้ถูกแปลเป็นภาษาละตินตามบัญชาของกษัตริย์อัลฟองโซ ของสเปนในปี ค.ศ.1252 โดยใช้ชื่อว่า (Picatrix) ตำราฉบับแปลนี้ถือเป็นหนังสืออ้างอิงในยุโรปเกี่ยวกับวิชาเคมี

 

อบุลกอซิม อัลมัจญ์รีฏีย์ ได้สังเคราะห์และปลดปล่อยวิชาเคมีจากความเชื่อที่ปรัมปรา ไสยศาสตร์และเดรัจฉานวิชาซึ่งครอบงำผู้คนในเวลานั้น เขาได้พยายามแสดงให้ผู้คนรับรู้ว่าวิชาเคมีเป็นศาสตร์ที่มีคุณประโยชน์ มีความประเสริฐ และเป็นสิ่งที่สมควรสำหรับผู้ใฝ่รู้ในการศึกษาที่จะเรียนรู้และค้นคว้าต่อยอด

 

อบุลกอซิม อัลมัจญ์รีฏีย์ ได้เริ่มเรียกร้องให้ศึกษาวิชาเคมีอย่างเป็นวิชาการและอาศัยการทดลองในห้องปฏิบัติการทดลองและการรวบรวมและจดบันทึกสถิติ นอกจากนี้เขายังได้ระบุอีกว่าวิชาคณิตศาสตร์เป็นภาควิชาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับนักศึกษาวิชาเคมี ทั้งนี้เพราะวิชาคณิตศาสตร์โดยธรรมชาติแล้วจะอ้างอิงความคิดในเชิงตรรกและการหาผลลัพธ์ที่ละเอียดแม่นยำ

 

ในตำรา “รุตบะฮฺ อัลฮะกีม” อบุลกอซิมได้ระบุถึงการทดลองของตนอันเลื่องลือว่า : เขาได้เอาสารปรอทบริสุทธิ์ที่ปราศจากสิ่งเจือปนจำนวน ¼ ริฏล์ ใส่ลงในกระเปาะแก้ว (หลอดแก้ว) ซึ่งใส่ลงในภาชนะอีกชิ้นหนึ่งและจุดไฟลนใต้ภาชนะนั้นเป็นเวลา 40 วัน เขาสังเกตพบว่า สารปรอทนั้น ในท้ายที่สุดได้เปลี่ยนสภาพเป็นผงสีแดง (คือ ออกไซด์ของสารปรอท) อบุลกอซิม เคยคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักในการทดลอง

 

ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า อบุลกอซิม อัลมัจญ์รีฏีย์คือผู้วางรากฐาน “ทฤษฎีการรวมตัวทางเคมี” ซึ่งรู้จักในชื่อ กฎการคงอยู่ของสสาร (Conservation of matter or mass) หรือ หลักที่ว่า สิ่งต่างๆ ไม่มีสูญหาย ซึ่งกฎข้อนี้กล่าวว่า “ผลรวมของมวลสสารที่เข้าไปในกระบวนการแสดงปฏิกริยาทางเคมีจะเท่ากับผลรวมของมวลสสารที่เกิดขึ้นจากการกระทำปฏิกริยาทางเคมีนั้น”  แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่นักวิชาการของชาวยุโรปกลับอ้างกฎการคงอยู่ของสสารนี้ว่า เป็นผลงานของ เบรสท์ลี่ และลาโฟซิแอร์