ศัพท์อาหรับที่เกี่ยวกับอาหารและงานเลี้ยง

        ชาวอาหรับมีความละเอียดอ่อนทางภาษาอย่างเอกอุ โดยเฉพาะชื่อเรียกหรือ “นาม” จะมีการแยกแยะด้วยนามเฉพาะ ไม่นิยมเรียกแบบเหมารวม อย่างเรื่องอาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นเมนูจานเด็ด (หรือ ถาด, ตับซีร์ ที่มีอาหารเลอรส) นั้น ชาวอาหรับจะเรียกชื่อแตกต่างกันไป ดังนี้

        1. อัล-กิรอย์ (اَلْقِرٰى) หมายถึง อาหารที่ใช้เลี้ยงแขกเหรื่อ (ข้อนี้ไม่ระบุเมนูแน่ชัด สุดแล้วแต่เจ้าภาพหรือเจ้าบ้านจะพึงจัดเอาไว้เลี้ยงดูปูเสื่อ)

        2. อัตตุฮฺฟะห์ (اَلتُّحْفَةُ) หมายถึง อาหารที่ใช้เลี้ยงต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือน เมนูหรือรายการอาหารก็คงจะอยู่ระดับ V.I.P. หรือ น้องๆ อาหารฮ่องเต้ เพราะคำว่า อัตตุฮฺฟะห์ – อัตตุฮ่ะฟะห์ หมายถึง ของกำนัลหรือของที่หายากมีราคาค่อนข้างสูง และเป็นไปได้ว่าเมื่อทานกันอิ่มหนำสำราญแล้ว เจ้าภาพอาจจะจัดแจงถุงหรือปิ่นโตแจกอาคันตุกะผู้มาเยือนติดไม้ติดมือกลับไปบ้านอีกด้วย (แต่คงมิใช่ถือวิสาสะขนข้าวขนแกงเหมือนงานบุญบางแห่งในแถบบ้านเรา)

        3. อัล-คุรซุ้ ( اَلْخُرْسُ) หรือ อัล- คิรอซ (اَلْخِرَاس) หมายถึง อาหารที่เลี้ยงกันในโอกาสการคลอดบุตร โดยเฉพาะอาหารของสตรีหลังการคลอดบุตร เมนูอาหารก็คงเป็นแบบง่ายๆ ถ้าเป็นของแม่ลูกอ่อนที่เพิ่งคลอดบุตรใหม่ๆ ก็คงเป็นแกงเลียงอะไรทำนองนั้น (แต่ไม่รู้ว่าชาวอาหรับมีแกงเลียงทานหรือไม่)

        4. อัลมะอฺดุ้บะห์ (اَلْمَأْدُبَةُ) หรือ อัลอุดบะห์ (اَلأُدْبَةُ) หมายถึง อาหารที่ปรุงขึ้นเนื่องจากเชื้อเชิญแขกเหรื่อเอาไว้ จะเรียกว่างานเลี้ยงหรืองานบุญอย่างบ้านเราก็คงไม่ผิด

        5. อัลวะลีมะห์ (اَلْوَلِيْمَةُ) หมายถึง อาหารทุกประเภทที่ทำเลี้ยงผู้คนจำนวนมาก หรือมีการเชิญผู้คนมาร่วมรับประทาน โดยส่วนใหญ่มักหมายถึงอาหารที่ใช้เลี้ยงแขกเหรื่อ เนื่องในงานสมรส (งานแต่ง)

        6. อัลอะกีเกาะห์ (اَلْعَقِيْقَةُ) หมายถึง อาหารที่ปรุงเลี้ยงในวันที่เด็กแรกเกิด มีอายุครบ 7 วัน คือทำเลี้ยงในวันที่ 7 นับแต่เด็กคลอด รากศัพท์เดิมหมายถึง “ผม” ของเด็กแรกเกิด เหตุที่เรียกอย่างนี้เพราะผมของเด็กแรกเกิดเมื่อครบเจ็ดวันจะถูกโกนออก คนโบราณเรียกว่า “ผมไฟ” ในพจนานุกรมให้ความหมายว่า “ผมเดิมของทารกที่ติดมาแต่กำเนิด” (ที่เรียกผมไฟนั้นเพราะแต่เดิมมารดาทารกต้องอยู่ไฟ) บ้างก็หมายถึง แพะ หรือ แกะ ซึ่งถูกเชือดในวันที่ทารกแรกเกิดมีอายุครบ 7 วัน ขณะโกนผม

นักวิชาการบางท่าน ระบุว่าน่าจะเรียก อันน่าซีกะห์ (اَلنَّسِيْكَةُ ) แทนที่จะเรียกว่า “อัลอะกีเกาะห์” (اَلْعَقِيْقَةُ) อย่างไรก็ตามเมนูจานเด็ดในวันนี้ (วันที่เด็กมีอายุครบ 7 วัน) ก็คงไม่พ้นเนื้อสัตว์ ซึ่งมักจะเป็นเนื้อแพะ หรือแกะ นั่นเอง เป็นต้นว่า ข้าวหมกแพะ หรือ แกงแพะ อะไรทำนองนี้ (พูดแล้วน้ำลายไหล เจ้าข้าเอ๊ย!!)

        7. อัลฆ่อดีเราะห์ (اَلْغَدِيْرَةُ) มักหมายถึง อาหารที่จัดเลี้ยงเนื่องในโอกาสการทำคิตาน หรือการเข้าสุนัต ซึ่งหมายถึง การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ อันเป็นหลักการของศาสนาที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ

        8. อัลว่าฏีมะห์ (اَلْوَضِيْمَةُ) หมายถึง อาหารที่เลี้ยงในงานอัลมะอฺตัม (اَلْمَأْتَمُ) ซึ่งมีผู้คนมาร่วมแสดงความเสียใจแก่ญาติของผู้เสียชีวิต

        9. อันน่ากีอะห์ (اَلنَّقِيْعَةُ) เป็นอาหารที่จัดเลี้ยงต้อนรับผู้กลับมาจากการเดินทางไกล ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความปลื้มปิติยินดีที่ได้พบหน้าอีกครา

        10. อัลว่ากีเราะห์ (اَلوَكِيْرَةُ) หมายถึง อาหารที่จัดเลี้ยงเมื่อเสร็จสิ้นจากการสร้างอาคาร หรือบ้านพักอาศัย เรียกได้ว่า “มีบ้านอยู่ทั้งที ต้องมีกินเลี้ยงเสียหน่อย”

 

 


ที่มา

  • อัลมุนญิด ฟิล ลุเฆาะห์ วัลอะอฺลาม
  • ตัรบียะตุ้ล เอาล๊าด ฟิล อิสลาม อับดุลลอฮ์ นาซิฮฺ อัลวาน เล่มที่ 1 หน้า 78? พิมพ์ครั้งที่ 4 คศ. 1997