9.อะฮลุลบัยตฺในสารบบของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ

อัต-ตีญานียฺเขียนถึงอะฮฺลุลบัยตฺว่“และอันเนื่องจากสิ่งดังกล่าว ท่านจะไม่เห็นว่าสำหรับพวกเขา (อะฮฺลุลบัยตฺ) มีอยู่ในหมู่ชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ และในสารบบของบรรดาอิมามและบรรดาเคาะลีฟะฮฺของพวกเขาซึ่งพวกเขาปฏิบัติตามคนเหล่านั้น ไม่มีแม้แต่คนเดียวจากบรรดาอิมามของอะฮฺลุลบัยตฺ อะลัยฮิมุสสลาม…” (อัช-ชีอะฮฺ ฮุม อะฮิลุสสุนนะฮฺ หน้า 238)

ข้อเขียนนี้ขัดแย้งกับข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺเองที่ว่า : “และแน่แท้ บรรดามุสลิมได้เห็นตรงกันโดยไม่มีข้อขัดแย้งถึงความรักที่มีต่ออะฮฺลุลบัยตฺ (อะลัยฮิมุศเศาะลาตุวัสสลาม) และพวกเขามีความเห็นขัดแย้งในกรณีของความรักที่มีต่อชนกลุ่มอื่นที่มิใช่อะฮฺลุลบัยตฺ…(ฟัสอะลู อะฮฺลัซซิกร์ หน้า 164)

 

ในข้อเขียนแรก อัต-ตีญานียฺพยายามสร้างภาพที่ตนมโนขึ้นเองว่า อะฮฺลุลบัยตฺไม่มีอยู่ในการเรียนรู้ของชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่ถูกกล่าวถึง หรือไม่มีประเด็นให้ต้องแสดงความรักต่ออะฮฺลุลบัยตฺ และในทำเนียบของบรรดาอิมามตลอดจนบรรดาเคาะลีฟะฮฺในฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺก็ไม่มีอะฮฺลุลบัยตฺคนใดปรากฏอยู่ หากความจริงเป็นไปตามสิ่งที่อัต-ตีญานียฺมโนภาพในข้อเขียนแรก สิ่งที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้างว่า ประชาคมมุสลิมเห็นพ้องกันในเรื่องความรักที่มีให้แก่อะฮฺลุลบัยตฺก็ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่จริง

 

แต่ถ้ามโนภาพในข้อเขียนที่สองซึ่งอยู่คนละเล่มในงานเขียนชิ้นโบว์ดำของอัต-ตีญานียฺเป็นเรื่องจริง และนักแปลหนังสือของอัต-ตีญานียฺก็คงไม่ได้ฉุกคิดในเรื่องนี้ เพราะตั้งหน้าตั้งตาแปลให้จบเป็นเล่มๆ ไป โดยไม่ได้ใส่ใจกับประเด็นที่คนเขียนซึ่งเป็นคนๆ เดียว ขัดแย้งและสับสนในงานเขียนของตน ในเล่มหนึ่งเขียนอย่างหนึ่ง แต่ในอีกเล่มหนึ่งเขียนอีกอย่าง และถึงแม้ว่างานเขียนของอัต-ตีญานียฺจะมีหลายเล่ม แต่เนื้อหาก็มาในทำนองเดียวกัน คือโจมตีเศาะหาบะฮฺ โจมตีอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺ และยกยอแนวทางของชีอะฮฺอิมามียะฮฺซึ่งบางทฤษฎีที่อัต-ตีญานียฺได้สร้างขึ้น

 

นักวิชาการชีอะฮฺอิมามียะฮฺเองอาจจะไม่เคยนึกออกมาก่อนว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้นด้วยซ้ำไป และถึงแม้ว่าผลงานชิ้นโบว์ดำของอัต-ตีญานียฺจะมีหลายเล่มแต่ทุกเล่มก็เป็นความคิดและมโนภาพของผู้เขียนคนเดียวกัน แต่เหตุไฉน มันจึงเกิดสิ่งที่ขัดแย้งกันเองแบบหน้ามือเป็นหลังมือ คำตอบก็คงหนีไปพ้นประเด็นที่ว่าเพราะผู้เขียนมีความคิดที่สับสน ไม่เป็นระบบและยุ่งเหยิง ซึ่งก็คงไม่แปลกที่คนซึ่งมีบุคลิกเช่นนี้จะได้ปริญญาสาขาเอกปรัชญา จากมหาวิทยาลัยของประเทศฝรั่งเศส!

 

กรณีที่อัต-ตีญานียฺระบุว่า บรรดาอะฮฺลุลบัยตฺผู้เป็นลูกหลานของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่มีอยู่ในสารบบของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺไม่ว่าจะในฐานะอิมามหรือเคาะลีฟะฮฺ ไม่มีเลยแม้แต่คนเดียว! หากอัต-ตีญานียฺมุ่งหมายถึงรายชื่อของอิมามทั้ง 12 ท่านที่ได้รับการออกชื่อเอาไว้ตามลำดับในหะดีษที่ถูกกล่าวอ้างว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นผู้กล่าว กรณีนี้ย่อมพูดได้ว่า ไม่มีในสารบบของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺ เพราะอิมามทั้ง 12 ท่านที่ถูกออกชื่อไว้อยู่ในสารบบของชีอะฮฺอิมามียะฮฺ อิษนา อะชะรียะฮิ (ชีอะฮิ อิมาม 12) เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ชีอะฮฺ ซัยดียะฮฺ, อิสมาอิลียะฮฺ อย่างน้อย 2 กลุ่มก็ไม่มีรายชื่อที่ว่านั้นในสารบบของพวกเขาเช่นกัน

 

และการออกชื่อชัดเจนนี้ นักวิชาการของชีอะฮฺอิมามียะฮฺที่อัต-ตีญานียฺให้การยกย่องก็เป็นผู้กล่าวถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เอง นั่นคือ อิมาม อัล-คูอียฺ ซึ่งตอบคำถามของผู้ถามบางคนว่า “บรรดาการรายงานที่เป็นมุตะวาติรฺซึ่งมีมาถึงเราจากกระแสรายงานของคนทั่วไปและคนพิเศษ แน่แท้ รายงานเหล่านั้นได้กำหนดบรรดาอิมาม (อ.ล.) ว่ามี 12 ท่านจากทางด้านของจำนวน และไม่ได้กำหนดรายชื่อของพวกท่าน (อ.ล.) ที่ละคน ทีละคน จนกระทั่งไม่อาจสงสัยได้เลยในตัวอิมามท่านถัดไปภายหลังอิมามท่านก่อนได้จากไป…” (ดู มะสาอิล วะรุดูด เฏาะบะกอน ลิฟะตาวา อัส-สัยยิด อิบุลกอสิม อัล-มูสาวียฺ อัล-คูอียฺ ; รวบรวมโดย มุฮัมมัด เญาวาด อัช-ชีฮาบียฺ : สำนักพิมพ์ มุอัสสะสะฮฺ อัล-อุรฺวะฮฺ อัล-วุษกอ (1991) หน้า 125)

 

และคำตอบของอิมามอัล-คูอียฺย่อมไม่สอดคล้องกับข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺที่ว่า “อย่างไรเล่า ที่พวกท่านได้ถือตาม (ตักลีด) บรรดาอิมามที่ราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺ หรือราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺได้แต่งตั้งพวกเขาสำหรับเรื่องทางการเมืองการปกครอง และพวกท่านได้ละทิ้งบรรดาอิมามซึ่งท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ระบุเป็นตัวบทถึงพวกเขาด้วยจำนวนและรายชื่อของพวกเขา…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 203)

 

และเป็นที่น่าสังเกตว่า อัต-ตีญานียฺอ้างในเชิงอรรถเกี่ยวกับรายชื่อของอิมามทั้ง 12 ท่านจากหนังสือ “ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ” ของ อัลกอนดูซียฺ อัล-หะนะฟียฺ โดยไม่ระบุหน้า หากบุคคลที่ถูกอ้างถึงนี้เป็นชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ เพราะใช้คำต่อท้ายว่า “อัล-หะนะฟียฺ” จริงก็แสดงว่ารายชื่อของบรรดาอิมาม 12 ท่านมีอยู่ในสารบบของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ และอัต-ตีญานียฺก็ไม่ได้อ้างแหล่งที่มาจากฝ่ายชีอะฮฺอิมามียะฮฺในกรณีนี้ หากบุคคลผู้นี้เป็นอะฮฺลุสุนนะฮฺจริง ก็ย่อมขัดแย้งกับสิ่งที่อัต-ตีญานียฺเขียนเอาไว้อีกเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้เราจะลงในรายละเอียดในโอกาสต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

 

ถ้าหากข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺข้างต้นมุ่งหมายถึงผู้เป็นอิมามทางด้านวิชาการหรือผู้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ แน่นอนในฝ่ายอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺย่อมมีบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺปรากฏอยู่ในสารบบอย่างชัดเจน และบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺในบริบทของอะฮฺลุสสุนนะฮฺก็มิได้จำกัดอยู่เฉพาะท่านอะลี (ร.ฎ.) ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ร.ฎ.) แต่ยังครอบคลุมถึงคนในตระกูลอัล-อับบาส และบุตรีท่านอื่นๆ ของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตลอดจนลูกหลานในตระกูลของท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) กล่าวคือ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะอิมาม 12 ท่านอย่างที่ชีอะฮฺอิมามียะฮฺมุ่งหมาย นอกเหนือจากกรณีของบรรดาภริยาของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺไม่ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของอะฮฺลุลบัยตฺ คือไม่ถือว่าเป็นครอบครัวของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งประเด็นนี้จะได้กล่าวถึงต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

 

และบนสมมุติฐานของอัต-ตีญานียฺที่ว่า อะฮิลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) ในสมัยของอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ก็ย่อมเป็นสิ่งที่หักล้างข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺเอง ที่ว่า ไม่มีอิมามจากอะฮฺลุลบัยตฺใดเลยที่อยู่ในทำเนียบเคาะลีฟะฮฺของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ เพราะมีการยอมรับเกิดขึ้นจริงในสมัยอิมามอะหฺมัด (ร.ฮ.) ตามมโนภาพของอัต-ตีญานียฺนั่นก็ย่อมแสดงว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.) ถูกผนวกเข้าอยู่ในทำเนียบของเคาะลีฟะฮฺทั้ง 4 ท่าน ในฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺแล้ว อย่างน้อยก็ 1 ท่าน แล้วจะว่าไม่มีเลยแม้แต่คนเดียวได้อย่างไร?

 

ส่วนท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) และท่านอัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) นั้น คุณงามความดีและความประเสริฐของท่านทั้งสองตลอดจนท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (ร.ฎ.) นั้น มีอยู่ในสารบบของฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ อย่างไม่ต้องสงสัย และรายชื่อของตำรับตำราฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺที่ระบุถึงบุคคลทั้ง 4 ท่าน (อะลี, ฟาฏิมะฮฺ, อัล-หะสัน และอัล-หุสัยนฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮุม) ในความเป็น “อะฮฺลุลบัยตฺ” ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั้น อัต-ตีญานียฺก็อ้างเอาไว้ถึง 30 รายการ (ดู ฟัสอะลู อะฮฺลัซซิกร์ หน้า 70-71 จงถามผู้รู้ (ฉบับแปล) หน้า 102-103) และอัต-ตีญานียฺ ก็ยังกล่าวอีกด้วยว่า “นอกจากบุคคลเหล่านี้แล้ว ยังมีนักปราชญ์ของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺอีกเป็นจำนวนมากที่เรามิได้กล่าวถึง…” (อ้างแล้ว หน้า 71/103) แล้วเหตุใด อัต-ตีญานียฺจึงมโนภาพว่า บรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ ตลอดจนบรรดาอิมามจากอะฮฺลุลบัยตฺไม่ปรากฏมีในสารบบของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ

 

แน่นอนบุคคลที่เป็นอิมามทั้ง 12 ท่านที่ชีอะฮฺอิมามียะฮฺถือเป็นอิมามมะอฺศูม หรือเคาะลีฟะอฺ อัร-รอชิดูนที่แท้จริงในทัศนะของพวกเขา (ดู ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง (ฉบับแปล) หน้า 215) ถูกบันทึกอัตชีวประวัติ คุณงามความดีและสถานภาพของพวกเขาในตำราอัล-หะดีษ และตำราประวัติศาสตร์ของฝ่ายอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺอย่างดาษดื่น เพราะพวกเขาคือ อะฮฺลุลบัยตฺผู้เป็นลูกหลานของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) บางท่าน เช่น ท่านอะลี (ร.ฎ.) ท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) เป็นผู้ที่ได้รับการสัตยาบันในการเป็นเคาะลีฟะฮฺ และบางท่าน เช่น ท่านอะลี อิบนุ อัล-หุสัยนฺ (ร.ฎ.) หรืออิมามซัยนุลอาบิดีน (ร.ฎ.) อิมามมุฮัมมัด อัล-บากิรฺ (ร.ฎ.) และอิมามญะอฺฟัร อัศ-ศอดิก (ร.ฎ.) ทั้งสามท่านก็มีปรากฏเกียรติคุณในด้านการเป็นนักปฏิบัติธรรม และนักปราชญ์ที่ฝ่ายอะฮิลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺให้การยกย่องและบันทึกเรื่องราวของพวกท่านไว้ในตำราของฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺเช่นกัน

 

กล่าวคือบุคคลเหล่านี้เป็นอิมามในด้านทางนำและวิชาการ เป็นลูกหลานของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีสถานะของการเป็นเคาะลีฟะฮฺ (ยกเว้นท่านอะลี (ร.ฎ.) และท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) ที่ทั้งสองได้รับการสัตยาบัน) ซึ่งมีอำนาจในการปกครองก็ตาม การที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้างว่าไม่มีการกล่าวถึงอะฮฺลุลบัยตฺหรืออิมาม 12 ท่าน ปรากฏอยู่ในทำเนียบเคาะลีฟะฮฺ หรือคุณงามความดีของพวกเขา สำหรับฝ่ายอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัล-ญะมาอะฮฺแม้แต่คนเดียว จึงเป็นสิ่งที่อัต-ตีญานียฺเจือสมและคิดไปเอง ที่สำคัญเป็นการความคิดที่สับสนและขัดแย้งกันเองอีกด้วย

 

เป็นสิ่งที่ยอมรับกันว่า ความสับสนและการขัดแย้งกันเองในคำพูดหรือข้อเขียนของบุคคลถือเป็นเครื่องหมายหนึ่งของความเท็จและขาดการตกผลึกในองค์ความรู้ที่ตนเขียนหรือนำเสนอ ซึ่งอัต-ตีญานียฺมีลักษณะที่ว่านี้อย่างเด่นชัด หากผู้มีปัญญาที่อ่านตำราของอัต-ตีญานียฺหรือแม้กระทั่งผู้แปลเป็นภาษาไทยจะฉุกคิดสักนิด ผู้นั้นก็จะพบว่า แนวทางและวิธีการเขียนตำราของอัต-ตีญานียฺในหนังสือหลายเล่มของเขา เช่น ษุมมะฮฺตะดัยตุ้, ละอะกูนุ มะอัศ-ศอดิกีน, อัช-ชีอะฮฺ ฮุม อะฮฺลุสสุนนะฮฺ เป็นต้น มีความสับสนในการตั้งหัวข้อเรื่อง การแบ่งบท และการเรียบเรียงเนื้อหาที่วกวน จะมีก็หนังสือฟัสอะลูอะฮฺวัซซิกร์ ที่มีการแบ่งบทเป็นกิจลักษณะ แต่เนื้อหาโดยรวมตลอดจนการนำเสนอก็จะคล้ายกับหนังสือเล่มอื่น คือวกวนและซ้ำซากตลอดจนแฉลบออกนอกเรื่องอยู่บ่อยครั้ง ลางทีอัต-ตีญานียฺอาจจะเขียนแบบนี้เพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดอาการมึนแล้วก็ชักจูงให้ผู้อ่านคล้อยตาม ทั้งๆ ที่ยังมึนๆ อยู่ก็เป็นได้