14.แรงบันดาลใจของอัต-ตีญานียฺจากหนังสืออัล-มุรอญิอาตของชะเราะฟุดดีน อัล-มุสาวียฺ

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า : “ต่อมาข้าพเจ้าได้อ่านหนังสืออัล-มุรอญิอาต (หรืออัล-มุรอญะอาต) ของสัยยิด ชะเราะฟุดดีน อัล-มุสาวียฺ…หนังสือ (เล่มนี้) ได้ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความฉงนด้วยกับเนื่อหาที่หนังสือรวบรวมเอาไว้จากความฉะฉานของผู้รู้ชาวชีอะฮฺ และการแก้ปัญหาของเขาสำหรับสิ่งที่เป็นปัญหาสับสนต่อผู้รู้ชาวสุนนะฮฺผู้เป็นชัยคุลอัซฮัรฺ

  

ข้าพเจ้าพบว่าที่ข้าพเจ้าปรารถนาในหนังสือ (เล่มนี้) เพราะมันเป็นหนังสือที่ไม่เหมือนกับหนังสือทั้งหลายที่ผู้เขียนจะเขียนตามใจชอบโดยไม่มีผู้ค้านซักคน ไม่มีผู้ถกเถียง อัล-มุรอญิอาตคือการอภิปรายระหว่างผู้รู้ 2 ท่าน จากคนละมัซฮับที่แตกต่างกัน แต่ละฝ่ายต่างก็ตรวจสอบสหายของตนถึงทุกสิ่งที่เตลิดออกไปและมุ่งเข้ามา ทุกสิ่งทั้งเล็กและใหญ่โดยอาศัยแหล่งที่มาพื้นฐาน 2 ประการ สำหรับมุสลิมทั้งมวล คือ อัล- กุรอานและสุนนะฮฺที่ถูกต้องซึ่งเห็นตรงกันในบรรดาศิหาหฺของสุนนะฮฺ จริงๆ แล้วหนังสือ (เล่มนี้) ได้แสดงบทบาทของข้าพเจ้าในฐานะผู้ค้นคว้าที่ตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงและยอมรับข้อเท็จจริงนั้น ไม่ว่ามันจะถูกพบ ณ ที่ใดก็ตาม ตามกรณีนี้ หนังสือ (เล่มนี้) จึงมีประโยชน์มากและมีคุณค่าเหนือตัวข้าพเจ้าโดยรวม…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 87) 

  

 

อัต-ตีญานียฺ เขียนถึงหนังสือเล่มนี้ในอีกที่หนึ่งว่า : “…อุละมาอฺชีอะฮฺบางท่านได้เดินทางไปในประเทศและเมืองต่างๆ โดยมองหาถึงวิธีที่จำเป็น เพื่อหาบ้านเรือนและสังคมแห่งอิสลามด้วยจุดมุ่งหมายของการเริ่มมิตรสัมพันธ์ระหว่างมัซฮับต่างๆ และพยายามที่จะให้มีการคืนดีต่อกัน บางคนของท่านได้เดินทางด้วยตนเองไปยังมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัรฺอันมีเกียรติ อันเป็นกระโจมไฟแห่งวิชาการและความรู้สำหรับชาวอะฮฺลิสุนนะฮฺ

 

 

ณ ที่นั่นพวกเขาได้พบกับอุละมาอฺ ทำการอภิปรายกับพวกเขาด้วยวิธีที่ดีที่สุด และมีจุดมุ่งหมายเพื่อการขจัดความเกลียดชังต่างๆ ดังที่ได้กระทำโดยอิมาม ชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺ เมื่อท่านได้พบปะกับอิมามสะลีม อัล-บิชรียฺผลของการพบปะกันในครั้งนั้น และการเขียนจดหมายตอบโต้กันระหว่างท่านทั้งสองได้ก่อให้เกิดผลผลิตของหนังสือที่มีคุณค่าเล่มหนึ่งคือ “อัล-มุรอญิอาต” (อัล-มุรอญะอาต) ซึ่งได้มีบทบาทอันสำคัญยิ่งต่อการสร้างมิตรสัมพันธ์ในระหว่างทัศนะต่างๆ ของมุสลิม” (ชีอะฮฺคือซุนนะฮฺที่แท้จริง (ฉบับแปล) หน้า 109-110) 

 

 

เจ้าของหนังสืออัล-มุรอญิอาต (อัล-มุรอญะอาต) คืออับดุลหุสัยนฺ อิบนุ ยูสุฟ อิบนิ เญาวฺว๊าด อิบนิ อิสมาอีล อิบนิ มุฮัมมัด อิบนิ อิบรอฮีม มีฉายาว่า ชะเราะฟุดดีน เป็นปราชญ์อาวุโสของฝ่ายชีอะฮฺ ถือกำเนิดในเมืองอัล-กาซิมียฺ ปี ฮ.ศ. 1290 และเสียชีวิตในกรุงเบรุต ปี ฮ.ศ. 1377 ส่วนหนึ่งจากหนังสือที่แต่งไว้คือ “อบูฮุรอยเราะฮฺ” , อัล-มุรอญิอาต เป็นต้น (เฏาะบะกอต อะอฺลาม อัล-ชีอะฮฺ ; อาฆอ บัซรอก อัฏ-เฏาะรอนียฺ 3/1080)

 

 

นอกจากนี้ยังมีหนังสือ “อัล-ฟุศูล อัล-มุฮิมมะฮฺ ฟี ตะอฺลีฟ อัล-อุมมะฮฺ” หนังสือ “อัน-นัศ วัล-อิจญัติฮาด” สำหรับหนังสือ “อัล-มุรอญิอาต” เล่มนี้นักวิชาการชีอะฮฺบางคนอ้างว่าถูกตีพิมพ์มากกว่า 100 ครั้ง (ดู อัล-คุมัยนียฺ อักวาลุฮู ว่า อัฟอาลุฮู ; อะหฺมัด มุฆนียะฮฺ หน้า 45)  เป็นหนังสือที่รวบรวมจดหมายโต้ตอบระหว่างชัยคุลอัซอัรฺ สะลีม อิบนุ อบีฟัรฺรอจญ์ อัล-บิชรียฺ (เสียชีวิต ปีฮ.ศ. 1335) กับอับดุลหุสัยนฺซึ่งอ้างว่า ชัยคุลอัชอัรฺยอมรับว่ามัซฮับของชีอะฮฺถูกต้อง และมัซฮับอะฮฺลิสสุนนะฮฺเป็นโมฆะในท้ายที่สุด

 

 

แต่เรื่องที่แปลกก็คือ หนังสือเล่มนี้มีจดหมายโต้ตอบถึง 112 ฉบับ เป็นของชัยคฺ อัล-บิชรียฺ (ร.ฮ.) 56 ฉบับ ทว่าไม่มีสำเนาหรือภาพถ่ายจดหมายที่เขียนด้วยลายมือของชัยคุลอัซฮัรฺเลยแม้แต่ฉบับเดียวเพื่อยืนยันเรื่องนี้ และหนังสือ “อัล-มุรอญิอาต” ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ภายหลังการเสียชีวิตของชัยคุลอัซอัรฺถึง 20 ปี โดยหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกปี ฮ.ศ. 1355 เมืองศอยด้า ในขณะที่ชัยคุลอัซอัรฺเสียชีวิตตั้งแต่ปีฮ.ศ. 1335 (ดู คำนำอัล-มุรอญิอาต และเฏาะบะกอต อะอฺลาม อัช-ชีอะฮฺ 3/1086)

 

  

มิหนำซ้ำ เมื่อวิเคราะห์สำนวนและลีลาการเขียนจดหมายโต้ตอบระหว่าง 2 ฝ่ายก็กลายเป็นว่าเป็นสำนวนและลีลาการเขียนของคนๆ เดียวกัน คืออับดุลหุสัยนฺ โดยไม่มีสำนวนของชัยคุลอัซฮัรฺปรากฏอยู่เลยในจดหมายแม้แต่ฉบับเดียว และอับดุลหุสัยนฺก็เขียนยอมรับเอาไว้ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ว่า ถ้อยคำในจดหมายของชัยคุลอัซฮัรเป็นการเขียนด้วยปากกาของเขาเอง (ดู คำนำ “อัลมุรอญิอาต” หน้า 27 พิมพ์ครั้งที่ 7)

 

 

อับดุลหุสัยนฺ อ้างในหนังสือเล่มนี้ว่าชัยคุลอัซฮัรฺยอมรับการอรรถาธิบายอัล-กุรอานแบบรหัสยนัยซึ่งเป็นการตีความที่ผิดพลาดซึ่งเด็กนักเรียนในชั้นเรียนเล็กๆ ของอัล-อัซฮัรฺก็ยังรู้ว่าไม่ใช่ (ดู อัล-มุรอญิอาต หน้า 74) และยังอ้างด้วยอีกว่า ชัยคฺ สะลีม (ร.ฮ.) ยอมรับบรรดาอัล-หะดีษที่เป็นหะดีษเฎาะอีฟและเมาวฺฎูอฺว่าถูกต้องและเป็นหะดีษมุตะวาติรฺ ราวกับว่าท่านชัยคฺไม่รู้ว่าหะดีษเหล่านั้นเป็นหะดีษเฎาะอีฟหรือเมาวฺฎูอฺ ทั้งๆ ที่เด็กนักเรียนของอัล-อัซฮัรฺยังรู้ มิหนำซ้ำยังสร้างภาพให้ชัยคุลอัซฮัรฺว่าไร้ความสามารถในการค้นหาบรรดาหะดีษที่อับดุลหุสัยนฺอ้างในตำราหะดีษของฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัรฺมีห้องสมุดมากมายที่เหลือเฟือสำหรับการค้นคว้าและตรวจสอบอัล-หะดีษเหล่านั้น (ดู อัล-มุรอญิอาต หน้า 204)

 

 

ในเวลานั้น อับดุลหุสัยนฺเป็นคนหนุ่มที่ลี้ภัยไปอียิปต์ แต่กลายเป็นว่าชัยคุลอัซฮัรฺต้องขออนุญาตพูดคุยกับเขา และร้องขอให้เขาสอนเรื่องนี้ด้วยสำนวนว่า “เอาอีก เพิ่มให้ฉันอีก” และเป็นเรื่องน่าแปลกที่ครอบครัวของชัยคฺ สะลีม อัล-บิชฺรียฺซึ่งศึกษาอัล-หะดีษกับท่านชัยคฺเป็นเวลาถึง 30 ปี โดยที่ท่านไม่เคยกล่าวถึงเรื่องนี้เลย!

 

 

ความน่าเชื่อถือของหนังสือ “อัล-มุรอญิอาต” จึงเป็นสิ่งที่น่ากังขาและไม่ได้เป็นผลิตผลทางวิชาการอันทรงคุณค่าอย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้างแต่อย่างใด และมันก็ไม่ใช่สิ่งที่สร้างมิตรสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายสุนนะฮฺกับชีอะฮฺ เพราะจริงๆ แล้วหนังสือ “อัล-มุรอญิอาต” เป็นหนังสือที่กล่าวเท็จต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และต่อท่านชัยคุลอัซฮัรฺ (ร.ฮ.) โดยไร้ยางอาย ซึ่งเป็นการเขียนของคนๆ เดียว หาใช่อย่างที่อัต-ตีญานียฺชื่นชมไม่ ว่าเป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษและแตกต่างจากหนังสืออื่นๆ เพราะเป็นการตอบโต้ระหว่าง 2 ฝ่าย ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นฝ่ายเดียวคือ ชีอะฮฺ อิมามียะฮฺที่สมมุติว่าอีกฝ่ายคือตัวแทนของสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ทั้งๆ ที่เจ้าตัวคือชัยคฺ สะลีม อัล-บิชฺรียฺ (ร.ฮ.) อาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำว่าท่านถูกสวมบทบาทโดยผู้เขียนหนังสืออัล-มุรอญิอาตด้วยปลายปากกาของเขา 

 

 

จริงๆ แล้วการเดินทางเพื่อพบปะและเยี่ยมเยียนระหว่างนักวิชาการของฝ่าย อะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺและฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺนั้นมิได้เกิดขึ้นจากฝ่ายชีอะฮฺเพียงฝ่ายเดียว หากแต่นักวิชาการฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺก็มีเช่นกัน อย่างกรณีของท่านชัยคฺ ดร.มุศเฏาะฟา หะสะนียฺ อัส-สิบาอียฺ อธิการบดีท่านแรกของคณะอัช-ชะรีอะฮฺ มหาวิทยาลัยดามัสกัส และเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการอิสลามในซีเรียที่ต่อต้านการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส ท่านเคยเข้าร่วมในการญิฮาดกับพวกยิวและปกป้องนครอัล-กุดส์ ผลงานทางวิชาการของท่านมีมากมาย เช่น หนังสือ “อัส-สุนนะฮฺ ว่า มะกานะตุฮา ฟี อัต-ตัชรีอฺ อัล-อิสลามียฺ” , “อัล-มัรฺอะฮฺ บัยนัล ฟิกฮฺ วัล-กอนูน” และ “อัส-สีเราะฮฺ อัน-นะบะวียะฮฺ” เป็นต้น

 

 

ท่านชัยคฺ อัส-สีบาอียฺ (เสียชีวิต ค.ศ. 1964) เคยเยี่ยมเยือนอับดุลหุสัยนฺ ชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺ เจ้าของหนังสืออัล-มุรอญิอาต ทั้งสองได้พูดคุยและตกลงกันว่าจะจัดการประชุมมุอฺตะมัรฺ อิสลามียฺ ระหว่างนักปราชญ์สุนนะฮฺและชีอะฮฺ เพื่อสร้างความใกล้ชิดและเอกภาพระหว่าง 2 ฝ่าย แต่ทว่าหลังการพบปะกับอับดุลหุสัยนฺ อัล-มูสาวียฺได้ไม่นาน ก็ปรากฏว่าอับดุลหุสัยนฺ อัล-มูสาวียฺผู้ซึ่งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการสร้างความใกล้ชิดระหว่างสุนนะฮฺกับชีอะฮฺได้ออกหนังสือเกี่ยวกับท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งเต็มไปด้วยการบริภาษและจาบจ้วงเศาะหาบะฮฺท่านนี้ และตัดสินว่าท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้กลับกลอก (มุนาฟิก) และเป็นผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) ตลอดจนอ้างว่าท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยบอกว่า อบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นส่วนหนึ่งจากชาวนรก วัล-อิยาซุลบิลลาฮฺ (ดู อัส-สุนนะฮฺ ว่า มะกานะตุฮาฯ : มุศเฏาะฟา อัส-สิบาอียฺ เชิงอรรถ หน้า 9)

 

 

ซึ่งการกระทำของอับดุลหุสัยนฺ ชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺย่อมเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าตัวเขาและเหล่าอุละมาอฺของฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺมีความจริงใจในเรื่องการผูกมิตรและสร้างความใกล้ชิดกับฝ่ายสุนนะฮฺสมจริงตามคำกล่าวอ้างหรือไม่!