การรุกรานดินแดนซูดานตะวันตกของบรรดาซุลต่านแห่งโมรอคโค

ภาพวาดสมรภูมิวาดีย์ กองทัพโปรตุเกสด้านซ้าย

ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นบัลลังก์แห่งนครมัรรอกิช (มาราเกส) ราชธานีของพวกซุลต่านอัสสะอ์ดียีน ซึ่งปกครองดินแดนตะวันตกไกลทางแอฟริกาเหนือได้เปลี่ยนมาสู่ อะห์หมัด อัลมันศูรฺ ผู้มีฉายาว่า “อัซซะฮ์บีย์” (1578-1603) ในช่วงสถานการณ์ที่อำนวยต่อการเพิ่มความเข้มแข็งแก่ตระกูลอัสสะอ์ดีย์ พี่ชายและปู่ของ อะห์หมัด อัลมันศูรฺ คือ อับดุลมาลิก ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือพวกโปรตุเกสในสมรภูมิวาดีย์ อัลมะคอซินที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “สมรภูมิ 3 กษัตริย์” ในวันที่ 4 สิงหาคม 1578

 

ผลของการได้รับชัยชนะในสมรภูมิครั้งนั้นก็คือ พวกโปรตุเกสต้องถอนกำลังทหารออกจากดินแดนของโมรอคโคในที่สุด และไม่สามารถยึดครองดินแดนโมรอคโคเป็นอาณานิคมของตนได้ตามที่ตั้งใจไว้ และผลจากชัยชนะดังกล่าวอีกเช่นกัน ทำให้ตระกูลอัสสะอ์ดีย์ได้กระโดดขึ้นสู่สถานภาพของเหล่าตระกูลใหญ่ที่เป็นเจ้าครองนครต่างๆ ในโลกขณะนั้น อันเป็นช่วงท้ายคริสต์ศตวรรษที่ 16 เหล่าคณะทูตานุทูตของยุโรปต่างก็หลั่งไหลสู่ราชสำนักแห่งนครฟาส และนครฟาสก็ได้กลายเป็นราชธานีของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ มีอาณาเขตแผ่ยื่นจากนครติลมิซาน จนถึงเมืองฏอนญะห์และจากฏอนญะห์จรดพรมแดนตอนใต้ของ นครซูซ ณ วาดีย์ ดัรอะห์. อะห์หมัด อัสสะอ์ดีย์ ซึ่งมีฉายานามว่า “อัลมันศูรฺ” ก็สามารถตั้งอาณาจักรที่เข้มแข็งและมีระเบียบบริหารอาณาจักรที่ดี มีความสงบสุข มั่นคงและความมั่งคั่งในอาณาบริเวณของตะวันตกไกลของแอฟริกาทั้งหมด

 

ภาพวาด อะห์หมัด อัลมันศูรฺอะห์หมัด อัลมันศูรฺ ได้ยึดเอาพวกออตโตมาน เติร์ก (อุษมานียะห์) เป็นแบบอย่าง พระองค์ได้ใช้ระเบียบประเพณีของตุรกีในการจัดการระเบียบปราสาทพระราชวังของพระองค์ตลอดจนการบริหารราชการแผ่นดิน และนำเอาทหารชาวตุรกีมาเป็นครูฝึกในกองทหารของพระองค์และทรงจัดระเบียบกองทัพของพระองค์ตามระเบียบกองทัพของออตโตมาน ตลอดจนใช้ตำแหน่ง “ปาชา” ให้เป็นตำแหน่งของข้าหลวงตามหัวเมืองต่างๆ

 

และยังปรากฏอีกว่าในกองทัพของพระองค์มีชาวสเปนเป็นจำนวนมากที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งโดยมากทหารสเปนเหล่านี้จะมีบรรพบุรุษที่เคยเข้ารีตในศาสนาคริสต์โดยถูกบังคับในสเปน ดังนั้นพวกทหารเหล่านี้จึงหวนกลับคืนสู่ศาสนาอิสลามและเข้ารับใช้ซุลต่านผู้เป็นมุสลิม และในกองทัพของพระองค์อีกเช่นกัน มีทหารผิวดำชาวซูดานและพวกชาวเผ่าพื้นเมืองและทหารรับจ้างชาวตุรกีอยู่เป็นอันมาก จำนวนกำลังพลของกองทัพดังกล่าวมีมากมาย และค่าใช้จ่ายก็หนักอึ้ง ดังนั้นซุลต่านอะห์หมัด อัลมันศูรฺ จึงคิดที่จะพิชิตดินแดนซูดานเพื่อจะได้ครอบครองทองคำที่นั่นซึ่งมีอย่างมากมาย และเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศในสมัยนั้น ดังนั้นพระองค์จึงเลือกนายทหารชาวเอ็นดาลูเซียคนหนึ่งให้เป็นแม่ทัพของกองทัพแห่งการพิชิตดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตามความคิดของซุลต่านท่านนี้ซึ่งทะเยอทะยานหาได้ประสบความสำเร็จไม่ ทั้งนี้เพราะดินแดนซูดานขณะนี้มีอาณาจักรอิสลามซอนฆอได้ตั้งอยู่ บรรดาซุลต่านแห่งซอนฆอมาจากราชวงศ์ซุน หรือ ชุน ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งและใช้ชีวิตในการกรำศึกสงครามกับพวกนอกศาสนาอยู่เสมอ และเพราะพวกเหล่าซุลต่านเหล่านี้ได้ดำเนินภารกิจในการแผ่ขยายดินแดนอิสลามในอาณาบริเวณรอบๆ นอกจากนี้ดินแดนตะวันออกไกลอันเป็นที่ตั้งของอาณาจักรอิสลามต่างๆ ล้วนแล้วแต่ได้ตักตวงผลพวงที่ดีจากการทำการค้าที่รุ่งเรืองกับดินแดนของซูดาน และบรรดานักวิชาการศาสนาของมอรอคโคก็คือผู้นำเอาศาสตร์แขนงต่างๆ และวิชาการศาสนาไปเผยแพร่ในดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลดังกล่าวจึงสมควรในการที่อัลมันศูรฺจะต้องใคร่ครวญอย่างรอบคอบว่า การเคลื่อนกองทัพเช่นนี้เดินทัพผ่านท้องทะเลทรายและดินแดนทุรกันดารหลายพันกิโลเมตร จำเป็นที่ผู้เป็นจอมทัพจะต้องใช้ทรัพย์สินมหาศาลและไม่ได้รับสิ่งใดเลยหรือไม่ก็เทียบกันไม่ได้กับค่าใช้จ่ายเช่นนี้

 

ในปี ค.ศ. 1581 การเดินทัพดังกล่าวก็พบกับความระส่ำระสาย มีทหารล้มตายเป็นจำนวนมากในผืนทรายอันกว้างใหญ่ จุดมุ่งหมายในการเดินทัพครั้งนี้ คือ การยึดครองเหมืองเกลือในเมืองติฆอซะห์ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรใหญ่แห่งหนึ่งจากแหล่งรายได้ของอาณาจักรซอนฆอ ดังนั้นกองทัพอัสสะอ์ดียีน จึงเริ่มทำศึกเข้ายึดครอง โอเอซิส ญารอเราะห์ และตุว๊าต ทางตอนใต้ของแอลจีเรียในปัจจุบัน และในขณะที่กษัตริย์แห่งเบอร์นู (เราจะพูดถึงหลังจากนี้) ได้ทรงเห็นว่ากองทัพของซุลต่านแห่งมอรอคโคได้เคลื่อนทัพเข้าประชิดพรมแดนของพระองค์ พระองค์จึงได้ประกาศยอมสวามิภักดิ์ต่อซุลต่านและขอพรให้ซุลต่านหนือมิมบัรในมัสยิดต่างๆ ของอาณาจักร

 

5 เดือนหลังจากการเดินทัพที่ต้องเสียกำลังพลมากมายในท้องทะเลทราย กองทัพของซุลต่านแห่งมอรอคโคก็เคลื่อนกำลังพลถึงดินแดนของซอนฆอ และสร้างความปราชัยครั้งใหญ่ต่อพวกซอนฆอในสมรภูมิกุวันดัยบีย์ ซึ่งอยู่ห่างจากนครเญาว์ 50 กม. จากทางเหนือในวันที่ 12 เมษายน 1591 หลังจากนั้นกองทัพก็ยาตราเข้าสู่นครเญาว์และก็พบว่านครแห่งนี้ร้างผู้คนเพราะชาวเมืองได้หลบหนีออกจากเมืองไปหมดแล้ว ดังนั้น เญาดัร ปาชา จึงนำกำลังพลของตนตั้งค่ายในนครติมบักตู เหล่าขุนศึกของกองทัพต่างก็รู้สึกผิดหวังอย่างมาก เมื่อรู้ว่าเหมืองทองคำนั้นยังห่างไกลมากจากจุดที่พวกเขายึดครองได้ เพราะพวกเขาจะต้องเดินทัพต่อไปเท่ากับระยะทางที่พวกเขาได้เดินทัพผ่านมาในดินแดนทะเลทรายจนกว่าพวกเขาจะเข้าสู่เขตป่าดงดิบ และไปถึงเทือกเขาอัลฟูตาญาลูน

 

ซุลต่านอะห์หมัด อัลมันศูรฺ ก็ทรงสงสัยและเคลือบแคลงต่อข่าวที่เญาดัร ปาชาได้ส่งม้าเร็วมาถึงพระองค์ ดังนั้นพระองค์จึงทรงปลดแม่ทัพผู้นี้และส่งแม่ทัพชาวโมรอคโคที่ชื่อ มะห์มูด ซัรญูนไปเป็นแม่ทัพแทน มะห์มูด ซัรญูนได้เดินทางถึงติมบักตูและรับตำแหน่งแม่ทัพต่อจากเญาดัร ปาชา ซึ่งเดินทางต่อไปยังนครเญาว์ พวกซอนฆอก็แตกกระซ่านกระเซ็น ผู้นำซอนฆอบางคนก็หลบหนีเอาตัวรอดไปยังเมืองดันดีโดยปล่อยให้ดินแดนของพวกเขาได้รับการปล้นสะดมของพวกเฏาะวาริก, บัมบาร่า และอัลฟูล่า

 

ส่วนแม่ทัพมะห์มูด ซัรญูนไม่สามารถส่งจำนวนทองคำได้ตามที่ซุลตอนทรงมีความต้องการ พระองค์จึงทรงถอดแม่ทัพผู้นี้ออกจากตำแหน่งและให้แม่ทัพอัลมันศูรฺขึ้นบัญชาการแทน และซุลต่านยังได้ทรงมีบัญชาให้จับกุมแม่ทัพมะห์มูด ซัรญูน และประหารชีวิตอดีตแม่ทัพผู้นี้ และยังมีบัญชาให้จับกอฎีและนักวิชาการศาสนาเป็นจำนวนมากใส่ตรวนจองจำส่งตัวไปยังโมรอคโค (นักวิชาการเหล่านี้ประจำอยู่ในนครติมบักตู)

 

ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงกล่าวหาว่าพวกเขาเหล่านี้คิดทรยศต่อพระองค์ ส่วนหนึ่งจากนักวิชาการเหล่านี้ที่ต้องราชทัณฑ์ก็คือ นักประวัติศาสตร์ อะห์หมัด บาบา อัตตันบักตีย์ ซึ่งถูกนำตัวไปยังนครมัรรอกิชและยังคงถูกจองจำอยู่ในคุกหลวงจวบจนกระทั่งค่อลีฟะห์ อัลมันศูรฺ ได้ทรงพระราชทานอภัยโทษให้แก่ท่าน ท่านอะห์หมัดจึงเดินทางกลับสู่มาตุภูมิของตนในปี ค.ศ. 1607

 

ส่วนอดีตแม่ทัพเญาดัร ปาชา ก็ได้รอคอยจนกระทั่งเหตุการณ์ต่างๆ สงบ ท่านจึงกลับสู่นครมัรรอกิร โดยนำทรัพย์สินเป็นอันมากติดตัวไปด้วย ส่วนเหล่าทหารของปาชาก็ยังคงอยู่ในดินแดนแห่งนั้น และแต่งงานกับสตรีพื้นเมืองและยังได้ร่วมกับชาวเมืองในการปกป้องดินแดนจากการรุกรานของพวกเฏาะวาริกและบัมบาร่าซึ่งเป็นชนเผ่าแห่งซียู และพวกอัลมาดันญีย์ชนเผ่าในอาณาจักรเก่าแห่งมาลี ในช่วงหลังพวกอดีตทหารเหล่านี้ก็มีความเข้มแข็งมากขึ้นในดันดี และกลายเป็นชาวเมืองดันดีไปในที่สุด พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้สร้างอาณาจักรขึ้นแต่อย่างใด แต่ได้หันไปทำการค้าขายกับหัวเมืองโมรอคโค การค้าของพวกเขาก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ

 

เหล่าซุลต่านแห่งโมรอคโคต่างก็สิ้นหวังที่ยึดครองดินแดนของซูดาน ดังนั้นเมื่อปาชาคนสุดท้ายที่ซุลต่านได้ตั้งให้ปกครองนครติมบักตูได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1620 ซุลต่านแห่งโมรอคโคก็มิได้ส่งใครไปเป็นข้าหลวงอีกเลย ทหารโมรอคโคชาวเอ็นดาลูเซียจึงเข้ากุมอำนาจและปกครองดินแดนซูดานอย่างเหลวแหลกอันเป็นวิธีการเดียวที่ทหารรับจ้างพวกนี้รู้จัก ทั้งแม่ทัพและพลทหารก็พอกันทั้งสิ้นในการใช้วีธีการดังกล่าว ก่อกรรมทำเข็ญ ปล้นสะดมภ์ ฉกชิงทรัพย์สินของผู้คน

 

หัวใจของพวกเขาไม่เคยมีความผูกพันจงรักภักดีต่อรัฐใดหรืออาณาจักรใด ไม่มีความรู้สึกทางมโนธรรม แม่ทัพมะห์มูด ซัรญูนก็ได้พยายามสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยของอาณาจักรซอนฆอให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจกระทำการตามนั้นได้ ทั้งนี้เพราะระดับความมีศีลธรรมของแม่ทัพผู้นี้อ่อนแอโดยสิ้นเชิง เพราะแทนที่เขาจะปกครองด้วยความยุติธรรมและสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย เขามุ่งแต่จะลิดรอนและคุกคามต่อบุคคลสำคัญในหมู่ชาวเมือง บรรดาพ่อค้าที่มั่งคั่งและผู้นำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้คน หรือไม่ก็กระทำไปอันเนื่องจากกลัวเกรงอำนาจทางการเมืองของชนชั้นเหล่านี้

 

ครั้นเมื่อแม่ทัพผู้นี้จากเมืองแห่งนี้ไปตามวิถีทางของตน การคัดเลือกตำแหน่ง “ปาชา” แห่งนครติมบักตู ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทหารรักษาการก็ตกไปอยู่ในกำมือของเหล่าทหารในกองทัพ ในช่วงระยะเวลาจากปี 1620 ถึง 1660 พวกทหารเหล่านี้ได้ตั้งปาชาขึ้นเป็นผู้นำถึง 21 คน และก็ถอดปาชาเหล่านี้ออกจากตำแหน่ง และในช่วงระหว่างปี 1660 ถึง 1750 พวกนี้ตั้งและปลดผู้ดำรงตำแหน่งปาชาเป็นจำนวนถึง 128 คน ถึงขั้นที่ว่าบางคนได้ดำรงตำแหน่งเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ต้องตายลงด้วยน้ำมือของคู่แข่ง บรรดาแม่ทัพนายกองจากกองทหารเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้ทำการเกี่ยวดองกับบุคคลสำคัญของชาวซูดาน ในขณะที่พวกพลทหารจะสมรสโดยไม่เลือก

 

จากการเกี่ยวดองด้วยการสมรสเช่นนี้ จึงเกิดชนรุ่นใหม่ขึ้นอันเป็นลูกผสมระหว่างโมรอคโค เอ็นดาลูเซียนและซูดาน เรียกชนชั้นนี้ว่า อุรมา หรืออะล่าอัรมา ซึ่งเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า อัรรุมาต ในภาษาอาหรับ (นักแม่นธนู หรือ นักแม่นปืน) เพราะทหารเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่ามีความชำนาญในการยิงปืนคาบศิลาเป็นอย่างดี ปืนในสมัยนั้นยังมิได้ใช้ลูกตะกั่วเป็นกระสุน แต่ใช้ท่อนตะกั่วหรือแท่งเหล็กที่ใส่ไว้ในกระบอกปืนยิงแทน ตัวคันเหนี่ยวที่ติดกับปืนทำมาจากเหล็กกล้าที่บางและเบา

 

ส่วนสายเหนี่ยวนั้นทำมาจากเชือกปอที่แข็งแรงเอามาขวั้นทำสายเหนี่ยว คันเหนี่ยวจะถูกวางใส่กับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทำมาจากศิลามีลำกล้องที่ขุดร่องตามขนาดด้ามปืน คนยิงก็เหนี่ยวคันยิงด้วยมือ ตลอดแท่งเหล็กที่หัวของมันหันเข้ารังเพลิง เมื่อเล็งเป้าหมายแล้วเขาก็จะยิงแท่งเหล็กออกไปจนกระทบรังเพลิงซึ่งใส่ดินปืนไว้ คันเหนี่ยวนี้ (ซึ่งน่าจะเรียกว่า หน้าไม้แต่ทำด้วยเหล็ก) เรียกกันว่า ธนูเหล็ก หรือ ธนูเท้า เพราะคนยิงจะง้างธนูด้วยเท้าเพื่อที่จะได้มีแรงในการยิงออกไป

 

ที่ว่ามานี้นั้นเป็นปืนคาบศิลาในสมัยศตวรรษที่ 13 และ 14 ครั้นเมื่อมีการค้นพบดินประสิว ลำกล้องปืนก็ถูกดัดแปลงให้เป็นท่อนเหล็กมีขนาดยาวเท่ากับกระบอกปืน และมีวิธีในการยิงโดยการกระทบของปีกนก หรือไกปืนกับท่อนเหล็กในลำกล้องที่บรรจุดินประสิวจนเกิดประกายไฟก็จุดระเบิดดินประสิว แท่งเหล็ก หรือลูกกระสุนเหล็กก็จะถูกแรงระเบิดขับดันออกไปอย่างรุนแรงซึ่งปืนที่ถูกดัดแปลงใหม่นี้เป็นจุดเริ่มต้นของอาวุธปืนที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มปรากฏขึ้นในศตวรรษที่ 16 มุสลิมเองรู้จักปืนประเภทนี้และได้ใช้เป็นอาวุธสำคัญ

 

พวกชนชั้นอะลาอัรม่าที่เป็นลูกครึ่งผสมระหว่างเลือดซูดานและโมรอคโคนั้น ได้กลายเป็นชนชั้นศักดินาในดินแดนแห่งนี้ บางส่วนจากพวกนี้เป็นขุนนางและลูกหลานแม่ทัพนายกองและสตรีชั้นสูงของกลุ่มชนและในหมู่พวกเหล่านี้ก็มีชนชั้นกลางที่เป็นลูกหลานของนายทหารและลูกสาวของพวกตระกูลต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นพลเมืองธรรมดาที่สืบเชื้อสายมาจากพลทหาร และนับเป็นเรื่องแปลกที่พวกหลังนี้โดยส่วนใหญ่ต่างก็ประกอบอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะการทำรองเท้าซึ่งพวกนี้เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับอาชีพทำรองเท้าดังกล่าว

 

สิ่งเดียวที่ซุลต่านอะห์หมัด อัลมันศูรฺ ได้รับอย่างเป็นรูปธรรมนั้นก็คือ จำนวนแร่ทองคำอันมหาศาลที่แม่ทัพในการรุกรานชุดแรกๆ ได้ส่งไปให้พระองค์ อัลยัฟรอนีย์ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “นุซฮะตุ้ลฮาดีย์” ว่า ทองคำเป็นอันมากที่ถูกส่งไปให้ถึงอัลมันศูรฺนั้นได้ทำให้พระองค์สามารถนำไปจ่ายเบี้ยหวัดของกองทัพและสร้างปราสาทราชวงศ์ของพระองค์ในโรงกษาปณ์ของพระองค์ ที่นครฟาสนั้นมีการตีเหรียญกษาปณ์ทุกวัน จากเหตุนี้เองพระองค์จึงมีพระราชสมัญญานามว่า “อัซซะฮ์บีย์” (หมายถึง กษัตริย์แห่งทองคำ)

 

และลอเร้นซ์ มาดุก พ่อค้าชาวอังกฤษซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นตัวแทนทางการค้าอยู่ช่วงเวลาหนึ่งในนครมัรรอกิรได้เล่าว่า เขาเคยเห็นล่อจำนวนถึง 30 ตัวได้แบกแร่ทองคำที่ถูกส่งมาให้แก่อัลมันศูรฺ อย่างไรก็ตามพวกมอรอคโคก็ไม่เคยที่จะไปถึงเหมืองทองคำที่เชิงเขา อัลฟูตาญาลูนทางใต้ของแม่น้ำเซเนกัล อันที่จริงทองคำเหล่านี้ได้มาจากการที่พวกมอรอคโคได้มาจากผู้มั่งคั่งในติมบักตูและนครเญาว์ อันเป็นแร่ทองคำที่พวกเหล่านี้ได้สะสมไว้ในคลังทองคำ ต่อมาในภายหลังพวกโมรอคโคก็สามารถเข้ายึดครองเหมืองเกลือในเมืองติฆอซะห์ได้ ข้าหลวงของซุลต่านที่ประจำอยู่ที่นั่นก็ได้ดำเนินการค้าแลกทองคำกับเกลือในน้ำหนักที่เท่ากันตามที่กล่าวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ นอกจากนี้อัลมันศูรฺยังได้ทองคำอีกเป็นจำนวนมากที่เป็นค่าไถ่ตัวของพวกโปรตุเกสนับพันคนที่ตกเป็นเชลยศึกในสมรภูมิวาดีย์ อัลมะคอซิน

 แอฟริกาตะวันตกหลังจากการรุกรานของโมร็อกโค

สิ่งซึ่งเราให้ความสำคัญ ณ จุดนี้ก็คือ การรุกรานของพวกโมรอคโคนั้นนับเป็นการประกาศถึงการสิ้นสุดยุคทองของเหล่าอาณาจักรอิสลามในเขตซูดานตะวันตก พวกทหารรับจ้างในกองทัพโมรอคโคได้ทำลายชนชั้นสูงต่างๆ จากพวกอัลมาดันญีย์ กานา และซอนฆอ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่ก่อกำเนิดอาณาจักรเหล่านี้ หลังจากนั้นก็มีการทำลายนครติมบักตูและเญาว์ครั้งแล้วครั้งเล่า มีการยึดครองและกวาดต้อนชนชั้นสูง พ่อค้าวาณิชย์ และกดขี่ข่มเหงเหล่านักวิชาการศาสนาของนครเหล่านี้ อันเป็นผลที่เลวร้ายต่ออนาคตของวัฒนธรรมและอารยธรรมอิสลามในดินแดนดังกล่าว

 

ซุลต่านอะห์หมัด อัลมันศูรฺ อัซซะฮะบีย์ และเหล่าผู้คนในอาณาจักรอัสสะอ์ดีย์ก็คงจะไม่ถูกถามถึงความรับผิดชอบเท่ากับที่พวกแม่ทัพผู้รุกรานชาวเอ็นดาลูเซียจะถูกถามถึงความรับผิดชอบ ซึ่งพวกนี้ถูกเรียกว่าพวกอุลู๊จ (อันหมายถึงฝูงลาหรือพวกกักขฬะชอบใช้ความป่าเถื่อน) และเป็นพวกที่ได้ทำให้ชื่อเสียงของอิสลามและชาวมุสลิมต้องเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงในดินแดนซูดานตะวันตกตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน การสร้างความเสื่อมเสียและเปลี่ยนโฉมหน้าอิสลามไปในทางลบนับเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการเอื้อประโยชน์ต่อพวกล่าอาณานิคมโปรตุเกส, ฝรั่งเศส และอังกฤษ ต่อการรุกรานดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลดังกล่าว และแบ่งสันปันส่วนดินแดนอาณานิคมเหล่านั้นในระหว่างพวกเขา

 ภาพจาก : wikipedia.org