บทบาทของซาร์แห่งรัสเซียในการทำลายระบอบคิลาฟะห์

อีวาน จอมโหด        ความเป็นศัตรูของรัสเซียต่อศาสนาอิสลาม
        ชาวมุสลิมได้เดินหน้าพิชิตดินแดนต่างๆ ในช่วงต้นอิสลามอัลอะฮ์นัฟ อิบนุ กอยซ์ ก็ได้ยาตราทัพเข้าสู่นครมัรฺว์ ชาวมุสลิมก็รุกคืบถึงแม่น้ำญัยฮูน (อามูดาเรีย Amou-Daria ในรัสเซีย) และทำสงครามเหนือดินแดนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ในท้ายที่สุดกุตัยบะห์ อิบนุ มุสลิมก็สามารถนำกองทัพข้ามแม่น้ำสายนี้และพิชิตนครบุคอรอ ตลอดจนเมืองอื่นๆ ที่เหลือได้ ภูมิภาคที่ถูกพิชิตนี้รู้จักกันในนาม “ดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำ” หลังการพิชิตได้ระยะเวลาหนึ่งศาสนาอิสลามก็แพร่หลายในดินแดนแถบนี้

ธงของอาณาจักรบุคอรอ        ถึงแม้ว่า อาณาเขตดังกล่าวจะห่างไกลจากราชธานีแห่งค่อลีฟะห์เป็นอันมาก อีกทั้งยังมีภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยที่ราบสูงและขุนเขาสูงเสียดฟ้า ซึ่งเป็นประหนึ่งปราการขวางกั้น กระนั้นสภาพดังกล่าวก็หาได้ทำให้ชาวมุสลิมย่อท้อไม่ ปราการธรรมชาติเหล่านั้นมิได้เป็นอุปสรรคอันใดในการรุกคืบหน้าของชาวมุสลิมแต่อย่างใด ตราบใดที่พวกเขามิได้มองอยู่เพียงแค่โลกนี้และไม่ได้คิดคำนึงสิ่งใดนอกจากสวนสวรรค์ กอรปกับพวกเขามุ่งหวังถึงชัยชนะและการเกื้อหนุนจากพระผู้เป็นเจ้า

 

        ดังนั้นถ้าหากว่าเป้าหมายในการพิชิตดินแดนที่ได้ชื่อว่าทุรกันดารและหฤโหดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นเพียงแค่การปล้นสะดมรุกรานและเข่นฆ่าผู้คน หรือเป็นเพียงการยึดครองและล่าอาณานิคมแล้วละก็ แน่นอนฝูงม้าของพวกเขาคงได้ล้มคะมำและหมดกำลังใจในการรุกฝ่าเส้นทางที่อาจจะไม่คุ้มค่าอันใดในการยึดครองเลยแม้แต่น้อย และถ้าหากการมาถึงดินแดนที่เป็นปราการธรรมชาติอันแข็งแกร่งเช่นนี้จะสามารถคุ้มกันความชั่วร้ายของเพื่อนบ้านที่เป็นปัจจามิตรและผลักดันภยันตรายของเหล่าศัตรูได้แล้ว นั่นถือได้ว่าเส้นพรมแดนเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่เดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าได้บันดาลเอาไว้เยี่ยงปราการที่ดีที่สุดในการรักษาดินแดนของโลกอิสลามทางซีกตะวันออก

 

        ในทำนองเดียวกันชาวมุสลิมยังได้รุกฝ่าเข้าสู่ดินแดนซีกตะวันตก อันเป็นท้องทะเลที่ขวางกั้นพวกเขากับยุโรปเอาไว้ ความศรัทธามั่นได้เป็นพลังผลักดันให้ชาวมุสลิมได้ท่องทะเลอันกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยการผจญภัยโดยมิได้แยแสต่อความน่าสะพรึงกลัวของคลื่นลมที่บ้าคลั่งทุกเมื่อแม้แต่น้อยนิด

 

        ถ้าหากเป้าหมายของชาวมุสลิมคือทรัพย์สินและการปล้นสะดมเพียงแค่นั้นแล้ว แน่นอนพวกเขาก็ย่อมมิอาจมาถึงดินแดนที่ไกลโพ้นและนิรนามเหล่านั้นได้ตั้งแต่ต้น และการรุกรานของพวกเขาก็คงจำกัดเป้าหมายอยู่เฉพาะ ในภูมิภาคและอาณาเขตที่อุดมสมบูรณ์และมั่งคั่ง และหลีกห่างที่จะฟันฝ่าไปในท้องทะเลทรายที่แห้งแล้งและทุรกันดาร ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นภูมิภาคที่การรณรงค์ของพวกเขาเกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่อันเป็นดินแดนที่ไม่มีพืชพันธุ์อันใดนอกจากต้นหนามและความแร้นแค้น

 

        ชาวมุสลิมได้หลั่งไหลเข้าสู่ดินแดนดังกล่าวและเผยแผ่ศาสนาอิสลามในทุกเขตแคว้น พวกเขามิเคยเบี่ยงเบนออกจากอุดมการณ์อันสูงส่งในระหว่างการรุกคืบหน้า ไม่เคยคิดถึงมาตุภูมิซึ่งพวกเขาผูกพันอยู่กับมันและเคยใช้ชีวิตในมาตุภูมินั้นมาก่อน อีกทั้งยังไม่เคยกระวนกระวายใจต่อความเป็นไปของครอบครัวที่อยู่แนวหลังซึ่งพวกเขามอบหมายบุคคลเหล่านั้นไว้กับองค์พระผู้เป็นเจ้า

แผนที่อามูดาเรีย Amou-Daria ในรัสเซีย

        ถ้าหากพวกเขามัวแต่คิดและพะวงอยู่กับสิ่งดังกล่าว ชัยชนะของพวกเขาก็จำต้องหลุดลอยและความปราชัยในการสู้รบก็ต้องเกิดขึ้น ซึ่งในที่สุดพวกเขาก็ต้องคืนกลับสู่มาตุภูมิเดิมของพวกตน และตั้งหลักเพื่อคอยรับมือกับเหล่าศัตรูที่จะมาเหยียบย่ำเอาคืน แทนที่จะเป็นเยี่ยงนี้ ชาวมุสลิมกลับแสวงหาความตาย และยอมมอบกายถวายชีวิตเพื่ออุดมการณ์ของพวกเขา จากการที่พวกเขามุ่งหวังการได้รับชัยชนะจากฟากฟ้าเบื้องบนโดยไม่ยี่หระกับสิ่งรอบข้างเลยแต่น้อย นี่เองพวกเขาจึงได้ครองโลก

 

        ในยุคที่สองแห่งอาณาจักรอับบาซียะห์ ความร้าวฉานและความแตกแยกในอาณาจักรได้เริ่มขึ้นและแปรเปลี่ยนสู่รัฐเล็กรัฐน้อยที่สถาปนาขึ้นโดยกลุ่มบุคคลหรือตระกูลที่มีอำนาจในท้องถิ่นและแว่นแคว้นซึ่งล้วนแต่เคยอยู่ใต้ศูนย์รวมอำนาจแห่งราชธานีแบกแดด เมื่อมีสภาพเช่นนี้ ดินแดนทั่วภูมิภาคตะวันออกของอับบาซียะห์เดิมจึงตกเป็นเป้าของการรุกรานจากชนต่างถิ่น ต่างเผ่าพันธุ์ พวกมองโกลได้ยาตราทัพอันเกรียงไกรเข้าสู่ดินแดนทางตะวันออกและทำลายรัฐเล็กรัฐน้อยดังกล่าวลงอย่างราบคาบ แม้กระทั่งราชธานีแบกแดดเองก็มิอาจจะรอดจากภัยแห่งการรุกรานของพวกมองโกล

มัสญิดในเมืองบุคอรอ

        แต่ทว่าหลังจากที่พวกมองโกลได้ครอบครองดินแดนในภูมิภาคนี้อยู่ได้ไม่นาน จักรวรรดิมองโกลก็พบกับวัฏจักรแห่งความเสื่อมและแตกออกเป็นอาณาจักรที่ปกครองโดยข่าน มองโกลที่เป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน พวกข่านก็เข้ารีตและยอมรับในศาสนาที่แพร่หลายอยู่ในแคว้นที่ตนปกครอง บรรดาข่านในเอเซียและเอเซียกลางได้เข้ารับอิสลามยกเว้นข่านแห่งราชวงศ์หยวนในจีนซึ่งยอมรับในศาสนาพุทธที่เคยแพร่หลายอยู่ในจีนมาเป็นเวลาช้านาน

 

        ชนชาติตาตาร์ซึ่งรับมรดกในการปกครองแว่นแคว้นต่อจากพวกมองโกลก็เข้ามาบทบาท และหลังจากที่พวกตาตาร์ได้กระทำการรุกรานและย่ำยีต่อโลกอิสลามต่างๆ นานา และปลงพระชนม์ค่อลีฟะห์องค์สุดท้ายแห่งอับบาซียะห์ในแบกแดด อันเป็นผลมาจากการยุยงของชาวคริสเตียนต่อพวกตาตาร์ให้ทำลายล้างชาวอิสลามเพื่อแก้แค้นจากความปราชัยในสงครามครูเสด หลังจากตัยมูรแลงก์ (หรือตัยมูร ขาเป๋ (1336-1405) กษัตริย์มองโกลผู้เป็นหลานของเจงกิสข่าน มีอำนาจปกครองดินแดนอิหร่านและเอเชียนับจากนครเดลฮีจนถึงแบกแดด ตัยมูรแลงก์ได้สถาปนานครซามัรกานต์เป็นราชธานีของตน) ได้เสียชีวิตไม่นานนัก ชนชาติตาตาร์ก็เข้ารับอิสลาม (โดยเฉพาะในรัชสมัยของกษัตริย์มะห์มูดฆอซาน (1271-1304) แห่งอาณาจักรมองโกล อิลคอนียะห์ เป็นต้นมา)

 

        และพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้ทรงมีพระประสงค์บันดาลให้บรรดาบุคคลเหล่านี้ซึ่งคืออดีตศัตรูของอิสลามได้กลับกลายเป็นกลุ่มชนผู้เรียกร้องสู่ศาสนาอิสลามโดยพวกเขาได้เคยย่ำยีและก่อความอยุติธรรมต่ออิสลามและชาวมุสลิมได้ไม่กี่สิบปี ใครจะไปรู้ได้ว่าพวกเขาเหล่านี้ซึ่งเคยทำลายดินแดนอิสลามอย่างราบพนาสูรจะกลายเป็นผู้ที่เผยแผ่อิสลามให้แพร่หลายด้วยน้ำมือของพวกเขาเอง และด้วยการสนับสนุนอุปถัมภ์ของเหล่าผู้สืบอำนาจของชนชาติเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่อิสลามกำลังถูกกระทำแต่ฝ่ายเดียว โลกทั้งโลกกำลังรุมทึ้งและย่ำยีอย่างไม่ลดราวาศอก แต่กระนั้นองค์พระผู้เป็นเจ้าพระองค์คือผู้พิทักษ์ปกป้องศาสนาของพระองค์ ดังพระดำรัสที่ว่า “แท้จริงเราได้ประทานบทรำลึก (ศาสนาอิสลามโดยอัลกุรอ่าน) และแท้จริงเราคือผู้พิทักษ์บทรำลึกนั้น”

 

        ฉะนั้นพระองค์ได้ทรงบันดาลให้มีผู้ธำรงอิสลามจากหมู่ชนที่พระองค์มีพระประสงค์และประวัติศาสตร์ก็มิเคยระบุเอาไว้ว่า หมู่ชนผู้มีชัยได้ยอมรับต่อศาสนาของผู้ปราชัยนอกจากเหตุการณ์การเข้ารับอิสลามของชนชาติตาตาร์มองโกล เยี่ยงนี้เอง ชนชาติตาตาร์ในดินแดนอิสลามก็ได้เข้ารับอิสลามและกลายเป็นแนวร่วมอิสลามที่ยืนหยัดท้าทายพวกคริสเตียนออธอร์ดอกซ์ และพวกกราบไหว้รูปเจว็ด (อัลมุสลิมูนตะฮ์ตา อัซซัยเตาะเราะห์ อัชชูยูอียะห์ หน้า 18,19,43,49,53)

 

        ในดินแดนของพวกรุสเซียมีศาสนาใหญ่อยู่ 3 ศาสนาที่มีอิทธิพลต่อเหล่าพลเมือง อันได้แก่
        1. ศาสนาอิสลาม มีชนชาติตาตาร์ยอมรับนับถือ พวกตาตาร์มีอำนาจปกครองเหนือดินแดนแถบนี้ และพยายามเผยแผ่อิสลามในหมู่พลเมือง
        2. ศาสนาคริสต์ มีพวกสล๊าฟรุสเซียยอมรับนับถือ พวกนี้มีนครรัฐมอสโคว์และนครเคียฟเป็นศูนย์กลางและยอมจ่ายบรรณาการแก่ชนตาตาร์มุสลิม
        3. พวกกราบไหว้รูปเจว็ดและบูชาผีสางนางไม้ ซึ่งมีชนเผ่ารุสเซียและตาตาร์บางส่วนยังคงยึดถืออยู่นอกเหนือจากชนเผ่าทางตอนเหนือ

 

        ศาสนาและลัทธิต่างๆ เหล่านี้ได้ยึดเอาชนเผ่านิยมเป็นอุดมการณ์และปรากฏชัดในรูปของเผ่าพันธุ์นิยม โดยชาวรุสเซียต้องเป็น(สล๊าฟ) คริสเตียน ชนตาตาร์ต้องเป็นมุสลิม ความเป็นศัตรูระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองเกิดขึ้นอยู่เสมอด้วยเหตุความขัดแย้งทางความเชื่อ นอกเหนือจากการขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์และภาษาที่ต่างกัน ถึงแม้ว่าปัจจัยหลัง 2 ประการนี้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตและเป็นภัยรุนแรงก็คงหนีไม่พ้นการขัดแย้งทางความเชื่อ

 

        ยังไม่ทันที่เรื่องราวของตัยมูร แลงค์จะจบลง โรคร้ายที่คุกคามชนชาติมาก่อนหน้านี้ก็คืบคลานเข้าสู่อาณาจักรของพวกตาตาร์ ด้วยการแย่งชิงบัลลังก์ในระหว่างชนชั้นผู้ปกครอง เป็นผลทำให้อาณาจักรอันกว้างใหญ่ต้องแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ และแปรเปลี่ยนจากความเข้มแข็งสู่ความอ่อนแอ รัฐเล็กรัฐน้อยก็แยกกันปกครองตนเองไม่ขึ้นต่อกัน ดินแดนและหัวเมืองที่เคยยอมสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรตาตาร์ก็ก่อการกบฏแข็งเมืองเพื่อแยกดินแดนและปรารถนาเอกราช ส่วนหนึ่งจากรัฐที่เคยสวามิภักดิ์และก่อการกบฏแข็งเมืองก็คือรุสเซีย ซึ่งปฏิเสธที่จะจ่ายบรรณาการและเริ่มรบพุ่งกับตาตาร์ในปีฮ.ศ.885/คศ.1480 ด้วยการนำทัพของเจ้าครองนครรัฐมอสโคว์ ซึ่งกำลังเริ่มสร้างอาณาจักรที่เข้มแข็งของตนในเวลานั้น

 

        นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อาณาจักรแห่งนี้ (มอสโคว์) ก็เริ่มปรากฏขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์โลกและเติบใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ พวกคริสเตียนซึ่งมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับผู้ปกครองของรัสเซียและคอนสแตนติโนเปิ้ลก็มีบทบาทสำคัญในการยุยงให้พวกรุสเซียทำการแก้แค้นชาวมุสลิมตาตาร์ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมศาสนากับชาวอุษมานียะห์ ซึ่งพวกอุษมานียะห์ได้คุกคามต่อบัลลังก์ของอาณาจักรไบเซนไทน์ และชาวมุสลิมตาตาร์ก็ย่อมตกเป็นจำเลยอย่างหลีกไม่พ้นจากผลพวงของการที่ชาวมุสลิมอุษมานียะห์สามารถเข้ายึดครองนครคอนสแตนติโนเปิ้ลในเวลาต่อมา (รัชสมัยซุลตอน มุฮำหมัด อัลฟาติฮ์)

 

        ดังนั้น พวกคริสเตียนสล๊าฟจึงตอบโต้อย่างรุนแรง ภายหลังการพิชิตนครคอนสแตนติโน-เปิ้ลโดยสงครามครูเสดครั้งใหม่ได้ปรากฏโฉมหน้าอย่างชัดเจนในรัชสมัยพระเจ้าซาร์อีวานที่ 3 ต่อเนื่องถึงรัชสมัยของอีวานที่ 4 ซึ่งถูกให้ฉายานามว่า “อีวาน จอมโหด” เนื่องจากการเข่นฆ่าสังหารชาวมุสลิมเป็นว่าเล่น พระองค์ได้รุกรานดินแดนอิสลามและเข้าพิชิตแคว้น “กอซาก” ได้ในปีค.ศ.960 และผนวกแคว้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร ตลอดจนแคว้น “ซูฟาซ” ก็ถูกผนวกเข้ากับมอสโคว์ นอกจากนี้ก็ยังมีแคว้นมารี, มูดอร์ฟ และอูฟา ซึ่งเป็นราชธานีของแคว้นบัชกีรในปีค.ศ.963


อีวาน จอมโหด

        และในปีค.ศ.968 กองทัพของซาร์ อีวาน จอมโหดก็บุกตะลุยเข้าสู่เมือง “ฮัจญ์ ตุรคอเฎาะห์” และยึดครองแคว้นอัดมูรต์ ด้วยการแผ่ขยายทางการทหารเช่นนี้ พระองค์ก็สามารถผนวกรวมเอาดินแดนอิสลามซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างมอสโคว์จรดเทือกเขาอูราลทางทิศตะวันออกและทะเลแคสเบียนทางทิศใต้ (อัลค่อซัร) ซึ่งรวมๆ แล้วมีอาณาบริเวณพรมแดนทั้งหมดเท่ากับดินแดนอิรัก ดินแดนที่พระองค์ยังไม่ได้ยึดครองก็คงเหลือเพียงพรมแดนทางใต้และคาบสมุรไครเมีย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า พวกรุสเซียสามารถเข้ายึดครองดินแดนของชาวมุสลิมตาตาร์ได้อย่างไร?

 

        เราได้กล่าวมาก่อนแล้วว่า เอกภาพและความเป็นหนึ่งเดียวของชาวมุสลิมคือ หนทางเดียวเท่านั้นที่จะสามารถปกป้องรักษาดินแดนอิสลามให้รอดพ้นจากการคุกคามของศัตรูอิสลาม ในทำนองเดียวกันเอกภาพของชาวมุสลิมยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในหมู่พลเมือง พวกกษัตริย์ (ซาร์) รุสเซียไม่สามารถเข้ายึดครองดินแดนของชาวมุสลิมตาร์ตาร์ได้ นอกจากวันที่ความขัดแย้งและการสู้รบในระหว่างกันเองได้คืบคลานเข้ามาเท่านั้น

 

        อาณาจักรของรุสเซียได้ถือว่าอาณาจักรของตนเป็นผู้สืบทอดมรดกของอาณาจักรไบเซน-ไทน์ที่ล่มสลายและยังถือว่าพวกตนเป็นผู้พิทักษ์ชาวคริสเตียน ออธอร์ดอกซ์ ความรู้สึกของอาณาจักรรุสเซียเช่นนี้เกิดขึ้นหลังจากที่พบว่าพวกตนมีความเข้มแข็งและแผ่อำนาจปกคลุมดินแดนในภูมิภาคนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

 

        สงครามครูเสดจึงเริ่มต้นอีกระลอกอย่างชัดเจน รุสเซียก็ประกาศสงครามกับอิสลามและถือว่าชาวมุสลิมทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของโลกตกเป็นผู้รับผิดชอบต่อการล่มสลายของอาณาจักรไบเซนไทน์ และการพิชิตนครคอนสแตนติโนเปิ้ลอดีตราชธานีของไบเซนไทน์ พวกรุสเซียไม่เพียงแต่ยึดครองดินแดนของชาวมุสลิมตาตาร์เท่านั้น หากแต่ยังได้ใช้กำลังขับไล่มุสลิมจากเขตพรมแดนที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติซึ่งพวกเขาเคยยึดครองอยู่ และนำพลเมืองชาวรุสเซียเข้ามาอาศัยอยู่แทน

 

        อย่างไรก็ตามชาวมุสลิมซึ่งต้องรอนแรมจากมาตุภูมิของตนด้วยการไล่บดขยี้ของกองทัพรุสเซียก็ได้เผยแผ่คำสอนของอิสลามตามรายทางที่พวกเขาได้ผ่านไป ด้วยการติดต่อสัมพันธ์กับพลเมืองที่พวกเขาได้พบปะในเส้นทางเหล่านี้ ยังผลให้พวกรุสเซียมีความมุ่งมั่นทีจะชักจูงชาวมุสลิมตาตาร์ให้เข้ารีตในศาสนาคริสต์นิกายออธอร์ดอกซ์ แต่ชาวมุสลิมก็ยืนกรานในความศรัทธาต่อศาสนาอิสลามอย่างมั่นคง อันเป็นเรื่องที่ทำให้พวกรุสเซียต้องปรับเปลี่ยนวิธีการในการปฏิบัติกับชาวมุสลิมตาตาร์ โดยยอมให้พลเมืองตาตาร์ยังคงอยู่ในดินแดนของพวกเขาโดยเฉพาะ และโดดเดี่ยวไม่ให้ติดต่อกับพลเมืองอื่นๆ แต่ทว่าการกระทำเช่นนี้กลับเป็นผลทำให้ศาสนามีความแพร่หลายอีกเช่นกัน

 

พวกเขา (เหล่าผู้ปฏิเสธ) มุ่งปรารถนาเพื่อดับรัศมีของพระองค์อัลลอฮฺด้วยปากของพวกเขา และพระองค์อัลลอฮฺทรงทำให้รัศมีของพระองค์มีความสมบูรณ์ ถึงแม้พวกชนปฏิเสธจะชิงชังก็ตามที) (บทอัซซอฟ พระบัญญัติที่ 8)

 

        พวกรุสเซียมีความเชื่อว่าไม่มีทางที่จะปล่อยให้ชาวมุสลิมอยู่ในดินแดนของรุสเซียได้ นอกเสียจากเมื่อชาวมุสลิมได้ละทิ้งศาสนาของพวกเขาแล้วเท่านั้น สงครามครูเสดจึงได้ดำเนินต่อไปในดินแดนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง เป้าหมายของพวกรุสเซียก็คือ
        1. ยึดครองดินแดนของชาวตาตาร์
        2. เปลี่ยนพลเมืองในดินแดนนี้ให้เป็นชาวสล๊าฟ อันหมายถึง กลุ่มชนที่เชื่อในศาสนาคริสต์นิกายออธอร์ดอกซ์
        3. ประกาศสงครามกับศาสนาอิสลาม
        4. ยึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล (ซึ่งตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอุษมานียะห์และเป็นราชธานีของจักรวรรดิอุษมานียะห์ ในนามอิสลามบูล, อิสตันบูล (นครอิสลาม) และยึดครองช่องแคบดาร์ดาแนล และบอสฟอรัสของอุษมานียะห์ เพื่อหาทางออกจากทะเลดำสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งมีกระแสน้ำอุ่น ซึ่งถ้าหากยึดครองดินแดนของอุษมานียะห์ได้แล้วพวกรัสเซียก็สามารถกระจายความแออัดของพลเมืองที่กระจุกในรัสเซียสู่ดินแดนแห่งใหม่นี้ได้

 

         แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว เป้าหมายของพวกรุสเซียอันแท้จริงนั้นเกิดจากความชิงชังของพวกครูเสดที่ต้องการแก้แค้นชาวมุสลิมตาตาร์ซึ่งเป็นแนวร่วมกับชาวอุษมานียะห์ในความเชื่ออันเป็นหนึ่งเดียว (อัลอุษมานียูน วัรฺรูซฺ หน้า52) ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องของผลพลอยได้ที่รองลงมา

 

        ส่วนท่าทีของยุโรปนั้นเป็นท่าทีของผู้เฝ้าดูหรือผู้ชมนั่นเอง เพราะยุโรปเห็นว่าในการที่รัสเซียมีชัยชนะต่อชาวมุสลิมนั้นย่อมเป็นการทำให้ผลประโยชน์ของพวกเขาเป็นความจริง และเป็นการประกันต่อผลประโยชน์นั้น นอกจากนี้พวกยุโรปยังถือว่าชัยชนะของรุสเซียต่อชาวมุสลิมนั้นเป็นสิริมงคลยิ่งนัก เพราะเป็นชัยชนะของศาสนาคริสต์อันเป็นความเชื่อของพวกเขา (อัลมุสลิมูน ตะฮ์ต้า ซัย ต้อเราะห์ อัรรูซ หน้า 53)

 

        นี่คือเป้าหมายอันเป็นจิตวิญญาณของพวกครูเสดซึ่งทำให้พวกคริสเตียนมีเอกภาพ ถึงแม้ว่าในระหว่างคริสเตียนกลุ่มต่างๆ จะมีความขัดแย้งกันก็ตาม ดังนั้นการทำให้มุสลิมเกิดความอ่อนแอ การเข่นฆ่า และขับไล่ชาวมุสลิมออกจากดินแดนของพวกเขาด้วยน้ำมือของพวกรุสเซียจึงเป็นเรื่องที่ยุโรปตอบรับด้วยความยินดี เพราะนั่นเท่ากับทำให้ศาสนาอิสลามอ่อนแอ

 

        เรื่องได้ดำเนินจนถึงที่สุด บรรดาซาร์รัสเซียได้ออกบัญญัติห้ามถือหรือเข้ารีตศาสนาอื่นที่ขัดกับความเชื่อของคริสตจักรของออธอร์ดอกซ์และบังคับให้ชนเผ่ามุสลิมเข้ารีตในศาสนาคริสต์ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชนเผ่าในแคว้นชูฟาซ

 

        กฎหมายอาญาของรุสเซียได้กำหนดบทลงโทษที่รุนแรงต่อบรรดาผู้ที่ออกนอกรีตของคริสตจักรออธอดอกซ์และบุคคลใดที่ถูกกล่าวหาว่าเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามก็จะถูกลงโทษอย่างรุนแรงเฉียบขาด

 

        ชาวมุสลิมในอาณาจักรของชนชาติรุสเซียจึงมีชีวิตเยี่ยงทาสและถูกปฏิบัติในฐานะพลเมืองชั้น 2 หรือ 3 นอกจากนี้คณะมิชชันนารีออธอดอกซ์ยังสามารถดำเนินการเผยแพร่ในหมู่บ้านและ หัวเมืองที่มีชาวมุสลิมได้โดยสะดวก

 

        เพราะอะไรจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ พวกเขามิได้ทำความผิดอันใดนอกจากพวกเขาเป็นมุสลิมเท่านั้น!!
        จากคำสอนที่ว่าด้วยเรื่องเกียรติภูมิซึ่งชาวมุสลิมได้เรียนรู้จากหลักคำสอนของอิสลาม ได้ทำให้ชาวมุสลิมจำต้องก่อการลุกฮือหลายต่อหลายครั้ง ที่สำคัญที่สุดคือการลุกฮือในแคว้นบัชกีร ซึ่งเริ่มต้นในปี ฮ.ศ.1187/ค.ศ.1773 แต่การปฏิวัติลุกฮือครั้งนั้นก็ล้มเหลวและถูกปราบปรามอย่างรุนแรง และไร้ความปรานีเหมือนกับการลุกฮือทุกครั้งที่ผ่านมา บรรดามัสยิดถูกทำลายจนราบคาบ ศูนย์กลางทางวิชาการของอิสลามถูกย่ำยี

 

        แต่กระนั้นพวกรุสเซียก็มิสามารถทำลายล้างอิสลามในภูมิภาคดังกล่าว และกีดขวางการแพร่หลายของอิสลามได้ รัศมีและความสว่างแห่งหลักธรรมของอิสลามก็ยังคงสว่างและเจิดจำรัสอยู่ท่ามกลางความมืดมิดนั้น ค้อนเคียวของพวกรุสเซียก็มิอาจดับรัศมีของอิสลามได้เลย

 

        ทั้งนี้เพราะความศรัทธานั้น ดาบหรืออาวุธอันใดก็มิสามารถพรากความศรัทธาจากหัวใจได้ น้ำมือของมนุษย์ก็ย่อมมิอาจหยั่งถึงก้นบึ้งแห่งหัวใจได้ บุคคลทุกคนที่ได้ยอมรับอิสลามในดินแดนดังกล่าวย่อมเป็นบทเรียนการต่อสู้ทุกครั้งย่อมเป็นอนุสติ และในความยืนหยัดอย่างมั่นคงย่อมมีความเร้นลับ และในทุกๆ ความทุกข์เข็ญย่อมเป็นการเตือนและข้อคิดเสมอ (อัลมุสลิมูน ตะฮ์ตา อัซซัยตะเราะห์ หน้า 53,78)