กรณีพิพาทระหว่างท่านคอลีฟะฮฺ อะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ) และท่านมุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยาน (ร.ฎ)

الحمدلله والصلاة والسلام على رسول الله وعلى آله وصحبه أجمعين وبعد

ช่วงการปกครองระบอบคิลาฟะฮฺ ภายหลังท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม)  นับแต่ปี ฮ.ศ. 11 – ฮ.ศ. 40 ซึ่งกินระยะเวลา 30 ปี ตามที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม) เคยระบุไว้ในสุนนะฮฺของท่านในหมวดดะลาอิลุ้ลนุบูวะฮฺ มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เช่น

การดำรงตำแหน่งของเคาะลีฟะฮฺอบูบักร อัศศิดดีก (ร.ฎ.) การทำสงครามกับอะฮฺลุรฺริดดะฮฺ การดำรงตำแหน่งของเคาะลีฟะฮฺ อุมัร อัลฟารูก (ร.ฎ.) สมรภูมิ อัลกอดิสียะฮฺ อันเป็นความปราชัยของจักรวรรดิเปอร์เซีย, สมรภูมิอัล-ยัรมูก, อันเป็นความปราชัยของจักรวรรดิไบเซนไทน์, การพิชิตนครอัล-กุดสฺ , การลอบสังหารท่านเคาะลีฟะฮฺ อุมัร อัล-ฟารูก (ร.ฎ.) ในปีฮ.ศ. 23 / ค.ศ.644,

การดำรงตำแหน่งของเคาะลีฟะฮฺ อุษมาน ซุนนูรอยนฺ (ร.ฎ.), การพิชิตแอฟริกาเหนือ, การรวบรวม กิรออะฮฺของอัล-กุรอาน, การลอบสังหาร เคาะลีฟะฮฺ อุษมาน (ร.ฎ.) ในปีฮ.ศ. 35/ ค.ศ. 656 , การดำรงตำแหน่งของเคาะลีฟะฮฺ อาลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.), สมรภูมิอูฐ ปีฮ.ศ.36 / ค.ศ.656 ,สมรภูมิศิฟฟีน ปี ฮ.ศ. 37 / ค.ศ. 657, การตัดสินข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ (อัต-ตะหฺกีม) และการลอบสังหารท่านเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) ปีฮ.ศ.40 / ค.ศ. 661 เป็นต้น

ดูเหมือนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) นั้น จะเป็นช่วงวิกฤตที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ยุคต้นอิสลามซึ่งเป็นผลพวงมาจากความวุ่นวายในช่วงปลายสมัยของเคาะลีฟะฮฺ อุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) และเป็นจุดเริ่มต้นอย่างชัดเจนของประดาปัญหาทั้งปวงตลอดสมัยการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่าน อะลี (ร.ฏ.) เพราะก่อนหน้านั้นรัฐอิสลามในระบอบคิลาฟะฮฺ มิได้มีปัญหาภายในที่รุนแรงเฉกเช่นในสมัยของเคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.)

บรรดาเศาะหาบะฮฺก่อนหน้านั้น ตลอดจนประชาคมมุสลิมในรุ่นตาบีอีนยังคงรักษาเสถียรภาพและความเป็นปึกแผ่นของรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺเอาไว้อย่างมั่นคง แต่สถานการณ์ได้แปรเปลี่ยนไปภายหลังการลอบสังหารเคาะลีฟะฮฺ อุษมาน (ร.ฎ.) การเข้ามาของท่านอะลี  (ร.ฎ.) ในฐานะ เคาะลีฟะฮฺ ในช่วงเวลานั้น ( ฮ.ศ. 35 – ฮ.ศ. 40) จึงถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดในการสืบสานภารกิจของเหล่าเคาะลีฟะฮฺก่อนหน้าท่าน

สถานการณ์ที่อืมครึมและสุ่มเสี่ยงย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญที่เคาะลีฟะฮฺ อะลี (ร.ฎ.) ต้องเผชิญกับมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺของท่านอะลี (ร.ฎ.) ในเวลานั้น จะชอบด้วยหลักนิติธรรมอิสลาม ว่าด้วยรัฐศาสตร์การปกครองและในเวลานั้นไม่มีเศาะหาบะฮฺท่านใดจะมีความเหมาะสมยิ่งไปกว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ในการเป็นเคาะลีฟะฮฺอีกแล้วก็ตาม

แต่ดูเหมือนว่า สถานการณ์มิได้เป็นใจแก่ท่านอย่างที่ควรจะเป็น มีข้อจำกัดมากมายและซับซ้อนซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของท่านเคาะลีฟะฮฺ และเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ที่ท่านเคาะลีฟะฮฺ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมันแต่อย่างใดเลย หากแต่ท่านเคาะลีฟะฮฺกลับต้องรับ ผลพวงเหล่านั้นโดยตรง ผลพวงที่ว่านี้ก็คือ การสังหารท่านเคาะลีฟะฮฺ อุษมาน อิบนุอัฟฟาน (ร.ฎ.) ซึ่งกลายเป็นข้อเรียกร้องสำคัญของเศาะหาบะฮฺบางส่วน ในการนำเอาผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีความและกิศอศตามโทษานุโทษที่ก่อเอาไว้ จริงๆแล้ว บรรดาเศาะหาบะฮฺในขณะนั้นมีความเห็นในเรื่องนี้ต่างกัน

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า สิ่งแรกที่ประชาคมมุสลิมโดยการนำของ เคาะลีฟะฮฺต้องดำเนินการก็คือ การกิศอศผู้กระทำผิด

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า เสถียรภาพและความเป็นปึกแผ่นคือสิ่งที่สมควรยิ่งกว่า และจำต้องอดทนรอจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายแล้วค่อยดำเนินการเอาผิดกับเหล่าอาชญากรให้ถึงที่สุด

ฝ่ายที่สามเห็นว่า การที่เคาะลีฟะฮฺ อุษมาน (ร.ฎ.) ต้องทนแบกรับการปิดล้อมที่อธรรมนั้นก็เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งชีวิตของผู้คน และมิให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายมากไปกว่านั้น จึงเป็นเรื่องสมควรสำหรับบุคคลในขณะนั้นที่ต้องสงวนท่าทีไม่เข้าร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่มีความเห็นต่างกัน โดยถือเอาบรรดา อัล-หะดีษ ที่ระบุห้ามจากการสู้รบในยามที่เกิดฟิตนะฮฺ เป็นสรณะ  (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ใน “ชัรหุ เศาะฮีหฺ มุสลิม” ; อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 15 หน้า 149 )

สิ่งที่รับรู้และเห็นพ้องกันในหมู่นักรายงานและนักประวัติศาสตร์ก็คือ การพิพาทระหว่างท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) กับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ก็เหมือนกับการพิพาทระหว่างท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ฝ่ายหนึ่งกับท่านฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.), ท่านอัซซุบัยรฺ (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฏ.) อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งสาเหตุของการพิพาทเกิดจากการเรียกร้องให้มีการกิศอศเหล่าทรชนที่สังหารท่านเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) โดยเร็ว  และการที่บุคคลทั้ง 3  ออกไปยังเมืองอัล-บัศเราะฮฺก็มีจุดมุ่งหมายในเรื่องนี้ ( อัฏเฏาะบะรียฺ ; ตารีค อัรรุสุล วัลมุลูก เล่มที่ 4 หน้า 449-450 ตรวจทานโดย มุฮัมมัดอบุลฟัฎลฺ อิบรอฮีม ; ไคโร ดารุลมะอาริฟ พิมพ์ครั้งที่ 4 1979 )

กล่าวได้ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺ (ร.ฎ.) มีความเห็นตรงกันต่อกรณีการดำเนินคดีกิศอศกับบรรดาผู้ร่วมสังหารท่านเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) แต่ความเห็นที่ต่างกันของบรรดาเศาะหาบะฮฺอยู่ในประเด็นที่ว่าควรดำเนินคดีโดยเร็วเสียก่อนหรือควรผัดผ่อนไปก่อนตราบเมื่อสถานการณ์มีความเหมาะสมจึงค่อยดำเนินคดี

ฝ่ายท่านฏอลหะฮฺ อัซซุบัยรฺ , ท่านหญิงอาอิชะฮฺ และท่านมุอาวียะฮฺเห็นว่าต้องเร่งรัดคดีให้ถึงที่สุด บรรดาอาชญากรต้องถูกลงโทษนับแต่เบื้องแรก ในขณะที่เคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) และผู้ที่สนับสนุนท่านเห็นว่าควรประวิงเวลาออกไปก่อน จนกว่าศูนย์อำนาจของเคาะลีฟะฮฺจะมีเสถียรภาพมั่นคง เมื่อสถานการณ์เป็นใจแล้วจึงให้บรรดาทายาทของเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีความตามขั้นตอน เพราะบรรดาผู้กระทำผิดมีเป็นจำนวนมาก และเป็นคนของเผ่าต่างๆ

ทั้งนี้หากเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้คนจำนวนมากเหล่านี้ โดยไม่มีการผ่านขั้นตอนวิธีพิจารณาคดีความนับจากการฟ้องร้องของเหล่าทายาทของเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) ต่อหน้าเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) การสอบพยานและการตัดสินคดีความด้วยการกิศอศ แน่นอนการดำเนินการที่ไม่ผ่านขั้นตอนดังกล่าวย่อมนำไปสู่มิคสัญญีและความวุ่นวายจากสงครามกลางเมืองที่อาจมีผู้บริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมาก เหตุนี้ความเห็นของท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบด้วยหลักการมากว่าความเห็นของฝ่ายที่มีเศาะหาบะฮฺทั้ง 4 ท่านเป็นผู้นำในการเรียกร้อง

อย่างไรก็ตามความเห็นของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นความเห็นอันเกิดจากการวิเคราะห์ ( อิจญติฮาด) ซึ่งอาจจะถูกต้องหรือผิดพลาดก็ได้ ดูเหมือนว่า ฝ่ายที่เรียกร้องให้เร่งรัดคดีมีความเชื่อและเข้าใจว่า การสังหารท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เป็นความผิดที่ใหญ่หลวง และการขจัดสิ่งที่ผิดมหันต์นั้น เป็นสิ่งที่ผู้มีความสามารถกระทำได้ ในฐานะฟัรฎูกิฟายะฮฺ โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอิมาม

ซึ่งจริงๆ แล้วการขจัดสิ่งที่ผิดมหันต์นี้ เป็นเรื่องที่ผูกพันอยู่กับหลักการกิศอศกับผู้กระทำผิด ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากอิมามตลอดจนต้องผ่านกระบวนการฟ้องร้องของทายาทผู้ที่ถูกสังหารเสียก่อน จึงจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดได้ การดำเนินการกิศอศโดยไม่ผ่านขั้นตอนดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้กระทำตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม ( อัล-กุรฏุบียฺ ; อัล-ญามิอฺ ลิอะหฺกาม อัล-กุรอาน เล่มที่ 2 หน้า 256 )

จึงกล่าวได้ว่าบรรดาฝ่ายที่เรียกร้องต่างก็เป็นผู้วิเคราะห์ (มุจญ์ตะฮิด) เพียงแต่วิเคราะห์พลาดในการตีความ (ตะอฺวีล) รูปคดี และได้รับอานิสงค์ในการวิเคราะห์เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์และท่าทีของท่านฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.) และท่านอัซซุบัยรฺ (ร.ฎ.) ในเรื่องนี้มีความใกล้เคียงกับความถูกต้องมากว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ใน 4 ประเด็นด้วยกันคือ

1)  บุคคลทั้ง 2 ได้ให้สัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ) แก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ด้วยความสมัครใจพร้อมกับยอมรับถึงความประเสริฐของท่านอะลี (ร.ฎ.) – ดู อัล-มุศอนนัฟ ; อิบนุ อะบีชัยบะฮฺ เล่ม15 หน้า271-274 – แต่ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ยังมิได้ให้สัตยาบันแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ถึงแม้ว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) จะยอมรับถึงความประเสริฐของท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ตาม  (อัฏเฏาะบะรียฺ ; ตารีค อัร-รุสุล เล่มที่4 หน้า 438 )

2 ) สถานภาพอันสูงส่งของบุคคลทั้งสองในอิสลามและในหมู่ประชาคมมุสลิม ส่วนท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ไม่ได้มีสถานภาพเท่าเทียมบุคคลทั้งสอง ซึ่งเป็นกลุ่มเศาะหาบะฮฺรุ่นแรกที่เข้ารับอิสลามและเป็นหนึ่งใน10 บุคคลที่ได้รับแจ้งข่าวดีด้วยสวนสวรรค์ ส่วนท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นมุสลิมในช่วงการพิชิตนครมักกะฮฺหรือก่อนหน้านั้นเพียงเล็กน้อย

3 ) บุคคลทั้งสองมีเจตจำนงในการสังหารพวกที่ก่อการกบฏต่อท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เท่านั้น มิได้ประสงค์จะทำสงครามกับท่านอะลี(ร.ฎ.) และฝ่ายของท่านในสมรภูมิอูฐ แต่เหตุที่มีการปะทะกันเป็นผลมาจากแผนการของกลุ่มอัส-สะบะอียะฮฺ ที่มีอับดุลลอฮฺ อิบนุ สะบะอฺ เป็นผู้นำ ในขณะที่ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ยืนกรานต่อการสู้รบกับท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ในสมรภูมิศิฟฟีน ( อัฏ-เฏาะบะรียฺ , ตารีค อัร-รุสุล เล่มที่5 หน้า 242 ; อบูหะนีฟะฮฺ อัด-ดัยนูรียฺ : อัล-อัคบารฺ อัฏ-ฏิวาลฺ หน้า 162 )

4 ) บุคคลทั้งสองมิได้กล่าวหาท่านอะลี (ร.ฎ.) ว่า มีท่าทีรอมชอมในการดำเนินการกิศอศกับเหล่าผู้สังหารท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ( อัฏ-เฏาะบะรียฺ อ้างแล้ว เล่มที่ 4 หน้า 454 , 462 และ464 ) ส่วนท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.)  และฝ่ายของท่านกล่าวหาท่านอะลี (ร.ฎ.) ในเรื่องดังกล่าว ( อ้างแล้วเล่มที่ 4 หน้า 444 , อิบนุ กะษีร : อัล-บิดายะฮฺ เล่มที่ 7 หน้า 259 )

ดังนั้นการที่มีบุคคลกล่าวว่า สิ่งที่ปลุกเร้าให้บุคคลทั้งสองออกไปยังเมืองอัล-บัศเราะฮฺ คือการที่บุคคลทั้งสองมีความทะเยอทะยานในตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ และต้องการปลุกปั่นผู้คนด้วยสิ่งดังกล่าวย่อมเป็นความผิดพลาด และค้านกับข้อเท็จจริง ( อัชชัยคฺ อัล-มุฟีด ซึ่งเป็นชีอะฮฺได้กล่าวหาบุคคลทั้งสองในตำรา กิตาบ อัล-ญะมัล หน้า 61)  เพราะบุคคลทั้งสองและท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) มิได้มีความต้องการแย่งชิงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺจากท่านอะลี (ร.ฎ.) และมิได้เรียกร้องให้กับผู้หนึ่งผู้ใดในการดำรงตำแหน่งแทนท่านอะลี (ร.ฎ.) ทั้งหมดเพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับ ท่านอะลี (ร.ฎ.) ในการประวิงเวลาต่อการดำเนินคดีกับเหล่าผู้สังหารท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และละทิ้งการกิศอศเท่านั้น ( อิบนุ หะญัร : อัลฟัตหฺ เล่มที่ 13 หน้า 56 )

ในทำนองเดียวกันมีเรื่องกล่าวขานกันอย่างแพร่หลายนับแต่ยุคอดีตและปัจจุบันว่า การพิพาทระหว่างท่านอะลี (ร.ฎ.) กับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) มีสาเหตุมาจากการที่ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) มีความละโมบในตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ และการที่ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ก่อการดื้อแพ่งต่อท่านอะลี (ร.ฎ.) และไม่ยอมให้สัตยาบันนั้นมีเหตุมาจากการปลดท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ออกจากตำแหน่งผู้ปกครองแคว้นชาม

(มีรายงานปรากฏในตำรา อัล-อิมามะฮฺ วัสสิยาสะฮฺ ซึ่งอ้างกันว่าเป็นงานเขียนของท่านอิบนุ กุตัยบะฮฺ อัด-ดัยนูรียฺ ระบุว่า ท่านมุอาวียะฮฺได้อ้างการเป็นเคาะลีฟะฮฺ (ดูในตำราเล่มนี้ เล่มที่1 หน้า 113 ดร.อับดุลลอฮฺ อุสัยลานได้วิเคราะห์เอาไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อ “อัล-อิมามะฮฺ วัสสิยาสะฮฺ ฟี มีซาน อัต-ตะหฺกีก อัล-อิลมิยฺ” ด้วยข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ยืนยันว่าตำราเล่มนี้มิได้ถูกเขียนโดยท่านอิบนุกุตัยบะฮฺ แต่เป็นตำราที่ถูกเขียนขึ้นโดยผู้อื่น และกล่าวตู่เจือสมว่าเขียนโดยท่านอิบนุกุตัยบะฮฺ ดูรายละเอียดสำคัญในเรื่องนี้จากตะหฺกีก มะวากิฟ อัศเศาะหาบะฮฺ ฟิล ฟิตนะฮฺ ; ดร.มุฮัมมัด อัมหะซูน เล่มที่ 2 หน้า 143-145 สำนักพิมพ์ อัล-เกาษัร. ริยาฎ ,1994 )

แต่ในความเป็นจริงแล้วการขัดแย้งระหว่างท่านอะลี (ร.ฎ.) และมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) นั้นเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับความจำเป็นในการให้สัตยาบันของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และผู้ให้การสนับสนุนแก่ท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ก่อนการดำเนินคดีกิศอศกับบรรดาอาชญากร หรือหลังจากนั้นกันแน่ต่างหาก กล่าวคือ ฝ่ายท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และพลเมืองแคว้นชามมีความเห็นว่าท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) จะต้องชำระคดีความให้ถึงที่สุดเสียก่อนแล้วพวกเขาก็จะเข้าสู่กระบวนการให้สัตยาบันแก่ท่านเคาะลีฟะฮฺหลังจากนั้น (อัฏ-เฏาะบะรียฺ ; อ้างแล้ว 4/438)

ทั้งนี้เพราะพวกเขาได้กำหนดท่าทีอย่างชัดเจนแล้วนับตั้งแต่วินาทีแรกที่ท่าน อันนุอฺมาน อิบนุ บะชีรฺ (ร.ฎ.) นำเสื้อของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ที่เปื้อนเลือดพร้อมด้วยนิ้วมือของท่านหญิงนาอิละฮฺ ภรรยาของท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ไปถึงแคว้นชาม และวางเสื้อตัวนั้นไว้บนมิมบัรในนครดามัสกัสเพื่อให้ผู้คนได้เห็น ตลอดจนแขวนนิ้วมือของท่านหญิงนาอิละฮฺ เอาไว้กับสาบเสื้อตัวนั้น ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) จึงได้เรียกร้องให้พลเมืองแคว้นชามแก้แค้นให้แก่ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และดำเนินการกิศอศกับเหล่าอาชญากร ซึ่งในการเรียกร้องนี้มีเศาะหาบะฮฺกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมกับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) อีกด้วย ( อัฏ-เฏาะบะรียฺ ; อ้างแล้ว 4/562 , อิบนุ กะษีร ; อัล-บิดายะฮฺ 7/248)

สิ่งที่เป็นหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้ ซึ่งทำให้ข้อกล่าวหาที่มีต่อท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ตกไปคือการเจรจาระหว่างสองฝ่ายในตำบลศิฟฟีน ท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ได้ส่งท่านบะชีร อิบนุ อบีมัสอูด อัลอันศอรียฺ ไปเจรจากับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) โดยตรง

ท่านบะชีร ได้กล่าวกับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : “ฉันเรียกร้องให้ท่านมีความยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของท่าน และตอบรับลูกลุงของท่านยังสิ่งที่เขาเรียกร้องท่านสู่ความถูกต้อง นั่นย่อมเป็นสิ่งที่ปลอดภัยยิ่งนักในศาสนาของท่านและดีที่สุดสำหรับท่านในบั้นปลายแห่งการงานของท่าน”

ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) จึงกล่าวว่า :  “และเขา ( หมายถึงท่านอะลี ) จะละทิ้งเลือดของอุษมานกระนั้นหรือ? ไม่! ขอสาบานต่อพระผู้ทรงเมตตา ฉันไม่มีทางกระทำสิ่งนั้นแน่…” ( อัฏ-เฏาะบะรียฺ ; อ้างแล้ว 5/242 ) ยะหฺยา อิบนุ สุลัยมาน อัล-ญุอฺฟียฺ ระบุไว้ในตำรา “กิตาบศิฟฟีน” ด้วยสายรายงานที่ดีจากอบีมุสลิม อัล-เคาลานียฺ ว่า อบูมุสลิมได้กล่าวกับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.)ว่า : “ท่านจะยื้อแย่งอะลีในตำแหน่งคิลาฟะฮฺหรือว่าท่านเหมือนกับอะลี?

มุอาวียะฮฺกล่าวว่า :  “ไม่! แท้จริงฉันย่อมรู้ดีว่าอะลีประเสริฐกว่าฉัน และสมควรที่สุดต่อตำแหน่งนั้น แต่พวกท่านไม่รู้ดอกหรือว่าอุษมานถูกสังหารอย่างอยุติธรรม และฉันเป็นลูกลุงของอุษมาน เป็นทายาทของเขา ฉันจึงเรียกร้องหนี้เลือดของเขา พวกท่านจงไปหาอะลี และจงกล่าวกับเขาว่าให้เขาส่งมอบพวกที่สังหารอุษมานให้แก่เรา” แล้วอบูมุสลิมกับพวกจึงมาหาท่านอะลี และพูดกับเขา อะลีกล่าวว่า :  “ให้เขา ( มุอาวียะฮฺ ) เข้าสู่การสัตยาบันสิ ! เขาจะได้ฟ้องร้องคดีพวกนั้นยังฉัน” ทว่ามุอาวียะฮฺไม่ยอม…”  ( อิบนุ หะญัร อัลฟัตหฺ เล่มที่ 13 หน้า86 )

อิบนุ มุซาหิม กล่าวไว้ ในตำรา “วักอะฮฺ ศิฟฟีน”ของเขาว่า อบูมุสลิม อัลเคาลานีย์กล่าวกับมุอาวียะฮฺว่า :

“โอ้ มุอาวียะฮฺ! เรารู้มาว่าท่านตั้งใจจะทำศึกกับอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ ท่านจะต่อสู้กับอะลีได้อย่างไรกัน ทั้งๆที่ท่านไม่มีสถานภาพอันเก่าก่อน(ในอิสลาม) เหมือนอย่างอะลี ? ”มุอาวียะฮฺกล่าวว่า :  “ ใช่ว่าฉันจะกล่าวอ้างว่าฉันเสมอเหมือนด้วยอะลีในความประเสริฐก็หาไม่! แต่ว่าพวกท่านรู้หรือไม่ว่า อุษมานได้ถูกสังหารอย่างอยุติธรรม?”

พวกเขากล่าวว่า :  รู้สิ! มุอาวียะฮฺจึงกล่าวว่า : “เช่นนั้นเขาก็จงส่งมอบพวกที่สังหารอุษมานมาให้แก่เราเพื่อที่เราจะได้ยอมมอบเรื่องนี้  (การสัตยาบัน) แก่เขา” ( อิบนุ มุซาหิม : วักอะฮฺ ศิฟฟีน หน้า 97)

อัล-กอฎียฺ อิบนุ อัล-อะรอบียฺ ระบุว่าเหตุที่มีการสู้รบระหว่างพลเมืองชามกับพลเมืองอิรักนั้น กลับไปยังการมีท่าทีที่ต่างกันของทั้งสองฝ่าย พวกพลเมืองอิรักเรียกร้องให้มีการสัตยาบันต่อท่านอะลี (ร.ฎ.) และให้มีความเป็นปึกแผ่นในการปฏิบัติตามผู้นำ ส่วนพวกพลเมืองชาม เรียกร้องให้จัดการกับเหล่าผู้สังหารท่านอุษมาน (ร.ฎ.) และพวกเขากล่าวว่า : “เราจะไม่ให้สัตยาบันแก่ผู้ให้ที่พักพิงแก่พวกอาชญากร” ( อิบนุ อัล-อะรอบียฺ “อัล-อะวาศิม” หน้า 162 )

อิมาม อัล-หะรอมัยนฺ อัล-ญุวัยนียฺ กล่าวไว้ในตำรา “ลัมอุล-อะดิลละฮฺ” ว่า : แท้จริงมุอาวียะฮฺนั้น ถึงแม้ว่าท่านได้ทำการสู้รบกับท่านอะลี (ร.ฎ.) แต่มุอาวียะฮฺ ก็มิได้ปฏิเสธการเป็นอิมามของท่านอะลี (ร.ฎ.) และมิได้กล่าวอ้างการเป็นอิมามให้แก่ตัวของท่านเอง อันที่จริงมุอาวียะฮฺเพียงแต่ร้องขอตัวบรรดาผู้สังหารท่านอุษมาน โดยเข้าใจว่า ท่านเป็นฝ่ายถูก และท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นฝ่ายผิด ( อัล-ญุวัยนียฺ : ลัมอุลอะดิลละฮฺ ฟี อะกออิด อะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ หน้า 115)

ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ กล่าวว่า : “ แท้จริงมุอาวียะฮฺไม่เคยกล่าวอ้างการเป็นเคาะลีฟะฮฺและไม่มีการให้สัตยาบันแก่มุอาวียะฮฺเลย จนกระทั่งท่านอะลี (ร.ฎ.) ถูกลอบสังหาร มุอาวียะฮฺมิได้สู้รบกับอะลีในฐานะที่ตนเป็นเคาะลีฟะฮฺ และมิได้ถือว่าตนมีความเหมาะสมในตำแหน่งนั้นเลย และปรากฏว่ามุอาวียะฮฺก็ยืนยันถึงสิ่งดังกล่าว แก่ผู้ที่มาถามตน”  (มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา เล่มที่ 35/77)

อิบนุ ดัยซีลฺ ได้รายงานว่า ท่านอบู อัดดัรดาอฺและอบูอุมามะฮฺ(ร.ฎ.) ได้เข้าไปพบมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และกล่าวว่า :  “โอ้มุอาวียะฮฺ ! เหตุใดเล่าท่านจึงจะสู้รบกับบุคคลผู้นี้ ( หมายถึงอะลี )?  ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า : “เขาเป็นมุสลิมมาเก่าก่อนหน้าท่าน และบิดาของท่าน และเขามีความใกล้ชิดกับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม) มากกว่าท่าน อีกทั้งเขาก็มีสิทธิ์ต่อตำแหน่งนี้มากกว่าท่าน”

มุอาวียะฮฺกล่าวว่า : ฉันจะสู้รบกับเขาบนหนี้เลือดของอุษมาน และเขาให้ที่พักพิงแก่พวกที่สังหารอุษมาน ท่านทั้งสองจงไปหาและจงกล่าวกับเขาเถิดว่า : เขาจำต้องให้พวกเรากิศอศ พวกที่สังหารอุษมานเสียก่อน หลังจากนั้น ฉันนี่แหละจะเป็นบุคคลแรกจากพลเมืองชาม ที่จะให้สัตยาบันแก่เขา” (อิบนุ กะษีร : อัล-บิดายะฮฺ เล่มที่ 7/360) รายงานต่างๆข้างต้นบ่งชี้ว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) พร้อมด้วยผู้ให้การสนับสนุนท่านได้เรียกร้องหนี้เลือดของท่านอุษมาน(ร.ฎ.)

และท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ก็แสดงท่าทีชัดเจนต่อการเข้าสู่การให้สัตยาบันแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) เมื่อมีการลงโทษบรรดาผู้กระทำผิด หากสมมติว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ได้ยึดเอาเรื่องการกิศอศมาบังหน้าในการสู้รบกับท่านอะลี (ร.ฎ.) เนื่องจากมีความทะเยอทะยานในอำนาจ อะไรจะเกิดขึ้น หากว่าท่านอะลี(ร.ฎ.) สามารถดำเนินการลงโทษต่อบรรดาผู้กระทำผิดได้ตามคำเรียกร้อง แน่นอนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ก็คือท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ก็จำต้องยอมจำนนต่อท่านอะลี (ร.ฎ.) และให้สัตยาบันแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) อยู่ดีนั้นเอง

เพราะท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ได้ยึดมั่นในท่าทีของท่านต่อกรณีการเรียกร้องดังกล่าวนับแต่ต้น และบรรดาผู้ที่ร่วมรบกับท่านมุอาวียะฮฺ(ร.ฎ.) นั้นก็ทำการสู้รบบนหลักการของการกิศอศกับบรรดาผู้สังหารของท่านอุษมาน(ร.ฎ.) เช่นกัน ถ้าหากว่าท่านมุอาวียะฮฺ(ร.ฎ.) มีสิ่งอื่นแอบแฝงอยู่ในใจโดยไม่เปิดเผยให้รู้แต่แรก การมีท่าทีที่แอบแฝงเช่นนี้ก็จะต้องเผยออกมาในท้ายที่สุด และท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ) ก็จะต้องพบกับอุปสรรคต่างๆนาๆ ที่ทำให้ท่านไม่สามารถบรรลุสู่เป้าหมายที่ซ่อนเร้นเอาไว้ในใจหากว่าท่านมีความละโมบในตำแหน่งและอำนาจ ซึ่งท่านไม่มีสิทธิแต่อย่างใดในขณะนั้น

ประเด็นน่าคิดก็คือว่า สงครามระหว่างท่านอะลี(ร.ฎ.) กับท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ณ ตำบลศิฟฟีนนั้นเกิดขึ้นหลังจากสมรภูมิอูฐ และในวันสมรภูมิอูฐนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 10,000 คน ในฝ่ายของท่านอะลี (ร.ฎ.) 5,000 คน และในฝ่ายของท่านฏอลหะฮฺ(ร.ฎ.) และท่านอัซซุบัยรฺ(ร.ฎ.) 5,000 คน (อิบนุกะษีรฺ : อัล-บิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ 7/256)  ถ้าหากว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ประสงค์ที่จะแย่งชิงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺจากท่านอะลี (ร.ฎ.) จริงตามคำใส่ใคล้ก็ย่อมถือเป็นโอกาสที่เหมาะยิ่งในการช่วงชิงสถานการณ์ที่ได้เปรียบต่อท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ซึ่งสูญเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนถึง 5,000 คนหลังชัยชนะในสมรภูมิอูฐ ด้วยการยกทัพจากแคว้นชามของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.)เพื่อโจมตีกองทัพของท่านอะลี (ร.ฎ.) มิให้ตั้งรับทันหรืออย่างน้อยก็เตรียมทัพไว้รับมือของท่านอะลี(ร.ฎ.)เสียทันที  เมื่อรับรู้ถึงการปลดท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ. )ด้วยการแต่งตั้งสะฮฺล อิบนุ หะนีฟ แทนของเคาลีฟะฮฺอลี (ร.ฎ.) ก่อนหน้านั้นแล้ว (อิบนุกะษีรฺ ; อ้างแล้ว 7/240)

แต่ท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.)  ก็มิได้ทำการเคลื่อนไหวอันใดในเรื่องการศึกกับท่านเคาะลีฟะฮฺ (ร.ฎ.) การกลับกลายเป็นว่าท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) เป็นฝ่ายที่มีเจตนายกทัพจากอิรักมุ่งสู่แคว้นชามนับแต่ก่อนเกิดสมรภูมิอูฐเสียอีก (อิบนุกะษีรฺ ; อ้างแล้ว 7/245)  

เหตุนี้พลเมืองในแคว้นชามจึงพากันกล่าวว่า : “อันที่จริง เราสู้รบกับอะลีนั้นเป็นการสู้รบเพื่อป้องกันตนเองและดินแดนของเรา แท้จริงอะลีเริ่มทำสงครามกับเราก่อน เราจึงต้องตอบโต้เขาด้วยการทำสงคราม ซึ่งเรามิได้เริ่มก่อน และเราก็มิได้ละเมิดต่ออะลีแต่อย่างใด” ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ก็เป็นที่รู้กันในกองทัพของท่านอะลี(ร.ฎ.)เช่นกัน เพราะ อัล-อัชตัรฺ อัน-นะเคาะอียฺ กล่าวว่า : “แท้จริงพวกเขาย่อมจะมีชัยเหนือพวกเรา เพราะพวกเราเป็นฝ่ายเริ่มทำสงครามกับพวกเขาก่อน” (อัซซะฮฺบียฺ : อัล-มุนตะกอ มิน มินฮาญิล อิอฺติดาล หน้า 261 , 274 )

อย่างไรก็ตาม กรณีการพิพาทที่นำไปสู่การทำสงครามรบพุ่งระหว่างเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) กับฝ่ายของท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) ในสมรภูมิศิฟฟีน ตลอดจนฝ่ายของท่านฏอลหะฮฺ (ร.ฎ.) ท่านอัซซุบัยรฺ (ร.ฎ.) และท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ในสมรภูมิอูฐ ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นของการวินิจฉั ย(อิจญติฮาด) ที่มองต่างมุมกัน แต่ละฝ่ายมีการตีความ (ตะอฺวีล) ที่สนับสนุนท่าทีของฝ่ายตน

ถึงแม้ว่าการวินิจฉัยและการตีความของท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) จะมีความใกล้เคียงกับความถูกต้องและมีสิทธิอันชอบธรรมมากกว่าก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าถูกต้องอย่างสมบูรณ์ไปเสียทุกกรณี และอย่างน้อยการยอมรับคำเสนอแนะของท่านอัล-หะสัน (ร.ฎ.) บุตรชายของท่านอะลี (ร.ฎ.) ในกรณีการย้ายศูนย์อำนาจของเคาะลีฟะฮฺออกจากนครมะดีนะฮฺไปยังนครกูฟะฮฺ ซึ่งท่านอัล-หะสัน(ร.ฎ.)ไม่เห็นด้วยก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับท่านเคาะลีฟะฮฺ

ทั้งนี้เนื่องจากบรรดาผู้ที่ร่วมสังหารเคาะลีฟะฮฺอุษมาน(ร.ฎ.)นั้นได้ร่วมสมทบอยู่ในกองทัพของท่านอะลี (ร.ฎ.) โดยเฉพาะพลเมืองบัศเราะฮฺและกูฟะฮฺเป็นส่วนหนึ่งจากกลุ่มอาชญากรดังกล่าว ดังนั้นเมื่อท่านอะลี (ร.ฎ.)ย้ายศูนย์อำนาจไปยังอิรักในนครกูฟะฮฺก็ย่อมทำให้พวกนั้นมีความเข้มแข็งมากขึ้นไปอีก เนื่องด้วยการตะอัศศุบของบรรดาชนเผ่าของพวกเขา (อัซซะฮฺบียฺ : อัล-มุนตะกอฯ หน้า 235-236)

หรือคำเสนอแนะของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ในการให้ท่านอะลี (ร.ฎ.) คงตำแหน่งผู้ปกครองหัวเมืองเอาไว้เช่นเดิม จนกว่าจะเกิดเสถียรภาพที่มั่นคงเสียก่อน และให้รับรองการเป็นผู้ปกครองแคว้นชามของมุอาวียะฮ (ร.ฎ.) เอาไว้ดังเดิม ยิ่งไปกว่านั้นท่านอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) ยังห้ามท่านอะลี (ร.ฎ.) มิให้ยอมรับข้อเสนอของพวกที่ทำดีกับท่านอะลี (ร.ฎ.) ในการย้ายศูนย์อำนาจไปยังอิรัก และออกจากนครมะดีนะฮฺ แต่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ไม่เห็นด้วยกับคำเสนอแนะของท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ทั้งหมดข้างต้น (อิบนุกะษีรฺ: อัล-บิดายะฮฺ 7/239)

การสู้รบที่เกิดขึ้นทั้งในสมรภูมิอูฐและสมรภูมิศิฟฟีนตลอดจนการสู้รบกับพวกเคาะวาริจญฺนั้นเป็นที่มาของการวางกฎเกณฑ์นิติศาสตร์ว่าด้วยการสู้รบกับบรรดาผู้ละเมิด (กิตาลฺ อัล-บุฆอฮฺ) ซึ่งนักวิชาการระบุว่า : “หากไม่มีการสู้รบระหว่างท่านอะลี (ร.ฎ.) กับบรรดาผู้ขัดแย้งแล้วไซร้ แน่นอนแนวทางในการสู้รบกับชาวชุมทิศ (อะฮฺลุล-กิบละฮฺ) ย่อมไม่เป็นที่รู้จักเป็นแน่แท้” ( อัล-บากิลลานียฺ : อัต-ตัมฮีด ฟี อัรรอดดิ อะลัล มุลหิดะฮฺ หน้า 229 )

กระนั้นการสู้รบกับเคาะลีฟะฮฺของชนรุ่นสะลัฟศอลิหฺ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุคต้นทั้งในกรณีของสมรภูมิอูฐ และสมรภูมิศิฟฟีน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการวินิจฉัยและการตีความที่ต่างกัน ก็มิได้ทำให้บรรดาผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้นสิ้นสภาพจากการศรัทธาและความเป็นมุสลิมตลอดจนมิได้ทำให้พวกท่านเหล่านั้นสูญเสียสภาพของความเป็นผู้ผดุงธรรม (อัล-อะดาละฮฺ) แต่อย่างใด

ทั้งนี้ในอัลกุรอานได้ยืนยันรับรองถึงความมีศรัทธาของพวกเขาอยู่ดังเดิม ดังปรากฏในอายะฮฺ อัลกุรอาน ที่ว่า

وإن طائفتان من المؤمنين اقتتلوافأصلحوابينهما….الآية

“และหากว่า 2 กลุ่มจากเหล่าศรัทธาชนได้ทำการสู้รบกัน ดังนั้นพวกสูเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่าง 2 กลุ่มนั้นเถิด” ( อัล-หุญุรอต อายะฮฺที่19 )

ดังนั้นถึงแม้ว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และพลเมืองชามได้ทำการสู้รบกับท่านเคาะลีฟะฮฺ (ร.ฎ.) และได้ชื่อว่าเป็นผู้ละเมิด ( อัล-บุฆอฮฺ ) ก็ตาม พวกเขาก็ไม่ได้เป็นผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) เนื่องจากอัลกุรอานได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจน ถึงความศรัทธาและความเป็นพี่น้องผู้ร่วมศรัทธาของพวกเขาเอาไว้ ทั้งๆที่มีการสู้รบเกิดขึ้น (อัซซะฮฺบียฺ : อัล-มุนตะกอฯ หน้า 291, 292)

มีผู้ถามท่านเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) ถึงชาวสมรภูมิอูฐ ว่า : พวกเขาเป็นมุชริกหรือไม่?  ท่านอะลี(ร.ฎ.)  ตอบว่า : “พวกเขาหนีจากการชิริกต่างหาก!”  มีผู้กล่าวขึ้นอีกว่า : พวกเขาเป็นมุนาฟิกหรือไม่? ท่านอะลี (ร.ฎ.) ตอบว่า : “แท้จริงพวกมุนาฟิกจะไม่รำลึกถึงอัลลอฮฺนอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” มีผู้กล่าวขึ้นว่า : “พวกเขาคือใครเล่า?” ท่านอะลี (ร.ฎ.) ตอบว่า : “พวกเขาคือพี่น้องของเราที่ละเมิดต่อเรา” (อัล-บัยฮะกียฺ : อัสสุนัน อัล-กุบรอ เล่มที่8 หน้า 173 )

ส่วนกรณีสมรภูมิศิฟฟีน นั้น ท่านซัยดฺ อิบนุ อบีอัซซัรกออฺ รายงานจากญะอฺฟัร อิบนุ ซะบุรกอน จากมุอัมมัล อิบนุ อัล-อะศอม ว่า : ท่านอะลี (ร.ฎ.) กล่าวว่า : “บรรดาผู้ถูกสังหารของฉันและบรรดาผู้ถูกสังหารของมุอาวียะฮฺ อยู่ในสวนสวรรค์” ( อัซซะฮฺบียฺ ; สิยัร อะอฺลาม อันนุบะลาอฺ เล่มที่ 4 หน้า 302)

ท่านอัมมาร อิบนุยาสิร ( ร.ฎ.) ได้กล่าวถึงสมรภูมิศิฟฟินตามรายงานของซิยาด อิบนุอัล-หาริษ ว่า “ฉันอยู่เคียงข้างอัมมาร อิบนุยาสิร ที่ศิฟฟีน หัวเข่าทั้งสองฉันสัมผัสหัวเข่าทั้งสองของเขา แล้วชายคนหนึ่งก็กล่าวขึ้นว่า “ พวกพลเมืองชามเป็นผู้ปฏิเสธแล้ว” ท่านอัมมารจึงกล่าวว่า “พวกท่านอย่ากล่าวเช่นนั้น นบีของเราและนบีของพวกเขาเป็นคนเดียวกัน กิบละฮฺของเรากิบละฮฺของพวกเขาเป็นกิบละฮฺเดียวกัน แต่พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่ถูกฟิตนะฮฺ พวกเขาเบี่ยงออกจากความถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องต่อสู้กับพวกเขาเพื่อให้พวกเขากลับสู่ความถูกต้อง ( อิบนุ อบีชัยบะฮฺ ; อัลมุศอนนัฟ เล่มที่ 15 หน้า 294 )

ท่าทีของท่านอัมมาร ( ร.ฎ.) ที่มีต่อท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.) และพลเมืองชามบ่งชี้ว่าท่านรับรองสถานภาพความเป็นมุสลิมของชาวศิฟฟีน ในขณะเดียวกันก็ถือว่าชาวศิฟฟินที่ต่อสู้กับเคาะลีฟะฮฺอะลี (ร.ฎ.) เป็นฝ่ายที่ผิดพลาดในการวินิจฉัยและตีความจึงนับเป็นหน้าที่ในการต่อสู้กับชาวศิฟฟีนในประเด็นของการสู้รบกับบรรดาผู้ละเมิด ( อัลบุฆอฮฺ ) ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่อัลกุรอานได้วางเอาไว้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มชีอะอฺรอฟีเฎาะฮฺได้กล่าวหาและโจมตีท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.)ว่าเป็นกาฟิรด้วยการสู้รบกับท่านอะลี ( ร.ฎ.)

และดูเหมือนว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) จะตกเป็นเป้าในการโจมตีจากพวกชีอะฮฺมากที่สุดในบรรดาเศาะหาบะฮฺที่มีกรณีพิพาทกับท่านอะลี ( ร.ฎ.)- อับบาส อะลี อัลมูซาวีย์ได้กล่าวโจมตีท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.)  ด้วยข้อหาฉกาจฉกรรณ์ในหนังสือของเขาที่ชื่อ ชุบุฮาต เหาละ อัชชีอะฮฺ หน้า 131-142 และอาดิล อัลอะดีบ ในหนังสือของเขาที่ชื่อ อัลอะอิมมะฮฺ อัลอิษนาอะชัร หน้า73 เป็นต้นไป ซึ่งในบทความนี้คงไม่สามารถที่จะนำข้อมูลมาหักล้างได้เนื่องจากเรื่องนี้มีรายละเอียดมาก

แต่ถ้าจะกล่าวถึงข้อหักล้างสักหนึ่งประเด็นก็คงจะเพียงพอ กล่าวคือ  หากว่าท่านมุอาวียะฮฺ (ร.ฎ.) และพลเมืองชามเป็นพวกกลับกลอกที่ซ่อนเร้นการปฎิเสธเอาไว้ในใจและศรัทธาไม่เคยย่างกรายเข้าสู่จิตใจของท่านมุอาวียะฮฺเลย และท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.) เป็นผู้ที่ทำลายศาสนาอิสลามอย่างย่อยยับดังที่พวกชีอะฮฺกล่าวหาแล้วไซร้ ไฉนเลยท่านอิมาม อัล-หะสัน ( ร.ฎ.) จึงยอมประนีประนอมกับท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.) และยอมสละตำแหน่งด้วยการมุบายะอะฮฺต่อท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.)  ในปีที่เรียกกันว่า “อามุลญะมาอะฮฺ”

เป็นไปได้หรือที่ท่านอิมาม อัลหะสัน ( ร.ฎ.) จะยอมสละตำแหน่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดเอาไว้แล้วแก่ลูกหลานของท่านอะลี ( ร.ฎ.) ตามความเชื่อของพวกชีอะฮฺ และนี่เป็นการสละตำแหน่งที่สำคัญที่สุดให้แก่ศัตรูของอิสลาม ซึ่งพวกชีอะฮฺเรียกขานท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.) เช่นนั้น และการกระทำของอิมามมะอฺศูมนั้นถือเป็นสิ่งถูกต้องและเป็นตัวบทตามความเชื่อของชีอะฮฺ เหตุไฉนพวกเขาจึงไม่ปฏิบัติตามการกระทำของท่านอิมามอัล-หะสัน ( ร.ฎ.) ซึ่งเป็นอิมามมะอฺศูม

หากพวกเขาจะแย้งว่าเหตุที่ท่านอิมามอัล-หะสัน ( ร.ฎ.) ต้องยอมทำเช่นนั้นก็เพื่อรักษาไว้ ซึ่งเลือดเนื้อของชาวมุสลิม ก็ต้องถามกลับไปว่า การเสียสละเช่นนี้จะมีประโยชน์อันใดในเมื่อมุสลิมจะต้องเผชิญกับการทำลายล้างอิสลามและบิดเบือนคำสอนที่บริสุทธิ์ด้วยน้ำมือของทรราชย์ผู้ปฎิเสธศรัทธาอย่างที่พวกชีอะฮฺกล่าวหาท่านมุอาวียะฮฺ ( ร.ฎ.) และคำว่ามุสลิมสำหรับความเชื่อของพวกชีอะฮฺก็คือผู้ที่ยอมรับในตำแหน่งวะศียฺของท่านอิมามอะลี ( ร.ฎ.) และลูกหลานของท่านเท่านั้น เป็นการยากที่จะได้รับคำตอบอย่างชัดเจนจากฝ่ายชีอะฮฺในเรื่องนี้

ด้วยเหตุนี้เองกระมังที่ทำให้หน้ากระดาษที่กล่าวถึงชีวประวัติของอิมามท่านที่  2 ( คือท่านอัลหะสัน) มีน้อยมากเมื่อเทียบกับอิมามท่านอื่นในตำราของพวกเขา

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอย้ำเตือนผู้อ่านด้วยหลักศรัทธาของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ว่าการหลีกเลี่ยงจากการพูดถึงกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นในหมู่เศาะหาบะฮฺเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด และเรามีความรักในบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม)) ทุกท่าน และเราเชื่อว่าท่านเหล่านั้นมีความรักในระหว่างกัน

ถึงแม้ว่าจะมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ซึ่งข้อพิพาทเหล่านั้นพวกเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง มือของพวกเรามิได้เปื้อนเลือดแม้เพียงหยดเดียว ท่านเหล่านั้นได้กลับไปสู่ผลของการกระทำที่ประพฤติเอาไว้แล้ว อัลลอฮฺไม่ถามพวกเขาถึงการประพฤติของพวกเราฉันใด พระองค์ก็ไม่ทรงถามพวกเราถึงสิ่งที่พวกท่านเหล่านั้นได้ประพฤติเอาไว้ฉันนั้น

และพวกเราจะไม่เลยเถิดในความรักที่มีต่อท่านเหล่านั้นเยี่ยงพวกอัรรอฟีเฎาะฮฺ และเราจะไม่ปฏิเสธคุณงามความดีและคุณูปการของท่านเหล่านั้นที่มีต่ออิสลาม และมุสลิม และเราจะโกรธเคืองทุกผู้ทุกนามที่กล่าวปรามาสและชิงชังอาฆาต ต่อท่านเหล่านั้น ดังเช่นการกระทำของพวกเคาะวาริจญฺ และพวกอันนะวาศิบที่กล่าวหาว่าท่านอะลี(ร.ฎ.) เป็นกาฟิรด้วยการยอมรับการตัดสินของอนุญาโตตุลาการจากสองฝ่าย และพวกอันนะวาศิบที่จงเกลียดจงชังต่ออะฮฺลุลบัยตฺ ความรักที่มีต่อท่านเหล่านั้น คือความดีงาม และศรัทธา การชิงชังต่อท่านเหล่านั้นคือ การเนรคุณ การละเมิด และความกลับกลอก

และขอพระองค์ทรงให้พวกเราสิ้นชีวิตไปจากโลกนี้พร้อมด้วยความรักที่มีต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺทุกผุ้ทุกนาม และขอให้เราฟื้นคืนชีพในหมู่ผู้ประพฤติดีเหล่านั้นด้วยเทอญ

والله ولى التوفيق

บทความลงในหนังสือไคโรสาร