ชนชาติเติร์กในด้านชาติพันธุ์วิทยา

ชาวอาหรับเรียกชาวเติร์กว่า อัต-ตุรฺก์ (التُّرْكَ) เป็นคำนามคล้ายพหูพจน์ (اسمُ شِبْهٍ الحَمْعِ) โดยสร้างคำนามเอกพจน์ด้วยการเติมพยัญชนะยาอฺที่ใส่สระชัดดะฮฺท้ายคำว่า ตุรกียฺ (تَرْكِيٌ) และมีคำพหูพจน์ว่า อัตร๊อก (أَتْرَاكٌ) คำว่า อัต-ตุรฺก์ (التُّرْكُ) จึงเป็นคำนามบ่งประเภทที่คล้ายคำนามพหูพจน์และมีความหมายว่า “ชาวเตอร์ก” โดยรวม

อิบนุ กะษีรฺ ระบุว่า : เผ่าพันธุ์ที่เป็นลูกหลานของอาดัมซึ่งอยู่บนหน้าแผ่นดินโลกในทุกวันนี้ต่างก็สืบเชื้อสายถึงลูกๆ ของนัวะหฺ (อ.ล.) คือ ซาม , หาม และยาฟิษ  (1)

มีบันทึกจากอิสมาอีล อิบนุ อัยยาส จากยะหฺยา อิบนุ สะอีด จากสะอีด อิบนุ อัล-มุสัยยิบ ว่า : “นัวะหฺ (โนอาห์) ให้กำเนิดบุตรชาย 3 คน คือ ซาม , ยาฟิษ และหาม และแต่ละคนจาก 3 คนนี้ได้ให้กำเนิด 3 ชนชาติ : ซามให้กำเนิดชนชาติอาหรับ , ฟาริส (เปอร์เซีย) และรูม (กรีก-โรมัน) , ยาฟิษให้กำเนิดชนชาติอัต-ตุรฺก์ (เตอร์ก) และเศาะกอลิบะฮฺ (สล๊าฟ) และยะอฺยู๊จญ์-มะอฺญู๊จญ์ , หามให้กำเนิดชนชาติอัลกิบฏ์ (ค็อปติก) ซูดาน (ชนผิวดำ) และบัรฺบัร (เบอร์เบอร์)” (2)

อัฏ-เฏาะบะรียฺ บันทึกจากมุฮัมมัด อิบนุ สะฮฺล์ อิบนิ อัสกัรฺ จากอิสมาอีล อิบนุ อับดิลกะรีม จาก อับดุศเศาะมัด อิบนุ มะอฺกิล จากวะฮฺบ์ อิบนุ มุนับบิฮฺ ว่า : “แท้จริงซามบุตรนัวะห์คือบิดาของชนชาติอาหรับ , ฟาริส และรูม และแท้จริงหามเป็นบิดาของซูดาน (ชนผิวดำ) และแท้จริงยาฟิษคือบิดาพวกอัต-ตุรฺก์ และคือบิดาของยะอฺยู๊จญ์-มะอฺยูจญ์ ซึ่งเป็นลูกลุงของอัต-ตุรก์

เล่ากันว่าภรรยาของยาฟิษคือ อัรฺบะสีสะฮฺ บุตรีมะรอซีล บุตรอัล-ดัรฺมะสีล บุตรมะหฺวีล บุตรเคาะนูค บุตรกอยน์ บุตรอาดัม (อ.ล.) นางให้กำเนิดบุตรชาย 7 คน และหญิง 1 คนแก่ยาฟิษ บุตรชายได้แก่ ญูมัรฺ บุตรยาฟิษ – ตามที่อิบนุ หุมัยดฺเล่าจากสละมะฮฺจากอิบนุ อิสหาก – เป็นบิดาของยะอฺญู๊จญ์-มะอฺญูจญ์ , มาริห์ บุตรยาฟิษ , วาอิล บุตรยาฟิษ , เหาวาล บุตรยาฟิษ , ตูบิล บุตรยาฟิษ , ฮูชัล บุตรยาฟิษ , ตุรฺส์ บุตรยาฟิษ และชับกะฮฺ บุตรียาฟิษ และจากลูกๆ ของยาฟิษ คือพวกยะอฺญู๊จญ์-มะอฺญู๊จญ์ , เศาะกอลิบะฮฺ และอัต-ตุรฺก์ ตามที่พวกเขากล่าวอ้าง (3)

อัฏ-เฏาะบะรียฺบันทึกอีกว่า : “และจากลูกของยาฟิษ บุตรนัวะห์ คือบรรดากษัตริย์ของพวกอะญัม (คือชนชาติอื่นที่มิใช่อาหรับ) ทั้งหมดไม่ว่าเป็นพวกอัต-ตุรฺก์ , อัล-เคาะซัรฺ และอื่นๆ ตลอดจนพวกฟุรฺส์ (เปอร์เซีย)…” (4) และบันทึกอีกว่า : “ส่วนยาฟิษ บุตรนัวะห์ มีบุตรคือ ญามิรฺ , มูอิจญ์ , มุวาดียฺ , เบาวาน ,เษาบาล , มาชิจญ์ และตีริช บรรดากษัตริย์ของพวกฟุรฺส์ (เปอร์เซีย) มาจากลูกของญามิร และพวกอัต-ตุรฺก์รวมถึงพวกอัล-เคาะซัรฺ มาจากลูกของตีริช , พวกอัล-อัชบานมาจากลูกของมาชิจญ์ และพวกยะอฺญู๊จญ์-มะอฺญูจ์ญ์มาจากลูกของมูอิจญ์ พวกเขาอยู่ทางตะวันออกของแผ่นดินพวกอัต-ตุรฺก์และอัล-เคาะซัรฺ…(5)

หากถือตามบันทึกข้างต้น ก็สรุปได้ว่า พวกเตอร์กสืบเชื้อสายถึงยาฟิษ บุตรท่านนบีนัวะห์ (อ.ล.) ถึงแม้ว่าจะมีบางกระแสรายงานอ้างถึงท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า ยาฟิษเป็นบิดาของอัร-รูมด้วยเช่นกัน (6) เพราะอิบนุ กะษีรฺระบุว่า ชัยคฺ อบูอุมัร อิบนุ อับดิลบัรฺร์ กล่าวว่า : “รูม” ในที่นี้หมายถึงชนชาติรูมรุ่นแรกคือพวกยูนาน (กรีก) ที่สืบเชื้อสายถึงรูมียฺ บุตรลับฏียฺ บุตรยูนาน บุตรยาฟิษ บุตรนัวะห์ (อ.ล.) (7)

และการระบุว่า ยาฟิษบุตรนัวะห์เป็นบิดาของรูมก็ขัดกับรายงานที่ระบุว่า บิดาของอาหรับ , ฟาริส (เปอร์เซีย) และอัร-รูม คือ ซาม ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชนชาติเซมิติก (อัส-สามิยะฮฺ) แต่พวกเตอร์กมิใช่ชนชาติเซมิติก ดังนั้น เมื่อซามเป็นบรรพบุรุษของชนชาติเซมิติก หามเป็นบรรพบุรุษของชนสีผิว (ซูดาน หรืออัล-หะบัช) ยาฟิษก็น่าจะเป็นบรรพบุรุษของพวกเตอร์ก ซึ่งมิใช่เซมิติก และมิใช่พวกชนสีผิว ทั้งนี้อัฏ-เฏาะบะรียฺ บันทึกรายงานจากฎอมเราะฮฺ อิบนุ เราะบีอะฮฺ จากอิบนุ อะฏออฺ จากบิดาของเขาว่า : “หามให้กำเนิดกลุ่มชนผิวดำ ผมหยิกทั้งหมด และยาฟิษให้กำเนิดกลุ่มชนที่มีใบหน้าใหญ่ ตาทั้งสองข้างเล็ก และซามให้กำเนิดกลุ่มที่มีใบหน้าสวยงาม มีผมสละสลวย” (8)

กลุ่มชนที่มีใบหน้าใหญ่หรือแบนมีตาทั้งสองข้างเล็ก ก็คือพวกเตอร์กและกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นลูกหลานของยาฟิษนั่นเอง อย่างไรก็ตามความสับสนที่ว่า ซามเป็นบรรพบุรุษของพวกฟุรฺส์ (เปอร์เซีย) ในกระแสรายงานหนึ่ง และพวกฟุรฺส์สืบเชื้อสายมาจากยาฟิษในอีกกระแสรายงานหนึ่ง หรือพวกรูมสืบเชื้อสายมาจากยาฟิษ และจากยาฟิษก็คือพวกเตอร์ก , ยะอฺญู๊จญ์-มะอฺญู๊จญ์ และพวกเศาะกอลิบะฮฺ (สล๊าฟ) อาจจะป็นผลมาจากการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ในระหว่างกัน เช่น อิบนุ อิสหากระบุว่า “กูช บุตรหาม บุตรนัวะห์ สมรสกับก็อรนะบีล บุตรีบะตาวีล บุตรตุรฺส์ บุตรยาฟิษ แล้วให้กำเนิดชนชาติอัล-หะบะชะฮฺ (เอธิโอเปียน) สินธุ และฮินด์ (อินเดียน)…ในขณะที่ลาวิซ บุตรซาม บุตรนัวะห์สมรสกับชับกะฮฺ บุตรีของยาฟิษ บุตรนัวะห์ แล้วให้กำเนิดฟาริส , ญุรฺญาน และพวกเผ่าพันธุ์ฟาริส (9) และระบุว่า พวกรูมเป็นลูกหลานของลันฏียฺ บุตรยูนาน บุตรยาฟิษ บุตรนัวะห์ (10)

ส่วนพงศาวดารของเปอร์เซียระบุถึงบรรพบุรุษที่ชื่ออัฟรีดูน ซึ่งมีบุตรชาย 3 คน คือ ฏูจญ์ , สัลม์ และอีรอจญ์ บุตรชายที่ชื่อฏูจญ์ปกครองดินแดนของพวกอัต-ตุรฺก์ (เตอร์ก) อัล-เคาะซัรฺและจีน เรียกดินแดนนั้นว่า “ศีนบุฆอ” บุตรชายของอัฟรีดูนที่ชื่อสัลม์ ปกครองพวกอัร-รูม , อัศเศาะกอลิบะฮฺ และอัล-บุรฺญาน ส่วนอีรอจญ์ปกครองอีรักและอินเดีย เหตุนั้นจึงเรียกแคว้นบาบิลว่า อีรอนชะฮฺร์ กลุ่มชนที่สืบเชื้อสายจากบุตรชายทั้งสามคนของอัฟรีดูนนี้ต่างก็ทำสงครามรบพุ่งในระหว่างกัน (11)

แผนที่แสดงเขตที่ตั้งหลักแหล่งเดิมของชาวเตอร์ก

นักชาติพันธุ์วิทยามีความเห็นขัดแย้งกันว่า พวกเตอร์ก มองโกล และพวกตาตาร์เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันหรือไม่? แต่นักชาติพันธุ์วิทยาส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า พวกเตอร์ก มองโกล และพวกตาตาร์สืบเชื้อสายถึงยาฟิษ บุตรของนบีนัวะห์ (อ.ล.) โดยกรณีที่เห็นขัดแย้งกันนี้สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มทัศนะดังนี้

usmaniyah1_1

1. พวกเตอร์ก มองโกล และพวกตาตาร์เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน กลุ่มทัศนะนี้อธิบายว่า ยาฟิษบุตรนัวะห์ มีลูกชายหลายคน คนหนึ่งมีชื่อว่า “ตุรฺส์” ตามที่อิบนุ อิสหากระบุไว้ (12) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ตีริช” ลูกชายของยาฟิษที่มีชื่อว่า “ตุรฺส์” หรือ “ตีริช” ผู้นี้เป็นต้นกำเนิดของพวกอัต-ตุรฺก์ (เตอร์ก) และอัล-เคาะซัรฺ (13) และคำว่า “ตุรฺก์” กับคำว่า “ตุรฺส์” เป็นคำๆ เดียวกันแต่ออกเสียงต่างกัน พวกอัต-ตุรฺก์จึงเป็นชนเผ่าใหญ่ดั้งเดิมที่เป็นลูกหลานของตุรฺส์ หรือตีริช บุตรของยาฟิษ ต่อมาลูกหลานของตุรฺส์หรือตีริชที่ถูกเรียกว่า “ตุรฺก์” มีอยู่คนหนึ่งชื่อ อันญะฮฺข่าน บุคคลผู้นี้มีลูกชายฝาแฝดชื่อ มองโกลข่านและตาตาร์ข่าน ทั้งสองคนนี้เป็นต้นตระกูลของพวกมองโกลและตาตาร์ซึ่งต่อมาเลือกถิ่นอาศัยแยกจากกัน พวกมองโกลตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาบริเวณทางทิศตะวันตกของจีนในเอเซียกลางจรดทะเลสาปอาราล (Aral)

นักชาติพันธุ์ศึกษากลุ่มนี้ระบุว่าคำว่า “เตอร์ก” เป็นคำทั่วไปที่ใช้กับทุกเผ่าของมองโกลและตาตาร์ เพราะทั้งเผ่าพันธุ์ตาตาร์และมองโกลคือสองสาขาของชนเผ่าเตอร์ก ที่ร่วมบรรพบุรุษคนเดียวกันคือ อันญะฮฺข่าน ซึ่งเป็นลูกหลานของตุรฺส์หรือตีรีช ที่เรียกในอีกสำเนียงหนึ่งว่า ตุรฺก์ บุตรชายของยาฟิษ บุตรนัวะห์ (โนอาห์) ต่อมาคำว่า ตุรฺก์ หรือเตอร์กก็ถูกใช้เรียกเป็นการเฉพาะกับพวกตาตาร์เท่านั้น (14) สามียฺ บิน อับดุลลอฮฺ อัล-มัฆลูษ ก็ระบุชัดเจนว่า พวกเตอร์กที่เป็นลูกหลานของอุษมานข่านที่ 1 เป็นพวกมองโกลหรือสืบเชื้อสายมาจากพวกมองโกล (15)

2. พวกเตอร์กกับพวกมองโกลตลอดจนพวกตาตาร์เป็นคนละพวกกัน นักวิชาการฝ่ายนี้ยอมรับในประเด็นที่ว่า ชนเผ่าทั้งสามกลุ่มร่วมบรรพบุรุษกันก็จริง แต่เป็นอิสระต่อกันและแยกวงศ์วานว่านเครือและตั้งหลักแหล่งแยกจากกันโดยชัดเจน พวกมองโกลประกอบไปด้วยชนเผ่าอัล-คุฏอ , กุเราะฮฺคีไตย์ และคีไตย์ เรียกชนเผ่ามองโกลทั้งหมดโดยรวมว่า พวกคีไตย์ ซึ่งมีระบุถึงในพงศาวดารจีนนับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 8

นักวิชาการบางส่วนให้น้ำหนักว่าพวกคีไตย์เป็นพวกเดียวกับชนเผ่าตุงฆูซฺแต่ในศิลาจารึกแห่งแม่น้ำอัรฺคูน ในมองโกลโกเลียบ่งชี้ว่าพวกอัล-คีไตย์เป็นศัตรูกับพวกเตอร์ก และเอกสารเก่าแก่ของจีนบันทึกว่าพวกอัล-คีไตย์ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนใต้ของแคว้นแมนจูเรียในตอนต้นคริสตศตวรรษที่ 10 ต่อมาทำสงครามรบพุ่งขยายดินแดนและเข้ายึดครองภาคเหนือของจีน พวกอัล-คีไตย์ได้ตั้งราชวงศ์เหลียงในปีค.ศ. 966 และต้นราชวงศ์คือ อปาโอกี (Apaki) สามารถปราบปรามภาคเหนือของมองโกเลียซึ่งเคยถูกพวกเคอร์กีซซึ่งเป็นพวกเตอร์กครอบครองมาก่อนนับแต่ปี ค.ศ. 840 (16)

usmaniyah1_2
ภาพกษัตริย์ชาวเติอร์กอุยกู๊รโบราณ และโบราณสถานในแคว้นซินเกียงกุยกูรฺ

ส่วนพวกเตอร์กถูกเรียกในเอกสารจีนว่าพวกตูเกียว (Tu-kue) หรือตูกะเอ๋อ และถูกเรียกในภาษากรีกว่า Toup koi (ตุบ-คอย) คำๆ นี้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในราวคริสตศตวรรษที่ 6 โดยใช้เรียกพวกชนเผ่าเร่ร่อน อันเป็นช่วงเวลาที่พวกเตอร์ก หรืออัล-ฆุซฺได้ตั้งอาณาจักรที่เข้มแข็งของพวกตนซึ่งมีอาณาเขตตั้งแต่มองโกเลีย ภาคเหนือของจีนจรดทะเลดำ อาณาจักรของพวกเตอร์กนี้ถูกปกครองเป็นสองส่วนคือ เตอร์กเหนือ มีตูเม็น (Tu-men) – เสียชีวิตค.ศ. 552 – เป็นผู้ปกครอง และน้องชายที่ชื่ออิสตามิ (Istami) -เสียชีวิต ค.ศ. 576- เป็นผู้ปกครอง “เตอร์กใต้” และในคริสตศตวรรษที่ 7 อาณาจักรของพวกเตอร์กทั้งเหนือและใต้ได้สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ถังของจีน (ค.ศ. 618-907)

อย่างไรก็ตามพวกเตอร์กในอาณาจักรเหนือยังคงเป็นอิสระอยู่จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 744 โดยไม่สามารถปราบปรามพวกเตอร์กในภาคตะวันตกของจีนได้ ซึ่งที่นั่นมีชนเผ่าเตอร์กตะวันตกที่เรียกกันว่าเผ่าตุรฺกิชอาศัยอยู่ บรรดาผู้นำเผ่าเตอร์กตูรฺกิชเรียกตัวเองว่า “ข่าน” นับแต่ตอนปลายคริสตศตวรรษที่ 7 และยังคงเป็นอิสระอยู่จนถึงปี ค.ศ. 739 (ฮ.ศ. 121) อันเป็นปีที่กองทัพของชาวอาหรับภายใต้การนำของแม่ทัพนัศร์ อิบนุ สัยยารฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 131 / ค.ศ. 748) ผู้ปกครองแคว้นคุรอสานของราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺได้แผ่อำนาจมาถึงที่นั่น พวกเตอร์กตะวันตกได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณแม่น้ำญู และชนเผ่าของพวกเขาถูกเรียกขานกันว่า พวกอูนูก (หมายถึง ลูกธนู 10 ดอก) (17)

พวกชนเผ่าเตอร์กซึ่งไม่ใช่มองโกลหมายรวมถึงพวกฮวง-หนูหรือเซียงหนู ซึ่งปรากฏขึ้นในช่วงก่อนคริสตกาล , พวกฮวน หรือที่ชาวอาหรับเรียกว่าพวกฮะยาฏิละฮฺ ที่มีถิ่นฐานอยู่ในแถบไซบีเรียและมองโกเลีย พวกฮวนเคยอพยพไปถึงแม่น้ำดานูบในปี ค.ศ. 405 และเข้ารุกรานจักรวรรดิโรมันโดยการนำของอัต-ตีล่า (Attila) ซึ่งเป็นผู้นำของพวกฮวนในระหว่างปี ค.ศ. 432-453 , พวกกุรอยิตและพวกไนหมานที่ปรากฏขึ้นในช่วงคริสตศตวรรษที่ 12 ก่อนพวกมองโกลภายใต้การนำของเจงกิสข่านในช่วงคริสตศตวรรษที่ 13 ก็เป็นพวกเตอร์ก และในช่วงคริสตศตวรรษที่ 9 , พวกอุวัยฆูรฺหรืออุยกูร์ก็เป็นพวกเตอร์กเช่นกัน

ย้อนกลับไปในราวคริสตศตวรรษที่ 5 พวกตูปาซึ่งเป็นชนเผ่าเตอร์กได้รบพุ่งกับพวกหยวนหรือหงวน และเสียนเป่ยอันเป็นชนเผ่ามองโกลที่ต้องการรุกรานแผ่นดินจีน พวกตูปา (Tou-pa) จึงเป็นชนเผ่าที่ปกป้องอารยธรรมจีนจากการรุกรานของพวกมองโกล นอกจากนี้พวกเคอร์กิซซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ต้นน้ำแยงซีเกียงก็เป็นพวกเตอร์ก ในราวปี ค.ศ. 840 พวกเคอร์กิชได้รบพุ่งแย่งชิงดินแดนจากพวกอุวัยฆูรฺ (อุยเคอะ-อุยกุรฺ) ในมองโกเลีย ต่อมาพวกอัล-คุฏอซึ่งเป็นมองโกลได้ขับไล่พวกเคอร์กิซออกจากมองโกเลียในคริสตศตวรรษที่ 10 และยอมจำนนต่อเจงกิสข่านแห่งมองโกเลียในปี ค.ศ. 1218

พวกอุวัยฆูรหรืออุยกุรฺซึ่งเป็นชนเผ่าเตอร์กเคยมีถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของมองโกเลียริมฝั่งแม่น้ำสิลิงกา (Selenga) ผู้นำของอุวัยฆูรฺถูกเรียกขานว่าตาบีรฺ ต่อมาในปี ค.ศ. 745 ผู้นำของอุวัยฆูรฺได้ตั้งตนเป็นคอกอน และมีอำนาจอยู่จนถึงปี ค.ศ. 840 พวกอุวัยฆูรฺประกอบด้วยชนเผ่าพันธมิตร 9 ชนเผ่าถือในลัทธิมะนะวียะฮฺ นับจากปี ค.ศ. 762 ในเวลาเดียวกันศาสนาพุทธแบบมหายานและศาสนาคริสค์นิกายเนสเธอเรียนได้เริ่มแพร่หลายในอาณาบริเวณของจีนกับพวกเตอร์ก พวกอุวัยฆูรฺมีอักษรของตนเองในการจดบันทึกและตัวอักษรอุวัยฆูรฺได้เข้ามีอิทธิพลแทนที่อักขระเตอร์กโบราณและพวกมองโกลในคริสตศตวรรษที่ 13 ได้รับเอาตัวอักษรและอักขระวิธีของอุวัยฆูรฺมาใช้ในเวลาต่อมา (18)

ชนเผ่าเตอร์กที่เก่าแก่อีกกลุ่มหนึ่งคือ เตอร์กอุฆูซ ซึ่งชาวอาหรับเรียกว่า อัล-ฆุซฺ ( الغُزُّ ) เป็นเผ่าขนาดใหญ่ที่รวมตัวกันตั้งจักรวรรดิเตอร์กในช่วงคริสตศวรรษที่ 6 มีอาณาเขตนับจากจีนจนถึงบริเวณทะเลดำ ในศิลาจารึกแห่งแม่น้ำอัรคูน เรียกพวกเตอร์กกลุ่มนี้ว่า ตะฆุซฆุซ (หมายถึงชนเผ่าทั้งสิบ) เพราะเตอร์กอุฆูซประกอบด้วยเผ่าทั้งหมด 10 เผ่า นักภูมิศาสตร์ชาวมุสลิมในช่วงคริสตศวรรษที่ 10 กล่าวถึงพวกอัล-ฆุซ หรือเตอร์กอูฆูซว่าตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาบริเวณแถบทะเลแคสเปียน (ก็อซวัยห์) หรืออัล-เคาะซัรฺ อันเป็นเขตแดนทางทิศตะวันตกและทางทิศตะวันออกติดต่อกับอาณาเขตของเตอร์กเผ่ากอรฺลู๊ก และทางทิศเหนือติดต่อกับอาณาเขตของพวกกีม๊าก มีแม่น้ำอาติลเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างพวกอัล-ฆุซกับพวกกีม๊าก

ต่อมาในปลายคริสตศวรรษที่ 10 พวกอัล-ฆุซได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่อาณาเขตของรัฐอิสลาม และเป็นที่ทราบกันว่าพวกเซลจูกเตอร์ก (อัส-สะลาญิเกาะฮฺ) สืบเชื้อสายมาจากพวกเตอร์กอัล-ฆุซ ชาวอาหรับเรียกดินแดนของพวกเตอร์กอัล-ฆุซว่า ดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำ (บิลาด มาวะรออันนะฮฺร์) หมายถึงดินแดนที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) ในแคว้นตุรกีสถานของรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1152 พวกเตอร์กอัล-ฆุซได้ก่อการลุกฮือต่อสุลฏอน สันญัรฺ (ค.ศ. 1118-1157) แห่งอาณาจักรเซลจูกเตอร์ก และจับสุลฏอน สันญัรฺเป็นเชลยและเข้าปล้นสะดมแคว้นคุรอสาน

ชนเผ่าอัล-กุบญ๊ากก็เป็นพวกเตอร์กเช่นกัน พวกอัล-กุบญ๊ากได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณแม่น้ำสัยหูน (สิรฺดาเรีย) และข้ามฝั่งทะเลสาปแคสเปียนมายังดินแดนที่ติดต่อกับแคว้นคุวาริซม์ (19) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1030 พวกชนเผ่าการฺลู๊กที่ตั้งถิ่นฐานทางทิศตะวันออกของชนเผ่าเตอร์กตะวันตกในอาณาบริเวณระหว่างเทือกเขาอัล-ไตย์และต้นแม่น้ำอิรฺตีช (Irtych) แถวไซบีเรียก็เป็นพวกเตอร์กเช่นกัน พวกการฺลู๊กเริ่มมีความสำคัญหลังปี ค.ศ. 766 ขณะเข้ายึดครองลุ่มแม่น้ำญู ภายหลังการล่มสลายของพวกคอกอนที่เป็นตอร์กตะวันตก นักภูมิศาสตร์ชาวอาหรับบันทึกว่า พวกการฺลู๊กในช่วงคริสตศตวรรษที่ 10 ยังคงเป็นพวกนอกศาสนาอิสลาม และอิบนุ เหาวฺก็อล (เสียชีวิต ค.ศ. 981) ระบุว่า ดินแดนของพวกเตอร์กเผ่าการฺลู๊กกินอาณาเขตนับจากฟัรฆอนะฮฺ (ในอุซเบกิสถานปัจจุบัน) ใช้ระยะเวลาเดินทาง 30 วัน แต่พวกเตอร์กการฺลู๊กรับเอาอารยธรรมของพวกเปอร์เซีย จึงมีความแตกต่างจากพวกเตอร์กแท้ๆ ในบางประเด็น (20)

ส่วนพวกตาตาร์นั้น นักวิชาการกลุ่มที่สองระบุว่า มิใช่พวกเตอร์ก แต่พวกมองโกลได้ใช้ชื่อตาตาร์นี้ในภายหลัง และในศิลาจารึกแห่งแม่น้ำอัรฺคูน (คริสตศตวรรษที่ 8) ระบุว่า พวกตาตาร์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี 9 เผ่า และอีกกลุ่มหนึ่งมี 30 เผ่า พวกตาตาร์หรือที่จีนเรียกว่า ตะตาเอ๋อ อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลสาปไบคาล มีหลักแหล่งจนถึงแม่น้ำกีโรลีน พวกตาตาร์ยังแบ่งออกเป็น 3 พวก คือ 1) ตาตาร์ผิวขาว ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกกำแพงเมืองจีน พวกนี้ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมจีน 2) ตาตาร์ผิวดำ ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของทะเลทรายโกบี เป็นชนเผ่าเร่ร่อนและเลี้ยงสัตว์ 3) ตาตาร์แห่งผืนป่า ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ต้นน้ำของแม่น้ำอุนูน และกีโรลีน มีอาชีพล่าสัตว์ (21)

จะเห็นได้ว่า นักชาติพันธุ์ศึกษาและนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับชนชาติเตอร์ก-มองโกลทั้งสองกลุ่มมิได้มีความเห็นขัดแย้งกันจริงๆ ในเรื่องของชนชาติเตอร์ก-มองโกล เพราะสองชนชาตินี้มีบรรพบุรุษที่เกี่ยวเนื่องกันโดยสายเลือด หากพิจารณาถึงต้นกำเนิดของชาติพันธุ์เป็นหลัก พวกเตอร์กและมองโกลมีต้นกำเนิดเดียวกัน จึงไม่แปลกที่จะระบุว่า พวกเตอร์กและมองโกลเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน เตอร์กอาจจะเป็นต้นตระกูลใหญ่ และมองโกลก็แยกสาขาออกมาจากพวกเตอร์กจนกระทั่งในชั้นหลังกลายเป็นชนชาติและเผ่าพันธุ์เอกเทศที่แยกจากกัน

ซึ่งในชั้นหลังนี้เป็นมุมมองของนักวิชาการกลุ่มที่สองซึ่งระบุว่าพวกเตอร์กกับพวกมองโกลเป็นคนละชนชาติ เพราะมีกลุ่มก๊กและเผ่าของแต่ละพวกเป็นการเฉพาะ มีหลักแหล่งและถิ่นอาศัยในอาณาบริเวณที่แยกจากกันชัดเจน ถึงแม้ว่าในบางช่วงอาจจะมีอาณาบริเวณคาบเกี่ยวหรือเป็นดินแดนเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการรบพุ่งและการยึดครองดินแดนในระหว่างกัน อีกทั้งการรวมเผ่า การร่วมเป็นพันธมิตรในยามสงครามระหว่างเผ่าเตอร์กบางเผ่ากับพวกมองโกล ตลอดจนการแต่งงานข้ามเผ่าก็ยังถือเป็นปัจจัยที่ทำให้การแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างพวกเตอร์กและมองโกลเป็นเรื่องยาวอีกเช่นกัน เหตุนี้เองนักเขียนบางคนจึงเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้โดยรวมว่า “เตอร์ก-มองโกล” (ดังกรณีของ ดร.อัส-สัยยิด อัล-บาซ อัล-อะรีนียฺ ในหนังสือ “อัล-มะฆูล” เป็นต้น)

แผนที่แสดงการแผ่ขยายดินแดนของชาวเตอร์กโบราณ
แผนที่แสดงการแผ่ขยายดินแดนของชาวเตอร์กโบราณ

นักประวัติศาสตร์ที่เขียนเกี่ยวกับชาวเตอร์กหรือตุรกีและรัฐอุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน) โดยเฉพาะในช่วงที่ลัทธินิยมแพร่หลายมีจำนวนมิใช่น้อยอ้างว่า ชาวเตอร์กที่สถาปนาจักรวรรดิอุษมานียะฮฺเป็นชาติพันธุ์ตูราเนียน (ฏูรอนียะฮฺ) ซึ่งอ้างถึงดินแดนตูราน (ฏูรอน) ที่เป็นถิ่นฐานเดิมของพวกเตอร์กในตุรกีสถาน และมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับลูกหลานของอัฟรีดูนในราชวงศ์ยานีแห่งเปอร์เซีย (22) และอ้างถึงอัฟรอซิยาบซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในราชวงศ์เกยานีของเปอร์เซีย

การกล่าวอ้างว่าชาวเตอร์กหรือตุรกีเป็นพวกตูราเนียนที่เกี่ยวข้องกับเปอร์เซียมีความเป็นไปได้หากพิจารณาถึงดินแดนตูราน (ฏูรอน) หรือตุรกีสถานว่าถูกปกครองโดยพวกเปอร์เซียและพวกเตอร์กในดินแดนตูราน (ฏูรอน) ยอมรับอิทธิพลของอารยธรรมเปอร์เซีย แต่ถ้าหากพิจารณาในด้านของชาติพันธุ์แล้ว พวกเตอร์กมิใช่พวกเปอร์เซีย เพราะเปอร์เซียเป็นชาติพันธุ์อารยัน (อิราเนียน) และอัฟริซิยาบหรือฟะรอสิยาบนั้นอัฏ-เฏาะบะรียฺบันทึกว่าเป็นกษัตริย์ของพวกเตอร์ก (มะลิก อัต-ตุรฺก์) ต่อมากีกอวุส โอรสของกีเบฮฺผู้เป็นโอรสของกีกุบาซ กษัตริย์แห่งเปอร์เซียได้สมรสกับราชบุตีของฟะรอสิยาบ (23)

การสมรสของเจ้าหญิงชาวเตอร์กกับกษัตริย์เปอร์เซียจึงเป็นเรื่องของการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ และเป็นเรื่องการเมือง และนั้นก็มิได้ทำให้ชาติพันธุ์ของชาวเตอร์กกลายเป็นเผ่าพันธุ์เปอร์เซีย อีกทั้งเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้ส่งผลต่อชาวเตอร์กกลุ่มอื่น ทั้งที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในดินแดนตูราน (ฏูรอน) และนอกดินแดนนั้นว่าจะต้องเป็นชาติพันธุ์ตูราเนียนไปทั้งหมด

ในกรณีถือเอาตำนานในพงศาวดารของเปอร์เซียว่าด้วยเรื่องราวของอัฟรีดูน มาเป็นข้ออ้างว่าพวกเตอร์กสืบเชื้อสายมาจากเปอร์เซียเพราะเป็นตูราเนียน (ฏูรอนียะฮฺ) ยังถูกซักค้านได้อีกว่า การมีอำนาจปกครองเหนือชนเผ่าเตอร์กในแคว้นตูรานของลูกหลานอัฟรีดูนที่เป็นเปอร์เซียหรืออารยันย่อมคล้ายกับกรณีของเจงกีสข่านที่รวบรวมชนเผ่ามองโกล เตอร์ก ตุงกูซ และตาตาร์ขึ้นเป็นจักรวรรดิ์มองโกล การรวบรวมชนเผ่าอยู่ภายใต้การปกครองของข่านองโกลเป็นเรื่องของการเมืองการปกครอง เป็นคนละเรื่องกับการสืบชาติพันธุ์ เพราะนั่นมิได้ทำให้เตอร์ก ตุงฆูซ และตาตาร์กลายเป็นชาติพันธุ์มองโกลหรือถูกกลืนไปในชาติพันธุ์มองโกลจนสิ้นเผ่าพันธุ์

ในกรณีเดียวกับการที่อัฟรีดูนแบ่งดินแดนของตนให้บุตรชาย 3 คน คือ ฏูจญ์ , สัลม์ และอีรอจญ์เป็นกษัตริย์ปกครองดินแดนที่เป็นเอกเทศและไม่ขึ้นต่อกัน ก็เป็นเพียงเรื่องของการเมือง การปกครอง มิใช่เป็นเรื่องของการสืบชาติพันธุ์แต่อย่างใด บุตรชายของอัฟรีดู คนที่ชื่อ ฏูจญ์ มีอำนาจเหนือดินแดนของเตอร์ก , เคาะซัรฺ และจีนตามที่อัฏ-เฏาะบะรียฺบันทึกและถ่ายทอดจากพงศาวดารของเปอร์เซีย (24)

และชื่อของ “ฏูจญ์” น่าจะกลายเป็น ฏูรฺ หรือ ฏูรอนในภายหลัง การอ้างว่าพวกเตอร์กเป็นฏูรอเนียนโดยอธิบายว่า ฏูรอน (ตูราน) หมายถึง ตุรกีสถาน จึงเป็นการอ้างถึงถิ่นที่พวกเตอร์กอาศัยอยู่ในช่วงที่เปอร์เซียแผ่นอำนาจในเอเซียกลาง มิใช่เป็นการอ้างถึงชาติพันธุ์ เพราะชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในฏูรอนก็คือพวกเตอร์ก มิหนำซ้ำฏูรอนก็คือตุรกีสถานซึ่งหมายถึงดินแดนของพวกตุรกีหรือเตอร์กนั่นเอง

ความคิดแบบลัทธิชาตินิยมซึ่งมุศเฏาะฟา เคมาล อตาเตอร์ก (ค.ศ. 1881 – 1983) และสมาคมฏูรอนียะฮฺ นำมาใช่ในช่วงก่อนและหลังการล่มสลายของจักวรรดิ์อุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน) มีนักกวีและนักการเมืองชาวตุรกีที่ชื่อฎิยาอฺ ญูต อัลบ์ (ค.ศ. 1875-1924) เป็นผู้สนับสนุนและเรียกร้องสู่ชาตินิยมฏูรอนียะฮฺ (25) ความคิดเช่นนี้พิจารณาแล้วอาจจะไม่ได้ขัดกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์เตอร์กว่าเป็นชาว ฏูรอนียะฮฺ (ตูราเนียน) เพราะฏูรอน (ตูราน) ก็คือตุรกีสถานอันเป็นดินแดนของพวกเตอร์ก แต่ความคิดในเชิงชาติพันธุ์นี้มีสิ่งแอบแฝงที่อำพรางอยู่เบื้องหลัง นั่นคือการนำเอาภาพรากเหง้าของชาวเตอร์กย้อนกลับไปในยุคก่อนศาสนาอิสลามและตัดความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นมุสลิมออกจากความเป็นชาวเตอร์ก

โดยเฉพาะชาวเตอร์กที่พวกชาตินิยมพยายามรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อปลุกกระแสชาตินิยมคือ เตอร์กในยุคโบราณและเตอร์กหรือตาตาร์ในยุคจักรวรรดิมองโกลของเจงกิสข่านเรืองอำนาจ การอ้างว่าเตอร์กในยุคสาธารณรัฐตุรกีมีบรรพบุรุษเป็นฏูรอนียะฮฺ (ตูราเนียน) จึงเป็นเรื่องเจือสมระหว่างข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์กับข้อเคลือบแคลงที่แอบแฝงความเท็จไว้ในคราเดียว กล่าวคือ เป็นความจริงที่ว่าฏูรอน (ตูราน) เป็นถิ่นอาศัยของชนชาติเตอร์กหลายเผ่า แต่ในดินแดนอื่นนอกจากฏูรอนก็มีชนชาติเตอร์กร่วมเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่อีกเป็นจำนวนมาก เช่น อุวัยฆูรฺ (อุยกูรฺ) เตอร์กมาน (เตอร์คะเมน) อูฆูซฺ หรืออัล-ฆุซฺ และเซลจูก เป็นต้น ข้อเคลือบแคลงที่แอบแฝงความเท็จเอาไว้ก็คือ เตอร์กฏูรอนที่พวกถือลัทธิชาตินิยมมุ่งหมายถึงเป็นเตอร์กที่ถือลัทธิบูชาเจว็ด ไม่ใช่เตอร์กมุสลิม หรืออย่างน้อยก็เป็นการตัดพวกตอร์กมาน (เตอร์คะเมน) ออกไปจากความเป็นชนชาติเตอร์ก ซึ่งทำให้ข้อเท็จจริงผิดเพี้ยนไป

ที่เขียนอย่างนี้ มิได้หมายความว่า ผู้เขียนปฏิเสธทฤษฎีชาติพันธุ์ที่ว่า เตอร์กในประเทศตุรกีปัจจุบันเป็นฏูรอนียะฮฺ (ตูราเนียน) หรือมีบรรพบุรุษมาจากที่นั่น พราะนักเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอาณาจักรอุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน) เช่น สามียฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ อัล-มัฆลูษ เป็นต้น ระบุว่า ตูรานก็คือเตอร์ก (26) แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว เตอร์กก็คือเตอร์ก และคำว่าเตอร์กมีนัยและขอบเขตในเชิงชาติพันธ์มากกว่าคำว่า ฏูรอนียะฮฺหรือตูราเนียน ซึ่งถูกจำกัดด้วยแนวความคิดแบบชาตินิยม และส่งผลข้างเคียงในการคัดแยกชนชาติเตอร์กกลุ่มอื่นออกจากความเป็นชาติพันธุ์เตอร์กโดยรวม และผลข้างเคียงดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้นในการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์อย่างชาวเตอร์กที่มีความหลากหลายทั้งในแง่ของชาติพันธุ์ พัฒนาการทางสังคม ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ตลอดจนอารยธรรมในหลายมิติด้วยกัน

ถิ่นฐานของชนชาติเตอร์กและการอพยพย้ายถิ่น

ชนชาติเตอร์กเป็นชนเผ่าเร่ร่อนเช่นเดียวกับพวกมองโกล มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในอาณาบริเวณระหว่างเทอกเขาอัล-ไตย์ และทะเลสาบอาราลในเอเซียกลาง เทือกเขาอัล-ไตย์ (Altai) เป็นเทือกเขาในเอเซียกลางระหว่างไซบีเรีย มองโกล และจีน มีความยาว 1,600 กิโลเมตร เรียกกันว่า เทือกเขาทองคำ มีเทือกเขาเทียน-ชาน (Tien-chan) เป็นเสมือนเทือกเขาฝาแฝดกับเทือกเขาอัล-ไตย์

ในด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และมีเทือกเขาหิมาลัยอยู่ทางทิศใต้ เทือกเขาเทียนชานมีความยาว 2,500 กิโลเมตร แผ่ยื่นจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ นับจากแคว้นซินเกียง (จีน) จนถึงเคอร์กิสถาน มีที่ราบต่ำในหุบเขาฟัรฺฆอนะฮฺ (เฟอร์กาน่า) ตั้งอยู่ ส่วนทะเลสาบอาราล (Aral) เป็นทะเลปิด มีน้ำเค็ม นักภูมิศาสตร์ ชาวอาหรับเรียกทะเลสาบแห่งนี้ว่า “ทะเลคุวาริซม์” มีพื้นที่ 67,000 ตารางกิโลเมตร

ทะเลสาบอาราลในปัจจุบันอยู่ในอาณาเขตของอุซเบกิสถานและคาซัคสถาน มีที่ราบสูงกึ่งทะเลทราย ออสต์-ออร์ต (Oust-Ourt) แบ่งทะเลสาบแห่งนี้ออกจากทะเลสาบแคสเปียน (ทะเลก็อซวัยนฺ หรือทะเลอัล-เคาะซัรฺ ตามที่ชาวอาหรับเรียกขาน) ทะเลสาบแคสเปียนเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับทะเลสาบอาราลนั้นมีพื้นที่ติดต่อกับทะเลทรายกีซีล-คูม (Kyzyl Koum) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างแม่น้ำอมูดเรีย (Amou-Daria) ซึ่งชาวอาหรับเรียกว่า แม่น้ำญัยหูน (جَيْحُوْن) และแม่น้ำสีรฺ-ดาเรีย (Syr-Daria) หรือแม่น้ำสัยหูน (سَيْحُوْن) ตามที่ชาวอาหรับเรียก แม่น้ำทั้งสองสายไหลลงสู่ทะเลสาบอาราล นอกจากนี้ทะเลสาบอาราลยังมีพื้นที่ติดต่อกับทะเลทรายคาราคูม (Karakoum) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำอมูดเรียอีกด้วย

ภาพแผนที่ แม่น้ำอมูเรีย และสีรฺ-ดาเรีย, ทะเลสาปแคสเบียน
ภาพแผนที่ แม่น้ำอมูเรีย และสีรฺ-ดาเรีย, ทะเลสาปแคสเบียน

ในอาณาบริเวณระหว่างเทือกเขาอัล-ไตย์ขนานคู่ไปกับเทือกเขาเทียน-ชานจนถึงทะเลสาบอาราล เป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของชนเผ่าเร่ร่อนที่เลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าแอสแท๊ปที่สลับกับแนวเขาที่ราบสูง ทะเลทราย และที่ราบต่ำในหุบเขา ชนเผ่าเร่ร่อนเหล่านี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เตอร์ก-มองโกล โดยพวกมองโกลจะตั้งหลักแหล่งกระจายอยู่ในอาณาบริเวณนับจากแมนจูเรีย ทะเลสาบไบคาล (Baikal) ไซบีเรีย (Siberia) ถึงทะเลสาบบัลคาช (Balkhach) ในคาซัคสถาน อาณาเขตส่วนใหญ่ของพวกมองโกลก็คือ มองโกเลียและภาคเหนือของจีนนั่นเอง

ส่วนพวกเตอร์ก ตาตาร์ และตุงฆูซฺจะอาศัยอยู่ในบริเวณทางทิศตะวันตกของพวกมองโกล คือ นับจากเทือกเขาอัล-ไตย์และเทือกเขาเทียนชานไปจนถึงทะเลสาบอาราลหรือแถบตะวันตกของทะเลสาบบัลคาชซึ่งเป็นเสมือนเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างพวกมองโกลและพวกเตอร์ก เรียกอาณาบริเวณทางทิศตะวันตกของจีนนี้ว่ “ตุรกีสถาน” (ดินแดนของพวกเตอร์ก) มีอาณาเขตกว้างใหญ่ในเอเซียกลาง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอุซเบกิสถาน , ตากิสถาน , เติร์กเมนิสถาน , คอร์กีเซีย , คาซัคสถาน ทั้งหมดถูกเรียกว่า “ตุรกีสถานตะวันตก” (ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) และรวมถึงแคว้นซินเกียงอุยกูร์ของจีน ซึ่งถูกเรียกว่า “ตุรกีสถานตะวันออก”

ชาวเตอร์กได้เคลื่อนย้ายและอพยพจากถิ่นฐานเดิมหลายระลอกนับแต่ครั้งโบราณ ส่วนใหญ่จะเป็นการอพยพจากดินแดนทางทิศตะวันออกสู่ดินแดนทางทิศตะวันตก ซึ่งสรุปได้ดังนี้

ฮวน-ฮะยาฏิละฮฺ เคลื่อนย้ายจากเขตแม่น้ำอัรคูนหรือออร์คอน (Orkhon) ในมองโกเลียซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำสิลังกา (Selenga) ที่ไหลลงทะเลสาบไบคาลทางทิศตะวันออก สู่เขตทางตอนใต้ของคาซัคสถานหลังคริสตศวรรษที่ 1 ต่อมาเคลื่อนย้ายสู่ตุรกีสถานในช่วงตอนกลางคริสตศตวรรษที่ 2 หลังจากนั้นเคลื่อนย้ายสู่ยุโรปหลังปี ค.ศ. 375 ไปจนถึงแม่น้ำดานูบราวปี ค.ศ. 405 และรุกรานจักรวรรดิโรมันหลังจากนั้น

ภาพวาดสีน้ำมัน อัต-ตีล่า ผู้นำทัพฮวนเข้าโจมตีจักวรรดิโรมัน

ฮุยารฺ-ฮวน เคลื่อนย้ายสู่อาฟกานิสถานและเขตภาคเหนือของอินเดีย (ชมพูทวีป) หลังปี ค.ศ. 350

อุงฆูรฺ เคลื่อนย้ายจากเขตตะวันตกเฉียงใต้ของไซบีเรียสู่รัสเซีย ระหว่างปี ค.ศ. 461-465

อูฆูซฺ-อัล-ฆุซ เคลื่อนย้ายจากเขตแม่น้ำอัรคูนหรือออร์คอนสู่ดินแดนของรัสเซียใกล้กับแม่น้ำสัยหูน (สีร-ดาเรีย) ระหว่างคริสตศวรรษที่ 10 และเคลื่อนย้ายสู่อีหร่านและคาบสมุทร อนาโตเลีย (อนาฎูล) ข้ามดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำอันเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) ในตุรกีสถานตะวันตก (เขตรัสเซีย) ในคริสตศตวรรษที่ 11

อาฟารฺ เคลื่อนย้ายจากเขตดินแดนทางทิศตะวันตกของตุรกีสถานสู่ยุโรปตอนกลางช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 6

บัล-ฆ็อรฺ เคลื่อนย้ายจากเขตทางทิศเหนือของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่คาบสมุทรบอลข่าน (บัลกอน) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรปนับตั้งแต่ทะเลดำ ทะเลมาร์มาร่า อีเจียน และเอเดรียติก หลังปี ค.ศ. 668 ต่อมาพวกเตอร์กบางส่วนอพยพพร้อมกับพวกฮังกาเรียนไปถึงริมฝั่งแม่น้ำวอลก้า (Volga) หลังปี ค.ศ. 830 พวกบุลฆ็อรฺ (บัลฆ็อรฺ) เคยเข้ารับอิสลามอยู่ช่วงหนึ่งต่อมาเมื่ออพยพเข้าสู่ยุโรปได้เข้ารีตในศาสนาคริสต์

สาบ๊ารฺ เคลื่อนย้ายจากทางตอนเหนือของทะเลสาบอาราลสู่คอเคซัส (กูก็อซฺ) หรือเทือกเขา Kavkaz ทางตอนใต้ของรัสเซียซึ่งแผ่ยื่นจากทะเลดำและทะเลสาบแคสเปียน (ก็อซฺวัยนฺ) ถือเป็นเส้นแบ่งพรมแดนทางตอนใต้ของเทือกเขาคอเคซัสเรียกดินแดนส่วนนี้ว่า ดินแดนเบื้องหลังคอเคซัส (มา ว่ารออัลกูก็อซฺ) การอพยพของพวกเตอร์กเผ่าสาบ๊ารฺเกิดขึ้นในช่วงที่สองของคริสตศวรรษที่ 5

อัล-บุชน๊าก-อัลกูมาน คลื่อนย้ายจากทางตอนเหนือของทะเลสาบแคสเปียน (ก็อชฺวัยนฺ) สู่ดินแดนทางทิศตะวันออกของยุโรปและสู่คาบสมุทรบอลข่าน (บัลกอน) ในช่วงเวลาระหว่างคริสตศตวรรษที่ 9 และ 11

อุวัยฆูรฺ-อุยกูรฺ อพยพจากเขตแม่น้ำอัร-คูน หรือออร์คอนสู่อาณาบริเวณของเอเซียกลาง หลังปี ค.ศ. 840 (27)

การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชาวเตอร์กเผ่าต่างๆ จากดินแดนอันเป็นหลักแหล่งเดิมทางทิศตะวันออกของเอเซีย (ภาคเหนือของจีน ไซบีเรีย และมองโกเลีย) สู่ดินแดนในเอเซียกลางแถบทะเลสาบบัลคาช เคอร์กิสถาน ถึงทะเลสาบอาราลเกิดขึ้นหลายระลอกและกินเวลาหลายศตวรรษ จนกระทั่งพวกเตอร์กได้อพยพเข้าสู่อาณาบริเวณระหว่างแม่น้ำสัยหูน (สีรฺดาเรีย) ทางทิศตะวันออกและแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) ทางทิศตะวันตกทำให้ดินแดนส่วนนี้ถูกเรียกขานว่า ตุรกีสถาน หมายถึง ดินแดนของพวกเตอร์ก และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเตอร์กมีดินแดนที่ติดต่อกับพรมแดนทางทิศตะวันออกของรัฐอิสลามในช่วงการปกครองของบรรดาเคาะลีฟะฮฺแห่งนครมะดีนะฮฺ

ชาวเตอร์กในตุรกีสถานตะวันตกและการเข้ารับอิสลาม

ประวัติศาสตร์ของชาวเตอร์กในตุรกีสถานตะวันตกเริ่มขึ้นขณะที่ดินแดนส่วนนี้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจัรวรรดิอัคเมเนียนซึ่งเป็นพวกเปอร์เซีย มีไซรัส ที่ 1 (กูริช) เป็นผู้สถาปนาในศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล ในศิลาจารึกของจักรพรรดิดาริอุส (486-542 ก่อนคริตกาล) ได้บ่งชี้ว่ามีแคว้น 3 แคว้นขึ้นกับจักรวรรดิอัคเมเนียน ได้แก่ แคว้น อัศ-ศอฆด์ , แคว้นคูรอสีมา (คุวาริซม์) และสากา (สาเคาะฮฺ) บรรดาพลเมืองใน 3 แคว้นนี้ได้ต่อสู้กับกองทัพของอเล็กซานเดอร์ แห่งมาซิโดเนีย (356-323 ก่อนคริสตกาล) แต่จักรวรรดิอัคเมเนียนและพลเมืองในแคว้นทั้ง 3 ได้ ปราชัยต่อกองทัพของอเล็กซานเดอร์ ต่อมาพระองค์ได้อภิเษกกับเจ้าหญิงรอกซาน่า (Roxana) แห่งแคว้นอัศ-ศอฆด์

ต่อมานับจากช่วงที่สองของศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล จักรวรรดิปาร์เธียหรือพวกอัชการเนียน (250-224 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งแผ่อำนาจนับจากแม่น้ำยูเฟรติสถึงแคว้นสินธุ และอาณาจักรดิโอโดตัส (Diodotus) ของกรีกในบัคเตรีย (บะลัค-อาฟกานิสถาน) ถูกพวกชนเผ่าสากา (Saka) หรือสาเคาะฮฺซึ่งมีหลักแหล่งอยู่ในที่ราบเบื้องหลังแม่น้ำสัยหูน (สีรฺดาเรีย) กดดันจักรวรรดิปาร์เธีย และอาณาจักรดิโอโดตัสจนเกิดความอ่อนแอ ชนเผ่าสากาสามารถแทรกซึมเข้ายึดครองแคว้นอัศ-ศอฆด์ และข้ามแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) ในช่วงที่สองของศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล

พวกชนเผ่าสากาได้สถาปนาศูนย์กลางการปกครองของพวกตนขึ้นในบัคเตรีย (บะลัค) และยังไม่ทันถึงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล ชนเผ่าสากาก็รุกเข้าสู่ดินแดนของอัฟกานิสถานตลอดจนข้ามแม่น้ำสินธุสู่ดินแดนปัญจาบในชมพูทวีป การเคลื่อนย้ายของพวกเตอร์กสู่ดินแดนทางใต้ของตุรกีสถานเป็นผลมาจากการกดดันของชนเผ่าเหยวเฉอะ หรือที่เอกสารของตะวันตกเรียกว่า พวกฏุคอรียฺ (Tochari) ซึ่งมีพวกกูชานเป็นสาขาหนึ่งเคยปกครองอาณาเขตแถวนี้เป็นเวลา 2 ศตวรรษ ต่อมาอำนาจการปกครองก็ผลัดเปลี่ยนสู่พวกเปอร์เซีย แสดสานิดในรัชสมัยจักรพรรดิอัซฺดะชีรฺที่ 1 ในปี ค.ศ. 227

ชนเผ่าของพวกเตอร์กได้อพยพเคลื่อนย้ายสู่ภูมิภาคตะวันตกและลงตั้งหลักแหล่งใกล้กับอาณาบริเวณริมฝั่งแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) ต่อมาได้เคลื่อนย้ายสู่เฏาะบะริสตาน และญุรญาน (อิหร่าน) พวกเตอร์กจึงเข้าใกล้ดินแดนของรัฐอิสลามซึ่งชาวมุสลิมพิชิตได้หลังสมรภูมินะฮฺวันด์ และจักรวรรดิเปอร์เซีย แสดสานิดในดินแดนฟาริสได้ล่มสลายระหว่างปี ฮ.ศ. 19-21 และก่อนการพิชิตของชาวมุสลิมในดินแดนส่วนนี้ พวกเตอร์กได้รับอิทธิลจากศาสนาโซโรอัสเตอร์ ศาสนาคริสต์นิกายแนสเธอเรียน ยูดาย และพุทธศาสนา นอกจากนี้พวกเตอร์กยังมีความเชื่อที่ผสมผสานกับลัทธิชามานิสม์ (Shamanism) จากที่ราบในเอเซียกลางอีกด้วย (28)

พวกเตอร์กรุ่นแรกที่เข้ารับศาสนาอิสลามคือ พวกเตอร์กุมาน (เตอร์คะเมน) อิบนุ กะษีรฺ บันทึกว่า ในปี ฮ.ศ. ที่ 349 (ค.ศ. 960) พวกเตอร์กได้เข้ารับอิสลามจำนวน 200,000 คัรกาฮฺ (หมายถึงกระโจม) ถูกเรียกขานว่า ตุรก์อีมาน (เตอร์กแห่งศรัทธา) ต่อมาคำๆ นี้กร่อนลงเป็น “ตุรก์มาน” และในปี ฮ.ศ. 432 (ค.ศ. 1041) หลังการสิ้นชีวิตของมีคาอีล ผู้นำชาวเตอร์กุมานในการสู้รบกับพวกเตอร์กนอกศาสนาอิสลาม ฏุฆรุลเบก์มุฮัมมัด และญุฆรียฺ เบก์ ดาวูด บุตรชายทั้งสองของมีคาอีลได้มีอำนาจในการรวมชนเผ่าเตอร์กมานซึ่งเป็นเตอร์กมุสลิม ชื่อของเตอร์กุมานยังไม่เป็นที่แพร่หลายยกเว้นในศตวรรษที่ 7 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช (คริสตศตวรรษที่ 13) หลังการสถาปนาจักรวรรดิมองโกล ชื่อของเตอร์กุมานยังคงเป็นที่รู้จักจวบจนทุกวันนี้ในนามของประเทศเตอร์กเมนิสถาน ในขณะที่ชื่อเรียกเดิมคือ อัล-ฆุซฺ หรืออุงฆูซฺ ได้ถูกลืมเลือนไปในที่สุด (29)

ในปี ฮ.ศ. 126/ ค.ศ. 744 พวกเตอร์กอุวัยฆูรฺ (อุยกูร์) ได้ร่วมกับชนเผ่าเตอร์กกลุ่มอื่นเข้าปราบปรามจักรวรรดิ์เตอร์ก อัล-ญูก และสถาปนาอาณาจักรเตอร์ก อุวัยฆูรฺ ที่มีอาณาเขตนับตั้งแต่ทะเลสาบแคสเปียน (ก็อซฺวัยนฺ) ทางทิศตะวันตกจนถึงแคว้นแมนจูเรีย (ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีนและคาบสมุทรเกาหลี) ทางทิศตะวันออก อาณาจักรอุวัยฆูรฺของพวกเตอร์กกลุ่มนี้เรืองอำนาจสืบมาจนถึงปี ฮ.ศ. 225 / ค.ศ. 840 มีนครอุรดูบาลิกเป็นราชธานี ต่อมาเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพวกเตอร์กอุวัยฆูรฺและเกิดความอดอยากในหมู่ชาวเตอร์กอุวัยฆูรฺ ทำให้พวกเคอร์กิสซึ่งเป็นชนเผ่าเตอร์กเช่นกันเข้ายึดครองดินแดนของพวกเตอร์กอุวัยฆูรฺ ซึ่งส่วนใหญ่อพยพลี้ภัยสงครามและความอดอยากมุ่งหน้าสู่ดินแดนซินเกียง (ตุรกีสถานตะวันออก)

พวกเตอร์กอุวัยฆูรฺได้ร่วมกับชนเผ่าเตอร์กกลุ่มอื่น ได้แก่ เตอร์กซันญาเรียและตาริมบาซันสร้างอาณาจักรเตอร์กอุวัยฆูรฺยุคที่สองขึ้นในแคว้นซินเกียง มีอำนาจเรื่อยมาจนถึงการรุกรานของเจงกิสข่านในปี ฮ.ศ. 605 / ค.ศ. 1029 พวกเตอร์กอุวัยฆูรฺที่มิได้อพยพสู่ตุรกีสถานตะวันออกได้อพยพสู่คาซัคสถานและอยู่ร่วมกับชนเผ่าตาจิก (ฏอญิก) บางส่วน ต่อมาได้เข้ารับอิสลามในคริสตศตวรรษที่ 11 หลังการเข้ารับอิสลามพวกเตอร์กวัยฆุรฺได้สถาปนาอาณาจักรอัล-กอรอคอนาต เรียกผู้ปกครองของพวกเขาว่า “กอรอข่าน” ต่อมาพวกเซลจูกเตอร์กได้เริ่มเรืองอำนาจและกลายเป็นคู่แข่งกับอาณาจักรอัล-กอรอคอนาตในดินแดนที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า ตุรกีสถานและคาซัคสถาน (30)

usmaniyah1_6_2
แผนที่เส้นทางการพิชิตจักรวรรดิเปอร์เซียหลังสมรภูมินะฮาวันด์
usmaniyah1_6_1
แผนที่เส้นทางการพิชิตจักรวรรดิเปอร์เซียหลังสมรภูมินะฮาวันด์

ชนชาติเตอร์กมีการติดต่อและเกี่ยวข้องกับโลกอิสลามอย่างชัดเจนนับตั้งแต่การได้รับชัยชนะของกองทัพมุสลิมต่อจักรวรรดิเปอร์เซียในสมรภูมินะฮาวันด์ ปี ฮ.ศ. ที่ 20 / ค.ศ. 641 ตรงกับสมัยของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ฮ.ศ. 13-23 / ค.ศ. 634-644) ในปี ฮ.ศ. ที่ 22 / ค.ศ. 643 กองทัพมุสลิมได้เคลื่อนสู่ดินแดน “อัล-บาบ” เพื่อทำการพิชิตโดยดินแดนอัล-บ๊าบเป็นถิ่นของชาวเตอร์ก

ฝ่ายอับดุรเราะหฺมาน อิบนุ เราะบีอะฮฺ แม่ทัพมุสลิมได้พบกับคอกอนผู้ปกครองเตอร์กซึ่งมีนามว่า ชะฮฺบะรอซฺ ฝ่ายคอกอน ชะฮฺบะรอชได้ขอประนีประนอมกับแม่ทัพอับดุรฺเราะหฺมานและเตรียมพร้อมส่งกองทัพเข้าร่วมกับฝ่ายกองทัพมุสลิมเพื่อทำสงครามกับอาร์เมเนีย แม่ทัพอับดุรเราะหฺมานยอมรับข้อเสนอของชะฮฺบะรอช และมีสารไปถึงเคาะลีฟะฮฺ อุมัรฺ อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) เพื่อแจ้งเรื่อง เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ (ร.ฎ.) เห็นด้วย การประนีประนอมระหว่าง 2 ฝ่ายจึงเกิดขึ้น และกองทัพของมุสลิมและพวกเตอร์กก็เข้าร่วมกันพิชิตดินแดนอาร์เมเนีย การพิชิตดินแดนอัล-บ๊าบของพวกเตอร์กโดยการประนีประนอมเป็นผลทำให้พวกเตอร์กในดินแดนดังกล่าวเข้ารับอิสลาม และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพมุสลิมที่เข้าพิชิตดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฟาริสและแคว้นอาร์เมเนีย (31)

การเข้ารับอิสลามของชนเผ่าเตอร์กุมาน (ตุรก์อีมาน) และเตอร์กในดินแดนอัล-บ๊าบ ตลอดจนเตอร์กอุวัยฆุรฺส่วนใหญ่นับเป็นการเข้ารับอิสลามโดยสมัครใจและเป็นไปโดยสันติวิธี ถึงแม้อาจจะกล่าวได้ว่าในกรณีของเตอร์กในดินแดนอัลบ๊าบจะมีผลมาจากการกดดันของกองทัพมุสลิมก็ตาม เพราะภายหลังการทำข้อตกลงประนีประนอมระหว่างกองทัพมุสลิมกับคอกอนของเตอร์กแห่งอัล-บ๊าบแล้วก็ไม่มีการรบพุ่งระหว่าง 2 ฝ่ายแต่อย่างใด มิหนำซ้ำชาวเตอร์กแห่งอัล-บ๊าบยังได้เข้ารับอิสลามและส่งกำลังพลเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการพิชิตแคว้นอาร์เมเนียของกองทัพมุสลิมอีกด้วย

ในกรณีการเข้ารับอิสลามของชนเผ่าเตอร์กทั้งหมดภายหลังการพิชิตดินแดนของกองทัพมุสลิมในภาคตะวันออกซึ่งเป็นดินแดนของจักรวรรดิเปอร์เซีย แสดสานิด และดินแดนของพวกเตอร์กอยู่ถัดมาในแคว้นตุรกีสถานและอาณาเขตต่อเนื่องในเอเซียกลาง คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการกล่าวถึงการพิชิตของกองทัพมุสลิมนับตั้งแต่สมรภูมินะฮาวันด์และช่วงเวลาต่อจากนั้น

การพิชิตดินแดนจักรวรรดิเปอร์เซียของกองทัพมุสลิม

จักรวรรดิเปอร์เซียในราชวงศ์แสดสานิด มีอำนาจนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 224- 651 กองทัพของจักรวรรดิเปอร์เซียส่วนหนึ่งเป็นพวกชนเผ่าเตอร์กที่เป็นกองทหารรับจ้างและหัวเมืองทางด้านทิศตะวันออกเป็นถิ่นของพวกเตอร์ก ได้แก่ ฏูรอน , บ๊ารฺตาน , กุชานชะฮฺร์ และศอฆดียานาหรือดินแดนอัศ-ศุฆด์ (อัศ-ศอฆด์) ทางทิศตะวันออกของดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) และแคว้นคุรอสานก็มีอาณาเขตติดต่อกับแคว้นคุวาริซม์ เหตุนี้การพิชิตจักรวรรดิเปอร์เซียแสดสานิดของกองทัพมุสลิมจึงเท่ากับเป็นการพิชิตดินแดนของพวกเตอร์กที่อยู่ภายใต้อำนาจของเปอร์เซียและเป็นการเปิดประตูสู่ดินแดนของพวกเตอร์กในเอเซียกลาง

สมรภูมินะฮาวันด์ ปี ฮ.ศ. 19 หรือ ฮ.ศ. 20 / ค.ศ. 640 หรือ ค.ศ. 641 (ดร.หุสัยนฺ มุอฺนิส ระบุว่า ปี ฮ.ศ. 20 / ค.ศ. 641 น่าจะถูกต้องที่สุด) ถูกเรียกว่า “ฟัตหุลฟุตูห์” (การพิชิตแห่งการพิชิต) เพราะในสมรภูมินี้กองทัพสุดท้ายของจักรวรรดิเปอร์เซียแสดสาสนิดได้รับความปราชัย และจักรวรรดิ์เปอร์เซียได้สิ้นสุดลง ถึงแม้ว่าจักรพรรดิยัซดะญัรด์ ที่ 3 (ค.ศ. 632 – 654) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของเปอร์เซียยังคงหลบหนีไปยังหัวเมืองต่างๆ จนถึงปี ฮ.ศ. 34 / ค.ศ. 654 จักรพรรดิยัซดะญัรฺด์ ที่ 2 ได้ถูกลอบปลงพระชนม์ ราชวงศ์แสดสานิดของเปอร์เซียจึงสิ้นสุดลง

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น นครอัล-บัศเราะฮฺได้ถูกสร้างขึ้นในอิรัก ปี ฮ.ศ. 16 / ค.ศ. 637 และนครอัล-กูฟะฮฺได้ถูกสร้างขึ้นในปี ฮ.ศ. 17 / ค.ศ. 638 ทั้งสองเมืองนี้ได้กลายเป็นเขตการปกครองสำคัญในอิรักและเป็นศูนย์กลางในการบัญชาการทางทหารของกองทัพมุสลิม โดยกองทัพแห่งนครอัล-บัศเราะฮฺได้มุ่งหน้าพิชิตดินแดนตอนกลางและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอิหร่าน โดยเฉพาะแคว้นคุรอสาน ซึ่งเป็นหัวใจของอิหร่าน ส่วนกองทัพแห่งนครอัล-กูฟะฮฺจำกัดเฉพาะการพิชิตอาณาเขตทางตอนใต้ของทะเลสาบแคสเบียน (ก็อซวัยนฺ) และแคว้นญุรญาน การพิชิตดินแดนของอิหร่านซึ่งเป็นอาณาเขตดินแดนของจักรวรรดิเปอร์เซียในช่วงแรกนี้กินเวลาระหว่างปี ฮ.ศ. ที่ 19 / ค.ศ. 640 จนถึงปี ฮ.ศ. ที่ 30 / ค.ศ. 651 ตรงกับสมัยเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) และเคาะลีฟะฮฺ อุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.)

ในสมัยเคาะลีฟะฮฺอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) (ฮ.ศ. 23 – 35 / ค.ศ. 644 – 656) อับดุลลอฮฺ อิบนุ อามิรฺเป็นเจ้าเมืองอัล-บัศเราะฮฺในช่วงปลาย ฮ.ศ. 29 / กลาง ค.ศ. 650 กองทัพมุสลิมสามารถพิชิตแคว้นคุรอสานได้ทั้งหมด แม่ทัพของอับดุลลอฮฺ อิบนุ อามิรฺ ที่ชื่ออัล-อะหฺนัฟ อิบนุ กอยสฺได้นำทัพจากฏอบสีน (คุรอสาน) เข้ารบพุ่งกับพวกเตอร์ก ฮะยาฏิละฮฺ (ฮวน) ในเมืองฮะรอต (เฮรัต) กองทัพมุสลิมได้รับชัยชนะและถอยกลับมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนัยสะบูรฺ

ต่อมาในปี ฮ.ศ. ที่ 32 / ค.ศ. 652 อับดุลลอฮฺ อิบนุ อามิรฺได้ส่งแม่ทัพอัล-อะหฺนัฟ เข้าพิชิตเมืองมัรว์ อัร-เราะวฺซ์ ทางตอนใต้ของแคว้นคุรอสาน และในระหว่างการเดินทัพ แม่ทัพอัล-อะหฺนัฟได้ตีป้อมปราการอัร-รุสต๊าก ซึ่งต่อมารู้จักกันในนาม กอศรุลอะหฺนัฟ ณ อาณาบริเวณนี้กองทัพมุสลิมได้รุกคืบหน้ามาถึงบริเวณแม่น้ำอัล-มุรฺฆอบ ซึ่งเป็นเส้นพรมแดนแบ่งเขตระหว่างพวกอิหร่านและพวกเตอร์ก เมื่อกองทัพมุสลิมข้ามแม่น้ำอัล-มุรฺฆอบสู่ทิศตะวันออกก็เท่ากับว่ากองทัพมุสลิมได้เข้าสู่ดินแดนของพวกเตอร์กในอาณาบริเวณนี้ อย่างไรก็ตามกองทัพมุสลิมยังไม่สามารถรุกคืบต่อไปได้ในช่วงแรก เนื่องจากพวกเตอร์กยังคงสามารถรบพุ่งต้านทานกองทัพมุสลิมเอาไว้ได้

อัล-อะหฺนัฟได้ส่งกองทัพภายใต้การนำของอัล-อักเราะอฺ อิบนุ หาบิสไปพิชิตแคว้นอัล-ญุซฺญาณ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำอัล-มุรฆอบและแม่น้ำอมูดเรีย ดินแดนแถบนี้เป็นเส้นทางการเดินทัพในสมัยโบราณระหว่างพวกอิหร่าน (เปอร์เซีย) และดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำของพวกเตอร์ก และมุญาชิอฺ อิบนุ มัสอู๊ด อัส-สุละมียฺ แม่ทัพของอัล-อะหฺนัฟได้พิชิตแคว้นกิรฺมาน ทำให้เส้นทางจากเมืองอัล-บัศเราะฮฺสู่แคว้นคุรอสานมีความปลอดภัย และอับดุลลอฮฺ อิบนุ อามิรฺได้ส่งกองทัพภายใต้การนำของอัรฺ-เราะบีอฺ อิบนุ ซิยาด อัล-หาริษียฺไปยังแคว้นสิญิสตาน พลเมืองของสิญิสตานยอมจ่ายภาษีญิซยะฮฺ และแคว้นสิญิสตานทางด้านทิศตะวันออกก็ถูกพิชิตได้หลังจากนั้น

ในช่วงต้นราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺแห่งนครดามัสกัส (ฮ.ศ. 40 – 132 / ค.ศ. 661-750) รัชสมัยเคาะลีฟะฮฺมุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยาน (ร.ฎ.) เจ้าเมืองอัล-บัศเราะฮฺ , คุรอสาน และสิญิสตานยังคงเป็นอับดุลลอฮฺ อิบนุ อามิรฺ กองทัพมุสลิมพิชิตแคว้นทั้งหมดของพวกเปอร์เซียแสดสานิดเดิม อันได้แก่อัล-ญิบาล (เขตภูเขา) อัร-รอยฺย์ , เฏาะบะริสตาน , ฟาริส , กิรฺมาน , สิญิสตาน , กูลิสตาน และคุรอสาน การรบพุ่งกับพวกเตอร์กโดยตรงจึงเริ่มขึ้นหลังจากนี้ เพราะทางทิศตะวันออกของจักรวรรดิเปอร์เซียคือดินแดนของพวกเตอร์ก-มองโกล เฉพาะพวกเตอร์กอย่างเดียวก็มีชนเผ่ามากมายหลายสาขาดังที่กล่าวถึงมาแล้ว และกองทัพของชาวมุสลิมที่ประกอบด้วยชาวอาหรับ ชาวอิหร่านมุสลิม และเตอร์กมุสลิมจะเผชิญหน้ากับพวกเตอร์กที่ยังเป็นพวกปฏิเสธต่อจากนี้ เป็นชนเผ่าเตอร์กกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าที่มีถิ่นฐานต่อเนื่องกันไปจนถึงเส้นพรมแดนทางทิศตะวันตกของแผ่นดินจีน

แม่ทัพอัรฺ-เราะบีอฺ อิบนุ ซิยาดได้พิชิตเมืองบะลัค (บักเตเรีย) อีกครั้ง และสร้างความปราชัยแก่พวกเตอร์กในหัวเมืองบาดฆิส ฮะรอต (เฮรัต) และบูชังญ์ ต่อมาแม่ทัพอับดุลลอฮฺ บุตรชายของอัร-เราะบีอฺ อิบนุ ซิยาดได้พิชิตดินแดนจนถึงริมฝั่งแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) และทำสนธิสัญญาประนีประนอมกับพลเมืองซัม ในปี ฮ.ศ. ที่ 53-59 / ค.ศ. 672 – 679 อุบัยดุลลอฮฺ อิบนุ ซิยาด อิบนุ อะบีฮฺ ได้ถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองอัล-กูฟะฮฺ และอัล-บัศเราะฮิ กองทัพของชาวมุสลิมได้ข้ามแม่น้ำญัยหูน และเข้าพิชิตบีกันด์ และบุคอรอจากพวกเตอร์ก อัศ-ศุฆด์ (อัศ-ศอฆด์) ในดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน

ในปี ฮ.ศ. ที่ 55 / ค.ศ. 675 สะอีด อิบนุ อุษมาน อิบนิ อัฟฟานเป็นเจ้าเมืองคุรอสานได้นำกองทัพขนาดใหญ่รุกเข้าไปในดินแดนของพวกเตอร์ก อัศ-ศุฆด์ (อัศ-ศอฆด์) จนกระทั่งเลยเข้าไปถึงเขตบาบ อัล-หะดีด และพิชิตเมืองติรฺมิซ (Termez) บนริมฝั่งแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) กองทัพมุสลิมจึงควบคุมเส้นทางสายหลักจากคุรอสานถึงดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน

ในปี ฮ.ศ. ที่ 61 / ค.ศ. 681 สาลิม อิบนุ ซิยาดเป็นเจ้าเมืองคุรอสานและสิญิสตาน ได้นำทัพออกจากนครอัล-บัศเราะฮฺมุ่งหน้าสู่คุรอสานในเส้นพรมแดนทางตะวันออกและเข้าพิชิตนครบุคอรอ และสะมัรฺกอนด์ได้อีกครั้งอย่างเบ็ดเสร็จ ต่อมาสาลิม อิบนุ ซิยาดได้ส่งกองทัพเข้ารบพุ่งกับเซาว์นะบีล ผู้ปกครองเตอร์กแห่งซาบะลิสตาน แต่กองทัพมุสลิมได้รับความปราชัย การรุกคืบของกองทัพมุสลิมจึงยุติลงชั่วคราว

ลุสู่รัชสมัยเคาะลีฟะฮฺ อับดุลมะลิก อิบนุ มัรวาน (ฮ.ศ. 26-86 / ค.ศ. 646-705) และเคาะลีฟะฮฺ อัล-วะลีด อิบนุ อับดิลมะลิก (ฮ.ศ. 86-96 / ค.ศ. 705-715) แห่งราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺ มนฑลอิรักและแคว้นทางทิศตะวันออกของรัฐอิสลามอยู่ในอำนาจการบังคับบัญชาชองอัล-หัจญาจ อิบนุ ยูสุฟ อัษ-ษะเกาะฟียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 95 / ค.ศ. 714) การพิชิตดินแดนภาคตะวันออกของรัฐอิสลามได้เริ่มต้นอีกครั้ง โดยมีแม่ทัพของอัล-หัจญาจจำนวน 3 คนได้แก่ อัล-มุฮัลลับ อิบนุ อบีศุฟเราะฮฺ อัล-อัซดียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 83 / ค.ศ. 702) กุตัยบะฮฺ อิบนุ มุสลิม อัล-บาฮิลียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 96 / ค.ศ. 715) และมุฮัมมัด อิบนุ อัล-กอสิม อัษ-ษะเกาะฟียฺ (เสียชีวิตราว ฮ.ศ. 98 / ค.ศ. 717)

แม่ทัพอัล-มุฮัลลับได้รับการแต่งตั้งจากอัล-หัจญาจให้เป็นเจ้าเมืองคุรอสานในปี ฮ.ศ. 78 / ค.ศ. 697 แม่ทัพอัล-มุฮัลลับและลูกๆ ของเขาได้แผ่ขยายอาณาเขตของรัฐอิสลามในดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน โดยอัล-มุฮัลลับได้นำทัพเข้ายึดครองเมืองกัซในแคว้นอัศ-ศุฆด์ และส่งยะซีดบุตรชายของตนให้นำทัพสู้รบกับกษัตริย์แห่งแคว้นโคตาน (Kotan) หรืออัล-เคาะตัลและพิชิตป้อมปราการบัยซักในแคว้นบาดฆิสซึ่งตั้งอยุ่ระหว่างเมืองมัรว์ และฮะรอต (เฮรัต) ตลอดจนรบพุ่งกับพวกคุวาริชม์และพิชิตแคว้นญุรฺญานและเฏาะบะริสตานได้อย่างเด็ดขาด ส่วนอัล-มุฟัฏฏอล อิบนุ อัล-มุฮัลลับน้องชายของยะซิดสามารถพิชิตแคว้นบาดฆิสและชูมานเอาไว้ได้อย่างเด็ดขาด

ในปี ฮ.ศ. ที่ 86 / ค.ศ. 705 อัล-หัจญาจ อิบนุ ยูสุฟได้แต่งตั้งกุตัยบะฮฺ อิบนุ มุสลิม อัล-บาฮิลียฺเป็นผู้ปกครองแคว้นคุรอสานและภูมิภาคตะวันออกของรัฐอิสลาม กุตัยบะฮฺมีอำนาจอยู่จนถึงปี ฮ.ศ. 99 / ต.ศ. 717 นับได้ว่าแม่ทัพกุตัยบะฮฺ อิบนุ มุสลิมมีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งในการพิชิตดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูนของพวกเตอร์ก การพิชิตดินแดนของแม่ทัพกุตัยบะฮฺแบ่งออกเป็น 4 ช่วงด้วยกัน ดังนี้

ช่วงที่หนึ่ง กุตัยบะฮฺนำทัพเข้าพิชิตแคว้นเฏาะคอริสตานตอนล่างได้อย่างสมบูรณ์ในปี ฮ.ศ. 86 / ค.ศ. 705 แคว้นเฏาะคอรสิตานเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นคุรอสาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เฏาะคอริสตานตอนบนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองบะลัค (บักเตรีย) และอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) ส่วนเฏาะคอริสตานตอนล่างนั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำญัยหูนเช่นกัน

ช่วงที่สอง ระหว่างปี ฮ.ศ. 87-90 / ค.ศ. 706 – 708 กุตัยบะฮฺ อิบนุ มุสลิมนำทัพเข้าพิชิตบุคอรอ , บัยกันด์ , ตูมัรกัตและรอมีษะฮฺ โดยสมบูรณ์

ช่วงที่สาม ระหว่างปี ฮ.ศ. 91-93 / ค.ศ. 709 – 711 กองทัพของชาวมุสลิมตั้งมั่นอยู่ในเขตลุ่มน้ำญัยหูนทั้งหมด และเข้าพิชิตแคว้นสิญิสตานอีกครั้งโดยสมบูรณ์ หลังจากนั้นพิชิตแคว้นคุวาริซม์และผนวกนครสะมัรกอนด์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสลาม

ช่วงที่สี่ ระหว่างปี ฮ.ศ. 94-96 / ค.ศ. 712 – 714 กุตัยบะฮฺนำทัพรุกเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำสัยหูน (สีรฺดาเรีย) จนถึงเมืองฟัรฺฆอนะฮฺ (เฟอร์กานา) ต่อมานำทัพเข้าสู่แผ่นดินจีนในปี ฮ.ศ. 96 / ค.ศ. 714 -715 และรุกเข้าไปถึงเมืองกัซฆอรฺ (กัชการ์) ในแคว้นซินเกียงของจีน นักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับส่วนใหญ่ระบุว่า การพิชิตของแม่ทัพกุตัยบะฮฺ อิบนุ มุสลิมสิ้นสุดลงที่เมืองกัชฆอรฺ (32)  แต่นักประวัติศาสตร์บางส่วนระบุว่า กุตัยบะฮฺนำทัพรุกเข้าไปถึงญังฆอเรียติดเส้นพรมแดนของมองโกเลีย และตุรฺฟานที่เส้นพรมแดนมองโกเลีย รวมถึงโคตานทางตอนเหนือของธิเบตและแคชเมียร์ (33)

ส่วนแม่ทัพมุฮัมมัด อิบนุ อัล-กอสิมนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นผู้พิชิตแคว้นสินธุและมุลตานของอินเดีย การพิชิตดินแดนภาคตะวันออกของกองทัพมุสลิมนับตั้งแต่หลังสมรภูมินะฮาวันด์ ในสมัยเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) เรื่อยมาจนถึงยุครุ่งเรืองของรัฐอิสลามในราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺแห่งนครดามัสกัส ถือเป็นการผนวกดินแดนของพวกเตอร์กในอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสลาม ชาวเตอร์กในอาณาจักรเฏาะคอริสตาน , เศาะฆอนียาน , อัศ-ศุฆด์ คุวาริซม์ และตุรกีสถานตะวันออก (ซินเกียงอุยกุรฺ) ได้เข้ารับอิสลามโดยส่วนใหญ่หลังจากนั้นและพลเมืองเตอร์กในหลายเผ่าพันธุ์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งจากประชาคมมุสลิมซึ่งจะมีบทบาทอย่างสำคัญต่อไปในประวัติศาสตร์โลกมุสลิม

ภาพมัสญิดเก่าแก่ในเมืองกัชการ์ แคว้านซินเกียงอุยกูรฺ
ภาพมัสญิดเก่าแก่ในเมืองกัชการ์ แคว้นซินเกียงอุยกูรฺ

ในรัชสมัยของราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ (ฮ.ศ. 132 – 656 / ค.ศ. 750 – 1259) กองทัพมุสลิมไม่ได้พิชิตดินแดนเพิ่มเติมและไม่ได้แผ่ขยายอาณาเขตของรัฐอิสลามให้กว้างออกไปมากกว่าที่กองทัพมุสลิมในสมัยราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺได้เคยกระทำมา ทั้งๆ ที่ราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺมีอายุหลายร้อยปีต่างจากกรณีของราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺที่ส่งกองทัพสู่ดินแดนต่างๆ นอกคาบสมุทรอาหรับและพิชิตดินแดนในแอฟริกาเหนือจนไปถึงคาบสมุทรไอบีเรียในเอ็นดะลูเซีย (สเปน) และพิชิตดินแดนภาคตะวันออกจนถึงอาณาเขตของแผ่นดินจีนและแคว้นสินธุ

ชาวอิหร่านและพวกเตอร์กโดยส่วนใหญ่ได้เข้ารับอิสลาม พลเมืองในแคว้นสินธุกลายเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมมุสลิม กษัตริย์แห่งแคชเมียร์และกษัตริย์เตอร์กแห่งแคว้นเคาะซิรฺเข้ารับอิสลามตามคำเชิญชวนของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนุ อับดิลอะซีซ (ร.ฎ.) แห่งราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺ ชนเผ่าเบอร์เบอร์ในแอฟริกาเหนือเข้ารับอิสลาม และกองทัพของมุสลิมรุกคืบไปถึงฝรั่งเศสทางตอนใต้ กองทัพมุสลิมยังพยายามเข้ายึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลของจักรวรรดิโรมันไบเซนไทน์ถึง 3 ครั้ง ส่วนราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺกลับไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้ ยกเว้นการพิชิตภาคตะวันออกของเอเซียน้อย (เอเซียไมเนอร์) เท่านั้น หากกองทัพของราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺรุกคืบตือไปทางภาคตะวันออกและภาคตะวันตกในเขตยูโรเซีย ประวัติศาสตร์โลกย่อมถูกพลิกโฉมและกลายเป็นคนละเรื่องอย่างแน่นอน (34)


อ้างอิง

(1) เกาะเศาะศุลอัมบิยาอฺ ; หน้า 81 สำนักพิมพ์ดารุลคอยร์ ; เบรุต-ดามัสกัส ; 1996

(2)  เกาะเศาะศุลอัมบิยาอฺ ; อิบนุ กะษีรฺ หน้า 81 , อัฏ-เฏาะบะกอต อัล-กุบรอ ; อิบนุ สะอฺด์ 1/1/18 สำนักพิมพ์อัต-ตะหฺรีรฺ , ตารีคอัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/210 สำนักพิมพ์มะอาริฟ

(3) ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/124-125 ; สำนักพิมพ์ดารุล กุตุบ อัล-อิลมียะฮฺ (เบรุต) 1987

(4) ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/126 ; สำนักพิมพ์ดารุล กุตุบ อัล-อิลมียะฮฺ (เบรุต) 1987

(5) ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/127 ; สำนักพิมพ์ดารุล กุตุบ อัล-อิลมียะฮฺ (เบรุต) 1987

(6) ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/129 ; สำนักพิมพ์ดารุล กุตุบ อัล-อิลมียะฮฺ (เบรุต) 1987

(7) เกาะเศาะศุลอัมบิยาอฺ ; อิบนุ กะษีรฺ หน้า 81

(8) ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/129

(9) ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/125

(10) ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/128

(11) ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/131

(12) ดู ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/125

(13) ดู ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/127

(14) The history of Islam ; Akbar shah najeebabadi

(15) อัฏลัส ตารีค อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ หน้า 11 สำนักพิมพ์ อิมาม อัซ-ซะฮะบียฺ (คูเวต) 2014

(16) อัล-มะฆูล ; ดร.อัสสัยยิด อัล-บาซฺ อัล-อะรีฟียฺ ; สำนักพิมพ์ อัน-นะฮฺเฎาะฮฺ อัล-อะเราะบียะฮฺ (เบรุต) 1986 หน้า 32

(17) อัล-มะฆูล ; ดร.อัสสัยยิด อัล-บาซฺ อัล-อะรีฟียฺ ; สำนักพิมพ์ อัน-นะฮฺเฎาะฮฺ อัล-อะเราะบียะฮฺ (เบรุต) 1986 หน้า 28-29

(18) อัล-มะฆูล ; ดร.อัสสัยยิด อัล-บาซฺ อัล-อะรีฟียฺ ; สำนักพิมพ์ อัน-นะฮฺเฎาะฮฺ อัล-อะเราะบียะฮฺ (เบรุต) 1986 หน้า 30

(19) อัล-มะฆูล ; ดร.อัสสัยยิด อัล-บาซฺ อัล-อะรีฟียฺ ; สำนักพิมพ์ อัน-นะฮฺเฎาะฮฺ อัล-อะเราะบียะฮฺ (เบรุต) 1986 หน้า 30-31

(20) อัล-มะฆูล ; ดร.อัสสัยยิด อัล-บาซฺ อัล-อะรีฟียฺ ; สำนักพิมพ์ อัน-นะฮฺเฎาะฮฺ อัล-อะเราะบียะฮฺ (เบรุต) 1986 หน้า 31

(21) อัล-มะฆูล ; ดร.อัสสัยยิด อัล-บาซฺ อัล-อะรีฟียฺ ; สำนักพิมพ์ อัน-นะฮฺเฎาะฮฺ อัล-อะเราะบียะฮฺ (เบรุต) 1986 หน้า 33

(22) The history of Islam ; Akbar shah Najeebabadi

(23) ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/297

(24) ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 1/131

(25) อัล-มุนญิด ฟิลลุเฆาะฮฺ วัล-อะอฺลาม หน้า 352

(26) อัฏลัส ตารีค อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ หน้า 11

(27) อัฏลัส ตารีค อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ หน้า 14

(28) อัล-เมาวฺสูอะฮฺ อัล-อะเราะบียะฮฺ ; นัจญ์ดะฮฺ คุม๊าช 6/338

(29) อัฏลัส-ตารีค อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ ; หน้า 15

(30) อัฏลัส ตารีค อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ หน้า 16

(31) อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ อะวามิล อัน-นะฮฺเฎาะฮฺ ว่า อัสบาบ อัส-สุกูฏ ; ดร.อะลี อัศ-ศอลลาบียฺ หน้า 22

(32) อัฏลัส ตารีค อัล-อิสลาม : ดร.หุสัยนฺ มุอฺนิส หน้า 131

(33) เกาะฎียะฮฺ ตุรกีสตาน อัช-ชัรฺกียะฮฺ ; อิสมาอีล หักกียฺ ชันเกาลัรฺ หน้า 64-65

(34) อัฎลัส ตารีค อัล-อิสลาม ; ดร.หุสัยนฺ มุอฺนิส หน้า 51