บทที่ 3 : พวกเตอร์กอุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน เติร์ก)

พงศ์พันธุ์และเชื้อสาย

พวกอุษมานียูน (ออตโตมาน) เป็นชนเผ่าเติร์กเช่นเดียวกับพวกเซลจูกและตุรฺกุมาน (เตอร์คะเมน) ซึ่งเป็นสาขาของชนชาติเติร์ก อัล-ฆ็อซ หรืออุงฆูซที่มีหลักแหล่งอยู่ในแคว้นตุรกีสถานหรือดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย) และแม่น้ำสัยหูน (สีรฺดาเรีย) นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่าพวกอุษมานียูนเป็นลูกหลานของชนเผ่าเล็กๆ ที่ชื่อ เผ่ากอยี (ในตำราบางเล่มเขียนว่า กอบียฺ) เผ่ากอยีเป็นสาขาของชนชาติเติร์ก อัล-ฆ็อซ หรืออุงฆูซซึ่งต่อมาเรียกกันว่า ตุรฺกุมาน (เตอร์คะเมน) จึงไม่แปลกที่ตำราประวัติศาสตร์บางเล่มได้ระบุว่าพวกอุษมานียูนเป็นพวกตุรฺกุมานซึ่งเข้ารับอิสลามในปี ฮ.ศ. ที่ 349 จำนวน 200,000 ค็อรฺกาฮฺ (หมายถึงกระโจมขนาดใหญ่ในภาษาเปอร์เซีย) ตามที่อิบนุ กะษีรฺ ได้บันทึกไว้

 

ชนเผ่ากอยีมีผู้นำเผ่าชื่อ กูนดูซ อัลบ์ ตั้งหลักแหล่งอยู่ร่วมกับชนชาติอุงฆูซหรือตุรฺกุมานในอาณาบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบแคสเบียน (ก็อซวัยนฺ – ทะเลอัล-เคาะซัรฺ) และทะเลสาบคุวาริซมฺ (ทะเลสาบอาราล Aral) ต่อมากูนดูซ อัลบ์ได้พาชนเผ่ากอยีอพยพสู่ลุ่มน้ำไทกริส (ดิจญ์ละฮฺ) ในแคว้นกุรฺดิสตาน (เคอร์ดิสถาน) ในเวลานั้นชนเผ่ากอยีมีจำนวน 400 กระโจม คิดเป็นจำนวนคนราว 4,000 คน

แผนที่แสดงเส้นทางการอพยพของชนเผ่ากอยี

ต่อมากูนดูซ อัลบ์ เสียชีวิต สุลัยมาน ชาฮฺ บุตรชายของกูนดูซ อัลบ์ ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่ากอยี ต่อมาพวกมองโกลภายใต้การนำของเจงกิสข่านได้รุกรานแคว้นตุรกีและที่ราบสูงอีหร่านในศตวรรษที่ 7 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช / คริสตศตวรรษที่ 13 สุลัยมานชาฮฺได้นำชนเผ่ากอยีเข้าร่วมสมทบกับกองทัพของญะลาลุดดีน มังกุบัรฺตียฺ อิบนุ คุวาริซม์ ชาฮฺ เพื่อรบพุ่งกับพวกมองโกลแต่กองทัพของคุวาริซม์ปราชัยต่อพวกมองโกล สุลัยมานชาฮฺจึงนำชนเผ่ากอยีอพยพสู่อาเซอร์ไบจาน ที่บริเวณเส้นพรมแดนทางทิศตะวันออกของเอเซียน้อยใกล้กับแคว้นอาร์เมเนีย

 

ต่อมาสุลัยมานชาฮฺต้องการกลับสู่มาตุภูมิเดิม จึงนำชนเผ่ามุ่งหน้าสู้ป้อมญะอฺบัรฺซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส (ฟุร็อต) – ปัจจุบันอยู่ในซีเรีย – แต่ในขณะที่กำลังข้ามแม่น้ำยูเฟรติส สุลัยมานชาฮฺถูกกระแสน้ำพัดจมหายไป ชนเผ่ากอยีได้ตามหาศพของสุลัยมานชาฮฺจนพบและนำศพของเขามาฝังไว้ที่ป้อมญะอฺบัรฺ เรียกกันว่า “เติร์กมะซารียฺ” อิบรอฮีม เบยฺก์ หะลีม บันทึกว่า สุลัยมานชาฮฺมีบุตรชาย 4 คน ได้แก่ สุงกูรฺตะกีน , กูน ฏูฆดียฺ สองคนนี้กลับสู่มาตุภูมิเดิมของชนเผ่ากอยี อีก 2 คน คือ อัรฺฏุฆรุล เบยฺก์ และ ดันดาน 2 คนนี้พาชนเผ่ากอยีที่เหลือสู่อัรฺฏ์รูมในคาบสมุทรอนาโตเลียและตั้งกระโจม ณ สถานที่ซึ่งเรียกกันว่า “ศอรฺมิลลู ญะกูรฺ ศอหฺรอสียฺ” (1)

 

ในขณะที่อะหฺมัด อิบนุ มุฮัมมัด อิบนุ อัล-มุลลา ระบุว่า สุลัยมานชาฮฺมีบุตรชาย 3 คน คือ สูงกูร ซังกียฺ , กูน ฏูฆดียฺ และอัรฺฏุฆรุล (2)  ส่วนดร.หุสัยนฺ มุอฺนิส ระบุว่า อูรฺข่าน บุตรชายของสุลัยมานชาฮฺได้ขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่ากอยี (3) แต่ดร.มุฮัมมัด หัรฺบ์ เขียนว่า อัรฺฏุฆรุลเป็นบุตรของกูนดูซ อัลบ์  (4)

 

การลำดับบรรพบุรุษของอัรฺฏุฆรุล ที่ย้อนกลับไปในอดีตจึงมีความสับสนพอๆ กับการจัดลำดับการอพยพเคลื่อนย้ายของขนเผ่ากอยีจากนิวาสถานเดิมในดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำสู่แคว้นต่างๆ ก่อนเข้ามาตั้งหลักแหล่งในคาบสมุทรอนาโตเลีย เหตุนี้กระมังที่ตำราประวัติศาสตร์บางเล่มซึ่งเขียนถึงการอุบัติขึ้นของพวกอุษมานียูนเริ่มต้นที่อัรฺฏุฆรุลผู้เป็นบิดาของอุษมาน ฆอซียฺ ปฐมวงศ์ผู้ตั้งราชวงศ์อุษมานียะฮฺ โดยไม่ลงรายละเอียดถึงบรรพบุรุษของอัรฺฏุฆรุลก่อนหน้านั้น และระบุถึงการตั้งหลักแหล่งของชนเผ่ากอยีในคาบสมุทรอนาโตเลียโดยตัดตอนไม่กล่าวถึงการตั้งหลักแหล่งในช่วงของการอพยพย้ายถิ่นก่อนเข้าสู่คาบสมุทรอนาโตเลีย เพราะสิ่งที่แน่ชัดและเป็นมติของนักประวัติศาสตร์คือพวกอุษมานียูน (ออตโตมาน) เป็นเติร์กเผ่ากอยี มีผู้นำเผ่าที่ชื่อ อัรฺฏุฆรุล ซึ่งเป็นบิดาของอุษมาน (ออตมาน) ผู้เป็นปฐมวงศ์ของราชวงศ์อุษมานียะฮฺ โดยนับเอาการตั้งหลักแหล่งของชนเผ่ากอยีในคาบสมุทรอนาโตเลียเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์แห่งอุษมานียะฮฺที่แท้จริง

 

ชนเผ่ากอยีในสมัยอัรฺฏุฆรุล

บุตรชายของสุลัยมานชาฮฺ 2 คนคือ อัรฺฏุฆรุลและดันดานได้นำชนเผ่ากอยีจำนวน 400 ครอบครัวมุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอนาโตเลีย และลงพักที่อัรฺฏุรูม ณ เมือง อัรฺซินญาณ (เออร์ซิงกาน Erzinguian) ต่อมาอัรฺฏุฆรุลขึ้นเป็นผู้นำเผ่ากอยี อัรฺฏุฆรุลมีบุตรชาย 3 คน คือ กูนดูซ , ศอรุนบียฺ และ   อุษมาน (5) ในตำราบางเล่มออกชื่อบุตรชายของอัรฺฏุฆรุลอีกคนหนึ่งว่า ซาวญียฺ (6) อัรฺฏุฆรุลได้ส่งบุตรชายของตนที่ชื่อศอรุนบียฺ หรือซาวญียฺไปยังผู้ปกครองเมืองกูนียะฮฺ (Konia) และซีวาสในเวลานั้นคือ สุลฏอน อะลาอุดดีน กีกุบาด ที่ 2 แห่งเซลจูกเติร์กรูม (ฮ.ศ. 647 – 655 / ค.ศ. 1249 – 1257) เพื่อขออนุญาตนำชนเผ่ากอยีเข้าสู่เขตแดนของเซลจูกเติร์กรูมและตั้งกระโจมอยู่ในเขตแดนของเซลจูกเติร์ก ฝ่ายสุลฏอนอะลาอุดดีนจึงกำหนดให้อัรฺฏุฆรุลและชนเผ่ากอยีตั้งกระโจมอยู่แถบเทือกเขาฏุมาลิจญ์ (Toumanitsch) และเทือกเขาเออร์มะนาก (Ermenak)ในพื้นที่ของมณฑลคุดาวันดะการฺ ทางตอนเหนือของเมืองกูตาฮิยะฮฺ และมณฑลกุรฺมาน เรียกอาณาบริเวณนี้ที่ตั้งของชนเผ่ากอยีว่า กุรฺญะฮฺฏ็อฆ หรือ กะเราะฮฺ ศาฆ (Karadog)

 

อะหฺมัด อิบนุ มุฮัมมัด อิบนิ อัล-มุลลา บันทึกว่า ในปี ฮ.ศ. 685 / ค.ศ. 1286 สุลฏอน อะลาอุดดีน อัส-สัลญูกียฺได้นำกองทหารเซลจูกเติร์กแห่งรูมพร้อมด้วยอรฺฏุฆรุลกับนักรบในเผ่ากอยีปิดล้อมป้อมปราการกูตาฮียะฮฺ (Kutahai) หรือ ค็อทยาอุม (Cotyaeum) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของคาบสมุทรอนาโตเลีย อันเป็นเขตอิทธิพลของโรมันไบแซนไทน์ แต่ก่อนที่จะตีป้อมปราการกูตาฮียะฮฺได้อย่างเบ็ดเสร็จ ข่าวการรุกรานของพวกตาตาร์ (มองโกล) ในดินแดนของเซลจูกเติร์กแห่งรูมทางทิคศตะวันออกได้มาถึงสุลฏอน อะลาอุดดีน พระองค์จึงนำทัพเซลจูกเติร์กไปสู้รบกับพวกตาตาร์ และมอบหมายให้อัรฺฏุฆรุลเป็นแม่ทัพในการพิชิตป้อมปราการกูตาฮียะฮฺ ซึ่งอัรฺฏุฆรุลได้ปิดล้อมอย่างหนักหน่วงและสามารถพิชิตป้อมปราการแห่งนี้ได้ ตลอดจนรุกคืบเข้าไปในดินแดนของโรมันไบแซนไทน์ สุลฏอนอะลาอุดดีนจึงทรงมอบดินแดนในแถบเทือกเขาฏูมาลิจญ์และเมืองอัสกียฺชะฮฺร์ให้เป็นรางวัลแก่อัรฺฏุฆรุลและชนเผ่ากอยีที่สามารถพิชิตป้อมปราการกูตาฮียะฮฺได้สำเร็จ (7)

 

ในตำราบางเล่มบันทึกว่า อัรฺฏุฆรุลได้ส่งบุตรชายที่ชื่อซาวญียฺไปยังเมืองหลวงกูนียะฮฺของรัฐเซลจูกเติร์กแห่งรูมเพื่อขออนุญาตจากสุลฏอนอะลาอุดดีนในการตั้งหลักแหล่ง และหาทุ่งหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์สำหรับชนเผ่ากอยีที่ย้ายถิ่นเข้ามาในคาบสมุทรอนาโตเลีย แต่ซาวญียฺได้เสียชีวิตก่อนที่จะกลับมาถึงชนเผ่ากอยีในระหว่างนั้น ชนเผ่ากอยีได้ยินเสียงการสู้รบของกองทัพ 2 ฝ่ายมาแต่ไกลโดยไม่ทราบว่าทั้ง 2 กองทัพนั้นเป็นพวกใด แต่ฝ่ายหนึ่งมีกำลังทหารน้อยกว่าและกำลังจะเพลี่ยงพล้ำในการรบ อัรฺฏุฆรุลจึงนำนักรบของเผ่ากอยีเข้าช่วยเหลือกองทหารฝ่ายดังกล่าวจนได้รับชัยชนะ และมารู้ทีหลังว่ากองทัพที่ตนเข้าช่วยเหลือนั้นเป็นกองทัพของฝ่ายมุสลิมที่เป็นพวกเซลจูกเติร์ก ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นกองทัพของพวกโรมัน ไบแซนไทน์ (ซึ่งตำราบางเล่มระบุว่า เป็นกองทัพของพวกตาตาร์ (มองโกล) บ้างก็ว่าเป็นพวกคุวาริซม์ชาฮฺ และเรียกสมรภูมินั้นว่า ยาสซียฺญะมัน)

 

เหตุนั้นสุลฏอนอะลาอุดดีน อัล-สัลญูกียฺจึงตอบแทนวีรกรรมของอัรฺฏุฆรุลและชนเผ่ากอยีด้วยการมอบอาณาเขตที่อยู่ตรงข้ามกับโรมันไบแซนไทน์ทางทิศตะวันตกของพรมแดนเซลจูกเติร์กแห่งรูม คือ อาณาเขตที่อยู่ระหว่าง เยกียฺชะฮฺร์ , บิเลดญิก (Biledjik) และกูตาฮียะฮฺ ซึ่งมีพื้นที่ราว 2,000 ตารางกิโลเมตรแก่ชนเผ่ากอยี และอัรฺฏุฆรุลได้สู้รบกับพวกโรมันไบแซนไทน์เพื่อขยายดินแดนออกไปเป็น 4,800 ตารางกิโลเมตร (8)  อัรฺฏุฆรุลได้รับฉายานามว่า “ฆอซียฺ” (นักรบ) และ “อูจญ์ เบยฺกี” ซึ่งมีความหมายว่า ผู้พิทักษ์เส้นพรมแดนตามธรรมเนียมของเซลจูกเติร์ก และอัรฺฏุฆรุล ฆอซียฺดำรงตำแหน่งผู้นำชนเผ่ากอยีจนกระทั่งมีอายุได้ราว 90 ปี ก็เสียชีวิต นักประวัติศาสตร์บันทึกช่วงเวลาการเสียชีวิตของอัรฺฏุฆรุลไว้แตกต่างกัน บ้างก็ว่า ปี ฮ.ศ. 687 / ค.ศ. 1288 บ้างก็ว่า ปี ฮ.ศ. 680 / ค.ศ. 1281 ในขณะที่ตำราบางเล่มระบุว่า ปี ฮ.ศ. 699 /ค.ศ. 1299 ต่อมาบุตรชายคนโตของอัรฺฏุฆรุล ฆอซียฺ คือ อุษมาน อิบนุ อัรฺฏุฆรุลได้เป็นผู้นำชนเผ่ากอยี และอุษมานผู้นี้คือปฐมวงศ์ของพวกอุษมานียูน (ออตโตมาน)

แผนที่แสดงอาณาเขตของรัฐอุษมานียะฮฺช่วงต้นราชวงศ์ในคาบสมุทรอนาโตเลีย

รัฐอุษมานียะฮฺในสมัยอุษมานที่ 1 อิบนุ อัรฺฏุฆรุล

เมื่ออัรฺฏุฆรุล ฆฮซียฺ เสียชีวิต สุลฏอน อะลาอุดดีน อัส-สัลญูกียฺแห่งกูนียะฮฺ จึงทรงแต่งตั้งอุษมาน เบยฺก์ บุตรชายคนโตของอัรฺฏุฆรุลขึ้นเป็นผู้นำชนเผ่ากอยี และแคว้นสุกูดญัก (Sugud – Sogut) ซึ่งกินอาณาเขตนับตั้งแต่เมืองอังเกาะเราะฮฺ (อังการ่า) และอัสกียฺชะฮฺร์ทางทิศตะวันออก รวมถึงเยนีชะฮฺร์ทางตอนเหนือจรดเมืองกูตาฮียะฮฺทางด้านทิศไต้ สุลฏอนอะลาอุดดีนได้ทรงมอบกลองศึก ธงรบ เสื้อคลุมและดาบแก่อุษมานเบยฺก์ เมื่อกลองศึกได้ถูกตี อุษมานเบยฺก์ได้ลุกขึ้นยืนเพื่อให้เกียรติแก่สุลฏอน อะลาอุดดีน จนเสียงลั่นกองศึกได้สงบลง นับแต่นั้นกองทัพของพวกอุษมานียะฮฺจึงมีธรรมเนียมลุกขึ้นยืนขณะลั่นกลองศึก (9)

 

และธงรบที่สุลฏอนมอบให้แก่อุษมาน เบยฺก์มีรูปจันทร์เสี้ยวกับดาวหนึ่งดวงซึ่งต่อมาเป็นธงชัยของกองทัพอุษมานียะฮฺและผืนธงน่าจะมีสีเขียว เพราะธงศึกอีกผืนหนึ่งของกองทัพอุษมานียะฮฺมีผืนธงเป็นสีแดงซึ่งมีระบุว่า หลังสมรภูมิกุศูวาฮฺ (โคโซโว) ที่เกิดขึ้นในสมัยสุลฏอนมุรอด ข่าน ที่ 1 ปี ค.ศ. 1389 สุลฏอนมุรอด ข่าน ที่ 1 ได้ตรวจพื้นที่หลังสมรภูมิจบลงในช่วงเวลากลางคืนที่มีแสงจันทร์เสี้ยวและดวงดาวที่ส่องแสงอยู่ในท้องฟ้าสาดตกกระทบพื้นดินที่เต็มไปด้วยเลือดสีแดงในสนามรบ จึงเป็นที่มาของธงผืนสีแดงอันชวนให้รำลึกถึงเลือดที่หลั่งลงพื้นดินในสมรภูมิกุศูวาฮฺ (โคโซโว) และถูกประดับด้วยจันทร์เสี้ยวและดาวหนึ่งเดือนจนกลายเป็นธงสัญลักษณ์ของจักรวรรดิอุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน เติร์ก) และประเทศตุรกีในปัจจุบัน (10)

 

อนึ่ง ตำราประวัติศาสตร์บางเล่มระบุว่า อุษมานเป็นบุตรของซาวญียฺ บุตรของอัรฺฏูฆรุล (ซาวญียฺได้เสียชีวิตในขณะที่กลับจากกูนียะฮฺหลังภารกิจที่อัรฺฏุฆรุลส่งซาวญียฺไปพบสุลฏอนอะลาอุดดีน) อุษมานจึงเป็นหลานปู่ของอัรฺฏุฆรุล ฏอซียฺ (11) แต่มติเห็นพ้องของนักประวัติศาสตร์คือ อุษมานเป็นผู้นำชนเผ่ากอยีต่อจากอัรฺฏุฆรุล โดยการเห็นชอบของสุลฏอนอะลาอุดดีนแห่งเซลจูกเติร์ก และเมื่อตรวจสอบทำเนียบของบรรดาสุลฏอนของพวกเซลจูกเติร์กแห่งรูมก็จะพบว่า มีสุลฏอน 3 องค์ที่มีพระนามว่า อะลาอุดดีน ได้แก่

  1. อะลาอุดดีน กีกุบาด ที่ 1 (ค.ศ. 1220 – 1237)
  2. อะลาอุดดีน กีกุบาด ที่ 2 (ค.ศ. 1249-1257) และ
  3. อะลาอุดดีน กีกุบาด ที่ 3 (ค.ศ. 1283 – 1301)
แผนที่แสดงอาณาเขตรัฐเซลจูกเติร์กแห่งรูม

ตำราประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จะระบุถึง สุลฏอน อะลาอุดดีน อัส-สัลญูกียฺเท่านั้น ไม่ได้บ่งชี้ชัดว่าเป็นอะลาอุดดีน กีกุบาดที่เท่าไหร่ จึงต้องเทียบช่วงเวลาการเป็นผู้นำเผ่ากอยีของอัรฺฏุฆรุลและอุษมานกับรัชสมัยของ สุลฏอนทั้ง 3 องค์ ดังนั้น หากสุลัยมาน ชาฮฺ (หรือกุนดูซ อัลบ์) เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1253 และอัรฺฏุฆรุลขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่ากอยีในเวลาต่อมา ก็แสดงว่าสุลฏอนอะลาอุดดีนที่อยู่ร่วมสมัยกับอุรฺฏุฆรุลคือ อะลาอุดดีน กีกุบาด ที่ 2 เพราะสุลฏอนองค์นี้สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1257 ส่วนอะลาอุดดีน กีกุบาด ที่ 1 นั้นสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1237 ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับสุลัยมาน ชาฮฺ ปู่หรือปู่ทวดของอุษมาน ฆฮซียฺ และอัรฺฏูฆรุลก็เป็นหัวหน้าเผ่ากอยีเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ. 1281 หรืออย่างช้าสุดคือปี ค.ศ. 1299 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสุลฏอน อะลาอุดดีน กีกุบาด ที่ 3 (ค.ศ. 1283 – 1301)

 

ดังนั้น สุลฏอนอะลาอุดดีน ที่ทรงแต่งตั้งอุษมาน ฆอซียฺให้เป็นหัวหน้าเผ่ากอยีต่อจากอุรฺฏุฆรุลก็คือ อะลาอุดดีน กีกุบาด ที่ 3 นั่นเอง และเมื่อพิจารณาถึงช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งผู้นำชนเผ่ากอยีของอุษมานซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1299 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐอุษมานียะฮฺในคาบสมุทรอนาโตเลีย ก็แสดงว่านั่นเป็นช่วงปลายรัชสมัยของสุลฏอนอะลาอุดดีน กีกุบาด ที่ 3 ซึ่งสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1301 และการขยายดินแดนของอุษมานด้วยการพิชิตหัวเมืองของโรมันไบแซนไทน์แล้วผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอุษมานียะฮฺ ส่วนใหญ่เกิดในรัชสมัยของสุลฏอนอะลาอุดดีน กีกุบาด ที่ 3 แห่งเซลจูกเติร์กรูม ได้แก่

 

  • -ปี ค.ศ. 1288 พิชิตป้อมปราการกัรฺญะฮฺ หิศอรฺ (Karadja Hissar) ใกล้กับเมืองเอเน่กูล (Aine-Gueul) ทางทิศตะวันตกของอัสกีชะฮฺร์ และพิชิตป้อมปราการเกาะเราะฮฺ หิศอรฺ (Kara Hissar) หรือป้อมดำในปีเดียวกัน
  • -ปี ค.ศ. 1289 ยึดเมืองกูบรียฺ หิศอรฺ (Kopru Hissar) หรือป้อมสะพานใกล้กับเมืองยะกีชะฮฺร์
  • -ปี ค.ศ. 1299 พิชิตเมืองเอเน่กูล , เบลญักหรือบิเลดญิก (Biledjik) ทางทิศตะวันออกของเมืองบุรซ่า (Broussa) และเมืองยารฺ หิศอรฺ (Yar Hissar) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองยะกีชะฮฺร์
  • -ปี ค.ศ. 1301 สมรภูมิบาฟิยูส กองทัพของโรมันไบแซนไทน์ปราชัยอย่างย่อยยับ และในปีเดียวกันนี้สุลฏอนอะลาอุดดีน กีกุบาด ที่ 3 สิ้นพระชนม์ (ตำราบางเล่มระบุว่าเป็นปี ค.ศ. 1299) และในช่วงเวลานั้น อุษมาน อิบนุ อัรฺฏุฆรุลได้รับตำแหน่ง เบยฺก์ และปาชา ตามลำดับนอกเหนือจากฉายานาม ฆอซียฺ และอูจญ์ เบยฺก์ ซึ่งหมายถึงผู้พิทักษ์เส้นพรมแดนเช่นเดียวกับ อุรฺฏุฆรุล

 

หลังการสิ้นพระชนม์ของสุลฏอนอุลาอุดดีน กีกุบาด ที่ 3 ฆิยาษุดดีน มัสอูด ที่ 2 ได้ดำรงตำแหน่งสุลฏอนองค์สุดท้ายของเซลจูกเติร์กแห่งรูม ระหว่างปี ค.ศ. 1303 – 1308 เมื่อรัฐเซลจูกเติร์กแห่งรูมล่ม สลาย รัฐเล็กๆ ในคาบสมุทรอนาโตเลียจึงแยกตัวเป็นอิสระ ได้แก่

  1. รัฐอัล-เกาะเราะมาน หรือ เกาะเราะมาน อุฆลูว์ มีอาณาเขตครอบคลุมถึงดินแดนเบื้องหลังเมือง   อังเกาะเราะฮฺ (อังการ่า) มีอิทธิพลในคาบสมุทรอนาโตเลียและผู้ปกครองรัฐในแถบตะวันตกของอนาโตเลียยอมส่งบรรณาการให้ มีเมืองกูนียะฮฺเป็นราชานีและพวกเกาะเราะมาน อุฆลูว์เป็นเติร์กชนเผ่าตุรกุมาน (เตอร์คะเมน) ที่ใช้ภาษาเติร์กิชเป็นภาษาทางราชการกลุ่มแรก
  2. รัฐกะเราะมิยาน มีเมืองกูตาฮียะฮฺเป็นราชธานี ถือเป็นรัฐคู่แข่งของเกาะเราะมาน อุฆลูว์ที่พยายามแผ่ขยายอาณาเขตสู่ดินแดนภาคตะวันตกของคาบสมุทรอนาโตเลีย ต่อมามีอิทธิพลอ่อนลง เป็นเหตุให้กลุ่มรัฐอิสระของพวกตุรฺกุมานเกิดขึ้นในแถบชายฝั่งทะเลอีญะฮฺ (เอเจียน) ได้แก่
    – รัฐกะเราะฮฺซียฺ (Karassi) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลมัรฺมะเราะฮฺ (มาร์มาร่า) มีเมืองบัรฺเฆาะมะฮฺ (Berghama) เป็นเมืองเอก
    – รัฐอายดีน (Adin) ในเมืองอิซมีรฺ (Izmir)
    – รัฐศอรูข่าน ในเมืองมัฆนีเซีย (Manissa)
  3. รัฐมะนิตชา ตั้งอยู่ชายฝั่งอีญะฮฺ (เอเจียน) มีเมืองมูฆละฮฺและมีลาสเป็นเมืองสำคัญ
  4. รัฐตะกะฮฺหรือตะกา เป็นพวกตุรฺกุมาน ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แถบตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรอนาโตเลีย และมีอำนาจปกครองเมืองอันฏอเลีย
  5. รัฐอัล-หะมีด หรือหะมีด อีลียฺ เป็นพวกตุรฺกุมาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างเมืองกูนียะฮฺและอัฟยูน ตรงกลางที่ราบสูงอนาโตเลียชั้นใน
  6. รัฐกุซัล อะหฺมัดลียฺ ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลดำในเขตศินาบ หรือซีนูบ (Sinob) และเมืองกอสเฏาะมูนียฺ (Kastamoun)
  7. รัฐอุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน) ปรากฏขึ้นในตอนแรกเป็นรัฐเล็กๆ ในแคว้นฟาริเญียและดินแดนใกล้เคียงกับเขตบีษีเนีย ถูกขนาบด้วยรัฐกะเราะมิยานและรัฐกุซัล อะหฺมัดลียฺ ต่อมาแผ่ขยายอาณาเขตจนถึงทะเลมัรฺมะเราะฮฺ (มาร์มาร่า) ซึ่งภายหลังกลายเป็นรัฐอุษมานียะฮฺและจักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺตามลำดับ
แผนที่แสดงที่ตั้งของรัฐตุรฺกุมานในคาบสมุทรอนาโตเลีย

แคว้นฟารีเญียและบีษีเนียทั้งหมดถูกกองทัพของอุษมาน ฆฮซียฺยึดครองในปี ค.ศ. 1300 (ฮ.ศ. 699) มีพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยม ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มีเมืองอัสกียฺชะฮฺร์เป็นเขตแดน และทางทิศตะวันตกเฉียงใต้มีภูเขาอุลิมบูส หรืออนาโตเลีย ฏ็อฆ หรือกะชีช ฏอฆ ปัจจุบันเรียกว่า อูลูฏ็อฆ หรือ อูลูด๊าฆ (Ulu dag) แปลว่า เขาใหญ่ เป็นเขตแดน และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ตรงกับแม่น้ำการอสโซ่ และ ซินญาริอุส ส่วนทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีเมืองยะมีชะฮฺเป็นเขตแดน (12)

 

เมื่อรัฐเซลจูกเติร์กแห่งรูมล่มสลาย บรรดารัฐของพวกตุรฺกุมาน (เติร์กะเมน) ก็ประกาศแยกตนเป็นรัฐอิสระ มีการรบพุ่งเพื่อแย่งชิงดินแดนของเซลจูกเติร์กแห่งรูม ในช่วงเวลานั้นอุษมาน ฆอซียฺจึงประกาศตั้งตนเป็นอิสระและเฉลิมนามว่า “บาดีชาฮฺ อาลฺ อุษมาน” (หมายถึง จอมกษัตริย์แห่งราชาวงศ์ อุษมาน ในตำราบางเล่มให้ความหมายว่า ผู้รับใช้ชาฮฺแห่งตระกูลอุษมาน) และตั้งเยนีชะฮฺร์ขึ้นเป็นราชธานี ษมาน ฆอซียฺ สิ้นชีวิตในปี ค.ศ. 1326 บ้างก็ว่า ค.ศ. 1324 (13) โดยทิ้งอาณาเขต 16,000 ตารางกิโลเมตรไว้เป็นมรดกแก่ อุรฺข่าน ผู้เป็นโอรส

 

จุดเด่นของรัฐอุษมานียะฮฺเมื่อแรกสถาปนา

รัฐอุษมานียะฮฺในช่วงต้นราชวงศ์อุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน เติร์ก) เป็นรัฐของชนเผ่ากอยี (หรือ กอบี ข่าน) ซึ่งเป็นพวกเดียวกับรัฐตุรฺกุมาน (เตอร์คะเมน) อื่นๆ เพราะเป็นชนชาติอุงฆูซ หรืออัล-ฆ็อซ (oghuz) โดยสายเลือด รัฐอุษมานียะฮฺซึ่งปรากฏขึ้นด้วยวีรกรรมของอัรฺฏุฆรุล ฆอซียฺ และถูกสถาปนาอย่างเป็นทางการโดยอะมีรฺอุษมาน ฆอซียฺ อิบนุ อัรฺฏุฆรุล หลังปี ฮ.ศ. 699 (ค.ศ. 1299) หรือ ปี ค.ศ. 1301 อย่างช้าสุดภายหลังการล่มสลายของรัฐเซลจูกเติร์กแห่งรูมที่ปกครองคาบสมุทรอนาโตเลียราว 230 ปี รัฐเล็กๆ แห่งนี้มีจุดเด่นหลายประการ ได้แก่

 

1.  อาณาเขตของรัฐอุษมานียะฮฺตั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางการค้าที่เชื่อมภูมิภาคของไบแซนไทน์ทางทิศตะวันตกกับภูมิภาคที่พวกมองโกล-ตาตาร์แผ่เข้ายึดครองทางทิศตะวันออกมีผลทำให้กองคาราวานสินค้าทางบกจำต้องผ่านอาณาเขตของรัฐอุษมานียะฮฺไม่ว่าจะเป็นกองคาราวานสินค้าที่มาจากภาคตะวันออกของคาบสมุทรอนาโตเลีย เอเซียน้อย และอาร์เมเนีย หรือแม้แต่กองเรือสินค้าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่มุ่งหน้าสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลของโรมันไบแซนไทน์ก็จำต้องผ่านทะเลอีญะฮฺ (เอเจียน) ที่มีชายฝั่งด้านทิศตะวันออกเป็นอาณาเขตของรัฐอุษมานียะฮฺรวมถึงชายฝั่งด้านใต้ของทะเลมัรฺมะเราะฮฺ (Marmara) ซึ่งอะมีรฺอุษมาน ฆอซียฺพิชิตได้ในปี ค.ศ. 1307 (ฮ.ศ. 707) การมีอาณาเขตที่รวมเส้นทางการค้าทางบกและพาณิชย์นาวีของรัฐอุษมานียะฮฺย่อมเป็นผลดีในด้านการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างภูมิภาค และมีผลในการกดดันโรมันไบแซนไทน์

 

2. รัฐอุษมานียะฮฺเป็นรัฐของพวกเติร์กเพียงรัฐเดียวที่มีแนวรบและเส้นพรมแดนประจันหน้ากับเขตแดนของโรมันไบแซนไทน์ซึ่งยังไม่ถูกพิชิต เป็นผลทำให้ชนเผ่าเติร์กกลุ่มต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาสมทบในกองทัพของอุษมานียะฮฺเพื่อทำสงครามญิฮาดกับพวกโรมันไบแซนไทน์ มีพวกศูฟียฺจำนวนมากเข้ามายังดินแดนของรัฐอุษมานียะฮฺเพื่อแสวงหาสานุศิษย์ และมีพวกเติร์กที่เป็นพวกเร่ร่อน ซึ่งเรียกว่า “ยูรูก” อพยพเข้ามาหาทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และปลูกกระโจม ตลอดจนพวกที่ทำการเกษตรซึ่งหนีภัยสงครามจากการรุกรานของพวกมองโกลเข้ามาหาที่ดินเพราะปลูกและทำการค้าขาย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งดังกล่าวได้เพิ่มจำนวนประชากรและพลเมืองของรัฐอุษมนานียะฮฺ และเพิ่มจำนวนกำลังทหารในกองทัพซึ่งเป็นพวกตุรฺกุมาน (เตอร์คะเมน) จำนวนมาก ส่งผลให้กองทัพของรัฐอุษมานียะฮฺมีความแข็งแกร่ง และมีขนาดใหญ่และปูทางไปสู่การพิชิตดินแดนให้กว้างไกลออกไปในเวลาต่อมา

 

3. การมีเสถียรภาพภายใต้การปกครองของผู้นำทีเข้มแข็งซึ่งเป็นศูนย์รวมของอำนาจในการบริหารและการทหาร โดยเฉพาะการผลัดเปลี่ยนอำนาจสู่รัชทายาทเพียงองค์เดียว ต่างจากกรณีของรัฐอิสระอื่นๆ ของพวกตุรฺกุมานที่ยอมให้มีการแยกอำนาจของรัฐเล็กๆ ตามหัวเมือง ดังกรณีของรัฐกะเราะมิยานแห่งกูตาฮิยะฮฺที่กล่าวถึงมาแล้ว

 

4. การสั่งการของศูนย์กลางอำนาจในด้านการเมือง การปกครองที่มีระบบและแบบแผนซึ่งอะมีรฺอุษมาน ฆอซียฺได้วางไว้โดยเปลี่ยนแปลงจากระบบเผ่าเป็นระบบการบริหารที่เป็นแบบรัฐ ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า อะมีรฺอุษมาน ฆอซียฺได้นำระบบและแบบแผนของรัฐเซลจูเติร์กแห่งรูมมาปรับใช้ในการวางระเบียบการบริหารและการปกครองตลอดจนรับเอาหลักรัฐศาสตร์ของ “สิยาสะฮฺ นามะฮฺ” ที่นิซอม อัล-มุลก์ มหาเสนบดี (วะซีรฺ) ในรัชสมัยมะลิกชาฮฺแห่งเซลจูกเติร์กได้ประพันธุ์ไว้มาเป็นบรรทัดฐานในเรื่องนี้

 

5. การอพยพย้ายถิ่นฐานของชนเผ่ากอยีผ่านดินแดนและแว่นแคว้นต่างๆ นับจากมาตุภูมิเดิมในแถบทะเลสาบแคสเปียน แคว้นกุรฺดิสตาน อาเซอร์ไบจาน อาร์เมเนีย และคาบสมุทรอนาโตเลียตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษได้มีส่วนในการซึมซับ และรับเอาวัฒนธรรมของพลเมืองในดินแดนตามรายทางพร้อมกับการรักษาอัตลักษณ์ในความเป็นชนชาติเติร์กเผ่าตุรฺกุมานที่เข้ารับอิสลามมาแต่ช่วงแรกๆ ของการพิชิตดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำญัยหูน (อมูดเรีย)

 

การมีโลกทัศน์ที่กว้างไกลและมีท่าทีผ่อนปรนของชนเผ่ากอยีต่อวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ทำให้ชนเผ่ากอยีและลูกหลานของอุษมาน ฆอซียฺ รู้จักวิธีการในการสร้างพันธมิตรกับกลุ่มทางการเมืองอื่นๆ และมีความแยบยลในการผสมผสานวัฒนธรรมแบบเติร์กมุสลิมกับวัฒนธรรมของพลเมืองใกล้เคียงโดยเฉพาะพวกโรมันไบแซนไทน์ คุณสมบัติข้อนี้ได้ส่งผลต่อมาอีกหลายศตวรรษเมื่อรัฐสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺได้กลายเป็นจักรวรรดิอุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน เติร์ก) อันเกรียงไกร โดยมีพลเมืองใน 3 ทวีป ที่มีลักษณะเป็นพหุวัฒนธรรมอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอุษมานียะฮฺ

 

6. รัฐอุษมานียะฮฺในรัชสมัยอะมีรฺอุษมาน ฆอซียฺมีชัยภูมิที่ตั้งในเขตที่ราบสูง โดยเฉพาะเมืองสุกูด หรือ สุฆูญัก ที่มั่นสำคัญในช่วงแรกที่ง่ายต่อการป้องกันการโจมตีของข้าศึก และเมืองสุกูดยังตั้งอยู่ในเส้นทางสายหลักระหว่างกรุงคอนสแตนติโนเปิลและเมืองกูนียะฮฺ ทำให้รัฐอุษมานียะฮฺเป็นเสมือนรัฐกันชนระหว่างตุรฺกุมานทางภาคตะวันออกกับโรมันไบแซนไทน์ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอนาโตเลีย การรักษาดุลยภาพของขั้วอำนาจที่ขนาบอยู่ทั้งสองด้านอย่างชาญฉลาดของอะมีรฺอุษมาน ฆอซียฺ ย่อมทำให้รัฐอุษมานียะฮฺสามารถต่อรองกับขั้วอำนาจทั้งสองฝ่ายได้

 

และเมื่อเห็นว่าฝ่ายโรมันไบแซนไทน์ซึ่งมีพรมแดนประจันหน้ากับรัฐอุษมานียะฮฺได้คุกคามต่อพลเมืองของอุษมานียะฮฺ อุษมาน ฆอซียฺก็ย่อมสามารถเปิดแนวรบได้ในทันทีด้วยการรุกคืบเข้าพิชิตดินแดนใต้อาณัติของโรมันไบแซนไทน์ และนี่เป็นข้อดีอีกประการหนึ่งของรัฐชายขอบที่เส้นพรมแดนอย่างอุษมานียะฮฺเพราะมีโอกาสในการแผ่ขยายดินแดนออกไปในแถบอนาโตเลียตะวันตก และข้ามช่องแคบดาร์ดาแนลสู่ดินแดนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปในเวลาต่อมา ต่างจากรัฐที่มีดินแดนอยู่ส่วนในของคาบสมุทรอนาโตเลีย และมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐอื่นที่ห้อมล้อมอยู่ซึ่งยากในการเติบโตและมีอาณาเขตเพิ่มขึ้น

 

7. รัฐอุษมานียะฮฺถือกำเนิดขึ้นในห้างเวลาที่รัฐเซลจูกเติร์กแห่งรูมต้องเผชิญกับการรุกรานของพวกมองโกลจากทางทิศตะวันออก และโรมันไบแซนไทน์ก็ต้องเผชิญกับการคุกคามของพวกละตินในช่วงสงครามครูเสด ทำให้เกิดช่องว่างทางการเมืองและการทหารในคาบสมุทรอนาโตเลีย ซึ่งถูกเติมด้วยรัฐอุษมานียะฮฺ เมื่อรัฐเซลจูกเติร์กแห่งรูมล่มสลาย และโรมันไบแซนไทน์กำลังเสื่อมอำนาจโดยรัฐอุษมานียะฮฺรับช่วงภาระกิจในการญิฮาด และการพิชิตดินแดนทางด้านตะวันตกของคาบสมุทรอนาโตเลียต่อจากเซลจูกเติร์กแห่งรูม

 

8-พลเมืองส่วนใหญ่ของรัฐอุษมานียะฮฺเป็นเติร์กมุสลิมที่มีเชื้อสายตุรฺกุมานซึ่งห้าวหาญในการรบ กระนั้นพวกตุรฺกุมานก็รักสงบ เพราะชนเผ่าตุรฺกุมานส่วนใหญ่ที่หลั่งไหลเข้ามาในรัฐอุษมานียะฮฺเป็นชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ (สุนนียฺ) ที่ถือในแนวทางของกลุ่มศูฟียฺ เช่น กลุ่มศูฟียฺ อัล-เกาะลันดะรียะฮฺ , กลุ่มอัล-หัยดะรียะฮฺ และกลุ่มอัล-บักตาชียะฮฺ เป็นต้น พ่อตาของอุษมาน ฆอซียฺเองคือ ชัยคฺ อูดะฮฺบาลียฺ อัล-เกาะเราะมานียฺก็เป็นนักศูฟียฺเช่นกัน บุคคลผู้นี้มีอิทธิพลในด้านจิตวิญญาณและเป็นแรงบันดาลใจในการญิฮาดเพื่ออิสลาม สำหรับอุษมาน ฆอซียฺ

 

ดังนั้นในยามสงบ พลเมืองเติร์กในรัฐอุษมานียะฮฺคือมุสลิมที่เคร่งครัดตามหลักคำสอนของบรรดาผู้รู้ทางศาสนาและนักศูฟียฺ แต่ในยามศึก พวกเขาก็คือนักรบที่ห้าวหาญและมีการญิฮาดเป็นเป้าหมาย นักเขียนชาวตะวันตกที่มีอคติพยายามเขียนถึงพวกเติร์กอุษมานียะฮฺว่าเป็นพวกอนารยชนที่ป่าเถื่อน เป็นพวกนอกศาสนาที่กระหายสงครามเช่นเดียวกับพวกฮวน (ฮะยาฏิละฮฺ) หรือพวกมองโกล-ตาตาร์ ซึ่งนั่นเป็นเพียงมายาคติและการเจือสมเอาเอง เพราะจักรวรรดิอุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน เติร์ก) ในเวลาต่อมาได้พิสูจน์แก่พลเมืองใน 3 ทวีปที่จักรวรรดิอุษมานียะฮฺแผ่ไปถึงให้เป็นที่ประจักษ์ว่าพวกเขาเป็นนักรบและนักการทหารที่มีระเบียบวินัย ตลอดจนเป็นนักปกครองที่ยิ่งใหญ่และเป็นผู้สืบสานอารยธรรมอิสลามที่รุ่งโรจน์ในช่วงปลายยุคกลาง

 

รัฐอุษมานียะฮฺได้กลายเป็นรัฐแห่งการญิฮาดอย่างชัดเจน เมื่อผู้นำอย่างอุษมาน ฆอซียฺได้กลายเป็นมุญาฮิดโดยจิตวิญญาณ และกลุ่มนักรบญิฮาดชาวมุสลิมได้หลั่งไหลเข้าร่วมสมทบในกองทัพ เช่น กลุ่มฆอซิยาน อัรฺ-รูม (หมายถึงกลุ่มนักรบแห่งรูม) ซึ่งเป็นทั้งนักรบและนักการกุศลที่ช่วยเหลือคนยากจนและคนต่างถิ่น กลุ่มอิคยาน (หมายถึงกลุ่มภราดร) ที่เป็นพ่อค้าและคหบดีซึ่งบริจาคทรัพย์สินที่เป็นผลกำไรของพวกเขาในการสร้างมัสญิดและสถานที่พักของพวกศูฟียฺตลอดจนผู้เดินทาง เมื่อโครงสร้างทางสังคมของพลเมืองในรัฐอุษมานียะฮฺประกอบด้วยผู้ปกครองที่เคร่งครัดต่อหลักการศาสนา เป็นนักรบญิฮาด และพลเมืองสามัญชนที่เป็นนักรบญิฮาดอาสา นักการกุศล และกลุ่มศูฟียฺ จึงไม่แปลกที่รัฐอุษมานียะฮฺจะมีพลังทางจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง และมีความกระตือรือร้นในด้านการศาสนาและความเชื่อจนกระทั่งเติบใหญ่กลายเป็นรัฐอิสลามที่เกรียงไกรมากที่สุดในประวัติศาสตร์อิสลาม และประวัติศาสตร์โลกในเวลาต่อมาอีกหลายศตวรรษ

 

ประมวลเหตุการณ์สำคัญ

  • กุตุลมิช อิบนุ อัรฺสะลาน และสุลัยมาน อิบนุ กุตุลมิช ราวปี ค.ศ. 1060 – 1077 สถาปนารัฐเซลจูกเติร์กแห่งรูม ในคาบสมุทรอนาโตเลีย (เอเซียน้อย)
  • ค.ศ. 1071 : สมรภูมิมะลาซกุรด์ (มัลซิเคิร์ด)
  • ค.ศ. 1086 : สมรภูมิอัซ-ซัลลาเกาะฮฺ (ซาลาเคียส) ในแคว้นเอ็นดะลูเซีย ยูสุฟ อิบนุ ต๊าชฟีนได้รับชัยชนะต่ออัลฟองโซ ที่ 6
  • ค.ศ. 1095 : เริ่มสงครามครูเสด
  • ค.ศ. 1099 : กองทัพครูเสดยึดครองกรุงเยรูซาเล็ม
  • ค.ศ. 1092 – 1107 : ดาวูด กอลญ์ อัรฺสะลาน ที่ 1 สุลฏอนเซลจูกเติร์กแห่งรูม
  • ค.ศ. 1111 (ฮ.ศ. 505) อิมามอัล-เฆาะซาลียฺเสียชีวิต
  • ค.ศ. 1118 – 1143 : จักรพรรดิโยฮันน่า โคมิเนนส์ แห่งโรมันไบแซนไทน์ ปราบปรามรัฐอาร์เมเนียและอันฏอกียะฮฺ (เอ็นท็อช) ตลอดจนยึดดินแดนในฝั่งเอเซียคืนจากพวกเซลจูกเติร์กได้บางส่วน
  • ค.ศ. 1121 : พวกอัล-มุวะหฺหิดูน เริ่มมีอำนาจในภาคตะวันตกของแอฟริกาเหนือ และข้ามฝั่งสู่แคว้นเอ็นดะลูเซีย (สเปน) โดยพวกอัล-มุรอบิฏูนเริ่มเสื่อมอำนาจ
  • ค.ศ. 1127 : อิมามดุตดีน ซังกียฺ สถาปนารัฐอะตาบิกะฮฺ ซังกียะฮฺในแคว้นอัล-ญะซีเราะฮฺและซีเรีย
  • ค.ศ. 1146 : นูรุดดีน ซังกียฺ อะตาเบยฺก์แห่งนครหะลับ (อเล็ปโป) และซีเรีย
  • ค.ศ. 1147 สงครามครูเสดครั้งที่ 2
  • ค.ศ. 1156 – 1192 : สุลฏอนอิซซุดดีน ก็อลจญ์ อัรฺสะลานที่ 2 แห่งเซลจูกเติร์กรูม
  • ค.ศ. 1160 – 1170 : อัล-มุสตันญิดบิลลาฮฺ (ยูสุฟ อิบนุ อัล-มุกตะฟียฺ) เคาะลีฟะฮฺองที่ 32 แห่งราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ
  • ค.ศ. 1171 : ราชวงศ์อัล-อัยยูบียะฮฺในอียิปต์และซีเรีย
  • ค.ศ. 1174 : สุลฏอนเศาะลาหุดดีน อัล-อัยยูบียฺ เข้ายึดครองกรุงดามัสกัสในซีเรีย
  • ค.ศ. 1187 : สุลฏอนเศาะลาหุดดีน อัล-อัยยูบียฺได้รับชัยชนะต่อกองทัพครูเสดในสมรภูมิหิฏฏีนและยึดนครเยรูซาเล็ม (อัล-กุดส์) คืน
  • ค.ศ. 1188 – 1227 : เจงกิสข่านสถาปนาจักรวรรดิมองโกล
  • ค.ศ. 1193 (ฮ.ศ. 589) สุลฏอนเศาะลาหุดดีน อัล-อัยยูบียฺ เสียชีวิต
  • ค.ศ. 1198 : อิบนุ รุชด์ เสียชีวิต
  • ค.ศ. 1198 – 1192 : สงครามครูเสดครั้งที่ 3
  • ค.ศ. 1204 : สงครามครูเสดครั้งที่ 4 พวกครูเสดยึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลและตั้งจักรวรรดิละตินครูเสด (ค.ศ. 1204 – 1261)
  • ค.ศ. 1206 – 1227 : เจงกิสข่านพิชิตดินแดนและยึดครองกรุงปักกิ่ง (จีน) ได้ในปี ค.ศ. 1215
  • ค.ศ. 1205 – 1211 : ฆิยาษุดดีน กีคุสโรว์ ที่ 1 ขึ้นเป็นสุลฏอนเซลจูกเติร์กแห่งรูม รัชสมัยที่ 2
  • ค.ศ. 1219 : กูนดูซ อัลบ์ นำชนเผ่ากอยีจากแคว้นกุรดิสตาน (เคอร์ดิสถาน) อพยพสู่เขตแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอนาโตเลีย
  • ค.ศ. 1229 : ชนเผ่ากอยีอพยพสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำไทกริส และสละเมืองเคาะลาฏ (อัคลาฏ)
  • ค.ศ. 1230 : อัรฺฏุฆรุล นำชนเผ่ากอยีสู่เมืองอัรฺซิงญาน และคาบสมุทรอนาโตเลีย
  • ค.ศ. 1220 – 1237 : อะลาอุดดีน กีกุบาดที่ 1 สุลฏอนแห่งเซลจูกเติร์กรูม
  • ค.ศ. 1249 – 1257 : อะลาอุดดีน กีกุบาดที่ 2 สุลฏอนเซลจูกเติร์กแห่งรูมร่วมกับอัรฺฏุฆรุลและชนเผ่ากอยีในการพิชิตดินแดนของโรมันไบแซนไทน์ในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอนาโตเลีย อัรฺฏูฆรุลได้รับฉายานาม ฆอซียฺ และอูจญ์ เบยฺกียฺ
  • ค.ศ. 1281 (หรือ ค.ศ. 1288 หรือ ค.ศ. 1299) อัรฺฏุฆรุล ฆอซียฺ เสียชีวิต
  • ค.ศ. 1284 – 1301 : อะลาอุดดีน กีกุบาด ที่ 3 สุลฏอนเซลจูกเติร์กแห่งรูม และอุษมาน ฆอซียฺ ที่ 1 อิบนุ อัรฺฏุฆรุลเป็นผู้นำชนเผ่ากอยี
  • ค.ศ. 1308 : ฆิยาษุดดีน มัสอูด ที่ 2 สุลฏอนองค์สุดท้ายของเซลจูกเติร์กแห่งรูม และอุษมาน ฆอซียฺ ที่ 1 เฉลิมพระนามว่า “บาดีชาฮฺ อาล อุษมาน” สถาปนารัฐอุษมานียะฮฺเป็นรัฐอิสระในคาบสมุทรอนาโตเลีย

อ้างอิง

(1) อัต-ตุหฺฟะฮฺ อัล-หะลีมียะฮฺ ฟี ตะรีค อัด-เดาละฮฺ อัล-อะลียะฮฺ หน้า 47
(2) อัล-มุนตะคอบ มิน ตารีค อัล-ญินาบียฺ หน้า 85
(3) อัฏลัส ตารีค อัล-อิสลาม หน้า 356
(4) อัล-อุษมานียูน ฟิตตารีค วัล-หะฏอเราะฮฺ หน้า 14
(5) อัล-มุนตะคอบ มิน ตารีค อัล-ญินาบียฺ หน้า 86
(6) ตารีค อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ ; ดร.อะลี หัสสูน หน้า 12
(7) อัล-มุนตะคอบฯ หน้า 87
(8) ตารีค อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ ; ดร.อะลี หัสสูน หน้า 13
(9) บุฆยะฮฺ อัล-คอฏิรฺ ; อัล-กานียฺ : อะลิฟ / 100
(10) อัล-อุษมานียูน ฟิตตารีค วัล-หะฎอเราะฮฺ ; ดร.มุฮัมมัด หัรฺบ์ หน้า 19
(11) ตารีค อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ อัล-อะลียะฮฺ ; อิบรอฮีม เบยฺก์ หะลีม หน้า 47
(12) อัล-อัมบุรอฏูรียะฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ ; สะอีด อะหฺมัด บัรฺญาวียฺ หน้า 25
(13) อัฏลัส ตารีค อัด-เดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ ; อัล-มัฆลูษ หน้า 90 และสะลาฏีน อัดเดาวฺละฮฺ อัล-อุษมานียะฮฺ ; ศอลิหฺ เกาวุลัน หน้า 2

อ้างอิงรูปภาพ

  • https://en.wikipedia.org/wiki/Osman_I#/media/File:Osman.jpg