อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้างว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

debateattiyaniassamawi33

ในบทที่ 3 อัต-ตีญานียฺกล่าวถึงทัศนะของบรรดาเศาะหาบะฮฺในระหว่างกัน โดยตั้งหัวข้อเรื่องที่ 1 ว่า : การเป็นพยานยืนยันของบรรดาเศาะหาบะฮฺต่อตัวของพวกเขาเองว่ามีการเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ ฉบับภาษาอาหรับ หน้า 127-130)

 

อัต-ตีญานียฺอ้างหลักฐานประกอบในเรื่องนี้จากตำราเศาะฮีหฺอัล-บุคอรียฺ 1/122 กิตาบอัล-อีดัยนฺ บาบ : ว่าด้วยการออกไปยังมุศอลลาโดยไม่มีมิมบัรฺ (ดู ฟัตหุลบารียฺ 2/448  หะดีษเลขที่ 956) จากท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ออกไปในวันอัล-ฟิฏร์และอัล-อัฎหายังสถานที่ละหมาด (มุศอลลา) แล้วสิ่งแรกที่ท่านจะเริ่มต้นเป็นอันดับแรกด้วยสิ่งนั้น คือการละหมาด ต่อมาท่านจะผินออก (เสร็จการละหมาด) แล้วท่านจะยืนขึ้นตรงหน้าของผู้คนโดยผู้คนนั่งอยู่บนแถวละหมาดของพวกเขา แล้วท่านก็จะตักเตือนและสั่งเสียพวกเขา…

 

 

อบูสะอีด (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ผู้คนยังคงปฏิบัติอยู่บนสิ่งนั้น (คือละหมาดอีดก่อนการแสดงธรรมโดยไม่มีมิมบัรฺ) จนกระทั่งฉันได้ออกไปพร้อมกับมัรวานในวันอีดอัฎหาหรืออีด อัล-ฟิฏร์โดยมัรวานเป็นเจ้าเมืองมะดีนะฮฺ (ในเวลานั้น) ครั้นเมื่อเรามาถึงมุศอลลา ที่นั่นก็มีมิมบัรฺที่กะษีรฺ อิบนุ อัศ-ศอลต์ได้สร้างไว้ เมื่อนั้นมัรวานก็ต้องการจะขึ้นบนมิมบัรฺ (เพื่อแสดงธรรม) ก่อนที่จะละหมาด (อีด) ฉันจึงดึงผ้าของเขาไว้แล้วเขาก็ดึงฉัน มัรวานก็ขึ้นไปข้างบน (มิมบัรฺ) แล้วแสดงธรรมก่อนที่เขาจะได้ละหมาด ฉันจึงกล่าวแก่เขาว่า “พวกท่านได้เปลี่ยนแปลงแล้ว ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ” มัรวานจึงกล่าวว่า : “โอ้ อบูสะอีด สิ่งที่ท่านรู้นั้นแน่แท้มันได้ไปเสียแล้ว” ฉันจึงกล่าวว่า : “สิ่งที่ฉันรู้นั้น –ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ- นั่นย่อมดีกว่าสิ่งที่ฉันไม่รู้” มัรวานจึงกล่าวว่า : แท้จริงผู้คนนั้น พวกเขาจะไม่นั่งอยู่สำหรับเราภายหลังการละหมาด ดังนั้น ฉันจึงกำหนดให้การแสดงธรรมนั้นอยู่ก่อนการละหมาด”

 

 

หะดีษบทนี้เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ตามสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่ได้กระทำไว้คือการออกไปละหมาดอีดทั้งสองที่มุศอลลา และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะนำละหมาดอีดนั้นก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นท่านก็จะลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงธรรมโดยไม่มีมิมบัรฺ บรรดาเศาะหาบะฮฺและผู้คนได้ปฏิบัติตามสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ดังที่ท่านได้วางรูปแบบไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งถึงสมัยการเป็นเจ้าเมืองมะดีนะฮฺของมัรวาน อิบนุ อัล-หะกัม ก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กระทำเป็นสุนนะฮฺไว้ โดยมัรวานได้ขึ้นมิมบัรฺที่จัดทำไว้ที่มุศอลลาและแสดงธรรมก่อนการละหมาดอีด การกระทำของมัรวานได้ถูกคัดค้านโดยท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) ตามที่อิมามอัล-บุคอรีย (ร.ฮ.) ได้บันทึกไว้

 

 

วิภาษ

1. ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ) มีชื่อจริงว่า “สะอฺด์ อิบนุ มาลิก อิบนิ สินาน อิบนิ ษะอฺละบะฮฺ อิบนิ อัล-อับญัรฺ อิบนิ เอาวฺฟ์ อิบนิ อัล-หาริษ อิบนิ อัล-คอซรอจญ์” และ อัล-อับญัรฺ มีชื่อว่า คุดเราะฮฺ ท่านอบูสะอีด จึงถูกเรียกขานว่า “อัล-คุดรียฺ” และมาลิก อิบนุ สินาน (ร.ฎ.) บิดาของท่านอบูสะอีด (ร.ฎ.) ได้เป็นชะฮีดในวันสมรภูมิอุหุด ส่วนท่านอบูสะอีด (ร.ฎ.) นั้นได้เข้าร่วมในสมรภูมิอัล-คอนดักและการสัตยาบันในปี ฮ.ศ. ที่ 64 (สิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอฺ ; อัซ-ซะฮะบียฺ 4/320) ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) และบิดาของท่านคือมาลิก อิบนุ สินาน (ร.ฎ.) ตลอดจนเกาะตาดะฮฺ อิบนุ อัน-นุอฺมาน (ร.ฎ.) พี่น้องร่วมแม่ของท่านอบูสะอีด (ร.ฎ.) ซึ่งเป็นชาวบัดร์ ทั้ง 3 ท่านเป็นเศาะหาบะฮฺของท่านรสูลุลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จากฝ่ายชาวอันศอรฺ

 

 

2. มัรวาน อิบนุ อัล-หะกัม อิบนิ อบี อัล-อาศ อิบนิ อุมัยยะฮฺ อิบนิ อับดิชัมส์ อิบนิ อับดิมะน๊าฟ อัล-กุเราะชียฺ อัล-อุมะวียฺ (เสียชีวิต ปี ฮ.ศ. ที่ 65) ถือกำเนิดที่นครมักกะฮฺ บ้างก็ว่าที่เมืออัฏ-ฏออิฟ ปี ฮ.ศ. ที่ 2 บ้างก็ว่าหลังการฮิจญ์เราะฮฺ 4 ปี อิบนุ ชาฮีน กล่าวว่า : ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เสียชีวิตในขณะที่มัรวานมีอายุได้ 8 ขวบ ดังนั้นมัรวานจึงถือกำเนิดหลังการฮิจญ์เราะฮฺได้ 2 ปี (อัล-อิศอบะฮฺ ; อิบนุ หะญัรฺ : 6/156)

 

 

3. ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) เป็นเศาะหาบียฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยมติเอกฉันท์ ส่วนมัรวาน อิบนุ อัล-หะกัมนั้นเป็นรุ่นแรกของอัต-ตาลิอีน (สิยัรฺ อัล-อะอฺลาม 5/3) อัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัรฺ (ร.ฮ.) ระบุมัรวานไว้ในอัล-อิศอบะฮิ 6/156 ว่า เป็นผู้ที่เคยเห็นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่ อิมามอัน-นะวาวียฺ (ร.ฮ.) ปฏิเสธการเห็นของมัรวานโดยกล่าวว่า : เขา (มัรวาน) ไม่เคยได้ยินจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และไม่ได้เห็นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพราะมัรวานออกไปยังเมืองอัฏ-ฏออิฟในขณะที่ยังเป็นเด็ก ซึ่งยังไม่รู้เรื่องอันใดขณะที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เนรเทศอัล-หะกัมบิดาของมัรวานไปยังเมืองอัฏ-ฏออิฟ และมัรวานอยู่ที่เมืองอัฏ-ฏออิฟพร้อมกับบิดาของตนจนกระทั่งท่านอุษมาน (ร.ฎ.) เป็นเคาะลีฟะฮฺ จึงได้นำบุคคลทั้งสองกลับมายังนครมะดีนะฮฺ (ตะฮซีบุล อัสมาอฺ วัล-ลุฆอต 2/393)

 

 

อิมามอัล-บุคอรียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : มัรวานไม่เคยเห็นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) (มีซาน อัล-อิอฺติดาล ; อัซ-ซะฮะบียฺ 4/89) มัรวาน อิบนุ อัล-หะกัมถูกเรียกขานว่า “อิบนุ อัฏ-เฏาะรีด” (บุตรของผู้ที่ถูกขับไล่หรือถูกเนรเทศ) เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ขับไล่ (เนรเทศ) อัล-หะกัมบิดาของมัรวานไปยัง “บัฏนุล วัจญ์) ที่เมืองอัฏ-ฏออิฟ เนื่องจากอัล-หะกัมเคยกล่าวตำหนิท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และพูดโพทนาเรื่องส่วนตัวของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า : “เขาจะไม่อาศัยอยู่ร่วมกับฉัน” อัล-หะกัมจึงอยู่ในเมืองอัฏ-ฏออิฟจนกระทั่งถึงสมัยเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) จึงได้นำอัล-หะกัมกลับสู่นครมะดีนะฮฺ (ตารีต อัล-เคาะมิสฯ ; หุสัยนฺ อิบนุ มุฮัมมัด อัด-ดิยารฺ บักรียฺ 2/306)

 

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องการถูกเนรเทศของอัล-หะกัมไม่มีปรากฏในตำราอัศ-ศิหาหฺและสายรายงานเป็นหะดีษมุรสัล และนักวิชาการไดวิจารณ์สายรายงานในเรื่องนี้โดยกล่าวว่า อัล-หะกัมสมัครใจไปยังเมืองอัฏ-ฏออิฟเอง (ดู เชิงอรรถ อัล-อะวาศิม มินัล เกาะวาศิม , อิบนุ อัล-อะเราะบียฺ อัล-มาลิกียฺ หน้า 59)

 

 

สรุปได้ว่า มัรวาน อิบนุ อัล-หะกัมมิใช่ชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เสียชีวิตขณะที่มัรวานมีอายุได้ 8 ขวบ และมัรวานอยู่กับท่านหะกัมที่เมืองอัฏ-ฏออิฟหลังจากการที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เนรเทศอัล-หะกัมไปยังที่นั่นตามที่มีหะดีษมุรสัลระบุไว้ (ดู อัล-อิสตีอาบ ; อิบนุ อับดิลบัรฺร์ พิมพ์พร้อมกับอัล-อิศอบะฮฺ 10/70 และอัลอิศอบะฮฺ ; อิบนุ หะญัรฺ (9/318) อุสดุลฆอบะฮฺ ; อิบนุ อัล-อะษีร : 5/139 ระบุว่า มัรวานไม่เคยเห็นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และอิบนุ หะญัรฺกล่าวว่า ฉันไม่เคยเห็นผู้ใดชี้ขาดถึงความเป็นเศาะหาบะฮฺของมัรวาน (อัล-อิศอบะฮฺ 9/318)

 

 

4. เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่า มัรฺวาน อิบนุ อัล-หะกัมมิใช่เศาะหาบะฮฺ เพราะเป็นชนรุ่นอัต-ตาบิอีนที่ไม่เคยเห็นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เหตุใด อัต-ตีญานียฺจึงเหมาเอาว่า เศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เปลี่ยนเปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วยการนำหะดีษต้นเรื่องมาอ้างประกอบข้อเขียนของตน สิ่งที่ถูกต้องก็คือ หะดีษต้นเรื่องได้ยืนยันถึงความประเสริฐของท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) ซึ่งเป็นเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และความกล้าหาญของท่านในการกล่าวตำหนิมัรฺวาน ผู้เป็นเจ้าเมืองมะดีนะฮฺและทักท้วงการกระทำของมัรฺวานว่าค้านกับสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และสิ่งที่บรรดาเศาะหาบะฮฺได้ปฏิบัติกันมาโดยตลอดก่อนหน้าเหตุการณ์ครั้งนั้น

 

 

หะดีษบทนี้จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันในการรักษาและเคร่งครัดในสุนนะฮฺของเหล่าเศาะหาบะฮฺ มิใช่เป็นหลักฐานว่าเศาะหาบะฮฺเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพราะหากจะถือว่าการกระทำของมัรฺวานในเรื่องนี้เป็นการเปลี่ยนเปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั่นก็เป็นสิ่งที่ชนรุ่นอัต-ตาบิอีนได้กระทำ มิใช่ชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ มิหนำซ้ำชนรุ่นเศาะหาบะฮฺอย่างท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) คือผู้ที่ปกป้องสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพราะท่านไม่เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว และการที่เราจะรู้ได้ว่า การกระทำของมัรฺวานเป็นการเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั่นก็เป็นเพราะบรรดาเศาะหาบะฮฺก่อนหน้านั้นได้สืบทอดและปฏิบัติตามสุนนะฮฺที่ถูกต้องจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มาก่อนหน้านั้นแล้วโดยตลอด หาไม่แล้ว! เราก็มิอาจรู้ได้ว่าสุนนะฮฺที่ถูกต้องในการละหมาดอีดทั้งสองของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั้นคืออะไร? มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร? และการกระทำเช่นใดที่ค้านกับสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

 

โปรดอย่าลืมว่า ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) ได้รายงานถึงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในการปฏิบัติละหมาดอีดทั้งสอง คือการออกไปละหมาดที่มุศอลลา โดยเริ่มด้วยการละหมาดอีด หลังจากนั้นก็มีการแสดงธรรม โดยการยืนต่อหน้าผู้คนและไม่มีมิมบัรฺเป็นการเฉพาะ และการละหมาดอีดทั้งสองก่อนหน้าการแสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) เป็นสุนนะฮฺ โดยไม่มีข้อขัดแย้งในมัซฮับทั้ง 4 ของฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ไม่มีนักปราชญ์ของอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺคนใดที่ยึดเอาการกระทำของมัรฺวาน อิบนุ อัล-หะกัมมาปฏิบัติในเรื่องนี้ และการกระทำของมัรวานก็ไม่สามารถลบล้างหรือเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และบรรดาเคาะลีฟะฮฺหลังจากท่านได้เลย เพราะท่านอิบนุ อุมัรฺ (ร.ฎ.) ได้รายงานว่า “แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และอบูบักรฺ, อุมัรฺ และ          อุษมาน ปรากฏว่าพวกท่านจะละหมาดอีดทั้งสองก่อนการแสดงธรม” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า “แล้วแน่แท้ข้าพเจ้าได้ค้นคว้าอย่างมากถึงบรรดาสิ่งที่กระตุ้น ซึ่งทำให้บรรดาเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นทำการเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 127)

 

 

ข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺเป็นการตีคลุมกำกวมและสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแก่ผู้อ่านว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วยการกระทำของมัรวาน อิบนุ อัล-หะกัม ทั้งๆ ที่มัรวานมิใช่เศาะหาบะฮฺ แต่ในทางตรงกันข้าม เศาะหาบะฮฺคือท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) คือผู้ที่แสดงการคัดค้านและกล่าวตำหนิมัรวานว่าเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺ แล้วเหตุใฉนเรื่องจึงกลับกลายเป็นว่าเศาะหาบะฮฺที่ปกป้องสุนนะฮฺและคัดค้านผู้ที่เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺไปได้เล่า! ความคลาดเคลื่อนจึงเกิดจากความไม่รอบคอบของอัต-ตีญานียฺเองที่เข้าใจไปว่า มัรวาน อิบนุ อัล-หะกัมเป็นเศาะหาบะฮฺ และหลงลืมท่าทีที่ชัดเจนของท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) ในการปกป้องสุนนะฮฺ

 

 

ตลอดจนมโนภาพไปว่าการกระทำของมัรวานในการเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺเป็นสิ่งที่บรรดาเศาะหาบะฮฺหรือนักปราชญ์อะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺให้การยอมรับ หากอัต-ตีญานียฺมีความสัจจริงก็จงหยิบยกหลักฐานจากเหล่าเศาะหาบะฮฺมาแม้เพียงสักหนึ่งรายงานที่ระบุว่า มีสุนนะฮฺให้แสดงธรรม (คุฏบะฮฺ) ก่อนการละหมาดทั้งสองโดยสิ่งที่ถูกหยิบยกมานั้นชี้ชัดว่า เหล่าเศาะหาบะฮฺมีความเห็นในการเปลี่ยนสุนนะฮฺในเรื่องนี้ได้ แน่นอน! ไม่มีหลักฐานสำหรับอัต-ตีญานียฺในเรื่องนี้ ต่อให้อัต-ตีญานียฺค้นคว้าแบบพลิกแผ่นดินหาก็ตาม

 

 

ดังนั้น ย่อมไม่เป็นธรรมในการนำเอาการกระทำของผู้ที่มิใช่เศาะหาบะฮฺมาตัดสินชี้ขาดว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺได้เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หรือกล่าวอ้างได้ว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺเห็นชอบการกระทำของมัรฺวาน อิบนุ อัล-หะกัมบนสมมุติฐานที่ระบุว่า มัรฺวาน อิบนุ อัล-หะกัมเป็นเศาะหาบียฺ เพราะถึงแม้มัรฺวานจะเป็นเศาะหาบียฺตามสมมุติฐานที่ว่านี้ ก็ไม่มีรายงานใดๆ ระบุว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺได้ปฏิบัติตามการกระทำของมัรฺวานและละทิ้งสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หรือเห็นด้วยการกับเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตลอดจนเหล่าเคาะลีฟะฮฺหลังจากท่าน

 

 

การนำเอาหะดีษของท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) มาอ้างประกอบข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺจึงมิใช่หลักฐานที่มาสนับสนุนทฤษฎีของอัต-ตีญานียฺ หากแต่เป็นหลักฐานที่หักล้างทฤษฎีของอัต-ตีญานียฺและเผยให้เห็นถึงความไม่รัดกุมของอัต-ตีญานียฺในการตรวจสอบสถานภาพของมัรฺวาน อิบนุ อัล-หะกัมว่าเป็นเศาะหาบียฺหรือไม่? และนี่เป็นอีกข้อหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความบกพร่องของอัต-ตีญานียฺซึ่งเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในข้อเขียนของตน!

 

 

อนึ่ง อัต-ตีญานียฺอ้างหะดีษของท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) ใน “ฟัสอะลู อะฮฺลัซซิกร์” (ฉบับภาษาอาหรับ) หน้า 152-153 เรื่อง “การปฏิบัติของเศาะหาบะฮฺต่อคำสั่งของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ภายหลังการสิ้นชีวิตของท่าน” และ “จงถามผู้รู้” (ฉบับแปลภาษาไทย) โดยอัยยูบ ยอมใหญ่ หน้า 214 เรื่องพฤติกรรมของซอฮาบะฮฺที่มีต่อคำสั่งของท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หลังจากท่านสิ้นชีวิต หัวข้อ การทำลายซุนนะฮฺของท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นอกเหนือจากหะดีษของท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) ที่อัต-ตีญานียฺนำมาอ้างในงานเขียนเล่มนี้เช่นเดียวกับที่อ้างในษุมมะฮฺตะดัยตุ้ ซึ่งเราได้วิภาษมาแล้ว อัต-ตีญานียฺยังได้อ้างหะดีษที่บันทึกโดยอิมาม อัล-บุคอรียฺ อีก 2 บทมาประกอบในงานเขียน ฟัสอะลู อะฮฺลัซซิกร์ (จงถามผู้รู้) และษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 130 (ฉบับภาษาอาหรับ) เรื่องที่ 2 “บรรดาเศาะหาบะฮฺได้เปลี่ยนแปลงแม้กระทั่งในการละหมาด”

 

 

หะดีษบทที่ 1

อนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ฉันไม่รู้สิ่งใดจากสิ่งที่เคยปรากฏในสมัยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เหมือนอย่างการละหมาด อุมัรกล่าวว่า : พวกท่านได้ทำให้สูญเสียสิ่งที่พวกท่านได้ทำให้สูญเสียในการละหมาดมิใช่หรือ (ตามสำนวนในษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 130 (ฉบับภาษาอาหรับ) ส่วนใน ฟัสอะลู อะฮฺลัซซิกร์ (ฉบับภาษาอาหรับ) หน้า 152 อัต-ตีญานียฺเขียนว่า : อัล-บุคอรียฺบันทึกไว้ในภาคที่ 1 บทว่าด้วยการทำให้การละหมาดสูญเสียไปจากฆอยลาน อนัส อิบนุ มาลิกกล่าวว่า : ฉันไม่รู้สิ่งใดจากสิ่งที่เคยเป็นมาในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีผู้กล่าวขึ้นว่า “การละหมาด”

 

 

อนัสกล่าวว่า : พวกท่านได้ทำให้สูญเสียสิ่งที่พวกท่านได้ทำให้สูญเสียในการละหมาดนั้นแล้วมิใช่หรือ? และอัยยูบ ยอมใหญ่ แปลว่า : จากฆัยลานรายงานว่า อนัส บิน มาลิกได้กล่าวว่า : ฉันไม่รู้ในสิ่งหนึ่งเสียแล้ว ทั้งที่เคยมีการปฏิบัติกันในสมัยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีคนกล่าวว่า : การนมาซ เขา (อุมัร) กล่าวว่า : พวกท่านได้ทำให้สูญเสียสิ่งหนึ่งที่อยู่ในนั้นไปแล้ว มิใช่หรือ? – ดู “จงถามผู้รู้” (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 214 – )

 

 

และอัซ-ซุฮฺรียฺกล่าวว่า : ฉันได้เข้าไปหาอนัส อิบนุ มาลิกที่นครดามัสกัสในขณะที่อนัสกำลังร้องไห้ ฉันจึงกล่าวว่า : อะไรเล่าที่ทำให้ท่านร้องไห้? อนัสกล่าวว่า : ฉันไม่รู้สิ่งใดจากสิ่งที่ฉันเคยทันนอกเสียจากการละหมาดนี้ และแน่แท้ การละหมาดนี้ได้ถูกทำให้สูญเสียไปเสียแล้ว (ตามสำนวนในษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 130 (ฉบับภาษาอาหรับ) ซึ่งอัต-ตีญานียฺอ้างจากเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ 1/74) ส่วนในสำนวนฟัสอะลู อะฮฺลัซซิกร์ ระบุว่า : และเขา (ฆัยลาน) กล่าวว่า : ฉันเคยได้ยิน อัซซุฮฺรียฺกล่าวว่า : ฉันได้เข้าพบอนัส อิบนุ มาลิก ที่ดามัสกัส และเขากำลังร้องไห้ ฉันจึงกล่าวแก่เขาว่า : อะไรที่ทำให้ท่านร้องไห้? อนัสกล่าวว่า “ฉันไม่รู้สิ่งใดที่ฉันเคยทันนอกจากการละหมาดนี้ และการละหมาดนี้แน่แท้มันได้ถูกทำให้สูญเสียไปแล้ว” อัต-ตีญานียฺอ้างจากเศาะฮีหฺ อัล-บุครียฺ เล่มที่ 1 หน้า 134 (ฟัสอะลู อะฮฺลัซซิกร์ (ฉบับภาษาอาหรับ) หน้า 152)

 

 

วิภาษ

หะดีษของท่านอะนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) ไม่ได้กล่าวตำหนิถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่อย่างใดเลย เพราะท่านอนัส (ร.ฎ.) ได้กล่าวถึงสิ่งดังกล่าวอันเนื่องมาจากการกระทำของอัล-หัจญาจ อิบนุ ยูสุฟ อัษ-ษะเกาะฟียฺซึ่งเป็นผู้ปกครองอีรักในสมัยราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺได้ล่าช้าในการทำละหมาดจนถึงช่วงเวลาท้ายของการละหมาดเช่นเดียวกับการกระทำของผู้ปกครองในราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺบางคนได้กระทำ (ดู อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ อิบนุกะษีร 9/94)

 

 

ท่านอนัส (ร.ฎ.) ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวขณะที่ท่านได้พำนักอยู่ในอีรัก ตามที่ษาบิต อัล-บันนานียฺได้รายงานว่า : พวกเราเคยอยู่พร้อมกับอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) แล้ว อัล-หัจญาจก็ได้ล่าช้าในการทำละหมาด ท่านอนัส (ร.ฎ.) จึงลุกขึ้นยืนโดยต้องการที่จะพูดกับอัล-หัจญาจ แล้วพี่น้องของอนัสก็ได้ห้ามอนัสเอาไว้เนื่องจากสงสารท่าน ท่านอนัสจึงออกไปและขึ้นขี่สัตว์พาหนะของท่านแล้วกล่าวในระหว่างออกไปนั้นว่า : “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันไม่รู้สิ่งใดที่พวกเราเคยปฏิบัติกันในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)…..” (ฟัตหุลบารียฺ ; อิบนุหะญัร 2/13)

 

 

เรื่องจริงก็คือ ผู้ที่ล่าช้าในการละหมาดคือ อัล-หัจญาจ อิบนุ ยูสุฟ ซึ่งมิใช่เศาะหาบะฮฺ เพราะอัล-หัจญาจเกิดที่เมืองอัฏ-ฏออิฟ ในปี ฮ.ศ. ที่ 41 (อิบนุ ชากิรฺ : 5/256 , อิบนุ นะบาตะฮฺ หน้า 102 , อัล-มุคตะศอร ฟี อัคบารฺ อัล-บะชัรฺ : 1/198 , อิบนุคอลดุน : 1/156 , อิบนุ อัล-อะษีรฺ : 4/132) บ้างก็ว่า ปี ฮ.ศ. ที่ 42 และอัล-หัจญาจได้เป็นผู้ปกครองอีรักในปี ฮ.ศ. ที่ 75 (ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ : 5/40 , อิบนุ อัล-อะษีรฺ 4/145)

 

 

และเรื่องจริงก็คือ ท่านอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) เศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งพำนักอยู่ในอีรัก ณ เวลานั้นได้คัดค้านการกระทำของอัล-หัจญาจ อิบนุ ยูสุฟ เจ้าเมืองอีรักที่ล่าช้าในการละหมาดจนเข้าสู่ช่วงท้ายของเวลาละหมาด อันเป็นสิ่งที่ขัดกับสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และขัดกับสิ่งที่ท่านอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) ได้รู้มาว่า การละหมาดต้นเวลาคือสุนนะฮฺที่ปฏิบัติกันในสมัยที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยังมีชีวิตอยู่ แต่อัล-หัจญาจและพวกผู้ปกครองในราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺได้เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺในเรื่องนี้ด้วยการละหมาดในช่วงท้ายเวลาซึ่งเท่ากับเป็นการทำให้สิ่งที่เป็นสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) สูญเสียไป

 

 

เหตุนี้อิมามอัล-บุคอรียฺ (ร.ฮ.) จึงบันทึกอัล-หะดีษของท่านอนัส (ร.ฎ.) เอาไว้ในกิตาบ ว่าด้วยกำหนดเวลาของการละหมาด ..ว่าด้วยการทำให้การละหมาดสูญเสียจากการออกนอกเวลาของการละหมาด (ฟัตหุลบารียฺ 2/13) คำกล่าวของท่านอนัส (ร.ฎ.) จึงเป็นการรายงานสุนนะฮฺที่ถูกต้องของท่าน นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และเป็นการปกป้องสุนนะฮฺพร้อมกับความกล้าหาญในการพูดความจริงหรือแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่ค้านกับสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อันเป็นพฤติกรรมของอัล-หัจญาจซึ่งเป็นบุคคลที่มิใช่เศาะหาบะฮฺ

 

 

แล้วเหตุไฉนอัต-ตีญานียฺจึงเหมารวมว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺได้เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในเรื่องการละหมาดไปได้ ทั้งๆ ที่เรื่องจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย สิ่งนี้ย่อมบ่งชี้ว่า อัต-ตีญานียฺไม่ได้ค้นคว้าหรือสืบค้นถึงความจริงและต้นสายปลายเหตุในเรื่องนี้ คงมีแต่อคติและมโนภาพในเชิงลบต่อเหล่าเศาะหาบะฮฺเท่านั้น

 

 

หะดีษบทที่ 2

เป็นคำบอกเล่าของอิมามอัซ-ซุฮฺรียฺ (ร.ฮ.) ซึ่งเป็นชนรุ่นอัต-ตาบิอีนในแคว้นชาม เคยพบและรับฟังหะดีษจากท่านอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) และเศาะหาบะฮฺจำนวนหนึ่ง อิมามอิบนุ ชิฮาบ อัซ-ซุฮฺรียฺ (ร.ฎ.) เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 124 (ดู ตะฮฺซีบุตตะฮฺซีบ : 9/445) เรื่องมีอยู่ว่า ต่อมาท่านอนัส (ร.ฎ.) ได้เดินทางไปยังแคว้นชาม ณ กรุงดามัสกัส มี่นั่นท่านได้กล่าวหะดีษบทที่ 2 ซึ่งอิมามอัซ-ซุฮฺรียฺ (ร.ฮ.) ได้รายงานจากท่านอนัส (ร.ฎ.) หลังจากที่ท่านได้มาถึงกรุงดามัสกัส

 

 

ท่านอิบนุ หะญัร (ร.ฮ.) กล่าวว่า : การมาถึงนครดามัสกัสของท่านอนัส (ร.ฎ.) อยู่ในช่วงที่อัล-หัจญาจเป็นเจ้าเมืองอีรัก ท่านอนัส (ร.ฎ.) มายังดามัสกัสโดยนำเรื่องของอัล-หัจญาจมาร้องเรียนต่อเคาะลีฟะฮฺซึ่งขณะนั้นคือ อัล-วะลีด อิบนุ อับดิลมะลิก (ฟัตหุลบารียฺ 2/13) และอิบนุกะษีรกล่าวว่า : อับดุรรอซซาก อิบนุ อุมัร ได้รายงานจากอิสมาอีลว่า : “ท่านอนัส (ร.ฎ.) ได้มายังอัล-วะลีด ในปี ฮ.ศ. ที่ 92” (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 9/94) และท่านอนัส (ร.ฎ.) เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. ที่ 93 ตามทัศนะที่ถูกต้องซึ่งปวงปราชญ์ได้ระบุไว้ (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 9/94 , อัล-อิศอบะฮฺ ; อิบนุหะญัรฺ 1/113)

 

 

นั่นหมายความว่าท่านอนัส (ร.ฎ.) ได้เดินทางมาถึงดามัสกัสเพื่อพบกับเคาะลีฟะฮฺอัล-วะลีด อิบนุ อับดิลมะลิกได้ 1 ปีก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต คำกล่าวของท่านอนัส (ร.ฎ.) ในหะดีษที่ 2 ซึ่งอิมามอัซ-ซุฮฺรียฺ (ร.ฮ.) ได้รายงานและอิมามอัล-บุคอรียฺได้บันทึกเอาไว้ในตำราเศาะฮีหฺของท่านจึงเป็นการบอกล่าวถึงสภาพของช่วงเวลานั้นซึ่งท่านได้พบเห็นในตอนบั้นปลายชีวิตของท่าน ตลอดจนสิ่งที่ท่านได้เห็นความเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านั้นในเมืองอัล-บัศเราะฮฺ อีรัก คือการล่าช้าในการละหมาดของอัล-หัจญาจและผู้ปกครองบางคนในราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺ โดยในเวลานั้น มีบรรดาเศาะหาบะฮฺเหลืออยู่ไม่มากแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น นักวิชาการบางท่านยังระบุอีกว่า ท่านอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) คือเศาะหาบะฮฺท่านสุดท้ายที่เสียชีวิต และอีกท่านหนึ่งคือ อบู อัฏ-ฏุฟัยลฺ อามิรฺ อิบนุ วาษิละฮฺ อัล-ลัยษียฺ (ร.ฎ.) (ดู อัล-บาอิษ อัล-หะษีษ ชัรฺหุ อัคติศอรฺ อุลูมิลหะดีษ ; อิบนุ กะษีรฺ หน้า 160)

 

 

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของผู้คนภายหลังจากยุคของเศาะหาบะฮฺเช่นเรื่องการล่าช้าในการละหมาดจะถูกนำมาใช้เป็นข้อกล่าวหาและประณามเศาะหาบะฮฺว่าเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้อย่างไรกัน มิหนำซ้ำเศาะหาบะฮฺที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างท่านอนัส (ร.ฎ.) ก็เป็นผู้ที่ปฏิเสธและคัดค้านการเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อีกด้วย เหตุไฉน อัต-ตีญานียฺจึงนำหะดีษทั้งสองบทนี้มาอ้างประกอบทฤษฎีของตน ทั้งๆ ที่ในเนื้อหาของอัล-หะดีษทั้ง 2 บทไม่ได้ชี้ชัดเลยแม้แต่น้อยว่า เศาะหาบะฮฺได้เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีแต่การกระทำของคนรุ่นหลังเศาะหาบะฮฺ เช่น มัรวาน อิบนุ อัล-หะกัม และอัล-หัจญาจ อิบนุ ยูสุฟ แน่นอนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถูกเศาะหาบะฮฺทั้งสองคือ อบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) ในหะดีษก่อนหน้านี้ และอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) ในหะดีษบทที่ 1-2 ได้แสดงการคัดค้านและปกป้องสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

 

 

ความผิดที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เป็นการกระทำของเศาะหาบะฮฺและไม่เป็นธรรมที่จะทึกทักเอาว่าเศาะหาบะฮฺต้องรับผิดชอบการกระทำที่ขัดกับสุนนะฮฺของคนรุ่นหลังเศาะหาบะฮฺ อีกทั้งสุนนะฮฺที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าวก็ยังคงได้รับการสืบทอดรายงานและรับมาปฏิบัติกันอยู่ในหมู่ของชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องการละหมาดอีดทั้งสองก่อนการแสดงธรรม และการละหมาดฟัรฎูในช่วงต้นเวลา ไม่มีนักปราชญ์ชาวสุนนะฮฺคนใดนำเอาการปฏิบัติของมัรฺวาน อิบนุ อัล-หะกัม และอัล-หัจญาจมาเป็นสุนนะฮฺแทนที่สุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่อย่างใด

 

 

หากอัต-ตีญานียฺจะตรวจสอบเหตุการณ์อันเป็นที่มาของคำกล่าวที่เศาะหาบะฮฺทั้งสองท่านคือ ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) และท่านอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) ว่าท่านทั้งสองได้ตีแผ่สุนนะฮฺที่ถูกต้องของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และแสดงท่าทีคัดค้านอย่างกล้าหาญต่อมัรวาน อิบนุ อัล-หะกัม เจ้าเมืองมะดีนะฮฺ และอัล-หัจญาจ อิบนุ ยูสุฟ ผู้ปกครองอีรัก ที่บุคคลทั้งสองได้กระทำสิ่งที่ค้านกับสุนนะฮฺโดยไม่มีอคติและมิจฉาทิฐิมาบังตาและความคิดของตน อัต-ตีญานียฺก็ย่อมไม่พลาดในประเด็นที่ซ่อนอยู่ในเนื้อเรื่องของหะดีษดังกล่าว

 

 

นั่นคือประเด็นที่ว่า การกระทำของมัรวาน อิบนุ อัลหะกัมเกิดขึ้นที่นครมะดีนะฮฺ 2 ครั้ง ครั้งแรกนั้นจากปี ฮ.ศ. 41 ถึง ปี ฮ.ศ. 49 ครั้งที่ 2 นับจากปี ฮ.ศ. 54 ถึง ฮ.ศ. 58 (อัต-ตารีค อัช-ชามิล ลิลมะดีนะฮฺ อัล-มุเนาวะเราะฮฺ ; ดร.อับดุลบาสิฏ บัดร์ 1/447) ส่วนท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) ท่านเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. ที่ 64 (สิยัรฺ อัล-อะอฺลาม อัน-นุบะลาอฺ ; อัซ-ซะฮะบียฺ 4/320) นั่นหมายความว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และชาวเมืองมะดีนะฮฺได้ปฏิบัติตามสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในเรื่องการละหมาดอีดก่อนการแสดงธรรม ณ มุศอลลามาโดยตลอดซึ่งสอดคล้องกับหะดีษที่ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) ได้เล่าไว้

 

 

การที่อัต-ตีญานียฺจะกล่าวหาว่ามีการเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺในการละหมาดอีดทั้งสองก็จำต้องค้นหาหลักฐานในช่วงปี ฮ.ศ. ที่ 40 ย้อนกลับไปถึงช่วงปี ฮ.ศ. ที่ 11 ซึ่งเป็นปีที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เสียชีวิต อันเป็นช่วงเวลาก่อนการเป็นเจ้าเมืองมะดีนะฮฺของมัรฺวาน อิบนุ อัล-หะกัม ในครั้งแรก (ปี ฮ.ศ. ที่ 41)

 

 

โดยหลักฐานดังกล่าวต้องเป็นการยืนยันในเชิงกล่าวหาระหว่างบรรดาเศาะหาบะฮฺด้วยกันเองว่ามีการกระทำของเศาะหาบะฮฺบางคนได้เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในช่วงเวลาก่อนปี ฮ.ศ. ที่ 41 มิใช่นำเอาหะดีษที่ระบุเหตุการณ์ที่ชนรุ่นอัต-ตาบิอีนอย่างมัรวาน อิบนุ อัล-หะกัมถูกชนรุ่นเศาะหาบะฮฺอย่างท่านสะอีด อัล-คุดรียฺ (ร.ฎ.) กล่าวหาว่าเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของทานนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มากล่าวอ้างเป็นหลักฐานให้แก่ทฤษฎีของตน เพราะนอกจากจะไม่ตรงกับหัวข้อเรื่องแล้ว ยังกลับกลายเป็นว่าหะดีษของท่านอบูสะอีด (ร.ฎ.) ที่นำมาอ้างได้หักล้างทฤษฎีของอัต-ตีญานียฺเสียเอง และเราชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺเชื่อมั่นเหลือเกินว่า อัต-ตีญานียฺไม่สามารถค้นหาหลักฐานที่ยืนยันว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺได้เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในช่วงก่อนปี ฮ.ศ. ที่ 41 อย่างแน่นอน!

 

 

ความมีอคติต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺของอัต-ตีญานียฺได้บดบังความคิดและสติปัญญาของอัต-ตีญานียฺในกรณีของท่านอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) เช่นกัน นั่นคือ การล่าช้าในการละหมาดฟัรฎูประจำเวลาของอัล-หัจญาจ อิบนุ ยูสุฟ เจ้าเมืองอีรัก และการมีพฤติกรรมในการล่าช้าการละหมาดของผู้ปกครองบางคนในราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺ ณ แคว้นชาม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในบางหัวเมือง เช่น อีรักและเคว้นชามเท่านั้น เพราะตามท้องเรื่องที่ท่านอนัส (ร.ฎ.) ได้กล่าวถึงในหะดีษแรกเกิดขึ้นที่อีรัก สมัยอัล-หัจญาจเป็นเจ้าเมือง และหะดีษที่ 2 ซึ่งอิมามอัซ-ซุฮฺรียฺ (ร.ฮ.) ได้รายงานจากท่านอนัส (ร.ฎ.) ก็เป็นกรณีที่กรุงดามัสกัส แคว้นชาม หัวเมืองอื่นๆ ที่มีบรรดาเศาะหาบะฮฺพำนักอยู่ไม่ได้ถูกรวมเข้ามาด้วยในเรื่องนี้

 

 

กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในกรณีการละหมาดล่าช้าจนเข้าเวลาสุดท้ายของการละหมาดประจำเวลาไม่ได้เกิดขึ้นในหัวเมืองอื่นๆ ที่มีเศาะหาบะฮฺพำนักอยู่ซึ่งในขณะนั้นก็มีเศาะหาบะฮฺเหลืออยู่ไม่มากแล้ว เพราะท่านอนัส (ร.ฎ.) เป็นเศาะหาบะฮฺที่มีชีวิตอยู่ในเวลานั้นเป็นรุ่นสุดท้าย การกล่าวหาของอัต-ตีญานียฺที่ว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺในเรื่องการละหมาดต้นเวลาจึงไม่สมเหตุสมผลด้วยประการทั้งปวง และหะดีษของท่านอนัส (ร.ฎ.) ก็มิใช่หลักฐานที่ระบุว่าเศาะหาบะฮฺในช่วงเวลานั้นได้เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หรือชี้ชัดว่าหัวเมืองอื่นๆ นอกจากอีรักและชามได้เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วย

 

 

การถือตามพฤติกรรมของอัล-หัจญาจและผู้ปกครองบางคนในราชวงศ์อัล-อุมะวียะฮฺ อิมามอัล-บุคอรียฺได้บันทึกรายงานจากบะชีรฺ อิบนุ ยะสารฺ อัล-อันศอรียฺว่า : แท้จริง อนัส อิบนุ มาลิกได้มายังนครมะดีนะฮฺ แล้วมีผู้กล่าวขึ้นแก่อนัสว่า : ท่านมิได้คัดค้านสิ่งใดจากการกระทำของพวกเรานับแต่วันที่ท่านเคยอยู่ร่วมกับท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ใช่หรือไม่? ท่านอนัสกล่าวว่า : “ฉันมิได้คัดค้านสิ่งใดยกเว้นการที่พวกท่านไม่จัดแถวละหมาดให้ตรงเท่านั้น” (ฟัตหุลบารียฺ 2/209 หะดีษเลขที่ 723)

 

 

แสดงว่าชาวเมืองมะดีนะฮฺในเวลานั้นมิได้เปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในกรณีการล่าช้าการละหมาดอย่างที่อัล-หัจญาจและผู้ปกครองบางคนในราชวงศ์อัล-อุมะวียนะฮฺได้กระทำกันในหัวเมืองอีรักและชาม และเมื่อพิจารณาถึงกรณีการเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺในการละหมาดอีดของมัรวาน อิบนุ อัล-หะกัมซึ่งเกิดขึ้นที่นครมะดีนะฮฺในช่วงเวลาที่มัรวานเป็นเจ้าเมือง เราก็จะพบว่า มัรวาน อิวนุ อัล-หะกัมเสียชีวิต ปี ฮ.ศ. ที่ 65 (ดู สิยัรฺ อัล-อะอฺลามฯ 5/3) ส่วนท่านอนัส (ร.ฎ.) เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. ที่ 93 (ดู อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ 9/94 , อัล-อิศอบะฮฺ 1/113)

 

 

แสดงว่าหลังการเป็นเจ้าเมืองของมัรวานที่นครมะดีนะฮฺจนถึงปี ฮ.ศ. ที่ 58 (ครั้งที่ 2) จนกระทั่งถึงก่อนปี ฮ.ศ.ที่ 93 ซึ่งท่านอะนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) ได้เสียชีวิต พลเมืองมะดีนะฮฺไม่ได้นำเอาการเปลี่ยนแปลงของมัรวาน อิบนุ อัล-หะกัมในเรื่องการละหมาดอีดหลังการแสดงธรรมมาปฏิบัติ หากแต่พลเมืองมะดีนะฮฺยังคงรักษาสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในเรื่องการละหมาดอีดก่อนการแสดงธรรม เพราะท่านอนัส (ร.ฎ.) ไม่ได้ระบุถึงเรื่องนี้นอกจากเรื่องการจัดแถวละหมาดเท่านั้นในครั้งที่ท่านได้เดินทางมายังนครมะดีนะฮฺ

 

 

และแม้แต่เรื่องการจัดแถวละหมาดก็ยังเป็นข้อยืนยันได้อีกด้วยว่า เศาะหาบะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กำชับชนรุ่นอัต-ตาบิอีนในนครมะดีนะฮฺให้เคร่งครัดสุนนะฮฺในเรื่องการจัดแถวละหมาด เศาะหาบะฮฺคือท่านอนัส (ร.ฎ.) มิได้สั่งใช้ให้พลเมืองมะดีนะฮฺเปลี่ยนแปลงหรือละทิ้งสุนนะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่อย่างใด และการยืนยันของท่านอนัส (ร.ฎ.) ก็มิใช่เป็นการยืนยันว่าเศาะหาบะฮฺด้วยกันเปลี่ยนแปลงสุนนะฮฺ แต่เป็นการยืนยันกับชนรุ่นอัต-ตาบิอีนซึ่งมิใช่ชนรุ่นเศาะหาบะฮฺ

 

 

ดังนั้นแม้แต่ในกรณีการจัดแถวละหมาดนี้ อัต-ตีญานียฺก็ไม่สามารถนำมาอ้างเป็นหลักฐานสนับสนุนทางทฤษฎีของตนได้อีกเช่นกัน เพราะมิใช่เป็นการยืนยันระหว่างเศาะหาบะฮฺด้วยกัน แต่เป็นการยืนยันในสุนนะฮฺของเศาะหาบะฮฺที่มีต่อชนรุ่นอัต-ตาบิอีน ข้อกล่าวหาของอัต-ติญานียฺที่มีต่อเศาะหาบะฮฺจึงย้อนกลับไปยังอัต-ญานียฺเองว่า สักแต่หยิบยกหลักฐานที่ตนเข้าใจว่าน่าจะใช่ แต่กลายเป็นว่าไม่ใช่อย่างที่จะเอา! หรือเข้าทำนองที่ว่า “จับแพะชนแกะ แล้วเด็กเลี้ยงแกะก็ถูกแพะชน”!