ไฉนจึงเป็นลิเก

มีการแสดงของไทยชนิดหนึ่งที่คุ้นเคยกันดี โดยเฉพาะชาวบ้านชาวตลาดจนบรรดาแม่ยกทั้งหลายที่หลงใหลตัวเอกของศิลปะการแสดงแขนงนั้น จนอดใจไม่ใหวต้องเอาพวงมาลัยที่มีแบงค์บรรจงคล้องคอพระเอก ซึ่งบางทีอาจจะแถมด้วย “หอมแก้มอีกซักฟอดนึง” การแสดงที่ว่านี้ก็คือ ลิเก นั่นเอง

ลิเกฮูลู         ในพจนานุกรมฯ ให้ความหมาย ลิเก ว่าคือการแสดงชนิดหนึ่งมาจากชาวมลายูเรียก “ยี่เก” ก็มี แต่ดูเหมือนว่าการแสดงชนิดนี้จะไม่เป็นที่นิยมนักในหมู่ชาวมลายู หรือชาวมุสลิมนั่นเอง กลับไปโด่งดังในหมู่ชาวไทยพุทธ ถึงขนาดที่ว่าพระเอกลิเกบางคนกลายเป็นดาราดังทางจอแก้วไปก็มี ลิเกได้กลายเป็นศิลปะการแสดงภาคกลางตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 ส่วนทางภาคใต้ก็ยังมีการแสดงของ

ชาวไทยมุสลิมอยู่เช่นกันเรียกว่า “ลิเกฮูลู”

        คำว่า “ลิเก” ในพจนานุกรม kamus Dewan พิมพ์โดยสมาคมภาษาและหนังสือประเทศมาเลเซีย เรียก ลิเก เป็น ดิเกร์ เป็นศัพท์เปอร์เซีย (น่าจะมีเค้ามาจากภาษาอาหรับที่ว่า ซิกร์ (Zikr) อ่านตามสำเนียงชาวบ้านว่า ซิเกรฺ ซึ่งเพี้ยนมาเป็นยี่เก หรือลิเก นั่นเอง)
        มีการให้ความเห็น 2 ประการเกี่ยวกับความหมาย หรือต้นเค้าคำว่า ลิเก หรือ ดิเกร์ ประการแรกหมายถึง เพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า ปกติเป็นการขับร้องเนื่องในเทศกาลวันถือกำเนิดของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวาซัลลัม) ชาวมุสลิมเรียก “งานเมาลิด” (คำว่า “เมาลิด” เป็นคำอาหรับ หมายถึงวันเวลาที่เกิด หรือสถานที่เกิด) เลยเรียกการสวดดังกล่าวนี้ว่า “ดิเกร์เมาลิด”

 

        ความหมายประการที่สอง คือกลอนเพลงโต้ตอบ นิยมเล่ากันเป็นกลุ่มหรือเป็นคณะ ผู้รู้บางท่านระบุชัดว่า ยี่เก หรือ ลิเก ที่มีการออกแขกมาจากพวกซูฟี่ (กลุ่มความเชื่อหนึ่งที่มุ่งเน้นการขัดเกลาจิตใจให้ปลอดกิเลสและพยายามหาสันโดษให้พ้นจากโลก)

 

กลองรำมะนา

        และด้วยเหตุไฉน? ทำไมลิเก หรือ ดิเกร์ จึงเป็นการแสดงหรือมหรสพของไทย เหตุผลข้อนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เล่าไว้ในเรื่องลิเก ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือนาฏศิลป์และดนตรีไทย ไว้ตอนหนึ่งว่า

        “พวกเจ้าเซ็นเข้ามาอยู่ในเมืองไทยแล้วก็ได้รับพระราชูปถัมภ์มากมาย ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ถึงคราวที่มีงานในพระราชวังพวกเจ้าเซ็นก็เข้าไปสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า เพื่อถวายพระพรแด่พระมหากษัตริย์ เพลงที่ร้องนั้นเรียกว่า “เพลงดิเกร์” และพวกเจ้าเซ็นมีเสียงไพเราะร้องเพลงเป็นที่นิยมฟังกันมากในวัง ต่อมาก็มีเจ้านายผู้มีบุญวาสนาอีกเช่นเคย เวลาทำบุญวันเกิดตนหรือมีงานที่บ้านงานมงคล ก็มักจะตามเอาเจ้าเซ็นไปร้องเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า เพื่อความไพเราะด้วยแล้วก็แสดงให้เห็นฐานะในทางสังคมของตนว่าเป็นผู้มีบุญวาสนาในวังก็มีได้ พวกเจ้าเซ็นก็ไปร้องลิเกนี้เรื่อยมา ต่อมาไม่นานนอกจากพวกเจ้าเซ็นแท้ๆ แล้วก็มีคนไทยหัดร้องเพลงลิเกขึ้น ขั้นแรกก็มีทำนองเหมือนกัน ใช้ถ้อยคำเหมือนกับเพลงสวด ต่อมาเมื่อมีคนไทยจับเข้าแล้วเป็นแบบไทยก็เริ่มดำเนินเรื่อง คำว่า ดิเกร์ ก็เพี้ยนมาเป็นลิเก หรือยี่เก..”

 

        ลิเกที่ออกแขกสมัยก่อน ตัวแขกนั้นก็บ่งว่าเป็นมุสลิมต่างประเทศ เช่น แต่งตัวนุ่งผ้าโพกหัว แขกส่งภาษากับตัวตลกที่ออกไปทักแขกผู้ชมว่า “ฮัจฉา เตารากินหนา” คำว่า “หัดฮา” หรือ “ฮัจฉา” เป็นภาษาอินเดียมาจาก “อัจชา” ซึ่งแปลว่า “ดี” เช่นทักว่า “แกแซแฮ อัจแชแฮ” แปลว่า “เป็นอย่างไร สบายดีหรือ” (คำว่า “แกแซ” หรือ “อัจเช” เปลี่ยนไปตามการผูกประโยค คำเดิมคือ แกซา และอัจชา) ส่วน “เตารากินหนา” นั้นคงจะกลอนพาไป จนไม่แหลือให้ดูต้นที่มาของประโยคได้

 

ลิเกเรียบ

        ยังมีการแสดงอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ละไป” (อาจจะมีเค้ามาจาก “ลับบัย” ในภาษาอาหรับ) คือการร้องเพลงลำตัดภาษาอาหรับ และเรียก “ซีเกรฺ มัรฮาแบ” (คำว่า “มัรฮาแบ” เพี้ยนมาจาก “มัรฮะบาน” ในคำอาหรับหมายถึง “การยินดีต้อนรับ”) การร้องเป็นภาษาอาหรับถึงแม้จะไพเราะแต่คนไม่เข้าใจ จึงนำเอาเนื้อเพลงภาษาพื้นเมืองตีเข้ากับรำมะนา จึงกลายเป็นลิเกฮูลูมาตราบเท่าปัจจุบัน ดังนั้นลิเกฮูลูจึงมิได้สืบทอดการร้องคำสวดของพวกเจ้าเซ็น แต่เป็นการละเล่นตรงกับความหมายตามพจนานุกรม kamus dewan คือหมายถึงกลอนเพลงโต้ตอบ นิยมเล่นกันเป็นกลุ่มหรือคณะ

 

        จะเห็นได้ว่าซิกร์ หรือ ดิเกร์ นั้นเดิมมีต้นเค้ามากจากคติความเชื่อทางศาสนาอิสลามของชาวมุสลิมบางกลุ่ม และต่อมาก็พัฒนารูปแบบกลายไปค่อนข้างมากในสมัยต้นๆ รัตนโกสินทร์ และกลายเป็นการแสดงลิเกหรือยี่เกไปโดยไม่เหลือเค้าคติเดิมและถูกจัดอยู่ในมหรสพไทยไปในที่สุด ชาวมุสลิมก็เลยไม่นิยม เพราะเป็นมหรสพของชาวไทยพุทธ ยังคงเหลือลิเกฮูลูเท่านั้นที่ชาวมุสลิมทางภาคใต้นิยมกันอยู่

 

        ก่อนจบเรื่องลิเกยังมีตำนานประกอบเรื่องดังนี้ ยังมีตำนานอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเกิดเนื่องมาแต่ครั้งงานพระศพสมเด็จพระนางสุนันทาเหมือนกัน เมื่อมีกงเต๊กเป็นงานหลวงครั้งนั้น คนทั้งหลายคงจะเห็นเป็นการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างกว้างขวางผิดกับเคยมีมาแต่ก่อน เป็นเหตุให้พระสยามิศรภักดี (หรือสร้อยอย่างอื่นจำไม่ได้แน่) เป็นแขกอาหรับ พวกเราเรียกกันแต่ว่า “ขรัวยา” ซึ่งเป็นเขยสู่ข้าหลวงเดิมกราบทูลขอพวกนักสวดแขก เข้ามาสวดช่วยการพระราชกุศล และทูลรับรองว่าไม่ขัดกับคติศาสนาอิสลาม (ซึ่งความจริงน่าจะขัด – ผู้เขียน)

        จึงโปรดให้เข้ามาสวดในเวลาค่ำตามประเพณีของเขา ณ ศาลาอัฎวิจารณ์ ที่พระญวนเคยทำก๊งเต็ก หม่อมฉันไปดูเห็นล้วนเป็นพวกแขกเกิดในเมืองไทย ทราบภายหลังว่าเป็นชาวเมืองนนทบุรี นั่งขัดสมาธิถือรำมะนาแขกล้อมเป็นวง จะเป็นวงเดียวหรือสองวงจำไม่ได้แน่ แต่นั่งสวดโยกตัวไปมา สวดเป็นลำเนาอย่างแขกเข้ากับจังหวะรำมะนา (สาส์นสมเด็จฯ เล่ม 17 หน้า 262 องค์การค้าคุรุสภา 2505 – 06 ) อนึ่ง พระสยามิศรภักดีที่ถูกกล่าวนั้น มักเป็นที่รู้กันย่อๆ ว่า พระสยามฯ เป็นชาวยะมัน (เยเมน) นัยว่า ชื่อ ชะรีฟะอะลี

 


ที่มา

  • พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525
  • ความสัมพันธ์ของมุสลิม ทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย
  • ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ ศิปวัฒนธรรม ฉบับพิศษ มติชน พิมพ์ครั้งที่ 4 : กุมภาพันธ์? 2545
  • บุหงาปัตตานี คติชนไทยมุสลิมชายแดนภาคใต้ ประพนธ์ เรื่องณรงค์
  • สำนักพิมพ์มติชน มิถุนายน 2540