เหตุการณ์สำคัญในเดือนร่อญับ

                ค่ำวันที่  27  เดือนร่อญับ  ปีที่  10 นับจากการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ.ล.)  (ตามสายรายงานที่เป็นที่รู้กัน ( มัชฮู๊ร)
                 เกิดเหตุการณ์การเสด็จอิสรออฺ  ( หมายถึง การเดินทางในยามค่ำคืน)  ของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  จากนครมักกะฮฺ  สู่  นครบัยติลมักดิส  ( อัลกุดส์ )  เยรูซาเล็มแผ่นดินปาเลสไตน์  และเสด็จขึ้นสู่ฟากฟ้า  ( เมียะอฺรอจ)  เพื่อรับบัญญัติการละหมาด  เหตุการณ์อิสรออฺและเมียะอฺรอจของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  เกิดขึ้นภายหลังการเรียกร้องของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ต่อชาวเมืองตออิ๊ฟ  (เมืองสำคัญในแคว้นอัลฮิญาซฺ)  ให้เข้ารับอิสลาม 

                แต่ปรากฏว่าไม่มีการตอบรับอีกทั้งชาวเมืองตออิ๊ฟซึ่งมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ยังได้กระทำทารุณ  ขว้างปา  ขับไล่และสบถด่าทอท่านศาสดา  (ซ.ล.)  อีกด้วย  พระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  จึงทรงปลอบประโลมท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ด้วยเหตุการณ์อิสรออฺและเมียะอฺรอจนี้เอง

                ในหนังสืออัลบีดายะห์-วันนิฮายะห์ของท่านอิบนุ  กะซีร  (ร.ฮ.)  กล่าวว่า  :  ท่านอิบนุ  อ่าซากิร ได้กล่าวรายงานต่าง  ๆ  เกี่ยวกับเรื่องการอิสรออฺไว้ในตอนต้นๆ ของการแต่งตั้งท่านศาสดา  (ซ.ล.)  เป็นศาสนทูตประกาศศาสนา  ส่วนท่านอิบนุ  อิสหากได้กล่าวรายงานต่าง  ๆ  ดังกล่าวในช่วงหลังการแต่งตั้งท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ประมาณ  10  ปี ให้หลัง

                และท่านอัล-บัยหะกีย์ได้รายงานจากสายรายงานของท่านมูซา  อิบนุ  อุกบะห์  (ร.ฮ.)  จากท่านซุฮรีย์ (ร.ฮ.)  ว่าท่านซุฮฺรีย์กล่าวว่า  :  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ถูกนำเสด็จอิสรออฺก่อนการหลบออกจากนครมักกะห์สู่นครม่าดีนะห์  (ฮิจเราะห์)  -อพยพ-  เป็นเวลา  1  ปี  ท่านอัลบัยหะกีย์  กล่าวว่า  :  ท่านอิบนุ  ละฮีอะห์  (ร.ฮ.) ก็ได้กล่าวถึงเช่นกันจากท่านอบี  อัล-อัสวัด  (ร.ฮ.)  จากท่านอุรวะห์  (ร.ฮ.) 

                ส่วนท่านอัล-ฮากิมได้รายงานจากท่านอัล-อะซอม  จากท่านอะฮฺหมัด  อิบนิ  อับดิลญับบ๊าร  จากท่านยูนุส  อิบนิ  บ่ากีร  จากท่านอัซบาฎ  อิบนิ  นัซรฺ  จากท่านอิสมาแอล  อัสซุดดีย์  ท่านกล่าวว่า  :  ละหมาด  5  เวลานั้นได้ถูกบัญญัติแก่ท่านศาสนทูต  (ซ.ล.)  ณ  บัยติลมักดิส  คืนที่ท่านถูกนำเสด็จอิสรออฺก่อนการฮิจเราะห์ของท่าน  16  เดือน 

                ฉนั้นตามคำกล่าวของท่านซุดดีย์นั้นก็ปรากฏว่าการอิสรออฺนั้นอยู่ในเดือนซิลเกาะอฺดะห์  และตามคำกล่าวของท่านอัซซุฮรีย์และอุรวะห์  การอิสรออฺอยู่ในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ลและท่านอบูบักร  อิบนุ  อบีชัยบะห์ได้กล่าวว่า  ท่านอุสมานได้เล่าให้เราทราบจากท่านสะอีด  อิบนิ มีนา  จากท่าน  ญาบิรและอิบนิอับบาสว่า

                ทั้งสองท่านกล่าวว่า  :  ท่านศาสนทูต  (ซ.ล.)  ได้ถือกำเนิดในปีช้าง  วันที่  12  เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล  และในวันนี้ท่านถูกแต่งตั้งให้ประกาศศาสนา และในวันที่ 12 ร่อบีอุ้ลเอาวั้ลท่านได้เมียะอ์รอจขึ้นสู่ฟากฟ้า  และท่านอพยพในวันนี้และในวันนี้ท่านเสียชีวิต”  ในสายรายงานนี้มีการขาดตอนของสายรายงาน  และท่านฮาฟิซ  อับดุลฆอนีย์  อิบนุ  สุรุร  อัลมักดิซีย์  ระบุรายงานนี้ในตำราประวัติของท่าน 

                และท่านได้รายงานเล่าฮะดีษบทหนึ่งที่สายรายงานไม่ซอเฮียะห์  (ไม่ถูกต้อง)  เราได้กล่าวหะดีษบทนี้ไว้ใน “ความประเสิรฐทั้งหลายของเดือนร่อญับ”  ว่าแท้จริงการอิสรออฺนี้เกิดขึ้นในคืนที่  27  จากเดือนร่อญับ  และอัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ทรงรู้ยิ่ง  และผู้คนบางคนกล่าวอ้างว่า  การอิสรออฺนั้นเกิดในคืนวันศุกร์แรกของเดือนร่อญับ  คือ  ค่ำคืนอัรรอฆออิบซึ่งมีการอุตริกรรมการละหมาดที่เป็นที่รู้กัน  (ละหมาดอัรรอฆออิบ)  ในค่ำคืนนี้คือค่ำวันศุกร์แรกของเดือนร่อญับซึ่งไม่ปรากฏว่ามีต้นตอที่มาในเรื่องดังกล่าว (เรื่องการละหมาดอัรร่อฆออิบ)  และพระองค์อัลลอฮฺทรงรู้ยิ่ง  จบคำพูดของท่านอิบนุ  กะซีรในหนังสืออัลบิดายะห์  หน้า  107  เล่มที่  2

                เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  2
                 ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ส่งท่านอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  ญะห์ชิน  อิบนิ  ริอ๊าบ  อัลอะสะดีย์  และชาวมุฮาญิรีนจำนวน  8  ท่าน  ออกสอดแนมทางการทหารและท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงเขียนสาส์นให้กับท่านอับดุลลอฮฺ  และมีคำสั่งห้ามเปิดผนึกสาส์นจนกว่าจะเดินทางได้  2  วันเสียก่อน  จึงค่อยเปิดผนึกสาส์น  และจะไม่มีการบังคับผู้ใดจากเหล่าอัครสาวกที่ร่วมเดินทาง  (ในการดำเนินภารกิจดังกล่าว) 

                ท่านอับดุลลอฮฺ  (รฎ.)  ได้ดำเนินการและเมื่อท่านได้เปิดผนึกสาส์นดังกล่าวก็พบว่าในสาส์นมีใจความดังนี้”  เมื่อท่านได้ดูสาส์นนี้ของข้าพเจ้าแล้ว จงดำเนินต่อไปจวบจนลงพัก ณ ตำบลนัคละห์ (อยู่ระหว่างนครมักกะห์และเมืองตออิ๊ฟ) และจงเฝ้าสังเกตการณ์เหล่ากุเรช ณ ตำบลนั้นและท่านจะต้องแจ้งให้เรารู้ถึงข่าวคราว (การเคลื่อนไหว) ของพวกเหล่านั้นให้ทราบ”

                ท่านอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  ญะห์ชินก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และได้มุ่งหน้าพร้อมกับเหล่าพรรคพวกของท่านทั้ง  8  ท่านจนกระทั่งลงพัก  ณ  ตำบลนัคละห์  ซึ่งต่อมากองคาราวานอูฐ  (บรรทุกสินค้า)  ของเหล่ากุเรชก็ได้ผ่านมา  การณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของเดือนร่อญับและเหล่ามุสลิมก็ได้ทำการหารือกันถึงความเหมาะควรทางหลักการในการทำสงครามในช่วงเดือนฮ่ารอม  (ต้องห้าม)  และเห็นเป็นมติในการทำสงคราม  (มุสลิมเหล่านี้หมายถึง  เหล่าสาวกที่ถูกส่งไปในการสอดแนมพร้อมกับท่านอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  ญะห์ชิน) 

                ครั้นต่อมาสาวกท่านหนึ่งจากกองสอดแนมได้ยิงธนูเข้าใส่  อัมรฺ  อิบนุ  อัลฮัฎร่อมีย์  (ผู้เป็นนายกองคาราวาน)  จนเป็นเหตุถึงแก่ความตายและยังได้รุมจับตัวอุสมาน  อิบนุ  อับดิลลาฮฺ  อิบนิล  มุฆีเราะห์  และอัลฮ่ากัม  อิบนุ  กัยซาน  บ่าวของตระกูลอัลมุฆีเราะห์  ( ซึ่งทั้งสองร่วมกองคาราวานมาด้วย)  และมุ่งรุดหน้าพร้อมด้วยกองคาราวานและเชลยศึกทั้ง  2  คนนั้น  นอกเสียจากว่า  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ปฏิเสธไม่เห็นชอบด้วยถึงการกระทำของเหล่าสาวกในการปฏิบัตินอกเหนือภารกิจ  ที่ทรงมอบหมาย (คือเพียงแค่สอดแนมและหาข่าวการเคลื่อนไหวของกองคารวานเท่านั้น) ภายหลังได้มีโองการอัลกุรอ่านถูกประทานลงมาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้

                ในเดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  9
                 ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้ปลุกระดมชาวเมืองมะดีนะห์และเขตปริมณฑลรอบ  ๆ  จากชาวอาหรับพื้นเมืองให้ทำการญิฮาด  (ต่อสู้เพื่อพลีชีพในทางศาสนา)  และท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ทรงแจ้งให้ชาวเมืองมะดีนะห์ทราบถึงการสงครามกับเหล่าทหารโรมัน  และท่านอุสมาน  อิบนุ  อัฟฟาน  (รฎ.)  ได้ออกค่าใช้จ่ายในการแต่งทัพออกศึก  ซึ่งเรียกว่า  กองทัพอัลอุสเราะห์ด้วยทรัพย์สินจำนวนมาก

                และท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ออกร่วมทัพกับเหล่าทหารหาญจำนวนประมาณ  30,000  นายและแต่งตั้งให้ท่านมุฮัมมัด  อิบนุ  มัสละมะห์เป็นผู้ดูแลเมืองมะดีนะห์  ท่านศาสดา (ซ.ล.)  พร้อมเหล่าทหารหาญได้เดินทัพจวบจนกระทั่งถึงตำบลตะบู๊ก  ณ  แผ่นดินชาม  (ซีเรีย)  แต่ไม่มีการรบพุ่งระหว่างสองฝ่ายแต่อย่างใดและในระหว่างเคลื่อนทัพกลับท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้ทรงกระชับมิตรกับยุฮันนะห์  อิบนุ  รุอฺบะห์  ผู้ครองเมืองอัยละห์  และทรงส่งท่านคอลิด  อิบนุล  วะลิด  ไปยังอะกีดุรเดามะห์และนำตัวมาในที่สุด

                ในวันที่  4  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  12
                 ท่านค่อลีด  อิบนุ  อัลวะลีด  โจมตีทัพเปอร์เซียในเมืองอัลอันบาร  (อิรัก)  จึงเป็นผลให้แม่ทัพเปอร์เซียนามว่า  “ชีราซาด” จำต้องยอมสงบศึก แต่มีเงื่อนไขว่าต้องอนุญาตให้ตนพร้อมผู้สนิทสามารถเดินทางสู่เมืองอัลมะดาอิน (เมืองหลวงของเปอร์เซียในอิรัก) ได้โดยไม่นำพาทรัพย์สินใด ๆ ติดตัวไปด้วย ท่านคอลิดก็ยอมรับข้อเสนอนั้น

                วันที่  11  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  12
                 กองทหารของมุสลิมภายใต้การบัญชาการของท่านค่อลีด  อิบนุ  อัลวะลีด  เข้าทำศึกกับเหล่ากองทหารของเปอร์เซียภายใต้การบัญชาการของมิฮฺรอน  อิบนุ  บะห์รอม  ญุบีนและอักเกาะห์  อิบนุ  อบีอักเกาะห์  พร้อมด้วยผู้คนจำนวนมากจากชาวอาหรับตระกูลอันน่ามิร  (ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเปอร์เซีย) กองทัพของเปอร์เซียกับเหล่าพันธมิตร  ได้ประสบกับความปราชัยอย่างย่อยยับและล่าถอยทัพในที่สุด  สมรภูมิครั้งนี้ถูกเรียกว่า  สมรภูมิอัยนฺอัตตัมรฺ ซึ่งเป็นนามชื่อของป้อมปราการที่กองทหารเปอร์เซียล่าถอยจากป้อมนั้น

                วันที่  15  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  14
                 ท่านค่อลีด  อิบนุ  อัลวะลีด  เข้าโจมตีนครดามัสกัส  จากทางประตูทิศเมืองตะวันออก  หลังจากการปิดล้อมอันหนักหน่วงของกองทหารมุสลิม  และโรมันก็ไม่เหลือกำลังทางทหารในการเผชิญหน้ากับท่านคอลิดอีกต่อไป  เหล่าทหารโรมันประจำป้อมรักษาการณ์ต่าง ๆ  ที่ปักหลักสู้ตามประตูเมืองดามัสกัสก็ยอมแพ้และเปิดประตูเมืองด้านต่าง ๆ  เพื่อให้กองทหารมุสลิมยาตราเข้าสู่ตัวเมืองชั้นใน  โดยเรียกร้องให้มีการสงบศึก  ท่านอบู  อุบัยดิมะห์  อิบนุ  อัลญัรรออฺ  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็ตอบรับเหล่าทหารโรมันที่ยอมจำนนในการทำสัญญาสงบศึกภายหลังขออนุมัติเรื่องจากท่านอมีรุ้ล  มุอฺมีนีน  อุมัร  อิบนุ  อัลคอตต๊อบ  โดยที่ท่านอุมัร  (รฎ.)  ได้มอบความปลอดภัยต่อชีวิต  ทรัพย์สินและโบสถ์ทางศาสนาคริสต์แก่พวกเขา

                วันที่  24  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  12
                 กองทหารมุสลิมภายใต้การนำของท่านคอลิด  อิบนุ  อัลวะลีดสามารถพิชิตเดามะตุ้ล-ญันดัล       

    

                ในเดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  60
                 อมีรุ้ล  มุอฺมีนีน  มุอาวียะห์  อิบนุ  อบีซุฟยาน  (รฎ.)  ได้เสียชีวิต  ท่านเคยเป็นเสมียนบันทึกวะฮีย์ของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ถือกำเนิด  ณ  นครมักกะห์  ก่อนการแต่งตั้งท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ประกาศศาสนา  5  ปี  และเข้ารับอิสลามในวันพิชิตนครมักกะห์  และท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงให้ท่านมุอาวียะห์เป็นเสมียนบันทึกวะฮีย์  (โองการแห่งอัลกุรอ่าน)  อายุของท่านขณะนั้น  26  ปีโดยประมาณ  และท่านมุอาวียะห์ได้รับการสัตยาบันในการดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์ในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล  ปีที่  41  แห่งฮิจเราะห์ศักราช  และท่านยะซีด อิบนุ  มุอาวียะห์  ผู้เป็นรัชทายาทก็ดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์สืบมาภายหลัง

                ในเดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  82
                 ท่านอัลมุฆีเราะห์  อิบนุ  อัลมุฮัลลับ  อิบนิ  อบีซุฟเราะห์  ได้เสียชีวิต  ท่านเคยเป็นข้าหลวงว่าราชการเมือง”มัรวะห์” ซึ่งเป็นหนึ่งจากหัวเมืองของแคว้นคุรอซาน อันเป็นเมืองที่ท่านอัลมุฮัลลับ  อิบนุ  อบีซุฟเราะห์  เคยว่าราชการอยู่  การเสียชีวิตของท่านมุฆีเราะห์นั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากท่านอัลมุฮัลลับ  ผู้เป็นบิดาเพราะเป็นการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ

                ในเดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  101
                 อมีรุ้ล  มุอฺมีนีน  อุมัร  อิบนุ  อัลดิลอาซีซ  (รฎ.)  ได้สิ้นพระชนม์  และท่านยะซีด  อิบนุ  อับดิลมะลิก  ดำรงตำแหน่งการปกครองสืบต่อมาในภายหลัง

                ในเดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  218
                 ค่อลีฟะห์  อัลมะอฺมูน  อิบนุ  ฮารูน  อัรร่อชีด  แห่งราชวงศ์อัลอับบาซียะห์ได้สิ้นพระชนม์  พระองค์ได้รับการสัตยาบันในการดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์อย่างสมบูรณ์เพียงผู้เดียวภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระอนุชา  อัลอามีน  ในวันที่  25  เดือนมุฮัรรอม  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  198  และพระอนุชานามว่า  อบูอิสหาก  มุฮัมมัด  อัลมุอฺตะซิม  อิบนุ  ฮารูน  อัรร่อชีดดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์สืบมา  ซึ่งเหล่าทหารต่างก็ปฏิเสธไม่ยอมกระทำสัตยาบันต่ออัลมุอฺตะซิมในการดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์ในเบื้องแรก 

                โดยเหล่าทหารมีความต้องการให้อัลอับบาส  อิบนุ  อัลมะอฺมูน  ดำรงตำแหน่งแทน  แต่ทว่าท่านอัลอับบาสผู้นี้ได้ชิงให้สัตยาบันต่อพระเจ้าอาในการดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์เสียก่อน  ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้เกียรติต่อพินัยกรรมของพระบิดาที่สั่งเสียไว้  เหล่าทหารในกองทัพก็เลยปฏิบัติตามท่านอัลอับบาส  ในการสัตยาบันต่ออัลมุอฺตะซิมในที่สุด 

                และในรัชกาลของอัลมุอฺตะซิมนั้นได้เกิดความวุ่นวายอย่างรุนแรง อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งในเรื่องสถานภาพของคัมภีร์อัลกุรอ่านซึ่งพวกมัวะอฺตะซิละฮฺได้ดำเนินการอยู่เบื้องหลังและทำให้อิหม่ามอะหฺหมัดต้องถูกคุมขังและถูกเฆี่ยนตีเนื่องจากไม่ยอมรับทัศนะของพวกมัวะอฺตะซิละฮฺในเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นทัศนะที่ค่อลีฟะฮฺเองก็สนับสนุน

                ในเดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  461
                 อัลมุกัรรอม  อะห์หมัด  อิบนุ  อาลี  อัซซุลัยฮีย์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรอัซซุลัยฮียะห์ ซึ่งนิยมในนิกายชีอะห์  แห่งเมืองยะเมน  (ยะมัน)  ได้เข้าสู่นครซอนอาอ์ ภายหลังปราบปรามเหล่าปรปักษ์ผู้คิดก่อการกบฎแย่งชิงอำนาจซึ่งพวกกบฎเกือบที่จะยึดนครซอนอาอ์ได้สำเร็จแต่ถูกปราบปรามเสียก่อน (อนึ่งนครซอนอาอฺเป็นราชธานีของอาณาจักรอัซซุลัยฮียะห์ในเยเมน)

                ในเดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  479
                 อัลมุอฺตะมิด  อิบนุ  อับบ๊าดเจ้าครองนครอิชบีลียะห์  ( ซีวิลล่า, Sevilla)  และพันธมิตรของตนคือ  ยูซุฟ  อิบนุ  ตาชฟีน  ประสบความสำเร็จในการสร้างความปราชัยแก่กองทหารของอัลฟังซัวที่  6  (Alphonse  ที่  6)  กษัตริย์แห่งอาณาจักรกิชตาละห์  (คาสติลล่า)  ทั้ง  2  ฝ่าย  -มุสลิมและคริสเตียน-  ต่างก็เห็นด้วยกับข้อตกลงตามข้อเสนอของอัลฟังซัวที่  6  ต่อการพักรบในช่วงวันศุกร์  เสาร์และอาทิตย์  เพื่อเป็นการให้เกียรติต่อความสำคัญทางศาสนาของช่วงวันเหล่านี้ 

                แต่ทว่าอัลฟังซัวกับทำลายสัญญาข้อตกลงนั้นและยกกองกำลังของพระองค์เข้าจู่โจมกองทหารมุสลิมในวันศุกร์  ทว่าพวกคริสเตียนก็ต้องพบกับความประหลาดใจอย่างคาดไม่ถึงต่อการเตรียมพร้อมรับมือของอัลมุอฺตะมิดและอิบนุ  ตาชฟินซึ่งคาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่าอัลฟังซัวอาจคิดไม่ซื่อ

                ในวันที่  22  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  484
เจ้าชายซัยรีย์  อิบนุ  อบีบักร  อัลลัมตูนีย์  ผู้สำเร็จราชการของท่านยูซุฟ  อิบนุ  ตาชฟีนในแคว้นเอ็นดาลูเซียได้เข้ายึดครองเมืองอิชบีลียะห์  (ซีวิลล่า)  และจับกุมเจ้าเมืองอิชบีลียะห์  คือ อัลมุอฺตะมิด  อิบนุ  อับบ๊าดและครอบครัว  และส่งไปเป็นเชลยศึกยังแอฟริกาเหนือ  (เนรเทศ)  อิบนุ  อับบ๊าดผู้นี้หวั่นเกรงการมีอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของอิบนุ  ตาชฟีนซึ่งพยายามสร้างความเป็นปึกแผ่นของหัวเมืองต่าง  ๆ  ในแคว้นเอ็นดาลูเซียภายใต้การนำทางการทหารของตนเพื่อเผชิญหน้ากับกองกำลังคริสเตียนจากทางเหนือซึ่งกำลังพยายามระดมสรรพกำลังเพื่อเข้ายึดครองหัวเมืองในแคว้นเอ็นดาลูเซียอย่างแข็งขัน

                ในเดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  543
                 ค่อลีฟะห์อัซซอฟิร  แห่งราชวงศ์ฟาฎิมีย์  (อียิปต์)  ได้แต่งตั้งอัลม่าลิก  อัลอาดิ้ล  ซัยฟุดดีน  อิบนุ  อัซซัลล๊ารขึ้นเป็นมหาเสนาบดี  (วาซิร,  วาเซียร์)  บุรุษท่านนี้  (ซัยฟุดดีน)  มีบทบาทอย่างใหญ่หลวงในการนำเอามัซฮับ  (นิกาย)  ซุนนีย์  กลับมาเผยแผ่ในอียิปต์ที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อัลฟาฎีมีย์  (ซึ่งนิยมในนิกายชีอะห์) 

                และท่านผู้นี้ยังนิยมในสำนักกฎหมายทางนิติศาสตร์อิสลามสายชาฟิอีย์  อันเป็นส่วนหนึ่งจากสิ่งที่สร้างความวิตกให้แก่ค่อลีฟะห์แห่งราชวงศ์ฟาฎีมีย์  ดังนั้นพระองค์จึงมอบให้คนสนิทของพระองค์บางคน  ซึ่งก็คือ  นัซรฺ  อิบนุ  อับบาส  ลอบสังหารอิบนุ  อัซซัลล๊าร  นัซรฺ  ผู้นี้จึงทำการสังหารอิบนุ  อัซซัลล๊าร  และสังหารท่านค่อลีฟะห์อัซซอฟิรด้วยในเวลาเดียวกัน

                ในวันที่  14  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  493
                 ค่อลีฟะห์  อัลมุซตัฎฮิร  บิลลาฮฺ (  ฮ.ศ.487-510  )  องค์ที่  28  แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์  ได้สถาปนามุฮัมมัด  อิบนุ  มาลิก  ชาฮฺ  ขึ้นเป็นสุลฏอน  แห่งอาณาจักรซัลจูก  (เซลจูก เติร์ก) แทนบัรกียา  รูกผู้เป็นพี่ชายและประทานนามว่า  “ฆียาซุดดุนยาวัดดีน  (غياث الدنياوالدين )  และกล่าวขอพรให้ในคุฏบะห์ เหนือธรรมาสน์ของมัสยิดสถานทั้งหมดในกรุงแบกแดด

                ในวันที่  14  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  554
                 อิบนุ  อัลมะฮฺดีย์  (ابن المهدي )  ได้สถาปนาอาณาจักรอัลมะห์ดียะห์  (الدولةالمهندية )  ในเมืองซะบีด   (زبيد )  ในแคว้นติฮามะห์  (تهامة )  แห่งยะมัน  (เยเมน)

                ในวันที่  27  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  582
                 ท่านซ่อลาฮุดดีน  อัลอัยยูบีย์  (สลาดิน)  -ผู้สถาปนาราชวงศ์อัลอัยยูบีย์-  ได้ยึดบัยตุ้ลมักดิส  (เยรูซาเล็ม)  คืนได้จากกองทหารครูเสดซึ่งเรียกร้องให้มีการประนีประนอมภายหลังการปิดล้อมเมืองอย่างหนักหน่วงนับตั้งแต่วันที่  15  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  583  ท่านซ่อลาฮุดดีนได้ตอบตกลงตามคำเรียกร้องของเหล่าทหารครูเสดเพื่อทำสัญญาประนีประนอมภายหลังการขู่ว่าจะทำลายเมืองอันศักดิ์สิทธิให้ราบพนาสูญหากพวกครูเสดไม่ยอมจำนน

                ในเดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  848
                 กองทหารของสุลตอนมุร็อด  ข่านที่  2  แห่งราชวงศ์อุษมานีย์  (ออตโตมานเติร์ก)  ได้รับชัยชนะในการศึกเหนือกองทหารของฮังการีในสมรภูมิวารนะห์  (Varna  เมืองหนึ่งในบัลแกเรีย  ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลดำ  ปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง)  หลังจากที่ฝ่ายฮังการีละเมิดสนธิสัญญาสงบศึกที่กระทำระหว่างทั้ง  2  ฝ่าย  ในวันที่  26  ร่อบีอุ้ลเอาวั้ล  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  848 

                การณ์ดังกล่าวเป็นผลจากการยุยงปลุกปลั่นของพระคาร์ดินัล  ซีซารีนีย์  ผู้แทนสูงสุดทางคณะสงฆ์แห่งคริสตจักรวาติงกัน  ประจำฮังการี  ซึ่งพระคาร์ดินัลผู้นี้ได้ประกาศว่าสัญญาที่กระทำกับเหล่ามุสลิม (ซึ่งเป็นพวกนอกรีต)  นั้นไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามและสามารถละเมิดได้ทุกเมื่อ และในสมรภูมิวารนะห์  นี้เองที่กษัตริย์ลาดิซลาส  ( -Ladislas)  แห่งฮังการี  ได้สิ้นพระชนม์กลางสมรภูมิพร้อมด้วยซีซารีนีย์  ผู้แทนสูงสุดแห่งกรุงวาติงกัน

                ในวันที่  2  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  920
ซุลตอนซ่าลีมที่  1  แห่งราชวงศ์อุษมานียะห์สามารถสร้างความปราชัยให้กับชาฮฺ  อิสมาแอล  แห่งราชวงศ์ซอฟาวีย์  ผู้เป็นชาฮฺแห่งอิหร่าน  ณ  ที่ราบญาลดารอน  เมืองตับรีซ (-เมืองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่านใกล้ทะเลสาบอุรมียะห์  ในแคว้นอาเซอร์ไบจานตะวันออก-)  ซึ่งเป็นราชธานีแห่งราชวงศ์ซอฟาวีย์ ชาฮ์  อิสมาแอล  ผู้นี้พยายามปลุกปั่นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในจักรวรรดิอุษมานียะห์  (ออตโตมานเติร์ก)  ให้ก่อการกบฎและสร้างความไม่สงบเนื่องจากกลัวการขยายอิทธิพลของจักรวรรดิอุษมานีย์ 

                ดังนั้นชาฮ์  อิสมาแอล  จึงยุยงเหล่าพระประยูรญาติที่ใกล้ชิดของสุลต่านซ่าลีม  ให้มีใจออกห่างและแย่งชิงอำนาจในการปกครอง  และชาฮฺอิหร่านยังได้ส่งคณะทูตไปยังสุลต่านแห่งอียิปต์  เพื่อเรียกร้องให้ร่วมเป็นพันธมิตรในการหยุดยั้งการแผ่ขยายแสนยานุภาพของจักรวรรดิอุษมานียะห์อีกด้วย

                ในวันที่  14  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  920
                 สุลตอนซ่าลีม  ที่  1  แห่งราชวงศ์อุษมานียะห์เข้าตีเมืองตับรีซ ราชธานีแห่งอิหร่านและยึดครองได้เป็นผลสำเร็จ  พร้อมเข้ายึดครองคลังสมบัติของชาฮฺ  อิสมาแอล  แห่งราชวงศ์ซอฟาวียะห์ภายหลังที่ซุลตอนซ่าลีมที่  1  สร้างความปราชัยแก่ชาฮ์อิสมาแอลมาแล้วในสมรภูมิญาลดีรอน 

                ในวันที่  25  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  922
                 สุลตอนซ่าลีมที่  1  แห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ได้สร้างความปราชัยเป็นครั้งแรกแก่สุลตอนกอนสุวะห์  อัลฆูรีย์  แห่งราชวงศ์อัลมัมลูกียะห์  (ม่ามาลีก)  แห่งอียิปต์  ในสมรภูมิมัรญ์  ดาบิ๊ก  (อยู่ใกล้กับเมืองฮัลบ์  (อะเล็บโป)  ในแคว้นชาม-ซีเรีย-)  โดยที่สุลต่านอัลฆูรีย์  แห่งราชวงศ์อัลมัมลูกีย์  ในอียิปต์ผู้นี้เป็นพันธมิตรกับชาฮฺอิสมาแอลแห่งราชวงศ์ซอฟาวีย์ในอิหร่านเพื่อร่วมกันหยุดยั้งการแผ่แสนยานุภาพของจักรวรรดิอุษมานียะห์อันนำไปสู่การขัดแย้งกันระหว่างแม่ทัพของสุลตอนอัลฆูรีย์ 

                กองทหารปืนใหญ่ของกองทหารแห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์มีบทบาทสำคัญยิ่งในการได้รับชัยชนะของสุลตอนซ่าลีมที่  1  และการมีชัยของพวกอุษมานีย์  (ออตโตมานเติร์ก)  ในสมรภูมิมัรญ์  ดาบิ๊กนี้เป็นประตูนำไปสู่การเข้ายึดครองอียิปต์ของพวกอุษมานีย์ในที่สุด  โดยกองทหารของพวกอุษมานีย์ยาตราทัพเข้าสู่กรุงไคโร  (Cairo)  ในวันที่ 8 เดือนมุฮัรรอม ปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 923

                ในเดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  924
                 สุลตอน  ซ่าลีมที่  1  แห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ยกทัพกลับสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล  (อิสตันบูล)  หลังจากที่สามารถผนวกเอาแคว้นชามและอียิปต์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอุษมานียะห์

                ในวันที่  12  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1012
                 สุลตอนมุฮัมมัด  ข่านที่  3  โอรสของสุลตอนมุร็อดที่  3  แห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ได้สิ้นพระชนม์และสุลตอนอะห์หมัดที่  1  ครองราชย์สมบัติสืบมา  (สุลตอนมุฮัมมัด  ข่านที่  3  ประสูติในวันที่  7  เดือนซุลกิอฺดะห์  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  987  ตรงกับ  16  พฤษภาคม  ปีคศ.1566  เป็นพระโอรสในสุลต่านมุร็อดที่  3  อันเกิดจากพระสนมซอฟียะห์  ผู้มีเชื้อชาติอิตาเลียน  สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชนมายุได้  37  พรรษา  ปกครองจักรวรรดิ  9  ปี)

                ในวันที่  9  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1031
                 กองทหารอิงกิชารียะห์  (เจนเนสรีย์)  (กองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของจักรวรรดิอุษมานียะห์)  ได้ถอดซุลตอนอุสมาน  ข่านที่  2  แห่งราชวงศ์อุษมานีย์  ซึ่งพระองค์ได้ทรงเริ่มดำเนินการปราบกองทหารดังกล่าวเพื่อกำจัดกองทหารที่ชอบกบฎนี้ให้สิ้นซาก  หลังจากที่เหล่ากองทหารเจนนิสรีย์  ล่าถอยทัพในการศึกกับกองทหารโบโลเนีย  (Polska, หรือโปร์แลนด์) 

                และเป็นเหตุนำไปสู่การจำยอมทำสัญญาประนีประนอมของซุลตอน  ซึ่งพระองค์ทรงกริ้วเหล่าทหารเจนนิสรีย์อย่างมาก  นอกเสียแต่ว่ากองทหารเจนนิสรีย์รู้ตัวเสียก่อน  จึงจู่โจมเข้าจับกุมซุลตอนในพระราชวังของพระองค์  และคุมตัวไปยังกองบัญชาการของพวกเขาและปลงพระชนม์และนำเอาสุลตอนองค์ก่อน  ผู้มีพระนามว่า  มุสตอฟา  ข่านที่  1  กลับขึ้นครองจักรวรรดิซึ่งซุลตอนมุสตอฟาองค์นี้เคยถูกเหล่าทหารเจนนิสรีย์ถอดจากราชสมบัติมาแล้วเช่นกัน

                วันที่  18  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1041
                 กองทหารเจนนิสรีย์  (อิงกิชารียะห์)  บุกพระตำหนักสุลตอนมุร็อด  ข่านที่  2  แห่งราชวงศ์อุษมานียะห์และสังหารมหาเสนาบดี  (อัซซอดรุ้ล – อะอฺซอม)  ฮาฟิซ  ปาชา  หลังการปฏิเสธของซุลตอนต่อคำเรียกร้องของกองทหารเจนนิสรีย์ที่ต้องการนำคุสโร  ปาชา  มหาเสนาบดีคนก่อนกลับสู่ตำแหน่ง  (อนึ่ง คุสโร ปาชาผู้นี้เคยนำทัพอุษมานียะฮฺเข้าปิดล้อมกรุงแบกแดดแต่กลับออกคำสั่งให้ทหารเลิกทัพเพราะถูกพวกกองทหารเจนนิสรีย์กดดันเป็นผลให้กองทหารของชาฮฺแห่งอิหร่านสามารถยึดกรุงแบกแดดได้) 

                ครั้นเมื่อสุลตอนมุร็อด  ข่านที่  2  ทราบข่าวการสังหารฮาฟิซ  ปาชา  พระองค์ก็ทรงมีบัญชาให้สังหารคุสโร  ปาชาผู้ชักใยเบื้องหลังความวุ่นวายในครั้งนี้และแต่งตั้งให้บัยรอม  มุฮัมมัด  ปาชา  ขึ้นเป็นมหาเสนาบดี

                วันที่  8  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1048
                 กองทัพของอุษมานียะห์  (ออตโตมาน)  ภายใต้การนำของสุลตอนมุร็อด  ข่านที่  4  ทำการปิดล้อมกรุงแบกแดดและสามารถตีคืนจากพวกอิหร่านได้หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการโจมตีอย่างหนักหน่วงใน  เช้าของวันที่  18  เดือนชะอฺบาน  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1048

                วันที่  18  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1058
                 กองทหารเจนนิสรีย์ก่อการกบฏต่อสุลตอนอิบรอฮีม  ข่านที่  1  แห่งราชวงศ์อุษมานียะห์หลังการล่วงรู้ของกองทหารเจนนิสรีย์ถึงพระประสงค์ของสุลตอนที่จะปลดเหล่าแม่ทัพของกองทหารอันเนื่องจากสาเหตุการเข้าแทรกแซงของเหล่าแม่ทัพในการบริหารราชการแผ่นดินของราชสำนักและไม่สนองตามพระบรมราชโองการของซุลตอน  โดยมีเหล่านักปราชญ์เข้าร่วมกับเหล่าแม่ทัพ  โดยมีมุฟตีย์  อับดุรร่อฮีม  อะฟันดีย์เป็นหัวเรือใหญ่  และกองทหารเจนนิสรีย์ได้ตั้งมุฮัมมัด  ข่านที่  4  ขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา  อิบรอฮีม  ข่านที่  1 

                และในวันที่  28  เดือนร่อญับในปีเดียวกัน  ทหารเจนนิสรีย์บางนายพยายามนำเอาสุลตอนอิบรอฮีม  กลับขึ้นครองราชย์อีกครั้งหนึ่ง  แต่ทหารเจนนิสรีย์จำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย  ซ้ำร้ายเหล่าทหารเจนนิสรีย์ยังได้ปลงพระชนม์สุลตอน  อิบรอฮีม  โดยการแขวนคอ  เนื่องจากเกรงว่าพระองค์จะกลับมาครองราชย์และแก้แค้นพวกเขา

                วันที่  24  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1110
                 มีการลงนามสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างจักรวรรดิอุษมานียะห์  และรุสเซียเวนิสและโบโลเนีย  (โปร์แลนด์)  เรียกกันว่าสนธิสัญญาสงบศึกคาร์ลูฟิตซ์  ในสนธิสัญญาดังกล่าวจักรวรรดิอุษมานียะห์  (ออตโตมาน)  ต้องยอมเสียฮังการีและทรานซิลวาเนียแก่ออสเตรีย  และเมืองท่าอาซอฟ  ที่ตั้งบนฝั่งทะเลดำแก่รุสเซีย และสูญเสีย  กามนิก, โบโดเลียและอูเครวินแก่โบโลเนีย  และเกาะโมราห์จรดแม่น้ำฮิกซามีลูน  และแคว้นเด็ลมาเซีย  ที่ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลเอเดรียติกแก่เวนิสและยังกำหนดระยะสงบศึกเป็นลายลักษณ์อักษรมีระยะเวลา  25  ปี 

                และกำหนดว่า  กลุ่มประเทศยุโรปที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ต้องจ่ายสิ่งใดแก่จักรวรรดิอุษมานียะห์  ไม่ว่าในฐานะส่วยหรือบรรณาการหรือของกำนัล  ด้วยสนธิสัญญาฉบับนี้จักรวรรดิอุษมานียะห์ต้องสูญเสียอาณาเขตมิใช่น้อยจากดินแดนในการปกครองของจักรวรรดิในฝั่งยุโรป  และความละโมบของกลุ่มประเทศยุโรปต่อดินแดนในการปกครองของจักรวรรดิก็เพิ่มมากขึ้น

                วันที่  6  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1115
                 สุลตอนอะห์หมัด  ข่านที่  3  แห่งอุษมานียะห์ได้ปราบปรามกองทหารเจนนิสรีย์และสังหารทหารเจนนิสรีย์เป็นจำนวนมากและปลดมหาเสนาบดีนาชัญญีย์  อะห์หมัด  ปาชาหุ่นเชิดของกองทหารเจนนิสรีย์และแต่งตั้งดามาด  ฮาซัน  ปาชา  พระราชบุตรเขยดำรงตำแหน่งแทน

                วันที่  12  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1144
                 การทำสัญญาสงบศึกระหว่างจักรวรรดิอุษมานียะห์ในรัชสมัยของสุลตอนมะฮฺหมูด  ข่านที่  1  และพระเจ้าชาฮ์แห่งเปอร์เซีย  เฎาะห์มาซิบที่  1  ซึ่งพระองค์ได้เรียกร้องให้มีการสงบศึกภายหลังการพ่ายแพ้การศึกครั้งแล้วครั้งเล่าต่อกองทัพของจักรวรรดิอุษมานียะห์ 

                สนธิสัญญาประนีประนอมครั้งนี้ได้กำหนดว่าเปอร์เซีย  (อิหร่าน)  จะต้องสละดินแดนแห่งที่เข้ายึดครองแก่จักรวรรดิ  ยกเว้น  เมืองตับรีซ,  อัรดาฮาน  ฮัมซาน  และบางส่วนของแคว้นลูริซตาน  แต่ปรากฏว่านาดิร  ข่าน ข้าหลวงใหญ่ของอิหร่านคัดค้านต่อจักรวรรดิอุษมานียะห์ในสนธิสัญญาประนีประนอมครั้งนี้และนำไพร่พลทหารมุ่งสู่เมืองอิสฟาฮานและถอดชาฮฺ  เฎาะห์มาซิบ  ออกจากราชสมบัติและสถาปนาอับบาสที่  3  พระโอรสขึ้นครองราชย์โดยนาดิร  ข่านดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

                วันที่  12  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1203
                 สุลตอนอับดุลฮามีดที่  1  แห่งอุษมานียะห์สิ้นพระชนม์พระองค์ทรงครองจักรวรรดิหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเชษฐาสุลตอน  มุสตอฟาที่  3  ในวันที่  8  เดือนซิลกิอ์ดะห์  ปีฮิจเราะหศักราชที่  1187  ซึ่งสุลตอนซ่าลีม  ข่านที่  3  พระโอรสของสุลตอนมุสตอฟาที่  3  ก็เสด็จครองราชสมบัติสืบมาภายหลัง

                วันที่  10  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1222
                 กองกำลังของอังกฤษถอนทัพออกจากอียิปต์ซึ่งกองกำลังดังกล่าวเคยเข้าโจมตีตามชายฝั่งของอียิปต์โดยการบัญชาการของนายพลเฟรเซอร์ ในวันที่  10  มุฮัรรอม  ปีฮ.ศ.1222  ซึ่งภายหลังจำต้องล่าถอยเนื่องจากการต่อสู้ของฝ่ายอียิปต์เป็นไปอย่างเข้มแข็ง

                วันที่  5  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1239
                 สุลตอนมะห์มูด  ข่านที่  2  แห่งอุษมานียะห์ทรงมีพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งมูฮัมมัด  อาลี  ปาชา  อุปราชผู้ครองอียิปต์ให้ดำรงตำแหน่งอุปราชแห่งเกาะครีตและมณฑลโมราฮฺ  อีกเช่นกัน  และทรงมอบหมายภารกิจให้มูฮัมมัด  อาลี  ปาชา  ปราบปรามชาวกรีกในเกาะครีตและมณฑลดังกล่าวที่ก่อการปฏิวัติลุกฮือต่อจักรวรรดิ

                วันที่  12  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1256
                 อังกฤษได้ส่งกองเรือรบสู่ชายฝั่งกรุงเบรุตเพื่อสนับสนุนกองเรือรบของอังกฤษที่ประจำการอยู่  ณ  ที่นั่น  โดยมีเป้าหมายที่จะบังคับหรือบีบให้มุฮัมมัด  อาลี  ปาชา  ถอนทัพจากแคว้นชามอันเป็นการดำเนินตามมติต่าง ๆ  ของการประชุมหารือ  ณ  กรุงลอนดอน  ปีคศ.1840  โดยที่กองเรือรบของอังกฤษได้ยิงโจมตีกรุงเบรุตอย่างหนัก

                และในวันที่  14  เดือนร่อญับ  ปีเดียวกัน  ก็มีการยกพลขึ้นบกของทหารอังกฤษจำนวน  1,500  นายและทหารตุรกี  8,000  นายทางตอนเหนือของกรุงเบรุต  อิบรอฮีม  ปาชา  ก็ไม่สามารถทานเหล่าทหารดังกล่าวได้อันเนื่องจากการโจมตีทางปืนใหญ่ของกองเรือรบอังกฤษซึ่งโจมตีจุดอ่อนทางยุทธศาสตร์ทั้งหมดของแคว้นชามและเผาจุดยุทธศาสตร์เหล่านั้น  โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะขจัดมุฮัมมัด  อาลี  ปาชาจากแคว้นชาม  และนำแคว้นชามกลับสู่พระราชอำนาจของสุลตอนแห่งอุษมานียะห์อีกครั้ง

                วันที่  22  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1265
                 รุสเซียเข้ายึดครองแคว้นอัฟลาก (หรือรัฐฟาลาเฟีย  Valachie ในลุ่มแม่น้ำดานูบ แคว้นนี้รวมกับมอลตาเฟียเป็นประเทศโรมาเนียปีคศ.1858) และแคว้นบุฆดาน (เป็นเขตทางทิศตะวันออกของชายแดนโรมาเนียที่ประชิดพรมแดนกับรุสเซีย หรือแคว้นโรมาเนียนั่นเอง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากอาณาเขตในการปกครองของจักรวรรดิอุษมานียะห์

                ภายหลังความพยายามของชนพื้นเมืองในการประกาศเอกราชและผนวกรวมกับทรานซิลวาเนียและบีโกเฟ่น เพื่อตั้งประเทศโรมาเนียใหม่ จักรวรรดิอุษมานียะห์ได้ทักท้วงรัสเซียต่อการเข้ายึดครองอาณาเขตของจักวรรดิในครั้งนี้  และมีการเจรจากันระหว่างทั้ง  2  ฝ่ายซึ่งจบลงด้วยการลงนามในข้อตกลง  บัลเฎาะห์  ลีมาน  (-อันหมายถึงท่าจอดเรือตรงช่องแคบบอสฟอร์จากตุรกีฝั่งยุโรปใกล้อิสตันบูลเป็นสถานที่ที่ดำเนินการสนธิสัญญาฉบับนี้- )  ซึ่งระบุว่าจักรวรรดิอุษมานียะห์จะต้องดำเนินการแต่งตั้งผู้ปกครอง  2  คนจากทางฝ่ายตนดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาก่อนแล้ว  พร้อมกับการประจำการของกองทหารผสมตุรกี-รุสเซียเพื่อดูแลความสงบในระยะเวลา  7  ปี

                วันที่  26  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1269
                 เจ้าชายปรินส์  มันชีกอฟ  ทูตรุสเซียประจำกรุงอิสตันบูล  ได้มีสาส์นถึงราชสำนึกของอุษมานียะห์ โดยเรียกร้องให้รื้อฟื้นเงื่อนไขต่าง ๆ  ของสนธิสัญญาพักรบฮิงการ์  อิสกิลาซีย์  ซึ่งกำหนดว่ารุสเซียมีสิทธิอันชอบธรรมในการให้การพิทักษ์เหล่าคริสเตียนที่มีหลักแหล่งอยู่ในรัฐต่าง ๆ  ของจักรวรรดิอุษมานียะห์และเรียกร้องให้ทางราชสำนักของอุษมานียะห์ให้คำตอบตามคำร้องนั้นภายในเวลา  5  วัน  สุลตอนแห่งราชวงศ์อุษมานีย์ทรงปฏิเสธคำร้องดังกล่าว

                วันที่  12  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1270
                 ฝรั่งเศสและอังกฤษยินยอมตามข้อตกลงในสนธิสัญญาลุนดาเราะห์  ( -สนธิสัญญากรุงลอนดอน- )  ต่อการรักษาไว้ซึ่งอาณาเขตของจักรวรรดิอุษมานียะห์และปฏิเสธการผนวกเอาส่วนหนึ่งของอาณาเขตดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรุสเซีย  การดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการโจมตีของกองทัพเรือรุสเซียต่อกองเรือรบของอุษมานียะห์ในทะเลดำและทำลายล้างกองเรือดังกล่าวในสมรภูมิซีนูบ  (อันเป็นเมืองที่มีป้อมปราการทางตอนเหนือของอนาโตเลีย  บนฝั่งทะเลดำมีท่าเรือกว้างขวาง) 

                จักรวรรดิอุษมานียะห์ยึดเอาเมืองนี้เป็นจุดพักของกองเรือรบของตน  ในปีคศ.1853  รุสเซียได้ทำลายโดนานเมฮฺ  (กองเรือ)  ของอุษมานียะห์จนราบคาบก่อนก่อนประการสงครามไครเมีย  ซึ่งขัดกับการกระทำสนธิสัญญาคราวก่อนของรุสเซียที่รับรองว่าจะไม่กระทำการใด ๆ  ที่เป็นการคุกคามทางการทหารในเขตน่านน้ำทะเลดำ

                วันที่  23  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1272
                 มีการลงนามสนธิสัญญาสงบศึกแห่งกรุงปารีส  (สนธิสัญญาปารีส)  ซึ่งให้การรับรองและป้องกันอาณาเขตของจักรวรรดิอุษมานียะห์จากภัยคุกคามของรุสเซีย  และจักรพรรดิแห่งรุสเซียทรงลงนามในสนธิสัญญารับรองว่าจะมอบคืนเขตมณฑลต่าง ๆ  ซึ่งพระองค์ได้ทรงยึดครองแก่จักรวรรดิอุษมานียะห์

                (สนธิสัญญาปารีสมี  34  ข้อตกลงพร้อมด้วยภาคผนวก  ลงวันที่  30  เดือนมีนาคม  ปีคศ.1856  ภายหลังลงนามสนธิสัญญาฉบับนี้ฝ่ายต่าง ๆ  ก็ร่วมประชุมหารือในช่วงต้นเดือนเมษายนและมีมติให้ยกเลิกการปิดล้อมทางทะเลจากเมืองท่าต่าง  ๆ  ของรุสเซียและฝรั่งเศส  อังกฤษ  และบีโมนตี  (ซาร์ดีเนีย)  จะต้องถอนทัพออกจากแหลมไครเมีย  ภายในระยะเวลา  6  เดือนและให้เวลาแก่ออสเตรีย  ภายในเวลา  6  เดือนในการเคลียร์เขตมณฑลวาลาเชียและโรมาเนียให้เรียบร้อย  และระยะเวลา  3  เดือนในการส่งมอบเมืองกอริส  พร้อมป้อมปราการคืนแก่จักรวรรดิอุษมานียะห์ 

                และคณะกรรมาธิการซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำเนินการในเรื่องแบ่งแยกเส้นเขตแดนระหว่างจักรวรรดิกับรุสเซียทางด้านซาราเบียจะต้องมีการประชุมหารือภายในวันที่  1  รอมาฎอน  ปีคศ.1272  ตรงกับ  6  พ.ค.ปีคศ.1856  ในเมืองฆาลาติส (Galati บนฝั่งแม่น้ำดานูบทางตะวันออกเฉียงเหนือจากกรุงบูคาเรสต์ ณ ปากแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลดำ)

                ในวันที่  18  เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1351
                 กองทหารของกษัตริย์อับดุลอาซีซ  อิบนุ  อับดิรเราะห์มาน  อัลฟัยซอล  อาลซุอูด  กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้โจมตีแคว้นญีซาน  (-เป็นเมืองท่าของซาอุฯบนฝั่งทะเลแดงในมณฑลอาซีร-)  เพื่อปราบปรามการกบฏลุกฮือของพวกอิดรีส ภายใต้การนำของซัยยิด  ฮะซัน  อัลอิดรีซีย์  ซึ่งจำต้องหลบหนีพร้อมกับพรรคพวกบางคนยังเมืองซอบียา  ในเวลาต่อมาและหันไปพึ่งอิหม่ามยะห์ยา  ผู้ปกครองเมืองยะมันในที่สุด

                เดือนร่อญับ  ปีฮิจเราะห์ศักราชที่  1367
                 กลุ่มยิวไซออนิสต์  ประกาศตั้งประเทศอิสราเอลเหนือดินแดนปาเลสไตน์ ภายหลังกลุ่มยิวไซออนิสต์กลุ่มต่าง ๆ  มีการรณรงค์ในการอพยพชาวยิวจากทั่วโลกสู่ดินแดนปาเลสไตน์และการเข้าครอบครองที่ดินของชาวปาเลสไตน์  โดยการสนับสนุนและให้การคุ้มครองของอังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเหนือปาเลสไตน์ 

                อังกฤษได้ดำเนินการในช่วงที่ปาเลสไตน์ตกอยู่ใต้อาณัติของตนในการกีดกันการมีกรรมสิทธิครอบครองอาวุธทุกชนิดของชาวปาเลสไตน์เพื่อเป็นการปูทางแก่การก่อสงครามของพวกยิวไซออนิสต์  จนกระทั่งว่าถือเป็นเรื่องลำบากยิ่งสำหรับชาวปาเลสไตน์  ที่จะมีอุปกรณ์ทำครัวจำพวกมีดหั่นในครอบครอง  แถลงการณ์ดังกล่าวประมวลถึงการประกาศตั้งประเทศอิสราเอลอย่างเป็นทางการในวันที่  14  พฤษภาคม  คศ.1948  และลงนามโดยเหล่าผู้นำขององค์กรไซออนิสต์สากล  ภายใต้การนำของนายเดวิด  เบนกูเรียน  ถึงการสิ้นสุดในการเป็นเจ้าอาณานิคมของอังกฤษเหนือดินแดนปาเลสไตน์  เนื้อหาส่วนหนึ่งในมติการประกาศตั้งประเทศอิสราเอลก็คือ”…. 

                และประเทศอิสราเอลจะเปิดประตูรับการอพยพของชาวยิวเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ชาวยิวผู้ถูกเนรเทศทั้งหลายและจะทำนุบำรุงในการพัฒนาประเทศให้รุดหน้าเพื่อประโยชน์สุชแก่พลเมืองทั้งหลายโดยไม่มีการแบ่งแยกทางศาสนา  เชื้อชาติ  หรือสัญชาติใด  ๆ และอิสราเอลจะประกันถึงความมีเสรีภาพทางศาสนา  ความเชื่อ  ภาษา  การศึกษาและวัฒนธรรม  และอิสราเอลจะให้การพิทักษ์แก่สถานที่อันศักดิ์สิทธิของทุกศาสนาและจะเป็นผู้รักษาหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติอย่างเข้มงวด … 

                และเราให้สัตย์ยืนยันแก่พลเมืองเชื้อสายอาหรับว่าพวกเขาจะต้องรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ  และในการมีส่วนร่วมในการสร้างประเทศบนพื้นฐานของความเป็นพลเมืองอย่างเต็มขั้นที่ตั้งอยู่บนความเสมอภาคและการเป็นตัวแทนที่เหมาะสมในทุก  ๆ  องค์กรของรัฐทั้งถาวรและชั่วคราว  …”   ช่างเป็นการโป้ปดอย่างไร้สิ่งเคลือบแคลงเสียเหลือเกิน  อิสราเอลไม่เคยรักษาสัญญาและไม่เคยพอใจในสันติภาพเลยแม้แต่น้อย