30.หะดีษการตามชาวยะฮูดและนะศอรอ

debateattiyaniassamawi30

หลักการอ้างหะดีษอัล-เหาวฺฎ์ อัต-ตีญานียฺได้อ้างถึงหะดีษที่ว่า : (ขอสาบานว่า) แน่นอนพวกท่านจะปฏิบัติตามบรรดาวิถีของผู้คนที่มีมาก่อนพวกท่านคืบต่อคืบ ศอกต่อศอก จนกระทั่งหากว่าเขาได้รูแย้ พวกท่านก็ตามพวกเขา พวกเรากล่าวว่า โอ้ ท่านรสูลุลลอฮฺ (พวกนั้นคือ) พวกยะฮูดและนะศอรอ (ใช่หรือไม่?) ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าว : จะเป็นใครไปได้” (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

 

อัต-ตีญานียฺเขียนว่า :

“ผู้ค้นคว้ามีสิทธิที่จะตั้งคำถามขณะที่อ่านอัล-หะดีษบทนี้ที่มีมติว่าเศาะฮีหฺ อะไรกันที่เหล่าเศาะหาบะฮฺซึ่งถูกมุ่งหมายด้วยหะดีษบทนี้ได้กระทำจากการกระทำของพวกยะฮูดและ  นะศอรอจนกระทั่งท่านรสูลุลลอฮฺให้ลักษณะพวกเขาว่า พวกเขาจะดำเนินตามพวกยะฮูดและนะศอรอคืบต่อคืบ ศอกต่อศอก กระทั่งหากพวกยะฮูดและนะศอรอเข้ารูแย้ เหล่าเศาะหาบะฮฺก็เข้าสู่ที่เข้าของพวกยะฮูดและนะศอรอ (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 120)

 

ในย่อหน้าถัดมาอัต-ตีญานียฺกล่าวถึงพฤติกรรมของพวกยะฮูดและนะศอรอตามที่อัล-กุรอานและประวัติศาสตร์ระบุไว้ซึ่งทั้งหมดที่อัต-ตีญานียฺเขียนเป็นเรื่องของพวกยะฮูดและนะศอรอ เช่น กรณีที่ชาวยะฮูดฝ่าฝืนคำสั่งของนบีมูซา (อ.ล.) และเกือบจะสังหารท่านนบีฮารูน (อ.ล.) การปฏิเสธบรรดานบีและการสังหารบรรดานบี การวางแผนของพวกยะฮูดในการเล่นงานท่านนบีอีซา (อ.ล.) และการกล่าวหาพระนางมัรยัม (อ.ล.) ตลอดจนความเห็นของพวกยะฮูดที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับสถานภาพของนบีอีซา (อ.ล.) (ดู อ้างแล้ว หน้า 120-121)

 

ในหน้าถัดมา อัต-ตีญานียฺก็โยงมาถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺและกล่าวหาบรรดาเศาะหาบะฮฺว่าได้ฝ่าฝืนคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในหลายเรื่องด้วยกัน โดยย้อนกลับไปพูดเรื่องการขัดขวางมิให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในวันพฤหัสฯ อัปโชคและกรณีกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งทั้งสองเรื่องเราได้วิภาษมาแล้วก่อนหน้านี้ อัต-ตีญานียฺเขียนว่า เป็นสิทธิของตนในการจะจินตนาการในเรื่องที่ตนโยงว่าเศาะหาบะฮฺได้   ฝ่าฝืนคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยอ้างถึงข้อเขียนของชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาววียฺ ใน “อัล-มุรอญิอาต” มาประกอบจินตนาการของตน (อ้างแล้วหน้า 121-123)

 

วิภาษ

(1)  อัต-ตีญานียฺไม่ได้เขียนอธิบายอย่างชัดเจนว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มุ่งหมายในหะดีษบทนี้คือผู้ใด? เพราะการโต้ตอบ (คิฏอบ) ในหะดีษนี้มีนัยกว้าง และไม่มีการยกเว้นเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งท่านใดเอาไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นท่านอะลี (ร.ฎ.) ก็ย่อมถูกรวมอยู่ในการโต้ตอบนี้ด้วย หากอัต-ตีญานียฺยืนยันว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ไม่เข้าอยู่ภายใต้ของนัยอัล-หะดีษบทนี้ อัต-ตีญานียฺก็ต้องนำหลักฐานที่ยกเว้นท่านอะลี (ร.ฎ.) ออกจากการโต้ตอบที่ครอบคลุมนี้

 

(2)  หะดีษบทนี้เป็นหนึ่งจากดะลาอิลุนนุบูวะฮฺที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวถึงสิ่งที่จะปรากฏขึ้นในอนาคตซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคของเศาะหาบะฮฺเท่านั้น และโดยข้อเท็จจริงก็มิได้เกิดขึ้นในสมัยของเศาะหาบะฮฺแต่เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในยุคหลังเศาะหาบะฮฺ เพราะบรรดาเศาะหาบะฮฺคือผู้ที่สู้รบกับพวกยะฮูดและพวกนะศอรอทั้งในสมัยที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยังมีชีวิตอยู่และหลังการสิ้นชีวิตของท่าน

 

อัล-กุรอานหลายอายะฮฺและหะดีษจำนวนมากได้ระบุห้ามมิให้เลียนแบบหรือเอาอย่างพวกยะฮูดและนะศอรอ บรรดาเศาะหาบะฮฺก็เคร่งครัดในการปฏิบัติตามสิ่งที่อัล-กุรอานและหะดีษระบุห้ามการถือตามพวกยะฮูดและนะศอรอ และหะดีษบทนี้เศาะหาบะฮฺก็เป็นผู้รายงานจากท่าน นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วเหตุไฉนเหล่าเศาะหาบะฮฺจึงกลายเป็นผู้ถือตามแนวทางของชาวคัมภีร์ทั้งสองกลุ่มไปได้ แน่นอนสำหรับจินตนาการของอัต-ตีญานียฺเรื่องในทำนองนี้เป็นไปได้เสมอ แต่จินตนาการก็คือเรื่องของการนึกคิดเป็นตุเป็นตะ มิใช่ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด

 

(3)  อัต-ตีญานียฺไม่ได้เขียนถึงกรณีใดบ้างที่บรรดาเศาะหาบะฮฺถือตามวิถีของพวกยะฮูดและนะศอรอ คงมีแต่เรื่องเดิมที่ถูกนำมาเขียนซ้ำอีกครั้งในเรื่องกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) และวันพฤหัสฯ อัปโชคโดยพยายามโยงเรื่องทั้งสองว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺแข็งขืนและขัดคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เช่นเดียวกับพวกยะฮูดที่ดื้อดึงและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบีมูซา (อ.ล.) ตลอดจนการปฏิเสธคำเรียกร้องเชิญชวนของท่านนบีอีซา (อ.ล.) ทั้งๆ ที่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งใน 2 กรณีนั้น

 

เพราะตามความเชื่อของฝ่ายอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ บุคคลที่ท่าน นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นคือ ท่านอบูบักร อัศ-สิดดีก (ร.ฎ.) ดังที่มีบันทึกไว้ในเศาะฮีหฺอัล-บุคอรียฺ (หะดีษเลขที่ 5666) และมุสลิม (หะดีษเลขที่ 2387) จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) และการที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้สั่งใช้ให้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรหลังจากเหตุการณ์วันพฤหัสฯ อัปโชค ทั้งๆ ที่ท่านสามารถจะกระทำเช่นนั้นได้ก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต นั่นเป็นเพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) รู้ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺหลังจากท่านจะเลือกท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) เป็นเคาะลีฟะฮฺ ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามนั้น

 

และเมื่อท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ได้รับสัตยาบันจากบรรดามุฮาญิรีนและอันศอรฺขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺ สิ่งแรกที่ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ได้กระทำก็คือการส่งกองทัพของท่านอุสามะฮฺ อิบนุ ซัยคฺ (ร.ฎ.) ไปยังแคว้นชามเพื่อสู้รบกับพวกโรมัน และในกองทัพที่ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งมีจำนวน 3,000 คน ก็มีเศาะหาบะฮฺจำนวนมากอาสาออกศึกในครั้งนั้น  ส่วนกลุ่มชนที่พูดจาเกี่ยวกับสถานภาพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ในการเป็นแม่ทัพช่วงที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ยังคงมีชีวิตอยู่นั้นคือพวกชนกลับกลอก

 

และการล่าช้าในการเคลื่อนทัพเป็นผลจากท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งเป็นแม่ทัพเกิดความกังวลถึงอาการล้มป่วยจองท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) และบรรดา เศาะหาบะฮฺที่อาสาออกศึกได้ออกไปตั้งค่ายที่ตำบลญะรอฟแล้ว นั่นย่อมแสดงว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺไม่ได้ขัดคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่สำคัญท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) คือผู้ที่ยืนกรานในการส่งกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ตามที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้มีคำสั่งไว้ ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นชนเผ่าอาหรับได้ตกศาสนาและคุกคามต่อนครมะดีนะฮฺ บรรดาเศาะหาบะฮฺก็ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ซึ่งดำเนินการตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในเรื่องนี้

 

การกล่าวหาของอัต-ตีญานียฺว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺฝ่าฝืนคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงที่ตำราประวัติศาสตร์ระบุไว้ และการเทียบเรื่องของบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กับพวกยะฮูดที่ขัดคำสั่งท่านนบีมูซา (อ.ล.) จึงเป็นการเทียบที่ใช้ไม่ได้ เพราะแตกต่างกัน กล่าวคือ เศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้ขัดคำสั่งต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่พวกยะฮูดขัดคำสั่งท่านนบีมูซา (อ.ล.) จริงๆ ในหลายเหตุการณ์ตามที่อัล-กุรอานระบุไว้

 

และหากว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จะเคยล่าช้าในการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในหลายเหตุการณ์ตามที่อัต-ตีญานียฺเขียนถึง ทุกเหตุการณ์ก็จบลงด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และหลายเหตุการณ์ก็มีอายะฮฺอัล-กุรอานที่ประทานลงมาระบุถึงการอภัยโทษแก่เหล่าเศาะหาบะฮฺดังที่เราได้วิภาษแล้ว แต่อัต-ตีญานียฺก็ละที่จะกล่าวถึงอายะฮฺอัล-กุรอานดังกล่าวและไม่เขียนถึงตอนจบของเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่าเหล่าเศาหาบะฮฺมีท่าทีอย่างไร? ยืนกรานในการขัดคำสั่งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) หรือไม่?

 

(4)  อัต-ตีญานียฺเขียนถึงพวกยะฮูดว่า พวกยะฮูดก่อการกบฏต่อนบีมูซา (อ.ล.) ฝ่าฝืนคำสั่ง และทำร้ายนบีมูซา (อ.ล.) เคารพรูปปั้นโคในขณะที่นบีมูซา (อ.ล.) ไม่อยู่ และวางแผนร้ายต่อนบีฮารูน (อ.ล.) และเกือบสังหารนบีฮารูน (อ.ล.) พวกยะฮูดตกศาสนาหลังการศรัทธาและวางแผนร้ายต่อบรรดานบีของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทุกครั้งที่มีศาสนทูตมายังพวกเขาด้วยสิ่งที่ค้านกับอารมณ์ของพวกเขา กลุ่มหนึ่งก็ปฏิเสธศาสนทูตและกลุ่มหนึ่งก็สังหารศาสนทูตของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ความเลวร้ายของพวกยะฮูดได้นำพาไปสู่การวางแผนร้ายต่อนบีอีซา (อ.ล.) กล่าวหามารดาผู้บริสุทธิ์ของนบีอีซา (อ.ล.) ยะฮูดส่วนหนึ่งกล่าวหานบีอีซา (อ.ล.) เป็นดัจญาลจอมโกหก และส่วนหนึ่งเลยเถิดด้วยการยกนบีอีซา (อ.ล.) ว่าเป็นบุตรของพระองค์ (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 120-121)

 

อัต-ตีญานียฺเขียนถึงพวกยะฮูดและนะศอรอว่ามีพฤติกรรมดังกล่าว แต่ไม่ได้เขียนชี้ชัดว่าเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีพฤติกรรมเหมือนพวกยะฮูดและนะศอรอในเรื่องใด เพราะความจริงก็คือ เศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ศรัทธาต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้ปฏิเสธและดื้อแพ่งต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้เคารพรูปปั้น ไม่ได้วางแผนร้ายต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ไม่ได้ปฏิเสธท่านนบีอีซา (อ.ล.) และไม่ได้กล่าวหาท่านหญิงมัรยัม (อ.ล.) และไม่ได้ยกนบีอีซา (อ.ล.) ขึ้นเป็นบุตรของพระเจ้า  กล่าวคือพฤติกรรมทั้งหมดตลอดจนความเชื่อของพวกยะฮูดและนะศอรอมิใช่สิ่งที่เศาะหบะฮฺท่านใดถือตามกลุ่มชนดังกล่าวเลย แล้วเหตุไฉนอัต-ตีญานียฺจึงเขียนได้เลอะเทอะไปได้ถึงขนาดนั้น

 

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยเศาะหาบะฮฺกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทั้งในเรื่องกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) การเขียนลายลักษณ์อักษรในวันพฤหัสฯ อัปโชค การแต่งตั้งท่านอะลี (ร.ฎ.) ในวันเฆาะดีรฺคุม การถกเถียงกันระหว่างชาวอันศอรและมุฮาญิรีนที่สะกีฟะฮฺ บะนีสาอิดะฮฺในการเลือกผู้นำ หรือแม้กระทั่งเรื่องที่กุว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺได้คุกคามต่อท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (อ.ล.) ด้วยการขู่ว่าจะเผาบ้านของท่านหญิง หากคนในบ้านไม่ออกมาหาให้สัตยาบันต่อท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) เรื่องทั้งหมดเป็นพฤตกิกรรมของเศาะหาบะฮฺที่ถือตามพวกยะฮูดและนะศอรออย่างไร อัต-ตีญานียฺก็ไม่ได้ชี้ประเด็นเอาไว้ว่าสิ่งดังกล่าวเป็นวิถีของพวกยะฮูดและนะศอรอที่เคยกระทำเอาไว้ แล้วเหล่าเศาะหาบะฮฺก็ถือตามแบบคืบต่อคืบ ศอกต่อศอก  เรื่องของเรื่องก็คือ สิ่งที่พวกยะฮูดและนอศะรอเคยปฏิบัติมาก่อนทั้งในยุคอดีตและยุคหลังตามที่อัล-กุรอานระบุเป็นสิ่งที่เศาะหาบะฮฺบริสุทธิ์และไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย

 

ส่วนข้อกล่าวหาที่อัต-ตีญานียฺเขียนว่าเศาะหาบะฮฺได้กระทำต่างๆ นาๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกยะฮูดและนอศอรอเคยกระทำมาก่อน แล้วจะนำมาเทียบกันได้อย่างไร และจะกล่าวว่าเหล่าเศาะหาบะฮฺถือตามการกระทำของพวกยะฮูดและนะศอรอได้อย่างไร? ทั้งๆ ที่ข้อกล่าวหาซึ่งอัต-ตีญานียฺเขียนว่าเศาะหาบะฮฺกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่พวกยะฮูดและนอศอรอไม่เคยกระทำสิ่งนั้นเป็นต้นแบบมาก่อน ถึงจะกล่าวได้ว่าเศาะหาบะฮฺยึดเอาพวกยะฮูดและนะศอรอมาเป็นต้นแบบในการปฏิบัติตาม!!

 

อัต-ตีญานียฺจึงได้แต่เขียนเพื่อโยงเรื่องเข้าด้วยกัน ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกันเลยแม้แต่น้อย จะอ้างได้ว่าเศาะหาบะฮฺเคยขัดคำสั่งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็เพียงแค่นั้น แต่ก็ไม่เหมือนกันอยู่ดี เพราะการขัดคำสั่งของพวกยะฮูดเป็นการปฏิเสธ (กุฟร์) และยืนกรานด้วยความดื้อแพ่ง ส่วนกรณีของเศาะหาบะฮฺนั้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น การโยงเรื่องให้เกี่ยวกันหรือเขียนในทำนองว่าเศาะหาบะฮฺมีพฤติกรรมเหมือนพวกยะฮูด จึงเป็นจินตนาการล้วนๆ ที่อัต-ตีญานียฺเจือสมเอาเอง และการอ้างถึงหนังสืออัล-มุรอญิอาตของชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า อัต-ตีญานียฺจินตนาการและวาดภาพในมโนคติของตนตามทฤษฎีที่ชะเราะฟุดดีนเขียนไว้นั่นเอง ซึ่งทั้งชะเราะฟุดดีนและอัต-ตีญานียฺก็มีจินตนาการร่วมกัน เพียงแต่คนแรกเป็นคนชี้นำ และคนที่สองก็จินตนาการเกินกว่าที่คนแรกเริ่มเอาไว้เท่านั้น

 

(5)  อัต-ตีญานียฺเขียนว่า : “เพื่อยืนยันถึงความสัจจริงของอัลหะดีษบทนี้ ก็เป็นสิทธิของข้าพเจ้าในการที่ข้าพเจ้าจะจินตนาการว่าแท้จริงบรรดาเศาะหาบะฮฺเช่นกัน พวกเขาได้ฝ่าฝืนคำสั่งของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในเรื่องราวเป็นอันมาก…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 121) เราชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺก็ย่อมมีสิทธิที่จะจินตนาการในเรื่องนี้เช่นกันว่า แท้จริงพวกชีอะฮฺ รอฟิเฏาะฮฺได้ถือตามวิถีของชาวยิวที่เสแสร้งว่าเข้ารับอิสลามแล้วชาวยิวก็กุเรื่องราวต่างๆ ที่กลายเป็นหลักความเชื่อของพวกชีอะฮฺ รอฟิเฏาะฮฺในเวลาต่อมา โดยเรื่องที่ว่านี้มีระบุอยู่ในตำราของฝ่ายชีอะฮฺรอฟิเฏาะฮฺเอง เช่น

 

อัส-สัยยิด มิอฺมะตุลลอฮฺ อัล-ญะซาอิรียฺ ปราชญ์ชีอะฮฺระบุว่า : อับดุลลอฮฺ อิบนุ สะบะอฺได้กล่าวแก่ท่านอะลี (อ.ล.) ว่า : ท่านคือพระเจ้าโดยแท้ ท่านอะลี (อ.ล.) จึงเนรเทศอิบนุสะบะอฺไปยังเมืองอัล-มะดาอิน บ้างก็ว่า อิบนุสะบะอฺเป็นชาวยิว ต่อมาก็เข้ารับอิสลาม และในช่วงที่ถือศาสนายิว อิบนุสะบะอฺเคยกล่าวในเรื่องของยูชะอฺ บิน นูน และนบีมูซา (อ.ล.) เหมือนอย่างที่เขาได้กล่าวในกรณีของท่านอะลี (อ.ล.) ว่าท่านอะลี (อ.ล.) เป็นวะศียฺของท่าน นบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) (อัล-อันวาร อัน-นุอฺมานียะฮฺ 2/234)

 

อัล-มามะกอนียฺ กล่าวว่า : อับดุลลอฮฺ อิบนุ สะบะอฺ ซึ่งหวนกลับไปสู่การปฏิเสธและแสดงความสุดโต่ง เขาผู้นี้เป็นคนสุดโต่ง ถูกสาปแช่ง อะมีรุลมุอฺมินีน (อ.ล.) ใช้ให้เผาชายผู้นี้ด้วยไฟ และเขาเคยกล่าวอ้างมาว่าแท้จริงอะลีคือพระเจ้า และแท้จริงตัวเขาคือนบี (ตังกีหฺ อัล-มะกอล ฟี อิลมิรฺริญาล 2/183 , 184)

 

อัน-นูบัคตียฺ ระบุว่า : กลุ่มอัส-สะบะอียฺกล่าวถึงการเป็นอิมามของท่านอะลี (อ.ล.) และแท้จริงเรื่องอิมามะฮฺนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) พวกเขาเป็นพรรคพวกของ อับดุลลอฮฺ อิบนุ สะบะอฺ และบุคคลผู้นี้เคยแสดงการจาบจ้วงต่ออบูบักรฺ อุมัร อุษมาน และบรรดาเศาะหาบะฮฺ ตลอดจนแสดงความไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น…และเขาคือบุคคลแรกที่ทำให้คำกล่าวที่ว่ามีการกำหนดถึงความเป็นอิมามของท่านอะลี (อ.ล.) เป็นที่เลื่องลือ และแสดงท่าทีไม่เกี่ยวข้อง (บะรออะฮฺ) จากบรรดาศัตรูของท่านอะลี (อ.ล.) จากจุดนี้เองผู้ที่ค้านกับชีอะฮฺจึงกล่าวว่า : แท้จริงที่มาของการเป็นพวกรอฟิเฎาะฮฺถูกนำมาจากความเชื่อของยิว..” (ฟิรอก อัช-ชีอะฮฺ ; อัน-นูบัคตียฺ หน้า 32-44, ชุบุฮาต ว่า รุดูด , สามียฺ อัล-บัดรียฺ 3/135-136)

 

(6)  อัต-ตีญานียฺเขียนว่า : “ส่วนหนึ่ง (จากเรื่องราวอันมากมายที่เศาะหาบะฮฺฝ่าฝืนคำสั่งของท่านนบี) คือการที่พวกเขาห้ามมิให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแก่พวกเขา ซึ่งมันจะป้องกันพวกเขาจากการหลงผิด (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 121) กรณีตัวอย่างเรื่องนี้เราได้วิภาษโดยละเอียดมาแล้ว ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า เรื่องนี้เศาะหาบะฮฺถือตามพวกยะฮูดและนะศอรออย่างไร มีข้อความในอัล-กุรอานและประวัติศาสตร์ระบุไว้หรือไม่ว่าพวกยะฮูดห้ามนบีมูซา (อ.ล.) เขียนลายลักษณ์อักษรระบุแต่งตั้งผู้สืบทอดภายหลังจากท่าน หรือพวกนะศอรอห้ามมิให้ท่านนบีอีซา (อ.ล.) บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อมิให้ประชาคมของท่านหลงผิด

 

ถ้าไม่มีแล้วทำไมอัต-ตีญานียฺจึงนำเรื่องนี้มาเขียนเป็นตัวอย่างถึงการที่เศาะหาบะฮฺเลียนแบบหรือเอาอย่างชาวคัมภีร์ทั้งสองกลุ่มนั้น ทั้งๆ ที่ชาวคัมภีร์ทั้งสองกลุ่มไม่เคยกระทำเป็นแนวทางไว้ก่อน เหล่าเศาะหาบะฮฺจะถือตามพวกเขาได้อย่างไร การยกตัวอย่างมาประกอบจึงไม่สอดคล้องกับหัวข้อเรื่องที่อัต-ตีญานียฺตั้งไว้ ที่สำคัญหากเรื่องการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเผยความจริงของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งจะรักษาประชาคมของท่านมิให้หลงผิด

 

การห้ามของเหล่าเศาะหาบะฮฺตามคำกล่าวหาของอัต-ตีญานียฺจะทำให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ถึงกับละทิ้งหน้าที่ในการเผยความจริงของท่านได้กระนั้นหรือ และเหตุการณ์วันพฤหัสฯ อัปโชค ก็เกิดขึ้นที่บ้านของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กับเศาะหาบะฮฺบางส่วน มิใช่เศาะหาบะฮฺทั้งหมด เหตุใดอัต-ตีญานียฺจึงเขียนในทำนองที่ว่าเศาะหาบะฮฺทั้งหมดร่วมมือกันห้ามมิให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้เขียนลายลักาณ์อักษรดังกล่าว คำตอบก็คงไม่พ้นทฤษฎีเหมารวมที่อัต-ตีญานียฺใช้อยู่บ่อยครั้งในงานเขียนของตน

 

อัต-ตีญานียฺเขียนถึงตัวอย่างต่อมาว่า : “และส่วนหนึ่งคือการกล่าวทิ่มแทงของพวกเขาในการแต่งตั้งให้ท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นแม่ทัพ และการปฏิเสธของพวกเขาที่จะออกไปพร้อมกับท่านอุสามะฮฺจนกระทั่งภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และแน่แท้ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้สาปแช่งผู้ที่ล่าช้าจากการออกศึกจากบุคคลที่ท่านได้จัดเตรียมพวกเขาเอาไว้” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 121) กรณี

 

ตัวอย่างนี้ เหล่าเศาะหาบะฮฺถือตามวิถีของพวกยะฮูดอย่างไร? อัต-ตีญานียฺไม่ได้สาธยายไว้ ถ้าเป็นกรณีของบะนูอิสรออีลที่ไม่ยอมสู้รบกับพวกปาเลสไตน์และบอกให้นบีมูซา (อ.ล.) ไปรบเองแล้วพวกตนจะนั่งดู (สูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ 21-25) ก็ไม่อาจนำมาเทียบกันได้ เพราะเหล่าเศาะหาบะฮฺของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ขันอาสาออกศึกในทันที่ทีท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีคำสั่ง ส่วนพวกที่กล่าวทิ่มแทงการเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ก็เป็นคนบางกลุ่มเท่านั้น มิใช่เหล่าเศาะหาบะฮฺทั้งหมด มิหนำซ้ำพวกคนบางกลุ่มที่มีพฤติกรรรมเช่นนั้นก็คือพวกหน้าไหว้หลังหลอกตามที่เราได้วิภาษเรื่องนี้มาแล้ว

 

สิ่งที่ยืนยันได้ว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺไม่ได้ล่าช้าในการออกศึกก็คือ การออกไปตั้งค่ายที่ ต.อัล-ญะรอฟ ในวันพฤหัสฯ หลังการมีคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้ 3 วัน (เฏาะบะกอต อิบนิสะอฺด์ 2/189-191) โดยการระดมพลและการเตรียมกองทัพที่มีจำนวน 3,000 คน (กิตาบอัล-มะฆอซียฺ ; อัล-วากิดียฺ 3/1122 , ฟัตหุลบารียฺ ; อิบนุหะญัร 8/152) ภายในระยะเวลาเพียง 3 วันนั้นถือว่าเร็วแล้วในสมัยนั้น และการล่าช้าในการเคลื่อนทัพออกจากที่ตั้งค่ายเป็นเพราะท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ขออนุญาตต่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยตรง มิใช่เป็นเพราะเศาะหาบะฮฺล่าช้าในการออกศึกและขัดคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่อย่างใด

 

ส่วนคำกล่าวอ้างของอัต-ตีญานียฺที่ว่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้สาปแช่งผู้ที่ล่าช้าและไม่ยอมออกศึก (อ้างแล้ว หน้า 121) นั้นไม่มีปรากฏในตำราหะดีษเล่มใด และในตำราประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ก็ไม่มีการบันทึกเอาไว้ ประโยคที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวคือ พวกท่านจงเตรียมกองทัพของอุสามะฮฺ ส่วนประโยคที่เติมมาว่า อัลลอฮฺทรงสาปแช่งคนที่ล่าช้าไม่ออกศึก เป็นประโยคที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา (มุคตะศอรฺ อัต-ตุหฺฟะฮฺ ; อัด-ดิฮฺละวียฺ หน้า 240) การระบุว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวสาปแช่งผู้ที่ล่าช้าไม่ออกศึกจึงเป็นเรื่องเท็จ (หุกบะฮฺ มีนัตตารีค ; อุษมาน อิบนุ มุฮัมมัด อัล-เคาะมีส หน้า 200)

 

สังเกตุได้ว่า อัต-ตีญานียฺไม่ได้อ้างที่มาของหะดีษนี้ว่ามาจากตำราเล่มใด แต่อัต-ตีญานียฺคงจดจำมาจากหนังสืออัล-มุรอญิอาตของชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺในหน้า 549 ฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดยอัยยูบ ยอมใหญ่แปลว่า “…ทั้งๆ ที่ท่านศาสนทูต (ศ) ได้เคยกล่าวว่า “ขอให้กองทหารของอุสามะฮฺได้ผนึกกำลังกัน ขออัลลอฮฺได้ทรงสาปแช่งผู้ที่ผลักไสจากเขา (อุสามะฮฺ)” และในหน้า 561 ระบุว่า : ดังนั้นท่านจึงได้กล่าวขึ้นว่า : “พวกเจ้าทั้งหลายจงระดมกำลังกันเข้าประจำการในกองทัพของอุสามะฮฺเถิด ขออัลลออฺได้ทรงสาปแช่งต่อผู้ที่ผละหนีจากเขา”  โดยชะเราะฟุดดีน อะล-มูสาวียฺ อ้างว่า อบูบักรฺ อะหฺมัด บิน อับดุลอะซีซ อัล-เญาฮะรียฺ บันทึกหะดีษนี้ในหนังสือสะกีฟะฮฺ (ดู อัล-มุรอยิอาต หน้า 560) และอ้างว่า อัล-ลามะฮฺ อัล-มุอฺตะซิลียฺได้บันทึกไว้ในตอนท้ายของหน้าที่ 20 และหน้าถัดไปของหนังสือนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ภาคที่ 2 (ดู อัล-มุรอญิอาต หน้า 561)

 

ชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺ อ้างว่าหะดีษเรื่องการสาปแช่งนี้มีระบุในตำรา 2 เล่มดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่ตำราหะดีษและมิใช่ตำราประวัติศาสตร์ที่เลื่องลือและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย คงมีระบุอยู่ในฝ่ายของชีอะฮฺแต่เพียงฝ่ายเดียว อัต-ตีญานียฺคงอ้างหะดีษนี้ตามที่ชะเราะฟุดดีนอ้างไว้ในอัล-มุรอญิอาตนั่นเอง สิ่งที่ตอกย้ำว่าอัต-ตีญานียฺอ้างหะดีษเรื่องการสาปแช่งนี้มาจากตำราอัล-มุรอญิอาตก็คือการถ่ายทอดคำกล่าวของชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺมาเสียยืดยาวในษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 121 -123 โดยลงท้ายว่าจบคำกล่าวของเขา (หมายถึง ชะเราะฟุดดีน) เราถ่ายทอดคำกล่าวนั้นจากหนังสืออัล-มุรอญิอาต (อัล-มุรอญิอะฮฺ เลขที่ 92) ดู ษุมมะฮฺตะดัยตุ้หน้า 123)

 

อัต-ตีญานียฺเขียนต่อว่า : ส่วนหนึ่งคือการแตกแยกและขัดแย้งกันของพวกเขาในสะกีฟะฮฺ บะนี สาอิดะฮฺเพื่อกำหนดเคาะลีฟะฮฺที่เป็นผู้สืบทอด และพวกเขา (เศาะหาบะฮฺ) ไม่ยอมรับบุคคลที่ท่านรสูลุลลอฮฺกำหนดเป็นตัวบทไว้ในเฆาะดีรคุมคือ อะลี อิบนุ อบีฏอลิบ ตามที่ฝ่ายชีอะฮฺอ้างไว้โดยฝ่ายชีอะฮฺมีหลักฐานประจักษ์พยานที่ไม่อาจยอมรับการตีความในบรรดาตำราหะดีษเศาะฮีหฺและตำราประวัติศาสตร์ของพวกเขา และพวกเขา (เศาะหาบะฮฺ) ได้ขู่บุตรีของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม) คือท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (ร.ฎ.) ผู้เป็นนายหญิงของเหล่าสตรีด้วยการเผาบ้านของท่านหญิง เมื่อพวกที่ล่าช้าจากการให้สัตยาบันโดยถูกบังคับไม่ออกมา…” (ษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 121)

 

ข้อเขียนตรงนี้ของอัต-ตีญานียฺเป็นการเขียนในเชิงหมกเม็ดด้วยการนำเอา 2 เรื่องมาเขียนต่อกัน คือเรื่องเฆาะดีรฺคุม กับเรื่องการขู่จะเผาบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (ร.ฎ.) ซึ่งผู้อ่านอาจจะเข้าใจไปว่าเรื่องการขู่จะเผาบ้านท่านหญิงเพื่อกดดันให้กลุ่มคนที่ไม่ยอมให้สัตยาบันต่อท่านเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ออกมาจากบ้านของท่านหญิงเป็นเรื่องที่ถูกระบุไว้ในตำราหะดีษที่เศาะฮีหฺและตำราประวัติศาสตร์ด้วยเช่นเดียวกับกรณีเหตุการณ์ที่เฆาะดีรคุม ทั้งๆ ที่เรื่องการขู่และคุกคามที่ว่านั้นไม้ได้ถูกระบุในตำราหะดีษเศาะฮีหฺและตำราประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้แต่อย่างใด

 

ชาฮฺ อับดุลอะซีซ ฆุลามหะกีม อัด-ดิฮฺละวียฺ ระบุว่า : “และส่วนหนึ่ง (จากข้อกล่าวหาชีอะฮฺที่มีต่อท่านอุมัร) คือ แท้จริง อุมัรฺได้ตั้งใจวางเพลิงบ้านของท่านหญิงผู้เป็นนายของเหล่าสตรี และใช้ด้ามดาบตีเข้าที่สีข้างอันประเสริฐของพระนางจนพระนางแท้งด้วยเหตุดังกล่าว! คำตอบคือ แท้จริงเรื่องเล่านี้เป็นสิ่งไร้สาระน่าสะอิดสะเอียน เป็นความเท็จและเป็นการใส่ร้าย เหตุนี้พวกอิมามียะฮฺส่วนมากจึงปฏิเสธความถูกต้องของเรื่องเล่านี้ และการรายงานเรื่องเล่านี้ในทัศนะของพวกอิมามียะฮฺเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าพอใจแต่อย่างใด..” (มุคตะศอรฺ อัต-ตุหฺฟะฮฺ อัล-อิษนา อัล-อะชะรียะฮฺ หน้า 252)

 

อัต-ตีญานียฺเขียนเรื่องการคุกคามของเศาะหาบะฮฺต่อท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซ-ซะฮฺรออฺ (ร.ฎ.) ว่าจะเผาบ้านของท่านหญิงโดยไม่ได้อ้างอิงที่มาของเรื่องนี้แต่อย่างใด และการเขียนสอดแทรกเรื่องนี้เอาไว้หลังจากการกล่างถึงกรณีเหตุการณ์เฆาะดีรคุม ซึ่งอัต-ตีญานียฺระบุว่ามีบันทึกอยู่ในตำราหะดีษเศาะฮีหฺและตำราประวัติศาสตร์เป็นการเขียนตบตาผู้อ่านและหมกเม็ด มิหนำซ้ำยังขัดกับมาตรฐานที่ตนกำหนดเอาไว้ว่าจะอ้างอิงถึงเรื่องราวที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องตรงกัน ซึ่งในข้อเขียนที่หมกเม็ดนี้ไม่ได้ระบุไว้ในฝ่ายของชาวสุนนะฮฺแต่อย่างใด!

 

กรณีข้อเขียนของชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺในหนังสืออัล-มุรอญิอาต ที่อัต-ตีญานียฺนำมาอ้างประกอบภายใต้หัวข้อ “หะดีษการถือตามพวกยะฮูดและนะศอรอ” ในษุมมะฮฺตะดัยตุ้นั้นเป็นการเขียนซ้ำเรื่องเดิมคือเรื่องการเตรียมทัพของท่านอุสามะฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) ซึ่งเราได้วิภาษแล้วก่อนหน้านี้ สำนวนในจดหมายโต้ตอบระหว่างชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺกับชัยคุลอัซฮัร สะลีม อัล-บิชรียฺ (ร.ฮ.) เป็นการเขียนในทำนองว่าฝ่ายสุนนะฮฺยอมรับข้อโต้แย้งของชะเราะฟุดดีนในทุกประเด็นที่ชะเราะฟุดดีนเขียนเกี่ยวกับเรื่องกองทัพของอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) โดยใช้สำนวนที่ว่า (سَلَّمْتُمْ) “พวกท่านยอมรับ” อย่างน้อย 6 ที่ ตามที่อัต-ตีญานียฺนำมาอ้างประกอบในษุมมะฮฺตะดัยตุ้ (ดู หน้า 121 – 122)

 

การใช้สำนวนว่า “พวกท่านได้ยอมรับ” ของชะเราะฟุดดีนในอัล-มุรอญิอะฮฺ เลขที่ 92 เป็นผลมาจากอัล-มุรอญิอะฮฺที่ 91 ซึ่งอ้างว่าเป็นจดหมายโต้ตอบที่ชัยคฺสะลีม อัล-บิชรียฺ (ร.ฮ.) เขียนถึงชะเราะฟุดดีน และการเขียนถึงเรื่องตำแหน่งการเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) นั้น ชะเราะฟุดดีนเป็นผู้เริ่มก่อนในอัล-มุรอญิอะฮฺที่ 90 หลังจากการโต้ตอบระหว่างกันในเรื่อง เหตุการณ์ที่อัปโชคเมื่อวันพฤหัสฯ (อัล-มุรอญิอะฮฺ ที่ 86) ซึ่งจบลงด้วยการยอมรับของชัยคฺ สะลีม (ร.ฮ.) ในอัล-มุรอญิอะฮฺที่ 89

 

ดังนั้น ข้อความที่อ้างว่าเป็นจดหมายของชัยคฺ สะลีม (ร.ฮ.) ในอัล-มุรอญิอะฮฺที่ 91 จึงเป็นการเขียนเพื่อวางหมากของชะเราะฟุดดีนเพื่อโต้ตอบ และหักล้างจดหมายของชัยคฺ สะลีม (ร.ฮ.) ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสำนวนของคนๆ เดียวกัน คือ ชะเราะฟุดดีนนั่นเอง เพราะเป็นเรื่องที่น่ากังขาอย่างยิ่ง ชัยคฺ สะลีม (ร.ฮ.) จะเขียนยอมรับว่ามีการลบลู่ต่อตำแหน่งแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺจากเหล่าเศาะหาบะฮฺได้อย่างไร หรือเขียนแก้ต่างในทำนองให้เหตุผลว่าเป็นกรณีคำพูดระหว่างคนหนุ่มกับคนสูงอายุ หรือเขียนยอมรับว่าบรรดาสาวกทั้งหลายได้มีความเห็นพ้องต้องกันในการถอดถอนตำแหน่งของท่านอุสามะฮฺ แล้วท่านอบูบักรฺก็ได้ดำเนินการไปตามมตินั้นเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการปกครอง (อัล-มุรอญิอาต (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 553 , 554) และเขียนยอมรับว่าท่านอบูบักรฺและอุมัรฺตลอดจนบุคคลอื่นๆ ต้องผละหนีจากกองทัพของท่านอุสามะฮฺแล้วให้เหตุผลว่าเพื่อดำรงไว้ซึ่งความแข็งแกร่งของอาณาจักรอิสลาม และอำนวยประโยชน์ให้แก่ระบบการปกครองของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) (อัล-มุรอญิอาต หน้า 555)

 

ซึ่งอ่านแล้วดูดีแต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเหตุใดชัยคฺ สะลีม (ร.ฮ.) จึงเขียนยอมรับในสิ่งเหล่านั้นเพื่อปูทางไปสู่การเขียนจดหมายโต้ตอบของชะเราะฟุดดีนในอัล-มุรอญิอะฮฺที่ 92 ซึ่งระบุว่าคำคัดค้านของชัยคฺสะลีมไม่สามารถปฏิเสธเหตุผลที่ชะเราะฟุดดีนได้อ้างไว้ในจดหมายฉบับก่อน  แน่นอนคำตอบก็คือ ชัยคฺสะลีม (ร.ฮ.) ไม่ได้เขียนจดหมายที่ว่านั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นฉบับใดก็ตาม แต่ผู้ที่เขียนคือ ชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺซึ่งสวมบทบาทเป็นชัยคฺ สะลีม (ร.ฮ.) นั่นเอง!

 

ชัยคฺ สะลีม อัล-บิชรียฺ (ร.ฮ.) เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 1335 แต่การตีพิมพ์หนังสืออัล-มุรอญิอาตครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 1355 เมืองศอยดา (ดู คำนำ “อัล-มุรอญอาต” ; อะฆอบัซรอก อัฏ-เฏฮฺรอนียฺ : เฏาะบะกอต อะอฺลาม อัช-ชีอะฮฺ 3/1086) หลังการเสียชีวิตของชัยคฺ สะลีม (ร.ฮ.) ได้ 20 ปี และสำนวนในการเขียนจดหมายทั้ง 112 ฉบับ เป็นจดหมายที่อ้างว่าชัยคฺ สะลีม อัล-บิชรียฺ (ร.ฮ.) เขียนโต้ตอบจำนวน 56 ฉบับ ทั้งหมดเป็นสำนวนการเขียนของคนๆ เดียวคือสำนวนของชะเราะฟุดดีน ไม่มีจดหมายฉบับใดเลยที่เขียนด้วยสำนวนของชัยคฺ สะลีม (ร.ฮ.) (ดู คำนำ อัล-มุรอญิอาต หน้า 27 พิมพ์ครั้งที่ 7 ชะเราะฟุดดีนยอมรับเองว่าตนเป็นผู้เขียน)

 

อย่างไรก็ตาม การอ้างข้อมูลจากหนังสืออัล-มุรอญิอาตของอัต-ตีญานียฺในเรื่องนี้ก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺถือตามพวกยะฮูดและนะศอรออย่างไร? ในกรณีกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) จะมีก็เพียงข้อกล่าวหาเดิมๆ ที่ว่าเศาะหาบะฮฺขัดคำสั่งท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) และล่าช้าในการเตรียมทัพและออกศึก อัต-ตีญานียฺยังเขียนถึงเรื่องนี้ในหนังสือฟัสอะลู อะฮิลัซซิกร์ (จงถามผู้รู้) ฉบับภาษาอาหรับ หน้า 145 และจงถามผู้รู้ ฉบับแปลภาษาไทย หน้า 204 ว่า :

 

….นี่คือ เรื่องราวที่นักประวัติศาสตร์ได้ให้รายละเอียดไว้มากที่สุดเรื่องหนึ่งว่าเป็นอย่างไรที่พวกเขา (เศาะหาบะฮฺ) ทำให้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โกรธจนกระทั่งสาปแช่งบรรดาคนรั้งหลังที่ไม่ยอมเข้าร่วมกองทัพของอุซามะฮฺในฐานะแม่ทัพรุ่นเยาว์ ที่มีอายุไม่เกินสิบเจ็ดปี และแน่นอนท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่มี    อบูบักรฺ อุมัรฺ ตอลฮะฮฺ ซุเบรฺ อับดุรเราะฮฺมาน บิน เอาฟ์ ประจำการอยู่ด้วยร่วมทั้งบรรดาแกนนำคนสำคัญๆ ในตระกูลกุเรซ แต่ท่านอะลี อิบนิ อบีฏอลิบ และบรรดามิตรสหายที่ปฏิบัติตามแนวทางของท่าน มิได้ถูกสั่งให้อยู่ในกองทัพคราวนั้นแต่อย่างใด…” (จงถามผู้รู้ (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 204-205)

 

ความจริงก็คือ เมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีคำสั่งให้เตรียมกองทัพและแต่งตั้งท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นแม่ทัพ เหล่าเศาะหาบะฮฺทั้งมุฮาญิรีนและอันศอรฺต่างก็อาสาในการเข้าร่วมกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ไม่มีเศาะหาบะฮฺท่านใดถูกกำหนดเจาะจงเป็นรายบุคคลให้ออกศึก แต่เป็นการอาสาออกศึกและไม่มีผู้ใดที่อาสาออกศึกล่าช้าในเรื่องนี้ (ดู สีเราะฮฺ อิบนิ ฮิชาม 4/1499 , ตารีค อัฏ-เฏาะบะรียฺ 3/183) เพราะบรรดาเศาะหาบะฮฺที่ร่วมออกศึกได้ออกไปพร้อมกับท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) และตั้งค่ายอยู่ที่ ตำบลอัล-ญะรอฟแล้ว (เฏาะบะกอตอิบนิสะอฺด์ 2/190)

 

การกล่าวหาว่าเศาะหาบะฮฺล่าช้าในการเข้าร่วมในกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) จึงฟังไม่ขึ้นและค้านกับสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในตำราประวัติศาสตร์ และเมื่อเหล่าเศาะหบะฮฺเร่งรุดในการเข้าร่วมทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) หลังจากที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีคำสั่ง เหตุใดเล่า ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงต้องโกรธและกล่าวสาปแช่งผู้รั้งหลังอย่างที่อัต-ตีญานียฺกล่าวอ้างด้วยเล่า! และคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ในเรื่องนี้ก็เป็นคำสั่งโดยรวมไม่มีการกำหนดเจาะจงตัวบุคคลว่าคนนั้นคนนี้จำต้องออกศึกพร้อมกับท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ส่วนรายชื่อที่อัต-ตีญานียฺเขียนไว้ นั่นคือรายชื่อของเหล่าเศาะหาบะฮฺคนสำคัญที่อาสาออกศึก ไม่ใช่เป็นบุคคลที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กำหนดเจาะจงและสั่งใช้เป็นการเฉพาะให้ออกศึก

 

ข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺในษุมมะฮฺตะดัยตุ้ หน้า 121 ที่ว่า : “ส่วนหนึ่งคือการลบหลู่ของพวกเขาในการที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่งตั้งให้อุสามะฮฺเป็นแม่ทัพและการปฏิเสธของพวกเขาที่จะออกไปพร้อมกับอุสามะฮฺจนกระทั่งหลังการเสียชีวิตของท่านนบี” จึงค้านกับข้อเขียนใน “จงถามผู้รู้” ที่ว่า : และแน่นอนท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่มีอบูบักรฺ อุมัรฺ ตอลฮะฮ์..ประจำการอยู่ด้วยรวมทั้งบรรดาแกนนำคนสำคัญๆ ในตระกูลกุเรซ…”

 

ก็ในเมื่ออัต-ตีญานียฺระบุถึงเศาะหาบะฮฺคนสำคัญๆ ว่าประจำการอยู่ด้วยในกองทัพของอุสามะฮฺ แล้วอัต-ตีญานียฺเขียนได้อย่างไรว่าเศาะหาบะฮฺปฏิเสธที่จะออกไปพร้อมกับอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) อัต-ตีญานียฺเขียนขัดแย้งกันเอง ในเล่มหนึ่งเขียนว่าเศาะหาบะฮฺปฏิเสธที่จะออกไปพร้อมกับท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) แต่ในอีกเล่มหนึ่งกลับเขียนว่าเศาะหาบะฮฺประจำการอยู่ในกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งหักล้างข้อเขียนในเล่มแรกอย่างชัดเจน

 

แน่นอนเหตุที่อัต-ตีญานียฺเขียนถึงรายละเอียดชื่อของเศาะหาบะฮฺคนสำคัญที่ประจำการอยู่ในกองทัพของอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) นั่นก็มีเป้าหมายเพื่อกันท่านอะลี (ร.ฎ.) และมิตรสหายของท่านออกจากการเป็นผู้อยู่ภายใต้คำสั่งขอท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) โดยถือว่านั่นเป็นสิทธิพิเศษของท่านอะลี (ร.ฎ.) ที่ได้รับการยกเว้นจากคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) อัต-ตีญานียฺต้องการชี้ว่า ท่านอะลี (ร.ฎ.ป และมิตรสหายที่ปฏิบัติตามแนวทางของท่าน มิได้ถูกสั่งให้อยู่ในกองทัพคราวนั้นแต่อย่างใด (ดู จงถามผู้รู้ หน้า 205)

 

และนี่เป็นความเข้าใจผิดของอัต-ตีญานียฺเพราะในการมีคำสั่งให้ระดมพลออกศึกในครั้งนี้ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มิได้สั่งให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะด้วยการกำหนดรายชื่อให้ออกศึกแต่เป็นการอาสาของเหล่าเศาะหาบะฮฺ และผู้ที่ขันอาสาออกศึกย่อมมีความประเสริฐในกรณีนี้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ขันอาสาออกศึก ดังนั้นเมื่อไม่มีคำสั่งเจาะจงให้บุคคลเป็นกรณีเฉพาะออกศึก และไม่มีการยกเว้นในคำสั่งว่าคนนั้นคนนี้ไม่ต้องออกศึก แล้วจะอ้างว่าคนที่ไม่ออกศึกจะมีความประเสริฐกว่าเพราะไม่ได้ถูกสั่งให้ออกศึกได้อย่างไร? และข้อเขียนของอัต-ตีญานียฺก็ชี้ชัดเสียด้วยว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) และสหายของท่านไม่ได้ออกศึก ก็ต้องถามว่าคนที่ขันอาสาออกศึกทำไมจึงถูกกล่าวหาและถูกประณามในขณะที่คนซึ่งไม่ได้ออกศึกกลายเป็นผู้ที่ถูกถือว่ามีความประเสริฐไปได้เสียอย่างนั้น!

 

และถ้าอัต-ตีญานียฺถือว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) และบรรดาสหายของท่านไม่ได้ถูกสั่งให้อยู่ในกองทัพคราวนั้น ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ก็เช่นกัน ท่านไม่ได้ถูกสั่งให้อยู่ในกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ใช้ให้ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) นำผู้คนละหมาดแทนท่านในระหว่างที่ล้มป่วยจนกระทั่งได้เสียชีวิต การอ้างว่าท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) อยู่ร่วมในกองทัพด้วยจึงเป็นสิ่งที่คัดค้านกับข้อเท็จจริง เพราะในตำราประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกชื่อท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) เอาไว้ (ดู อัล-มะฆอซียฺ ; อัล-วากิดียฺ 3/1118 , อัฏ-เฏาะบะรียฺ 3/226 , สิยัรฺ อัล-อะอฺลาม ; อัซ-ซะฮธบียฺ 2/497)

 

ส่วนตำราที่ออกชื่อท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ว่าอยู่ในกองทัพของอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ด้วยนั้นเป็นกรณีของการอาสาออกศึกในช่วงแรก แต่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้มีคำสั่งให้ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) เป็นอิมามนำผู้คนละหมาดในช่วงที่ท่านมีอาการป่วย ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) จึงได้รับการยกเว้นเพื่อทำหน้าที่อิมามตามที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีคำสั่ง (อัล-บิดายะฮฺ วัน-นิฮายะฮฺ ; อิบนุกะษีร 6/308) ดังนั้นการนับรวมท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) เข้าอยู่ในกรณีนั้นเป็นเรื่องของการอาสาออกศึกในช่วงแรกเท่านั้นตามสำนวนที่ถูกระบุไว้ในตำราประวัติศาสตร์ที่ว่า “ไม่มีผู้ใดจากบุคคลสำคัญของมุฮาญิรีนรุ่นแรกและชาวอันศอรฺที่คงอยู่นอกเสียจากขันอาสาออกศึกในสมรภูมิดังกล่าว ในเหล่าเศาะหาบะฮฺนั้นคือ อบูบักรฺ…..” (ดู เฏาะบะกอตอิบนิสะอฺด์ 2/189 , อัส-สีเราะฮฺ อัล-หะละบียะฮฺ 3/207 , อัล-กามิล ; อิบนุ กะษีร 2/182)

 

และการขันอาสาออกศึกของเหล่าเศาะหาบะฮฺเป็นความสมัครใจ มิใช่เป็นการกำหนดเจาะจงตัวบุคคลดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นการที่ท่านอะลี (ร.ฎ.) และสหายของท่านไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในกองทัพของอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) นั่นก็ไม่ใช่เป็นเพราะท่านไม่ได้ถูกสั่งให้เข้าร่วม แต่เป็นเพราะไม่ได้อาสาออกศึกในคราวนี้นั่นเอง ส่วนท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) นั้นท่านได้อาสาออกศึกเช่นเดียวกับท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ในช่วงแรกแต่การมีคำสั่งจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ให้ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) เป็นอิมามนำผู้คนละหมาดกรณีนี้พูดได้อย่างชัดเจนว่าท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ มิหนำซ้ำยังชัดเจนยิ่งกว่ากรณีของท่านอะลี (ร.ฎ.) และสหายของท่านในการอ้างถึงข้อยกเว้นนั้นอีกด้วย

 

กล่าวคือ การยกเว้นท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ว่าไม่ต้องเข้าร่วมไปกับกองทัพนั้นชัดเจนด้วยคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ส่วนท่านอะลี (ร.ฎ.) นั้นไม่มีคำสั่งยกเว้นว่าไม่ต้องเข้าร่วมออกศึกนับแต่แรก เพราะท่านอะลี (ร.ฎ.) กับเศาะหาบะฮฺที่เป็นสหายและปฏิบัติตามแนวทางของท่านไม่ได้อาสาออกศึกอยู่แล้ว จึงไม่ต้องพูดถึงเรื่องการยกเว้นหรือถือว่าการที่ท่านอะลี (ร.ฎ.) กับพวกไม่มีรายชื่ออยู่ในกองทัพเป็นเพราะความประเสริฐของท่าน และมีสิทธิพิเศษในเรื่องนี้อย่างที่อัต-ตีญานียฺเขียนส่อไปในทางนั้นโดยกันท่านอะลี (ร.ฎ.) กับสหายของท่านออกจากเหล่าเศาะหาบะฮฺท่านอื่นๆ ที่มีชื่อระบุไว้ในตำราประวัติศาสตร์แล้วก็เขียนในทำนองว่า การที่ท่านอะลี (ร.ฎ.) กับสหายของท่านไม่ได้ถูกสั่งให้เข้าร่วมอยู่ในกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) เป็นความประเสริฐของท่านอะลี (ร.ฎ.) ทั้งๆ ที่บรรดาเศาะหาบะฮฺอีกเป็นจำนวนมากก็ไม่ได้ถูกสั่งให้เข้าร่วมอยู่ในกองทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) เช่นกัน เพราะบรรดาเศาะหาบะฮฺที่อาสาออกศึกในครั้งนี้มีจำนวน 3,000 คน (กิตาบอัล-มะฆอซียฺ ; อัล-วากิดียฺ 3/1122 , ฟัตหุลบารียฺ ; อิบนุหะญัรฺ 8/152 , อัล-มุรอญิอาต ; ชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺ (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 549) ส่วนเศาะหาบะฮฺที่มิได้อาสาออกศึกนั้นมีจำนวนมากกว่านั้นหลายเท่า ส่วนหนึ่งก็คือท่านอะลี (ร.ฎ.) กับเหล่าสหายของท่านนั่นเอง

 

ส่วนข้อความของชะเราะฟุดดีน อัล-มูสาวียฺในอัล-มุรอญิอะฮฺ 92 ที่เขียนโต้ตอบคำคัดค้านของชัยคฺ สะลีมฺ อัล-บิชรียฺในอัล-มุรอญิอะฮฺ 91 นั้นเราไม่เชื่อว่านั่นคือสิ่งที่ชัยคฺสะลิม (ร.ฮ.) ได้เขียน แต่เป็นสิ่งที่ชะเราะฟุดดีนเขียนขึ้นเพื่อปูทางไปสู่การเขียนอัล-มุรอญิฮะฮฺที่ 92 เพราะในแต่ละประเด็นที่ชะเราะฟุดดีนเขียนว่า “พวกท่านยอมรับว่า…” อย่างนั้นอย่างนี้เป็นการสรุปเอาเองของชะเราะฟุดดีน โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “เป็นอันว่าท่านยอมรับต่อรายละเอียดทุกสิ่งทุกอย่างนี้ ดังเช่นที่นักวิชาการทั้งหลายได้อธิบายไว้ทุกประการ” (อัล-มุรอญิอาต (ฉบับแปลภาษาไทย) หน้า 557) เป็นการสรุปแต่ฝ่ายเดียวของชะเราะฟุดดีน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ชัยคฺ สะลีม (ร.ฮ.) จะยอมรับว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺทำการรั้งรอในการร่วมประจำการในกองรบของท่านอุสามะฮฺ และหน่วงเหนี่ยวในการทำสงคราม ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นได้ถูกบัญชาให้รีบเร่งอย่างเฉียบขาด (อัล-มุรอญิอาต : 556)

 

และท่านชัยคฺสะลีม (ร.ฮ.) คงจะไม่ยอมรับหรอกว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นได้เสนอให้ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) ถอดถอนตำแหน่างอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยโกรธผู้ที่ลบหลู่ต่อตำแหน่งของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) และท่านศาสนทูตได้แสดงออกถึงความไม่พอใจในเรื่องนี้ เพราะเหตุที่บรรดาสาวกเป็นผู้ยึดติดอยู่กับความสำคัญของเผ่าพันธุ์ (อัล-มุรอญิอาต : 556)

 

ในทำนองนั้น ชัยคฺ สะลีม (ร.ฮ.) ก็คงไม่ได้ยอมรับว่าบรรดาสาวกบางกลุ่มที่ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กำหนดแนวทางให้ใช้ยุทธวิธีในการทำศึกไว้ได้ผละหนีจากกองทหารโดยที่ท่านศาสนทูต  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้สั่งให้พวกเขาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) อย่างเคร่งครัด (อัล-มุรอญิอาต : 557) เพราะการยอมรับสิ่งดังกล่าวเป็นเรื่องที่ค้านกับข้อเท็จจริงดังที่เราได้วิภาษมาก่อนหน้านี้ และการยอมรับสิ่งดังกล่าวเป็นการยอมรับในข้อกล่าวหาที่โจมตีบรรดาเศาะหาบะฮฺจากฝ่ายของชีอะฮฺ ชัยคฺ  สะลีม (ร.ฮ.) คงไม่เขียนเรื่องในทำนองนี้อย่างแน่นอน

 

โดยเฉพาะการให้เหตุผลว่าเหตุที่บรรดาเศาะหาบะฮฺกล่าวลบหลู่การเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ก็เนื่องมาจากทิฐิของผู้สูงอายุกับเด็กหนุ่มอย่างท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ที่มีอายุเพียง 17 ปี หรือการยึดติดอยู่กับความสำคัญของเผ่าพันธุ์ เพราะบรรดาเศาะหาบะฮฺผู้อาวุโสทั้งในฝ่ายมุฮาญิรีนและอันศอรต่างก็อาสาออกศึกและเร่งรุดในการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตามที่มีรายงานระบุไว้ เหล่าเศาะหาบะฮฺผู้อาวุโสไม่ได้ล่าช้าหรือรั้งรอในเรื่องนี้ และไม่ได้ถือเอาเรื่องเผ่าพันธุ์หรืออายุมาเป็นข้ออ้างแต่อย่างใด หากจะมีคนนำเรื่องดังกล่าวมาอ้างก็เป็นพวกกลับกลอกหรือเศาะหาบะฮฺบางคนเท่านั้น จะเหมารวมเศาะหาบะฮฺทั้งหมดได้อย่างไร!

 

แน่นอนเราไม่ปฏิเสธว่ามีคนกลุ่มหนึ่งกล่าวตำหนิการเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) โดยอ้างว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่งตั้งเด็กหนุ่มให้เป็นแม่ทัพมีอำนาจบังคับบัญชาเศาะหาบะฮฺอาวุโสจากมุฮาญิรีนและอันศอร จนเมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทราบเรื่องจากท่านอุมัรฺ (ร.ฎ.) ท่านก็ไม่พอใจและขึ้นแสดงคุฏบะฮฺ แต่คนกลุ่มนั้นคือใครเล่า? ในตำราอัล-กามิล ฟิตตารีค ของอิบนุอัล-อะษีรฺ เล่ม 2 หน้า 182 ระบุชัดว่าเป็นพวกมุนาฟิกีน ในตำราตารีค อัล-อุมัมวัลมุลูกของอัฏ-เฏาะบะรียฺ เล่มที่ 2 หน้า 224-225 ก็ระบุชัดว่าเป็นพวกมุนาฟิกีนทั้งสองริวายะฮฺในเรื่องนี้

 

เมื่อคนกลุ่มหนึ่งหมายถึงพวกมุนาฟิกีนก็ย่อมหมายความว่าผู้ที่กล่าวลบหลู่การเป็นแม่ทัพของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ไม่ใช่เหล่าเศาะหาบะฮฺชั้นอาวุโสจากชาวมุฮาญิรีนและอันศอรฺ แล้วเหตุไฉนอัต-ตีญานียฺและชะเราะฟุดดีนจึงเหมารวมว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺได้กระทำสิ่งดังกล่าวด้วยเล่า!

 

แน่นอนเหตุที่ชะเราะฟุดดีนเขียนยืนกรานเช่นนี้ก็เพราะมีเป้าหมายจะโยงเหตุการณ์เข้ากับกรณีของท่านอะลี (ร.ฎ.) ซึ่งฝ่ายชีอะฮฺ อิมามียะฮฺอ้างว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่งตั้งท่านอะลี (ร.ฎ.) เป็นผู้สืบทอดหลังจากท่านในวันเฆาะดีรคุมโดยผู้เรื่องว่า เหตุที่เศาะหาบะฮฺไม่สัตยาบันแก่ท่านอะลี (ร.ฎ.) ในการเป็นเคาะลีฟะฮฺโดยตรงภายหลังท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) สิ้นชีวิตแต่กลับไปสัตยาบันแก่ท่าน         อบูบักรฺ (ร.ฎ.) ก็เพราะเศาะหาบะฮฺไม่ยอมรับท่านอะลี (ร.ฎ.) ที่เป็นผู้ด้อยอาวุโสเหมือนอย่างกรณีการไม่ยอมรับท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งด้อยอาวุโสในการเป็นแม่ทัพ ทั้งๆ ที่สองกรณีนี้มีคำสั่งจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แสดงว่าเศาะหาบะฮฺเป็นผู้ขัดคำสั่งและอ้างเหตุผลในเรื่องอายุและการยึดติดกับชาติพันธุ์เพื่อเป็นข้ออ้างในการถอดถอนสิทธิของท่านอะลี (ร.ฎ.) จากการเป็นผู้นำได้เช่นกัน (ดู อัล-มุรอญิอาต หน้า 558) จึงไม่แปลกที่ชะเราะฟุดดีนจะเขียนให้สองเหตุการณ์นี้สัมพันธ์กันตามข้อสันนิษฐานของตน และอัต-ตีญานียฺก็เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานนั้น จึงต้องยืนกรานจะเอาผิดกับเหล่าเศาะหาบะฮฺในเรื่องของท่านอุสามะฮฺ (ร.ฎ.) ให้ได้เพื่อโยงเรื่องนี้ถึงกรณีของท่านอะลี (ร.ฎ.) ทั้งๆ ที่ความจริงในสองเหตุการณ์นั้นเหล่าเศาะหาบะฮฺไม่ได้ขัดคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แต่อย่างใด

 

วัลลอฮุอะอฺลัม