อัล-หาญิบ อัลมันศูร อัศวินแห่ง อัล-อันดะลุส

อัศวินแห่ง อัล-อันดะลุส          ในประวัติศาสตร์แห่งดินแดน อัล-อันดะลุส (เอ็นดาลูเซีย, สเปน) มีบุคคลสำคัญมากมายที่ได้สร้างเกียรติประวัติเอาไว้ หนึ่งในบุคคลเหล่านั้น คือ อัล-หาญิบ อัลมันศูร จอมอัศวินและนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺ ในสเปนยุคมุสลิมเรืองอำนาจ อัล-หาญิบ อัลมันศูร มีชื่อจริงว่า มุฮำหมัด อิบนุ อับดิลลาฮฺ อิบนิ อามิรฺ เขาถือกำเนิดในปี ฮ.ศ. 326/ค.ศ. 938 ในเมืองตัรกิชฺ ทางตอนใต้ของอัล-อันดะลุส ปู่ทวดของเขาคือ อับดุลม่าลิก อัลมุอาฟิรีย์ หนึ่งในแม่ทัพมุสลิมที่ร่วมพิชิตสเปนพร้อมกับฎอริก อิบนุ ซิยาด

          เมื่ออัลหาญิบ อัลมันศูร เติบใหญ่เขาได้มุ่งสู่นครกุรฎุบะฮฺ (โคโดบาฮฺ) ราชธานีของอัล-อันดะลุส เพื่อรับจ้างทั่วไปพร้อมกับแสวงหาความรู้ทางศาสนาจากบรรดาปราชญ์แห่งนครกุรฏุบะฮฺในปี ฮ.ศ. 365/ค.ศ.976 อัลหาญิบเข้าร่วมเป็นทหารอาสาสมัครในการรบพุ่งกับพวกอัล-อะดาริซะฮฺ ซึ่งคุกคามแอฟริกาเหนือ  เสร็จจากการศึกครั้งนี้ อัลหาญิบก็เข้ารับราชการในกรมตำรวจ และมีผลงานโดดเด่นจนได้รับเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเจ้ากรมตำรวจนครบาลแห่งนคร กุรฏุบะฮฺในรัชสมัยค่อลีฟะฮฺ อัล-หะกัม อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาศิร แห่งราชวงศ์ อัลอุม่าวียะฮฺในสเปน

          การดำรงตำแหน่งเจ้ากรมตำรวจนครบาลทำให้อัลหาญิบกลายเป็นบุคคลผู้มีอำนาจสูง สุดหนึ่งในสี่คนของอัล-อันดะลุส คือ ค่อลีฟะฮฺ อัลหะกัม, เสนาบดี ญะอฺฟัร อัลมุศฮะฟีย์, แม่ทัพใหญ่ ฆ่อลิบ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อัน-นาศิรีย์ และเจ้ากรมตำรวจนครบาล, มุฮำหมัด อิบนุ อามิร (คือ อัลหาญิบนั่นเอง) ต่อมาในปี ฮ.ศ. 366/ ค.ศ.977 ค่อลีฟะฮฺ อัล-หะกัมได้สิ้นพระชนม์

          ค่อลีฟะฮฺต่อมาคือ ฮิชาม อิบนุ อัล-หะกัม ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 11 ชันษา จึงมีการตั้งคณะผู้สำเร็จราชการเพื่อบริหารราชการแผ่นดินอันประกอบด้วย เสนาบดีญะอฺฟัร แม่ทัพใหญ่ฆอลิบ และเจ้ากรมตำรวจ มุฮำหมัด อิบนุ อามิร ในปี ฮ.ศ. 366 นั่นเอง มุฮำหมัด อิบนุ อามิรได้นำกองกำลังตำรวจเข้าจับกุมอัลมุฆีเราะฮฺ อาของค่อลีฟะฮฺที่พวกสล๊าฟ (ศ่อกอลิบะฮฺ) ก่อการลุกฮือเพื่อสนับสนุนอัลมุฆีเราะฮฺให้ขึ้นเป็นค่อลีฟะฮฺ แทนค่อลีฟะฮฺฮิชาม และสำเร็จโทษอัลมุฆีเราะฮฺเสีย

          การกระทำของมุฮำหมัด อิบนุ อามิร ได้รับความเห็นชอบจากพระมารดาของค่อลีฟะฮฺฮิชาม เหตุนี้เขาจึงกลายเป็นผู้พิทักษ์ค่อลีฟะฮฺและคุ้มครองพระองค์ ในปีเดียวกันนั้นพวกคริสเตียนตอนเหนือของอัลอันดะลุสรู้ข่าวว่านครกุรฏุบะฮฺ มีเหตุวุ่นวายจึงยกทัพจากลิอองเข้ายึดครองป้อมริบาหฺ และเข่นฆ่าพลเมืองมุสลิมเป็นจำนวนมาก ฝ่ายเสนาบดีญะอฺฟัรก็มิได้กระทำการอันใด ทำให้มุฮำมัด อิบุน อามิร ต้องนำทัพออกไปต่อสู้กับพวกคริสเตียนในแคว้นญะลีกียะฮฺ และยึดป้อมอัล-ฮามมะฮฺจากพวกคริสเตียนได้ ชื่อเสียงของเขาก็เป็นที่กล่าวขานไปทั่วอัลอันดะลุส

          ในปลายปีเดียวกัน มุฮำมัด อิบนุ อามิร ก็นำทัพออกศึกกับแม่ทัพใหญ่ฆอลิบเข้าโจมตีพวกคริสเตียนทางตอนเหนืออีกครั้ง และได้รับชัยชนะอย่างงดงาม หลังการศึกเขาได้สู่ขออัสมาอฺ บุตรีของแม่ทัพใหญ่ฆอลิบ งานสมรสของเขาเป็นที่กล่าวขานไปทั่วอัลอันดุลุส

          ในปี ฮ.ศ. 367/ ค.ศ. 978 มุฮำมัด อิบนุ อามิร นำทัพเข้ายึดครองป้อมปราการแห่งเมืองชะละมังกะฮฺ จากพวกคริสเตียนได้สำเร็จ ค่อลีฟะฮฺจึงแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้ว่าราชการแห่งนครกุรฏุบะฮฺ ต่อมาเขาก็สั่งปลดเสนาบดีญะอฺฟัรฺ  อัลมุศฮะฟีย์ออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีความไม่โปร่งใสในการใช้เงินจากพระคลัง ค่อลีฟะฮฺจึงแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งเสนาบดีแทนพร้อมกับแต่งตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าราชองค์รักษ์ส่วนพระองค์ในตำแหน่ง อัลหาญิบ อัลมันศูร  อำนาจจึงตกอยู่ในกำมือของมุฮำมัด อิบนุ อามิร ซึ่งบัดนี้คือ อัลหาญิบ อัลมันศูร

          ในปี  ฮ.ศ. 368/ ค.ศ. 979 อัลหาญิบ ได้มีบัญชาให้สร้างนครอัซซาฮิเราะฮฺขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครกุรฏุบะฮฺเพื่อเป็นฐานบัญชาการของตน ในตอนปลายปีเดียวกันนั้น อัลหาญิบออกคำสั่งห้ามผู้ใดเข้าเฝ้าค่อลีฟะฮฺก่อนได้รับอนุญาตจากตน ในปี ฮ.ศ. 971/ค.ศ. 981 อัลหาญิบนำทัพมุ่งสู่ป้อมปราการสะมูเราะฮฺ และยึดครองป้อมปราการแห่งนี้ได้หลังจากที่ค่อลีฟะฮฺ อับดุรเราะฮฺมาน อัน-นาศิร เคยปราชัยให้แก่พวกคริสเตียน ณ ป้อมปราการแห่งนี้ในปี ฮ.ศ. 327/ ค.ศ. 939 และในปี ฮ.ศ. 373/ค.ศ. 983 

          อัลหาญิบได้ทำสงครามกับอาณาจักรลิอองของคริสเตียนและยึดครองอาณาจักรแห่งนี้ได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ที่มุสลิมสามารถยึดครองดินแดนส่วนนี้ได้หลังจากการพิชิตของมุสลิมในสมัยแม่ทัพมูซา อิบนุ นุศอยร์  อัลหาญิบได้ใช้ให้มุอัซซินฺขึ้นประกาศเสียงอะซานเหนือลิอองหลังจากที่เสียงอะซานขาดหายไปเป็นเวลาถึง 200 ปี

          ในปี ฮ.ศ. 374/ค.ศ. 984 อัลหาญิบนำทัพเข้าพิชิตนครบัรซาลูนะฮฺ (บาร์เซโลนา) ได้สำเร็จ ในปี ฮ.ศ. 375/ ค.ศ. 985 อัลหาญิบได้แผ่อำนาจเข้าสู่ฝั่งมอรอคโคในแอฟริกาเหนือ ทำให้อาณาจักรอัลอุม่าวียะฮิมีอาณาเขตกว้างใหญ่มากที่สุดในสมัยของเขา

หุ้นขึ้ผึ้งอัลหาญิบ อัลมันศูร ณ  พิพิธพันธ์หุ้นขึ้ผึ้งเมืองมาดริด สเปน          ต่อมาในปี ฮ.ศ. 379 บุตรชายของอัลหาญิบที่ชื่ออับดุลลอฮฺเจ้าเมืองซานต์ สตีฟาน ก่อการกบฏทำให้อัลหาญิบโกรธเคืองและนำทัพเข้าล้อมเมืองนี้เอาไว้และพิชิตได้สำเร็จ บุตรชายของอัลหาญิบหลบหนีไปพึ่งพวกคริสเตียนในแคว้นอัลบัชฺกันส์ อัลหาญิบจึงส่งฑูตไปยังกราเซีย เจ้าครองแคว้นอัลบัชฺกันส์ แต่ได้รับการปฏิเสธ อัลหาญิบจึงยกทัพเข้าสู้รบและกดดันฝ่ายคริสเตียนยอมมอบตัวพวกกบฏทั้งหมดให้ อัลหาญิบได้สั่งประหารชีวิตพวกกบฏทั้งหมดรวมถึงบุตรชายของตนด้วย ต่อมาปี ฮ.ศ. 387/ ค.ศ. 997  อัลหาญิบนำทัพเข้ายึดครอง ซานต์ เจคอบ เมืองหลวงแคว้นญะลีกียะฮฺได้สำเร็จ

          หลังจากยึดเมืองนี้ได้ อัลหาญิบได้สั่งทำลายโรงงานผลิตอาวุธ เรือรบ และป้อมปราการของพวกคริสเตียน โดยสั่งห้ามมิให้ทหารแตะต้องสุสานของนักบุญและโบสถ์คริสต์ ข่าวการพิชิตเมือง ซานต์ เจคอบ โด่งดังไปถึงกรุงโรม และนครคอนสแตนติโนเปิลเลยทีเดียว

          มีอยู่ครั้งหนึ่ง อัลหาญิบได้ส่งคณะทูตไปเยือนแคว้นอัลบัชกันส์ ซึ่งมีสนธิสัญญาเป็นไมตรีต่อกันโดยมีเงื่อนไขว่า ฝ่ายคริสเตียนจะต้องไม่ปล่อยให้มีเชลยศึกมุสลิมอยู่ในดินแดนของพวกตนแม้แต่ คนเดียว เจ้าครองแคว้นอัลบัชกันส์ได้ต้อนรับคณะทูตมุสลิมเป็นอย่างดี และพาคณะทูตชมเมือง คณะทูตได้เยือนโบสถ์คริสต์แห่งหนึ่ง ที่นั่นมีหญิงคนหนึ่งได้เข้ามาพบคณะทูต และบอกว่านางกับลูกสาวตกเป็นเชลยอยู่ในแคว้นนี้มาหลายปีแล้ว นางจึงขอร้องให้นำเรื่องของนางไปบอกแก่อัลหาญิบ

          เมื่อคณะทูตกลับถึงอัลอันดะลุสก็รายงานเรื่องราวทั้งหมดให้อัลหาญิบทราบ อัลหาญิบสอบถามว่า มีเรื่องอื่นอีกหรือไม่ ผู้นำคณะฑูตจึงบอกเรื่องราวของหญิงคนดังกล่าวให้ทราบ อัลหาญิบจึงตำหนิหัวหน้าคณะฑูตว่า ทำไมไม่บอกเรื่องของนางเป็นเรื่องแรก อัลหาญิบจึงจัดเตรียมทัพมุ่งหน้าสู่แคว้นอัลบัชกันส์ ฝ่ายเจ้าครองแคว้นก็ประหลาดใจจึงส่งคนมาไต่ถามก็ทราบความจากอัลหาญิบว่า พวกคริสเตียนผิดข้อตกลงในสนธิสัญญาโดยปล่อยให้มีเชลยศึกมุสลิมตกค้างอยู่ในแคว้นของพวกตน เจ้าครองแคว้นจึงให้คนของตนออกตามหาหญิงคนดังกล่าวจนพบตัวและนำส่งถึงนครกุรฺฏุบะฮฺ เมื่อหญิงนั้นกับลูกสาวนางมาถึง อัลหาญิบก็ขอโทษขอโพยนางและให้เกียรตินางเป็นอันมาก

           อัล-หาญิบ อัล-มันศูร หรือ มุฮำหมัด อิบนุ อามิร เข้าสู่สงคราม 50 ครั้ง ธงศึกของเขาไม่เคยปราชัยเลยแม้แต่ครั้งเดียว และเขาคือจอมทัพที่นำกองทัพมุสลิมเหยียบย่างไปในดินแดนของคริสเตียนที่ไม่ เคยมีแม่ทัพมุสลิมคนใดเคยเหยียบมาก่อน ทุกครั้งหลังเสร็จศึก บ่าวผู้รับใช้ของเขาจะรวมผงฝุ่นที่เกาะตามเกราะและชุดศึกตลอดจนอาวุธของเขา ใส่รวมเอาไว้ในขวดแก้วใบหนึ่ง โดยเขาสั่งเสียว่าเมื่อเขาเสียชีวิตลงให้ฝังขวดแก้วนี้ลงไปในหลุมศพของเขา ด้วยเพื่อเป็นสักขีพยานในการญิฮาดของเขาในวันกิยามะฮฺ

          อัลหาญิบ อัลมันศูรเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 392 ขณะเตรียมทัพเพื่อการญิฮาดกับพวกคริสเตียนทางตอนเหนือของอัลอันดะลุส และมีอายุได้ 60 ปี เขาคือจอมทัพและอัศวินผู้ไม่เคยปราชัย จากกุลีรับจ้างแบกของในตลาดสู่ผู้มีอำนาจสูงสุดในอัลอันดะลุส อัลหาญิบ อัลมันศุร คือเจ้าของตำนานนั้น