กฎหมายอิสลาม : ว่าด้วยครอบครัวและมรดก

การมีภรรยาหลายคน

ตามหลักการของฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺ วัลญ่ามาอะฮฺไม่อนุญาตที่ชายจะสมรสกับสตรีเกินกว่า 4 คนในปกครองในคราวเดียวกัน ถึงแม้ว่ายังอยู่ในช่วงการครองตน (อิดดะฮฺ) ของภรรยาคนหนึ่งคนใดจาก 4 คนที่ถูกหย่าก็ตาม ดังนั้นหากชายมีความประสงค์จะสมรสกับสตรีคนที่ 5 ก็จำเป็นที่ชายผู้นั้นต้องหย่าภรรยาคนหนึ่งคนใดของตนจาก 4 คนนั้นและต้องรอคอยจนกว่าภรรยาที่ถูกหย่า สิ้นสุดช่วงเวลาการครองตน (อิดดะฮฺ) ของนาง

หลังจากนั้นชายผู้นั้นจึงสามารถสมรสกับสตรีที่ตนประสงค์ได้ ทั้งนี้เพราะตัวบทของคัมภีร์อัลกุรฺอานระบุเอาไว้ว่าไม่อนุญาตให้ชายรวมภรรยาเอาไว้ในการปกครองเกินกว่า 4 คนในคราวเดียวกัน คือพระดำรัสที่ว่า

فَانْكِحُواْ مَا طَابَ لَكُم مِنَ النِّسَاءِ مَثْنٰى وَثُلاَثَ وَرُبَاعَ فَإِنْ خِفْتُمْ أَلاَّ تَعْدِلُواْ فَوَاحِدَةً….الآية

“ดังนั้นพวกท่านก็จงสมรสกับสตรีที่พวกท่านพึงพอใจ สอง, สาม หรือสี่ แต่ถ้าหากพวกท่านเกรงว่าพวกท่านจะให้ความยุติธรรมไม่ได้ ดังนั้น (ก็จงสมรสกับสตรี) เพียงคนเดียว”

(สูเราะฮฺอัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 3)

และอัลหะ-ดีษที่รายงานโดยท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ได้มาขยายความอายะฮฺข้างต้น ท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ได้กล่าวว่า :

  أَسْلَمَ غَيْلاَنُ الثَّقَفِيُّ وَتَحْتَهُ عَشْرُ نِسْوَةٍ فِى الجَاهِلِيَّةِ ، فَأَسْلَمْنَ مَعَه ، أَنْ يَخْتَارَمِنْهُنَّ أَرْبَعًا   فَأَمَرَه النَّبِيُّ

“ฆอยลาน อัซซะกอฟีย์ ได้เข้ารับอิสลามโดยที่เขามีภรรยา 10 คนอยู่ภายใต้การปกครองของเขาในยุคก่อนอิสลาม แล้วพวกนางก็เข้ารับอิสลามพร้อมกับเขา ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) จึงได้ใช้ให้เขาเลือกเพียง 4 คนจากพวกนาง” (รายงานโดยอะห์หมัด อิบนุมาญะฮฺและอัตติรมีซีย์)

การจำกัดไม่ให้มีภรรยาเกินกว่า 4 คนในคราวเดียวกัน ถือเป็นความพอดีและเป็นทางสายกลาง ตลอดจนเป็นการป้องกันมิให้สตรีถูกอธรรมซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีมีมากเกินกว่า 4 คน ซึ่งแตกต่างจากจารีตประเพณีของชาวอาหรับในยุคญาฮิลียะฮฺ (ยุคก่อนอิสลาม) และชนชาติอื่น ๆ โดยไม่มีการกำหนดจำนวนของการมีภรรยาและมีการทอดทิ้งภรรยาบางคน การอนุญาตให้มีภรรยาได้ 4 คนในคราวเดียวกันได้กลายเป็นกรณียกเว้นที่เกิดขึ้นน้อยมาก การอนุญาตดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า มุสลิมทุกคนจะต้องมีภรรยามากกว่าหนึ่งคน แต่ทว่าหลักในการมีภรรยาเพียงคนเดียวถือเป็นหลักการโดยส่วนใหญ่

ศาสนาได้กำหนดเงื่อนไขหลัก ๆ ไว้ 2 ประการในการอนุญาตให้มีภรรยามากกว่า 1 คนคือ

1) ต้องให้ความเป็นธรรมอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ระหว่างภรรยาที่มีมากกว่า 1 คน ซึ่งหมายถึงการให้ความเท่าเทียมกันระหว่างภรรยาในด้านวัตถุ อาทิเช่น การจ่ายค่าเลี้ยงดู การครองชีวิตคู่โดยดีและการร่วมหลับนอน เป็นต้น

2) มีความสามารถในการจ่ายค่าเลี้ยงดู (นะฟะเกาะฮฺ) (อัลฟิกฮุล – อิสลามีย์ 7/165-168 โดยสรุป)

ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่า ระบบของการมีภรรยาเพียงคนเดียวถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และเป็นหลักการโดยส่วนใหญ่ ส่วนการมีภรรยามากกว่า 1 คนนั้นเป็นกรณียกเว้นที่อนุญาตให้ในขณะมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น และศาสนาก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น (วาญิบ) เหนือบุคคล และไม่สนับสนุนด้วยซ้ำไป อันที่จริงศาสนาได้อนุญาตเอาไว้ก็เนื่องจากมีบรรดาปัจจัยเหตุทั้ง
โดยรวมและโดยเฉพาะ กล่าวคือ

ส่วนหนึ่งจากบรรดาปัจจัยเหตุโดยรวมได้แก่ การอนุญาตให้มีภรรยามากกว่า 1 คนถือเป็นมาตรการเยียวยาสภาวการณ์ที่มีผู้ชายน้อยและมีผู้หญิงมาก ไม่ว่าจะในยามปกติที่มีอัตราจำนวนผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น เช่น ในกลุ่มประเทศยุโรปตอนเหนือ หรือภายหลังภาวะสงคราม ดังกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้น หรือในบางขณะประชาชาติมีความต้องการในการเพิ่มอัตราของประชากรเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่สงคราม หรือเพื่อเพิ่มแรงงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เป็นต้น

และส่วนหนึ่งจากบรรดาปัจจัยเหตุเฉพาะ ได้แก่ กรณีที่ภรรยาเป็นหมันหรือมีปัญหาสุขภาพหรือมีนิสัยที่ไม่ตรงกับนิสัยของสามี เป็นต้น (อัลฟิกฮุลอิสลามีย์ 7/169, 170)