กฎหมายอิสลาม : ว่าด้วยครอบครัวและมรดก

หน้าที่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตร

ตามหลักการของศาสนาได้กำหนดหน้าที่ของบิดา มารดา ที่มีต่อบุตร ดังนี้

  1. การจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร (นะฟะเกาะฮฺ) ในส่วนของอาหาร, เครื่องดื่ม, เครื่องนุ่งห่ม และที่พักอาศัย ทั้งนี้เป็นภารกิจจำเป็นที่บิดาต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูในเรื่องดังกล่าวแก่บุตรของตนไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง หากว่าไม่มีบิดา ผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็คือ ปู่ (บิดาของบิดา) และญาติใกล้ชิดในลำดับถัดมา

  2. การให้นมบุตรในกรณีที่ไม่มีผู้ให้นมบุตรแทนมารดาของเด็ก

  3. อบรมสั่งสอนบุตรให้ดำเนินชีวิตตามคำสอนของอิสลาม ทั้งนี้ในเรื่องหลักศรัทธาที่ถูกต้อง การประกอบศาสนกิจ การทำความสะอาด, เรื่องหะล้าล-หะรอม และการมีมารยาทตามแบบฉบับของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم)

  4. ให้ความเป็นธรรมระหว่างบุตร เป็นต้น

สำหรับบุตรบุญธรรมนั้น ให้ผู้ปกครองปฏิบัติหรือเลี้ยงดูเหมือนบุตรคนหนึ่ง อาทิเช่น ให้การศึกษา อบรมสั่งสอนเรื่องศาสนา การประกอบอาชีพฯ ถึงแม้ว่าบุตรบุญธรรมจะไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับบุตรที่แท้จริงในบางกรณีก็ตาม เช่น สิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทผู้สืบสันดาน เป็นต้น

หน้าที่ของบุตรที่มีต่อบิดามารดา

หน้าที่ของบุตรที่มีต่อบิดามารดามีดังนี้ คือ

  1. เชื่อฟังและปฏิบัติตามในทุกสิ่งที่บิดามารดาสั่งใช้หรือห้ามปราม ตราบใดที่สิ่งนั้นมิใช่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระองค์อัลลอฮฺ และขัดต่อหลักคำสอนของศาสนา

  2. ให้เกียรติและยกย่องบิดามารดา มีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อท่านทั้งสอง ตลอดจนให้เกียรติท่านทั้งสองด้วยคำพูดและการกระทำ ไม่ขู่ตะคอกหรือใช้คำพูดที่แสดงความไม่พอใจ, ไม่ใช้เสียงดังเกินกว่าเสียงของท่านทั้งสอง, ไม่เดินนำหน้าท่านทั้งสอง ไม่ถือว่าภรรยาหรือลูกสำคัญกว่าท่านทั้งสอง และไม่เรียกขานท่านทั้งสองด้วยชื่อ แต่ให้เรียกว่า คุณพ่อ, คุณแม่ เป็นต้น และจะต้องไม่ไปไหนมาไหนนอกเสียจากได้รับอนุญาตจากท่านทั้งสองเสียก่อน

  3. ให้ปรนนิบัติดีแก่ท่านทั้งสองอย่างสุดกำลัง

  4. ให้เชื่อมสัมพันธ์กับบรรดาเครือญาติทั้งฝ่ายบิดาและมารดา ตลอดจนบุคคลที่เป็นเพื่อนหรือเป็นผู้ที่รักใคร่สนิทสนมกับท่านทั้งสอง และขอดุอาอฺให้พระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ทรงอภัยโทษแก่ท่านทั้งสอง เช่น ดุอาอฺที่ว่า :   ” رَبِّ اغْفِرْلِيْ وَلِوَالدَيَّ وَارْحَمْهُمَاكَمَارَبَّيَانِيْ صَغِيْرًا ”  “โอ้องค์อภิบาลของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงอภัยโทษแก่ข้าพระองค์และแก่บิดามารดาของข้าพระองค์และขอทรงโปรดเมตตาต่อบุคคลทั้งสองเฉกเช่นที่บุคคลทั้งสองเคยเลี้ยงดูข้าพระองค์มาเมื่อเยาว์วัย”

บุตรมีหน้าที่เลี้ยงดูบิดามารดา รวมถึงปู่ ย่า ตา ยาย โดยมีเงื่อนไขดังนี้

1. บุตรมีทรัพย์เพียงพอที่จะเลี้ยงดูบิดามารดา

2. บิดามารดามีทรัพย์สินไม่เพียงพอในการใช้จ่าย

3. บิดามารดามิได้ประกอบอาชีพอันใดหรือไม่มีรายได้

4. ในกรณีที่บุตรมีความสามารถเลี้ยงดูได้เพียงคนเดียว ก็ให้เลี้ยงดูผู้เป็นมารดาก่อน