บทที่ 2 : แผนที่ของอเมริกาและนักเดินเรือชาวมุสลิม

แผนที่ "เบรียฺ รอยิสฺ" อธิบายมหาสมุทรแอตแลนติกและชายฝั่งทั้งสอง สังเกตการเขียนภาษาตุรกี (เตอร์กิชฺ) ที่ใช้ตัวอักษรอาหรับ (อารบิก)

แผนที่ทวีปอเมริกาที่เก่าแก่ 2 ฉบับ
นักเดินเรือชาวมุสลิมเป็นผู้เขียน
!

แผนที่ทวีปอเมริกาที่เก่าแก่ที่สุด 2 ฉบับนั้นนักเดินเรือชาวมุสลิมที่มีนามว่า “อัรรีซ บีรีย์” เป็นผู้เขียน แผนที่ทั้ง 2 ฉบับได้ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ ท็อบ กอบี้ซาราย ในนครอิสตันบูล (ตุรกี) การค้นพบแผนที่ของ อัรรีซ บีรี่ย์ เป็นผลงานของอาจารย์ค่อลีล อีลีม ในปี ค.ศ.1929 ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์โบราณคดีของตุรกี และขณะนั้นรัฐบาลสาธารณรัฐตุรกีได้มีคำสั่งให้ผู้อำนวยการผู้นี้เปลี่ยนพระราชวังท็อบ กอบี้ซาราย เป็นพิพิธภัณฑ์

ประจวบเหมาะกับเวลานั้น อาจารย์พอลล์ คาล่า ซึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนภาควิชาเกี่ยวกับตะวันออก (บูรพาคดี) ในมหาวิทยาลัย บอนน์ ของเยอรมันคือบุคคลแรกที่ตรวจสอบแผนที่ฉบับนี้อย่างเป็นวิชาการในการประชุมร่วมของนักบูรพาคดี เมื่อกันยายน ปีค.ศ. 1931 ณ นครไลเดนของฮอลแลนด์ และดร.ไอซ์มาน ชาวเยอรมันได้เขียนถึงแผนที่ฉบับนี้โดยวิเคราะห์อย่างละเอียดและครอบคลุม ในนครเบอร์ลิน เมื่อปีค.ศ. 1933


ใครคือ อัรรีซ บีรี่ย์
?

อัรรีซ บีรี่ย์ ถือกำเนิดในเมืองฆอลีโบลี่ (คาลีโปลี่) ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการกองทัพเรือของออตโตมาน เขาได้เข้าร่วมกับ อัรรีซ กะมาล ลุงของเขา – ตำราอ้างอิงบางเล่มบอกว่าเป็นน้าชาย และอัรรีซ กะมาลเป็นแม่ทัพเรือผู้เรืองนาม- ในการยุทธนาวีที่ยาวนานระหว่างออตโตมานกับเวนิสนับแต่ปี ค.ศ. 1498 จนถึงปี ค.ศ. 1502 อัรรีซ บีรี่ย์ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ในการรบทางทะเลจากลุงของเขาอย่างมากมาย ในยุทธนาวีเมื่อปี ค.ศ.1500 บีรี่ย์ก็ได้รับตำแหน่ง รีซ (แม่ทัพเรือ) และเคยบัญชาการกองเรือรบในระหว่างที่ออตโตมานปิดล้อมป้อมทางยุทธศาสตร์ของเวนิส คือ ป้อมมอร์ดอน

แต่ทว่าการเริ่มต้นรับราชการของอัรรีซ บีรี่ย์ ให้แก่จักรวรรดิ์ออตโตมานนั้นย้อนกลับไปยังช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ในขณะที่ อัรรีซ บีรี่ย์ ปฏิบัติงานในฐานะ “โจรสลัด” ซึ่งนัยของโจรสลัดในภาษาของออตโตมานไม่ได้มีความหมายอย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบันว่าเป็นโจรปล้นสะดมภ์ แต่เป็นรูปแบบหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่า “กองอาสาสมัครทางทะเล” โดยมีกองทัพเรือเป็นผู้บัญชาการและปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดกองทัพเรือบนกองเรือที่ตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ และเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพเรือของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ มีภาระกิจเป็นกองเรือโจรสลัดที่คอยโจมตีกองเรือรบของพวกครูเสดที่เป็นฝ่ายปัจจามิตร

สมควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า กองเรือโจรสลัดของออตโตมานได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตของชาวมุสลิมในเอ็นดาลูเซีย และปกป้องรักษาชีวิตตลอดจนทรัพย์สินของชาวมุสลิมขณะเดินทางออกจากเอ็นดาลูเซียในฐานะของผู้ถูกขับไล่หรือหลบหนีเอาชีวิตรอดโดยมุ่งไปยังสถานที่ลี้ภัยใดๆ ก็ตาม ภาระกิจของกองเรือโจรสลัดออตโตมานคือการคุ้มกันเรือเดินทะเลขนาดใหญ่และขนาดเล็กของบรรดาผู้อพยพที่ลี้ภัยพร้อมด้วยชีวิต ทรัพย์สินและศาสนาของพวกเขาจากการคุกคามของกองเรือยุโรปซึ่งคอยระวังสอดส่องที่จะเล่นงานพวกเขาอยู่ตลอดเวลา

ภาพเขต อัล-ญะซีเราะฮฺ ของ อัล-บะละคียฺ (เสียชีวิตปี ฮ.ศ.322-ค.ศ.934) แผนที่เลขที่ 34 จากมิลเลอร์, แผนที่ของอาหรับเล่มที่ 3 แผ่นภาพเลขที่ 13ภาระกิจที่ 2 ของโจรสลัดออตโตมานคือการเสาะหาและตระเตรียมที่พักพิงแก่บรรดาชาวมุสลิมเอ็นดาลูเซีย ดูเหมือนว่าภาระกิจดังกล่าวของโจรสลัดออตโตมานจะคึกคักอยู่แถบชายฝั่งแอลจีเรีย ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง และในขณะที่ผู้อพยพมีจำนวนมากขึ้น จึงเรียกที่ลี้ภัยนี้ว่า อัลบุลัยดะฮฺ (เมืองน้อย) คือ เมืองอัลบุลัยดะฮฺ อันเป็นที่รู้จักกันกันดีของแอลจีเรียในปัจจุบัน

เป็นที่ทราบกันดีว่า ชาวเมืองแกรนาดาได้ร้องขอความช่วยเหลือเพื่อต่อสู้กับความอธรรมที่เกิดขึ้นกับพวกเขา พวกเขาร้องขอความช่วยเหลือจากตูนิเซีย อิยิปต์ และจากจักรวรรดิ์ออตโตมาน สิ่งดังกล่าวเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1486 อัรรีซ กะมาล ได้เข้าร่วมในขบวนการช่วยเหลือชาวมุสลิมเอ็นดาลูเซีย และได้นำกองเรือของออตโตมานอาสาเข้าทำภาระกิจดังกล่าว โดยนำกองเรือมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปี ค.ศ. 1487

และอัรรีซ บีรี่ย์ – ซึ่งเรากำลังกล่าวถึง – ได้เข้าร่วมกับ อัรรีซ กะมาล ลุงของเขาในปฏิบัติการทางทะเลครั้งนี้ด้วย และในการเข้ายึดครองเมืองท่าบางแห่งและเข้าโจมตีชายฝั่งทางใต้ของฝรั่งเศส , ซาร์ดิเนีย และคอร์ซิกา เมื่ออัรรีซ กะมาล ได้เสียชีวิตลง คอยรุดดีนก็รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองเรือ ต่อมาคอยรุดดีนผู้นี้เป็นที่รู้จักในยุโรปในนาม บัรบาโรซ่า ต่อมาเขากลายเป็นโจรสลัดผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค

คอยรุดดีน บัรบาโรซ่า
คอยรุดดีน บัรบาโรซ่า
ในขณะที่คอยรุดดีน บัรบาโรซ่า โจรสลัดออตโตมานประสบความสำเร็จในการยึดครองเรือขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส และต้องการส่งเรือลำนั้นไปยังนครอิสตันบูลพร้อมกับของบรรณาการบางส่วนไปยังสุลต่านออตโตมาน และแจ้งให้สุลต่านทราบถึงปฏิบัติการในทะเล เมดิเตอร์เรเนียน คอยรุดดีนก็ไม่พบผู้ใดนอกจาก อัรรีซ บีรี่ย์ ให้เป็นทูตแทนตนไปยัง อิสตันบูล สุลต่านบายะซีด ข่าน ที่ 2 ทรงชื่นชมบีรี่ย์และพระราชทานเรือให้แก่เขา 2 ลำ

อัรรีซ บีรี่ย์ ในอียิปต์
ต่อมา อัรรีซ บีรี่ย์ ได้เข้าร่วมกับกองทัพเรือหรือราชนาวีของออตโตมาน และร่วมในการปฏิบัติการทางทหารให้กับจักรวรรดิ ระหว่างสงครามออตโตมาน – มัมลูกียะฮฺ ซึ่งสุลต่านสะลีม ข่าน ที่ 1 ทรงเป็นผู้นำทัพด้วยพระองค์เองระหว่างปี ฮ.ศ. 923 – 924 / ฮ.ศ. 1516- 1517 และในการพิชิตอียิปต์ของออตโตมานนั้น อัรรีซ บีรี่ย์ ได้เขียนแผนที่ปากแม่น้ำไนล์เอาไว้

ภาพที่ 2 ของโลก อัศ-ฏ่อคิรียฺ (เสียชีวิต ปี ฮ.ศ.346-ค.ศ.957)และเมื่อมหาเสนาบดี (อัซซอดรุ้ล อะอฺซฺอม) อิบรอฮีม ปาชา ของออตโตมานมุ่งหน้าสู่อียิปต์เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเจ้าเมืองอียิปต์กับบรรดาเจ้าพนักงานของอียิปต์ (ฮ.ศ. 930 / ค.ศ.1523) มหาเสนาบดีผู้นี้ได้นำกองเรือรบออตโตมานจำนวน 10 ลำ ออกจากนครอิสตันบูล อัรรีซ บีรี่ย์ ก็ร่วมเดินทางด้วยในฐานะผู้นำทางให้แก่มหาเสนาบดี ปรากฏว่ามหาเสนาบดีอิบรอฮีม ปาชาอยู่ในเรือบัญชาการ ซึ่งไม่สามารถไปถึงอียิปต์ได้เนื่องจากมีลมพายุรุนแรง มหาเสนาบดีจึงเปลี่ยนมาใช้เส้นทางบกมุ่งสู่อียิปต์ อัรรีซ บีรี่ย์ก็ร่วมเดินทางไปกับมหาเสนาบดีด้วย

สิ่งที่ตามมาก็คือเขาพบโอกาสในการเสนอการปฏิบัติการทางวิชาการของตนโดยตรงแก่มหาเสนาบดีโดยเฉพาะหนังสือ อัลบะฮฺรียะฮฺ (สมุทรศาสตร์) ของเขา และอธิบายให้เห็นถึงคุณค่าทางวิชาการของหนังสือเล่มนี้ โอกาสในครั้งนี้ได้ปูทางสำหรับการเข้าเฝ้าสุลตานสุลัยมาน อัลกอนูนีย์ในเวลาต่อมา โดยอิบรอฮีม ปาชา เป็นตัวกลางในการนำอัรรีซ บีรี่ย์ เข้าเฝ้าสุลต่านเมื่อเขาเขียนตำราของตนเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1526 – 1527

หลังการเยือนอียิปต์ของมหาเสนาบดี อิบรอฮีม ปาชา , นายทหารเรือของตุรกีที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในอียิปต์ที่ชื่อว่า ซัลมาน ได้มอบรายงานสำคัญแก่มหาเสนาบดี โดยนายทหารผู้นี้กล่าวว่า :

พวกโปรตุเกสได้ยึดครองการค้าขายในเขตอ่าวอาหรับและกีดกันชาวเมืองที่นั่นในการค้าขาย พวกโปรตุเกสยังได้เอาสินค้าที่นั่นและส่งไปยังบ้านเมืองของพวกตน พวกโปรตุเกสได้ผูกขาดการค้าเครื่องเทศและยึดครองการค้าของอ่าวอาหรับกับอินเดียและดินแดนอื่นๆ ตลอดจนส่งกองเรือรบที่เข้มแข็งไปยังน่านน้ำของอินเดีย อัรรีซ ซัลมานกล่าวไว้ในรายงานนี้ว่า : เป็นเรื่องที่ง่ายในการยุติอิทธิพลของพวกโปรตุเกสเอาไว้ที่นั่น

ภายหลังการนำเสนอรายงานดังกล่าว ได้มีคำสั่งจากราชสำนักของออตโตมานในการแต่งตั้ง ฟัรฮาดฺ เบก์ แม่ทัพราชนาวีในอียิปต์เป็นผู้ปกครองเยเมน และมีคำสั่งฉบับที่ 2 ตามมาในการแต่งตั้งอัรรีซ บีรี่ย์ ดำรงตำแหน่งแทนฟัรฮาดฺ เบก์ ในฐานะ แม่ทัพแห่งราชนาวีออตโตมานประจำอียิปต์ การแต่งตั้งดังกล่าวเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1547

ภาพเขตชุมชนของอาหรับ ของ อัล-บะละคียฺอัรรีซ บีรี่ย์ ออกท่องทะเลจากเมืองท่าสุเอซ ในปี ค.ศ. 1551 ในตำแหน่งใหม่ของตนนี้ และพิชิตเมืองท่าเอเดน และเข้ายึดครองป้อมปราการแห่งเอเดนหลังจากการโจมตีและยุทธนาวีที่เป็นไปอย่างดุเดือด

อัรรีซ บีรี่ย์ ได้ทิ้งกองทหารรักษาการซึ่งสังกัดกองทัพบกเอาไว้ที่ป้อมปราการแห่งเอเดน และกลับสู่สุเอซ ปฏิบัติการทางทหารในครั้งนี้เป็นที่พอใจแก่ดาวูด ปาชา ผู้ปกครองอียิปต์ และสุลต่านออตโตมานในนครอิสตันบูลเป็นอย่างยิ่ง

ภาพ อิรัก ของ อัล-บะละคียฺความสำเร็จในปฏิบัติการยุทธนาวีของอัรรีซ บีรี่ย์ได้ผลักดันให้เขานำกองทัพเรือจำนวน 30  ลำจากกองเรือรบของอียิปต์มุ่งหน้าสู่ญิดดะฮฺและเอเดนในปีเดียวกัน กองเรือรบดังกล่าวสามารถพิชิตป้อมปราการแห่งมัสคัต (โอมาน) ต่อมาก็เข้าปิดล้อมช่องแคบเฮอร์มุซโดยระดมยิงป้อมปราการที่นั่นอย่างหนักหน่วง แต่การต่อต้านของโปรตุเกสก็เป็นไปอย่างเข้มแข็ง ทำให้การพิชิตช่องแคบเฮอร์มุซเป็นไปอย่างลำบากหลังจากการที่เกือบจะเผด็จศึกได้อยู่รอมร่อ เอกสารของออตโตมานบางฉบับระบุว่า อัรรีซ บีรี่ย์หันไปใช้การประนีประนอมกับพวกโปรตุเกสเพื่อแลกกับการที่พวกโปรตุเกสยอมจ่ายภาษีและบรรณาการ

อัรรีซ บีรี่ย์ ได้นำกองเรือรบของตนออกจากน่านน้ำของช่องแคบเฮอร์มุซมุ่งหน้าไปสู่เมืองอัลบัซเราะฮฺ และลงพักอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง โดยมิทันตั้งตัว อัรรีซก็ทราบว่ากองเรือรบของโปรตุเกสกำลังมุ่งหน้ามาในเส้นทางสู่เมืองอัลบัซเราะฮฺ , อัรรีซมิเคยคาดการณ์มาก่อนประกอบกับกองกำลังราชนาวีที่เขาบัญชาการอยู่มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะรับมือกับกองเรือรบของโปรตุเกส เขาจึงเร่งรีบนำกองเรือจำนวน 3 ลำ  ซึ่งอยู่ในระยะใกล้กับเรือบัญชาการของตนเคลื่อนออกจากน่านน้ำของเมืองอัลบัซเราะฮฺ ส่วนกองเรือที่เหลือซึ่งกำลังลาดตระเวนอยู่ในน่านน้ำของอ่าวอาหรับนั้น อัรรีซ บีรี่ย์ไม่สามารถสั่งการได้ทัน

เขาเพียงแต่ต้องการนำกองเรือจำนวน 3 ลำให้ถอยโดยเร็วก่อนที่กองเรือรบของโปรตุเกสจะตามมาทันเรือบัญชาการของตน ซึ่งมีกำลังทหารเป็นจำนวนมาก และที่น่านน้ำของบะฮฺเรน เรือ 1 ใน 3 ลำถูกจมลง อัรรีซกลับสู่ฐานทัพเรือของตนในอียิปต์พร้อมเรือจำนวน 2 ลำเท่านั้น ซึ่งบนเรือสองลำนั้นมีทรัพย์สงครามที่เขาสามารถย้ายลงเรือสองลำนั้นก่อนหน้าการถอยทัพ

บรรดาแผนที่ทวีปอเมริกา

ช่วงเวลาใกล้กับการสิ้นสุดคริสตศตวรรษที่ 15 ความมั่งคั่งของยุโรปตั้งอยู่บนการค้าขายทางทะเล สเปนและโปรตุเกสซึ่งมีความชำนาญการสามารถยึดครองบรรดาชายฝั่งแห่งใหม่และเส้นทางทะเลซึ่งผู้อื่นไม่รู้จักมาก่อนในการทำการค้ากับนานาชาติ

ภาพเขตชุมชนของอาหรับ อัล-มักดิสียฺ ราวปี ฮ.ศ.375-ค.ศ.985ด้วยเหตุนี้สเปนจึงเริ่มในการเก็บรักษาบรรดาแผนที่ซึ่งถูกเขียนขึ้นภายหลังการเดินทางของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส และการค้นพบโลกใหม่เอาไว้ในสถานเก็บรักษาเอกสารประจำเมืองซิวิลล่า (สิวิลญ่า) และไม่อนุญาตนอกจากการคัดลอกบรรดาแผนที่ต่างๆ ที่สำคัญเพียงจำนวนไม่กี่ฉบับซึ่งบรรดานักค้นพบผู้เลื่องชื่อได้เขียนหรือวาดเอาไว้ เช่น คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส , แมกแจนแลน และคอร์เธซ และไม่อนุญาตให้ทำการคัดลอกตีพิมพ์ หรือแกะสลักบนแผ่นทองเหลืองหรือทองแดง

ส่วนบรรดาแผนที่ซึ่งมีการนำมาใช้โดยทั่วไปนั้นเป็นแผนที่ซึ่งเล็ดรอดจากการควบคุมดูแลดังกล่าวที่เข้มงวดนั่นเอง มีแผนที่จำนวนเล็กน้อยเท่านั้นที่ถูกตีพิมพ์ตลอดจนตำราภูมิศาสตร์เพียงไม่กี่เล่มในช่วงเวลาดังกล่าว กระนั้นแผนที่ดังกล่าวก็ถูกเผาทำลายโดยทางการของสเปนซึ่งอ้างว่าเต็มไปด้วยความผิดพลาดหรือไม่ก็เปิดเผยข้อมูลอันเป็นความลับทางราชการ ในศตวรรษที่ 16 อังกฤษและฝรั่งเศสได้ประกาศว่าจะมอบรางวัลจำนวน 40 เหรียญทองคำเพื่อแลกกับแผนที่หนึ่งฉบับซึ่งถูกเขียนขึ้นอย่างละเอียดสำหรับส่วนใดก็ตามของทวีปอเมริกา (Brown , L.A The story of Maps , Canada 1953 Ed. p.s.)

หลังจากบรรดาแผนที่ดังกล่าวสูญหายไปจากสถานที่เก็บรักษาเอกสาร แผนที่ฉบับที่ ญอง ดี ลา โกซ่า (Juan de La Cosa) ได้เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1500 – ซึ่งเคยร่วมเดินทางไปยังอเมริกาพร้อมกับโคลัมบัสในปี ค.ศ. 1492 – ได้กลายเป็นแผนที่ของอเมริกาเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีอยู่ และในแผนที่ฉบับนี้ทวีปอเมริกามีลักษณะเป็นชายฝั่งทางทิศตะวันออกของทวีปเอเซีย (Sevim Tekeli , Riri Reis’s Map of Americas . p.94 Turkish review , 1987 , ankara – vo . h , Ng-)

ยังมีแผนที่อเมริกาอีก 2 ฉบับที่เป็นที่รู้จักกันเขียนโดย คอนติโน่ (Contino) และคาเนริโอ (Canerio) ซึ่งทั้งสองเป็นชาวสเปน และอีกฉบับหนึ่งเขียนโดย บาร์โธโลเมีย (Bartholomea) บุตรชายของโคลัมบัสเอง (Tooley , R.V. Mapsand Map-Makers , London 1952 p.110)

แผนที่ฉบับแรกของอเมริกาที่ถูกตีพิมพ์คือ แผนที่ของคอนตารินี่ (Contarini) ซึ่งวาดแผนที่โลกที่ถูกค้นพบเหมือนเป็นแผ่นดินที่ยื่นออกมาของทวีปเอเซีย (Tooley , p.110) แผนที่ฉบับที่ 2 ซึ่งให้ความกระจ่างเกี่ยวกับทวีปอเมริกาคือแผนที่ของนักวิชาการ มาร์ติน วอลด์ซีมุลลี่ (Martin Waldseemulley) ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1507 ถึงแม้ว่าแผนที่ฉบับนี้จะอาศัยแผนที่ของคาเนริโอซึ่งเขียนเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1502 เป็นเกณฑ์แต่ก็มีความแตกต่างจากแผนที่ฉบับแรกโดยภาพของทวีปอเมริกาปรากฏเป็นทวีปที่แยกออกจากเอเชีย และถูกเรียกว่า ทวีปอเมริกา

ภาพ "อิรัก" อัล-มักดิสียฺมาร์ติน วอลด์ซีมุลลี ได้ใช้ตำรา “บทนำในวิชาการเขียนแผนที่” ของ   อเมริโก เวสปุชชี ในการเขียนแผนที่ของอเมริกาใต้ อิทธิพลของอเมริโกที่มีต่อมาร์ตินปรากฏชัดด้วยการที่เขาเรียกชื่อแผนที่ของตนว่า “อเมริกา” (Tooley , p.110) ต่อมาภายหลังการรับรู้ถึงข้อผิดพลาดของตน มาร์ตินได้พยายามเปลี่ยนชื่อแผนที่ของตนแต่ก็สายไปเสียแล้ว และความผิดพลาดนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำอีกในแผนที่หลายฉบับของเมอร์คาเตอร์ (Mercator) (Brown p.157)

ในเวลาที่บรรดาแผนที่ฉบับต่างๆ ที่ถูกกล่าวมาก่อนนี้ถูกถือว่าเป็นแผนที่ของทวีปอเมริกาที่เก่าแก่ที่สุด นอกเสียจากว่า ขณะที่มีการค้นพบแผนที่ของอัรรีซ บีรี่ย์ ในปี ค.ศ. 1929 และมีการศึกษาอย่างเจาะลึก ก็ได้รับการยืนยันว่าแผนที่ฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งจากแผนที่โลก ซึ่งนักเดินเรือชาวตุรกีผู้นี้ได้เขียนเอาไว้ในปี ค.ศ. 1513 และถวายเป็นของกำนัลแก่สุลต่าน ซ่าลีม ข่าน ที่ 1 ในปี ค.ศ. 1517

เอกสารอ้างอิงของแผนที่ฉบับของอัรรีซ บีรี่ย์

อัรรีซ บีรี่ย์ ระบุถึงเอกสารต่างๆ ซึ่งเขาใช้อ้างอิงในการเขียนแผนที่ฉบับดังกล่าว หนึ่งในเอกสารดังกล่าวซึ่งอัรรีซ บีรี่ย์ใช้อ้างอิงคือ แผนที่ฉบับของโคลัมบัส เป็นไปได้ว่า แผนที่ฉบับนี้คือฉบับที่โคลัมบัสเขียนขึ้นในปี ค.ศ.1498 และส่งไปยังสเปนทั้งๆ ที่เป็นเรื่องผิดปกติในการที่จะมีการคัดลอกจากต้นฉบับจริงในเวลานั้น แต่กลับพบว่ามีฉบับคัดลอกของแผนที่ฉบับนี้ และจนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการค้นพบฉบับคัดลอกอื่นๆ ของ แผนที่ฉบับนี้ และแผนที่เพียงฉบับเดียวซึ่งยังคงมีจนปัจจุบันนี้คือแผนที่ของอัรรีซ บีรี่ย์ ซึ่งอัรรีซ บีรี่ย์ได้อาศัยสิ่งที่โคลัมบัสได้ดำเนินการเอาไว้ในแผนที่ของเขาในการเขียนแผนที่ฉบับนี้ (Sevim Tekeli p. 98)


แผนที่โลกฉบับแรกที่อัรรีซ บีรี่ย์ได้เขียนขึ้น

แผนที่ซึ่งถูกพบในพระราชวัง ท็อบ กอบิซาราย ในปี ค.ศ. 1929 ได้ถูกเขียนบนแผ่นหนังกวางที่ถูกฟอกมีขนาด 90 ซม. X 60 ซม. และมีชื่อของอัรรีซ บีรี่ย์ ลงนามเอาไว้ แผนที่ฉบับนี้เป็นแผนที่ซึ่งอัรรีซ บีรี่ย์ เขียนขึ้นในฆอลีบูลีย์ เมื่อปี ค.ศ. 1513 ต่อมาอัรรีซ บีรี่ย์ได้ถวายแผนที่ฉบับนี้แก่สุลต่านซะลีม ข่าน ที่ 1 ในปีค.ศ. 1517 ในอียิปต์ แผนที่ชิ้นนี้ให้รายละเอียดถึงชายฝั่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของยุโรป , ดินแดนทิศตะวันตกของแอฟริกา , ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอเมริกา

ภาพโลกของ อัล-มัสอูดียฺ (เสียชีวิตปี ฮ.ศ.346-ค.ศ.957 จากมิลเลอร์, แผนที่ของอาหรับ เล่มที่ 5 หน้า 156บนแผนที่นั้นภูเขาต่างๆ ถูกเขียนเป็นทรงพวงองุ่นหรือลูกหม่อน และแม่น้ำสายต่างๆ ถูกอธิบายด้วยเส้นทึบ ส่วนพื้นที่ต่ำถูกแสดงด้วยจุดสีแดง และจุดที่เป็นหินโสโครกในท้องทะเลถูกแสดงอย่างชัดเจนด้วยเครื่องหมายกากบาท บนแผนที่ยังมีข้อสังเกตที่อธิบายถึงเขตต่างๆ และแผนที่ยังถูกประดับประดาด้วยรูปของสัตว์ชนิดต่างๆ และต้นไม้ ซึ่งบางที่อาจจะเป็นการระบุถึงเขตที่มีสัตว์และต้นไม้ต่างๆ ในโลก

แผนที่ฉบับนี้ไม่ได้ประมวลเส้นรุ้งเส้นแวงเอาไว้แต่มุ่งเป้าไปยังการอธิบายถึงเขตชายฝั่งต่างๆ และบรรดาเกาะทั้งหลาย และแทนจากเส้นรุ้งเส้นแวงนั้นพบว่ามีเส้นโยงและดอกกุหลาบ 2 ดอกเป็นสัญลักษณ์แทนเข็มทิศ ดอกหนึ่งอยู่ในทิศเหนือและอีกดอกหนึ่งในทิศใต้ แต่ละดอกถูกแบ่งออกเป็น 32 ส่วน และเส้นโยงต่างๆ ดังกล่าวโยงไปถึงรอบวงของดอกกุหลาบ และถูกพบว่ามีมาตราวัด 2 อันอธิบายถึงระยะทางของไมล์บนแผนที่ และเส้นโยงต่างๆ ซึ่งโยงระหว่างเขตของดอกกุหลาบ 2 ดอก และมาตราวัดต่างๆ จะถูกใช้ในการวัดระยะทางระหว่างท่าเรือต่างๆ

เชื่อกันว่าแผนที่ของอัรรีซ บีรี่ย์ ไม่มีหลักมูลฐานทางคณิตศาสตร์ แต่การศึกษาซึ่งถูกดำเนินการกับแผนที่ฉบับนี้ได้ยืนยันว่ามีศูนย์กลาง 5 จุดที่ปรากฏชัดบนมหาสมุทรแอตแลนติกในแผนที่ของอัรรีซ บีรี่ย์ และเป็นการง่ายมากๆ ในการเติมเส้นรุ้งและเส้นแวงเข้าไปยังแผนที่ฉบับนี้ ตัวเขาเองเขียนเอาไว้ในตำราสมุทรศาสตร์ (อัลบะฮฺรี่ยะฮฺ) ว่า แผนที่ดังกล่าวถูกเขียนขึ้นอย่างละเอียดมากๆ และกล่าวเพิ่มเติมด้วยอีกว่า หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในแผนที่ของเขาแม้เพียงเล็กน้อยก็จะต้องไม่ถูกนำมาใช้งาน เพราะเป็นไปได้ว่าแผนที่นั้นอาจจะทำให้หลงทางได้ (Seven tekeli p. 98)

อัรรีซ บีรี่ย์ ได้ใช้สีระบายลงในแผนที่ของตน และเขียนข้อสังเกตของตนเอาไว้ เขาตบแต่งแผนที่อย่างสวยงามด้วยรูปวาดต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยของเขาลงบนแผนที่ เขากล่าวในตำราของตนว่า : หลังจากปรับเปลี่ยนขนาดของภาพวาดสำหรับแผนที่ซึ่งเคยใช้มาก่อนหน้านั้นเป็นขนาดเดียว – สิ่งนี้บ่งชี้ถึงความกว้างไกลทางภูมิความรู้ของอัรรีซ บีรี่ย์ในด้านคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์- เขาได้ใช้เทคนิคซึ่งผู้คนนิยมใช้กันในสมัยของเขาในการวาดภาพเมือง , ป้อมปราการด้วยสีแดง และสถานที่ต่างๆ ที่ปลอดผู้คนด้วยลายเส้นหรือจุดประ….. ดังที่กล่าวมาแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สถานที่ส่วนใหญ่บนฝั่งแอฟริกาติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกจะใช้ชื่อในภาษาตุรกี เช่น “อักบูรูน” หรือ แหลมสีขาว “ยะซัลบูรูน” หรือแหลมสีเขียว “กัยซีลบูรูน” หรือแหลมสีแดง เป็นต้น ซึ่งชื่อเหล่านี้เป็นชื่ออิสลามที่ใช้เรียกสถานที่เหล่านี้

อัรรีซ บีรี่ย์ได้อาศัยข้อมูลจากแผนที่จำนวน 43 ฉบับ ในขณะที่เขาเขียนแผนที่ของตน ส่วนหนึ่งมีจำนวน 20 ฉบับไม่มีวันเดือน ปี และอีก 8 ฉบับเป็นแผนที่ต่างๆ ที่ถูกเรียกว่า ญะอฺฟะรียะฮฺ ซึ่งเป็นผลงานของนักภูมิศาสตร์ชาวมุสลิม และ 4 ฉบับเป็น แผนที่ใหม่ที่เขียนโดยชาวโปรตุเกส หนึ่งในนั้นเป็นแผนที่ของโคลัมบัส ในตำรา “สมุทรศาสตร์” เขากล่าวอย่างยืดยาวว่า : โคลัมบัสเคยค้นพบหมู่เกาะ “อันเทล” ในการเดินทางครั้งหนึ่งของเขา และโคลัมบัสได้เปิดเส้นทางทะเลมายังหมู่เกาะนี้ และแผนที่หมู่เกาะอันเทล ซึ่งโคลัมบัสได้เขียนเอาไว้ได้ตกมาถึงเขา

เราได้ทราบจากข้อสังเกตหรือหมายเหตุของอัรรีซ บีรีย์บนแผนที่ของเขาว่า นักเดินเรือชาวสเปนคนหนึ่งซึ่งเคยเข้าร่วมในการเดินทาง 3 ใน 4 ครั้ง ซึ่งโคลัมบัสเป็น ผู้นำไปยังอเมริกาได้ตกเป็นเชลยศึกในกำมือของอัรรีซ บีรีย์ ในเวลาต่อมา บุคคลผู้นี้ได้ให้ข้อมูลอย่างเพียบพร้อมซึ่งเกี่ยวข้องกับการเดินทางต่างๆ ของโคลัมบัส

แผนที่โลกของ อิบนุ-เห็าก็อลฺ (ฮ.ศ.367-ค.ศ.977)ในข้อสังเกตข้อที่ 5 บนแผนที่ อัรรีซ บีรีย์ได้เล่าให้เราทราบว่า อเมริกาถูกค้นพบอย่างไร? เขาระบุว่า : ชายฝั่งเหล่านี้ถูกค้นพบในปี ฮ.ศ. 896 (ค.ศ. 1492) ผู้ปฏิเสธคนหนึ่งจากเจนัวที่มีชื่อว่า “โคลอมโบ” เป็นผู้ค้นพบ มีตำราเก่าแก่เล่มหนึ่งตกอยู่ในกำมือของบุคคลผู้นี้ โดยในตำราเล่มนี้เขียนว่า ณ ปลายสุดของทะเลตะวันตก (มหาสมุทรแอตแลนติก) จากทางทิศตะวันตกจะมีชายฝั่งต่างๆ และบรรดาหมู่เกาะที่เต็มไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุ และหินมีค่าประเภทต่างๆ – ผู้เขียนหนังสือให้น้ำหนักว่า ตำราเล่มนี้คือ ตำราภูมิศาสตร์ของอัลวัรดีย์ซึ่งกล่าวถึงมาก่อนหน้านี้ –

เมื่อชายผู้นี้รวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ในตำราดังกล่าวอย่างดีแล้ว เขาก็ไปพบเจ้าชายแห่งเจนัวและพรรคพวกของเจ้าชาย เขาร้องขอจากคนพวกนั้นให้เตรียมเรือ 2 ลำเพื่อเดินทางไปยังดินแดนอันมั่งคั่ง ดังนั้นพวกนั้นกล่าวแก่เขาว่า : “เจ้าคนบ้า! ทะเลทางทิศตะวันตกไร้ขอบเขต กลุ่มไอน้ำของทะเลนั้นเต็มไปด้วยความมืดมน”

เมื่อโคลอมโบสิ้นหวังจากการช่วยเหลือของพวกเจนัว เขาจึงไปหากษัตริย์แห่งสเปนและอธิบายให้พระองค์ทราบถึงสิ่งที่เขารู้มาจากตำราเก่าแก่เล่มนั้น ในตอนแรกพระองค์ไม่ตกปากรับคำ แต่เขาก็คะยั้นคะยอพระองค์จนพระองค์เห็นด้วย พระองค์ได้จัดเตรียมเรือ 2 ลำให้แก่โคลอมโบ โดยตรัสว่า : “โคลอมโบ! ถ้าหากสิ่งที่เจ้าพูดมาถูกต้อง ข้าจะแต่งตั้งให้เจ้าเป็นผู้ปกครองดินแดนดังกล่าว”

อัลฆอนีย์ อัรรีส กะมาล – ซึ่งกล่าวถึงมาแล้ว – ได้จับนักเดินเรือชาวสเปนคนหนึ่งที่เคยร่วมเดินทางไปกับโคลัมบัสทั้ง 3 ครั้งเป็นเชลย เชลยผู้นี้ได้กล่าวว่า : การเดินทางเริ่มต้นจากญิบรอลต้ามุ่งสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ในระยะทาง 4 พันไมล์ เราได้เห็นเกาะแห่งหนึ่งเบื้องหน้าพวกเรา และท้องทะเลก็สงบเงียบ กลุ่มดาวเหนือก็ค่อยๆ ลับหายไปทีละน้อยๆ และกลุ่มดาวที่พวกเราไม่เคยรู้จักมาก่อนก็ปรากฏขึ้นแก่พวกเรา

พวกเราจอดเรือที่ชายหาดของเกาะนั้น ชาวเกาะก็มาและยิงธนูใส่พวกเราเป็นห่าฝน พวกเขาขัดขวางพวกเราที่จะขึ้นบก ทั้งผู้ชายและผู้หญิงช่วยกันยิงธนูใส่พวกเรา หัวธนูทำมาจากกระดูกปลา พวกเขาเปลือยกาย เราจึงถอนสมอมุ่งไปยังหาดอีกด้านหนึ่งของเกาะ ซึ่งเราพบเรือเล็กที่นั่น ชาวเรือได้หลบหนีจากเรือนั้นเมื่อพวกเขาเห็นเรือของพวกเราซึ่งมีขนาดใหญ่ เราจึงยึดเรือเล็กลำนั้น แล้วก็พบว่าในเรือมีชิ้นเนื้อของมนุษย์ เราจึงรู้ว่าชาวเรือพวกนั้นเป็นผู้คนที่ออกล่ามนุษย์เพื่อกินเนื้อ

โคลอมโบได้มองเห็นเกาะอีกแห่งหนึ่ง เราจึงล่องเรือเข้าไปใกล้เกาะนั้น ซึ่งเราพบว่าที่นั่นมีงูเหลือมตัวเขื่องจำนวนมาก พวกเราจึงไม่กล้าลงเรือเพื่อขึ้นฝั่ง เรายังคงจอดรอทิ้งสมออยู่อย่างนั้นเป็นเวลาราว 17 วัน เมื่อชาวเกาะรู้สึกว่าพวกเราไม่ได้ประสงค์ร้าย พวกเขาจึงนำปลาจำนวนหนึ่งมาให้พวกเรา พวกเขาจับมันได้ด้วยเรือเล็กของพวกเขา เราจึงมอบลูกปัดที่ทำจากแก้ว (กระจก) เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน โคลอมโบเคยอ่านพบในตำราเก่าแก่ว่า ผู้คนในแถบนั้นหลงใหลลูกปัดเป็นอย่างมาก พวกชาวเกาะยังคงนำปลามามอบแก่พวกเราเพื่อแลกกับลูกปัด

อยู่มาวันหนึ่ง พวกเราได้เห็นกำไลทองคำของผู้หญิงคนหนึ่ง เราจึงมอบลูกปัดหลายอันแก่นาง นางจึงมอบกำไลอันนั้นแก่พวกเรา ทุกคนดีใจมากและพวกเขาก็นำทองคำจำนวนหนึ่งกลับมาให้พวกเรา พอมาอีกวันหนึ่ง พวกเราเห็นชาวเกาะบางคนมีไข่มุกอยู่ด้วยเราจึงขอแลกไข่มุกนั้นกับลูกปัดจำนวนหนึ่ง ทุกคนดีใจมาก คนที่ยอมแลกไข่มุกอันเลอค่ากับลูกปัดแก้วได้ทำให้พวกเราได้ของมีค่าเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก

เราได้ค้นพบว่าหอยมุกมีอยู่อย่างมากมายในเขตน้ำตื้นที่อยู่รอบๆ เกาะแห่งนี้ ชาวเกาะได้นำเอาแผ่นไม้ที่หายากจำนวนหนึ่งมาให้พวกเราอีกด้วย เราได้นำสิ่งที่พวกเราเอามันมาทั้งหมดไปถวายกษัตริย์ในสเปน ในการเดินทางอีกครั้งหนึ่งพระองค์ได้ส่งบรรดาบาทหลวงกลุ่มหนึ่งร่วมเดินทางไปกับพวกเราด้วย ผู้คนที่นั่นไม่มีศาสนา เดินเปลือยกายและนอนเหมือนสัตว์ โคลอมโบได้เรียกชื่อของสถานที่ต่างๆ ที่นั่นเอาไว้ (ดัรวีช มุสตอฟา อัลฟ๊าร ; อักดัม ค่อรีเฎาะฮฺ ลิลบิฮาร อัซซับอะฮฺ หน้า 66 วารสารอัดเดาฮะฮฺ ลำดับที่ 122 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986)

มีรูปของเรือหลายลำถูกอธิบายไว้บนแผนที่ เป้าหมายจากการวาดรูปเรือดังกล่าวเอาไว้ก็คือ ให้ความกระจ่างในการค้นพบต่างๆ ที่เป็นเรื่องเฉพาะของบรรดาผู้ค้นพบ อาทิเช่น มีหมายเหตุเขียนอธิบายข้างๆ รูปทางทิศตะวันตกของเกาะซานติยาโน่ โดยอธิบายว่า ชาวเมืองเจนัวคนหนึ่งที่ชื่อ โนชั่น (Notion) เป็นผู้ค้นพบเกาะนี้ อีกอันหนึ่งบนแผนที่เดียวกัน ทางด้านเหนือจะพบภาพวาดผู้หญิงและผู้ชายกำลังย่างปลาบนกองไฟ และมีภาพเรือขนาดเล็กลำหนึ่ง และลำใหญ่อีกลำหนึ่ง มีคน 2 คนอยู่ข้างในเรือซึ่งนั่นคือตำราของ ซานโต บรานดอน (Santo Brandon)

แต่อัรรีซ บีรี่ย์ อธิบายให้เราทราบไว้ในหมายเหตุของเขาต่อตำนานนี้ว่าที่มาของมันคือ นักวาดแผนที่โบราณ มิใช่มีที่มาจากพวกโปรตุเกส ท้ายที่สุด อาจกล่าวได้ว่า แผนที่ฉบับนี้ถือกันว่าเป็นแผนที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมีความยิ่งใหญ่ด้วยเหตุ 2 ประการ คือ

1. เป็นแผนที่ที่มีความละเอียดและเป็นนักวิชาการมากที่สุดในยุคนั้น

2. เป็นแผนที่ฉบับเดียวที่ถูกเขียนขึ้นโดยอาศัยแผนที่ต้นฉบับของโคลัมบัส ซึ่งน่าจะไม่มีอยู่ในปัจจุบันนี้

เป็นเรื่องที่มีน้ำหนักว่า อัรรีซ บีรี่ย์ได้พบแผนที่ฉบับต่างๆ ของชาวมุสลิมซึ่งเขาอาศัยมัน ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงบางเกาะซึ่งกล่าวมาก่อนแล้วว่า อิบนุ อัลวัรดีย์ได้ระบุถึงการมีอยู่ของเกาะเหล่านั้นในทะเลแห่งความมืดมน และอัรรีซก็อาศัยข้อมูลนั้นในการเขียนแผนที่ของเขา

ภาพโลกของ อัล-บัตฺตามียฺ (ฮ.ศ.238-317/ค.ศ.852-929)

แผนที่โลกฉบับที่ 2

15 ปีให้หลังนับจากการเขียนแผนที่ฉบับแรก อัรรีซ บีรี่ย์ได้เขียนแผนที่โลกฉบับที่ 2 แผนที่ฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นในฆอลีโบลีอีกเช่นกัน สิ่งที่เหลืออยู่จากแผนที่ฉบับนี้ในปัจจุบันเป็นแผ่นขนาดเล็กเท่านั้น มีขนาด 68 ซม. X 69 ซม. โดยอธิบายถึงส่วนทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกและเขตต่างๆ ที่ถูกค้นพบใหม่ของอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง แผนที่เริ่มต้นที่กรีนแลนด์ (Greenland) ทางทิศเหนือ และทางด้านทิศใต้มีแผ่นดิน 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า บัคคาโล (Baccalo) ส่วนที่สองห่างลงมาทางด้านล่างเล็กน้อยเรียกว่า เทอรา โนวา (Terra Nova) และระบุว่าแผ่นดินทั้งสองส่วนนั้นพวกโปรตุเกสเป็นผู้ค้นพบ ทางทิศใต้ลงมาจากแผ่นดินทั้งสองนั้นจะมีคาบสมุทรฟลอริดา (Florida) ซึ่งถูกวาดไว้อย่างละเอียด

อัรรีซ บีรี่ย์เรียกชื่อมันว่า ซานจวน ปาติสโต (San Juan Batisto) ซึ่งชื่อนี้เขาเรียกมันว่า เปอร์โต ริโก (Puerto Rico) ในแผนที่ฉบับก่อน ส่วนแผ่นดินที่อยู่ด้านข้างของแผนที่ฉบับนี้คือ คาบสมุทรฮอนดูรัส และยูคาตัน ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1517 และค.ศ. 1519 ตามลำดับ และแผนที่ของคิวบาและไฮติถูกเขียนเอาไว้โดยละเอียดในแผนที่ฉบับที่ 2 นี้

มีเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ ของลมเป็นรูปดอกกุหลาบซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 32 ส่วนบนแผนที่ฉบับนี้แทนจากเส้นรุ้งเส้นแวงนอกเหนือจากมาตราวัดต่างๆ อีกด้วย และมีกลุ่มมาตราวัดสองกลุ่มถูกวาดไว้ด้านข้างแบ่งออกเป็น 20 ส่วน และหมายเหตุที่อัรรีซ บีรี่ย์บันทึกเอาไว้ถึงมาตราวัดต่างๆ ได้แจ้งให้ทราบว่าระยะทางระหว่างการแบ่งแต่ละส่วนหมายถึงระยะทาง 50 ไมล์ และระหว่างจุด 2 จุดมีระยะห่าง 10 ไมล์

ในแผนที่ฉบับที่ 2 นี้เราจะพบว่ามีการวาดเส้นชายฝั่งเอาไว้ด้วย ซึ่งชี้ชัดถึงความก้าวหน้าอย่างมากเมื่อเทียบกับความไม่ละเอียดในแผนที่ฉบับแรก และส่วนต่างๆ ที่ถูกค้นพบจนถึงเวลานั้นจะถูกอธิบายเอาไว้เท่านั้น ส่วนเขตที่ยังไม่มีการค้นพบจะถูกปล่อยเอาไว้เป็นเหมือนกับพื้นที่ว่างๆ ข้อนี้ยืนยันว่า อัรรีซ บีรี่ย์ คำนึงถึงทฤษฎีและวิธีการต่างๆ ในเชิงวิชาการ และเขายังคงติดตามการค้นพบใหม่ๆ อยู่เสมอจากบรรดาตำราต่างๆ แผนที่ฉบับนี้จึงถือกันว่าเป็นแผนที่ฉบับหนึ่งจากแผนที่ส่วนใหญ่ที่สอดคล้องกับช่วงเวลานั้น และตรงตามหลักมูลฐานในวิชาเขียนแผนที่ (Sevim Tekeli p. 202)

การศึกษาวิจัยและผลลัพธ์อันน่าทึ่งของแผนที่ฉบับของอัรรีซ บีรี่ย์

นักแผนที่ชาวอเมริกัน เออร์ลิงตัน เฮช มาลรี่ย์ , วอลเตอล์ ผู้เชี่ยวชาญการด้านแผนที่ในกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกา และบาทหลวงเกซเวตี้ ไลน์แฮม ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาในเวสตันต่างก็มีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยแผนที่ฉบับของอัรรีซ บีรี่ย์ โดยเฉพาะคนหลังนี้ได้กล่าวว่า :

“แผนที่ของอัรรีซ บีรี่ย์นั้นมีความถูกต้องถึงขั้นก่อให้เกิดความฉงนต่อสติปัญญาเลยทีเดียวเฉพาะอย่างยิ่งแผนที่นี้ได้แสดงอย่างชัดเจนถึงสถานที่ต่างๆ ที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อนจนถึงสมัยของเขาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 …..?!! สิ่งที่น่าฉงนในแผนที่ของบีรี่ย์นั้นคือ เขาวาดรูปของเทือกเขาแอนตาร์กติกโดยละเอียด ทั้งๆ ที่เทือกเขานี้ยังไม่เคยมีผู้ใดสามารถค้นพบนอกจากในปี ค.ศ. 1952 กล่าวคือในตอนต้นของช่วงที่สองจากศตวรรษที่ 20 เป็นไปได้อย่างไร? ภายหลังจากมีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยในการสะท้อนเสียง (เช่น โทรศัพท์) ส่วนก่อนหน้าหน้าแม่ทัพเรือ อัรรีซ บีรี่ย์ แห่งออตโตมาน หมายถึงจวบจนคริสตศวรรษที่ 16 ไม่เคยปรากฏมีผู้ใดรู้ว่าทวีปแอตตาร์กติกานั้นมีอยู่จริง เพราะมันถูกปกคลุมไปด้วยหิมะและธารน้ำแข็งตลอดระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์”

เป็นที่ทราบกันว่าแอนตาร์กติก คือทวีปลำดับที่ 6 และตั้งอยู่ในขั้วโลกใต้ ความฉงนมิได้จำกัดอยู่เฉพาะบาทหลวงไลน์แฮมเพียงเท่านั้น หากแต่ยังเลยไปถึงนักวิชาการและนักเขียนเป็นจำนวนมาก เอริก ฟิน คันดิน ผู้แต่งหนังสือราชรถของทวยเทพได้ถ่ายทอดเรื่องราวจากบรรดานักวิชาการว่า : “ด้วยการเปรียบเทียบรูปถ่ายของโลกซึ่งถ่ายจากยานอวกาศ- ในศตวรรษที่ 20 – กับบรรดาแผนที่ซึ่งเขียนโดยแม่ทัพเรือ อัรรีซ บีรี่ย์ ในตอนแรกๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีความคล้ายคลึงหรือเหมือนกันอย่างน่าทึ่งโดยชัดเจนระหว่างรูปถ่ายของยานอวกาศกับแผนที่ของบีรี่ย์” (ดร.มุฮำหมัด ฮัรบ์ มิซร์ ฟี อัตตุรอซ อัลญิฆรอฟีย์ อัลอุษมานีย์ หน้า 102-103)

ตำรา “สมุทรศาสตร์” ของอัรรีซ บีรี่ย์

อัรรีซ บีรี่ย์ ได้รวบรวมบันทึกความทรงจำของตนในรูปของตำรา เขาอ้างอิงที่มาและอธิบายเอาไว้อย่างมากมายในตำราเล่มนี้ และนำถวายสุลต่านสุลัยมาน อัลกอนูนีย์ โดยผ่านมหาเสนาบดีอิบรอฮีม ปาชา อัรรีซ บีรี่ย์ได้ทำการวิเคราะห์และแก้โจทย์ทางภูมิศาสตร์ในยุคของเขาภายในตำราเล่มนี้โดยอาศัยศักยภาพทางความคิดของตนที่มีความเฉียบคมและพลังแห่งการสังเกตของเขา เขาบันทึกทุกสิ่งที่ได้ประสบพบเจอในการเดินทางต่างๆ ของเขา

ในอรัมภบทของตำราเล่มนี้ อัรรีซ บีรี่ย์กล่าวว่า : เป้าหมายของตนจากการเขียนตำราเล่มนี้คือการให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับท่าเรือต่างๆ ชายฝั่ง และบรรดาหมู่เกาะด้วยการวาดมันเอาไว้บนแผนที่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในตะวันตกว่า โพโธลาโนส (Portolanos)

เขากล่าวอีกว่า : ไม่ว่ามาตราหรือสัดส่วนในการวาดแผนที่ขนาดใหญ่จะเป็นเช่นไร ก็ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในการที่เราจะให้ความกระจ่างถึงรายละเอียดของสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมัน ความบกพร่องในบรรดาข้อมูลของสิ่งมีชีวิตนี้เองได้ทำให้เขารู้สึกรับรู้ถึงความจำเป็นในการแต่งตำราขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง โดยเพิ่มเติมข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นเข้าไป อัรรีซ บีรี่ย์ได้นำเสนอตำราอันเอกอุของเขาที่ชื่อ อัลบะฮฺรียะฮฺ แก่พวกเราซึ่งเขาได้เพิ่มเติมข้อมูลในวิชาการเดินเรือทะเลเข้าไปเป็นอันมากอีกด้วย

ในบทที่ 1 และบทที่ 2 จากตำราเล่มนี้ เขาได้อธิบายถึงแรงผลักดันในการแต่งตำราเล่มนี้เอาไว้ ในบทที่ 3 และบทที่ 4 ตลอดจนบทที่ 5 เขาได้ให้ข้อมูลต่างๆ แก่เราเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลมพายุ ลมมรสุม ทิศทั้ง 4 และเข็มทิศ ในบทที่ 6 และบทที่ 7 เขาได้ศึกษาแผนที่ต่างๆ ตลอดจนรูปภาพบนแผนที่ และในบทที่ 8 เขาพูดถึงทะเลต่างๆ และบทที่ 9 กล่าวถึงการค้นพบต่างๆ ของพวกโปรตุเกส และพวกโปรตุเกสได้ล่องทะเลไปถึงมหาสมุทรอินเดียอย่างไร?

ส่วนบทที่ 10 จะกล่าวถึงเอธิโอเปียและการที่ชาวฮอนแลนด์ตลอดจนพวกโปรตุเกสได้มาถึงทะเลแดงจากทางแหลมกู๊ดโฮป ในบทที่ 11 เขาพูดถึงเรื่องโลกกลม และในบทที่ 12 เขาเล่าถึงการรุกรานของพวกโปรตุเกสที่มีต่ออินเดีย

ในขณะที่บทที่ 13 และ 14 ซึ่งถัดมาเขาได้ให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับทะเลของจีน ขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวจีน และความชำนาญของชาวจีนในด้านหัตถกรรมการทำเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องกระเบื้อง ส่วนบทที่ 15 ก็จะวนเวียนอยู่กับเรื่องราวของมหาสมุทรอินเดียและลมมรสุมต่างๆ ในบทที่ 20 ถึง บทที่ 23 เขาได้พูดอย่างมากมายถึงมหาสมุทรแอตแลนติก และการค้นพบอเมริกาของโคลัมบัส

ภาพเขตแคว้นของโลก อัล-บะละคียฺอัรรีซ บีรี่ย์ ได้ให้ข้อมูลต่างๆ อย่างสมบูรณ์ในตำราของเขาและแจกแจงโดยละเอียดเกี่ยวกับทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน อาทิเช่น ในบทหนึ่งของตำราได้ให้ข้อมูลของเมืองเวนิสเป็นกรณีเฉพาะ เขากล่าวถึงเมืองเวนิสว่า :

เมืองเวนิสแผ่ยื่นไปในระยะทาง 12 ไมล์ เขตแคว้นทั้งหมดจะประกอบขึ้นจากส่วนของแผ่นดินและทะเลคล้ายกับใบหู ในบางเขตทะเลจะมีความตื้นเป็นอย่างมาก ในบางเขตจะเป็นทะเลลึก ผู้คนจะนำดินมาถมเหนือพื้นที่น้ำตื้นดังกล่าวและสร้างเมืองของพวกเขาเหนือพื้นที่นั้น กาลเวลาผ่านไปผู้คนเริ่มมีจำนวนมากขึ้น พวกเขาได้มาและตั้งหลักแหล่งในเมืองนี้ ในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นพวกเขาได้เริ่มสร้างบ้านเรือนของพวกเขาเหนือกองดินที่ถูกถมนั้น

ผู้มีปัญญาบางคนจากชาวเมืองเห็นว่าจำเป็นที่พวกเขาจะต้องมั่นใจว่า เมืองที่พวกเขาสร้างขึ้นมานั้นน่าจะสามารถดำรงอยู่ได้ตลอดนานแสนนาน หลังจากนั้น อัรรีซ บีรี่ย์ได้เล่าถึงเรื่องราวการสร้างวิหารและหอคอยซึ่งมีชื่อเรียกว่า ซานต์ มาร์โค ซึ่งพวกเขานำศพของนักบุญผู้นี้มาจากนครอเล็กซานเดรียสู่เวนิส เขากล่าวอีกว่า บรรดาเรือที่เข้าไปยังท่าเทียบเรือจะต้องมีคนนำร่องถ้าไม่เช่นนั้นเรือเหล่านี้อาจจะเกยตื้นได้ในเขตน้ำตื้น

การศึกษาวิจัยที่กระทำกับตำราเล่มนี้ได้เผยให้รู้ว่าไม่มีข้อมูลใดเลยแม้แต่เรื่องเดียวที่ไม่ถูกอ้างอิงตามข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการ นี่ย่อมยืนยันว่า ตำราสมุทรศาสตร์ (อัลบะฮฺรี่ยะฮฺ) คือการศึกษาอันทรงคุณค่าในวิชาที่ว่าด้วยการเดินเรือทะเล (นาวิกศาสตร์)

ต้นฉบับคัดลายมือได้ถูกค้นพบในหอสมุดอายาโซเฟีย เลขที่ 2612 มีนายทหารเรือตุรกี 2 คนคือ ฮัยดัร อัลบัสกูฏ และเฟาซี่ย์ กูรัต ได้ทำการถ่ายสำเนาต้นฉบับคัดด้วยลายมือจากอายาโซเฟีย และทั้งสองได้จัดทำคำนำและสารบัญให้กับฉบับถ่ายสำเนานั้น ทั้งคู่ได้ทุ่มเทความพยายามอย่างยิ่งยวดในการดำเนินการดังกล่าว และนำเสนอไปยังสถาบันประวัติศาสตร์ในปีค.ศ. 1935 ทางสถาบันได้ตีพิมพ์สำเนาต้นฉบับที่คัดด้วยลายมือเพื่อเผยแพร่ตามรูปลักษณ์ดังกล่าวนี้

จำนวนหน้าของเอกสารฉบับคัดด้วยลายมือตำราสมุทรศาสตร์ในอายาโซเฟียมีจำนวนถึง 858 หน้า โดยรวมแผนที่ต่างๆ เอาไว้ด้วย ต้นฉบับอายาโซเฟียนี้สุลต่านมะฮฺมูด ข่าน ที่ 1 ได้ทรงมอบเป็นศาสนสมบัติแก่หอสมุดมัสญิดญามิอฺ อายา โซเฟีย ที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งถือเป็นต้นฉบับคัดลายมือที่สมบูรณ์ที่สุดจากตำราสมุทรศาสตร์ ซึ่งมีการคัดลอกเอาไว้ถึง 29 ฉบับคัดลอก นายทหารเรือตุรกีที่ชื่อ ญาวูซ สะลีม อุฆลู ได้ทำการแปลตำราเป็นภาษาตุรกีสมัยใหม่ และมีการตีพิมพ์เป็นสองภาคคือ ภาคที่ 18 และ 19 จากชุดตำราพันเล่มซึ่งตีพิมพ์โดย ด๊าร ตุรญุมาน ลินนัชรฺ ในตุรกี (ดร.มุฮำมัด ฮัรบ์ อ้างแล้วหน้า 103,104)

จุดจบของอัรรีซ บีรี่ย์

หลังจากถอนทัพของบีรี่ย์จากอ่าวอาหรับและเขาพร้อมผู้ที่อยู่ร่วมกับเขาปลอดภัย เขาได้ละทิ้งกองเรือของจักรวรรดิออตโตมานให้เผชิญกับชะตากรรมด้วยน้ำมือของพวกโปรตุเกสเอาไว้ในอ่าวอาหรับ โดยที่เขามิได้พยายามในการที่จะช่วยเหลืออย่างที่ควรจะเป็น

กูบาซฺ ปาชาได้มีหนังสือไปยังเจ้าเมืองอียิปต์เพื่อแจ้งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแจ้งว่าอัรรีซได้ละทิ้งกองเรือที่เหลือจากกองทัพเรือของเขาให้เผชิญชะตากรรม โดยหน้าที่เจ้าเมืองอียิปต์จึงได้แจ้งข่าวให้ทางอิสตันบูลทราบ เขากล่าวในการแจ้งข่าวนั้นด้วยว่า ได้จับกุมอัรรีซเอาไว้แล้วหลังจากที่อัรรีซได้กลับสู่สุเอซ คำสั่งจากอิสตันบูลได้มาถึงอย่างรวดเร็วและเฉียบขาด สุลต่านสุลัยมาน ข่าน อัลกอนูนีย์ได้ทรงมีบัญชาให้บั่นคอแม่ทัพเรืออัรรีซ บีรี่ย์ และริบทรัพย์สินทั้งหมดของเขาเข้าสู่กองคลัง อัรรีซ บีรีย์จึงถูกประหารชีวิตตามพระบัญชาในปีฮ.ศ. 960 (ค.ศ.1552/1553)

ดูเหมือนว่าการปรากฏขึ้นของบุคคลเฉกเช่น อัรรีซ บีรี่ย์น่าจะเป็นหลักฐานบ่งชี้สำหรับผู้มีปัญญาทุกคนถึงการที่จักรวรรดิออตโตมานไม่ได้เป็นเพียงรัฐแห่งดาบสงคราม และการรบพุ่งเท่านั้น หากแต่แน่นอนจักรวรรดิออตโตมานคือรัฐแห่ง อารยธรรมที่ยึดมั่นในประดาเหตุทั้งปวงและให้ความสำคัญต่อวิทยาการอย่างสมเกียรติ อีกทั้งเปิดโอกาสสำหรับการปรากฏขึ้นของบุรุษผู้สร้างผลงานทางวิชาการเทคนิคและศิลปวิทยา