เหตุการณ์สำคัญในเดือนเชาว๊าล

                วันเสาร์ที่  7  เดือนเชาว๊าล  ปีที่  3  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                เกิดสมรภูมิ  “อุฮุด”  ซึ่งมีสาเหตุมาจากบรรดาพวกผู้นำของฝ่ายกุเรซที่รอดพ้นจากการถูกสังหารเมื่อครั้งสมรภูมิ  “บัดร์”  ได้ร่วมชุมนุมหารือภายใต้การนำของอบูซุฟยาน  ช๊อคร์  อิบนุ  ฮัรบ์และได้มีมติให้ทำสงครามล้างแค้นแก่บรรดาชาวมักกะฮฺที่สูญเสียชีวิตในสมรภูมิ   “บัดร์”  และสู้รบกับท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และมวลมุสลิมในนครม่าดีนะห์ 

                ส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้นำของฝ่ายมักกะฮฺที่เข้าร่วมประชุมกับอบูซุฟยานนั้นได้แก่  อับดุลลอฮฺ  อิบนุ  อบี  ร่อบีอะห์  ,  อิกริมะห์  อิบนุ  อบีญะฮฺล์  ,  ซ็อฟวาน  อิบนุ  อุมัยยะฮฺ  พร้อมด้วยเหล่าชาวอาหรับมักกะฮฺทั้งหลายที่ต้องสูญเสียบรรดาพ่อ  ลูก  ๆ  และพี่น้องวงศ์ญาติเมื่อครั้งสมรภูมิ “บัดร์” และทุนทรัพย์ในการทำสงครามล้างแค้นครั้งนี้ของชาวมักกะห์ก็คือผลกำไรที่ได้รับจากกองคาราวานที่อบูซุฟยานได้นำพารอดพ้นมาจากเงื้อมมือของฝ่ายมุสลิมจากการค้าขายที่แคว้นชาม 

                 นอกจากนี้ยังได้พวกอะฮาบีช  (พวกเอธิโอเปีย)  และชาวอาหรับจากเผ่ากินานะฮฺตลอดจนชาวแคว้นติฮามะฮฺ  (แถบชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรอาหรับ)  ชาวอาหรับมักกะฮฺยังได้นำบรรดาสตรีเป็นจำนวนมากเข้าร่วมในกองทัพอีกด้วยทั้งนี้เพื่อว่าพวกนางจักได้คอยทัดทานมิให้บรรดาผู้ชายนั้นหนีทัพในเมื่อฝ่ายมุสลิมได้โจมตีอย่างหนักและในที่สุดพวกกุเรซมักกะฮฺและไพร่พลจำนวน  3,000  คนก็เคลื่อนทัพออกจากนครมักกะฮฺ  ฝ่ายท่านศาสดา  (ซ.ล.) 

                เมื่อได้รับทราบข่าวการเคลื่อนทัพของพวกกุเรซมักกะห์  พระองค์ก็ได้ทรงทำการร่วมปรึกษากับเหล่าอัครสาวกทั้งหลายและได้ทรงเสนอให้เหล่าอัครสาวกเลือกเอาระหว่างการออกไปตั้งทัพนอกเมืองนครม่าดีนะห์และสู้รบทำศึกที่เขตนอกเมืองนั่นกับการที่จะตั้งรับการรุกรานภายในเขตตัวเมืองม่าดีนะห์และเมื่อพวกกุเรซรุกเข้ามาก็ค่อยส่งกำลังพลออกไปขัดตาทัพ  ปรากฏว่าบรรดาอัครสาวกชั้นผู้ใหญ่บางท่านได้มีความเห็นว่าให้ตั้งรับอยู่เขตตัวเมืองไม่ต้องออกไปตั้งทัพนอกเมือง 

                ซึ่งส่วนหนึ่งจากผู้ที่ให้การสนับสนุนต่อทัศนะนี้ก็คือ อับดุลลอฮฺ  อิบนุ  อุบัยย์  หัวหน้าของกลุ่มชนที่สับปลับ  แต่ทว่าบรรดาอัครสาวกเป็นจำนวนมากที่พลาดโอกาสในการเข้าร่วมสู้รบเมื่อครั้งสมรภูมิ “บัดร์” ต่างก็มีความปรารถนาในการให้เคลื่อนทัพออกไปตั้งรับนอกเมืองโดยได้กล่าวแก่ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ว่า  โอ้ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ขอพระองค์ท่านได้โปรดนำพวกเราออกไปยังเหล่าศัตรูของพวกเราด้วยเถิด  พวกเหล่านั้นจักได้ไม่เห็นว่าพวกเรานั้นขลาดเขลาและอ่อนแอ  บรรดาเหล่าอัครสาวกได้พยายามรบเร้าต่อท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ให้ยอมรับต่อความเห็นของพวกท่านเหล่านั้นจนในที่สุดท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ก็ได้ทรงเห็นด้วยต่อทัศนะดังกล่าว  พระองค์ท่านจึงได้เข้าไปในบ้านของท่านและสวมเกราะอ่อนพร้อมทั้งหยิบอาวุธออกมา 

                บรรดาเหล่าอัครสาวกกลุ่มดังกล่าวที่รบเร้าต่อท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ให้เคลื่อนทัพออกไปทำศึกนอกเมืองนั้นก็พากันเข้าใจกันว่าท่านศาสดา  (ซ.ล.)     ได้ทรงกระทำเช่นนั้นไปเพราะทนรบเร้าไม่ไหวซึ่งเท่ากับท่านสาวกเหล่านั้นได้บังคับท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ให้ยอมรับในสิ่งที่ท่านไม่ปรารถนา  อัครสาวกจึงมีความเสียใจต่อสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไป  แต่ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ก็ทรงกล่าวแก่พวกเขาเหล่านั้นว่า  ย่อมไม่เป็นการสมควรสำหรับผู้เป็นศาสดาเมื่อเขาได้สวมใส่เกราะแล้วจะทำการถอดเกราะนั้นออกจนกว่าเขาจะได้ทำการสู้รบเสียก่อน 

                ในที่สุดท่านศาสดา  (ซ.ล.)  พร้อมด้วยเหล่าอัครสาวกประมาณ  1,000  คนอันประกอบด้วยทหารม้า  50  นายถือหอกเป็นอาวุธหลักและทหาราบเดินเท้าอีก  750  นายทหารเดินเท้าส่วนหนึ่งถือธนูและอีกส่วนหนึ่งถือโล่ห์และดาบ  ในบรรดาทหารทั้งหมดนี้มีประมาณ 100  นาย  ที่สวมเสื้อเกราะ  กองทัพฝ่ายมุสลิมได้ตั้งค่ายทางทุ่งราบอุฮุด  ตอนเหนือของตาน้ำแฝด  (อัยนัยน์)  ไปเล็กน้อย  โดยได้จัดยามเฝ้าระวังป้องกันการถูกลอบโจมตีในช่วงเวลากลางคืนไว้ด้วย 

                เช้าวันรุ่งขึ้นทางฝ่ายมุสลิมได้รับข่าวว่าพวกกุเรซเตรียมพร้อมที่จะทำการเข้าโจมตีแล้ว  ดังนั้นฝ่ายมุสลิมจึงได้จัดเตรียมกำลังวางแนวรบไว้รับมือข้าศึกทันที  กองทหารของมุสลิมได้จัดตั้งแนวรบเป็นแถวยาว  600  หลาระหว่างทิวเขาอุฮุดที่ยื่นออกมากับตีนเขาเตี้ย ๆ  ลูกหนึ่งที่มีชื่อว่า  ภูผาของ พลธนู  (ญะบั้ลรุมาต)  พลแม่นธนูภายใต้การนำของท่านอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  ญุบัยร์  จำนวน 50  นาย  ได้ถูกส่งขึ้นไปประจำอยู่บนภูเขารุมาตเพื่อคุ้มกันมุสลิมทางปีกซ้าย  และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือเพื่อคอยป้องกันทหารม้าของฝ่ายข้าศึกที่จะเข้ามาในที่ราบอุฮุดทางช่องเขารุมาตอีกด้วย 

                ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงมีคำสั่งกำชับเหล่าพลแม่นธนูว่า”พวกท่านทั้งหลายจงยืนอยู่ในแถวของพวกท่านนี้และคุ้มกันพวกเราจากทางด้านหลัง  และถ้าหากว่าพวกท่านเห็นว่าพวกเราได้รับชัยชนะ  พวกท่านทั้งหลายก็ไม่ต้องเข้ามาร่วม  และถ้าหากว่าพวกท่านเห็นว่าพวกเราถูกสังหารก็ไม่ต้องช่วยเหลือพวกเรา”หมายความว่าห้ามละทิ้งที่มั่นไม่ว่าจะกรณีใด ๆ  ก็ตาม  อนึ่งในช่วงก่อนการตั้งค่ายของฝ่ายมุสลิมนั้น อับดุลลอฮฺ  อิบนุ  อุบัยย์และพรรคพวกของตนจำนวน  300  คนซึ่งเท่ากับหนึ่งในสามของกำลังพลฝ่ายมุสลิมได้ปลีกตัวออกจากกองทัพไปจึงทำให้กำลังพลของฝ่ายมุสลิมมีเหลืออยู่ไม่เกิน  700  นาย

            กองกำลังของพวกมักกะฮฺประกอบด้วยกำลังพลทหารเดินเท้า  2,800  นาย  (รวมถึงทหารที่สวมเสื้อเกราะจำนวน  700  นาย)  และทหารม้าอีก  200  นาย  พวกมักกะฮฺจัดแถวรบเรียงหน้ากระดานขนานเป็นระยะทางยาวเท่ากับแถวรบของมุสลิม  โดยแบ่งทหารม้าออกเป็นสองส่วน ส่วนทางปีกขวาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคอลิด  อิบนุ  อัลวะลีด ตั้งอยู่หลังแถวพลเดินเท้าทางปีกขวา  และทหารม้าอีกส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ อิคริมะฮฺ  อิบนุ  อบีญะฮฺลินตั้งคุมเชิงอยู่หลังพลเดินเท้าทางด้านซ้าย 

                ทหารของฝ่ายมักกะฮฺที่ยกมาในครั้งนี้ทั้งหมดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ อบูซุฟยาน  อิบนุ  ฮัรบ์  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงมอบธงรบให้แก่ท่านมุซอับ  อิบนุ  อุมัยร์  และสงครามก็ได้เริ่มขึ้นด้วยการส่งตัวแทนของแต่ละฝ่ายออกมาสู้รบดวลดาบกันตัวต่อตัวก่อนที่จะรบพุ่งกันแบบตะลุมบอน  ทางฝ่ายมุสลิมได้ส่งท่าน ฮัมซะฮฺ  อิบนุ  อับดิลมุตตอลิบ,ท่านอะลี  อิบนุ  อบีตอลิบ, ท่านอบูดัจญานะห์  และท่าน มุซอับ  อิบนุ  อุมัยร์ 

                หลังจากนั้นการรบพุ่งก็ได้เริ่มดุเดือดขึ้น  ท่านมุซอับ  อิบนุ  อุมัยร์  ก็ถูกสังหารใกล้  ๆ  กับท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ท่านอะลี  อิบนุ  อบีตอลิบ ก็ได้รับธงรบต่อมา  ชัยชนะของฝ่ายมุสลิมก็เริ่มปรากฏ  ฝ่ายพวกมักกะฮฺเริ่มแตกทัพไม่เป็นกระบวนฝ่ายมุสลิมได้รุกคืบหน้ามากขึ้น  ฝ่ายมักกะฮฺก็เริ่มหนีทัพ  หากแต่ว่าบรรดาพลแม่นธนูกลับหลงลืมคำสั่งของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ที่ทรงกำชับไม่ให้ละทิ้งที่มั่น  พลแม่นธนูส่วนใหญ่ได้ละทิ้งที่มั่นและพากันผละลงมาเก็บทรัพย์สงครามโดยเข้าใจว่าสงครามได้ยุติแล้ว  ท่านอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  ญุบัยร์กับพลแม่นธนูบางส่วนยังคงรักษาที่มั่นอยู่ 

                แต่ทว่าไร้ผลเมื่อคอลิด  อิบนุ  อัลวะลีด และกองทหารม้าของฝ่ายมักกะห์ได้เห็นช่องว่างเมื่อทางด้านตะวันออกของภูผาอัรรุมาตขาดการคุ้มกันจากพลแม่นธนูที่เพียงพอ  เมื่อคอลิดซึ่งถอนกำลังทหารม้าออกมาหลังจากที่ลองเข้าตีทางช่องว่าง รุมาตแล้วเห็นดังนั้นก็ไม่ปล่อยโอกาสทองของตนให้หลุดลอยไป  คอลิดจึงได้นำทหารม้าของตนเข้าตีอีกครั้งหนึ่ง  พลแม่นธนูที่เหลืออยู่เพียงบางส่วนจึงวิ่งกรูกันเข้ายิงธนูใส่เพื่อต้านการโจมตีของคอลิด  แต่ก็ไร้ผล  กองทหารม้าที่บอบบางของฝ่ายมุสลิมจึงถูกตีแตกกระเจิง 

                เมื่อเห็นว่าศัตรูโผล่มาทางด้านหลังของตน  มุสลิมที่กำลังรุกคืบหน้าก็พยายามที่จะกลับมาช่วยแนวหลังแต่ก็มีกำลังน้อยเกินไปจึงไม่สามารถปรับขบวนรบได้  ดังนั้นแนวรบของมุสลิมจึงถูกตีแตก  กองทหารม้าของอิคริมะฮฺ  จึงได้เข้าตีกระหน่ำซ้ำสอง  กองทหารเดินเท้าของฝ่ายมักกะฮฺจึงหวนกลับสู่สมรภูมิอีกครั้งหนึ่ง  เมื่อเป็นเช่นนี้มุสลิมจึงต้องเผชิญกับการบดขยี้อย่างหนักหน่วง  ท่าน ฮัมซะฮฺ ก็ถูก วะฮฺชีย์  จอมพุ่งแหลนมือฉมังสังหารตายในสนามรบ 

                ข่าวลือว่าท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ทรงเสียชีวิตก็กระจายไปทั่วในสมรภูมิ  มุสลิมจึงขวัญเสียแต่ทว่าไม่นานนักความจริงก็ได้ปรากฏว่าท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ยังคงมีชีวิตอยู่  ในที่สุดฝ่ายมุสลิมจึงได้ถอยทัพและหนีขึ้นไปรวมสมทบกับท่านศาสดา  (ซ.ล.)  บนเขา  ในสมรภูมิอุฮุดฝายมุสลิมได้เสียชีวิตเป็นจำนวนถึง  70  คนในจำนวนนี้มีท่านฮัมซะฮฺ  อิบนุ  อัลดิลมุตตอลิบ,ท่านอะนัส  อิบนุ  อันนัฎร์,ท่านมุซอับ  อิบนุ  อุมัยร์  สงคราม “บัดร์” เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของฝ่ายมุสลิม  แต่ทว่าในสงครามอุฮุดก็เป็นความปราชัยอันยิ่งใหญ่พอ  ๆ  กัน 

                ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงใช้ความสามารถของท่านในการรณรงค์ศึกครั้งนี้อย่างถึงที่สุดแล้ว  ถ้าหากว่าทหารทุกคนรักษาคำสั่งของผู้นำอย่างเคร่งครัด  ชัยชนะก็คงเป็นของฝ่ายมุสลิมอย่างเด็ดขาดแต่ทว่าเพราะการขาดวินัยของบรรดาพลแม่นธนูที่เห็นแก่ได้และละเลยคำสั่งตลอดจนละทิ้งที่มั่นสำคัญจึงนำไปสู่การสูญเสียและชัยชนะที่เห็นอยู่ร่ำไรของฝ่ายมุสลิมต้องถูกฉกฉวยไป  ประวัติศาสตร์ของสมรภูมิในครั้งนี้นั้นจึงเป็นบทเรียนในเรื่องของวินัยและการปฏิบัติตามคำสั่งของมุสลิมได้อย่างบอบช้ำที่สุด

                เดือนเชาว๊าล  ปีที่ 8  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                เกิดสมรภูมิอัลฮุนัยน์  ในสมรภูมิครั้งนี้เผ่าฮะวาซินและซะกีฟ,เผ่านัซร์  อิบนุ  มุอาวียะห์, เผ่าญัซม์,เผ่าสะอฺด์  อิบนุ  บักร์และเผ่าฮิล้าล  อิบนุ  อามิร  ได้ผนึกกำลังกันเข้าทำสงครามกับท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ภายหลังการพิชิตนครมักกะห์ของฝ่ายมุสลิม  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงนำทัพอันมีกำลังพลมากถึง  10,000  นายซึ่งเป็นกำลังพลที่เคยเข้าร่วมในการพิชิตนครมักกะห์ตลอดจนมีชาวมักกะห์ที่ได้รับการนิรโทษกรรมเข้าร่วมรบอีกจำนวน  2,000  นาย  เพื่อทำการปราบปรามกองทัพแนวร่วมของบรรดาเผ่าอาหรับดังกล่าว 

                ในการศึกครั้งนี้ฝ่ายมุสลิมเห็นว่ามีกำลังทหารเป็นจำนวนมากก็ได้เกิดความประมาทและย่ามใจจนสถานการณ์ในสนามรบเกือบกลับตะละปัดเพราะบรรดาเผ่าอาหรับได้ต่อสู้อย่างดุเดือดและเป็นสามารถ  กองทัพฝ่ายมุสลิมเกือบได้รับความปราชัย  ถ้าหากว่าท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และบรรดาอัครสาวกที่ใกล้ชิดไม่ยืนหยัดปักหลักสู้อย่างมั่นคงและกล้าหาญ

                สมรภูมิอัลฮุนัยน์ ได้ให้บทเรียนสำคัญแก่ฝ่ายมุสลิมว่า  ในเมื่อจำนวนกำลังพลที่มีเพียงน้อยนิดไม่ใช่ปัจจัยสำคัญสำหรับชัยชนะและมุสลิมในสมรภูมิบัดร์  การมีกำลังพลเป็นจำนวนมากก็มิใช่ปัจจัยสำคัญในการการันตีชัยชนะเช่นกันสำหรับฝ่ายมุสลิมเฉพาะอย่างยิ่งในสมรภูมิ            อัลฮุนัยน์จำนวนกำลังพลที่เข้าสู่สนามรบของฝ่ายมุสลิมนั้นถือได้ว่ามากที่สุดกว่าสมรภูมิครั้งใด  ชัยชนะจึงมิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนทหารแต่ประการใดหากแต่ขึ้นอยู่กับความศรัทธาอันมั่นคงและการไม่ประมาท

                เดือนเชาว๊าล  ปีที่ 12 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านค่อลีฟะห์อบูบักร  อัซซิดดิ๊ก  (ร.ฎ.)  ได้มีสาส์นถึงท่านอบูอุบัยดะห์  อามิร  อิบนุ  อัลญัรรอฮฺ  เสนาธิการท่านหนึ่งที่ท่านค่อลีฟะห์ได้มีคำสั่งให้เดินทัพเพื่อพิชิตแคว้นชาม  (ซีเรีย)  สาส์นฉบับนี้เป็นสาส์นตอบกลับถึงท่านอิบนุ  อัลญัรรอฮฺที่เคยมีสาส์นถึงท่านค่อลีฟะห์ในช่วงเดือนร่อมาดอนเพื่อแจ้งข่าวการเคลื่อนไหวทางทหารของจักรพรรดิเฮราคลีอุส  (ฮิรอกล์)  แห่งจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์ในแคว้นชามตลอดจนการตั้งทัพและการระดมไพร่พลของโรมันในเมืองเอ็นตอเกีย  (เอ็นทอช)  เพื่อเตรียมทำการศึกกับฝ่ายมุสลิมที่ยกทัพมาประชิด  สาส์นของท่านค่อลีฟะห์  มีใจความดังนี้

                “ด้วยพระนามแห่งพระองค์อัลลอฮฺ  พระผู้ทรงกรุณาปราณีเสมอ  สาส์นของท่านนั้นได้มาถึงข้าพเจ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  และข้าพเจ้าก็เข้าใจถึงสิ่งที่ท่านได้แจ้งให้ทราบถึงเรื่องราวของ เฮราคลีอุส  จักรพรรดิโรมันอนึ่งการตั้งทัพของเฮราคลีอุสที่เมืองเอ็นตอเกียนั้นคือความปราชัยของเฮราคลีอุส และกองทัพโรมัน  และการพิชิตจากเอกองค์พระผู้เป็นเจ้าย่อมเกิดแก่ท่านและเหล่ามุสลิม  ส่วนการที่ท่านได้แจ้งถึงการระดมไพร่พลจากบรรดาผู้สวามิภักดิ์ของเฮราคลีอุสเพื่อสู้รบกับท่านนั้น  นั่นเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์อยู่แล้วและพวกท่านเองก็ทราบดีว่าสถานการณ์ต้องเป็นเช่นนั้น  และย่อมไม่มีกลุ่มชนใดที่จะยอมละทิ้งอำนาจของตนและละทิ้งอาณาจักรของตนโดยไม่มีการสู้รบ

                และข้าพเจ้าก็ทราบดี  (อัลฮัมดุลิลลาฮฺ)  แท้จริงมุสลิมเป็นจำนวนมากรักความตายพอ  ๆ  กับที่ศัตรูของพวกเขารักที่จะมีชีวิตอยู่ได้ทำการญิฮาดต่อสู้กับพวกนั้นและพวกเขาก็มุ่งหวังผลานิสงค์อันยิ่งใหญ่จากพระผู้เป็นเจ้าและพวกเขารักที่จะต่อสู้ในวิถีทางของพระองค์มากยิ่งกว่าที่พวกเขามีความรักสาวพรหมจารีย์และทรัพย์สินของพวกเขาบุรุษเพียงคนหนึ่งจากมุสลิมเหล่านี้ในขณะพิชิตย่อมมีความประเสริฐยิ่งกว่าเหล่าผู้ตั้งภาคีถึง  1,000  คน 

                ฉนั้นท่านจงสู้รบประจันบาญกับกองทัพโรมันพร้อมกับเหล่าทหารหาญของท่านและท่านจงอย่าได้ใส่ใจกับมุสลิมบางคนที่หนีทัพ  แท้จริงพระองค์ทรงอยู่พร้อมกับท่าน  และข้าพเจ้าเองก็จะสนับสนุนกำลังพลให้แก่ท่านอย่างเต็มอัตราศึกจนกระทั่งท่านมิปรารถนาจะขอเพิ่มกำลังสนับสนุนอีก  อินชาอัลลอฮฺ  ศานติจงมีแด่ท่านทั้งหลาย”

                ท่านค่อลีฟะห์อบูบักร  อัซซิดดิ๊ก  (ร.ฎ.)  ได้ส่งสาส์นฉบับนี้ไปกับท่านดาริม  อัลอะบะซีย์

                เดือนเชาว๊าล  ปีที่ 12 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านค่อลีฟะห์อบูบักร  อัซซิดดิ๊ก  (ร.ฎ.)  ได้มีสาส์นถึงท่านยะซีด  อิบนุ  อบีซุฟยาน  หนึ่งในเสนาธิการทหารแห่งกองกำลังพิชิตแคว้นชาม  (ซีเรีย)  เป็นสาส์นตอบรับเรื่องที่ท่านยะซีดได้แจ้งให้ท่านค่อลีฟะห์ได้รับทราบถึงการเตรียมทัพของพวกโรมันเพื่อทำศึกรับมือกับฝ่ายมุสลิม  ในสาส์นมีใจความดังนี้
“ด้วยพระนามแห่งพระองค์อัลลอฮฺ พระผู้ทรงกรุณาปรานีเสมอ

                อนึ่ง  สาส์นของท่านที่ได้ระบุถึงการเปลี่ยนแผนการรบของเฮราคลีอุสมาตั้งทัพที่เมืองเอ็นตอเกียได้มาถึงข้าพเจ้าแล้ว  และขอพระองค์อัลลอฮฺได้ทรงบันดาลให้เฮราคลีอุสมีความพรั่นพรึงต่อกองทัพของมุสลิม  แท้จริงพระองค์  (มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่พระองค์)  ได้ทรงดลบันดาลให้พวกเรามีชัยเมื่อคราที่พวกเราอยู่พร้อมกับท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ด้วยความครั่นคร้ามและการส่งบรรดาม่าลาอิกะห์มาเป็นทัพหนุน  แท้จริงศาสนาซึ่งพระองค์ได้ทรงช่วยให้พวกรามีชัยด้วยความครั่นคร้ามก็คือศาสนาเดียวกับที่พวกเราได้เรียกร้องผู้คนมาสู่ศาสนานั้นในวันนี้


                ขอสาบานต่อเอกองค์พระผู้อภิบาลว่าพระองค์จักมิทรงทำให้บรรดามุสลิมเป็นเยี่ยงเหล่าผู้ก่ออาชญากรรมและพระองค์ย่อมจักมิทรงทำให้ผู้ที่กล่าวปฏิญานยืนยันในเอกภาพของพระองค์เยี่ยงบรรดาผู้เคารพสักการะเทพเจ้าอื่นเคียงคู่พระองค์และพร้อมกันนี้ข้าพเจ้าก็จักส่งกำลังบำรุงสนับสนุนแก่ท่านเป็นระลอกจนพวกท่านเพียงพอและไม่มีความต้องการทัพหนุนอีกเลย  หากพระองค์อัลลอฮฺทรงมีพระประสงค์  ศานติจงมีแด่พวกท่าน”

                ท่านยะซีดได้อ่านสาส์นของท่านค่อลีฟะห์แก่เหล่าทหารมุสลิมได้รับทราบ  ยังขวัญกำลังใจเป็นอันมากแก่พวกเขา

                เดือนเชาว๊าล  ปีที่ 12 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านค่อลีฟะห์อบูบักร  อัซซิดดิ๊ก  (ร.ฎ.)  ได้ส่งกำลังบำรุงเพื่อสมทบกับกองทัพของท่าน อบูอุบัยดะห์  อิบนุ  อัลญัรรอฮฺ  ณ  แคว้นชาม  (ซีเรีย)  เพื่อรณรงค์ศึกกับทัพโรมันเป็นจำนวนไพร่พลถึง  1,000  คนภายใต้การนำทัพของท่านฮาชิม  อิบนุ  อบีวักกอซ

                เดือนเชาว๊าล  ปีที่ 13 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านอัลมุซันนา  อิบนุ  ฮาริษะห์  อัชชัยบานีย์  (เหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในช่วงของการพิชิตแผ่นดินอิรัก)  ได้บุกจู่โจมตลาดอัลค่อนาฟิซและตลาดบัฆดาดซึ่งเป็นตลาดทางการค้าที่สำคัญของอาณาจักรเปอร์เซียในแผ่นดินอิรัก  การบุกจู่โจมครั้งนี้เป็นหนึ่งจากภารกิจภายใต้การบังคับบัญชาของท่านอัลมุซันนา  อิบนุ  ฮาริษะห์ในการพิชิตแคว้นอิรักทั้งหมด  หลังจากที่กองทัพมุสลิมได้รับชัยชนะต่อกองทัพเปอร์เซียในสมรภูมิอัลบุวัยบ์  ในเดือนร่อมาดอน  ปีฮ.ศ.ที่  13  ท่านอัลมุซันนาได้ปลุกขวัญกำลังใจเหล่าทหารหาญของท่านให้ทำการสู้รบอย่างต่อเนื่องโดยประกาศแก่เหล่าทหารว่า

                “แท้ที่จริง การโจมตีระลอกแล้วระลอกเล่าอย่างต่อเนื่องย่อมสร้างความครั่นคร้ามและทำให้ความพรั่นพรึงปกคลุมทั้งยามกลางวันจรดพลบค่ำ ดังนั้นพวกท่านจงเชื่อมั่นต่อพระผู้เป็นเจ้าและจงตั้งเจตนาดีต่อพระองค์”

                “วันที่  28  เดือนเชาว๊าล  ปีที่  13 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซิฟริโอนิอุส  สังฆนายกแห่งกรุงเยรูซาเล็ม  (บัยตุ้ลมักดิส)  ได้เทศนาเนื่องในพิธีเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส  ภายหลังการได้รับชัยชนะของกองทัพมุสลิมในสมรภูมิอัจนาดีน  เมื่อวันที่  27  เดือนญุมาดิ้ลอูลา  ปีฮ.ศ.ที่  13  ซึ่งผลของสมรภูมิครั้งนั้นทำให้ดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมดตกอยู่ในอำนาจของมุสลิม  ส่วนหนึ่งจากคำเทศนาของสังฆนายกแห่งเยรูซาเล็มคือ  “แท้จริงชาวคริสเตียนย่อมไม่อาจจาริกแสวงบุญสู่นครเบธเลเฮม  (บัยตุละฮฺมิน)  ได้อีกแล้ว  ทั้งนี้เพราะแผ่นดินปาเลสไตน์ได้ตกอยู่ในกำมือของชาวอาหรับแล้ว”  แต่ทว่าคำเทศนาของ ซิฟริโอนนิอุส  นั้นกลับเป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาด 

                เนื่องจากปรากฏว่า  ฝ่ายปกครองของมุสลิมที่พิชิตดินแดนปาเลสไตน์นั้นได้อนุญาตให้ชาวคริสเตียนสามารถเดินทางจาริกแสวงบุญสู่สถาน  ที่สำคัญทางศาสนาคริสต์ได้ตลอดจนมีอิสระและเสรีภาพในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างปกติสุข  ยิ่งไปกว่านั้นฝ่ายมุสลิมยังได้ให้ความคุ้มครอง  ความปลอดภัยในชีวิต  ทรัพย์สินและเคหะสถานแก่ชาวคริสต์อีกด้วย

                เดือนเชาว๊าล  ปีที่  15 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านสะอฺด์  อิบนุ  อบีวักกอซได้เคลื่อนกำลังพลออกจากอัลกอดีซียะห์  หลังจากที่ได้ตั้งมั่นอยู่ที่นั่นเป็นเวลา  2  เดือนภายหลังการได้รับชัยชนะอย่างงดงามต่อพวกเปอร์เซียในเดือนชะอฺบาน  ปีฮ.ศ.ที่  15  ท่านสะอฺด์  ได้นำกำลังพลเคลื่อนสู่นครอัลม่าดาอิน  ซึ่งขณะนั้นย่อมต้องเสียเมืองเป็นแน่หลังจากการปราชัยอย่างย่อยยับของเปอร์เซียในเมืองกอดีซียะห์

                เดือนเชาว๊าล  ปีที่  37  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กลุ่มอัลค่อวาริจ  อันเป็นกลุ่มชนที่ก่อการกบถต่อท่านค่อลีฟะห์อะลี  อิบนุ  อบีตอลิบ  (ร.ฎ.)  (เนื่องจากเหตุที่ท่านค่อลีฟะห์ยอมรับให้มีการไต่สวนชี้ขาด  ซึ่งจริง ๆ  แล้วพวกนี้เป็นผู้กดดันให้ท่านกระทำเช่นนั้น)  พวกอัลค่อวาริจได้รวมตัวชุมนุมกันในบ้านของอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  วะฮฺบ์  อัรรอซีบีย์  ซึ่งได้กล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้พวกค่อวาริจออกจากนครกูฟะห์อันเป็นที่มั่นของท่านค่อลีฟะห์อะลี  (ร.ฎ.)  ว่า “พวกท่านจงนำพี่น้องของพวกเราออกจากชุมชนนี้ที่ชาวชุมชนเป็นผู้ละเมิดให้มุ่งสู่ดินแดนแห่งสิงขรเถิด” กลุ่มค่อวาริจได้ตอบรับคำเรียกร้องของอับดุลลอฮฺ อัรรอซินีย์  และยังได้ให้สัตยาบันในการเป็นผู้นำของอับดุลลอฮฺและพร้อมใจกันปลดท่านค่อลีฟะห์อะลี (ร.ฎ.)  ออกจากตำแหน่ง (อับดุลลอฮฺ  อิบนุ  วะฮฺบ์  (ตายปีฮ.ศ.38/คศ.658)  มาจากเผ่าอัลอัซฺดีย์และได้ถูกสังหารในสมรภูมิอันนะฮฺร่อวาน)

                วันที่  6  เดือนเชาว๊าล  ปีที่  92 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทัพมุสลิมภายใต้การบัญชาการรบของท่านตอริก  อิบนุ  ซิยาดได้รับชัยชนะ ต่อกองทัพของพวกโกธิกที่มีลาซริก  (โรเดอริโก)  เป็นแม่ทัพในสมรภูมิวาดีย์  ลักกะฮฺ  สมรภูมิครั้งนี้ได้เริ่มขึ้นในวันที่  28  เดือนร่อมาดอน  กำลังพลของฝ่ายมุสลิมในการศึกครั้งนั้นมีจำนวนไม่เกิน  12,000  นายในขณะที่พวกโกธิกมีกำลังพลราว  70,000  ถึง  100,000  นาย  ชัยชนะของมุสลิมในสมรภูมิวาดีย์  ลักกะฮฺ  ได้ปูทางสู่การพิชิตสเปนทั้งหมดในเวลาต่อมา

                เดือนเชาว๊าล  ปีที่ 361 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                อับดุรเราะห์มาน  อิบนุ  รอมอาซ  แม่ทัพเรือของค่อลีฟะห์อัลฮะกัม  อัลมุสตันซิร แห่งเอ็นดาลูเซียสามารถนำกองทัพเรือเข้าประชิดเมืองตอนญะฮฺและยกพลขึ้นบกเข้าตีเมืองตอนญะฮฺ ได้สำเร็จ  อนึ่งบรรดาเจ้าชายแห่งราชวงศ์อิดรีซียะห์  ซึ่งมีอัลหะซัน  อิบนุ ญุนูนเป็นผู้นำได้ก่อการแข็งเมืองต่อค่อลีฟะห์แห่งเอ็นดาลูเซียและได้นำทัพเข้าตีเมืองตอนญะฮฺ,ติตวาน และเมืองอะซีละห์จากค่อลีฟะห์แห่งเอ็นดาลูเซีย  ฝ่ายค่อลีฟะห์จึงได้ส่งกองทัพเรือของพระองค์ภายใต้การนำของแม่ทัพเรือ  อิบนุ  รอมอาซซึ่งประสบความสำเร็จในการตีชิงเอาเมืองตอนญะฮฺกลับคืนมา  จึงทำให้อิบนุ  ญุนูนต้องหลบหนีเอาตัวรอด  แต่ทว่าไม่นานนัก  อิบนุ  ญุนูนก็สามารถกลับมาสร้างความปราชัยแก่อิบนุ  รอมอาซได้อีกคราหนึ่ง

                เดือนเชาว๊าล  ปีที่ 562  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                อามูรีย์ที่  1  กษัตริย์ครูเสดแห่งกรุงเยรูซาเล็มมีความจำเป็นต้องล่าถอยและถอนทหารครูเสดออกจากดินแดนของอียิปต์  ซึ่งพวกครูเสดได้ยกกำลังทหารเข้าสู่แผ่นดินอียิปต์ด้วยการช่วยเหลือของเสนาบดีชาวุ๊รแห่งราชวงศ์ฟาติมียะห์  นอกเสียจากว่ากษัตริย์นูรุดดีน  มะฮฺมูด เจ้าครองแคว้นชาม (ซีเรีย) ได้เข้ามาแทรกแซงและขัดขวางการยึดครองอียิปต์ของพวกครูเสด  โดยอะสะดุดดีน  ซีรอกโก้  หนึ่งในแม่ทัพใหญ่ของนูรุดดีน พร้อมด้วยซ่อลาฮุดดีน  อัลอัยยูบีย์ผู้เป็นหลานชายของอะสะดุดดีนสามารถตั้งมั่นรับมือกับพวกครูเสดที่ได้ปิดล้อมนครอเล็กซานเดรียไว้ถึง  75 วัน ซึ่งในเวลาเดียวกันกษัตริย์นูรุดดีนก็ทำการบุกโจมตีอาณาเขตของพวกครูเสดในปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง  ยังผลให้กษัตริย์อามูรีย์จำต้องถอนทหารออกจากอียิปต์

                วันที่  23  เดือนเชาว๊าล  ปีที่  633  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                นครโคโดบาฮฺ  (กุรตุบะฮฺ)  ในเอ็นดาลูเซียได้ตกอยู่ในน้ำมือของกษัตริย์เฟอร์ดินานที่  3  แห่งคาสติลล่า  (กอซตาละห์)  และลีออง  (อาณาจักรคาสติลลาได้ผนวกรวมดินแดนกับอาณาจักรลีอองในปีคศ.1230)  ภายหลังจากการต่อสู้ป้องกันเมืองอย่างห้าวหาญของชาวเมืองโคโดบาฮฺตลอดระยะเวลา  4  เดือนเศษซึ่งเป็นช่วงเวลาในการปิดล้อมเมืองของพวกคริสเตียนแห่งคาสติลลา  การสูญเสียนครโคโดบาฮฺในครั้งนั้นได้สร้างความเศร้าโศกแก่ชาวมุสลิมเป็นอันมากและยังเป็นการส่อเค้าถึงการที่ชาวมุสลิมจะหมดสิ้นอำนาจจากสเปนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  พวกคริสเตียน แห่งคาสติลลาได้ยกไม้กางเขนอันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์เหนือยอดโดมมัสยิดหลวงแห่งโคโดบาฮฺ  หลังจากตีเมืองได้จากชาวมุสลิมอันเป็นการประกาศถึงการเปลี่ยนมัสยิดสถานแห่งนี้เป็นโบสถ์ทางศาสนาคริสต์ 

                นอกจากนี้พวกคริสเตียนยังได้ชักธงแห่งอาณาจักรคาสติลลาขึ้นเหนือพระราชวังของค่อลีฟะห์อีกด้วยและด้วยการยาตราทัพเข้าสู่เมืองโคโดบาฮฺของพวกคาสติลลาได้ทำให้มีชาวเมืองจำนวนมหาศาลจำต้องอพยพละทิ้งเมืองแห่งนี้  กษัตริย์เฟอร์ดินาน  จึงได้นำเอาประชาชนจากคาสติลลา,  ลีอองและกอตาลูเนียตลอดจนหัวเมืองสเปนอื่น ๆ  เข้ามาตั้งหลักแหล่งแทนชาวเมืองเดิม

                (อนึ่งจากประวัติศาสตร์ในการยึดครองของพวกคริสเตียนเหนือดินแดนมุสลิมในเอ็นดาลูเซียและการยึดครองมัสยิดหลวงตลอดจนการเปลี่ยนมัสยิดเป็นวิหารทางศาสนาคริสต์  ดังเช่นการกระทำของเฟอร์ดินานที่  3  ย่อมเป็นการยืนยันอย่างดีว่า  ชาวคริสเตียนเองได้กระทำการเช่นนี้  (เปลี่ยนมัสยิดเป็นโบสถ์)  ก่อนหน้าที่ ซุลตอนมุฮัมมัด  อัลฟาติฮฺแห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์  (ออตโตมาน)  จะทรงกระทำการเปลี่ยนมหาวิหารอายาโซเฟียเป็นมัสยิดหลวงแห่งนครอิสตันบูลหลายร้อยปีทีเดียว  ฉะนั้นการกล่าวหาว่าชาวมุสลิมได้เปลี่ยนโบสถ์หรือวิหารทางคริสต์ศาสนามาเป็นมัสยิดแต่เพียงฝ่ายเดียวจึงดูไม่เป็นธรรมมากนัก)

                วันที่  17  เดือนเชาว๊าล  ปีที่  926  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ซุลตอนสุลัยมาน  อัลกอนูนีย์แห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์  (ออตโตมาน)  ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของซุลตอน  ส่าลีมข่านที่  1  ผู้เป็นพระราชบิดา  และในรัชสมัยของซุลตอนสุลัยมาน  จักรวรรดิ    อุษมานียะห์  (ออตโตมาน)  ได้เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดทั้งในด้านแสนยานุภาพทางทหาร  การเมืองการปกครอง  การตรากฎหมาย  การเศรษฐกิจ  สังคมและวิทยาการ

                วันที่  29  เดือนเชาว๊าล  ปีที่  1039  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทัพแห่งซุลตอนมุรอดข่านที่  4  แห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ภายใต้การบัญชาการรบของคุสโร  ปาชาได้เข้ายึดครองหัวเมืองฮัมซาน  ของอิหร่าน  การยึดครองครั้งนี้เป็นผลพวงของการพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างจักรวรรดิอุษมานียะห์และอิหร่านในราชวงศ์ซอฟาวียะห์  หลังจากที่  ชาฮฺ  อับบาสได้ทำการยึดครองนครแบกแดดและพวกอุษมานียะห์ได้อาศัยช่วงเวลาที่ชาฮฺ  อับบาสทรงสิ้นพระชนม์และการขึ้นครองราชย์ของชาฮฺ  มิรซ่า  ผู้เป็นโอรสที่ยังทรงพระเยาว์ทำการยึดครองหัวเมืองฮัมซานและรุกคืบจากเมืองฮัมซาน  มุ่งสู่นครแบกแดดเพื่อตีคืนจากอิหร่าน  อย่างไรก็ตามพวกอุษมานียะห์ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการตีนครแบกแดด

                (ซุลตอนมุรอต  ข่านที่  4  (คศ.1609/1640)  ทรงขึ้นครองราชย์ในปีคศ.1623/1640  และในปีคศ.1638  พระองค์สามารถตีชิงนครแบกแดดคืนจากอิหร่าน) (ชาฮฺ  อับบาสที่  1  มหาราช  (คศ.1571/1629)  ขึ้นครองราชย์ในปีคศ.1587  ต่อจากพระราชบิดามุฮัมมัด  คุดาบันดาฮฺ  ในรัชสมัยของพระองค์ได้ผนวกรวมเอานครแบกแดด, กัรบาลาฮฺ,น่าญัฟ, เมาซิ้ลและดิยารบักร์เข้าไว้ในพระราชอำนาจ  ในปีคศ.1593  พระองค์ได้ทรงย้ายราชธานีจากเมืองกอซวัยน์  สู่  อิสฟาฮาน) (เมืองฮัมซาน,  ฮามาดาน  เป็นเมืองหนึ่งในอิหร่านทางตะวันตกเฉียงใต้จากกรุงเตฮะราน)

                วันที่  13  เดือนเชาว๊าล  ปีที่  1097  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทัพของออสเตรียภายใต้การนำของดุก  เดอร์  เลอร์รีนได้ยึดครองนครบูดาเปสต์ของฮังการีซึ่งอยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิอุษมานียะห์  ผู้ปกครองเมืองบูดาเปสต์นามว่าอับดีย์ ปาชา  พร้อมด้วยเหล่าทหารตุรกีจำนวน  4,000  นายได้พลีชีพในการต่อสู้ป้องกันเมือง  นครบูดาเปสต์ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอุษมานียะห์ตั้งแต่วันที่  3  เดือนซุลฮิจญะห์  ปีฮ.ศ.932  รวมระยะเวลา  165  ปี

                วันที่  3  เดือนเชาว๊าล  ปีที่  1098  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                จักรวรรดิอุษมานียะห์ได้สูญเสียแคว้นทรานซิลฟาเนีย  ในดินแดนโรมาเนียหลังจากความพยายามของจักรวรรดิในการยึดครองนครบูดาเปสต์จากพวกออสเตรียกลับคืนมาแคว้นทราซิลฟาเนีย  (วาเนีย)  ซึ่งในอดีตยังเป็นส่วนหนึ่งของฮังการีได้เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของอุษมานียะห์  (ออตโตมาน)  มากกว่า  130  ปี

                วันที่  23  เดือนเชาว๊าล  ปีที่  1214  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                นายพลกิลแบร์  แม่ทัพฝรั่งเศสที่เข้ายึดครองอียิปต์ได้รับชัยชนะต่อกองทัพของอุษมานียะห์ซึ่งมียูซุฟ  ปาชาเป็นแม่ทัพ  ก่อนหน้านี้มีข้อตกลงร่วมกันว่า  กองทัพฝรั่งเศสจะต้องถอนทัพออกจากอียิปต์ทั้งหมดโดยยอมวางอาวุธแก่อุษมานียะห์หลังจากนั้นก็ให้อาศัยเรือของอังกฤษในการเดินทางกลับสู่ฝรั่งเศส  ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันระหว่างนายพลกิลแบร์  แม่ทัพฝรั่งเศส,นายพลซิดนีย์  สมิธ  แม่ทัพเรืออังกฤษและแม่ทัพฝ่ายอุษมานียะห์ แต่พอเอาเข้าจริงรัฐบาลอังกฤษกลับปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าวและยืนกรานที่จะให้ทหารฝรั่งเศสยอมวางอาวุธและมอบให้แก่ตน 

                ด้วยเหตุนี้นายพลกิลแบร์จึงไม่ยอมทำตามความต้องการของอังกฤษและยังได้นำกองทัพของตนทำการรบกับกองทัพของอุษมานียะห์ซึ่งขณะนั้นได้เคลื่อนทัพถึงเขตอัลมาตอรียะห์และกดดันให้อุษมานียะห์ถอนทัพที่เหลือออกจากอียิปต์  นายพลกิลแบร์ได้เดินทัพกลับสู่กรุงไคโรและระดมยิงปืนใหญ่เข้าใส่เป็นระยะเวลา  10  วันและยังได้ทำการสู้รบกับพวกม่ามาลีกซึ่งมี  อิบรอฮีม  เบย์เป็นผู้นำเพื่อขับไล่พวกม่ามาลีกให้ออกไปจากกรุงไคโร

                วันที่  2  เดือนเชาว๊าล  ปีที่  1256  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ได้มีการทำสนธิสัญญาข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับมุฮัมมัด  อะลี  ปาชาผู้ปกครองอียิปต์  อันเป็นความพยายามร่วมกันของทั้งสองฝ่ายที่จะกดดันต่อราชสำนักของอุษมานียะห์ให้ยอมสละดินแดนอียิปต์แก่มุฮัมมัด  อะลี  ปาชาและลูกหลานในตระกูลของตนโดยแลกกับดินแดนในซีเรีย ซึ่งถูกมุฮัมมัด อะลี ยึดครองแก่ราชสำนักอิสตันบูลในที่สุดอุษมานียะห์ก็ได้เห็นชอบตามข้อตกลงดังกล่าวในวันที่  21  ซุ้ลเกาะอ์ดะห์  ปีฮ.ศ.1256

                วันที่  19  เดือนเชาว๊าล  ปีที่  1333  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                เซอร์  อาเธอร์  แมกมาฮอน  ผู้สำเร็จราชการอียิปต์ของอังกฤษได้มีสาส์นถึงชะรีฟฮุซัยน์  เจ้าครองนครมักกะห์  ระหว่างสงครามโลกครั้งที่  1  เพื่อให้คำมั่นแก่ชะรีฟฮุซัยน์ถึงความปรารถนาของรัฐบาลอังกฤษในการได้รับเอกราชของกลุ่มชาติอาหรับและแสดงท่าทีเห็นด้วยถึงการนำเอาระบอบการปกครองแบบค่อลีฟะหกลับมาใช้อีกครั้ง ในสาส์นฉบับดังกล่าวมีใจความระบุว่า”อังกฤษมีความปลาบปลื้มที่ได้รับทราบว่าพระองค์ท่านและเหล่าข้าราชบริพารได้มีความเห็นพ้องกันว่า  ผลประโยชน์ของชาติอาหรับนั้นคือผลประโยชน์ของอังกฤษและเราขอยืนยันถึงความปรารถนาของรัฐบาลอังกฤษในการได้รับเอกราชของชาติอาหรับ 

                อีกทั้งยังได้เห็นด้วยต่อการที่ชาติอาหรับจะประกาศการเป็นค่อลีฟะห์ในฐานะผู้นำสูงสุด  และเราขอเรียนให้ทราบว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งเครือจักรภพอังกฤษทรงมีความยินดีในการนำเอาระบอบการปกครองแบบค่อลีฟะห์กลับคืนสู่ชาติอาหรับแท้  ๆ   ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระศาสดาผู้ทรงสิริมงคลพระองค์นั้น  …”

               เป็นที่ทราบกันดีว่า  หลังสงครามโลกครั้งที่  1  สิ้นสุดลงอังกฤษมิได้กระทำตามสัญญาที่ให้ไว้แก่ชะรีฟฮุซัยน์เลยแม้แต่น้อย  จุดมุ่งหมายของอังกฤษในการส่งสาส์นโต้ตอบระหว่างชะรีฟฮุซัยน์กับเซอร์เฮนรี่  แมกมาฮอนจริงแล้วเป็นเพียงแค่นโยบายในการสร้างแนวร่วมจากผู้นำชาติอาหรับในการเป็นพันธมิตรกับอังกฤษเพื่อร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่  1  เท่านั้นโดยมิได้มีความจริงใจแต่ประการใด

                วันที่  29  เดือนเชาว๊าล  ปีที่  1333  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ชะรีฟฮุซัยน์  เจ้าผู้ครองนครมักกะฮฺได้มีสาส์นถึงเซอร์เฮนรี่  แมกมาฮอนเพื่อย้ำถึงความจำเป็นในการถอนกำลังทหารของฝรั่งเศสออกจากกรุงเบรุต  ในเลบานอนและเขตชายฝั่งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่  1  ส่วนหนึ่งจากถ้อยความในสาส์นฉบับดังกล่าวคือ  “…  ประชาชนชาวเบรุตหาได้พึงใจต่อสิ่งนี้ไม่ ฉนั้นมิอาจที่จะยอมให้ฝรั่งเศสทำการยึดครองแม้เพียงดินแดนอันเล็กน้อยจากเขตดังกล่าว  …”

                เดือนเชาว๊าล  ปีที่  1383  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                การประชุมนัดแรกขององค์กรวิจัยอิสลามได้เริ่มขึ้นและมีการแถลงการณ์ร่วมกันว่า “พวกไซออนิสต์สากลซึ่งมีความพยายามในการล่าอาณานิคมภายใต้ฉากของการล่าอาณานิคมยุคใหม่ …ฉนั้นการรณรงค์เพื่อต่อสู้กับพวกไซออนิสต์นั้นถือได้ว่าเป็นภารกิจสำคัญเหนือชนมุสลิมทุกคนไม่ว่าเขาผู้นั้นจะอยู่ ณ ที่ใดและการหลีกเลี่ยงจากการต่อสู้ดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นมหันตโทษ…” การประชุมครั้งนี้ยังได้มีมติให้ความสนับสนุนแก่พลเมืองปาเลสไตน์ในการได้รับสิทธิอันชอบธรรมเหนือดินแดนอันเป็นมาตุภูมิของตนอีกด้วย

                เดือนเชาว๊าล  ปีที่  1417  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                รัฐบาลอิสราเอลได้ประกาศจัดตั้งนิคมชาวยิว”ฮาซฺ  ฮูม่า”  ในเขตภูเขาอบู  ฆุนัยน์  ทางตอนใต้ของกรุงเยรูซาเล็ม  (อัลกุดซ์)  การประกาศจัดตั้งนิคมดังกล่าวได้เกิดขึ้นหลังจากการประชุมเจรจาสันติภาพ  ณ  กรุงแมดดริดที่จัดให้มีขึ้นในปี คศ.1991 และรัฐบาลอิสราเอลได้อาศัยมติดังกล่าวเพื่อทำให้ชาวยิวเป็นส่วนหนึ่งจากพลเมืองในกรุงเยรูซาเล็มด้วยการตั้งนิคมชาวยิวขึ้นและจะเป็นการปูทางไปสู่แผนการที่จะทำให้ชาวยิวเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ในเขตเมืองเก่าของกรุงเยรูซาเล็ม