ศาสนาอิสลามในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ชาวสยามเรียกชาวมุสลิมกลุ่มต่าง ๆ โดยรวม ๆ ว่า “แขก” ดังมีหลักฐานอยู่ในกฎมณเฑียรบาลที่กล่าวถึงชนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในพระนครศรีอยุธยาว่ามี “พิริยหมู่แขกขอมลาวพม่าเมงมอญมสุมแสงจีนจามชวานานาประเทศทั้งปวง……” (สุจิตต์ วงษ์เทศ, อยุธยายศยิ่งฟ้า, ศิลปวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๒ (๒๕๔๖) หน้า ๗๕)

เดิมทีเดียวคำว่า “แขก” จำกัดความให้ใช้เรียกชนชาติต่าง ๆ ทางตะวันตกของสยาม ประเทศที่เป็นชาวอินเดีย อิหร่าน อาหรับ หรือกลุ่มที่มาจากเอเชียกลาง ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนชนชาติอื่น ๆ ที่อยู่ทางตะวันตกที่ไม่ใช่พวกฝรั่งหรือพวกแขกที่นับถือศาสนาอิสลาม ก็เรียกว่าแขกได้โดยอนุโลม เช่น แขกฮินดู เป็นต้น

ภายหลังชนชาติมลายู ก็เรียกว่า แขกไปด้วย (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์, ขุนนางมุสลิมสมัยอยุธยา, (๒๕๔๖) หน้า ๓) ซึ่งน่าจะเรียกชนชาติมลายูว่าแขกนับแต่ชั้นต้นของอยุธยาแล้ว ดังเนื้อความในกฎมณเฑียรบาลข้างต้นที่ส่อเค้าว่า “แขก” ต่างกับชวาและจาม และแขกตามความหมายของชาวกรุงศรีอยุธยาครั้งกระนั้น ก็น่าจะเป็นชาวมลายู ซึ่งกรุงศรีอยุธยามักถือเอาเป็นพลเมืองระดับหนึ่งบรรดามีของราชอาณาจักร ทำนองเดียวกับขอมบรรพบุรุษของชาวเขมร (ปัญญา ศรีนาค, ถลาง ภูเก็ตและบ้านเมืองฝั่งทะเลตะวันตก, สำนักพิมพ์มติชน (๒๕๔๖) หน้า ๑๕)

เราอาจจำแนกแขกที่เข้ามาอาศัยตั้งถิ่นฐานในสยามได้ ๒ กลุ่ม คือ แขกที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือที่เรียกว่า มุสลิม ได้แก่ แขกมลายู แขกจาม แขกยะวา (แขกชวา) แขกมักกะสัน และแขกเจ้าเซ็น (แขกมะหง่น) เป็นต้น ส่วนอีกพวกหนึ่งคือแขกที่นับถือศาสนาอื่น ได้แก่ แขกพราหมณ์ หรือแขกฮินดู และแขกซิกข์เป็นต้น (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อ้างแล้วหน้า ๓)

ชาวสยามใช้คำว่า “แขก” ในความหมายของคนแปลกถิ่น ต่อมาก็ใช้เรียกกลุ่มประชาชาติที่มาจากฝั่งตะวันตก ซึ่งไม่ใช่พวกฝรั่ง (สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๔ (๒๕๑๒๒๕๑๓ : ๒๒๗๒๒๒๗๓) หากต้องการแบ่งพวกก็จะเพิ่มซึ่งถิ่นฐาน เชื้อชาติ หรือลัทธิ ศาสนาที่นับถือต่อท้ายคำว่า แขก เพื่อแบ่งประเภท เช่น แขกจาม (เชื้อชาติ) แขกชวา แขกเมืองโคระส่าน (สถานที่) และแขกเจ้าเซ็น (ลัทธิศาสนา) เป็นต้น

ยังมีร่องรอยอยู่ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม (เอกสารจากหอหลวง) ตอนหนึ่งว่า

“ครั้นถึงระดูลมสำเภาพัดเข้ามาในกรุง เปนมรสุมเทศกาลพวกลูกค้าพานิชสำเภาจีน แลลูกค้าแขกสลุป ลูกค้าฝรั่งกำปั่น ลูกค้าแขกกุศราช และพวกลูกค้าแขกสุรัด แขกชวามลายู แขกเทศ ฝรั่งเศส ฝรั่งโลสง โปรตุเกศ วิลันดา อิศปันยอน อังกฤษ และฝรั่งดำ ฝรั่งเมืองลังกุนี แขกเกาะ เปนพ่อค้าพานิชคุมสำเภาสลุปกำปั่นแล่นเข้ามาทอดสมออยู่ท้ายคู ขนสินค้าขึ้นมาไว้บนตึกห้างในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุธยา ตามที่ของตนซื้อแลเช่าต่าง ๆ กัน เปิดร้านห้างตึกขายของตามเพศตามภาษา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ตามรายชื่อในคำให้การฯ จะเห็นว่ามีพ่อค้า “นานาชาติ” เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาจริง ๆ คือ สำเภาจีน (เรือจีน) แขกสลุป (เรือแขก) ฝรั่งกำปั่น (เรือฝรั่ง) ประกอบด้วยพ่อค้าจากเมืองต่าง ๆ คือ แขกกุศราช (เมืองคุชราชในอินเดีย) แขกสุรัด (เมืองสุราษในอินเดีย) แขกชวา (เกาะชวา) มลายู แขกเทศ ฯลฯ (สุจิตต์ วงษ์เทศ อ้างแล้ว หน้า ๗๕)

เฉพาะบรรดาพ่อค้าแขกก็จัดได้ว่ามีหลายพวกหลายเหล่าด้วยกัน ดังที่มีปรากฏหลักฐานในบันทึกของลาลูแบร์ว่า

“ …แขกเมืองที่ได้มาสู่กรุงสยาม……มีแขกสามหรือสี่จำพวก มาจากเมือง

เบงกะหล่า (เบงคอล) ในบัดนี้รวมเป็นชาติหนึ่งแขกมัวร์เท่านั้นควรจะนับว่าเป็นอย่างปกติได้ชาติหนึ่ง ด้วยมีมากกว่า ๑๐ พวก ทั้งสาเหตุที่มาสู่กรุงสยามเล่าก็มาจากชาติต่าง ๆ โดยอาการต่าง ๆ เช่น มาเป็นพ่อค้าบ้าง เป็นทหารบ้าง และเป็นคนงานบ้าง ข้าพเจ้าเรียกแขกมัวร์ตามอย่างพวกสเปนนั้นไม่ใช่หมายความว่าเป็นแขกนิโกร แต่เป็นแขกชาติอาหรับ นับถือศาสนาพระมะหะหมัด ซึ่งบรรพบุรุษของเรา (ฝรั่ง) เรียกแขกสะระเซน และชาติแขกเหล่านี้แผ่ซ่านออกไปเที่ยวอยู่เกือบจะทั่วถิ่นเราทั้งสิ้น…” (จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ เล่ม ๑ หน้า ๔๗)

เข้าใจได้ว่า ในจดหมายเหตุที่เรียกว่าแขกมัวร์นั้น คือพวกอรับจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แต่บางครั้งก็หมายถึงพวกมุสลิมที่มาจากอินเดีย (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, ความสัมพันธ์ของมุสลิมฯ สำนักพิมพ์มติชน (๒๕๔๕) หน้า ๓๓) โตเม ปิเรส กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของพวกมุสลิมหลายเชื้อชาติอยู่ตามเมืองท่าของสยาม คือ ชาวอาหรับ เปอร์เซียหรือชาวอิหร่าน และพวกกลิงค์ (Kling) (Donald F.Lach and Carol Flaumenhaft,trs, “The Suma Oriental,” pp. 19-20) ซึ่งหมายถึงชาวอินเดียจากแคว้นกลิงคราษฏร์

เฟอเนา เมนเดส ปินโต (Fernao Mandas Pinto) นักเดินทางชาวโปรตุเกสที่ผ่านสยามในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช เล่าเกี่ยวกับชุมชนมุสลิมในอยุธยาไว้ว่า “…ในเมืองหลวงแห่งนี้มีสุเหร่า ๗ แห่งเป็นของพวกเติร์ก และอาหรับ มีเคหสถานของพวกมัวร์ในเมืองนี้ประมาณ ๓๐,๐๐๐ หลังคาเรือน” (Fernao Mendes Pinto,Subsidios paia a sua Biografia, tr. Christovao Aires (Lisbon:Aademiadas Ciencias, 1940) pp. 63-35 อ้างอิงในกรมศิลากร, ๔๗๐ ปี แห่งมิตรสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส หน้า ๘๑) คำให้การของปินโตที่ว่า ชาวมัวร์มีเคหสถานในกรุงศรีอยุธยามากเป็นเรือนหมื่นออกจะดูเกินจริง แต่ก็พอประมาณได้ว่ามีมากอยู่พอควร และน่าจะหมายถึงประชาคมมุสลิมโดยรวมทุกเชื้อชาติ

มุสลิมในอยุธยาจะตั้งชุมชนแยกเป็นกลุ่มตามเชื้อชาติ ถิ่นฐานเดิม และอาชีพ จากแผนที่ในจดหมายเหตุของลาลูแบร์แสดงให้เป็นตำแหน่งที่ตั้งชุมชนมุสลิม ๒ กลุ่ม คือ พวกมะกัสซาร์ (Makassars) หรือมักกะสัน (พวกมะกัสซาร์หรือแขกมักกะสัน เป็นกลุ่มมุสลิมที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะซิลีเบสหรือปัจจุบันคือ สุลาเวสิ (Sulawesi) ในอินโดนีเซีย) และมลายูซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำนอกกำแพงเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผังเมืองอยุธยาซึ่งเขียนโดยวิศวกรฝรั่งเศส ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ก็ระบุถึงชุมชนชาวจีนและพวกมัวร์ว่า ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง ทิศตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกับแผนที่ของเอ็งเกลเบิร์ต เคมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer, A deseription of the Kingdom of Siam 1690 (Bangkok : White Orrchid Press, 1987) pp. 43-44)

สำหรับเอกสารของไทยที่อธิบายถึงประชาคมมุสลิมกลุ่มต่าง ๆ ในสมัยอยุธยาได้แก่ คำให้การชาวกรุงเก่า และคำให้การขุนหลวงหาวัดประดู่ทรงธรรม หรือขุนหลวงหาวัด ซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนโดยชาวอยุธยาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เอกสารดังกล่าวบรรยายถึงชุมชนมุสลิมในกำแพงเมืองไว้ดังนี้

“…คลองปตูเทษสมีเข้ามาจนลำคูปากสมุทแบ่งน้ำกลางเมืองออกริมตะพานนาคบรรจบกับคลองปตูเทษมีตะพานอิดแต่บ้านแขกใหญ่ข้ามมาถนนบ้านแห อตะพานวานร ๑ มีคลองน้อยลัดจากคลองใหญ่ปตูจีนมาทลุออกคลองปตูเทษ มีตะพานอิดเดีรแต่ ถนนบ้านแขกใหญ่เจ้าเซ็นข้ามศาลาอาไศรย์ มาป่า”

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของมุสลิมกลุ่มต่าง ๆ ในสมัยอยุธยาได้แก่ แขกจามและแขกเทศ อาศัยในเรือนแพสองฟากฝั่งแม่น้ำตั้งแต่ท้ายปากคลองวัดสุวรรณดารามตลอดมาจนหน้าพระราชวังหลัง ผ่านท่ากายีนอกกำแพงกรุง เป็นบ้านแขกเก่า พวกแขกนั้นมีอาชีพฟั่นเชือกเปลือกมะพร้าว

นอกจากนี้ พวกแขกยังเปิดร้านขายของและผลิตเครื่องใช้กระจายอยู่ตามชุมชนย่านต่าง ๆ ได้แก่ แขกจามจอดเรือและแพขายของอยู่บ้านน้ำวน บางกะจะ ส่วนพวกที่อาศัยอยู่ย่านบ้านท้ายคูมีอาชีพสานเสื่อลันไตขาย แขกชวาและแขกมลายูบรรทุกหมากและตะกร้าหวายใส่เรือปากกว้างสิบศอกสามวา ทอดสมอขายอยู่ที่ตรงปากคลองคูจาม แขกตานีทอผ้าไหมผ้าด้าย อยู่บ้านริมวัดลอดช่อง นอกจากนี้พวกแขก (ไม่ระบุเชื้อชาติ) ยังตั้งร้านขายกำไลมือ กำไลเท้า ปิ่นปักผม แหวน ลูกปัดเครื่องประดับ อยู่ที่เชิงตะพานชีกุนฝั่งตะวันตก (“คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง,” ใน วินัย พงศ์ศรีเพียร, บรรณาธิการ, ข้อมูลประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาจากเอกสารไทยและต่างประเทศ, (นครปฐม : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๘ หน้า ๖,๑๕)

จากหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้น แสดงว่ามีย่านหรือชุมชนของมุสลิมในกรุงศรีอยุธยาใหญ่ ๆ สามกลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่งเป็นพวกที่มีชุมชนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกำแพงเมืองด้านทิศใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ตั้งชุมชนอยู่ในเขตริมกำแพงเมืองด้านนอก ใกล้คลองหรือแม่น้ำ และกลุ่มที่สาม คือ พวกที่ตั้งชุมชนอยู่ภายในกำแพงเมือง อย่างไรก็ดี ยังมีมุสลิมบางกลุ่มที่ตั้งชุมชนกระจายอยู่ตามย่านอื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ลำคลองหรือตลาดการค้า ที่ติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนเมือง (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อ้างแล้ว หน้า ๕)

ส่วนตลาดนอกเมืองนั้น อยู่รอบเกาะเมืองภายนอกกำแพงพระนครศรีอยุธยา คำให้การฯ จดไว้ว่า มีทั้งตลาดน้ำที่ลอยเรืออยู่ในแม่น้ำ และตลาดบกที่อยู่บนบก ดังนี้

“…ตลาดน้ำหรือตลาดเรือมี ๔ แห่ง เป็นตลาดใหญ่ที่อยู่ที่แม่น้ำรอบพระนครศรีอยุธยา คือ (๑) ตลาดน้ำวนบางกะจะ อยู่บริเวณสามแยกแม่น้ำหน้าวัด

พนัญเชิง (๒) ตลาดน้ำปากคลองคูจาม อยู่ใต้วัดพุทไธสวรรย์ท้ายสุเหร่าแขก (๓) ตลาดน้ำปากคลองคูไม้รอง อยู่ริมคูเมืองด้านทิศเหนือระหว่างวัดเชิงท่ากับวัดพนมโยง (ยงค์) (๔) ตลาดน้ำปากคลองวัดเดิม อยู่ใต้ศาลเจ้าปูนเถ้าก๋งแถบวัดอโยธยาด้านทิศตะวันออก ในส่วนของตลาดน้ำวนบางกะจะกับตลาดน้ำปากคลองคูจามนั้น มีเอกสารและหลักฐานปรากฏชัดเจนว่า มีพวกแขกจอดเรือและแพขายของอยู่ในตลาดน้ำทั้ง ๒ แห่งนั้นเฉพาะที่บ้านน้ำวนบางกะจะ มีเรือปากใต้ปากกว้างสามวาสิบศอก

พระนารายณ์ราชนิเวศน์  เมืองลพบุรี

พวกพ่อค้าจีนและแขกจามทอดสมอขายน้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด สาคูเม็ดใหญ่เม็ดเล็ก กำมะถัน จันทร์แดง หวายตะค้า กระแชงเคย และสินค้าต่าง ๆ ข้างปากใต้ และแถวนั้นมีแพลอยพวกลูกค้าไทย จีน แขกจาม นั่งร้านแพขายสรรพสิ่งของต่าง ๆ กันสองฟากฝั่งแม่น้ำ ตั้งแต่ท้ายปากคลองวัดสุวรรณดาราราม ตลอดลงมาจนหน้าพระราชวังหลัง แถวนี้เป็นฝั่งพระนคร แต่ฝั่งตรงข้ามพระนครนั้น แพจอดตั้งแต่ท้ายวัดพนัญเชิงตลอดมาจนท้ายวัดพุทไธสวรรย์ และเลยไปจอดเป็นระยะจนหน้าวัดไชยวัฒนาราม และแม่น้ำตรงตลอดมีแพลูกค้าพานิชจอดฝั่งตะวันตกตั้งแต่ปากคลองตะเคียนเรี่ยรายขึ้นมา ถึงหน้าวัดแขกตะเกี่ย มีชุกชุมมากขึ้นมาจนถึงท้ายวัดกุฎี บางกะจะ

“ผ่านบ้านท่ากายี”  นอกกำแพงกรุงเป็นบ้านแขกเก่า พวกแขกนั้นฟั่นเชือกเปลือกมะพร้าวตีเป็นสายยาวเส้นหนึ่งบ้าง ยาวสามสิบวาบ้าง บางทีทำยาวถึงห้าสิบวา ขายแก่นายกำปั่นสลุปสำเภาและฟั่นชุดจุดบุหรี่ด้วยเปลือกมะพร้าวขายขุนนางและราษฎรที่ต้องการใช้และทำบุญ

“ย่านบ้านท้ายคู” พวกแขกจามสานเสื่อลันไตผืนใหญ่น้อยขาย และสมุกขาย พวกแขกชวามลายู บันทุกหมากเกาะและหวายตะค้ากระแชงเตย สรรพเครื่องสินค้าปากใต้ บรรทุกเรือปากกว้างสิบศอกสามวา มาทอดสมอขายอยู่ที่ตรงปากคลองคูจาม

“บ้านท่าราบ” รับพะเนียงหูไว้ขายและพวกลูกค้าจีน แขก ฝรั่งเศส อังกฤษ วิลันดา โปรตุเกส พวกนี้รับซื้อไว้ใส่คราม ใส่ปูน

“บ้านริมวัดลอดช่อง” พวกแขกตานีทอผ้าไหม ผ้าด้ายเป็นผ้าพื้น ผ้าม่วงเกลี้ยงดอกขาย

และที่ “บ้านป้อมหัวแหลม” พวกแขกเก่าและลาวเก่าจับนกอังชันแลนกกระจาบฆ่าตายเที่ยวเร่ขาย และจับนกสีชมภู นกปากตะกั่ว นกแดงอิฐ นกกระทิ นกกระจาบเป็น ๆ ใส่กรงขัง ไปเที่ยวเร่ขายให้ชาวพระนครซื้อปล่อยเมื่อฤดูเทศกาลตรุษ สงกรานต์ ที่แม่น้ำหัวแหลมหน้าวัดภูเขาทอง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, อยุธยายศยิ่งฟ้า สำนักพิมพ์มติชน (๒๕๔๖) หน้า ๑๓๐)

ในกรุงศรีอยุธยานั้นมีบ้านเรือนเป็นอาคารตึกก่ออิฐถือปูนแต่ไม่ใช่ของคนไทยชาวสยาม หากเป็นของชาวต่างชาติ ดังที่มีระบุในบันทึกของลาลูแบร์ว่า “พวกฝรั่ง จีน และแขกมัวร์ ต่างสร้างบ้านเรือนของตนตามแบบอย่างการก่อสร้างของชาติของตนห้องก็เป็นห้องโต ๆ และมีหน้าต่างเต็มไปรอบตัว จะได้รับอากาศสดได้มาก และห้องตึกชั้นล่างก็ได้รับแสงสว่างจากห้องชั้นต่ำด้วยกัน เพราะยกพื้นสูง

ห้องตึกอย่างว่านี้ฝรั่งเรียก “ดิวัน” เป็นภาษาอาหรับ แปลว่าห้องมนตรีหรือหอพิพากษา (ไทยเรียกหอนั่งสำหรับรับแขกเหรื่อที่มาหา)…เรามีหอดิวันชนิดอย่างว่านี้ในเรือนที่เรา (พวกทูตานุทูตฝรั่งเศส) พักในพระมหานครสยาม (กรุงศรีอยุธยา) และตรงหน้าหอที่ตั้งกันสาดนั้นมีน้ำพุน้อย ๆ ตั้งด้วย (จดหมายเหตุลาลูแบร์ เล่ม หน้า ๑๓๑๑๓๒)

คำ “ดิวัน” นี้อ่าน “ดีวาน” เป็นคำเปอร์เซียมากกว่าอาหรับ หมายถึง ราชสำนัก ท้องพระโรง มนตรี หนังสือกวี ดิวานิอะอ์ลา = นายกรัฐมนตรี ดีวานิคอศ = ห้องประชุมขุนนาง หรือคณะรัฐมนตรี ดีวานคานะฮ์ = ท้องพระโรง ดีวานิอาม = ห้องโถงใช้ประชุมทั่ว ๆ ไป หรือสำหรับเฝ้ากษัตริย์ ศัพท์เหล่านี้มีใช้ในเปอร์เซีย และในราชสำนักของวงศ์โมกุลในอินเดีย (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, ความสัมพันธ์ของมุสลิมฯ สำนักพิมพ์มติชน (๒๕๔๕) หน้า ๓๔)

ในหนังสือสำเภากษัตริย์ สุลัยมาน ระบุไว้ว่า ในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มีช่างและสถาปนิกชาวอิหร่านและชาวอินเดียเข้ามารับราชการ โดยพวกเขามีส่วนช่วยสร้างประสาทราชวังของกษัตริย์สยาม

นอกจากนี้ในบันทึกคำให้การชาวกรุงเก่าตลอดจนจดหมายเหตุของฝรั่งเศสก็กล่าวว่า ย่านที่อยู่ของพวกมัวร์หรือมุสลิม อินโด-อิหร่าน เป็นย่านที่มีบ้านเรือนสวยงาม ถนนปูด้วยอิฐเรียงแบบก้างปลา ทั้งยังมีการสร้างสะพานข้ามคลอง ซึ่งสะพานดังกล่าวมีโครงสร้างคล้ายสะพานโบราณในอิหร่าน ยังพอเหลือร่องรอยสะพานอิฐบ้านแขกใหญ่ ซึ่งมีช่องให้เรือผ่านเป็นโค้งแบบโมกุล อยู่ที่อยุธยาและประตูน้ำ ให้เรือผ่านคลองที่ลพบุรี เมื่อเปรียบเทียบซุ้มประตูของพระที่นั่งต่าง ๆ ที่พระนารายณ์ราชนิเวศก็จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะทั้ง ๒ ดินแดน (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์, กุหลาบเปอร์เซียในราชอุทยานกรุงสยาม, ศิลปวัฒนธรรม กันยายน ๒๕๔๘ หน้า ๘๔๘๕)