อิบนุ ซะฮฺรูน อัลฮัรรอนีย์ (ابن زهرون الحراني)

อบู อิบรอฮีม อิบนุ ฮิล้าล อิบนิ อิบรอฮีม อิบนิ ซะฮฺรอน อัลฮัรรอนีย์ มีนิวาสถานเดิมจากเมือง “ฮัรรอน” เกิดในเมือง ฮัรรอน เมื่อปี ฮ.ศ.313 และเสียชีวิตในนครแบกแดด เมื่อปี ฮ.ศ.348 เป็นที่รู้จักกันในนาม อิบนุ ซะฮฺรอน อัลฮัรรอนีย์ อัซซอบิอฺ เขาศึกษาวิชาการต่างๆ ในนครแบกแดด และมีความเป็นเลิศในด้านดาราศาสตร์, คณิตศาสตร์ และเรขาคณิต

อิบนุ ซะฮฺรูน อัลฮัรรอนีย์มีสถานภาพสูงส่งในหมู่ “อัซซอบิอะฮฺ” ของอิรักและเป็นผู้ประสานสายสัมพันธ์ระหว่าง อัซซอบิอะฮฺกับวงศ์อาลิบูยะฮฺ ซึ่งมีอำนาจปกครองอิรักในเวลานั้น และในขณะที่ ชะร่อฟุดเดาละฮฺ อิบนุ อะฎ่อดุดเดาละฮฺ คิดจะสร้างหอดูดาวในนครแบกแดดเพิ่ม ชะร่อฟุดเดาละฮฺ ได้มอบหมายให้ อิบนุ ซะฮฺรูน เป็นผู้ดำเนินการ

สายสัมพันธ์ของอิบนุ ซะฮฺรูน กับผู้ปกครองอิรักในช่วงต้นๆ นั้นมีความแนบแน่นเป็นอันมาก แต่ก็ไม่ได้ยืดยาวและเริ่มเสื่อมคลายลง เขาถูกจับกุมและถูกปล่อยอยู่หลายครั้ง

อิบนุ ซะฮฺรูน อัลฮัรรอนีย์ มีพรสวรรค์ในด้านวรรณกรรมทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เขายังเป็นนักวาทศิลป์ผู้เจนจัดอีกด้วย อิบนุ ซะฮฺรูน ได้มีจดหมายแลกเปลี่ยนทัศนะและความเห็นทางวิชาการเป็นจำนวนหลายฉบับจนกระทั่งได้รับฉายานามว่า “ซอฮิบุรร่อซาอิล” (เจ้าของจดหมาย)

และเขายังได้ให้ความสนใจต่อวิชาเรขาคณิตเพราะมีความเกี่ยวพันอย่างมากกับวิชาดาราศาสตร์และการหาจุดศูนย์กลางของน้ำหนัก (ศูนย์ถ่วง) โดยค้นคว้าในเรื่องศูนย์ถ่วงของน้ำหนักต่างๆ จากวัตถุ ทั้งนี้เขายังได้อาศัยหลักวิชาเรขาคณิตเพื่อแก้ปัญหาซับซ้อนต่างๆ ที่เป็นเรื่องยากในการหาผลลัพธ์สำหรับนักวิชาการร่วมสมัย

บทบาทของอิบนุ ซะฮฺรูน ในด้านดาราศาสตร์นั้นถือกันว่าเขาเป็นนักดาราศาสตร์ชั้นบรมครูของมหานครแบกแดดเลยทีเดียว หลักฐานบ่งชี้ในเรื่องนี้คือการที่ “ชะร่อฟุดเดาละฮฺ” ได้คัดเลือก อิบนุ ซะฮฺรูน ให้เป็นหัวหน้าคณะนักวิชาการที่มีภารกิจสำคัญในการดูดาว ณ หอดูดาวประจำมหานครแบกแดด นอกจากนี้ อิบนุ ซะฮฺรูน ยังได้แต่งตำราเป็นจำนวนมากในภาควิชาตรีโกณมิติ ซึ่งถือเป็นภาควิชาหนึ่งของดาราศาสตร์ในเวลานั้น

นักปราชญ์ชาวอาหรับ-มุสลิมในภาควิชาดาราศาสตร์ส่วนใหญ่ล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเครื่องมือแอสโทรแลบ อิบนุ ซะฮฺรูนเองก็ใช้อุปกรณ์แอสโทรแลบเป็นตัวอย่างและมอบเป็นของกำนัลแก่ อะฎ่อดุดเดาละฮฺ

อิบนุ ซะฮฺรูน ยังได้ใช้ตารางทางดาราศาสตร์ซึ่งเขาได้รวบรวมผลลัพธ์จากการดูดาวในห้องปฏิบัติการของหอดูดาว และตำราอ้างอิงต่างๆ ในด้านประวัติศาสตร์ อิบนุ ซะฮฺรูน ได้แต่งตำรา “อัตตาญีย์” ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวของวงศ์ บูยะฮฺ โดยละเอียด

กล่าวโดยสรุป อิบนุ ซะฮฺรูน อัลฮัรรอนีย์ เป็นนักปราชญ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีความชำนาญในวิชาคณิตศาสตร์และวรรณคดีควบคู่กัน ซึ่งหาได้น้อยมากในนักปราชญ์ผู้อื่น นอกจากนี้เขายังมีส่วนร่วมในหลากหลายวิชา ทั้งดาราศาสตร์, คณิตศาสตร์, ฟิสิกค์, วรรณคดี, ประวัติศาสตร์ ฯลฯ